ไทยป์เฟซ (Thaipface) : a virtual sketchbook by seven overseas Thai creatives, who explore their relationship with the motherland while celebrating Thai type in motion.

ภาษาไทยมีเสน่ห์ น่าศึกษาเรียนรู้ ทั้งเชิงโครงสร้างภาษาและนิยามความหมาย ยิ่งยุคสมัยเปลี่ยนไป ยิ่งมีการบิดและคิดค้นศัพท์ใหม่ๆ ชวนตื่นตาตื่นใจ

เช่น ‘เกลียด’ แปลว่า ไม่ชอบ 

ถ้าเติม ‘ด’ เข้าไป 2 – 3 ตัว เป็น ‘เกลียดดดด’ ความหมายพลิกกลับกลายเป็น ชอบ ได้อย่างน่าประหลาดใจ

หรือ ‘โลกสวย’ อาจฟังดูดี แต่ไม่ได้เป็นคำที่ใช้บอกว่าโลกนี้ช่างสวยงามแต่อย่างใด
เราพอเห็นเพจอธิบายความหมายของคำศัพท์และวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางภาษาอยู่บ้าง ทั้งเชิงวิชาการและขำขัน แต่ไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นตัวอักษรและคำต่างๆ เหล่านั้นมีชีวิต ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวด้วยแอนิเมชันเพื่อสื่อความหมายใหม่ แบบที่ Thaipface (ไทยป์เฟซ) นำเสนอ

Thaipface : 7 ดีไซเนอร์ไทยแปลง ก-ฮ ให้มีชีวิตและใช้ Motion Graphic คุยเรื่องภาษา

“Thaipface เป็นเหมือนสมุดวาดเขียนในโลกดิจิทัลของพวกเรา ใช้ความเป็นกันเอง ลองผิดลองถูก เพื่อพัฒนาฝีมือการออกแบบ และเชื่อมต่อตัวเองเข้ากับวัฒนธรรมไทย” ต้า-สุรนาท กษิติประดิษฐ์ หนึ่งใน 7 ดีไซเนอร์ไทยรุ่นใหม่ที่พบกันในอีกซีกโลกหนึ่งและตกลงร่วมงานกัน เล่าเบื้องหลังเพจที่ปัจจุบันมีผลงานมากกว่า 150 ผลงานในโลกอินสตาแกรมและเฟซบุ๊ก ร้อยเรียงคุมโทนสีอย่างเป็นระเบียบ

Thaipface เกิดจากการผสมคำว่า Thai และ Typeface (ชุดแบบอักษร) นอกจากเป็นพื้นที่ทดลอง จุดมุ่งหมายของเพจนี้คือการสะท้อนสถานการณ์สังคม และจุดประกายให้เกิดการแลกเปลี่ยนบทสนทนา ไม่เพียงแค่ในบรรดาคนไทยเท่านั้น แต่รวมถึงคนต่างชาติด้วย

Thaipface : 7 ดีไซเนอร์ไทยแปลง ก-ฮ ให้มีชีวิตและใช้ Motion Graphic คุยเรื่องภาษา
7 ดีไซเนอร์จาก Thaipface 

แม้ทั้ง 7 คนจะอยู่คนละจังหวัดและไทม์โซน เริ่มตั้งแต่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ หาดใหญ่ และนิวยอร์ก แต่เมื่อถึงเวลานัดหมายสัมภาษณ์ พวกเขา (ต้า, ซูถิง-บุษบา แซ่ซือ, นาน่า-ณัฐวิภา เตชะไพบูลย์, อิง-อรอุศา โอภาสพงศ์กาล, แคท-ศิลป์ระพี พงศ์ธรพิพัฒน์, ณ-ณฐธรรม โรจน์อนุสรณ์ และ ซาร่า ฮิลาณี) พร้อมใจกันเปิดสมุดเล่มนี้ เพื่อชวนคุยถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับภาษาและสังคมไทย

จากสายตาของคนรุ่นใหม่ ที่เชื่อว่าเรายังต้องการพื้นที่สื่อสารกันอย่างเปิดเผยและปลอดภัย

และได้โปรด อย่าปิดกั้นการเปลี่ยนแปลงที่กำลังหมุนไปของโลกใบนี้

พยัญชนะตัวแรก

“เราตื่นเต้นมากเวลาเจอคนไทยในต่างแดน” ต้าเปิดบทสนทนาว่าพวกเขารวมตัวกันได้อย่างไร
ในเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ก ด้วยโชคชะตาหรืออะไรก็ไม่อาจทราบ ต้าค่อยๆ พบเพื่อนนักออกแบบที่จะกลายมาเป็นสมาชิกของ Thaipface ผ่านการเรียนที่เดียวกัน (ซูถิง ซาร่า) ฝึกงาน (ณ) ได้รับการแนะนำให้รู้จัก (อิง แคท) และบังเอิญได้ยินคนพูดภาษาไทย จนต้องรีบวิ่งเข้าไปหา (นาน่า)

จุดร่วมของทั้ง 7 คนคือเรียนการออกแบบที่มหาวิทยาลัยต่างประเทศ ทำงานโมชันกราฟิกเป็น แต่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำงานเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมไทย พวกเขาเห็นพ้องกันว่า ควรหากิจกรรมเสริมที่ข้องเกี่ยวกับความเป็นไทย และได้ใช้ทักษะออกแบบอย่างมีอิสระตามจินตนาการ

Thaipface : 7 ดีไซเนอร์ไทยแปลง ก-ฮ ให้มีชีวิตและใช้ Motion Graphic คุยเรื่องภาษา

“เราเป็นดีไซเนอร์ที่พอทำงานไปเรื่อยๆ ยิ่งรู้สึกว่าแต่ละงานมีสูตรอยู่ว่าต้องทำแบบไหนลูกค้าถึงจะชอบ ใช้สีนี้ยังไงก็สวย แต่ถ้ายึดติดกับสิ่งที่รู้อยู่แล้ว จะเป็นข้อจำกัดที่ปิดโลกไม่ให้เรากล้าลองอะไรใหม่” ต้าเล่าเหตุผลที่พวกเขาอยากสร้างพื้นที่ขึ้นใหม่

ประกอบกับช่วงเวลานั้น ทั้งทีมเล็งเห็นว่าตัวอักษรไทยถูกนำมาใช้ออกแบบในงานดีไซน์และแบรนดิ้งสวยๆ น้อยลง เมื่อเทียบกับภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น หรือสมัยก่อนที่เราเห็นกันทั่วไปตามป้ายร้านต่างๆ

ตุลาคม พ.ศ. 2562 Thaipface ถือกำเนิดขึ้น ด้วยผลงานชิ้นแรกคือตัวอักษร ‘ก.’

งามอย่างไทยสมัยใหม่

“ความน่าสนใจของภาษาไทยอยู่ที่ความซับซ้อนของระบบภาษา” ณ ช่วยอธิบายความงามที่ซ่อนอยู่ของภาษาไทย

ในภาษาอังกฤษหรือภาษาตะวันตกหลายภาษา พยัญชนะและสระอยู่ในรูปเดียวกัน แต่ภาษาไทยเป็นอักษรสระประกอบ ที่สระจะอยู่ล้อมรอบตัวอักษร ทั้งอยู่ประกบข้าง (เช่น เ-าะ) ด้านบน และด้านล่าง​ เกิดระดับความสูงต่ำ และแต่ละคำไม่ถูกจำกัดให้อยู่ในหนึ่งกรอบแบบภาษาจีน

ลักษณะเช่นนี้ รวมถึงการเขียนได้แบบทั้งมีหัวและไม่มีหัว ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายของการจัดเรียงสร้างสรรค์คำให้ออกมาสวยงาม สื่อความหมายในงานออกแบบ 

Thaipface : 7 ดีไซเนอร์ไทยแปลง ก-ฮ ให้มีชีวิตและใช้ Motion Graphic คุยเรื่องภาษา

ยิ่งท้าทายขึ้นอีกระดับ เมื่อพวกเขาเลือกทำเป็นภาพโมชันกราฟิกที่เคลื่อนไหวไปมา

“เราเลือกทำเป็นโมชัน เพราะเราอยู่ในยุคดิจิทัลที่ทุกคนต่างมีหน้าจอของตัวเอง และคงไม่มีอะไรน่าดึงดูดไปกว่าภาพเคลื่อนไหวบนหน้าจอ เลยคิดว่าเป็นสื่อกลางที่น่าจะได้รับการตอบรับจากผู้รับสาร” ซูถิงเสริมถึงการปรับตัวอักษรไทยให้เข้ากับพฤติกรรมของยุคสมัย

ระยะแรก พวกเขาผลัดกันออกแบบทั้ง 44 พยัญชนะให้มีชีวิต กระบวนการนี้ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องใหม่ใกล้ตัวเพิ่มขึ้นด้วย
“บางตัวอักษรเราไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่ามีความหมายแบบนี้ได้อย่างไร เช่น ฌ (ตีความเป็นคำว่า ฌาน และทำเป็นแบบฝึกการหายใจสนุกๆ) งานนี้ทำให้เราได้ค้นคว้าที่มาของแต่ละตัว” นาน่าเล่า 

เรื่องน่ารู้เหล่านี้ไม่ได้ถูกเก็บไว้แต่เพียงเบื้องหลังเท่านั้น เพราะซูถิง นักเขียนประจำทีม นำมาเรียบเรียงเป็นคำอธิบายประกอบ ด้วยภาษาที่เราอยากให้คุณลองกดเข้าไปอ่านสักครั้ง

คำนี้ดี..หรือเปล่า

หลังจบชุดพยัญชนะไทย Thaipface สร้างผลงานต่อทันทีด้วยชุดคำศัพท์สมัยใหม่

555 ส้มหยุด ฟิน คนคุย ดองไลน์ เหล่านี้คือคำส่วนหนึ่งที่สมาชิกแต่ละคนสนใจ

Thaipface : 7 ดีไซเนอร์ไทยแปลง ก-ฮ ให้มีชีวิตและใช้ Motion Graphic คุยเรื่องภาษา

“ตอนเริ่มงาน มีแค่บรีฟว่าเราต้องทำเป็นสีอะไร ส่วนคำ เราจะเลือกอันที่น่าสนใจ ถือเป็นโอกาสในการสื่อสารอะไรบางอย่างสู่ผู้คน” แคทยกตัวอย่างการทำงาน “เช่น เราเคยทำคำว่า ‘เกรี้ยวกราด’ เป็นคำที่แค่พูด เสียงก็มาแล้ว เห็นภาพเลย พอเอามาทำเป็นแอนิเมชันยิ่งน่าจะช่วยเสริมความหมาย

“พอเลือกคำแล้ว เราค้นต่อว่าคำนี้มีความหมายอะไรมากกว่าที่เราเข้าใจหรือเปล่า เสิร์ชไปเจอว่า เวลาผู้หญิงต้องการเรียกร้องอะไร บางทีก็โดนด่ากลับด้วยคำนี้ (เพราะค่านิยมที่เชื่อว่าผู้หญิงควรจะสุภาพเรียบร้อย) หรือในอีกบริบทคือ ใช้เพื่อชมว่าคนนี้เท่มาก” 

Thaipface : 7 ดีไซเนอร์ไทยแปลง ก-ฮ ให้มีชีวิตและใช้ Motion Graphic คุยเรื่องภาษา

เพราะคำหนึ่งคำมีได้หลายความหมายและการใช้งาน การทำ Thaipface จึงเปิดพื้นที่ให้พวกเขาถกเถียงแลกเปลี่ยนนิยามและความละเอียดอ่อนของแต่ละคำอย่างเปิดเผย 

“ทีมนี้ให้โอกาสทุกคนมีสิทธิ์พูดและเคารพความคิดเห็นกัน มันเลยสื่อสารออกไปในแพลตฟอร์มด้วยว่า เราเปิดให้ทุกคนได้มาแลกเปลี่ยนเพื่อเข้าใจกันมากขึ้น ทำให้เราเรียนรู้จากคนที่ติดตามว่าประเด็นของแต่ละคำมีมิติที่เยอะกว่านั้น” ซูถิงเล่าความประทับใจ

“คนที่ติดตามเราส่วนใหญ่น่ารักมาก มีส่งคำถามมาว่าคำนี้เหมาะหรือเปล่า ควรใช้ยังไง ทำให้มีบทสนทนาที่ยาวขึ้น แล้วเราก็กลายเป็นเพื่อนกัน” ต้าเสริมด้วยรอยยิ้ม

ภาษาสะท้อนสังคมโลก

เมื่อเริ่มมีคนมาแลกเปลี่ยนความคิดกัน พวกเขาจึงขยับมาสื่อสารเรื่องสถานการณ์สังคมและการเมืองมากขึ้น

เช่น ซาร่า เป็นลูกครึ่งไทย สร้างสรรค์ผลงานชื่อ ‘ไม่ก็คือไม่’ จากข่าวเหตุการณ์วางยาในเครื่องดื่มและข่มขืนผู้หญิงในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในไทยเช่นกัน ด้วยวัฒนธรรมเอเชียทำให้รู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้น่าละอายที่จะพูดถึงหรือแจ้งความ แถมยังมีการตำหนิเหยื่อซ้ำอีก เธอจึงอยากสื่อสารเกี่ยวกับสถานการณ์นี้ให้คนตระหนัก ผ่านแอนิเมชันฝาขวดประทับคำว่า ‘ไม่ก็คือไม่’

“ฉันไม่ได้เติบโตที่ไทย และไม่รู้ทั้งหมดว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เลยต้องอาศัยให้คนในทีมช่วยสอน ในขณะเดียวกันฉันก็ให้มุมมองของคนที่นี่ได้” ซาร่าแบ่งปันการแลกเปลี่ยนระหว่างวัฒนธรรมที่เกิดขึ้น

“บางเรื่องที่ซาร่าคุ้นเคยมาทั้งชีวิต ยังเป็นเรื่องที่สังคมไทยไม่คุ้นเคย พอซาร่าพูดขึ้นมา มันทำให้เกิดการคุยกัน ทำให้เราและคนที่ตามเข้าใจสิ่งที่เคยคิดติดอยู่ในหัว แต่ไม่รู้จะพูดยังไง” ซูถิงเสริม เมื่อการแลกเปลี่ยนความคิดนั้นไร้พรมแดน

ผลงานต่อมาของพวกเขาจึงมีทั้งคำว่า ผมหายใจไม่ออก-จอร์จ ฟลอยด์, จูนทีนธ์ (Juneteenth), สมรสเท่าเทียม, ประชาธิปไตย และอื่นๆ ตามวาระ

“Thaipface คำนึงถึงเรื่องภาษา ซึ่งเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ สะท้อนวัฒนธรรมและเรื่องที่กำลังเกิดขึ้นกับสังคม ณ ตอนนั้น จากการทำงานออกแบบ ขยับมาสื่อสารเรื่องสังคมมากขึ้น เรารู้สึกว่ามันมีพลังและสวยงามมาก” ณ และอิง สรุปหัวใจสำคัญของเพจ ณ ตอนนี้

Thaipface : 7 ดีไซเนอร์ไทยแปลง ก-ฮ ให้มีชีวิตและใช้ Motion Graphic คุยเรื่องภาษา

ไม่ลบลืมไป

เมื่อสิ่งดั้งเดิมที่มีมาแต่ช้านานอย่างตัวอักษรและภาษาไทยถูกปรับเปลี่ยนต่อยอดตามยุคสมัย ย่อมมีคนกลุ่มหนึ่งที่รู้สึกไม่สบายใจ ซึ่งทีม Thaipface ตระหนักเป็นอย่างดี 

“เราเข้าใจและเคารพวัฒนธรรมไทย แต่จะไม่ทนต่อการทำตามอย่างหลับหูหลับตา เราอยากเปิดพื้นที่ตั้งคำถามและพูดคุยมากขึ้น เพื่อเข้าใจว่าทำไมถึงทำแบบนี้ได้ หรือไม่ได้ เพราะอะไร” ต้าประกาศชัด

“เราอยากแต่งสี ตัดทอน เล่นความหมายใหม่ๆ ให้คนเห็นว่ามันทำแบบนี้ได้นะ ไม่จำเป็นต้องถูกตีด้วยกรอบที่สร้างขึ้นมาแบบเดิม” ณ แบ่งปันความรู้สึก “ไม่รู้ว่าทำได้มากน้อยแค่ไหน แต่ตอนนี้ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่มาไกลกว่าสิ่งที่อยากทดลองทำเล่นๆ ในฐานะคนไทยในต่างประเทศที่คิดถึงบ้าน”

Thaipface : 7 ดีไซเนอร์ไทยแปลง ก-ฮ ให้มีชีวิตและใช้ Motion Graphic คุยเรื่องภาษา

สิ่งสำคัญคือ เราหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่เราหาวิธีทำให้สิ่งดีงามในอดีตกลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง ในรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์

“ถ้าวันนี้เราไม่หยิบจับและสร้างอะไรใหม่ งานเหล่านั้นอาจถูกลืมหรือลดทอนคุณค่า เมื่อเทียบกับการนำกลับมาอยู่ในบทสนทนาของคนรุ่นใหม่ และทำให้พวกเขารู้สึกสนใจ อยากกลับไปศึกษาให้เข้าใจถึงรากฐานดั้งเดิม” 

Teamwork makes the dream work

ดีไซเนอร์มักมีแนวทางและสไตล์ที่ถนัดของตัวเอง การทำงานร่วมกัน 7 คน ถือเป็นเรื่องยาก หากขาดการบริหารจัดการที่ดี

“แต่เรามีต้า เป็นโปรเจกต์เมเนเจอร์ที่ดีที่สุด” ณ กล่าวชมและขอบคุณที่ต้าเป็นกำลังสำคัญ คอยรวมพวกเขาเข้าไว้ด้วยกันตลอดปีกว่าที่ผ่านมา

ต้าเป็นผู้ดูภาพรวมทั้งหมด คอยแจกจ่ายงานและวางแผนให้เกิดผลงานสู่สาธารณะตามกำหนด และเมื่อมีโปรเจกต์ใหม่ๆ เข้ามา อย่างการร่วมมือกับศิลปิน หรือรับงานจากลูกค้า แต่ละคนจะผลัดกันเป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ ออกแบบอัตลักษณ์ของแบรนด์ เช่น เรื่องฟอนต์และสี ส่วนคนอื่นจะช่วยออกไอเดีย แนะนำ และเสริมด้านที่ถนัด

เช่น อิงกับนาน่าเพิ่งทำโปสเตอร์ร่วมจัดแสดงในงาน Bangkok Through Poster ส่วน ณ เพิ่งทำแอนิเมชันโปรโมตสารคดียายนิล มีทั้งคำภาษาไทยและคำเมืองสุดน่าฮัก 

นอกจากทุกคนจะได้ผลัดมือทำงานและเรียนรู้ร่วมกัน สิ่งสำคัญคือมิตรภาพที่เกิดขึ้น

“ทุกคนในทีมเป็นเพื่อนที่เรารู้สึกโชคดีมากที่ได้รู้จัก ทุกคนสอนอะไรเราเยอะมาก” หนึ่งในความคิดดังขึ้นมาบอกทุกคนอย่างไม่เคอะเขิน

Thaipface : 7 ดีไซเนอร์ไทยแปลง ก-ฮ ให้มีชีวิตและใช้ Motion Graphic คุยเรื่องภาษา

ไทยป์เฟซ_final01_final02_final03_

จากการเรียนและทำงานในต่างประเทศ ทีม Thaipface มีโอกาสเห็นเทรนด์การออกแบบตัวอักษรที่กำลังเกิดขึ้น 3 เทรนด์หลักด้วยกัน

หนึ่ง การปฏิเสธฟอนต์แบบ Geometric Sans ที่โค้งมนกลมสวย สมมาตรทางเรขาคณิต ดูมินิมอล แบรนด์จำนวนมากเคยชอบใช้ แต่ปัจจุบันเริ่มมีแบรนด์ที่หันมาออกแบบฟอนต์เอง เพื่อสร้างคาแรกเตอร์ที่แตกต่าง

สอง การออกแบบตัวอักษรให้เป็นโมชัน เมื่อก่อนอาจทำได้ยาก แต่ปัจจุบันคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงมากขึ้น แบรนด์จึงกล้าส่งไฟล์ภาพเคลื่อนไหวขนาดใหญ่มาดึงดูดสายตาเรา

สาม การออกแบบตัวอักษร 3 มิติ ทั้งในพื้นที่กายภาพและดิจิทัล เมื่อเทคโนโลยีอย่าง Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) กำลังเข้ามา ชวนให้ลองจินตนาการดูว่า ถ้าต้องดัดแปลงโลโก้ของแบรนด์ที่คุณรักเป็นแบบ 3 มิติ หน้าตาและลูกเล่นจะเป็นอย่างไรบ้าง

พวกเขาหยิบจับเทรนด์เหล่านี้มาประยุกต์ใช้ออกแบบงานของ Thaipface เพื่อทดลองและสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้คนติดตาม และในอนาคต พื้นที่นี้จะไม่ใช่แค่เพียงพวกเขา 7 อีกคนต่อไป

“ต่อไปเราจะเน้นการสร้างคอมมูนิตี้ เปิดครอบครัวให้กว้างขึ้น เราอยากเป็นสมุดวาดเขียนสำหรับน้อง เพื่อน รุ่นพี่ดีไซเนอร์ด้วยกัน ตอนนี้มีคนส่งเข้ามาบ้างแล้ว และจะเปิดให้คนส่งผลงานเข้าร่วมเรื่อยๆ 

“เราอยากร่วมมือกับแบรนด์ในการออกแบบตัวอักษรสามมิติด้วย เพราะงานเราอยู่ในแพลตฟอร์มสองมิติมาสักพักแล้ว เป็นโจทย์ใหม่ที่เรากำลังพูดคุยกันอยู่

“อนาคตเหล่านี้ทำให้พวกเราตื่นเต้นตลอดเวลาที่ได้ทำงานในวงการออกแบบ”

หน้าถัดไปของสมุดวาดเขียนดิจิทัลเล่มนี้จะเป็นอย่างไร 

ขอชวนคุณกดติดตามอนาคตอันยาวไกลของพวกเขาไปด้วยกัน

Thaipface : 7 ดีไซเนอร์ไทยแปลง ก-ฮ ให้มีชีวิตและใช้ Motion Graphic คุยเรื่องภาษา

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป