กลิ่นสีและกาวแป้ง ไม่ใช่ภาพยนตร์ระดับตำนานของไทย แต่เป็นบรรยากาศของวันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมา ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียนของ Museum of Contemporary Art (MOCA)
และ “ใส่รองเท้าอะไรมาคะ” ก็ไม่ใช่ประโยคคำถาม แต่เป็นประโยคต้อนรับของทีมงานที่ยอมเปิดบ้านเลอะฝุ่นให้เราเข้าไปดูเบื้องหลังการติดตั้งชิ้นงาน The Art of Banksy ก่อนใคร อีเวนต์ใหญ่แห่งปีที่พวกเขาบอกว่าเป็นการดีลงานที่ยุ่งยากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ระดับ 11 เต็ม 10


ถัดมาอีก 4 วัน เรากลับมาที่นี่อีกครั้ง แบบไม่ต้องกลัวอีกต่อไปว่ารองเท้าคู่ไหนจะพาให้ลื่นล้ม
ผลงานพร้อมโชว์ โปรเจกเตอร์พร้อมฉาย หูมิกกี้เมาส์จำลองชวนให้นึกถึงทางเข้าสวนสนุกในฝัน เพียงแต่มันกลับตาลปัตรเป็น Dismaland ดินแดนแห่งสงครามและคราบเลือดของศิลปินหัวขบถนิรนามที่ถ้าใครไม่รู้จักชื่อเขา ก็ต้องรู้จักชิ้นงานในตำนานของเขาสักชิ้น ตั้งแต่ Girl With Balloon กราฟฟิตี้รูปเด็กหญิงกับลูกโป่ง, Kissing Coppers สองตำรวจหนุ่มกอดจูบกัน, The Flower Thrower ชายที่กำลังเขวี้ยงช่อดอกไม้ ไปจนถึงการโปรยเงินปลอม Banksy of England รูปเจ้าหญิงไดอาน่า ทั้งหมดล้วนเต็มไปด้วยการวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างตรงไปตรงมา และออกจะต่อต้านระบบทุนนิยมอยู่ไม่น้อย
แต่หากยังไม่รู้ ก็เชื่อว่าคงเห็นประเด็นร้อนบนโลกออนไลน์ผ่านตามาบ้าง เพราะนิทรรศการนี้ปราศจากความยินยอมของศิลปิน เต็มไปด้วยผลงาน Reproduction ทั้งจริง-ไม่จริงเรียงรายคละกัน แถมจากการจัดแสดงกว่า 18 เมืองทั่วโลก กรุงเทพฯ ยังเป็นที่แรกและที่เดียวที่ยกสตรีทอาร์ตมาไว้ในพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยอีกต่างหาก
วันนี้เราเดินทางมาพร้อมคำถามค้างคาใจ เพราะคงไม่มีใครที่จะคลายข้อสงสัยทั้งหมดได้ดีมากไปกว่า คิด-คณชัย เบญจรงคกุล ผู้อำนวยการรุ่นใหม่ไฟแรงแห่ง MOCA
คนที่กำลังจะหย่อนตัวนั่งลงตรงข้ามเราในไม่ช้า


Game Changer (2020)
เราเริ่มด้วยการเล่าให้คิดฟังว่า MOCA ในทรรศนะของคนทั่วไป คือพิพิธภัณฑ์ที่เต็มไปด้วยงานไทยวิจิตรของปรมาจารย์งานศิลป์ไทย การที่พักหลังเขาหันมาสนใจสตรีทอาร์ตจึงเป็นสิ่งที่หลายคนคาดไม่ถึง คิดนึกย้อนไปราว ๆ 4 – 5 ปีก่อน ตอนเข้ามารับหน้าที่บริหารงานต่อจาก เจ้าสัวบุญชัย เบญจรงคกุล พ่อของเขา
“ตั้งแต่คิดเข้ามาทำตรงนี้ เราพยายามให้ MOCA มีศิลปะที่หลากหลายมากขึ้น เข้าถึงศิลปินรุ่นใหม่ไปจนถึงสตรีทอาร์ต มีการจัดงานของศิลปินเด็ก มีงานที่เอาคนรุ่นใหม่อย่าง คุณต่อลาภ ลาภเจริญสุข จัดร่วมกับ อาจารย์ทวี รัชนีกร
“เราเป็นคนละเจนเนอเรชันกับคุณพ่อ รู้สึกว่าอยากทำอะไรใหม่ ๆ ให้คนหลาย ๆ กลุ่มได้ดู”
แม้คิดจะเห็นเช่นนั้น ยังมีบางงานที่พ่อของเขาไม่ค่อยแน่ใจว่าจะจัดดีหรือไม่ แต่พอได้เห็นงานศิลปะแขนงอื่น ๆ เช่น นิทรรศการ DOMESTICATED ของ กวิตา วัฒนะชยังกูร ศิลปิน Art Performance ก็นับว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่จนต้องซื้อเก็บไว้เป็นคอลเลกชันสำหรับจัดแสดง งานสตรีทอาร์ตจึงเขยิบเข้ามาใกล้มากขึ้น


โดยที่เจ้าสัวเองก็ไม่รู้ตัวเลยว่าวันหนึ่ง ลูกชายจะเข้ามาขอใช้พื้นที่อีก 2 โถงนิทรรศการถาวรของ อาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ และ อาจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ที่พ่อรัก เพื่อจัดงานครั้งใหญ่ที่อาศัยแค่ 2 ห้องนิทรรศการหมุนเวียนไม่พอ
เราถามตามตรงว่า สตรีทอาร์ตก็ควรเป็นศิลปะที่จัดแสดงบนท้องถนนมิใช่หรือ
คิดตอบกลับว่า “มันน่าจะเปลี่ยนบริบทได้”
สำหรับตัว Street Artist ท้องถิ่นเอง ยังถือเป็นความท้าทายที่ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานจากกำแพงเป็นผนังของมิวเซียม ทั้งยังเป็นสถานที่มั่นให้ศิลปินมารวมตัวกันได้ง่ายอีกด้วย
การจัดนิทรรศการสตรีทอาร์ตที่นี่จึงไม่ใช่ปัญหา ปัญหาอยู่ที่ว่า ศิลปินคนนั้นคือใครต่างหาก
Show me the Banksy (2005)
Banksy เป็นศิลปินหนึ่งในความฝันของคิด
เขาฝันมาตลอดว่าคงเป็นการดีถ้าคนไทยจะมีโอกาสได้เห็นงานของ Banksy เหมือนที่เขาเคยเห็นในต่างประเทศ แต่ความจริงคือที่ผ่านมา Banksy เคยจัดงานนิทรรศการของตัวเองเพียงครั้งเดียวที่ Bristol City Museum บ้านเกิดของเขา เพราะหนึ่งในความเชื่อของศิลปินผู้นี้คือ ศิลปะเป็นของทุกคน
ถ้าเห็น ให้อนุมานได้เลยว่าจัดขึ้นโดยกลุ่มคนอื่นทั้งสิ้น
แน่นอนว่า The Art of Banksy ก็เช่นกัน
คิดตื่นจากฝันมาเผชิญหน้ากับความจริง แต่ดันจริงยิ่งกว่าในฝัน เมื่อทีมอีเวนต์ติดต่อมาว่าอยากจัดแสดงนิทรรศการที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


“บริษัท EEG (Expand Entertainment Group) ติดต่อเรามา เขาบอกตั้งแต่แรกว่าจะมีงานออริจินัล มีงาน Reproduction มีงาน Video Mapping มี Installation สร้างขึ้นใหม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก Banksy”
ถึงจะเข้าใกล้ความฝันเต็มแก่ เขาก็ยังลังเลใจอยู่พอสมควร
“เราชั่งน้ำหนักว่าจะจัดดีไหม” ผู้อำนวยการคิดหนัก ต่อให้ทางผู้จัดงัดความสำเร็จมาเล่าให้ฟังว่ากระแสตอบรับของทั้ง 18 เมืองถล่มทลาย ขนาดมียอดผู้เข้าชมรวมแล้วกว่า 1 ล้านคน อาจเป็นเพราะความจริงอีกอย่าง คือผลตอบรับมีทั้งดีแย่ปนไป และส่วนที่แย่ก็ดันหนักหน่วงเสียนี่
“เราเห็นว่ามันมีดราม่า แต่ทุกครั้งไม่ว่าจะเป็นงาน Banksy จัดเองหรือคนจัดงานให้ มันก็จะมีประเด็นพวกนี้อยู่แล้ว
“ทั้งพูดถึงวิธีการทำงานของเขา การที่เขาไปทำงานในพื้นที่สาธารณะ การเอางานไปขึ้นโชว์ที่ MOMA (Museum of Modern Art) โดยเจ้าของพื้นที่ไม่ได้รับรู้ หรือการพูดถึงเรื่องลิขสิทธิ์ มันเป็นเรื่องที่อยู่ในความสุ่มเสี่ยง อาจจะพูดยากว่าอะไรถูกอะไรผิด
“เจตนาจริง ๆ เราอยากให้คนได้มาเห็นงานนี้ เพราะมันกระจัดกระจายอยู่ตามถนน ตามที่สาธารณะ บางคนเคยเห็นงาน Banksy แต่อาจจะไม่ได้รู้ถึงความหมายของมัน แต่ครั้งนี้เราจับงานทุกอย่างแผ่ออกมาให้เห็นหมดเลย เราคิดว่าถ้าคนได้มาสัมผัสงานนี้จะได้รู้ถึงความคิดและกระบวนการทำงานของเขามากขึ้น
“ตอนนี้มีความเห็นทั้งบวกและลบ แต่เราก็หวังว่าจะมีคนที่ชอบงานนี้ด้วย”
ก่อนหน้าที่ชิ้นงานจะล่องเรือมาเทียบท่า ศิลปะกว่า 150 ชิ้นจัดแสดงที่ประเทศเกาหลีมาก่อนเป็นเวลา 6 เดือน ใน 2 เมือง มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน แต่ไฟอาจไม่ร้อนระอุเท่า
“MOCA อาจจะเป็นสถานที่ที่คนมองว่าเป็นมิวเซียมแรก ๆ ของประเทศไทย ควรทำทุกอย่างที่มันถูกต้องเป๊ะ ห้ามจัดแสดงงานที่อยู่ในพื้นที่สีเทา ซึ่งทำให้คิดได้เห็นว่า มีมุมมองที่หลากหลายจริง ๆ ในแวดวงศิลปะ”
คุณคาดคะเนถึงกระแสตอบรับเหล่านั้นบ้างไหม – เราถาม
“คาดคะเน แต่ไม่ได้คาดคะเนว่ามันจะเยอะขนาดนี้” คิดหัวเราะเบา แต่เรารู้ว่าวันนั้นเขาคงหัวเราะไม่ออก


Devolved Parliament (2009)
“คือเราเองก็มีความผิดที่ไม่ได้สื่อสารให้มันเคลียร์”
เขากำลังจะเปิดอก ส่วนใครที่อ่านมาถึงตรงนี้ โปรดอย่าเคืองเขาเร็วนัก
“มีคนเข้าใจผิดว่านี่เป็นงานที่จัดโดย Banksy หรือเปล่า ซึ่งเราไม่ชัดเจนตั้งแต่ต้นว่ามันเป็นงานที่ไม่ได้จัดโดยศิลปิน”
ประเด็นที่ว่า เกิดขึ้นเพียงไม่กี่นาทีหลัง MOCA โพสต์ประชาสัมพันธ์ ด้วยการแปลไทยบางอย่างอาจทำให้หลายคนดีอกดีใจที่จะได้ชมผลงานระดับโลกด้วยตาเปล่า แท้จริงกลับเป็นการรวบรวมผลงานโดยกลุ่มคนหนึ่งมาจัดแสดงเพียงเท่านั้น หนำซ้ำ Banksy ยังไม่รับรู้อีกต่างหาก
คิดเล่าว่าถ้อยคำทั้งหมดในโพสต์แรกคือคำโปรยของงานที่ทุกเมืองใช้เหมือนกันหมด เนื่องจาก The Art of Banksy มาในรูปแบบแพ็กเกจ แนวทางการจัดแสดงผลงาน แม้กระทั่ง Communication Message ก็ต้องปฏิบัติตามระเบียบของผู้จัดทั้งสิ้น ซึ่งเขายอมรับแต่โดยดีว่า แปลได้ไม่รอบคอบเอาเสียเลย
แล้วคุณเคลียร์กับทางทีมผู้จัดยังไง – เราถามอีก
“เขาบอกว่าเจอมาทุกประเทศ แต่ครั้งนี้น่าจะเยอะสุดแล้วที่ประเทศไทย” เห็นจะจริงเช่นนั้น
งั้นคุณมีแผนรองรับประเด็นดราม่าที่จะเกิดขึ้นรึเปล่า ถ้าคาดคะเนเอาไว้ – บทสนทนาสนุกขึ้น เพราะคิดตอบว่าไม่ได้ตั้งใจเตรียมรับมือ แต่เขาเลือกที่จะไม่สื่อสารตามกฎระเบียบของทีมผู้จัดอีกแล้ว
โพสต์แถลงการณ์ตามมา คิดจึงบอกครบทุกอย่างว่าภายในนิทรรศการนี้จะมีงานทั้งหมด 150 ชิ้น มีงานจริง 32 ชิ้น ซึ่งได้รับการรองรับจาก Pest Control บริษัทตรวจสอบชิ้นงานจริงของ Banksy โดยเฉพาะ เขาเล่าว่าถ้าย้อนไปดูงานเก่า ๆ ที่เคยมีมา ไม่เคยมี Exhibitor คนไหนพูดเช่นนี้
“เราคิดว่าสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือการบอกให้ชัด ๆ ไปเลยว่าอะไรคือจุดมุ่งหมายของเรา ไม่ได้จะมาหลอกลวงว่านี่คืองานของ Banksy และทั้งหมดเป็นผลงานจริง” คิดเอ่ยย้ำ


Shop Until You Drop (2011)
ตามแผนงาน ผลงานศิลปะ 150 ชิ้นนี้ควรเดินทางมาถึง MOCA วันที่ 6 ตุลาคม แต่มันกลับล่าช้าไปหลายอาทิตย์ ทั้งที่โปรเจกต์นี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปีก่อน
ผู้อำนวยการพูดตามตรงว่า นี่คืองานที่โหดหินและราคาแพงที่สุดสำหรับเขา
“ทีมต่างชาติกี่ชีวิตต้องมาถึงที่นี่ เฉพาะ Artist น่าจะ 3 แล้วก็มีทีมงานอีกประมาณ 10 คน และมาก่อนหน้านี้ด้วยรอบหนึ่ง ดูพื้นที่ วัด แล้วก็กลับมาเซ็ตอัปอีก
“ค่าขนส่ง นำเข้า ค่อนข้างสูงมาก และงานมันก็ต้องขนมาเป็นคอนเทนเนอร์ขึ้นเรือมาทั้งหมด หลาย ๆ ส่วนต้องมาสร้างใหม่ที่นี่ ทั้งผนัง กำแพง ห้องกระจก Infinity Room หรือ Multimedia ต่าง ๆ ทำให้งบในการจัดงานการจัดนิทรรศการนี้สูงมาก สูงสุดเท่าที่เราเคยจัดนิทรรศการมาเลย”
คุยเรื่องซีเรียสมานาน เราถามเขาและลูกทีมเล่น ๆ ว่า ถ้าให้คะแนนความยุ่งยากของงานนี้ เต็ม 10 จะอยู่ที่เท่าไร ทุกคนสบตากันและหัวเราะ ก่อนจะตอบว่า 11
“ซึ่งตอนนี้มองกลับไปก็ไม่รู้ว่าคุ้มหรือเปล่าที่จัด” ฟังดูติดตลก แต่มีความจริงซ่อนอยู่ในท่าที


“เราเหนื่อยมาก ลงทุนไปเยอะ โดนดราม่าด้วย แล้วค่าตั๋วที่คนจะจ่ายบัตรเข้ามาก็ไม่รู้ว่าจะครอบคลุมที่เราลงไปไหม แต่เราหวังว่าคนมาแล้วจะชื่นชอบ”
ให้สมกับที่ต้องสื่อสารกับทีมงานชาวตุรกี อังกฤษ เยอรมัน ฯลฯ โดยมีคนเกาหลีเป็น Production Manager
เรื่องค่าเข้าก็เป็นอีกประเด็นร้อนที่มีการถกเถียงกันหนาหู เพราะทุกคนรับรู้ว่า Banksy เป็นศิลปินที่ต่อต้านระบบทุนนิยมขนาดไหน งานของเขาจึงปรากฏอยู่ตามถนนหนทาง แต่คิดอยากอธิบายให้ชัดเจนว่า มันคือต้นทุน ค่าบริหารจัดการ เพื่อให้คนไทยมีโอกาสดูผลงานของศิลปินชื่อดังอื่น ๆ ในอนาคต
ดังนั้น บางความเห็นที่เข้ามาโจมตีว่า “เก็บเงินค่าเข้า กะเอารวยตั้งแต่วันแรก” จึงเป็นไปไม่ได้


Draw The Raised Bridge (2018)
ว่ากันตามตรง ประเทศไทยเองก็เคยมีงานจัดแสดงผลงาน Reproduction ของศิลปินมาแล้วหลายครั้ง แต่คิดเองก็เข้าใจว่าครั้งนี้แตกต่างออกไป เพราะ Banksy ยังมีชีวิตอยู่
“งานที่โชว์ใน MOCA ได้รับการยินยอมจากศิลปินทั้งหมดแล้ว” เขายืนยัน
“แต่ Banksy เขาไม่เปิดเผยตัวตน การพูดถึงเรื่องการ Reproduction ผลงานกับศิลปินนิรนามเลยค่อนข้างคลุมเครือ
“งานออริจินัลของเขาอยู่ในที่ที่คุณต้องเอาตัวเองไปที่นั่น คุณถึงจะเห็น ไม่ใช่งานที่ยกออกมาจัดแสดงได้ จึงต้องพิจารณากันเป็น Case by Case เพราะไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเอาตัวเองไปอยู่ตรงนั้นเพื่อไปเห็น ไปสัมผัสของจริง ๆ แต่วันนี้เราเลือกเอาเข้ามา”
มุมมองหนึ่งจากทีมงานที่คงต้องใส่ว่า Unpopular Opinions ไว้ตัวโต ๆ คือศิลปะยุคใหม่ควรจะไร้ข้อจำกัด และอย่ายึดติดกับคำว่า ออริจินัล มากนัก
ใช่ ที่งานชิ้นนี้เต็มไปด้วยจิตวิญญาณของศิลปิน แต่ท้ายที่สุดถ้าคุณเปิดกว้างกับโลกแห่งศิลปะในอนาคตมากขึ้นกว่านี้ เราคงได้เห็นงานสนุก ๆ สร้างสรรค์ใหม่ ๆ ที่เกิดจากการต่อยอดอย่างไร้ขีดจำกัดอีกมากมาย เข้าถึงผู้คนที่หลากหลายและแตกต่างอย่างแท้จริง
“ศิลปะเข้าถึงคนได้มากกว่านั้น มันสื่อสารกับคนได้มากกว่านั้น แล้วทำไมเราถึงไม่ลอง” เขาแสดงความตั้งใจ ถึงจะรู้ว่าเป็นความคิดที่เปลี่ยนกันยาก
“คนที่เขาคิดว่ามันไม่ถูก มันก็คงไม่ถูกอยู่ดี แต่น่าจะมีคุณงามความดีอะไรอยู่บ้างในสิ่งนี้ที่จะช่วยต่อยอดออกไปในอนาคต นิยามศิลปะเป็นอะไรได้อีกตั้งเยอะแยะ เราเป็นมิวเซียมก็เปิดกว้างในคำวิพากษ์วิจารณ์ เพราะทุกคนมีมุมมองเป็นอิสระ”


คิดมองว่าการ Reproduction ไม่สำคัญเท่าความยินยอมจากศิลปิน แต่เขาก็ย้ำแล้วย้ำอีกว่ามันไร้หนทาง วิธีที่แย่ที่สุดอย่างการส่งข้อความส่วนตัวไปหา ทีมงานเขาก็ทำมาแล้ว
“ถ้าเราไม่ได้ความยินยอมจาก Banksy อีกหนึ่งทางเลือกคือไม่จัดงานเลย แต่เรามองว่ามันมีข้อดีอะไรบ้าง เขาเคยบอกแค่ว่า อีเวนต์พวกนี้ไม่เกี่ยวกับผม แต่ไม่ได้บอกว่าพวกคุณไม่ควรไป ซึ่งจริง ๆ งานเหล่านี้คนดูเป็นล้าน มันทำให้ศิลปะเข้าถึงคนมากขึ้น
“เราเลยอยากให้คนมาดูงานแบบ Total Experience มากกว่ามาเดินดูว่าอันไหนของจริงของปลอม เพราะงานของเขามีสิ่งที่พยายามบอกกับเราเยอะแยะมาก”
คำถามง่าย ๆ ถูกโยนให้คิดตามมาว่า ศิลปินที่เขาลงแรงต่อสู้ ต่อกรกับทุก ๆ อย่าง เพื่อให้ได้มาเป็นใครกันแน่
แต่ไม่มีใครตอบได้หรอก คิดเองก็ด้วย
เขารู้เพียงว่าเนื้องานของ Banksy ชวนให้นึกถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ไทยที่มองสังคมหรือมองโลกใบนี้ใหญ่กว่าตัวเองหลายเท่า และการได้มาเดินพิจารณาไปทีละงาน กว่า 700 ตารางเมตร ใน 4 ห้อง จนครบ 150 ชิ้น ก็คงมีพลังมากพอที่จะจุดประกายความคิดบางอย่างของคุณได้ แม้ไม่รู้ว่าเจ้าของผลงานอยู่ที่ไหนหรือเป็นใครก็ตาม
ทิ้งทวนด้วยคำถามสุดท้าย เป็นโจทย์คณิตศาสตร์ที่เราคิดว่าน่าแก้ที่สุดในช่วงเวลานี้
นั่นคือ ถ้าอยาก Cover ค่าใช้จ่ายที่เสียไป คุณคิดว่าควรจะต้องมีคนมาดูเท่าไหร่
“50,000 คนก็ยังไม่ Cover เลย”
เสียงหัวเราะดังกลบการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์งานช่างทั้งหลาย เพื่อให้พร้อมกับรอบสื่อมวลชนในบ่ายอันใกล้นี้
ส่วนเรารีบหยิบมือถือมาค้นหาว่า บัตรเข้าชมมีราคากี่บาทกันแน่

The Art of Banksy : Without Limits
จัดแสดงตั้งแต่ 26 ตุลาคม – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565
เวลา 10.00 – 18.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์)
ณ Museum of Contemporary Art (MOCA) (แผนที่)
รายละเอียดเพิ่มเติมและซื้อบัตรได้ที่ : www.artofbanksy.com/bangkok-thai