30 พฤศจิกายน 2023
5 K

บ่ายแก่ ๆ วันหนึ่ง เรานัดกับ 2 ผู้ประกอบการหน้าใหม่แถวเจริญกรุง 35 เดินทางมาด้วยมอเตอร์ไซค์ตามประสาสาวชานเมืองไม่รู้ทาง แต่เมื่อเห็นอาคารสีส้มบริเวณโค้งหัวมุมเชิงสะพานพิทยเสถียรมาแต่ไกล จึงรู้ได้ทันทีว่าเป็นที่นี่

พ.ศ. 2455 ตึกชัยพัฒนสินเริ่มต้นจากการเป็นโรงงานน้ำอัดลม

ต่อมา คุณตาเสริมชัย ศรีสมวงศ์ เปลี่ยนให้กลายเป็นกิจการรองเท้า Jump Master อยู่ราว 40 ปี

หลังคุณตาเสียชีวิต แชมป์-สุกฤษฐิ์ ศรหิรัญ และ ปิ๊ง-ฐิติภา ศรหิรัญ หลานทั้งสองเนรมิตโกดังเก่าที่ถูกทิ้งร้างให้เป็น Jump Master Skate Haus ลานสเกตบอร์ดในร่ม เพื่อนำร่องสู่โปรเจกต์ใหญ่

คือการแปลงโฉมชัยพัฒนสินให้กลายเป็น ‘The Corner House’ น้องใหม่คนล่าสุดแห่งวงการ Community Space ไม่ได้เป็นแค่ตึกหัวมุมโบราณตั้งตระหง่านให้คนสัญจรผ่านมาแล้วไป แต่อัดแน่นไปด้วยของอร่อย ดนตรี ศิลปะ และงานสร้างสรรค์

วันที่เราคุยกัน องค์ประกอบภายในยังไม่เสร็จดี ฝุ่นยังคงคละคลุ้ง เสียงเครื่องจักรดังระงม สองพี่น้องพาเราเดินชมทุกซอกมุมโดยละเอียด ตั้งแต่ชั้น 1 ยันดาดฟ้า (คนรักของเก่าไม่ต้องห่วง พวกเขายังเก็บโครงสร้างทุกอย่างไว้อย่างดี)

หลังฟูมฟักโปรเจกต์อยู่ 2 ปี วันนี้พวกเขาเปิดบ้านพร้อมต้อนรับทุกคนแล้ว

จากตึกชัยพัฒนสินรุ่นตาสู่ The Corner House รุ่นหลาน Community Space ใหม่แห่งเจริญกรุง

ชัยพัฒนศิลป์

แชมป์กับปิ๊งไม่ได้ริเริ่มไอเดียนี้หลังทำ Jump Master Skate Haus แต่พวกเขาทำลานสเกตเพื่อแนะนำตัวว่าตึกสีส้มหัวมุมตรงนี้กำลังจะกลับมา เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโปรเจกต์ The Corner House 

ถามว่าเรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นได้ยังไง พวกเขาพาเราย้อนเวลากลับไปหลายปี ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก

“เวลาไปเที่ยวต่างประเทศ เราคิดตลอดเลยว่าทำไมประเทศเขามีความชัดเจนในแต่ละย่านมาก เวลานึกถึงคำว่า Community Space เราเห็นสถานที่ที่อิมแพกต์และเป็นรูปธรรม และผูกพันกับตึกนี้ บวกกับภายในครอบครัวก็ไม่มีใครทำตึกนี้ต่อแล้ว ถ้าเราทำให้ประเทศของเรา พื้นที่ของเรา เป็นแบบนั้นได้คงดีไม่น้อย

“ตอนแรกเราจดชื่อบริษัทใหม่ เปลี่ยนจากชัยพัฒนสิน เป็น ‘ชัยพัฒนศิลป์’ เพื่อสะท้อนว่าเราให้ความสำคัญเรื่องศิลปะและวัฒนธรรม”

พี่ชายรับหน้าที่ดูแลเรื่องการบริหารจัดการทั้งหมด ส่วนน้องสาวดูแลเรื่องดีไซน์ ด้วยนิสัยแตกต่างกันสุดขั้ว ปิ๊งบอกว่าเธอเป็นคนแข็ง ๆ กล้าตัดสินใจ แต่พี่ชายมีความยืดหยุ่น ความประนีประนอมค่อนข้างสูง ผลลัพธ์จึงออกมาเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่ผสมผสานจากความพยายามและความถนัดของสองพี่น้อง

แต่กว่าจะไปถึงตรงนั้น เราสงสัยว่าพวกเขาอธิบายการเปลี่ยนแปลงทรัพย์สินของครอบครัวแบบคนรุ่นใหม่ ให้คนรุ่นเก่าเข้าใจได้ยังไง

“ปิ๊งบอกแม่ว่า แม่ไม่เคยสงสัยเหรอว่าทำไมห้างของต่างประเทศคนเดินน้อยมาก แต่คนกลับเยอะที่อาร์ตแกลเลอรี พิพิธภัณฑ์ลดราคาทุกวันอาทิตย์ เขาปลูกฝังผู้คนให้ไปใช้เวลานอกบ้าน

“ในช่วงแรกเขายังไม่เข้าใจโมเดลของ Community Space อยู่แล้ว เขาไม่รู้ว่าจะเอาตึกคุณตาที่มีกำแพงกั้นไว้หมดไปทำอะไร แต่โชคดีที่พ่อแม่เราเป็นคนใจกว้างและพยายามเข้าใจไปกับลูก”

จากตึกชัยพัฒนสินรุ่นตาสู่ The Corner House รุ่นหลาน Community Space ใหม่แห่งเจริญกรุง

ปิ๊ง’s ไอเดีย

เราถามพวกเขาว่าถ้าเปรียบชัยพัฒนสินเป็นคนจริง ๆ ที่อายุ 100 ปี คิดว่าจะเป็นคนแบบไหน

นักออกแบบสาวตอบทันควันว่า เหมือนเธอ

“ตอนที่เราพัฒนาโปรเจกต์ขึ้นมา เราพยายามทบทวนตัวเองด้วยซ้ำ ปิ๊งมองว่าเหมือนผู้หญิงที่ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง รักสนุก ไม่อยู่กับที่ ปรับเปลี่ยนมุมมองได้ตลอดเวลา 

“ทุก ๆ ธุรกิจที่เคยเกิดขึ้นที่นี่เป็นอะไรที่ล้ำสมัยตลอด เช่น แต่ก่อนคนไทยไม่เคยรู้จักน้ำอัดลม ที่นี่ก็เคยเป็นโรงงานน้ำมะเน็ด (เพี้ยนมาจากคำว่า Lemonade) แต่ก่อนรองเท้าที่ล้ำที่สุดคือนันยางที่คุณตาทำกับหุ้นส่วน พอขายหุ้นก็ออกมาสร้าง Jump Master ซึ่งคอนเซปต์คือสวย เด่น ล้ำ เหมือนรองเท้า Keds

“ตอนทำ Jump Master Skate Haus กระแสเซิร์ฟสเกตมาแรงมาก แต่ยังไม่เคยมีลานสเกตในร่มที่เป็นไม้ทั้งหมด” เธอเท้าความ ก่อนที่พวกเขาจะปล่อยให้ลานสเกตโลดแล่นอยู่เพียง 2 ปี เพื่อเดินหน้าสานต่อความฝัน

“เราอยากทำให้ตึกหัวมุมนี้รวบรวมทั้งศิลปวัฒนธรรม พื้นที่ ไลฟ์สไตล์ คอมมูนิตี้ ไว้ด้วยกัน”

จากตึกชัยพัฒนสินรุ่นตาสู่ The Corner House รุ่นหลาน Community Space ใหม่แห่งเจริญกรุง

สิ่งที่นักออกแบบรุ่นหลานยึดถือไว้เป็นมั่นหมาย คือการเคารพเอกลักษณ์ดั้งเดิมของตึก แม้จะยอมรับอย่างติดตลกว่าไม่ได้ปรึกษาครอบครัวก็ตาม

“เรายืนยันกับสถาปนิกเลยว่าความยากของงานนี้ คือคุณทุบของเก่าทิ้งไม่ได้ เราอยากให้ Architecture speak ifself. เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีโอกาสฟังเราพูดแบบนี้

“เวลาทำอะไรเราจะเห็นภาพชัดในหัว คิดเร็วทำเร็ว แม่ก็ถามว่าทำไมถึงต้องชื่อ The Corner House เอาจริง ๆ นะ…” ปิ๊งหัวเราะก่อนเล่า “แอบบอกว่าเคยเป็นชื่อ Place of People มาก่อน แล้วพอทำไปเรื่อย ๆ ก็นั่งดูสิ่งที่ทำหน้าคอม พูดกับตัวเองหน้ากระจกทุกวัน จนเลี่ยน หาทางพัฒนาต่อไม่ได้ เลยเปลี่ยนกลางคัน 

“แล้วคำว่าอะไรดีที่จะทำให้นึกถึงบ้านเราได้โดยไม่ต้องบอกเลขที่บ้าน บอกโลเคชันได้ และตอบโจทย์ลักษณะของตึก เราใช้เวลาอีก 1 เดือนปรับเปลี่ยนแบรนดิ้งทั้งหมดจาก Place of People มาเป็น The Corner House”

นอกจากจะได้ออกมาเป็นโลโก้ Typography พร้อมสีเหลืองแสบสัน ยังทำให้ตึกนี้สนุกขึ้น วาไรตี้ แบบไม่ทิ้งลาย สวย เด่น ล้ำ จากรุ่นคุณตาอีกด้วย

จากตึกชัยพัฒนสินรุ่นตาสู่ The Corner House รุ่นหลาน Community Space ใหม่แห่งเจริญกรุง

เพื่อนบ้าน

ตามสเตปทายาทที่ไม่อยากรับช่วงต่อจากพ่อแม่ อาชีพเก่าของพวกเขาคือกราฟิกดีไซเนอร์

สองพี่น้องเก่งกาจเรื่องดีไซน์ ไม่มีใครปฏิเสธหรอก ดูจากการสรรสร้างลานสเกตก็พอจะรู้ เมื่อหันมาเป็นผู้ประกอบการ แม้จะไม่เคยทำมาก่อน แต่พวกเขาก็มีความคิดสร้างสรรค์ไม่แพ้กัน

พวกเขาตั้งใจให้ที่นี่เป็น Urban Lifestyle Community ตอบโจทย์คนกรุงและความเป็นเมือง

บริเวณชั้น 1 ของอาคารแบ่งสัดส่วนให้เกิดกิจกรรมต่างกัน พาร์ตเนอร์สำคัญคือร้าน densouvenir ร้าน Flagship Store และบูทดีเจจาก Abandon Project 2 กิจการ Local Artist จากเชียงใหม่ที่มีแพสชันกับสิ่งที่ทำ จนสร้างให้เกิดชุมชนของตัวเองไว้รวมตัวคนรักสิ่งเดียวกันได้ 

นอกจากนี้ยังมีร้านอาหารและเครื่องดื่มให้อิ่มท้อง พวกเขากระซิบบอกเราก่อนใครว่า มีร้านคราฟต์เบียร์จากเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ มีร้านขนมจากภูเก็ตชื่อจุ้ยตี๋ ซึ่งเป็นธุรกิจที่เอาของพื้นเมืองมาเพิ่มมูลค่าทั้งคู่

จากตึกชัยพัฒนสินรุ่นตาสู่ The Corner House รุ่นหลาน Community Space ใหม่แห่งเจริญกรุง
จากตึกชัยพัฒนสินรุ่นตาสู่ The Corner House รุ่นหลาน Community Space ใหม่แห่งเจริญกรุง

ชั้น 2 ในอดีตเป็นสำนักงานของบริษัทรองเท้า Jump Master พวกเขาตั้งใจให้เป็นพื้นที่โล่ง สำหรับการจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนของศิลปินเล็ก ๆ ทั้งยังเป็นพื้นที่สำหรับการทำกิจกรรมเวิร์กช็อปให้คนนอกมีส่วนร่วม อย่างในวัน Soft Opening ก็มีการทำภาพพิมพ์ปลา ศิลปะเก่าแก่ของญี่ปุ่น จาก Lemon & Butter Gyotaku Club โดยตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์เก่าแก่จากรุ่นคุณตาแทบทั้งสิ้น

ชั้น 3 นับว่าเป็นไฮไลต์ ในยุคแรกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นโรงงานน้ำอัดลม ในยุคของ Jump Master เป็นโกดังสินค้า ก่อนรุ่นหลานจะเปลี่ยนให้เป็นลานสเกต ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ Co-playing Space สำหรับคอดนตรีและศิลปะ มีทั้งกิจกรรรมฉายหนัง เล่นเกม ฟังแผ่นเสียง โดย Such a Small World พาร์ตเนอร์อีกคนที่ช่วยทำให้ตึกนี้มีชีวิตชีวาขึ้น

“ก่อนทำ เราคุยกับ Such a Small World ว่าเขามองทิศทางเดียวกันไหม ถ้าทิศทางเดียวกันก็อยากให้เขาทำได้ทั้งชั้นเลย เพราะตึกนี้เหมือนจิ๊กซอว์ เราปูจิ๊กซอว์จนเต็มไม่ได้ถ้าไม่มีภาคส่วนอื่น ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง 

“เขามองถึงอนาคตว่าชีวิตคนกรุงจะไม่มีพื้นที่ให้ผ่อนคลาย ไปทำงาน กินข้าว กลับบ้าน นอน ทุกวัน เราควรจะเติมเต็มด้านอื่น ๆ บ้าง เราทำงานกันมากพอแล้ว เขามีแนวคิดเดียวกับเราว่าอยากให้คนออกมาเอนจอยข้างนอก และสร้างชุมชนใหม่ ๆ ด้วยกัน” 

น่าเสียดายที่ในวัน Soft Opening ชั้น 4 ยังไม่เปิดให้เข้า เรามีโอกาสได้ขึ้นไปเยี่ยมชมก่อน บอกเลยว่าบรรยากาศดีมาก ปิ๊งเล่าให้ฟังว่าโซนนี้จะกลายเป็นบาร์ดาดฟ้า และกำลังซุ่มพัฒนาคราฟต์มิกเซอร์ที่ร้านอื่นยังไม่มี เมื่อบาร์เสร็จ ทุกคนก็จะใช้เวลาอยู่ที่ตึกนี้ได้ตั้งแต่เช้าจรดเย็น นั่นคือความตั้งใจของสองพี่น้อง

“เราพยายามพูดว่าการสร้างชุมชนเกิดจาก Inside Out ไม่ใช่ Outside In เราเลือกพาร์ตเนอร์ เลือกร้านค้า เลือกศิลปินเข้ามาจัดนิทรรศการ ทุกคนมีความสัมพันธ์กับชุมชนที่อาศัยอยู่ 

“เราเชื่อเรื่องนี้มากนะ ถ้าเขาเข้ากับเราได้ตั้งแต่แรก มีธงที่ปักไว้ในใจแบบเดียวกับเรา ไม่ว่ามันจะไปในทางไหน ซ้ายหรือขวา แต่จุดหมายคือที่เดียวกัน

“คนแบบนี้แหละที่เราอยากได้” แชมป์ย้ำ

ธุรกิจ – ครอบครัว

“ผมไม่กล้าสัญญาหรอกว่าเราจะส่งผลอะไร” คนเป็นพี่ชายตอบ เมื่อเราถามว่าการเกิดขึ้นของ The Corner House จะสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรให้ย่านเจริญกรุงบ้าง

“เราเป็นแค่กลไกเล็ก ๆ ไม่ได้คิดว่าขยับตัวทีหนึ่งแล้วจะอิมแพกต์มาก แต่อย่างน้อยเราอยากจุดประกายบางอย่างให้แวดวงนักสร้างสรรค์ เราอยากให้เจริญกรุงกลับมาฮิตเหมือนสมัยก่อน เป็นหมุดหมายของทั้งคนกรุงเทพฯ คนต่างจังหวัด และนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 

“การมีคนรู้จัก The Corner House ไม่ได้เป็นประโยชน์แค่กับตัวเราเองหรือย่านเจริญกรุงเท่านั้น แต่ยังทำให้ต่างชาติมองว่าคอมมูนิตี้นักสร้างสรรค์ของไทยแข็งแรงด้วย”

ระหว่างพวกเขาพาเราชมดาดฟ้า เล่าถึงกระบวนการทำงานว่าทุบปูนด้านข้างทิ้ง เปิดหลังคาออก แต่ยังเก็บโครงไม้เอาไว้ 

เราให้คนเป็นหลานลองคิดเล่น ๆ ว่าคุณตาจะรู้สึกยังไง หากยังมีชีวิตอยู่และเห็นตึกที่รักกำลังถูกหลานเปลี่ยนแปลง

“เขาจะสนับสนุน 100% และจะไม่มีคำถามอะไรเลย ปิ๊งเชื่อ เพราะปิ๊งติดคุณยายมาก”

แชมป์เองก็เห็นด้วย พร้อมเผยความลับที่ทำให้เราเข้าใจเหตุผลทั้งหมดว่านั่นเกี่ยวอะไรกับคุณตา

“ชื่ออาคารชัยพัฒนสินไม่ใช่ชื่อคุณตา คุณยายเป็นคนบอกว่า ฉันจะเอาตึกนี้ แล้วคุณตาก็จัดการซื้อมาเลย”

ดูท่าขัดใจคุณยายไม่ได้ซะมากกว่านะเนี่ย

The Corner House Bangkok

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์