ยายนิล-นิลวรรณ ภิญโญ หญิงวัย 83 ที่มีบทบาทเป็นแม่ ยาย และนักธุรกิจ (ยังสาว)
แชมป์ เอ็นซมิงเกอร์ (Champ Ensminger) เป็นหลานยายนิล ที่ลุกขึ้นมาเป็นผู้กำกับสารคดี YAI NIN บอกเล่าชีวิตของคุณยายที่บริหารกิจการ ‘แหนมภิญโญ’ ของครอบครัวเป็นเวลากว่า 50 ปี จนส่งลูกไปใช้ชีวิตที่สหรัฐฯ
ใช่-ยายนิลยังคงดำเนินธุรกิจแหนมหมูอยู่ไม่ห่างมือ
ใช่-ยายนิลยังเป็นแม่ที่ดูแลลูกหลานอยู่ไม่ห่างตัว
และ ใช่-ยายนิลยังคงเป็นคุณยายที่น่ารักเสมอและตลอดไป
เพียง 13 นาที หลานชายก็พาเราไปทำความรู้จักยายนิล ผ่านการแวะเข้าร้านเสริมสวย เดินตลาดที่คนเชียงใหม่รู้จักกันดี ชมโรงงานแหนมหมูที่ขายดิบขายดี แถมมุมน่ารักเรียกรอยยิ้มของการพูดอังกฤษคำ คำเมืองคำ
หัวใจหลักของสารคดีขนาดสั้นเรื่องนี้ คือการแทรกความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว ยายกับหลาน แม่กับลูก ที่มีอุปสรรคใหญ่เป็นระยะทางที่ห่างกันอีกฝั่งโลก ฉากชีวิตที่ปาดน้ำตาปีติเรายกให้ความแกร่งของผู้หญิงคนหนึ่งที่กลายมาเป็นหัวหน้าครอบครัว ในวันที่เธอต้องสูญเสียคนรัก สุขปนเศร้านะ แต่รับรองว่าสุขเยอะกว่าอย่างเห็นได้ชัด
สารคดี YAI NIN มีจุดเริ่มต้นจากการ Crowdfunding และได้รับเสียงตอบรับดีเยี่ยมจากผู้ชมในต่างประเทศ โดยเฉพาะชาวเอเชียน-อเมริกัน จนถูกรับเลือกให้ฉายใน Spokane International Film Festival, Florida Film Festival และคว้ารางวัล Grand Jury สาขา Best Documentary Short จาก Seattle Asian American Film Festival
ชมตัวอย่างสุดอบอุ่น แล้วอ่านเรื่องราวที่อบอวลด้วยความผูกพันระหว่างยายกับหลาน เรารับรองว่าสารคดีที่แสดงโดยคุณยาย กำกับโดยหลานชาย จะทำให้คุณคิดถึง ‘คุณยาย’ และหญิงแกร่งประจำบ้านอย่างแน่นอน
เล่าความทรงจำเกี่ยวกับเชียงใหม่ของคุณให้ฟังหน่อย
ช่วงวันหยุด พวกเราจะกลับเชียงใหม่ไปเยี่ยมคุณยายปีละสองสามครั้งครับ ส่วนใหญ่เป็นช่วงคริสต์มาส ส่วนคุณตาผมจำท่านได้แม่น แม้ท่านจะเสียตั้งแต่ผมเรียนมัธยมปลาย ที่เชียงใหม่เรามีญาติเยอะมากครับ ผมมีความทรงจำเกี่ยวกับโรงงานของคุณยายและบ้านที่อยู่บนโรงงาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผมใช้เวลาร่วมกันกับญาติๆ
จะว่าไป ในประเทศไทยผมเคยไปมาแล้วหลายจังหวัด แต่เชียงใหม่เป็นจังหวัดเดียวที่ผมเรียกว่า ‘บ้าน’
จากเด็กคนนั้นมาสนใจเกี่ยวกับภาพยนตร์ได้ยังไง
ตอนเป็นเด็กผมว่าการถ่ายทำวิดีโอมันง่ายมาก ผมเคยใช้กล้องถ่ายวิดีโอทำโปรเจกต์วิชาภาษาอังกฤษและประวัติศาสตร์ ช่วงนั้นผมสนใจการตัดต่อวิดีโอด้วย คนส่วนใหญ่ที่รุ่นราวคราวเดียวกัน ทำวิดีโอเพื่อความสนุกกันนะ มีบ้างทีทำเพื่อบอกเล่าเรื่องราวบางอย่าง แต่ก็ทำเอาสนุกตามประสาเด็ก ผมเลยสนใจสิ่งนี้มาตลอด และการที่ผมเป็นคนเอเชีย ซึ่งเป็นส่วนน้อยมากในโรงเรียน ทำให้ผมไม่ค่อยมีเพื่อนสักเท่าไหร่ เวลาส่วนใหญ่เลยหมดไปการอยู่บ้านนอนดูหนัง ผมดูหนังเยอะมาก คุณยายท่านก็ชอบหนังแอคชัน ยิ่งหนังแอคชันยุค 90 นี่ชอบมาก
มีผู้กำกับในดวงใจไหม
ผู้กำกับในดวงใจหรอ (นิ่งคิด)
ฮิโระ มุราอิ (Hiro Murai) ครับ เขาเป็นผู้กำกับมิวสิควิดีโอเชื้อสายญี่ปุ่น-อเมริกัน เคยร่วมงานกับ ดอนัลด์ โกลเวอร์ (Donald Glover) ที่เป็นนักดนตรี ในซีรีส์โทรทัศน์เรื่อง Atlanta ผมชอบวิธีทำงานในฐานะผู้กำกับของเขา เคยอ่านบทสัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง เขาบอกว่า เวลาถ่ายทำเขาจะเป็นกันเองและใจดีกับเพื่อนร่วมงาน รวมถึงนักแสดงที่เขาทำงานด้วย
ไม่แน่ใจว่าคุณเคยได้ยินมาบ้างหรือเปล่าว่าผู้กำกับชาวอเมริกันค่อนข้างโหด ทำงานด้วยยาก แต่การทำงานของฮิโระมันเป็นการย้ำเตือนและเป็นแบบอย่างให้ผู้กำกับรุ่นใหม่ ส่วนตัวผมคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องมีสไตล์การกำกับที่เข้มงวดขนาดนั้น การที่คุณเป็นคนน่ารักและมีน้ำใจก็ทำให้งานออกมาดีได้เหมือนกัน
หลังเรียนจบสาขาเกี่ยวกับภาพยนตร์ คุณวาดฝันชีวิตตัวเองไว้แบบไหน
ความฝันของผมคือการออกจากเมืองเล็กอย่างสโปเคน (Spokane) ผมชอบการอยู่ในเมืองใหญ่มากกว่า ซีแอตเทิลเป็นเมืองที่ดีนะ สภาพแวดล้อมดี มีความหลากลาย แต่อุตสาหกรรมหนังในซีแอตเทิลยังต้องต่อสู้ดิ้นรน มันไม่ค่อยได้รับความนิยมเหมือนอุตสาหกรรมหนังในแอลเอหรือนิวยอร์ก ยิ่งตอนเรียนปริญญาตรี ผมรู้สึกท้อแท้มาก เพราะไม่ค่อยมีงานเกี่ยวกับภาพยนตร์ให้ทำมากเท่าไหร่
ตอนเรียนผมเป็นประธานชมรมภาพยนตร์ด้วยนะ เป็นการรวมตัวกันของคนที่ชอบทำหนังสั้นส่งประกวด ทำให้มากที่สุดเท่าที่พวกเราจะทำได้ ทำเอาสนุกมากกว่า เพราะผมก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าหลังเรียนจบจะเป็นยังไง
ว่าแต่คุณเคยคุ้นหู เว็บไซต์ Vimeo บ้างหรือเปล่า
เคยสิ
ตอนนั้น Vimeo เปิดรับนักศึกษาฝึกงานพอดี ผมเลยส่งวิดีโอสมัครเข้าไป ปรากฏว่าเขารับผมกับคนอื่นอีกสองคนที่ย้ายมาจากเมืองอื่นเหมือนกัน พวกเราต้องย้ายมาอยู่นิวยอร์ก มันเปิดหูเปิดตาและเปิดโลกผมมาก เรียกได้ว่าเป็นโอกาสดีที่จะเข้าถึงเส้นทางสายภาพยนตร์ เพราะซีแอตเทิลเล็กเกินไปสำหรับอุตสาหกรรมนี้ แต่นิวยอร์กกว้างขวางกว่ามาก
ผมทำงานที่ Vimeo ปี 2011 ตอนยังเป็นเว็บน้องใหม่อยู่ มีคนทำงานประมาณสี่สิบคน รุ่นราวคราวเดียวกับผมและทุกคนรักหนังมาก มันเป็นช่วงเวลาที่ผมตื่นเต้นที่สุดที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของทีม จากคนที่เคยท้อแท้กับวงการหนังในซีแอตเทิล พอผมมานิวยอร์ก มันยิ่งตอกย้ำว่าสิ่งที่ผมอยากจะทำมันกลายเป็นจริงขึ้นมาได้ ผมว่าผมมาถูกทาง
แล้วสารคดี YAI NIN ที่เล่าเรื่องราวของคุณยายตัวเองมาตอนไหน
ครอบครัวที่สโปเคนมีคุณแม่ คุณลุงและคุณป้าของผม อาศัยอยู่เมืองเดียวกัน ทุกคนทำงานในร้านอาหารซึ่งก็เหมือนครอบครัวเอเชียน-อเมริกันส่วนใหญ่เขาทำกัน สร้างเนื้อสร้างตัวจากร้านอาหาร แล้วเพื่อนเมกันของผมเขาพูดบ่อยมากว่า น่าสนใจนะ การที่ญาติของผมทำร้านอาหารแล้วก็อาศัยอยู่บนนั้นเลย ดูเป็นวิถีชีวิตของคนเอเชียที่อาศัยอยู่ในอเมริกา ซึ่งมันค่อนข้างแปลกสำหรับเขา เพราะเขามีบ้าน ก็นอนที่บ้าน ผมก็ฟังนะ แต่ไม่ได้คิดอะไรมาก
จนกระทั่งช่วงหลังที่คุณยายติดต่อกับครอบครัวเยอะขึ้น เหมือนคุณยายเป็นคนเชื่อมพวกเราทุกคนเข้าด้วยกัน ความจริงแล้วกิจการครอบครัวเราก็รุ่งเรืองเหมือนกันนะ อย่างน้อยก็ในเชียงใหม่ เพราะไส้แหนมและไส้หมูยอเป็นสินค้าที่ขายดีมากในหลายพื้นที่ อย่างแม่สอดที่ติดชายแดนพม่า ส่วนคนเชียงใหม่จะรู้จัก ‘แหนมภิญโญ’ อย่างดีเลย ผมก็เพิ่งมารู้เรื่องราวพวกนี้ก็ตอนโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว มันยิ่งทำให้ผมภูมิใจในตัวคุณยายเข้าไปอีก โดยเฉพาะตอนที่ผมกลับมาเชียงใหม่แล้วได้ใช้เวลาอยู่กับคุณยาย เอาเข้าจริงคุณยายเป็นคนตลกมาก มันเหมือนกับว่าคุณมีคุณยายที่รักมากคนหนึ่ง แล้วเขาส่งพลังงานที่ดีกลับมาหาเราเสมอ
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในฐานะคนไทย-อเมริกันสำหรับผมคือ คุณยายเป็นคนเดียวในครอบครัวเราที่ยังมีความเป็นไทยแท้ ผมรู้สึกว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะรักษาความสัมพันธ์นั้นไว้ โดยเฉพาะตอนที่คุณตาเสีย ผมยังเด็กมาก มีแต่คุณยายเพียงคนเดียวที่ยังทำและสานต่อกิจการของครอบครัว คุณยายเลยไม่มีเวลามาเยี่ยมเราที่อเมริกาบ่อยนัก หนังเรื่องนี้เลยเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยรักษาความสัมพันธ์ของครอบครัวเราเอาไว้
สารคดีเรื่องนี้เลยเริ่มจากการทำเพื่อรื้อฟื้นความทรงจำของครอบครัวไว้
ตอนเรียนมหาวิทยาลัย ผมเคยลงเรียนวิชาภาษาพื้นเมือง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเก็บรวบรวมความทรงจำ ภาษาและวิธีการถ่ายทอดเรื่องราวของชาวอเมริกันพื้นเมืองผ่านหนัง พอดแคสต์ และการบันทึกเสียง แล้วชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกาในหลายพื้นที่ ภาษาที่เขาใช้กันกำลังจะหายไป เพราะคนเก่าคนแก่ก็เริ่มล้มหายตายจาก วิชานี้เลยกระตุ้นให้คนสูงวัยมาบันทึกประวัติศาสตร์ด้วยกัน คนอเมริกันพื้นเมืองสมัยก่อนก็ไม่ค่อยจดบันทึกนะ บอกกันปากต่อปาก ทำให้วัฒนธรรมพื้นถิ่นกำลังจะหายสาบสูญ แม้ว่าผมจะไม่ใช่ชาวอเมริกันพื้นเมือง แต่ผมถูกกระตุ้นมาตลอดในฐานะผู้อพยพ ผมพยายามจดจำความเป็นไทยให้ได้มากที่สุด ถึงผมจะพูดภาษาไทยไม่ได้ก็ตาม
การเรียนวิชานั้นเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่ทำให้ผมอยากทำหนังเกี่ยวกับคุณยาย เพราะคุณยายไม่ได้พูดแค่ภาษาไทยอย่างเดียว คุณยายพูดคำเมืองด้วย คำเมืองมันสำคัญมากเลยนะ แล้วผมก็ชอบมากเวลาครอบครัวเรามีบทสนทนากันเป็นคำเมือง น่ารักมาก
แล้วคุณพูดคำเมืองได้ไหม
อู้บ่ได้ (หัวเราะ)
ตอนเล่าไอเดียว่าจะชวนคุณยายมาเล่นหนัง ท่านว่ายังไงบ้าง
คุณยายบอกว่ามันตลก แต่ก็ดีนะ ทำเลย มันยิ่งดีเข้าไปใหญ่ที่แม่ของผมสนับสนุนโปรเจกต์นี้เต็มที่ เพราะว่าส่วนใหญ่เป็นบทสนทนาที่ผมฟังไม่ค่อยออก ผมอยากจะทำหนังก็จริง แต่ประสบการณ์และความทรงจำระหว่างทางก็เป็นสิ่งสำคัญ ไม่อย่างนั้น คุณแม่กับคุณยายคงไม่ได้คุยกันมากขนาดนี้
ช่วงเตรียมตัวก่อนถ่ายทำ เราสัมภาษณ์คุณยาย มันมีบางท็อปปิกที่ผมไม่แน่ใจว่าจะทำให้มันเซนซิทีฟได้มากน้อยขนาดไหน อย่างในหนังก็เล่าเรื่องตอนที่คุณตาเสียแบบสั้นมาก เพื่อบอกว่าคุณยายผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ยังไง ผมไม่อยากทำให้หนังมันเศร้าเสียด้วยสิ เลยโฟกัสไปที่ความแกร่งของคุณยายในตอนที่อายุเท่านั้น ที่ต้องดูแลทั้งกิจการครอบครัว เลี้ยงลูก และหลายสิ่งหลายอย่าง แต่ก็ยังต้องดูแลตัวเองด้วย ตอนทำผมเลยหวังว่าคุณยายจะสนุกไปด้วยกันกับเรา
วันเปิดกล้องเป็นยังไง
ครั้งแรกของการถ่ายทำ คุณยายตื่นเต้นมาก จะเป็นดาราหน้ากล้อง และคุณยายเป็น Location Scout ที่ดีมาก เพราะนอกจากโรงงานแหนม เราต้องหาสถานที่อื่นเพื่อถ่ายทำด้วย อย่างวัด ตลาด คุณยายก็ช่วยติดต่อให้เสร็จสรรพ ผมว่าคุณยายคงตื่นเต้นกับการทำโปรเจกต์นี้ ซึ่งเป็นปกติของครอบครัวเราอยู่แล้ว ไม่ว่าใครทำอะไรก็มักจะช่วยเหลือกัน
ตอนคุณยายเห็นหนังฉบับไฟนอล คุณยายบอกกับผมว่า “Hmm it’s good. It’s okay.”
มีเรื่องอะไรที่คุณเพิ่งรู้เกี่ยวกับคุณยายบ้างไหม
ผมเพิ่งรู้ว่าคุณยายเล่นละครวิทยุด้วย ช่วงยุค 40 50 เคยไปพากย์เสียงที่สถานีวิทยุ ผมไม่เคยรู้มาก่อนเลยนะ เพราะก่อนถ่ายทำเรามีการสัมภาษณ์ล่วงหน้า เพื่อจะมั่นใจได้ว่าตอนถ่ายจริงเราจะไม่เสียเวลา บางทีเจ้าตัวเขาไม่รู้จะตอบยังไง ผมกับคุณแม่เลยทำงานด้วยกันเยอะมาก พอจะรู้ว่าคุณยายมีความพร้อมและตอบคำถามได้อย่างฉะฉาน
ผู้หญิงแกร่งอย่างยายนิลเป็นคุณยายแบบไหนในสายตาคุณ
ตอนเป็นเด็กคุณยายมาหาเราบ่อย เป็นเหมือนพี่เลี้ยงเลยครับ คอยดูแลพวกเรา พอโตมาหน่อยคุณยายก็จะเข้มงวดขึ้น ยิ่งตอนผมเป็นวัยรุ่นเข้มงวดหนักกว่าเดิมอีก หรือบางครั้งเรามาหาคุณยายได้สองสามสัปดาห์ก็ต้องกลับ ซึ่งมันเป็นอีกหนึ่งจุดที่น่าสนใจ เพราะผมอยากเล่ามันออกมาในหนังเรื่องนี้ด้วย ว่าการไม่มีลูกหลานอยู่ใกล้ๆ ทำให้คุณยายเลี้ยงดูคนงานเหมือนกับลูกกับหลานของตัวเอง มันเป็นวิธีในแบบของคุณยายน่ะ ถึงแม้จะดุบ้างก็ตาม
(คุณแม่ของแชมป์เสริมในสายว่า “ยายนิลเป็นหญิงแกร่ง ไม่เป็นแม่บ้านเลย Business Woman อย่างเดียว ยายนิลรักโรงงานแหนมมาก สมัยตอนเป็นสาว แต่งตัวเก่ง ชอบใส่เสื้อลายดอก รองเท้าส้นตึกหนาเป็นคืบ ชีเปรี้ยวมาก”)
แล้วคุณเป็นหลานชายแบบไหน
ไฮเปอร์ครับ (หัวเราะ) มีครั้งหนึ่งผมไป Disneyland แล้วแม่หลงกับผม เพราะผมมัวแต่เล่นเครื่องเล่นแฟนตาซี การที่ผมเป็นไฮเปอร์ เป็นคนสนุกอยู่ตลอด มันทำให้ผมมีไอเดียที่ดีในการต่อยอดเป็นศิลปินและคนทำหนัง ผมว่ามันช่วยมากเลยนะ ความผูกพันในครอบครัวและการเลี้ยงดูทำให้ผมเป็นคนมีเหตุผลและถ่อมตนมากขึ้น
ข้อดีของการทำสารคดีจาก Crowdfunding คืออะไร
ผมเจอแพลตฟอร์มที่ชื่อ Seed and Spark ซึ่งเน้นระดมทุนเกี่ยวกับหนังสั้นและหนังอิสระเป็นหลัก ผมเคยทำงานกับหลายองค์กรในซีแอตเทิลที่สนับสนุนโปรเจกต์ใน Seed and Spark อยู่บ่อยๆ และแพลตฟอร์มนี้ยังช่วยสนับสนุนมากพอๆ กับการสร้างคอมมูนิตี้คนที่เกี่ยวกับโปรเจกต์ที่คุณกำลังทำอยู่
ผมว่ามันไม่ใช่แค่การระดมเงินทุนเพื่อทำอะไรบางอย่าง แต่มันเป็นการรักษาคนที่สนใจเรื่องเดียวกันเอาไว้ คุณสามารถประกาศให้พวกเขารู้ว่า หนังจะฉายในเทศกาลไหนบ้าง ฉายออนไลน์ตอนไหน มันเป็นประสบการณ์การใช้ Crowdfunding ที่ดีเลย เอาเข้าจริงการระดมทุนมันหนื่อยกว่าที่ผมคิดเอาไว้อีก มีสิ่งที่ผมต้องทำและดูแลอยู่เยอะมาก การระดมทุนทำหนังเรื่องนี้ผมถือว่าประสบความสำเร็จนะ ผมขอบคุณมากที่พวกเราได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากเพื่อนและครอบครัว
ความยากของการถ่ายทอดชีวิตคนคนหนึ่งผ่านสารคดีความยาว 13 นาที คืออะไร
ไอเดียหลักไม่ใช่การเล่าทั้งชีวิตของคุณยาย แต่เป็นการเล่าหนึ่งวันของคุณยาย เพื่อชวนคนดูมารู้จักและลองสัมผัสประสบการณ์ เหมือนผมและครอบครัวที่ต้องเดินทางจากอเมริกาเพื่อไปเยี่ยมคุณยายและโรงงานทำแหนม
เราจะรู้จักยายนิลภายในเวลา 13 นาที ใช่ไหม
ผมหวังว่าอย่างนั้น เขาจะได้เห็นคุณยายในหลายมุม โชคดีมากที่คุณยายกำลังสร้างบ้านพักตากอากาศนอกเมืองเชียงใหม่พอดี แต่ดันตลกตรงที่คุณยายพยายามเตรียมสถานที่ให้พร้อมเพื่อถ่ายหนัง ปลูกต้นไม้เพิ่ม แต่งสวนรอบบ้าน ทำเหมือนถ่ายหนังสเกลใหญ่เลย ความประทับใจที่ผมสัมผัสได้จากคุณยายคือความสงบ ผมว่าวิธีที่ดีที่สุดในการเล่าเรื่องของคนคนหนึ่งภายในระยะเวลาอันสั้น คือการสังเกตว่าคนคนนั้นมีปฏิกิริยาต่อสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเขายังไง
ผมเลือกสถานที่ถ่ายทำหลายที่วัด ตลาด เพื่อดูว่าคุณยายตอบสนองต่อสถานที่เหล่านั้นยังไงบ้าง ผมแค่อยากจะปิดฉากด้วยภาพของคุณยายในมุมสงบ เพื่อสะท้อนตัวตนของคุณยายออกมาผ่านงานที่ทำมาทั้งชีวิต
การอยู่ในครอบครัวที่คนหลายวัยสนิทชิดเชื้อกัน มันทำให้คุณโตมาเป็นคนแบบไหน
ผมเอียงมาทางความเป็นไทยแน่นอนครับ ไม่ค่อนไปทางฝรั่งเศสเท่าไหร่ด้วย เพราะผมมีความใกล้ชิดกับประวัติศาสตร์ไทย แต่ไม่ค่อยรู้เกี่ยวกับกรุงเทพฯ นะ (ยิ้ม) เชียงใหม่มีคุณค่ากับผมมาก พื้นเพผมมาจากตรงนั้น วัฒนธรรมก็ยังเป็นวัฒนธรรมพื้นถิ่น เป็นเมืองที่ไม่ได้วิ่งตามสมัยมากนัก ผมว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างตัวตนผมขึ้นมา
พอผมกลายมาเป็นคนทำหนัง ความเป็นไทยมันเข้าไปอยู่ในทุกอย่างเลยถ้าเทียบกับคนอื่นในอุตสาหกรรมนี้ ในหัวผมมันย้ำเตือนอยู่ตลอดเวลา เรามีอะไรมากกว่าที่เขาเห็นและเรามีแนวทางที่แตกต่างในแบบของเราเอง ไม่รู้จะใช้คำว่าอะไรเหมือนกัน
แบบ ‘ใส่ใจ’ มากกว่าเหรอ
ผมคิดว่าอย่างนั้นนะ การที่เราไม่ได้เป็น ‘ฝรั่ง’ หรือคนขาวในอเมริกา มันคือข้อได้เปรียบในแง่หนึ่ง มันทำให้เราเห็นอกเห็นใจคนที่เป็น ‘คนนอก’ ไม่ว่าในออฟฟิศหรือกองถ่าย คุณจะกลายเป็นคนที่เข้าใจคนอื่นและรู้ว่าควรจะใจดีกับใคร ตอนนี้มีการพูดถึงความเป็นเอเชียน-อเมริกัน และแอฟริกัน-อเมริกัน ในอุตสาหกรรมหนังมากขึ้น ผมว่ามันไม่ใช่แค่ใครทำเงินได้เยอะกว่าหรือใครใหญ่กว่าใคร แต่มันคือทัศนคติที่เรามีต่อชีวิตคนคนหนึ่ง เราแคร์ ‘เสียง’ ที่ไม่มีใครได้ยินนั้นมากน้อยแค่ไหน
ผมว่านั่นคือสิ่งที่ผมเป็นและมันคือสิ่งที่อุตสาหกรรมหนังในอเมริกาต้องการ
สิ่งที่คุณอยากส่งต่อให้คนดูผ่านสารคดีเรื่องนี้คืออะไร
ผมว่าหนังกำลังเล่าเรื่องความสัมพันธ์ทางไกล (Long-distance Relationships) ระหว่างคุณยายกับลูกหลาน ตอนนี้พวกเราก็เหมือนเป็นคนอเมริกันกันหมดแล้ว เรามีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันยังไม่พอ ตัวเราก็ยังห่างไกลกันด้วย แต่คนที่อยู่ใกล้ชิดกับคุณยายจะเรียกคุณยายว่า ‘แม่’ หมดเลยนะ มันเป็นความสัมพันธ์ที่วัฒนธรรมแบบคนตะวันตกไม่มีทางเข้าใจ
ผมเติบโตมาท่ามกลางผู้หญิงในครอบครัว ผมมีน้องสาวหนึ่งคน แล้วก็ญาติที่เป็นผู้หญิงอีกเยอะมาก บทสนทนาของคนอเมริกันส่วนใหญ่เขาจะพูดถึงความเท่าเทียมทางเพศ แต่ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่แบบนั้นเสมอไป เพราะผมโตมากับครอบครัวหญิงแกร่ง โดยเฉพาะคุณยาย มันเลยทำให้ผมคิดว่าการที่ผู้หญิงกลายมาเป็นผู้นำ มันเป็นสิ่งที่มีค่ามากสำหรับครอบครัวเรา ผมอยากใส่กรอบแนวคิดแบบนี้ลงไปในหนังด้วย ซึ่งมีเรื่องราวของหญิงแกร่งที่เป็นผู้นำครอบครัวเป็นตัวชูโรง
สิ่งที่คุณได้เรียนรู้จากการทำหนังเรื่องนี้ล่ะ
ผมว่าคุณยายมีทัศนคติที่ดีในการจะพาโรงงานแหนมไปให้ไกลที่สุดเพื่อชีวิตของพวกเรา คุณยายทำมันอย่างไม่ต้องคิดเสียดายทีหลัง หนังเรื่องนี้มันก็จะสุขปนเศร้าหน่อย เพราะคุณยายวุ่นกับธุรกิจจนไม่มีเวลามาหาพวกเรา แต่ผมเข้าใจนะ เข้าใจว่าคุณยายอยากบริหารธุรกิจให้ออกมาดี เพราะสิ่งที่คุณยายทำ มันทำให้ผมได้อยู่ที่นี่ ได้อยู่ที่อเมริกา ได้เรียนหนังสือ ผมนับถือคุณยายจากใจจริง
และผมอยากเสริมว่า ในประเทศไทย Strong Women มันสำคัญพอๆ กับ Men in Power ผมไม่รู้ว่าจะพูดสิ่งนั้นออกมาได้มากน้อยแค่ไหน แต่ผมหวังว่าหนังเรื่องนี้ได้พูดแทนใจผมไปหมดแล้ว
จากไอเดียเล็กๆ ที่อยากจะเล่าเรื่องคุณยาย ตอนนี้สารคดีไปฉายในเทศกาลหนังหลายเทศกาลแล้ว
ผมคิดว่าถ้าคุณลงแรงกับอะไรมากพอ โลกก็จะตอบแทนคุณกลับมา ผมแค่อยากเล่าเรื่องครอบครัวและมันก็ฝากคำถามเอาไว้ให้ผู้ชม อย่างน้อยก็กับเพื่อนอเมริกันของผม ว่าเขามองคุณยายและคุณป้าของพวกเขายังไงผ่านการมอง YAI NIN
ผมว่าการที่ทุกคนเชื่อมโยงหนังเรื่องนี้เข้ากับตัวเองได้ มันดีมาก คนไทยบางส่วนที่ได้ดูก็บอกกับผมว่า “ขอบคุณที่ทำหนังเรื่องนี้ออกมา” มันทำให้เขาคิดถึงบ้านเกิดของตัวเองและความผูกพันที่เขามีต่อคนในครอบครัว เขารู้สึกว่าหนังกำลังพูดกับเขาอยู่ มันเป็นหนังเรียบๆ เรื่องหนึ่งนะ ไม่มีอะไรมาก แค่เตือนให้คนกลับไปคิดว่า ใครคือคนที่คอยดูแลพวกเขามาตลอดชีวิต เท่าที่รู้คนดูก็ค่อนข้างประทับใจ (ยิ้ม)
ถ้าเราอยากดูสารคดีเรื่องนี้ต้องทำยังไงบ่้าง
ตอนนี้หนังอยู่ในเทศกาลหนัง ความจริงเราได้ฉายในงานแค่สองงานเองครับ นอกนั้นฉายออนไลน์หมดเลย อีกหนึ่งเดือนหรือสองเดือนข้างหน้า หนังจะไปฉายที่บาหลี แล้วก็มีเทศกาลหนังอเมริกันอีกสองสามงาน ผมว่าจะส่งหนังไปฉายที่กรุงเทพฯ ด้วย ผมยังคิดอยู่ว่าหนังสั้นมันควรจะถูกเผยแพร่ในรูปแบบไหนบ้าง พอดีผมมีเพื่อนที่เจอกันจากเทศกาลหนัง เขาส่งหนังตัวเองไป Amazon บ้าง Netflix บ้าง แต่ก็ไม่ได้กำไรอะไรมากหรอกครับ หนังสั้นทำเงินค่อนข้างยาก (ยิ้ม)
คำถามสุดท้าย ทำไมเราต้องดูหนังเรื่องนี้
ผมว่าคำถามนี้น่าสนใจนะ จะว่าไปก็ตอบยากเหมือนกัน ผมมองไม่ค่อยออกว่าผู้ชมชาวไทยจะคิดยังไงกับหนังต่างประเทศ ไม่มั่นใจว่าเขาจะเปิดใจให้กับหนังที่เล่าเรื่องคนไทยที่ไปใช้ชีวิตในต่างประเทศมากน้อยแค่ไหน เพราะมันเป็นเรื่องของคุณยายและความผูกพันกับประเทศไทย ซึ่งต่างจากหนังที่คนไทยส่วนใหญ่เขาดูกัน
จากการอยู่เชียงใหม่มาสองปี ทำให้ผมรู้ว่าคนไทยไม่ค่อยเสพหนังที่ลึกและอาร์ตเท่าไหร่ แต่จะชอบดูหนังแอคชันอย่าง Fast and Furious มากกว่า หรือไม่ก็โรแมนติก-คอมเมดี้ไปเลย ถึงอย่างนั้นผมก็ยังเชื่อว่าผู้ชมจะสนุกไปกับหนังของผมได้ เพราะคุณยายจะทำให้ผู้ชมหวนคิดถึงผู้หญิงในชีวิตของเขา คุณป้า คุณแม่ คุณยาย ว่าเรายังมีพวกเขาอยู่ตรงนั้น
ติดตามเรื่องราวของยายนิลได้ที่
Website: www.yainindoc.com
Facebook : YAI NIN
Instagram : YAI NIN
ขอขอบคุณ
Production photos : Jeetrapon Kaicome
Film stills : Liam Morgan
Portraits : Jayna Milan
Poster : Dohee Kwon