6 มิถุนายน 2023
3 K

กองม้วนกระดาษขนาดย่อมถูกกางออกมาวางบนโต๊ะอาหารร้านเคนซากุ (Kensaku) กระดาษไม่ต่ำกว่า 10 แผ่นมีรูปปลาหลากหลายชนิดไม่ซ้ำกันอยู่บนนั้น เมื่อเพ่งมองรายละเอียดจะเห็นลายเกล็ด ครีบ ข้อหาง และส่วนต่าง ๆ ของปลาอย่างชัดเจนราวกับยกปลาตัวเป็น ๆ มาใส่ไว้

แต๊ง-จาตุรันต์ รุ่งเรืองเสาวภาคย์ หยิบบล็อกไม้ของเล่นของเขาออกมาวางทับมุมกระดาษ เผยให้เห็นผลงานภาพพิมพ์ปลา หรือ ‘เกียวทาคุ’ (Gyotaku) ที่เขาและ ดีนี่ ตันติเวชกุล ร่วมมือกันสรรสร้างภายใต้ชื่อ ‘Lemon & Butter Gyotaku Club’

ในกระบอกสีดำขนาดยาวยังมีกระดาษเปล่าจำนวนหนึ่งที่ทั้งสองเตรียมมาทำภาพพิมพ์ปลาให้เราดู ซึ่งเป็นศาสตร์และศิลป์การบันทึกปลาด้วยภาพพิมพ์ที่ทั้งสวยงามและหาชมได้ยาก

เราเลยถือโอกาสนี้นำวิธีการบันทึกปลาเก่าแก่ของญี่ปุ่นมาสู่สายตาของทุกคน

Gyotaku ศาสตร์-ศิลป์การบันทึกปลาด้วยภาพพิมพ์ของญี่ปุ่น โดยคนไทยที่รักปลาตั้งแต่หัวจรดหาง

From Nature to Art

“ปลาตัวแรกที่เราพิมพ์คือปลาเก๋าที่ซื้อจากตลาด ตอนนั้นเราใช้กระดาษ A4 กับหมึกพิมพ์หน้าเค้ก” แต๊งพูดยิ้ม ๆ

สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวกลายเป็นทรัพยากรหลักในการหัดพิมพ์ภาพของแต๊งกับดีนี่ ซึ่งพอได้ลอง ทั้งสองเลยรู้ตัวว่าภาพพิมพ์มีดีเทลละเอียดยิบทำยากกว่าที่คิดไว้มาก

จากนั้นความอยากรู้อยากลองก็กลายเป็นงานอดิเรก (ที่เรามองว่าจริงจังเกินกว่านั้นมาก)

ด้วยความที่ทั้งคู่มีงานประจำอยู่แล้ว ดีนี่เป็นกราฟิกดีไซเนอร์ ส่วนแต๊งมีงานที่ร้าน Regular’s Space บาร์ค็อกเทลที่เสิร์ฟซาชิมิเป็นเครื่องเคียง ทั้งคู่จึงผุดโปรเจกต์ว่าจะมาพิมพ์ปลาด้วยกันเพียงสัปดาห์ละครั้งในทุกเย็นวันจันทร์ โดยมีชั้นดาดฟ้าของบริษัทที่ดีนี่ทำงานอยู่เป็นลานฝึกฝีมือ

ส่วนช่วงเวลาทั้งอาทิตย์ที่เว้นว่างไป คือเวลาทองของการหาความรู้เพิ่มเติม

ข้อมูลของ Gyotaku นั้นหายากเหมือนงมเข็มในมหาสมุทร แต๊งกับดีนี่ถึงขั้นต้องศึกษาจากบทความภาษาญี่ปุ่น โดยมีเพื่อนคนญี่ปุ่นช่วยแปลให้

Gyotaku ศาสตร์-ศิลป์การบันทึกปลาด้วยภาพพิมพ์ของญี่ปุ่น โดยคนไทยที่รักปลาตั้งแต่หัวจรดหาง

“ในสมัยก่อน ภาพพิมพ์ปลาคือหลักฐานการจับปลาของชาวประมง ทำได้ด้วยการนำปลามาทาหมึกแล้วแปะลงบนผ้า เน้นความรวดเร็วเป็นหลัก จนภาพพิมพ์ปลาได้รับความสนใจจากไดเมียวองค์หนึ่ง ท่านต้องการภาพเหล่านั้นไปไว้ที่วัง เลยเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้การพิมพ์ปลาประณีตมากขึ้น หมึกและกระดาษที่ใช้ก็ต้องเป็นอุปกรณ์คุณภาพดี” แต๊งเล่า

แล้วภาพพิมพ์ปลามีความหมายยังไงกับคุณ – เราถามด้วยความสงสัยว่าทำไมคนไทยสองคนถึงสนใจ Gyotaku นัก

“มันคือการให้เกียรติปลา” แต๊งกับดีนี่ตอบแบบเดียวกัน

“เรามีโอกาสได้ไปกระบี่ แล้วไปเจอชาวประมงที่เขาเลี้ยงกะพงกระชังหนึ่งด้วยตัวเองคนเดียว เสิร์ฟเอง จัดการบุ๊กกิ้งเอง พอได้กินปลากะพงของเขา มันระเบิดโลกเลยว่า เห้ย ปลาบ้านเราอร่อยขนาดนี้เลยเหรอ เลยคิดได้ว่าปกติเราจับปลาแล้วเอาไปทำอาหารก็จบ แต่ถ้าเพิ่มงานศิลปะเข้าไปด้วย จะสร้างกิจกรรมให้ชุมชน จะกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว” ดีนี่เล่า

ในกระเป๋าที่แต๊งกับดีนี่หอบมามีกระบอกใส่ผลงานเป็นส่วนน้อยเท่านั้น อุปกรณ์อื่น ๆ ยังมีพู่กัน ขวดแก้วใส่หมึก กรรไกร ผ้าคอตตอน และที่แปลกตาที่สุดคือกล่องกระดาษแบนยาวสีน้ำเงิน

“นี่คือ Sumi Ink ครับ มาจากการเผาลูกสนกับผิวแซลมอน”

แต๊งเปิดฝากล่องให้เห็นแท่งสีดำด้านที่อยู่ข้างใน แท่งหมึกมาจากการเผาส่วนผสมจากธรรมชาติดังกล่าวแล้วนำไปผสมน้ำและแป้ง จากนั้นนวดแล้วทิ้งไว้นานนับปีถึงจะได้แท่งหมึกที่พร้อมใช้

Gyotaku ศาสตร์-ศิลป์การบันทึกปลาด้วยภาพพิมพ์ของญี่ปุ่น โดยคนไทยที่รักปลาตั้งแต่หัวจรดหาง

“ก่อนหน้านี้ที่พวกผมไม่รู้กัน พวกผมเอาถ่านมาป่น ผสมน้ำผสมแป้ง แล้วนั่งนวดกัน” แต๊งเล่า

“ทำสูตรกันเอง” ดีนี่เสริม

สาเหตุที่ทุ่มเทกันขนาดนี้เพราะไม่อยากใช้หมึกที่มีสารเคมีอันตรายเป็นส่วนผสม แต่หมึกแต่งหน้าเค้กก็ให้ผลลัพธ์ที่ไม่ถูกใจ

หลังจากค้นพบวิธีการทำแท่งหมึกที่ถูกต้อง แต๊งกับดีนี่ก็ยกเลิกโปรเจกต์หมึกโฮมเมดของตัวเอง แล้วให้เพื่อนชาวญี่ปุ่นซื้อตัวหมึกกับที่ฝนหมึกส่งตรงจากญี่ปุ่นมาให้ถึงประเทศไทย

นอกจากนี้ กระดาษก็เป็นตัวแปรสำคัญที่กำหนดคุณภาพของภาพพิมพ์ เพราะกระดาษที่เหมาะสมต้องกดให้เข้ารูปทรงของปลาได้เพื่อเก็บดีเทลตามต้องการ

“เราไปเจอเจ้าที่นำเข้ากระดาษ Xuan Paper เป็นกระดาษสาที่เรียกได้ว่าละเอียดที่สุดในโลก ข้างในมีใยผ้าด้วย แล้วคุณภาพของกระดาษมีผลมาก ๆ ต่อความรู้สึกของคนที่ได้รับภาพพิมพ์ปลา”

Gyotaku ศาสตร์-ศิลป์การบันทึกปลาด้วยภาพพิมพ์ของญี่ปุ่น โดยคนไทยที่รักปลาตั้งแต่หัวจรดหาง

ได้ยินดังนั้น เราจึงเอื้อมมือไปจับผลงานที่กางไว้ เพียงแค่สัมผัสที่มุมกระดาษ ความนุ่มของ Xuan Paper ก็ทำหน้าที่พิสูจน์คำพูดของแต๊งเมื่อครู่

แต่แค่หาข้อมูลกับอุปกรณ์ยังยากขนาดนี้ เพราะฉะนั้น จะเรียกว่านี่เป็นบททดสอบความมุ่งมั่นของทั้งสองคนตั้งแต่จุดสตาร์ตของเส้นทางการพิมพ์ปลาเลยก็ว่าได้

“ช่วงแรกมีคนสงสัยในตัวเราเยอะเหมือนกันนะ เพราะในไทยไม่ค่อยมีคนทำ” แต๊งบอก

เราอดถามไม่ได้ว่าทั้งสองไม่มีความคิดอยากล้มเลิกบ้างเหรอ เพราะกิโลเมตรแรกของถนนช่างขรุขระเหลือเกิน

“เริ่มแล้วก็อยากทำให้ได้ มันดีกว่านี้ได้” ดีนี่ตอบทันทีที่ได้ยินคำถาม

From Amateur to Master

หลังจากล้วงลึกเรื่องความชอบและแพสชัน ถึงเวลาที่แต๊งกับดีนี่จะสาธิตวิธีการทำภาพพิมพ์ปลาให้เราดูสด ๆ และโชว์ความเข้าขากันตลอดหลายชั่วโมงที่ก้ม ๆ เงย ๆ ชะโงกดูปลา 1 ตัว

ส่วนพระเอกของเราในวันนี้ก็คือ ปลาจิไดสีแดงสวยที่ทางร้านเคนซากุเตรียมไว้ให้

ช่างพิมพ์ทั้งสองสวมถุงมือพร้อม เคลียร์โต๊ะ แล้วยกอุปกรณ์มาวางไว้ข้างตัว ขั้นแรกเริ่มจากฝนหมึก Sumi Ink ซึ่งเรามีโอกาสได้ลองดมใกล้ ๆ แล้วพบว่ากลิ่นคล้ายน้ำขี้เถ้า แต๊งฝนแท่งหมึกไปมาจนรู้สึกถึงความข้นลื่น นั่นเป็นสัญญาณว่าหมึกพร้อมใช้งาน แล้วจึงเทใส่ไว้ในขวดแก้วเพื่อป้องกันน้ำระเหย

Gyotaku ศาสตร์-ศิลป์การบันทึกปลาด้วยภาพพิมพ์ของญี่ปุ่น โดยคนไทยที่รักปลาตั้งแต่หัวจรดหาง

ถัดมาที่พระเอกของเรา ปลาจิไดถูกนำมาวางไว้ตรงกลางโต๊ะโดยมีแต๊งกับดีนี่ยืนอยู่คนละฝั่งของโต๊ะ สี่มือช่วยกันซับความชื้นออกจากผิวปลาเพื่อไม่ให้หมึกเจือจาง ขั้นตอนนี้รวมไปถึงการจัดท่าทางของปลา โดยหักไม้เสียบลูกชิ้นมาง้างปากปลาให้อ้าออก เสร็จแล้วก็เริ่มลงหมึกโดยการใช้พู่กันทาหมึกลงบนผิวปลาโดยตรง สีส่วนเกินจะถูกซับออกด้วยผ้าคอตตอนเนื้อละเอียด พอเตรียมปลาได้ที่แล้วก็ทำ Test Print ซึ่งเป็นการลองพิมพ์ปลาเพื่อเช็กให้แน่ใจว่าการลงสี ซับสี และไล่เฉดสีให้ผลลัพธ์ตามต้องการ

Gyotaku ศาสตร์-ศิลป์การบันทึกปลาด้วยภาพพิมพ์ของญี่ปุ่น โดยคนไทยที่รักปลาตั้งแต่หัวจรดหาง

แต๊งกับดีนี่ส่งทิชชูให้กันช่วยซับหมึกและพิมพ์ซ้ำ ๆ จนได้ภาพที่ถูกใจทั้งคู่ที่สุด แล้วกรรไกรก็เข้ามามีบทบาท แต๊งบรรจงตัดครีบปลาออก โดยมีดีนี่คอยนำครีบแต่ละชิ้นไปแช่ในน้ำเพื่อรักษาความชื้น ป้องกันไม่ให้ครีบแห้งจนขาด แล้วทั้งคู่ก็ลงสีและซับสีที่ตัวปลาตามที่ลองทำ Test Print เพื่อพิมพ์เฉพาะตัวปลา ก่อนจะเอาครีบที่แช่น้ำไว้มาซับความชื้นออกแล้วลงหมึกกับซับสี จากนั้นพิมพ์ครีบลงบนภาพพิมพ์ตัวปลาที่ทำไว้

มาถึงขั้นตอนสุดท้ายของการทำเกียวทาคุ นั่นคือการเติมรายละเอียดโดยวาดตาปลาด้วยมือ ซึ่งถือเป็นการเติมชีวิตให้กับภาพพิมพ์ปลาเลยทีเดียว

เส้นทางการหัดพิมพ์ภาพปลาหรือ Gyotaku ศาสตร์และศิลป์จากญี่ปุ่นที่ทำโดยสองคนไทยผู้รักปลาตั้งแต่ตัวจรดหาง

พิมพ์ปลาเสร็จแล้วก็นำไปล้างน้ำและเช็ดคราบหมึกออก เพื่อนำไปทำเป็นซาชิมิให้เราได้ทานกันต่อไป

ในฐานะผู้สังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดทุกขั้นตอน เราสรุปได้ว่าทักษะของช่างพิมพ์คือปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับการพิมพ์ปลา มากกว่าอุปกรณ์หรือตัวปลาเสียอีก

ตั้งแต่ปลาขนาดเล็กอย่างปลาทูจนถึงปลาขนาดใหญ่อย่าง Yellowfin Tuna ก็ผ่านมือช่างพิมพ์ชาวไทยสองคนนี้มาแล้ว และความฝันอย่างหนึ่งของแต๊งกับดีนี่ คือการทำภาพพิมพ์ซีรีส์ปลาทูแม่กลอง โดยรวมเอาปลาทูตากแห้งและปลาทูที่มีงาโรยอยู่ด้านบนไว้ในซีรีส์ด้วย

และก่อนจะทำตามฝันนั้นได้ ทั้งสองคนต้องลับฝีมือให้คมเสียก่อน

“ปลา 4 ตัวแรกที่พิมพ์มีผิวคนละแบบทุกตัว ท้าทายทุกตัวเลย”

ดีนี่เล่าว่าผิวปลามีหลายแบบแล้ววิธีการลงหมึกก็แตกต่างกันไปตามประเภทของผิวปลา ปลาบางตัวเกล็ดเล็ก บางตัวเกล็ดใหญ่ บางตัวมีกระดอง แม้แต่ปลาที่มีผิวเป็นทรายก็มี ซึ่งแต๊งบอกว่ามันเต็มไปด้วยเกล็ดเล็ก ๆ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แล้วถ้าลงสีด้วยพู่กัน หมึกจะซึมลงไปตามเกล็ดหมด จึงต้องใช้วิธีเอาผ้าคอตตอนไปซับหมึกแล้วมาลงสี ทั้งนี้ กระบวนการที่กินเวลามากที่สุดก็คือการซับสีนี่แหละ

แต่ผิวปลาหรือจะสำคัญเท่าทักษะของช่างพิมพ์

เส้นทางการหัดพิมพ์ภาพปลาหรือ Gyotaku ศาสตร์และศิลป์จากญี่ปุ่นที่ทำโดยสองคนไทยผู้รักปลาตั้งแต่ตัวจรดหาง

“ตอนที่เราไล่เฉดของผิวปลา ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสีและลายปลา เราใช้พู่กันทาหมึกลงบนผิวแค่ครึ่งบน แล้วเอาผ้าคอตตอนซับหมึกส่วนเกินไปแปะส่วนท้องของปลา ซึ่งมีสีสว่างกว่า”

ดังนั้น ถ้าจะพูดว่าการพิมพ์ปลาคือการเพนต์สีด้วยตัวเองมากกว่าการทาสีแล้วเอากระดาษมาพิมพ์ลายก็ไม่ผิดนัก

เราถามต่ออีกว่าการทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์มีส่วนช่วยในการพิมพ์ปลาบ้างไหม แต๊งเลยเล่าถึงหลักการจัดองค์ประกอบรูปในเกียวทาคุ โดยมีเคสปลากระโทงของ ดีเจภูมิ-ภูมิใจ ตั้งสง่า เป็นตัวอย่าง

“ปลากระโทงยาวมาก ยาวกว่ากระดาษอีก เราเลยต้องจัดองค์ประกอบปลาให้อยู่ในกระดาษ โดยหักหน้าปลาให้เชิดขึ้น มันเลยพอดีที่จะเก็บรายละเอียดปลาให้สมบูรณ์ได้โดยที่เขาไม่ได้เหยียดตรง”

แค่นั้นยังไม่พอ แต๊งกับดีนี่นำวิธีการเล่าเรื่องมาสู่เกียวทาคุด้วย พวกเขาเปลี่ยนภาพปลาหนึ่งตัวที่จัดให้อยู่ในท่าทางตามต้องการ กลายเป็นรูปภาพที่มีมิติ ผู้ชมคาดเดาการเคลื่อนไหวของปลาได้ จนกระทั่งรูปภาพมีเรื่องราวของมันเอง

ภาพพิมพ์ปลาน้ำดอกไม้ เป็นภาพที่แต๊งกับดีนี่ตั้งใจจำลองธรรมชาติของปลาที่อยู่เป็นฝูง พวกเขาพิมพ์ปลาน้ำดอกไม้หลายตัวไว้ในรูปเดียวกัน จัดหัวปลาให้ชี้ขึ้น แล้วสาดหมึกลงไปให้เหมือนน้ำกระเซ็น มองผ่าน ๆ ภาพนี้จึงเหมือนกับฝูงปลาที่กระโจนโผล่พ้นผิวทะเล

Gyotaku ศาสตร์-ศิลป์การบันทึกปลาด้วยภาพพิมพ์ของญี่ปุ่น โดยคนไทยที่รักปลาตั้งแต่หัวจรดหาง
เส้นทางการหัดพิมพ์ภาพปลาหรือ Gyotaku ศาสตร์และศิลป์จากญี่ปุ่นที่ทำโดยสองคนไทยผู้รักปลาตั้งแต่ตัวจรดหาง

“แล้วจริง ๆ ไม่จำเป็นต้องพิมพ์ปลาอยู่มุมเดียวหรือเป็น 2 มิติ ตลอดเวลาที่ทำภาพพิมพ์ เราเห็นว่ามันหมุนทางอื่นได้ ซึ่งการหมุนหรือบิดปลาเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีคนทำ เพราะอย่างที่บอกว่าคนสมัยก่อนเน้นบันทึกปลาที่จับได้ เลยพิมพ์ภาพกันเร็ว ๆ บนเรือเท่านั้นเอง” แต๊งบอก

“ถ้าเราเก่งการทำภาพพิมพ์ปลาแล้วเราอยากจัดเวิร์กช็อปเพื่อกระจายองค์ความรู้ให้คนทั่วไปฟรี ๆ เราอยากเสริมสร้างคอมมูนิตี้ของคนที่ชอบภาพพิมพ์ปลากับธุรกิจท้องถิ่น” ดีนี่กล่าว

ถ้าจะเรียกว่าเชี่ยวชาญได้ต้องเป็นแบบไหน – เราถาม

“ของแบบนี้ไม่มีเพดานหรอก” ดีนี่ตอบ ซึ่งแต๊งก็เห็นด้วย

การพัฒนาตัวเองอย่างไม่มีที่สิ้นสุดฟังดูเข้ากับพวกเขาทั้งสองดี และเราสัมผัสได้ถึงแพสชันในน้ำเสียงตลอดการสัมภาษณ์ 1 ชั่วโมงนั้น

From Two to Community

นักตกปลาและเหล่าคนรักปลาหลายคนรู้จักแต๊งกับดีนี่ในฐานะช่างพิมพ์ภาพปลาจากเพจ Lemon & Butter Gyotaku Club ผลงานที่ไม่มีใครเหมือนนี้สร้างความประทับใจให้แก่พวกเขา ถึงขั้นมีคนส่งปลาที่ทั้งแปลกและหายากมาให้ทั้งคู่พิมพ์ฟรี ๆ

“ตอนที่ดีเจภูมิได้ภาพพิมพ์ไป เขารู้สึกว้าวมาก แล้วความรู้สึกของคนรับก็อิมแพกต์กับเรามาก” แต๊งเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น

การแลกผลงานกันระหว่างช่างพิมพ์ภาพปลากับคนรักปลากลายเป็นเรื่องสนุก ฝ่ายหนึ่งได้ปลามาฝึกพิมพ์ อีกฝ่ายก็ได้ภาพพิมพ์ของปลาตัวเองเป็นที่ระลึก เกิดเป็นคอมมูนิตี้ที่สนับสนุนกันและกันอย่างนึกไม่ถึง

แต่การรับปลามาพิมพ์ก็เพิ่มข้อจำกัดในการทำงานด้วย เพราะลูกค้าบางรายต้องการปลาของตัวเองกลับคืนในสภาพสมบูรณ์

แต๊งกับดีนี่เข้าใจหัวอกลูกค้าเป็นอย่างดีว่า ปลาตัวหนึ่งเป็นมากกว่าอาหาร มันอาจเป็นตัวแทนเรื่องราวน่าประทับใจ อาจเป็นตัวแทนความทรงจำที่มีร่วมกับคนพิเศษ หรือมากกว่านั้นก็ได้

เราคงลืมบอกไปว่าอีกคนที่นั่งอยู่ในวงสนทนาคือ อ๊อบ-ธนิสร วศิโนภาส เจ้าของร้านเคนซากุที่อำนวยความสะดวกเรื่องสถานที่ให้เราวันนี้ ทั้งยังเป็นผู้จัดหาปลาแปลก ๆ อย่าง โมลา โมลา หรือ ปลาแสงอาทิตย์ มาให้แต๊งกับดีนี่ลองพิมพ์

เส้นทางการหัดพิมพ์ภาพปลาหรือ Gyotaku ศาสตร์และศิลป์จากญี่ปุ่นที่ทำโดยสองคนไทยผู้รักปลาตั้งแต่ตัวจรดหาง

‘ภาพพิมพ์ปลาคืองานศิลปะ’ ประโยคนี้คงน่าเชื่อมากที่สุดเมื่อออกจากปากของคนที่อยากได้ภาพเหล่านั้นมาไว้เอง

“ถ้ามีคนเห็นภาพพิมพ์ทูน่าข้างภาพถ่ายทูน่าขนาดเท่าของจริง คนต้องเดินไปที่ภาพพิมพ์ก่อน แล้วพิมพ์ปลาตัวนี้ 10 ครั้งก็ 10 หน้านะครับ เราทำแบบนี้เหมือนกันทุกรูปไม่ได้ ทุกภาพคือต้นฉบับ” อ๊อบบอก

จากมุมมองของคนที่คลั่งไคล้ปลา ความต่างระหว่างเกียวทาคุกับภาพถ่ายเทียบได้กับความต่างระหว่างอาหารปรุงใหม่กับอาหารสำเร็จรูป แน่นอนว่าคนชอบของสดมากกว่า ถึงแม้อาหารแปรรูปจะผ่านกระบวนการที่ทำให้สะอาดและปลอดภัยมาแล้วก็ตาม

“ทุกคนจะคิดว่าแค่ระบายสีแล้วก็แปะ แต่อ๊อบเห็นว่าการทำงานของแต๊งกับดีนี่ละเอียดและเป็นงานศิลปะ ภาพพิมพ์ปลามีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งในไทยยังไม่เคยมีใครทำ ผมกล้าพูดเลยว่านี่คือทีมแรก”

เพียงเพราะทุกคนที่มีส่วนร่วมทำด้วยใจล้วน ๆ จากคนสองคนกับปลาจากตลาดเลยกลายเป็นกลุ่มคนจากทั่วทุกสารทิศและปลาจากทั่วโลก สมกับที่แต๊งพูดว่า สิ่งสำคัญที่เขาได้จากการทำภาพพิมพ์ปลาก็คือคอมมูนิตี้คนรักปลานั่นเอง

Writer

พิชามญชุ์ พูนสวัสดิ์พงศ์

พิชามญชุ์ พูนสวัสดิ์พงศ์

กำลังตามหาสิ่งที่ชอบ คิดถึงการขับรถเล่นที่ต่างจังหวัด และเชื่อว่าชีวิตนี้ไม่มีอะไรแน่นอนแต่เราเลือกกินของอร่อยได้

Photographer

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

นักศึกษาเอกญี่ปุ่นจากมหาสารคาม สนใจภาพถ่าย ชีวิตขับเคลื่อนด้วยเสียงเพลง อยากมีเงินไปมิวสิกเฟสติวัลเยอะๆ