6 พฤศจิกายน 2023
3 K

เราต่างเป็นลูกค้าของ TGM ทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว 

เราได้ข้อสรุปนี้ หลังจากนั่งคุยกับ จันทนา พัวพัฒนขจร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทย-เยอรมัน มีท โปรดักท์ จำกัด หรือพูดให้เข้าใจง่าย เธอคือหลานสาวของผู้ก่อตั้งกิจการผลิตเนื้อสัตว์แปรรูปจำพวกไส้กรอก แฮม เบคอนที่คนกินชาวไทยคุ้นเคยที่สุดเจ้าหนึ่ง นั่นเป็นเพราะผลิตภัณฑ์ของ TGM อย่างแฮมเนื้อนุ่มอาจซ่อนอยู่ในไส้ขนมปังตามร้านเบเกอรีเจ้าประจำของเรา เบคอนชิ้นโตของที่นี่อาจอยู่รอเราในเตาปิ้งย่าง แม้แต่ไส้กรอกแสนอร่อยอาจเป็นมื้อเช้าของโรงแรมที่เราเข้าพักแต่เราไม่ยักรู้

ทั้งที่ผลิตภัณฑ์ของ TGM เป็นทั้งวัตถุดิบให้คนกินหลายต่อหลายมื้อ เป็นทั้งคู่ค้าของธุรกิจอาหารและเครือโรงแรมมามากมาย และกิจการทำไส้กรอกแห่งนี้ยืนระยะผ่านเวลามาครบ 60 ปี นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโดยคุณตา ส่งต่อให้คุณพ่อ คุณแม่ และดำเนินมาถึงรุ่นปัจจุบัน ภายใต้การดูแลของบุคคลที่พนักงานทั้งในบริษัทและโรงงานเรียกเธอว่า คุณอ้อย คงไม่เกินไปนักหากจะนิยามว่าเป็นธุรกิจที่อยู่คู่คนไทยมาเนิ่นนาน แต่คนกินกลับไม่ค่อยรับรู้เรื่องราวของที่นี่ บางคนอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นธุรกิจครอบครัวของคนไทย

ได้โอกาสทั้งที TGM เปิดโรงงานต้อนรับเราขนาดนี้ ชวนเข้ามาทำความรู้จักและไขสูตรลับว่าอะไรทำให้ TGM มีลูกค้ามายาวนานกว่า 6 ทศวรรษ ไปพร้อม ๆ กัน

จันทนา พัวพัฒนขจร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทย-เยอรมัน มีท โปรดักท์ จำกัด
Thai-German Meat แบรนด์ไส้กรอกพรีเมียมอายุ 60 ปี ถ้อยทีถ้อยอาศัยแบบไทย ตรงไปตรงมาแบบเยอรมัน

ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไทยซอสเซส ตราหมูสองตัว

กิจการทำไส้กรอกแห่งนี้มีความยาวย้อนกลับไปตั้งแต่ พ.ศ. 2506 บนตึกแถว 1 คูหา ริมถนนสาทรใต้ ในชื่อ ‘ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไทยซอสเซส ตราหมูสองตัว’ ดำเนินกิจการโดยคนเพียง 4 คนที่ล้วนเป็นคนในครอบครัว ประกอบด้วย คุณตา คุณยาย คุณพ่อ คุณแม่ (ตามคำเรียกของคุณอ้อย ผู้บริหารคนปัจจุบัน) 

เรื่องราวเริ่มต้นจากคุณตา ผู้มีตำแหน่งเถ่าชิ้วใหญ่ (เชฟมือหนึ่งในภาษาจีนแต้จิ๋ว) ในโรงงานไส้กรอกของนายห้างฝรั่งมาก่อน พอสั่งสมประสบการณ์ทางไส้กรอกไว้นานปี เลยชักชวนคุณพ่อ ซึ่งเป็นลูกมือบดหมูออกมาเปิดร้านด้วยกัน ในจังหวะที่คุณพ่อเริ่มไปมาหาสู่กับคุณแม่ 

“ตอนนั้นคุณพ่อจีบคุณแม่แล้ว คุณตาก็เริ่มมองเห็นภาพอนาคตที่จะสร้างครอบครัวด้วยกัน เลยชวนคุณพ่อที่เป็นลูกมือช่วยบดหมูอยู่ตอนนั้นให้ออกมาเปิดร้านทำไส้กรอกของเราเอง เริ่มต้นธุรกิจที่มีแค่ 4 คนในครอบครัว เพราะไม่มีเงินจ้างใคร คุณตามีหน้าที่ทำไส้กรอก คุณพ่อนั่งรถเมล์ออกไปส่งลูกค้า คุณยายขายหน้าร้าน คุณแม่เตรียมวัตถุดิบอยู่หลังร้าน วันแรกขายได้ 8 กิโลก็ปิดบ้านฉลองแล้ว” 

“ลูกค้าของคุณตาเป็นชาวต่างชาติที่มาอยู่เมืองไทย เขามาซื้อไส้กรอก แฮม เบคอน ไปเป็นวัตถุดิบทำอาหารทานที่บ้าน คนไทยเห็นฝรั่งซื้อก็อยากซื้อทานบ้าง ทีนี้ไส้กรอกร้านเราก็ขายดีขึ้นเรื่อย ๆ” คุณอ้อยเริ่มต้นเล่าถึงบรรยากาศที่ได้รับรู้ผ่านเรื่องเล่าของคุณตาและคุณพ่อให้เราฟัง

ห้างหุ้นส่วนไทยซอสเซสดำเนินกิจการเรื่อยมา จากตึกแถว 1 ห้องกลายเป็น 2 จากคน 4 คนที่เป็นคนในครอบครัวมามีพนักงานหลักหน่วย ทยอยเพิ่มเป็นหลักสิบ กระทั่งถนนสาทรขอเวนคืนพื้นที่ทำทางด่วน ธุรกิจเลยได้จังหวะขยับขยายร้านและเติบโตไปเป็นโรงงานขนาดเล็กย่านสาธุประดิษฐ์ใน พ.ศ. 2515

Thai-German Meat แบรนด์ไส้กรอกพรีเมียมอายุ 60 ปี ถ้อยทีถ้อยอาศัยแบบไทย ตรงไปตรงมาแบบเยอรมัน

“ธุรกิจเราเริ่มเติบโต ตอนนั้นย้ายโรงงานมาอยู่ที่นี่ (นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์ จังหวัดฉะเชิงเทรา) ประกอบกับเป็นช่วงที่คุณพ่อบินไปดูเครื่องจักรที่เยอรมนี เลยมีโอกาสได้เจอกับ มิสเตอร์รอล์ฟ เชเฟอร์ (Rolf Schäfer) เจ้าของร้านบุชเชอร์ชาวเยอรมัน เขาพูดไทยไม่ได้ คุณพ่อก็พูดเยอรมันไม่ได้ แต่คุยกันยังไงไม่รู้ คุณพ่อได้รับคำชวนให้ไปเที่ยวที่ร้านไส้กรอกของเขา พอไปถึงเห็นคนงานกำลังตีไส้กรอกกันอยู่ คุณพ่อก็ทำท่าทางว่าขอลองทำด้วยได้ไหม แล้วคุณพ่อก็ถอดสูทออก มิสเตอร์เชเฟอร์ไปเอาผ้ากันเปื้อนมาให้คุณพ่อใส่”

จุดเริ่มต้นของ ไทย-เยอรมัน มีท โปรดักท์ อยู่ตรงนี้ ไม่แน่ใจว่าด้วยเหตุผลอะไรที่คุณลุงสูงวัยชาวเยอรมันกับคุณพ่อของคุณอ้อยกลายเป็นเพื่อนกัน ทั้งที่ทั้งสองไม่เคยรู้จักกันมาก่อน คุยกันไม่เข้าใจภาษาด้วยซ้ำ แต่ไม่นานจากนั้น มิสเตอร์เชเฟอร์ก็ยืนยันว่าต้องการถ่ายทอดวิชาทำไส้กรอกให้ครอบครัวของเธอ เขาเลือกเดินทางมาเมืองไทยตามคำชวน เริ่มต้นเข้ามาช่วยดูโรงงาน และถ่ายทอดวิชาต่าง ๆ ให้กับครอบครัวคนทำไส้กรอกชาวไทยโดยไม่รับเงินสักบาท เพียงแต่ต้องการส่งต่อวิชาของเขาให้กับคนที่วางใจได้ เนื่องจากธุรกิจของเขาไร้คนสืบทอด 

“เราต่างก็ซัพพอร์ตกันมาตลอด เป็นเวลาสิบ ๆ ปีที่เขาไปมาหาสู่กับครอบครัวของเรา จนตอนหลังที่ธุรกิจเราดีขึ้น ครอบครัวเราเลยตกลงกันปลูกบ้านให้ในพื้นที่ของเรา เพราะถึงตอนนี้เราก็รักเขาเหมือนคนในครอบครัวเราคนหนึ่ง”

นั่นคือจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ที่มาของสโลแกน ‘รสชาติมีระดับ ต้นตำรับเยอรมัน’ คือการร่วมทุนกับ Schäfer Fleischwaren GmbH of Mannheim บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้อสัตว์แปรรูปจากเยอรมนีเข้ามาทำหน้าที่ Master Butcher ใน พ.ศ. 2536

Thai-German Meat แบรนด์ไส้กรอกพรีเมียมอายุ 60 ปี ถ้อยทีถ้อยอาศัยแบบไทย ตรงไปตรงมาแบบเยอรมัน

จากเครื่องหมายการค้าหมูสองตัวมาสู่ไส้กรอกพรีเมียมสวมมงกุฎ TGM 

พักเรื่องราวยุคคุณตาและคุณพ่อไว้ตรงนี้ ตัดภาพมาสู่ยุคของคุณอ้อยที่เข้ามาสานต่อธุรกิจตกทอด เธอเริ่มจากการเป็นฝ่ายขายให้บริษัท โดยอาศัยการขับรถไปเที่ยวต่างจังหวัดในวันหยุดสุดสัปดาห์เป็นสถานที่ฝึกวิชาค้าขาย หรือพูดง่าย ๆ คือคุณอ้อยไปเที่ยวทั่วไทยแบบพกไส้กรอกติดรถไปด้วย และจอดแวะตามโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร เพื่อขอเข้าไปนำเสนอสินค้าแบบได้กำไรกลับมาเล็ก ๆ น้อย ๆ พอให้ชื่นใจ

“ตอนนั้นเป็นลักษณะซื้อสินค้าของคุณพ่อไปขาย แล้วกำไรเป็นของเรา เหมือนกับสอนทางอ้อมให้รู้จักค้าขาย ช่วงแรก ๆ ยังไม่กล้าขาย กลัวเขาไม่ซื้อ แต่แฟนเราดันหลังเราเข้าไป เขาบอกว่าพูดไปเถอะ ไม่ต้องเสียเงินค่าพูดสักบาท ลูกค้าไม่ซื้อก็ไม่เสียหายอะไร กลายเป็นว่าทุกอาทิตย์ที่ออกไปขายในต่างจังหวัดเราเริ่มได้กำไรกลับมา ตัวเลขดีขึ้นเรื่อย ๆ 

“พอแต่งงาน เราก็เริ่มมารับตำแหน่งฝ่ายขายแบบเต็มตัว เปิดเป็น บริษัท ไทยซอสเซส มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ขึ้นมาเพื่อขายผลิตภัณฑ์ของที่บ้าน ตอนนั้นคุณพ่อวางมือเรื่องงานขาย หันไปดูการผลิตอย่างเดียว เรากับสามีก็ขนของไปออกบูทในห้าง ตอนนั้นเราเป็นเจ้าแรกเลยนะที่เอาไส้กรอกมาหั่นเป็นชิ้นพอดีคำให้คนชิมก่อนค่อยตัดสินใจซื้อ แต่ตอนที่ลูกค้ากำลังเคี้ยว เราก็ปิดการขายได้ตลอด ส่วนสามีเป็นคนยืนพูดนาทีทอง ตอนนั้นเราขายเองและขายดีจนทางห้างเห็นความตั้งใจของเรา เราก็ได้เริ่มเข้าไปวางขายในห้าง” เมื่อเล่าย้อนอดีตถึงตรงนี้ คุณอ้อยยิ้มภูมิใจ ก่อนจะเล่าต่อไป

Thai-German Meat แบรนด์ไส้กรอกพรีเมียมอายุ 60 ปี ถ้อยทีถ้อยอาศัยแบบไทย ตรงไปตรงมาแบบเยอรมัน
Thai-German Meat แบรนด์ไส้กรอกพรีเมียมอายุ 60 ปี ถ้อยทีถ้อยอาศัยแบบไทย ตรงไปตรงมาแบบเยอรมัน

“เรียกได้ว่าเราทำเองทุกขั้นตอน ก่อนจะมาบริหารคนได้ เราต้องรู้ด้วยตัวเองก่อนว่าการยืนตั้งแต่ห้างเปิดถึงห้างปิดเมื่อยแค่ไหน การขายสินค้ามีความยากง่ายอย่างไร เราต้องรู้ตรงนี้ก่อนถึงจะไปบริหารบุคลากรของตัวเองได้” 

สั่งสมประสบการณ์งานขายจนสุดขีด ต่อมาเครื่องหมายการค้าหมูสองตัวก็ได้ฤกษ์แตกไลน์มาสวมมงกุฎในนาม TGM จากการที่คุณอ้อยบินไปดูงานต่างประเทศบ่อยเข้าและพบว่าที่นั่นที่นี่มีไส้กรอกหลากหลายวางขายเป็นตัวเลือก แต่ที่เมืองไทยยังไม่มีใครเสนอทางเลือกเหล่านั้น เธอเลยตัดสินใจว่าทำไส้กรอกแบบที่เธอนิยามว่าพรีเมียมขึ้นมา เพราะอยากให้คนไทยเข้าใจความแตกต่างระหว่างไส้กรอกสีแดงสดกับไส้กรอกแบบพรีเมียมมากขึ้น โดยความคิดนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากมิสเตอร์เชเฟอร์ เขาใช้ประสบการณ์ทั้งหมดที่มีเข้ามาช่วยแนะนำ จัดหาเครื่องจักรคุณภาพดี อุปกรณ์ที่เห็นว่าได้มาตรฐานแต่ราคาคุ้มค่าให้กับเรา

“เรายังรักษาแบรนด์ดั้งเดิมของเราเอาไว้ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสแตนดาร์ด เราใช้โลโก้หมูสองตัว ส่วนที่เป็นพรีเมียมจะทำภายใต้แบรนด์ TGM ซึ่งเป็นชื่อย่อมาจากชื่อบริษัท ส่วนชื่อบริษัทก็ไม่ได้คิดเยอะ คุณพ่อเราเป็นคนไทย มิสเตอร์เชเฟอร์เป็นคนเยอรมัน ถ้าอย่างนั้นก็ใช้ชื่อ บริษัท ไทย-เยอรมัน มีท โปรดักท์ จำกัด แล้วกัน” 

การทำไส้กรอกพรีเมียมออกขายในราคาที่สูงกว่าไส้กรอกในท้องตลาดตอนนั้น รวมถึงแบรนด์หมูสองตัวของครอบครัวด้วย แน่นอนว่าไม่ง่ายและย่อมมีเสียงคัดค้าน

“ตอนนั้นไส้กรอกกิโลกรัมละ 45 บาท แต่พอทำพรีเมียมต้องขายกิโลกรัมละ 100 กว่าบาท คุณพ่อกังวลว่าจะขายได้ไหม เราก็ให้เหตุผลว่าถ้าไม่ได้เริ่มวันนี้ เมื่อไหร่จะได้เปลี่ยนแปลง เราไปเมืองนอกก็เห็นว่าเขาขายได้ เขามีทางเลือกให้ผู้บริโภคได้ทานของคุณภาพดี เราจึงคิดที่จะเริ่มทำ 

“สิ่งสำคัญคือเราต้องทำให้คนกินเห็นถึงความแตกต่างระหว่าง 45 บาท กับ 100 กว่าบาทให้ได้ ทั้งวัตถุดิบที่คัดมาอย่างดี สัดส่วนของเนื้อหมูที่ใช้ กินแล้วต้องรู้สึกถึงความแตกต่าง ซึ่งตรงนี้ลูกค้าจะเป็นคนให้คำตอบกับเราเอง”

Thai-German Meat แบรนด์ไส้กรอกพรีเมียมอายุ 60 ปี ถ้อยทีถ้อยอาศัยแบบไทย ตรงไปตรงมาแบบเยอรมัน

4 สูตรลับฉบับ TGM 

ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้นธุรกิจดำเนินมาจนถึงปีที่ 60 สิ่งที่คุณอ้อยยึดถือไว้เสมอคือคำพูดสั้น ๆ ของคุณตา จะทำอะไรก็ขอให้ทำแบบที่ลูกหลานกินได้ หมายความว่า ลูกค้าก็เหมือนคนในครอบครัว ขอให้ทำของดี มีคุณภาพ และปลอดภัยกับคนกิน ทำให้ถึงวันนี้ TGM จะมีโปรดักต์กว่า 200 ชนิด แต่การรักษาคุณภาพยังคงเดิม กับราคาที่เข้าใจได้ และความอร่อยเหมือนเดิม 

  1. คัดวัตถุดิบคุณภาพดีจากฟาร์มแห่งต่าง ๆ : ขั้นตอนแรกที่สำคัญที่สุด คือวัตถุดิบต้องมีคุณภาพดี เชื่อถือได้ โดยบริษัทคัดเลือกซัพพลายเออร์ต่าง ๆ ที่ได้รับการรับรองระบบความปลอดภัยด้านอาหาร ที่สำคัญโรงงานแห่งนี้มีห้องแล็บสำหรับตรวจคัดกรองเนื้อหมูที่เข้ามาส่งในแต่ละวัน คัดแยกและเก็บข้อมูลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้หมูกว่า 12,000 – 15,000 กิโลกรัมที่เข้ามาในแต่วันถูกตรวจสอบทั้งทางด้านชีวภาพและกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของเนื้อ สี กลิ่น สิ่งแปลกปลอม สารปนเปื้อน หรือจุลินทรีย์ต่าง ๆ จนมั่นใจได้ว่าวัตถุดิบได้มาตรฐานจึงทำการจัดเก็บต่อไป
  1. ไส้กรอกดีต้องไม่หวงเครื่องเทศ : เครื่องเทศกว่า 18 ชนิดที่ TGM เลือกใช้นำเข้าจากแหล่งปลูกในหลากหลายประเทศ โดยมีเยอรมนีเป็นศูนย์กลางในการปรุงรสและบรรจุเครื่องเทศหลากถิ่นส่งมาให้ เลยมั่นใจได้ทั้งความสะอาด ความเข้มข้น ความแห้ง และกลิ่นหอมที่ยังอยู่ครบ เครื่องเทศทั้งหมดถูกส่งมาผสมตามสูตรที่ TGM กำหนดไว้ ตรงนี้คือจุดสำคัญที่ทำให้ได้รสชาติและคุณภาพที่คงเดิม
  1. ไม้จากป่าธรรมชาติมารมควันให้กลิ่นหอม : กลิ่นที่หอมเตะจมูกกับสีสันที่ส่งเสริมให้ไส้กรอกแบรนด์ TGM ดูน่ากิน ไม่ได้ใส่สีหรือแต่งกลิ่นสังเคราะห์ขึ้นมาแต่อย่างใด เคล็ดลับคือการอบด้วยไม้จากแหล่งปลูกธรรมชาติที่ถูกกฎหมายด้วย คำนึงถึงทั้งอายุของไม้ที่ตัดได้ ขนาดที่ได้มาตรฐาน และต้องปลูกทดแทนเสมอ ผ่านการรับรอง FSC (Forest Stewardship Council ไม้จากป่าธรรมชาติที่มีการปลูกทดแทนด้วยระบบการบริหารจัดการอย่างยั่งยืน) นำเข้าจากเยอรมนีมาใช้ในกระบวนการรมควันด้วยเครื่องจักรระบบออโตที่รับเอาแต่ควันเข้ามาใช้ ส่วนเขม่าจะถูกแยกออกไปอีกทาง ไม่ให้มาปนเปื้อนกับอาหาร
  1. ความกรอบจากไส้ธรรมชาติ : ความอร่อยของไส้กรอกคือการที่กัดลงไปแล้วได้รับความกรุบกรอบ ซึ่งมีไส้ที่เอาไว้กรอกเป็นหัวใจสำคัญ เราจะเห็นว่าไส้กรอกตามท้องตลาดมีทั้งแบบที่เป็นเซลลูโลสหรือพลาสติกที่ต้องปอกออกก่อนกิน ไส้คอลลาเจนที่ให้ความกรอบ แต่อาจเหนียวนิด ๆ และไส้จากสัตว์หรือไส้ธรรมชาติ โดย TGM เลือกใช้ไส้ธรรมชาติ คือไส้แกะกับไส้หมูที่แม้ต้นทุนสูงกว่า แต่มั่นใจได้ว่าแค่โยนลงไปต้มน้ำร้อนก็กรอบอร่อยโดยธรรมชาติ ไม่ต้องเสริมเติมแต่งสารอะไรลงไป

ถ้อยทีถ้อยอาศัยแบบไทย ตรงไปตรงมาแบบเยอรมัน 

เมื่อเราถามถึงเคล็ดลับมัดใจคู่ค้า หรือการเข้าหาพาร์ตเนอร์อย่างไรให้ถูกเลือก คุณอ้อยตอบทันทีว่าเธอใช้เพียงความจริงใจ และด้วยความที่คลุกคลีกับชาวเยอรมันมาตลอดการทำธุรกิจ เธอรับเอานิสัยตรงไปตรงมา ชัดเจน ติดตัวมาเต็ม ๆ ซึ่งสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ ขณะเดียวกันเธอยังมีความถ้อยทีถ้อยอาศัยแบบไทย ๆ เรียกได้ว่าเป็นหลักสูตรการบริหารที่ผสมผสานลักษณะของ 2 ชาติอย่างลงตัวไม่แพ้สูตรไส้กรอกฉบับไทย-เยอรมัน

“กับตัวแทนจำหน่ายเจ้าต่าง ๆ เราปฏิบัติต่อกันเหมือนเพื่อนคู่คิด คือเจอกันบ่อย ๆ พูดคุยกันได้ มีปัญหาอะไรก็ต่อรองกันได้ มีความยืดหยุ่นให้แก่กัน ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันมาตลอด ที่สำคัญอีกอย่างคือคุณภาพสินค้า เราต้องทำให้คู่ค้าเชื่อในสินค้าของเราจริง ๆ เวลาที่เขาเอาไปถ่ายทอดต่อก็จะเป็นไปโดยธรรมชาติจากความรู้สึกของเขาจริง ๆ 

“ส่วนกับพาร์ตเนอร์ เรามีอยู่หลากหลายแบรนด์ แต่ขอเล่าถึง Bar B Q Plaza เขาเลือกใช้เบคอนของเราและมาร่วมพัฒนาโปรดักต์ใหม่ด้วยกัน คือเยอรมันเบคอน”

ไม่เพียงเบคอนจะเป็นหนึ่งในเมนูซิกเนเจอร์ของ Bar B Q Plaza ด้วยคุณภาพของวัตถุดิบกับรสชาติอร่อยกลมกล่อม มีกลิ่นรมควันแบบธรรมชาติ ต่อมาคู่ค้าทั้งสองก็ร่วมกันพัฒนา ‘เยอรมันเบคอน’ ชิ้นใหญ่เต็มคำ ซึ่งได้กลายเป็นเมนูยอดฮิตของร้านนับตั้งแต่วันที่เปิดตัว

“การทำให้คนที่อยู่ตรงหน้ามีปัจจุบันที่ดีที่สุด เป็นสิ่งที่ Bar B Q Plaza เราเชื่อมั่นและยึดถือมาโดยตลอด มาจากแนวคิดที่ว่า ‘ทำมื้อนี้ให้ดีที่สุด’ ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ไหนในชีวิต การที่เราโฟกัสกับปัจจุบัน และทำสิ่งนั้นให้เต็มที่ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาล้วนดีเสมอ แม้แต่โมเมนต์ที่คุณกำลังปิ้งย่างอยู่ในร้านของเรา เราก็อยากมอบประสบการณ์มื้ออาหารที่ดีที่สุดแก่คุณ หน้าที่ของเราคือคัดสรรวัตถุดิบคุณภาพดีและมีเอกลักษณ์เพื่อมาเติมเต็มมื้ออาหารนั้นให้สมบูรณ์ เป็นมื้อที่ดีที่สุดที่เราจะทำได้” คุณชนินทร์ ชูพจน์เจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และการผลิต บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด เล่าจุดยืนและความเชื่อของแบรนด์

นับว่าเป็นคู่ค้าที่ค้าขายกันมาตลอด เนื่องจาก TGM ซัพพอร์ตตอบโจทย์ต่าง ๆ ของ Bar B Q Plaza ได้บนพื้นฐานของคุณภาพและราคาที่เหมาะสม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยความน่าเชื่อถือและการวางแผนที่ดี 

“เป็นธรรมดาที่ว่าจะมีคนเข้ามาเสนอขายแข่งตลอด แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล เพราะแม้เราจะราคาสูงกว่าเล็กน้อย แต่มาตรฐานเราคงที่ เซอร์วิสไม่มีปัญหา คู่ค้าก็มั่นใจที่จะเลือกเรา ที่จริง Bar B Q Plaza แวะเวียนมาตรวจสอบโรงงานอยู่เรื่อย ๆ เราเองก็ตรวจสอบด้วยการหมั่นไปชิมเบคอนที่ร้าน และทุกครั้งที่ไปก็ได้เห็นสินค้าของเราทำหน้าที่ ‘มื้อที่ดีที่สุด’ ได้อย่างเต็มที่ ดีใจที่มีส่วนร่วมสร้างประสบการณ์วันธรรมดาที่พิเศษแก่ลูกค้า Bar B Q Plaza ทุกคน”

วัตถุดิบจาก TGM ของร้าน Bar B Q Plaza

“อีกเจ้าคือ Rain Tree Residence ของนานมีบุ๊คส์ (บริหารโดย เจน จงสถิตย์วัฒนา ทายาทรุ่นสอง) อันนี้ก็เป็นพาร์ตเนอร์กับเรามาตั้งแต่เปิดโรงแรมวันแรก เริ่มจากความมีมิตรไมตรีต่อกันระหว่างเรากับคุณแม่คุณเจน (สุวดี จงสถิตย์วัฒนา ผู้ก่อตั้งนานมีบุ๊คส์) แต่คุณภาพของโปรดักต์เราก็ต้องรักษาให้ได้คงเดิมด้วย ไม่อย่างนั้นเพื่อนคงไม่ซื้อจากเราแล้ว” คุณอ้อยเล่าถึงพาร์ตเนอร์ที่น่ารักด้วยรอยยิ้ม

Rain Tree Residence เป็นลูกค้าและพาร์ตเนอร์คนสำคัญของ TGM มากว่า 7 ปีแล้ว เริ่มต้นจากเป็นลูกค้าทานเองจริง ๆ ที่บ้าน จนกระทั่งเปิดโรงแรม สร้างพื้นที่พักผ่อนให้ครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพ ก็ตั้งใจมอบสิ่งดี ๆ ให้ลูกค้าที่มาพักทุกคน

“ลูกค้ามักออกปากชมว่าไส้กรอกกับเบคอนของเราอร่อย พวกเขาบอกเสมอว่าสัมผัสได้ถึงความใส่ใจเพราะใช้ของดี แค่ได้ยินว่าลูกค้าชอบสิ่งที่เราเลือกมา เราก็มีความสุขแล้วค่ะ แม้เมนูของเราจะไม่หลากหลาย แต่เราคัดสรรและใส่ใจในวัตถุดิบ จริง ๆ ผลิตภัณฑ์ของ TGM มีเยอะมาก เราเริ่มจากคุยกับเขาว่าเราอยากลองทำเมนูไหน ทาง TGM ก็ใส่ใจและให้คำแนะนำอย่างดี พร้อมส่งสินค้ามาให้ชิมถึงที่ ไม่เหมือนเจ้าอื่นที่เราเคยทำงานด้วย” คุณเจน ผู้เป็นเจ้าของเล่าให้เราฟังถึงความรู้สึกที่ทำงานร่วมกัน ซึ่งคล้ายกับแนวคิดของ TGM ที่อยากทำให้ดีที่สุดเพื่อทุกวันที่ดีขึ้น

เมื่อเราถามถึงคู่ค้าเจ้าเล็กเจ้าน้อยอย่างร้านเครป ร้านเบเกอรีที่ใช้ผลิตภัณฑ์ TGM คุณอ้อยให้คำตอบด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า ไม่ว่าเจ้าเล็กหรือเจ้าใหญ่แค่ไหน เธอดูแลลูกค้าเหมือนกัน แถมยังย้ำกับทีมขายเสมอว่า ทำการค้ากับร้านค้าเล็ก ๆ ออร์เดอร์อาจดูไม่หวือหวา แต่เราเก็บเล็กผสมน้อยได้ทั้งนั้น TGM เองจำเป็นต้องมีคู่ค้าที่หลากหลาย เผื่อหากเกิดวิกฤตขึ้นมา บริษัทยังมีทางไปต่อได้ ซึ่งเหตุการณ์ที่ยืนยันว่าเธอคิดถูก คือวิกฤตโควิดที่ผ่านมา พาให้ยอดสั่งซื้อจากโรงแรมและสายการบินกลายเป็นศูนย์ แต่ตัวเลขกลับไม่ตกลงไป เพราะมียอดสั่งจากห้างสรรพสินค้าและร้านอาหารเจ้าเล็ก ๆ ที่เพิ่มขึ้นมาทดแทน

เมนูอาหารที่ใช้ผลิตภัณฑ์ TGM ของโรงแรม Rain Tree Residence

ทำทุกวันให้เป็นวันพิเศษ’ แคมเปญแรกในรอบ 60 ปี

อย่างที่เกริ่นไปแต่ต้นว่าเราต่างเป็นลูกค้าของ TGM โดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว เพราะแบรนด์ยืนระยะมายาวนานกับประสบการณ์ 60 ปี แต่เรากลับไม่ค่อยผ่านหูผ่านตาโฆษณาจากแบรนด์นี้นัก เลยอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมจู่ ๆ แบรนด์ถึงอยากสื่อสารกับคนกิน

“แคมเปญ ‘ทำทุกวันให้เป็นวันพิเศษ The Great Memorable Moment’ ของเรามาจากความเชื่อว่าการได้ทานอาหารที่ดี จากวัตถุดิบดี ๆ จะสร้างวันธรรมดาให้กลายเป็นวันพิเศษที่น่าจดจำขึ้นมาได้ แคมเปญนี้เราแค่อยากเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างช่วงเวลาดี ๆ ให้ทุกคน ด้วยวัตถุดิบที่ดีของ TGM เราแค่อยากหยิบโปรดักต์มาให้ลูกค้าเลือกไปกินเพื่อสร้างช่วงเวลาพิเศษของตัวเอง โดยจัดเป็นเซตพิเศษให้ เหมือนเป็นการขอบคุณลูกค้าที่สนับสนุนเรามาตลอดเท่านั้นเอง

“เมื่อก่อนเราอาจบอกเล่าให้ลูกค้าฟังได้ว่าร้านเราเป็นยังไง ทำอะไรบ้าง ด้วยมาตรฐานแบบไหน เหมือนเป็นการบอกเล่าแบบปากต่อปาก ทำให้ตลอดเวลาที่ผ่านมา TGM ไม่เคยมีงบสำหรับการสื่อสาร ทุกบาททุกสตางค์ทุ่มไปที่การสร้างโรงงาน ซื้อเครื่องจักร และดูแลบุคลากรทั้งหมด แต่วันนี้ธุรกิจเติบโตมาถึงขนาดนี้ เราคงบอกทุกคนไม่ได้ด้วยตัวเองอีกต่อไป เลยจำเป็นต้องใช้สื่อในการสื่อสารออกไปให้คนรู้ว่าที่เรายืนอยู่ได้ 60 ปีโดยไม่ได้โฆษณาหรือออกมาบอกเล่าอะไรมากมาย เพราะเราเชื่อมั่นว่าเรายืนหยัดมาได้ด้วยคุณภาพ

“ทำให้ดีที่สุดสำหรับคนในครอบครัว อะไรที่เราไม่กล้ากิน เราก็ไม่กล้าทำขาย คติของบริษัทมีอยู่ง่าย ๆ แค่นี้”

Lessons Learned

  • ดูแลลูกค้า คู่ค้า และพนักงานด้วยความจริงใจ ตรงไปตรงมา แต่ยังคงความถ้อยทีถ้อยอาศัย ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเสมอ ถึงจะอยู่ได้ยาวนาน
  • อย่าหมิ่นเงินน้อย คำนี้ยังใช้ได้กับทุกยุคทุกสมัย ควรให้บริการทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่ว่าเจ้าเล็กเจ้าใหญ่ เพราะเมื่อเกิดวิกฤต บางครั้งการเก็บเล็กผสมน้อยจะพาให้ธุรกิจรอดได้จริง
  • การรักษาคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญในการประกอบธุรกิจอาหาร ทำของขายให้เหมือนกับที่ทำกินกันภายในครอบครัว อะไรที่ไม่กล้ากิน ก็อย่าไปทำขายให้คนอื่น

Writer

ใหม่ ศุภรุจกิจ

ใหม่ ศุภรุจกิจ

เคยเป็นกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ตอนนี้เป็นนักเขียน สัมภาษณ์ ที่อิสระและจ้างได้

Photographer

Avatar

ณัฎฐาจิตรา ชินารมย์รัตน์

ช่างภาพที่ชอบการแต่งตัว อยู่กับเสียงเพลงและหลงรักในความทรงจำ