The Cloud x Converse

    

ช่วงเดือนมีนาคมนี้ Converse ทำแคมเปญ ‘Love the Progress’ สร้างนิยามใหม่ให้ผู้หญิง ผ่านการเล่าเรื่องผู้หญิงที่ทำสิ่งทรงพลังจากทั่วโลก และ แพรว-กวิตา วัฒนะชยังกูร ก็เป็นหนึ่งในคนที่ Converse กับ The Cloud อยากพูดถึงสุดๆ

เธอคือศิลปินไทยที่มีตัวแทนเป็นทั้งแกลเลอรี่ที่ไทย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เธอเคยได้จัดงานแสดงที่ Sydney Opera House และเป็นตัวแทนประเทศไทยในงาน Venice Biennale ปี 2017

งานของแพรวมีเอกลักษณ์ชัดเจน แบบที่เมื่อเห็นครั้งหนึ่งแล้วจะจำได้ไม่มีวันลืม หากคุณมีโอกาสได้ไปดูนิทรรศการที่ตึกอีสต์เอเชียติกในช่วง Bangkok Art Biennale ที่ผ่านมา ย่อมต้องติดตากับงานวิดีโอสีสด ที่ผู้หญิงคนหนึ่งกลิ้งไปรอบๆ เพื่อปลดด้ายแดงให้หลุดจากตัว หรือใช้ตัวเองแทนกระสวยพุ่งผ่านด้ายยืนที่ขึงอยู่กับกี่ หรือห้อยหัวจุ่มหน้าลงในสีแดงสด เพื่อย้อมเส้นด้ายบนหัว

ถ้าเราเปิดให้ดูอีกครั้ง คุณต้องร้องอ๋อแน่นอน

กวิตา วัฒนะชยังกูร

งานของแพรวหลายงานพูดเรื่องผู้หญิง ผ่านการตั้งคำถามต่อนิยามความเป็นหญิงไทย และสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาการกดขี่แรงงานผู้หญิงในอุตสาหกรรม

ไม่ใช่แค่งานที่เธอทำเท่านั้น ตัวแพรวเองก็ไม่เหมือน ‘ผู้หญิง’ ที่อยู่ในกรอบความเข้าใจของคนทั่วไป เธอเป็นศิลปินหญิงที่ไม่มีมาดติสท์อย่างที่หลายคนมักมี แม้ดูเผินๆ ใบหน้าจะสื่อสารความสุภาพเรียบร้อยสมเป็นกุลสตรี แต่กลับซ่อนความกล้าหาญบ้าบิ่นเอาไว้ แถมเธอยังเป็นคนที่ชอบแต่งชุดกระโปรง พอๆ กับที่ชอบเล่นสกีและขี่ม้าอีกด้วย

เรื่องราวของเธอที่เล่าผ่านการทำงานซีรีส์ต่างๆ ตอกย้ำชัดเจนว่า ผู้หญิงเป็นอะไรได้มากกว่าแค่ที่ถูกนิยาม

         

งานที่ศูนย์

กวิตา วัฒนะชยังกูร กวิตา วัฒนะชยังกูร

เด็กหญิงกวิตาเติบโตมายังไง

เราโตมาในกรุงเทพฯ ก็จริง แต่มีบ้านอยู่ปากช่อง ทุกปิดเทอมและเสาร์-อาทิตย์ก็ไปอยู่ที่นู่นตลอด ไม่ได้มาแฮงเอาต์กับเด็กในเมืองกรุง คือเป็นเด็กที่อยู่ในไร่ม้า อยู่กับภูเขา

ถ้ามองภายนอกแพรวจะดูคุณหนูมาก แพรวว่าเพราะแพรวมีบุคลิกบางอย่างเหมือนเด็กจิตรลดา และอยู่จิตรลดามา แต่จริงๆ เป็นคนที่ชอบลุยชอบเสี่ยงมาก เช่น ชอบขี่ม้าเลาะเข้าไปในป่ากับอา มีความสุขมาก แล้วเวลาขากลับม้ามันเริ่มจำทางได้แล้วมันจะเร็วมาก ถ้ามีต้นไม้โค้งลงมา ม้าผ่านได้ เราผ่านไม่ได้ ก็ต้องเอนตัวให้เท่ากับม้า แค่เสี้ยววิเดียวเลยอะ เราชอบความท้าทายประมาณนั้น

ขี่ม้ามาตั้งแต่อายุเท่าไร

5 ขวบค่ะ

ชอบเรื่องท้าทายตั้งแต่เด็กเลย

ใช่ เคยประสบอุบัติเหตุกับม้าแบบหนักมากๆ เราผิดเองที่ใส่อานม้าหลวมไป พอขากลับม้าเห็นคอกแล้วมันก็ซิ่งเลย อานที่หลวมก็ค่อยๆ เอนลงไป แต่ขาดันติดอยู่กับที่เกี่ยว เลยกลายเป็นว่าหน้าเราไปอยู่ที่ท้องม้า แล้วก็ครูดไปกับดินลูกรังอยู่นานมาก เสียโฉมไปเลย ถ้าสังเกตดีๆ หน้าด้านซ้ายกับขวาจะไม่เหมือนกัน ตาด้านซ้ายจะตก

โชคดีที่เป็นตอน ป.5 มันเลยรักษาตัวเองได้ แต่ก็ไม่ไปโรงเรียน 2 – 3 อาทิตย์เลยอะ พอไปโรงเรียนก็ต้องใส่หน้ากากครึ่งหน้า เหมือน Phantom of the Opera เลย

เด็กแสบคนนั้นรู้ตัวไหมว่าอยากเป็นศิลปินระดับโลก

ไม่รู้ เพราะเป็นคนที่วาดรูปไม่สวย เคยคิดว่าศิลปินเนี่ยต้องวาดรูปสวย

แต่ว่าชอบดูหนังกับคุณพ่อ เวลาดูเราชอบดูบรรยากาศ ภาพ สี องค์ประกอบ แล้วก็ชอบคิดว่าการใช้ภาพแบบนี้เขาจะต้องการจะพูดอะไร ตัวละครนี้เขาเป็นอย่างนี้เพราะอะไร ก็ทำแบบนี้กันทุกวัน พ่อกลับถึงบ้านก็มานั่งดูหนัง มาวิเคราะห์กัน

แล้วตอนไหนที่ทำให้ตัดสินใจไปอยู่ออสเตรเลีย

ขึ้น ม.4 ค่ะ คือมันมีหลายเหตุผลมาก ข้อหนึ่งคือ เรียนไม่เก่ง โดยเฉพาะวิชาเลข เรียนไม่เก่งเลย ครูทุกคนเป็นห่วงเรามากว่าคนนี้ไม่สามารถหารเลขได้ ชีวิตมีปัญหามาก สมัยนี้อาจจะไม่เหมือนสมัยแพรว แต่ตอนที่แพรวอยู่มัธยมมันแย่ คือวิชาเลขสำคัญมากกับการที่จะเก่งหรือไม่เก่ง

อีกอย่างหนึ่งคือตอนเด็กๆ เราดูเป็นคนเรียบร้อยตามบุคลิกเด็กจิตรลดามากๆ หน้าตา ท่าทาง ทรงผม แต่จริงๆ แล้วเป็นคนกบฏสูง เวลาคิด เวลาทำอะไร แล้วก็คิดตลอดว่าตัวเองอยากออกจากกรอบตรงนี้มากๆ อยากเป็นอิสระ ตอนนั้นด้วยความที่เด็กด้วย ก็คิดว่าการไปเรียนเมืองนอกนี่แหละที่จะช่วยให้ออกจากกรอบทุกอย่าง

กวิตา วัฒนะชยังกูร

พ่อว่ายังไงบ้างกับการตัดสินใจนี้

พ่อเองก็ไม่อยากให้เราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มาวัดค่าว่าเราเก่งไม่เก่งจากวิชาเลข เลยมาดูกันว่าถ้าไปออสเตรเลียมันต้องเรียนอะไรบ้าง แล้วเราก็ค้นพบว่าถ้าอยู่ออสเตรเลียเราเลือกตัดวิชาที่เราไม่ชอบออกไปได้ แล้วเรียนเฉพาะเจาะจงในวิชาที่เราชอบได้ พ่อก็เลยบอกว่าโอเค

แต่พ่อเขาก็เป็นห่วง เขาไม่อยากเลี้ยงลูกวัยรุ่นอายุ 13 ทางโทรศัพท์ เขาก็เลยไปอยู่ด้วยทุกอาทิตย์ ก็คือวันศุกร์เลิกงาน เสาร์-อาทิตย์ไป แล้วก็กลับมาทำงานวันจันทร์ พอไปถึง กิจกรรมที่ชอบก็คือดูหนัง เสาร์-อาทิตย์ก็ทำอะไรกินกันแล้วก็ดูหนังมาราธอน

จากการดูหนัง กลายมาเป็นการทำวิดีโออาร์ตได้ยังไง

ตอนแรกที่ไปอยู่ออสเตรเลีย มันมีนิทรรศการของ Bill Viola ซึ่งมันอยู่ในโบสถ์ แพรวว่าแพรวเล่าเรื่องนี้ให้ทุกคนฟัง เพราะว่ามันเป็นอะไรที่ฝังลึกในความทรงจำ

คือเราเข้าไปนั่งในโบสถ์กับพ่อ แล้วมันก็ใช้โปรเจกเตอร์แหละ แต่สำหรับเราตอนนั้นมันเหมือนมีคนอยู่ที่ปลายสุดของแท่นตรงกลาง แล้วคนนั้นก็ค่อยๆ ลอยขึ้นไปบนฟ้า เหมือนเป็นคนที่ตายแล้วค่อยๆ ลอยขึ้นไป มีน้ำโอบอุ้มเขาขึ้นไปข้างบน แล้วเราก็แบบว้าว เราไม่เคยเห็นอะไรอย่างนี้ในเมืองไทยเลย มันคืออะไรเนี่ย มันสะกดทุกคนให้อยู่กับตรงนั้น ทุกอย่างมันมืด แล้วก็ดึงให้เราดูแต่คนนี้ลอยขึ้นไป สักพักนึง เราก็เห็นว่ามีคนที่มีไฟล้อมรอบ เขาก็เดินฝ่าไฟเข้ามาหาเรา แล้วล้มลงไปในน้ำ น้ำก็แผ่กระจาย (เสียงเบา ทำมือกระจายออก)

[งานทั้งสองชิ้นของ BIll Viola ที่กวิตาได้ดูในวันนั้น คือ Fire Woman และ Tristan’s Ascension ในงาน Bill Viola: the Tristan Project]

ตอนนั้นอายุ 15 เป็นความรู้สึกแบบ โห อะไร มันคืออะไร อยากทำแบบนี้บ้าง เป็นอะไรที่ตราตรึงในใจ แต่เราก็ไม่รู้จะไปถามใครว่ามันคืออะไรกันแน่

งานที่หนึ่ง : Box

ศิลปะแขนงที่เห็นในโบสถ์มันไม่มีสอนเหรอตอนนั้น

มันมี แต่ไม่มีใครมาบอกว่ามันคืออะไร มันไม่ใช่การถ่ายหนัง มันคือ Installation แล้วตอน ม.6 มันก็มีให้เลือกเรียนหลายแบบมาก ประวัติศาสตร์ศิลป์ เครื่องประดับ ถ่ายภาพ ประติมากรรม เราก็เลือกเรียนทุกแขนง แต่ก็ยังหาไม่ได้อยู่ดีว่าสิ่งที่เราชอบมันอยู่ในแขนงไหน

ตอนที่อายุ 18 แล้วต้องเรียนปริญญา เพื่อนตอน ม.ปลาย เขาไปแฟชั่นกันหมดเลย เราก็เรียนตาม เรียนได้ 2 อาทิตย์เราก็รู้สึกว่าไม่ใช่ ไม่เอาแล้ว ไม่ได้รู้สึกอิน ก็เลยเลิกเรียน แล้วไปเรียน Textile ซึ่งเรียนอยู่ 2 ปีก็เลิกเรียน

แล้วปริญญามันกี่ปี

3 ปี

เสียดายมั้ย ถ้าเป็นคนทั่วไปคงบอกให้เรียนให้จบก่อน

ไม่นะ ก็มันไม่ใช่ มันไม่มีอะไรที่เราอยากรู้อีกแล้ว แล้วมันก็ไม่ได้ใกล้เคียงกับงาน Bill Viola ที่เราดูตอนแรกด้วย

เราเลยเปลี่ยนคณะไป Fine Arts เป็นการทดลองล้วนๆ เลย เพราะเราเข้าใจว่ามันคือการวาดรูป ไม่รู้ว่าจะเข้าใกล้ไอ้อัน Bill Viola ได้ยังไงด้วยซ้ำ แต่พอเข้าไปคลาสแรก เรารู้สึกว่านี่แหละ ฉันกลับบ้านแล้ว

คลาสแรกเขาเปิดวิดีโอของศิลปินคนหนึ่งให้ดู ที่เอาของมาเรียงเป็นโดมิโน ให้มันล้มทับกันไปเรื่อยๆ ในบ้าน แล้วก็มีงานแสดงของศิลปินอีกหลายคนให้ดู แล้วเราทุกคนก็ได้ทำนู่นทำนี่ เช่น อาจารย์ให้สมมติว่าแผ่นดินกำลังไหว โลกถล่ม อะไรแบบนี้

แล้วอาจารย์ก็บอกว่า จริงๆ เข้ามาเรียน Painting มันไม่ได้อยู่ในกรอบว่าต้องใช้ผ้าใบกับพู่กัน จะใช้อะไรก็ได้ เสียง กลิ่น ก็เป็นได้ ศิลปะมันกว้างไกลมาก ศิลปินที่ดีคือผู้ที่ผลักกรอบของศิลปะออกไปด้วยซ้ำ เราก็แบบโห (ตาโต เสียงสูง) เจ๋งมากเลย ชอบมาก

เราเริ่มลองเอากล้องมาถ่ายภาพ เพราะว่าชอบถ่ายภาพที่สุด แล้วก็เริ่มถ่ายวิดีโอ ตอนแรกก็ถ่ายคนอื่น ถ่ายไปหมดเลย แต่มันไม่รู้สึกอะ ถ่ายคนอื่นเราเหมือนเป็นช่างกล้อง รู้สึกว่าอยากรู้สึก ตอนหลังก็เลยใช้ตัวเองไปอยู่หน้ากล้อง

งานแรกๆ ที่ทำเป็นงานแบบไหน

ตอนที่อยู่ออสเตรเลีย เราทำเรื่องทุกอย่างตามความรู้สึกที่เกิดขึ้น ณ​ ประสบการณ์ ณ วัยนั้นๆ

ประสบการณ์ตอนนั้นก็คือเราเป็นคนไทยที่ไปอยู่ออสเตรเลีย เรารู้สึกไม่ Fit in กับประเทศเขา เหมือนเป็นเอเลียนสำหรับเขา เราเลยลองเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในกล่องขนส่งสินค้า แล้ววางอยู่กลางหาดทราย เอาตัวเองลงไปในกล่อง แล้วก็เอาทรายใส่เข้าไปในกล่อง แล้วก็ให้คนแปะสติกเกอร์บนกล่อง ให้เราออกจากกล่องไม่ได้ หายใจก็ไม่ออก ในมือมีมีดเปิดจดหมาย แล้วเราก็ปักๆ กล่อง เพื่อค่อยๆ ออกจากกล่องทีละนิด

งานแรกๆ เกี่ยวกับทะเล ทราย การขนตัวเอง การอพยพ เยอะมาก

ตอนนั้นคุณมองตัวเองว่าเป็นผู้อพยพเหรอ

อืม เพราะว่าอยู่นานกว่าเมืองไทย ตั้งแต่ ม.4 จนถึงจบก็รวมๆ เกือบ 10 ปี เหมือนโตในฐานะที่เป็นวัยรุ่นที่นู่น เป็นผู้ใหญ่ที่นู่น คือเราก็รู้สึกว่าเราเป็นคนออสเตรเลียนะ แต่ก็มีหลายอย่างที่ทำให้รู้สึกว่าไม่ใช่ เราอยากเป็นหนึ่งในนั้น แต่ก็ไม่เคยได้เป็น ด้วยกฎหมาย ด้วยความรู้สึกของคน ด้วยอะไรที่ติดตัวมา

พอเห็นงานเซ็ตนี้ ที่บ้านคิดยังไง

จริงๆ อันนี้แม่ช่วยคิดด้วย เวลาเอางานให้แม่ดูแม่ก็บอกว่าสวยมากเลย แพรวเลยพูดประมาณว่า เออเนี่ย มันเป็นสิ่งที่แพรวรู้สึกได้เลย เหมือนเราเจอคนที่ใช่ เราจะรู้ตั้งแต่แรกว่าจะทำอันนี้ไปได้จนตลอดชีวิต จำได้ว่าแม่ร้องไห้ เพราะว่าเหมือนเราได้เจอสิ่งที่ใช่ เขาก็เลยอินตามไปด้วย

หรืออย่างพ่อ ตอนที่จะเรียนแฟชั่นพ่อยังมีชีวิตอยู่ พ่อก็บอกว่าแพรวไม่ได้เข้ากับอะไรแบบนั้น คือพ่อรู้ว่าจริงๆ แพรวมีความคิดแบบไหน ชอบอะไร ส่วนตอนเลือกเรียน Textile พ่อเสียชีวิตไปแล้ว แต่ถ้ายังอยู่ก็คงบอกว่าไม่ใช่ พ่อบอกแต่แรกเลยว่าให้ไปเรียนด้านถ่ายภาพ

แล้วเรื่องความเสี่ยงล่ะ ไม่ห่วงกันเลยเหรอ งานแบบนี้ดูอันตราย

งานพวกนี้แม่เป็นคนถ่ายทุกชิ้นเลยนะ แล้วก็เราเป็นคนชอบความเสี่ยงตั้งแต่เด็กด้วยมั้ง เวลาทดลองคือแพรวมั่วแหลกเลย ทำนู่นทำนี่ทำนั่น

ยกตัวอย่างให้ฟังสักเรื่อง

มีอันหนึ่งที่มันไม่มีคอนเทนต์อะไรเลยด้วยซ้ำ คือเราชอบภาพของคนที่ไม่กลัว เราเลยทำบ่อน้ำที่ตื้นมากขึ้นมา แล้วก็ทำแบบนี้ (ยกมือขึ้นแล้วฟาดลงตรง) ลงไปที่ในบ่อน้ำ ก็เข้าโรงพยาบาล เพราะบ่อน้ำมันตื้นไป (หัวเราะ) ตอนนั้นเหมือนเข่าแตกหรืออะไรสักอย่าง เหมือนพอใกล้ถึงพื้น สัญชาตญาณอะไรบอกไม่รู้ เราเลยเอาเข่าลง

แล้วก็มีอันหนึ่งที่จำได้เลย อันนั้นทำที่ออสเตรเลีย รู้สึกว่าอยู่ในสตูดิโอน่าเบื่อ เลยไปทะเลกลางหน้าหนาวออสเตรเลีย ตั้งกล้องเอาไว้ แล้วก็กระโดดลงไปในน้ำทะเล แล้วน้ำทะเลมัน เย็น มาก (ลากเสียงสุดลมหายใจ) เย็นมากในแบบที่เราไม่ได้ร้องออกมาว่า หนาว! แต่ร่างกายมันส่งเสียงแบบผู้ชาย โฮ่ว (ทำเสียงต่ำ) ออกมา พอมีคนเห็นก็วิ่งเข้ามาช่วย “แพรวยูโอเคหรือเปล่า บ้าเหรอ โดดน้ำตอนนี้”

แล้วคิดว่าตัวเองบ้าหรือเปล่า

ก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ไม่กลัวนะ ตอนนั้นคิดว่างานที่เจ๋งคืองานที่อันตราย

งานที่สอง : Tools

พอเรียนจบแล้วกลับมาเมืองไทย เป็นยังไงบ้าง

อยู่เมืองไทยเหมือนเราได้กลับบ้านแต่เราก็ไม่ได้กลับบ้าน เราต้องปรับตัวเยอะมาก รู้สึกว่าเป็นเอเลียนอีกแล้ว เราต้องเติบโตในฐานะผู้หญิงไทย โดนสังคมบอกว่าอันนี้ไม่ควร อันนี้ไม่เหมาะ แล้วเราก็รู้สึกว่า อ่าว (เหี่ยว) ฉันถูกผลักออกจากสังคมอีกแล้ว

ตอนนั้นมันมีแค่ 2 ประเทศที่เราเคยอยู่ ที่เราเคยไปมา มันเลยมีปัญหาว่าแบบทำไมเราต้องเป็นแบบนั้น ทำไมเราต้องเป็นแบบนี้

การเติบโตในฐานะผู้หญิงไทยคืออะไร

ผู้ใหญ่จะพูดตลอดว่า เนี่ย เป็นผู้หญิงต้องทำกับข้าวเก่งๆ นะ มันเป็นวิธีที่ทำให้ผู้ชายอยู่บ้าน ผู้หญิงต้องทำความสะอาด เก็บทุกอย่างเป็นระเบียบ แล้วแพรวเป็นคนรกมาก เราเลยไม่ได้อยู่ในบรรทัดฐานที่จะบอกได้ว่าเราเป็นผู้หญิง

การทำงานซีรีส์ Tools น่าจะเป็นการเรียนรู้ว่าเราจะเติบโตในฐานะที่เป็นผู้หญิงไทยได้ยังไง เหมือนเล่าให้ตัวเองฟังว่าผู้หญิงไทยถูกการคาดหวังจากสังคมยังไงบ้าง ผู้หญิงที่ดีจะต้องเป็นยังไงบ้าง เราเอาของในบ้านมา พูดถึงสิ่งที่คนคาดหวังจะให้เราเป็น และเราก็พยายามจะเป็นสิ่งนั้น ตั้งแต่ไม้กวาด ผ้าขี้ริ้วถูพื้น ไม้ม็อบ ที่ใส่น้ำแข็ง ที่คั้นน้ำส้ม ทุกอย่าง

ตอนเลือกของเลือกจากอะไร

มองๆ ไปในบ้าน (หัวเราะ) เรียลมาก จะสังเกตว่าของบางชิ้นจะดูเก่าๆ หน่อย ไม่ได้ซื้อใหม่ มีอันหนึ่งที่ซื้อใหม่คือที่ไสน้ำแข็ง

เรื่องมันมีอยู่ว่า ตอนเรียนจบเคยส่งงานไปให้ Centre for Contemporary Photography ของออสเตรเลียดู เพราะอาจารย์บอกให้ส่ง ก็ไม่ได้คาดหวังอะไร แล้ววันหนึ่งเขาก็ติดต่อมาว่างานยูน่าสนใจ ตอนนี้มีงานใหม่สักงานมั้ย มีคนแคนเซิลพอดีเลย ขอภายใน 2 อาทิตย์ทันมั้ย เราก็รีบตอบว่ามีค่ะ! ทันค่ะ! แต่จริงๆ ไม่มี ไม่ได้ทำอะไรอยู่เลย

1 อาทิตย์ผ่านไปก็ยังไม่ได้อะไรเลย โอ๊ย ทำไงดี เลยไปหาคุณป้าหน้าบ้านที่ขายของชำ [หมายเหตุ: บ้านของแพรวอยู่บริเวณศรีย่าน หน้าบ้านจึงเต็มไปด้วยร้านขายอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านสีสันสดใส] ถามว่ามีอุปกรณ์อะไรน่าสนใจบ้าง ป้าก็บอกว่า มีอันนี้มาใหม่ เป็นที่ไสน้ำแข็งที่เป็นไม้ เลยถามเขาว่าไสยังไง แล้วก็ซื้อมา (หัวเราะ)

ต้องทำงานใหม่ภายใน 2 อาทิตย์ นับว่าเร็วมากไหม

ปกติแพรวให้เวลาประมาณ 3 – 4 อาทิตย์ต่อชิ้น กว่าจะคิด พอคิดเสร็จ ซ้อมอีก บางงานซ้อมอยู่เป็นอาทิตย์ๆ ถ่ายแป๊บเดียว แต่งานที่ไสน้ำแข็งคือมันมหัศจรรย์มาก เพราะ 1 อาทิตย์เรายังไม่รู้เลยว่าจะทำอะไร มิราเคิลมากกว่าจะได้งานนี้มา ทุกวันนี้ก็ยังเป็นงานชิ้นหนึ่งที่ชอบมาก

กวิตา วัฒนะชยังกูร

ชอบเพราะอะไร

ตอนที่ทำมันรู้สึกจริงๆ มันเย็นมาก ตอนแรกเราทดลองกับน้ำแข็งในตู้เย็น วางที่มือแค่ 10 วิก็ไม่ไหวแล้วอะ มันชาไปหมด แล้วนี่หน้าต้องจุ่มลงไป มันเลยเป็นงานที่ท้าทายมาก แล้วข้างล่างมันเป็นใบมีดอีก มันรู้สึกว่าท้าทายทุกแง่มุมของความรู้สึกตอนนั้น

ตอนนั้นรู้สึกอะไร

รู้สึกว่าร่างกายมันปรับได้ พอรู้สึกว่าร่างกายมันเริ่มปรับได้ มันรู้สึกว่าเราเอาชนะสถานการณ์นั้นได้ เราเอาชนะความเจ็บปวดได้ มันคือใจ มันคือร่างกายที่สามารถปรับตามความยาก เหมือนเล่นเกมเลเวลยากขึ้นเรื่อยๆ เราก็จะเก่งขึ้นไปเรื่อยๆ

หลังจากชิ้นนั้น เราทำอะไรที่ท้าทายตัวเองตลอดเลย อะไรก็ตามที่ไม่ได้ เราจะรู้สึกว่ามันต้องได้

แล้วมีอะไรที่ทำไม่ได้ไหม

(คิดนาน) มี จริงๆ แล้วมันจะมีอันเดียวเลยที่ทำไม่ได้ คืองาน Big Fish in a Small Pond เราต้องใส่สลิงที่หลัง แล้วค่อยตัดสลิงออกทีหลัง ตอนแรกจะไม่ใส่สลิง แค่เกี่ยวกับปากแล้วดึงขึ้นไป แต่ทำไม่ได้จริงๆ วิธีเดียวคือต้องใส่สลิง

ตอนนั้น รู้สึกเหมือนตัวเองแพ้หรือเปล่า

ใช่ รู้สึกว่าเป็นงานที่วงเล็บไว้ว่าชอบน้อยกว่างานอื่นๆ เพราะเรารู้อยู่แก่ใจว่ามันมีสลิงที่เราซ่อนไว้ มันแบบ (จึ๊ปาก) ไม่ชอบเลยความรู้สึกนี้ รู้สึกแพ้

แล้วคุณรู้ได้ยังไงว่าอะไรได้ อะไรไม่ได้

คือ… ก็ต้องทำ (หัวเราะ)

งานที่สาม : Work

กวิตา วัฒนะชยังกูร

เมื่อไรถึงรู้ว่าควรจะเปลี่ยนซีรีส์แล้ว

เมื่อที่เรารู้สึกว่ามันไม่มีอะไรจะพูดเกี่ยวกับเรื่องนั้นแล้ว อย่างตอนนั้นคือเราเลยจุดที่ทำของในบ้านมาหมดแล้ว เลยจุดที่พูดเรื่องความต้องการจากคนรอบข้างไปแล้ว เราก็คิดว่าศิลปะที่ดีควรจะไม่ได้พูดถึงเราคนเดียวนะ มันควรจะพูดถึงสังคมด้วย เราจะช่วยเหลือสังคมได้ยังไง เราเลยมาทำเรื่องระบบการทำงาน

คิดยังไงทำเรื่องนี้

จริงๆ แล้วมาจากพ่อ คือพ่อเป็นคนที่ทำงานหนักมากๆ มีวัฏจักรการทำงานแบบไปเช้ากลับดึก ออกจากบ้านตี 5 กลับถึงดึก แล้วก็ทำงานเพื่อเงิน แล้วเขาก็เสียชีวิตเพราะว่าเขาทำงานหนักมาก คือเขาไม่ยอมกินน้ำ ไม่ยอมนอน นอนวันละชั่วโมงอะไรอย่างนี้  มันเลยทำให้เขาเสียชีวิต

ซีรีส์ Work ดูเผินๆ อาจจะดูเหมือนพูดเรื่องผู้หญิงเป็นแรงงาน แต่จริงๆ แล้วแพรวต้องการพูดถึงเรื่องของการทำงาน ไม่ใช่แค่แรงงาน เราทุกคนเป็นแรงงาน ต้องทำงานต่อเดือนๆ ซ้ำเดิมทุกวันๆ หมดวัน วันต่อไปก็ทำใหม่ แม้แต่ศิลปินก็เป็น แล้วความสุขของเรามันอยู่ตรงไหน เงินมันสำคัญขนาดนั้นหรือเปล่า มันเปรียบเทียบคนเป็นเครื่องจักร ไม่ใช่แค่คนงาน เราทุกคนเป็นเครื่องจักรเหมือนกัน

เราจำเป็นที่จะต้องทำงานหนักขนาดนี้เลยหรือเปล่า นี่คือ Hidden Message ของงานนี้

แต่คุณเองก็น่าจะเป็นคนทำงานหนัก

ไม่นะ ไม่ ไม่ไม่ (หัวเราะ)

คือไม่เชื่อเรื่องการทำงานหนักเลย

ไม่เชื่ออะ (นิ่งคิด) แพรวคิดว่าแพรวไม่ใช่คนทำงานหนัก แต่เป็นคนที่ตั้งใจทำงานมากกว่า แล้วก็ทำในสิ่งที่มีความสุขที่ได้ทำ ก็จะไม่ได้รู้สึกว่าทำงานอยู่ รู้สึกว่าเล่น

กวิตา วัฒนะชยังกูร กวิตา วัฒนะชยังกูร

คนส่วนใหญ่ทำงานหนักกันก็เพราะห่วงเรื่องเงิน คุณไม่ห่วงเหรอ

การทำงานศิลปะของเราไม่ได้คิดถึงเงินเป็นหลักด้วยซ้ำ แต่มันมาของมันเอง พอเราโตขึ้นงานมันก็โตตามเราไปด้วย จากที่ทำเป็นงานเสริม กลายเป็นว่าทุกวันนี้มันคือรายได้หลักที่สร้างอนาคตเรา

มันไม่ได้เริ่มต้นจากการอยากหาเงิน มันเริ่มต้นจากความชอบที่จะทำ แต่มันได้เงินด้วย

แต่หลายคนอาจไม่ได้โชคดีแบบคุณ

แพรวเชื่อว่าถ้าเกิดว่าเราทำงานที่เรารัก แล้วเรารักมันจริงๆ ตั้งใจสื่อความหมายออกไปจริงๆ ถ้าเราไม่ได้ครึ่งๆ กลางๆ แพรวว่ามันได้

แพรวอาจไม่ได้เป็นคนทำงานหนัก แต่เป็นคนทำอะไรสุดๆ พอเข้าใจมั้ย อธิบายไม่ถูกเหมือนกัน

ซีรีส์นี้คุณยังทำงานเสี่ยงๆ อยู่หรือเปล่า

อืม มันมีชิ้นหนึ่งที่เรากลายเป็นตัวขนของ แบบลิฟต์แกว่ง แล้วใช้เชือกรัดขากับหลังไว้ แล้วมันขาด เราตกลงมาแบบหัวกระแทก คือมันมีเบาะนะ แต่ว่ามันเหวี่ยงแล้วหล่นเลยเบาะ หัวกระแทกพื้นเลย ต้องทำ CT Scan 2 รอบ แล้วก็นอนนิ่งๆ ทำอะไรไม่ได้เลย 2 อาทิตย์ หลังจากนั้นก็เป็น Vertigo หนักมาก ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ คือเป็นโรคประจำตัวไปเลย

แม่โกรธไหม

แม่บอกว่าแม่โกรธตัวเอง โกรธตัวเองที่ดูแลไม่ดี

แล้วหลังจากงานนั้น ทำงานเสี่ยงน้อยลงไหม

ถ้าถามว่ามันเสี่ยงไหม มันก็เสี่ยง แต่เราปลอดภัยขึ้นเยอะมากๆ อย่างงาน Performing Textiles เราซ้อมกับเบาะก่อนถ่ายจริงนานมาก ซ้อมบ่อยขึ้นค่ะ งานวิดีโอมันง่ายตรงที่เรามีเบาะซ่อนอยู่ได้ เช่น ตรงนี้มันดูเป็นพื้น แต่จริงๆ ก็คือเบาะ มีหลายอย่างมากที่เราปลอดภัยได้ โดยที่ให้งานมันยังแข็งแรงอยู่

แล้วยังรู้สึกว่าเป็นความพ่ายแพ้อยู่ไหม

ไม่ ไม่แล้ว คือตอนนั้นเราอยากท้าทายลิมิต แต่ตอนนี้ สิ่งที่เราต้องการที่จะเอาชนะมากที่สุดคือ เมสเสจของเราส่งไปถึงคนดูได้หรือเปล่า ณ ขณะที่เขาดูงานวิดีโอหรืองานแสดง ถ้าเขาได้เมสเสจ นั่นคือเรารู้สึกว่าเราชนะในเชิงที่ทำให้แต่ละบุคคลตระหนักถึงปัญหาได้

งานที่สี่ : Performing Textiles

กวิตา วัฒนะชยังกูร

ความสนใจประเด็นอย่างอุตสาหกรรมประมงในงาน Splashed และอุตสาหกรรมการทอผ้าในงาน Performing Textiles มาจากไหน

คือว่าที่บ้านนี้เป็นนักกฎหมายหมดเลย คุณตาเป็นผู้พิพากษา น้องชายตาก็เป็นผู้พิพากษา ลุงเป็นผู้พิพากษา ป้าเป็นอัยการ ลุงเป็นทนาย เราจะกินข้าวกัน แล้วเขาก็จะคุยกันเรื่องคดี มีคดีเล่าให้ฟังสนุกๆ เราก็จะฟัง

อย่างปี 2017 เรื่องประมงกำลังเดือด เขาก็เลยเล่าให้ฟัง แล้วเราก็สนใจ ขอให้เขาเล่าให้ละเอียดหน่อยว่ามันเป็นยังไง แต่งานนี้ทำอยู่ปีเดียว เพราะเรารีเสิร์ชได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น เราขอตามเรือเขาออกไปไม่ได้ ไม่สามารถไปคุยกับคนได้ ข้อจำกัดมันเยอะมาก มันเป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติที่ศิลปินอย่างเราไม่สามารถเข้าไปถึงขนาดนั้น

เรารู้สึกผิดกับงานประมงว่าเราไม่สามารถเข้าไปลึกได้ ก็เลยรู้สึกว่าถ้าอันไหนที่เราเข้าไปลึกได้ เราก็จะพยายามทำ พอเป็นงานเรื่องผ้า ในฐานะที่เราเป็นผู้หญิง เราควรจะพูดถึงเรื่องความเท่าเทียมกัน แล้วอุตสาหกรรมแฟชั่นคือเราต้องการที่จะพูดถึงเรื่องของผู้หญิงโดยตรง เราเลยอยากจะเล่า

อุตสาหกรรมทอผ้ากับผู้หญิงเกี่ยวกันตรงไหน

ในอุตสาหกรรมทอผ้า แรงงานแทบทั้งหมดเป็นผู้หญิง คนที่เย็บผ้า คนที่ทอ เราเคยเข้าไปดูโรงงานทอผ้าของเพื่อน คนที่นั่งทำงานอยู่ก็เป็นผู้หญิงหมดเลย ยาวสุดลูกหูลูกตา

จริงๆ งานนี้เริ่มมาจากที่พิพิธภัณฑ์ที่นิวซีแลนด์เชิญไปเป็นศิลปินพำนัก (Residency) เราไปคุยกับชาวนาชาวไร่ คือรายได้ส่วนใหญ่ของนิวซีแลนด์มาจากการส่งออกขนแกะ แล้วเขารวยกันมาก รวยกันมากๆ ทุกคนที่เป็นชาวนาคือเศรษฐี ช่างต่างจากที่ประเทศเราเหลือเกิน กลับมาเมืองไทยเราเลยลองไปอยู่ตามหมู่บ้านทอผ้า เพราะอยากดูว่ามันจะแตกต่างกันขนาดไหน

คนที่อยู่ในหมู่บ้านทอผ้ามักเป็นผู้หญิง อย่างที่เราไป เขาจะมีกระดิ่งผูกไว้กับกี่ ถ้าเกิดว่าหมู่บ้านไหนมีเสียงกระดิ่งดังมากๆ คือเป็นผู้หญิงที่ทำงานหนัก ขยัน น่าเอามาเป็นเมีย ยิ่งเสียงดังทั้งวันทั้งคืนก็คือดีมาก แล้วทอผ้าไม่เสร็จไม่ได้เลยนะ มันจะเป็นลางร้ายมากกับผู้หญิง ถ้าทอไม่เสร็จก็คือจะไม่ได้แต่งงาน

กวิตา วัฒนะชยังกูร

แล้วงานซีรีส์นี้จะช่วยผู้หญิงเหล่านั้นได้ยังไง

เราอยากให้คุณค่ากับแรงงานของผู้หญิงเหล่านี้ เพื่อให้คนตระหนักว่าการที่มีผู้หญิงทั้งหมดมันไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือการกดขี่ และสิ่งที่อุตสาหกรรมแฟชันกำลังเป็นอยู่ มันเป็นการกดขี่เขา

มันไม่ใช่ความผิดของแบรนด์ไหนเลยในโลกนี้ด้วยซ้ำ จริงๆ แล้วปัญหามันอยู่ที่ Fast Fashion หมายความว่าทุกวันนี้เราอยู่ในโลกที่ต้องมีเสื้อผ้าเยอะๆ มันเป็นความผิดของเราที่เราต้องการไม่มีวันสิ้นสุด เราซื้อของเพื่อมาเติมเต็มความสุขเรา แล้วเสื้อตัวหนึ่งถูกมาก 200 บาท คิดว่าผู้หญิงที่ทำงานอยู่ต้นทางจะได้ค่าแรงเท่าไร

ปัญหาประมงมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้บริโภคขนาดนั้น ผู้รับผิดชอบคือกฎหมายและองค์กร แต่แฟชั่นมันอยู่ที่เราหมดเลย เราคือผู้รับผิดชอบโดยตรงต่อเรื่องที่กำลังเกิดขึ้น

ปัญหานี้มีแต่ผู้หญิงที่เผชิญเหรอ

ปัญหาเรื่องการกดขี่แรงงานในระบบอุตสาหกรรมทั้งหมด จริงๆ แล้วมีทั้งผู้ชายทั้งผู้หญิง แต่จะมีสิ่งที่เชื่อมโยงกันโดยตรง คือความรุนแรงในครอบครัว คนเก็บกดจากที่ทำงาน แล้วก็ไปปลดปล่อยที่บ้าน เกิดการทำร้ายร่างกาย แล้วมักจะเป็นผู้หญิงนี่แหละที่โดนทำร้าย ซึ่งปัญหามันไม่ได้ต่อเนื่องกัน แค่มันจบที่ผู้หญิง

วิธีการสื่อสารผ่านศิลปะของคุณสำเร็จบ้างไหม

งานแพรวมันไม่ได้ต้องการถูกปฏิบัติแบบงาน Marina Abramovic หมายความว่าแพรวไม่ต้องการพูดกับคนในวงการอย่างเดียว มันน้อยไป เราอยากทำในแบบที่ให้คนทั่วๆ ไปดู ให้มันเป็นบทสนทนาที่คุยได้ทุกคน ทุกระดับ ทุกแบบ เราเล่าเรื่องที่เกิดมาจากประสบการณ์ของตัวเอง เวลาเล่าเรื่องของการเป็นผู้หญิง แพรวเชื่อว่าผู้หญิงทุกคนจะเข้าใจ

อย่างตอนที่ไปแสดงสดกลางห้องอาหารของโรงแรมเพนนินซูลา เราแสดงอยู่ท่ามกลางคนที่เป็นวัตถุนิยมมากๆ แล้วเรารู้สึกว่าถ้าเรากระตุ้นให้เขาเปลี่ยนความคิดได้มันคงดีมากเลยนะ

แล้วเราได้ผลตอบรับดีมาก คำถามเยอะมาก มีคนถามว่า ยูกำลังจะบอกว่าไม่ให้บริโภคเลยเหรอ มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าเราไม่บริโภคเลย แล้วคนเหล่านี้เขาจะได้เงินเดือนจากอะไร เราก็บอกว่า ไม่ใช่ว่าไม่ให้บริโภค มันไม่ใช่เรื่องนั้น แต่ว่าให้คิดว่าเราจะบริโภคอะไรต่างหาก

ใครๆ ก็ดูแล้วเข้าใจจริงเหรอ        

หรือแม้กระทั่งพี่เลี้ยงแพรวที่เคยอยู่ในอุตสาหกรรมทอผ้ามาก่อน ก็ดูแล้วเข้าใจได้เลยว่าเครื่องนี้มันทำแบบนี้จริงๆ แล้วส่วนใหญ่เขาเป็นคนช่วยออกความเห็นด้วย ‘น้องแพรวทำแบบนั้นสิคะ อุ้ย จริงๆ มันต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้’ เพราะเขาเป็นคนในวงการนี้มาก่อน เขาจะรู้หมดเลย

กวิตา วัฒนะชยังกูร กวิตา วัฒนะชยังกูร

งานต่อไป

ปลายปีนี้คุณจะแต่งงานแล้ว กลัวไหมว่าจะทำให้เลิกเป็นศิลปิน

ไม่เคยคิดว่าจะเลิกเป็นศิลปิน เพราะทุกอย่างที่ทำคือเราทำจากสิ่งที่เราสนใจ สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา ถ้าเกิดว่าเราเป็นแม่ของคน คิดว่าเล่าเรื่องผู้หญิงได้ดีขึ้นด้วยซ้ำ เพราะว่าเราได้เข้าใจจริงๆ การเป็นแม่ก็เป็นหนึ่งในเรื่องของผู้หญิง แล้วก็ชีวิตแต่งงานมันก็คงมีเรื่องน่าสนใจมาเล่าเยอะแหละ

มีอะไรในชีวิตที่คุณกลัวบ้างไหม

ตอนนี้สิ่งที่กลัวคือ กลัวเป็น Vertigo ระหว่างที่ขับรถอยู่ แล้วรถจะชน

เราประสบอุบัติเหตุบ่อยมาก เลยจะเช็กทุกอย่างก่อนทำงานว่าโอเค ปลอดภัย ระวังมากขึ้น

ก็ยังมีความระแวดระวังนะ

คือเราชอบความท้าทาย เราชอบความเสี่ยง แต่ว่าในความเสี่ยงเราก็ระวัง

เราเพิ่งไปเล่นสกีมา ไม่เคยเล่นสกีมาก่อน แล้วแฟนก็บอกว่า ถ้าจะเล่นให้เป็นนะ ต้องขึ้นไปที่สูงๆ แล้วลงมาทีเดียว มันก็ไม่ได้ชันมากนะ แต่ตอนนั้นเลี้ยงไม่เป็น เบรกไม่เป็น พยายามแล้วมันก็ไม่อยู่ เพราะทางมันตรงเกินไป แล้วสุดทางมันจะเป็นถนนแล้วอะ เบรกไม่อยู่ทำไงดี ก็เลยบังคับให้ตัวเองล้ม มองไปข้างๆ นี่คือกองหิมะ ด้านขวามือไม่มีคนมา ก็เลยกระโดดไปตรงนี้เพื่อให้ล้ม ตั้งใจล้มก่อนที่เราจะล้มเอง

ทุกวันนี้เราทำแบบนี้ประจำ ไม่ว่าจะทำอะไรเสี่ยงๆ เช่นงานศิลปะ หรืออะไรก็ตามที่กำลังจะเกิดอุบัติเหตุแล้ว อีก 2 วิ เรากำลังจะล้มอย่างทุเรศ และไม่รู้ว่ามันจะออกมาล้มท่าไหน เราก็เลยต้องล้มไปเลย

ชิงล้มก่อน

ชิงล้มก่อน ใช่ ทุกวันนี้ก็เลยใช้ทริกนั้น

กวิตา วัฒนะชยังกูร

ขอขอบคุณ: Works Courtesy of artist, Nova Contemporary, Clear Edition Gallery, Antidote Organisation and Alamak! Project

Writer

Avatar

อลิษา ลิ้มไพบูลย์

นักอยากเขียนผู้เรียนปรัชญาเพื่อเยียวยาอาการคิดมาก เวลาว่างใช้ไปกับการร้องคอรัสเล่นๆ แบบจริงจัง และดูหนังอย่างจริงจังไปเล่นๆ

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan