นานมีบุ๊คส์ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2535 โดยคุณแม่ สุวดี จงสถิตย์วัฒนา เป็นการต่อยอดธุรกิจจากบริษัท นานมี จำกัด ซึ่งก่อตั้งโดยอากง ทองเกษม สุพุทธิพงศ์ เมื่อปี พ.ศ. 2492 ที่ทำธุรกิจร้านหนังสือจีนก่อนเติบโตด้วยธุรกิจเครื่องเขียน

นานมีบุ๊คส์เริ่มต้นมาจากความตั้งใจที่อยากจะพัฒนาการศึกษา ตั้งแต่เด็กๆ อากงก็จะคอยบอกเสมอว่า การศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และคุณแม่เองก็ยึดตรงนี้เป็นหลักในการทำงานตลอด” เจน จงสถิตย์วัฒนา เล่าถึงความตั้งใจของครอบครัวที่ส่งต่อมาถึงเธอในฐานะทายาทรุ่นสอง ผู้รับหน้าที่ดูแล Rain Tree Residence โรงแรมสำหรับคนรักหนังสือ หนึ่งในการต่อยอดธุรกิจชนิดที่ข้ามสายงานเดิมมาไกลโข

Raintree Residence โรงแรมของคนรักหนังสือในมือทายาทรุ่น 3 สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, เจน จงสถิตย์วัฒนา

จากสำนักพิมพ์ที่อยากพัฒนาการศึกษา พัฒนามาสู่ธุรกิจโรงแรมได้อย่างไร

คนส่วนมากอาจรู้จักนานมีบุ๊คส์ในฐานะผู้แปลและถือลิขสิทธิ์ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ฉบับภาษาไทย แต่ใครที่เติบโตมากับผลงานยุคบุกเบิกของนานมีบุ๊คส์ ย่อมคุ้นเคยกับชุดหนังสือเสริมความรู้ ที่กลายเป็นของคู่ชั้นหนังสือในห้องสมุดโรงเรียนหลายแห่งทั่วประเทศ

ด้วยความเชื่อที่มีต่อพลังของการอ่าน และความมุ่งมั่นที่อยากให้การศึกษาได้เดินต่อไปข้างหน้า สิ่งที่นานมีบุ๊คส์ตั้งใจทำจึงไม่ใช่แค่การพิมพ์หนังสือ แต่ยังทำงานร่วมกับโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรอื่นๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศ

28 ปีผ่านไปนับจากวันแรกที่เปิดสำนักพิมพ์ นานมีบุ๊คส์ทำความตั้งใจนั้นจนสำเร็จ โดยมีปรากฏการณ์มากมายในวงการหนังสือไทยเป็นเครื่องยืนยัน เริ่มตั้งแต่ความนิยมชนิดถล่มทลายของ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ในประเทศไทย ที่ช่วยปลุกวงการวรรณกรรมให้คึกคักอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรือกระแสการ์ตูนความรู้ที่ได้ลิขสิทธิ์มาจากเกาหลี ซึ่งช่วยเปลี่ยนภาพจำเดิมๆ ของการ์ตูน มาสู่หนังสือที่ทั้งสนุกและได้ความรู้ในเวลาเดียวกัน

และเมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล นานมีบุ๊คส์ที่นำทีมโดยทายาทรุ่นสองอย่างเจน และ คิม จงสถิตย์วัฒนา พี่สาวของเธอ ก็เลือกที่จะปรับตัวและขยายไปสู่ธุรกิจอื่นๆ เพื่อช่วยสนับสนุนการศึกษาในแนวทางใหม่ๆ ที่ไม่ได้อยู่แค่บนหน้าหนังสืออีกต่อไป 

หนึ่งในนั้นคือโรงแรมคอนเซปต์ชัดอย่าง Rain Tree Residence โรงแรมที่ออกแบบโดยคนรักหนังสือ เพื่อคนรักหนังสืออย่างแท้จริง เพราะนอกจากห้องพักจำนวน 51 ห้อง ที่ตกแต่งในธีม 51 นักเขียนของนานมีบุ๊คส์และธีมหนังสือแสนสนุกแล้ว ทุกมุมในโรงแรมก็ยังมีชั้นหนังสือและมุมอ่านหนังสือ พร้อมให้คุณเอนหลังอ่านได้ตลอดเวลา

แล้วโรงแรมแห่งนี้ จะย้อนกลับไปช่วยพัฒนาการศึกษา ที่เป็นหัวใจของนานมีบุ๊คส์ได้อย่างไร

Raintree Residence โรงแรมของคนรักหนังสือในมือทายาทรุ่น 3 สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, เจน จงสถิตย์วัฒนา

เพื่อตอบคำถามนี้ The Cloud อยากชวนคุณขึ้นรถ ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ตำบลพญาเย็น อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา แล้วค่อยๆ ทำความรู้จักตัวตนของนานมีบุ๊คส์ผ่านคำบอกเล่าของเจน ทายาทผู้รับช่วงต่อในการดูแลโรงแรม บทสนทนาของเราย้อนไปถึงวันแรกของธุรกิจร้านหนังสือจีนบนถนนเจริญกรุง สู่การเปิดสำนักพิมพ์ และอีกมากมายหลายโครงการที่ตามมาหลังจากนั้น

ธุรกิจ : นานมีบุ๊คส์ (พ.ศ. 2535) และโรงแรมเรนทรี เรซิเดนซ์ เขาใหญ่ (พ.ศ. 2561)

ประเภท : สำนักพิมพ์

อายุ : 28 ปี

เจ้าของและผู้ก่อตั้ง : สุวดี จงสถิตย์วัฒนา 

ทายาทรุ่นสอง : คิม จงสถิตย์วัฒนา และ เจน จงสถิตย์วัฒนา 

องก์ 1 นานมีบุ๊คส์และการต่อยอด

ร้านหนังสือจีน หน่ำมุ่ย

ย้อนไปราว พ.ศ. 2492 หรือประมาณ 70 ปีก่อน ทองเกษม สุพุทธิพงศ์ ผู้มีศักดิ์เป็นคุณตาของเจน ได้ตัดสินใจอพยพย้ายถิ่นฐานจากเมืองจีนมาสู่ประเทศไทย เช่นกันกับคนจีนอีกจำนวนมากในยุคนั้น

“อากงหนีความยากจนจากประเทศจีนมาตั้งแต่อายุ 10 กว่าปี มาเป็นกรรมกรยกของในร้านหนังสือจีน ด้วยความวิริยะอุตสาหะและรักความก้าวหน้า อากงใช้เวลาตอนกลางคืนหลังจากที่ร้านปิด หัดอ่านหนังสือด้วยตนเอง แม้ต้องจุดเทียนไขเพราะเจ้าของร้านต้องการประหยัดไฟ และจากหนังสือทำให้ได้ความรู้ต่างๆ มากมาย ทั้งประวัติศาสตร์และประวัติบุคคลสำคัญของโลก จากกรรมกรใช้แรงงาน อากงก็ขยับสถานะในร้านจนได้ขึ้นมาเป็นผู้จัดการร้านในที่สุด” คุณแม่สุวดี เล่าให้เราฟัง

Raintree Residence โรงแรมของคนรักหนังสือในมือทายาทรุ่น 3 สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, เจน จงสถิตย์วัฒนา

“หลังจากนั้น อากงตัดสินใจออกมาเปิดร้านหนังสือของตัวเอง และตั้งชื่อว่า ‘หน่ำมุ่ย’ เป็นภาษาแต้จิ๋ว แปลว่าความงามทางตอนใต้ ก็เหมือนกับเมืองไทยที่เป็นความงามและตั้งอยู่ทางทิศใต้ของประเทศจีน” เจนอธิบายถึงที่มาที่ไปของกิจการว่าด้วยหนังสือของครอบครัว

ร้านหน่ำมุ่ย เริ่มต้นจากการนำเข้าหนังสือภาษาจีนจากฮ่องกง และแบบเรียนภาษาจีนจากประเทศสิงคโปร์ เมื่อจะทำการตลาดแบบเรียนภาษาจีน จึงต้องติดต่อกับกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ทำให้ได้รับคำแนะนำว่าควรมีชื่อบริษัทเป็นภาษาไทย ซึ่งคนที่กรมวิชาการได้กรุณานำอักษรนำของ ‘หน่ำมุ่ย’ มาเป็นชื่อไทยว่า ‘นานมี’ โดยมีความหมายว่า “ขอให้มีนานๆ”

คุณสุวดีเล่าว่า ในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยที่มีการแอนตี้คอมมิวนิสต์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจร้านหนังสือจีนไปด้วย อากงซึ่งมีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกล จึงเริ่มขยายธุรกิจไปที่เครื่องเขียน จนกลายเป็นธุรกิจหลักของนานมีมาจนบัดนี้ โดยที่อากงก็ไม่เคยทิ้งธุรกิจหนังสือจีนมาจนบัดนี้เช่นกัน

บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด 

เมื่อ สุวดี จงสถิตย์วัฒนา อดีตนิสิตคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลูกสาวคนสุดท้องของคุณทองเกษมเริ่มต้นทำงานที่ร้านหนังสือของครอบครัว เธอเริ่มจากรับหน้าที่เป็นผู้ดูแลหน้าร้าน ขณะที่ธุรกิจของครอบครัวอย่างร้านหนังสือนานมีดำเนินไป อากงก็เริ่มขยายธุรกิจมาทำสำนักพิมพ์ จัดทำหนังสือแปลวรรณกรรมจีนเรื่องดังอย่าง ไซอิ๋ว และแลหลังแดนมังกร ฉบับภาษาไทย

“หลังจากนั้นคุณแม่ก็มีความคิดว่าอยากจะแยกตัวออกมาเปิดสำนักพิมพ์เอง โดยมีจุดประสงค์คือการพัฒนาการศึกษา ซึ่งอากงก็สนับสนุน คุณแม่ก็เลยมาตั้งบริษัทเองภายใต้ชื่อ ‘นานมีบุ๊คส์’ ใน พ.ศ. 2535” ในฐานะคนที่ปักหลักอยู่หน้าร้านหนังสือมานานกว่าทศวรรษ คุณสุวดีก่อตั้งบริษัทด้วยจุดมุ่งหมายที่ชัดเจน เพราะเธอรู้ดีว่าสิ่งที่ประเทศไทยในตอนนั้นยังขาด ก็คือหนังสือสำหรับเยาวชน

Raintree Residence โรงแรมของคนรักหนังสือในมือทายาทรุ่น 3 สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, เจน จงสถิตย์วัฒนา

คำว่าเยาวชนของคุณสุวดีนั้น แน่นอนว่าครอบคลุมถึงลูกสาวทั้งสองคนในวัยประถม

“ช่วงนั้นพอเจนกับพี่คิมเลิกเรียนก็จะมานั่งเล่นที่ออฟฟิศคุณแม่ บางทีก็ได้ช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ เราก็จะคุ้นเคยกับบริษัทพอสมควร แต่ด้วยความเป็นเด็ก ในตอนนั้นเราอาจจะยังไม่เข้าใจในสิ่งที่แม่เราทำ ว่าสิ่งนี้มันเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากนะ” เจนเล่าถึงมุมมองในวัยเด็กของเธอ

ขายหนังสือด้วยกิจกรรม

สำหรับนักเรียนวิทยาศาสตร์ที่เติบโตมากับร้านหนังสืออย่างคุณสุวดี เธอเชื่อในการปลูกฝังกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ และการใช้หนังสือเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้

คุณสุวดีเล่าให้ The Cloud ฟังว่า เมื่อ 28 ปีที่แล้ว โรงเรียนและนักเรียนยังไม่เห็นความสำคัญของหนังสือเสริมความรู้ เพราะเป็นเรื่องใหม่สำหรับการศึกษาในประเทศไทย  นานมีบุ๊คส์จึงต้องใช้กลยุทธ์การอบรมครูในการใช้หนังสือเสริมความรู้มาใช้ในห้องเรียนเช่นการทดลอง การประดิษฐ์ ฯลฯ และทำกิจกรรมกับนักเรียนในโรงเรียนเพื่อสร้างเจตคติที่ดีต่อการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

“คุณแม่มองว่าวิทยาศาสตร์เป็นวิชาที่สอนให้คนรู้จักตั้งคำถาม สอนให้เราเอ๊ะกับสิ่งต่างๆ และคิดวิเคราะห์หาเหตุผลของมัน ซึ่งคุณแม่มองว่ามันเป็นทักษะสำคัญที่ทุกคนควรจะมี เพราะถ้าเราไม่ตั้งคำถามอะไรเลย เราก็จะไม่สามารถเติบโตต่อไป คุณแม่เลยอยากจะเริ่มจากตรงนี้ ด้วยการซื้อลิขสิทธิ์หนังสือเสริมความรู้จากต่างประเทศมาจัดพิมพ์เป็นภาษาไทย” แต่การตัดสินใจเปิดตลาดหนังสือเสริมความรู้ของคุณสุวดีนั้นก็มีทั้งความโชคดีและความท้าทายในขณะเดียวกัน

โชคดี เพราะตลาดนี้ยังมีคู่แข่งน้อย

ท้าทาย เพราะสังคมในตอนนั้นยังไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมเด็กๆ ถึงควรได้อ่านหนังสือเสริมความรู้

Raintree Residence โรงแรมของคนรักหนังสือในมือทายาทรุ่น 3 สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, เจน จงสถิตย์วัฒนา

“คือหนังสือเสริมความรู้เนี่ย ถ้าเอาไปตั้งไว้บนชั้นหนังสือเฉยๆ มันจะขายยากมาก ซึ่งการจะทำให้คนเข้าใจประโยชน์ของหนังสือแนวนี้ เรามองว่ามันต้องมากับกิจกรรม” เพื่อที่จะบอกโรงเรียนว่าคุณควรมีหนังสือชุดนี้ในห้องสมุด นานมีบุ๊คส์จึงส่งทีมกิจกรรมเข้าไปในโรงเรียน เพื่อโชว์ให้คุณครูและเด็กๆ ได้เห็นวิธีการใช้งานหนังสือควบคู่กับสื่อการสอนอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพและสนุกสนาน

แต่สิ่งที่ยากกว่านั้นไปอีกขั้น คือการอธิบายให้ผู้ดูแลหลักสูตรการศึกษาได้เข้าใจตรงกัน

“คือมันยากมากจริงๆ ในตอนนั้นแม้แต่กระทรวงศึกษาฯ ก็ยังไม่มองเห็นความสำคัญตรงนี้ เขามองว่าแค่หนังสือเรียนจากกระทรวงฯ ก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องมีหนังสืออ่านนอกเวลาหรือหนังสืออ้างอิงหรอก คุณแม่เลยต้องอธิบายเยอะมากว่าหนังสือของเรามันดียังไง และวิ่งเข้าออกกระทรวงเพื่อไปคุยกับฝ่ายต่างๆ”

จากการลงทุนและลงแรงของนานมีบุ๊คส์เมื่อ 28 ปีก่อน เจนยืนยันว่าทุกวันนี้แนวทางของกระทรวงศึกษาธิการก้าวหน้ากว่าเดิมไม่น้อย แม้ปัจจัยของความเปลี่ยนแปลงอาจมีมากมายจนนับไม่ถ้วน แต่ความพยายามของนานมีบุ๊คส์คือหนึ่งในนั้นอย่างไม่ต้องสงสัย

สอนให้คิดด้วยวิทยาศาสตร์

Go Genius คือความฝันของคุณแม่ ที่เขาอยากทำนิตยสารเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์” ด้วยแพสชันและอุดมการณ์ที่มีต่อวิทยาศาสตร์อย่างเต็มเปี่ยม คุณสุวดีตัดสินใจตั้งนิตยสารวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชนอย่าง Go Genius ขึ้นตั้งแต่ขวบปีแรกของนานมีบุ๊คส์ แต่สิ่งที่ตามมาก็คือความยากลำบากในทุกๆ ขั้นตอนการผลิต ถึงแม้จะมีประสบการณ์ผลิตหนังสือมากพอตัว แต่งานนิตยสารก็ยังเป็นโจทย์ใหม่สุดหินของนานมีบุ๊คส์

“ขณะที่รายได้ของหนังสือมาจากการขายหนังสือทั้งหมด แต่สำหรับนิตยสาร เราตั้งราคาอยู่ที่เล่มละสามสิบถึงสี่สิบบาท รายได้ที่เหลือต้องมาจากค่าโฆษณา ซึ่งก็หาได้ยากมาก ด้วยเนื้อหาและกลุ่มเป้าหมายที่จำกัด

“ในแง่การผลิต เราต้องพิมพ์ทีละหลายพันเล่มในทุกเดือน และคอนเทนต์ก็ต้องเปลี่ยนทุกเดือนเช่นกัน ดังนั้นเราจึงต้องมีบรรณาธิการที่ดูแลเฉพาะส่วนนิตยสาร เพราะเนื้อหานอกจากที่เราเขียนเองแล้ว บางส่วนก็ต้องซื้อลิขสิทธิ์มาจากนิตสารต่างประเทศ” ด้วยปริมาณงานที่หนักหน่วงสวนทางกับยอดขาย ซึ่งส่วนใหญ่ได้จากบรรดาโรงเรียนและสมาชิกรายปี นานมีบุ๊คส์ตัดสินใจพักการผลิตนิตยสาร Go Genius ไปหนึ่งครั้งในช่วง 3 – 4 ปีแรก ก่อนจะกลับมาดำเนินงานต่อ และยุติการตีพิมพ์อย่างถาวรไปเมื่อ พ.ศ. 2560

แต่สิ่งที่ Go Genius ได้สร้างขึ้นตลอดช่วงอายุ 25 ปีนั้นไม่ได้มีแต่นิตยสารเพียงอย่างเดียว

“ตั้งแต่เจนเด็กๆ คุณแม่ก็จะชอบส่งไปเข้าค่าย เพราะเขาเชื่อในการเรียนรู้แบบ Hands-on คือการได้ลงมือสัมผัสจริง ทำจริง ซึ่งจะทำให้ความรู้นั้นฝังเข้าไปในความทรงจำของผู้เรียน หลังจากนั้นคุณแม่ก็เลยเริ่มจัดค่าย Go Genius Camp ค่ายวิทยาศาสตร์ที่จะพาเด็กๆ ไปเรียนรู้ตามต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ” เจนเล่าถึงการต่อยอดจากนิตยสารสู่การทำค่าย ซึ่งนำไปสู่การสร้างศูนย์การเรียนรู้ Go Genius Learning Center ในเวลาต่อมาอีกด้วย 

เปลี่ยนวงการหนังสือด้วยหนังสือที่สนุก

“แปดปีแรกของนานมีบุ๊คส์ คือช่วงที่เราเติบโตอย่างช้าๆ และมั่นคง แต่จุดเปลี่ยนที่เข้ามาทำให้เราเติบโตอย่างก้าวกระโดดก็คือ แฮร์รี่ พอตเตอร์” 

แฮร์รี่ พอตเตอร์ ไม่ใช่วรรณกรรมเรื่องแรกที่นานมีบุ๊คส์ซื้อลิขสิทธิ์มาแปล เอาเข้าจริงความคาดหวังต่อเรื่องราวของพ่อมดน้อยในทีแรกนั้นไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า ‘หนังสือที่ดีเล่มหนึ่ง’

“ตอนนั้นในเมืองไทยยังไม่มีใครรู้จัก แฮร์รี่ พอตเตอร์ เลย แต่ในอังกฤษก็เริ่มที่จะดังมาก เพื่อนคุณแม่ที่ชื่ออาจารย์สุมาลี (สุมาลี บำรุงสุข) ท่านเป็นคนที่มาแนะนำว่า มีหนังสืออยู่เล่มหนึ่งที่ทำให้เด็กอังกฤษกลับมาอ่านหนังสืออีกครั้ง มันน่าสนใจมากเลยนะ เกี่ยวกับพ่อมดน้อยชื่อ แฮร์รี่ ซึ่งพอได้ลองอ่านต้นฉบับคร่าวๆ ก็คิดว่าน่าสนใจจริงๆ เราก็เลยยื่นข้อเสนอไป” เจนเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ซึ่งเป็นไปอย่างเรียบง่าย

และเมื่อผลงานคุณภาพได้ตกมาอยู่ในมือผู้ที่เห็นศักยภาพ นานมีบุ๊คส์ตัดสินใจทุ่มทุนจัดงานเปิดตัวหนังสืออย่างจริงจังขึ้นเป็นครั้งแรก ณ สถานีรถไฟพญาไท บวกกับการเดินสายโปรโมตอย่างหนักหน่วง ผลลัพท์ที่ออกมาจึงทวีคูณเป็นปรากฏการณ์ใหญ่ของวงการหนังสือไทย

แฮร์รี่ พอตเตอร์ คือบทพิสูจน์ว่าคนไทยเราไม่ใช่ว่าไม่ชอบอ่านหนังสือ แต่มันไม่มีอะไรสนุกๆ ให้เขาอยากอ่าน จากเดิมที่เมื่อพูดถึงหนังสือแล้วคนจะจะรู้สึกว่ามันน่าเบื่อ มันไม่เจ๋ง แต่พอมีแฮร์รี่ฯ ปุ๊บบรรยากาศมันก็เปลี่ยน บทสนทนาก็เปลี่ยน คนเริ่มหันมาคุยกันว่าฉันอ่านเรื่องนี้ เธอชอบอ่านอะไร” ความเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นแต่กับผู้อ่านเท่านั้น แต่สำนักพิมพ์อื่นๆ ก็กล้าที่จะทดลองทำหนังสือในแนวทางที่หลากหลายกว่าที่เคย

Raintree Residence โรงแรมของคนรักหนังสือในมือทายาทรุ่น 3 สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, เจน จงสถิตย์วัฒนา

สร้างนักเขียนด้วยรางวัล

ในยุคแรกที่นานมีบุ๊คส์เน้นการซื้อลิขสิทธิ์หนังสือจากต่างประเทศนั้น ไม่ใช่ว่านักเขียนไทยฝีมือไม่ดี แต่นักเขียนไทยที่เขียนหนังสือสำหรับเยาวชนในขณะนั้นแทบไม่มีเลยต่างหาก

“จากความสำเร็จของแฮร์รี่ พอตเตอร์ พิสูจน์ให้เห็นว่า เด็กและเยาวชนไทยพร้อมจะอ่าน หากมีหนังสือที่สนุก แต่ในประเทศไทยยังมีนักเขียนหนังสือสำหรับเยาวชนน้อยมาก  นานมีบุ๊คส์ซึ่งได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เป็นผู้จัดพิมพ์หนังสือ “แก้วจอมแก่น” และ “แก้วจอมซน โดยทรงใช้นามปากกา “แว่นแก้ว” จึงทูลขอพระราชทานพระนาม “แว่นแก้ว”มาเป็นชื่อ รางวัลการส่งเสริมให้คนไทยเขียนวรรณกรรมเยาวชนให้เด็กไทยได้อ่าน ซึ่งถึงวันนี้ ดำเนินมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 บัดนี้จัดพิมพ์มาแล้ว 100 กว่าปก ได้รับความสนใจจากผู้อ่านอย่างมาก

“อีกหนึ่งในความภาคภูมิใจและเป็นเกียรติประวัติอันสูงของนานมีบุ๊คส์ นั่นคือ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานต้นฉบับพระราชนิพนธ์และพระราชนิพนธ์แปลแก่ นานมีบุ๊คศ์เป็นผู้จัดพิมพ์ ซึ่งบัดนี้จัดพิมพ์ไปแล้วรวม 30 เล่ม เป็นพระราชนิพนธ์ 16 ปก และพระราชนิพนธ์แปลจีน 14 ปก ซึ่งในปีนี้ก็จะมีอีก 2 เล่ม ได้แก่ มองสังคมจีนผ่านวรรณกรรม และ ความรักไม่รู้จบ

“นอกจากนั้น นานมีบุ๊คส์ยังเป็นหนึ่งในกรรมการและเลขานุการของโครงการ “บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย” ในมูลนิธิสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อส่งเสริมให้เด็กสนใจในวิทยาศาสตร์ตั้งแต่อนุบาล ปัจจุบันมีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 30,000 โรงเรียน” คุณสุวดีเล่า

Raintree Residence โรงแรมของคนรักหนังสือในมือทายาทรุ่น 3 สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, เจน จงสถิตย์วัฒนา

เอาชนะยุคสมัยด้วยการปรับตัว

ในวันที่ธุรกิจดำเนินมาถึงขวบปีที่ 28 นานมีบุ๊คส์ผ่านการเปลี่ยนแปลงมาแล้วหลายครั้งในทุกยุคสมัย หนึ่งในนั้นคือการปรับตัวในวันที่ใครๆ ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “หนังสือกำลังจะตาย”

“เรื่องนี้คือสิ่งที่เราได้ยินมานานหลายปีแล้ว ซึ่งก็ทำให้เราต้องคิดต่อไปว่าจะทำอย่างไร คำตอบของเราคือการเริ่มศึกษาดูว่า นอกจากหนังสือแล้ว มันยังมีนวัตกรรมการเรียนรู้อะไรอีกบ้าง” นานมีบุ๊คส์ใช้เวลาราว 7 – 8 ปีที่ผ่านมาเพื่อค้นหานวัตกรรมใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของเยาวชน และจะช่วยพัฒนาการศึกษาได้ ตามความตั้งใจแรกเริ่มของคุณสุวดี 

เมื่อสังเกตเห็นว่าครูวิทยาศาสตร์หลายคนไม่ได้เรียนจบจากสายวิชานี้โดยตรง นานมีบุ๊คส์จึงมองหาตัวช่วยให้ห้องเรียนวิทยาศาสตร์กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ และไม่ได้อยู่แค่ในตำรา

“อย่างแรกเลยคือเราทำเรื่องสื่อการสอนสำหรับคุณครู โดยร่วมงานกับบริษัท Gakken จากทางญี่ปุ่น ซึ่งเขามีทั้งหลักสูตรและอุปกรณ์การสอนวิชาวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจ เราเลยนำมาต่อยอดมาทำเป็นหลักสูตร ห้องเรียนทดลองวิทย์ ซึ่งเริ่มจากการเข้าไปอบรมคุณครูให้เข้าใจวิธีการสอน การใช้สื่อและอุปกรณ์ โดยมีเป้าหมายคือห้องเรียนที่เน้นการเรียนรู้แบบสืบเสาะ และเด็กๆ ก็จะได้ลงมือทำจริง”

และเมื่อสังเกตเห็นว่าคนส่วนใหญ่เข็ดขยาดกับตัวเลข นานมีบุ๊คส์จึงอยากให้ทุกคนได้รู้จักกับวิธีการเรียนเลขแบบใหม่ ที่ออกแบบให้เหมาะกับศักยภาพของผู้เรียนทุกคน

“เพราะในห้องเรียนมีนักเรียนเยอะมาก ความสามารถวิชาเลขของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน เมื่อครูไม่สามารถสอนทีละคน เขาก็ต้องสอนไปกลางๆ เด็กที่ไม่เก่งเขาก็ตามไม่ทัน ส่วนเด็กที่เก่งเขาก็จะเบื่อ โซลูชันที่เราคิดว่าน่าสนใจคือ ติวเตอร์คณิตศาสตร์ออนไลน์ที่ชื่อ Maths-Whizz จากประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็น Personalized Learning ที่จะช่วยออกแบบวิธีเรียนตามอายุทางคณิตศาสตร์ของแต่ละคน” 

ต่อยอดธุรกิจสำนักพิมพ์ด้วยโรงแรม

นอกจากตั้งใจสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับการศึกษาแล้ว นานมีบุ๊คส์ยังไม่ลืมที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรของตัวเองอยู่เสมอ 

Raintree Residence โรงแรมของคนรักหนังสือในมือทายาทรุ่น 3 สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, เจน จงสถิตย์วัฒนา

การทำโรงแรม Rain Tree Residence ในแง่หนึ่งก็ช่วยขยายขอบเขตอุดมการณ์ของนานมีบุ๊คส์เอง จากวันแรกที่เคยตั้งใจผลิตหนังสือเพื่อเด็กประถม สู่เป้าหมายการทำงานเพื่อพัฒนาการศึกษาให้เยาวชน จนถึงวันนี้ที่ Rain Tree Residence ได้ทำหน้าที่เป็นทั้งที่พักและพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ของคนทุกเพศทุกวัย

แต่อะไรทำให้นานมีบุ๊คส์เกิดไอเดียสร้างโรงแรมขึ้นที่เขาใหญ่

“ความจริงแล้ว ในตอนแรกเราไม่ได้ตั้งใจจะเปิดโรงแรมเลยด้วยซ้ำ มันเริ่มจากที่คุณแม่อยากสร้างบ้านพักสำหรับอยู่เองหลังเกษียณ กับพื้นที่อีกส่วนเป็นที่พักสำหรับทีมงานในบริษัทเวลามีสัมมนา หลังจากนั้นก็เริ่มมีคนสนใจอยากเช่าสถานที่มากขึ้นเรื่อยๆ เราก็ขยายมาเป็นเฟสที่สอง จนตอนที่เราได้ฟีดแบ็กว่าอยากให้เพิ่มห้องเดี่ยวสำหรับผู้บริหารองค์กรด้วย ก็เลยกลายมาเป็นโรงแรมอย่างที่เห็น” เจนหัวเราะปิดท้าย เมื่อแผนการสร้างที่พักยามเกษียณของคุณแม่ถูกต่อเติมมาเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นโรงแรมขนาด 51 ห้องพักที่เธอดูแลอยู่ ณ ขณะนี้

“คุณเรียนจบการโรงแรมมาหรือเปล่า” คือสิ่งที่เราสงสัยเป็นลำดับแรกๆ เมื่อได้คุยกัน

“เปล่าเลย เจนไม่มีความรู้ในเรื่องนี้มาก่อน” คำตอบของเจนนำไปสู่คำถามอีกหลายข้อที่ตามมา

Raintree Residence โรงแรมของคนรักหนังสือในมือทายาทรุ่น 3 สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, เจน จงสถิตย์วัฒนา

องก์ 2 Rain Tree Residence และการรับช่วงต่อ

10 ปีกับการขายรองเท้า

“เจนเรียนจบคณะบริหารธุรกิจที่มิชิแกน สหรัฐอเมริกา” 

เป็นตัวเลือกที่ไม่น่าแปลกใจสำหรับคนที่เติบโตมาในครอบครัวนักธุรกิจ นอกจากงานสำนักพิมพ์ของคุณแม่แล้วเจนก็ยังได้เฝ้ามองการบริหารธุรกิจรองเท้าของคุณพ่อมาตั้งแต่เด็ก แม้ว่าก่อนหน้านั้นเธอจะเคยคิดอยากเป็นศัลยแพทย์และจิตแพทย์มาก่อนก็ตาม

“ลึกๆ แล้วเจนก็รู้สึกว่าเราถูกปลูกฝังตั้งแต่เด็กแล้ว ว่าโตขึ้นเราก็น่าจะกลับมาช่วยที่บ้านนะ สุดท้ายก็เลยตัดสินใจเลือกเรียนบริหารธุรกิจ” หลังจากที่เรียนจบในระดับปริญญาตรี เจนก็ไม่ได้เรียนต่อ และไม่ได้ไปทำงานที่ไหน แต่ตรงกลับมาช่วยงานธุรกิจรองเท้าของคุณพ่อในทันที

“ตอนนั้นคุณพ่อบอกว่า รีบกลับมาเถอะ ต้องการคนมาช่วยมากเลย ซึ่งพอบินกลับมาถึงไทยปั๊บ วันถัดมาก็ทำงานเลย” จากเด็กที่ใช้เวลาปิดเทอมในการทำรองเท้าในโรงงานของพ่อ เจนกลับมาเริ่มงานอย่างจริงจังในฐานะพนักงานฝ่ายขาย แล้วขยับตำแหน่งมาเรื่อยๆ จนได้มาช่วยคุมงานบริหารกับคุณพ่อในที่สุด

หลังจากเริ่มทำงานได้ 10 ปี จุดเปลี่ยนสำคัญทั้งสำหรับเจนและธุรกิจของครอบครัวก็มาถึง

“ตอนนั้นคุณพ่ออายุประมาณหกสิบห้า เขาก็เริ่มอยากจะเกษียณ แล้วมันก็เป็นช่วงเดียวกับที่คุณแม่เริ่มมาสร้างโรงแรมพอดี เขาก็ต้องการคนมาช่วยดูแลเพิ่ม” ด้วยปัจจัยเกี่ยวกับ License แบรนด์รองเท้าต่างชาติที่คุณพ่อทำอยู่ มีข้อจำกัดหลายด้านที่เจนต้องรับมือหากต้องการเดินหน้าธุรกิจต่อไป ในขณะที่เศรษฐกิจช่วงนั้นก็ไม่สู้ดีนัก

สุดท้ายเจนและครอบครัวจึงตัดสินใจปิดบริษัทรองเท้าลงในที่สุด

“เอาจริงๆ ตอนนั้นเราเสียดายมาก เพราะคุณพ่อก็สร้างมาตั้งสามสิบปี แต่ในภาพรวมของธุรกิจรองเท้าทุกคนก็เห็นตรงกันหมดว่ามันยากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในแง่การขายและการทำโรงงาน” 

Raintree Residence โรงแรมของคนรักหนังสือในมือทายาทรุ่น 3 สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, เจน จงสถิตย์วัฒนา

ลูกสาวของคุณสุวดี

เจนเริ่มทำงานที่ Rain Tree Residence ในช่วงต้น พ.ศ. 2562 หลังพ้นเทศกาลปีใหม่

“ตอนแรกที่เข้ามาเราเครียดมาก ด้วยความที่เราคุ้นเคยกับพนักงานส่วนใหญ่ ทุกคนรู้ว่าเราคือลูกสาวของคุณสุวดี ดังนั้นทุกคนจึงมีความคาดหวังว่าเราจะทำงานได้เลย ตั้งแต่วันแรกเขาก็เดินเข้ามาถามเราเลยว่า จะให้ตั้งราคาอาหารเท่าไหร่คะ จะลดราคาได้คืนละเท่าไหร่คะ ซึ่งตอนนั้นเรายังไม่รู้อะไรเลย ต้นทุนอะไรเท่าไหร่ เราก็ยังไม่ได้เริ่มศึกษา” เจนเล่าถึงความคาดหวังและคำถามมากมายที่พุ่งเข้าหาเธอตั้งแต่เริ่มทำงานวันแรก

“งานส่วนแรกที่เจนเข้ามาดูแลคือฝ่ายขาย ซึ่งในตอนนั้นมันไม่มีใครสอนเราได้เลย เราจึงเริ่มจากการมาอยู่ที่โรงแรมและเรียนรู้ทุกอย่างจากหน้างาน ทั้งปั๊มน้ำ ระบบไฟ งานในครัว หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนผ้าปูที่นอนในห้องพัก” แน่นอนว่าการเรียนรู้ด้วยตัวเองนั้นไม่ใช่อะไรที่ยากเกินความพยายาม แต่ด้วยตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งเรียกร้องให้เจนต้องทำทุกอย่างให้เป็นโดยเร็วที่สุด เธอจึงต้องมองหาคีย์ลัดให้ตัวเอง

“เราเริ่มไปถามคนรู้จักทุกคนที่ทำโรงแรม เพื่อขอความรู้จากเขา หรือขอเข้าไปดูงานที่โรงแรมว่าเขาทำงานยังไง ซึ่งมันก็ช่วยได้พอสมควร แต่หลังจากนั้นสักพัก เราก็ตัดสินใจขอคุณแม่ไปเรียนคอร์สการโรงแรมที่ดุสิตธานีเพิ่มเติม ทำให้ได้เรียนรู้งานเชิงโครงสร้างมากขึ้น และเริ่มมีเพื่อนในวงการโรงแรมมากขึ้นด้วย” 

การสร้างเครือข่ายกับคนทำโรงแรมคือทางลัดสำคัญ เพราะแทนที่เจนจะต้องไปล้มลุกคลุกคลานกับทุกปัญหาด้วยตัวเอง เธอก็แค่เอ่ยปากถามคนที่มีประสบการณ์มากกว่า และเคยผ่านปัญหาแบบเดียวกันมาก่อน

เหมือนไปเที่ยวบ้านเพื่อน

เมื่อเข้ามารับช่วงต่อโรงแรม ต้นทุนที่คุณแม่ทิ้งไว้ให้คืองานออกแบบและตกแต่งอาคาร

“ความตั้งใจของคุณแม่ คือเขาอยากตกแต่งเองทุกอย่าง ไม่ให้ออกมาเหมือนโรงแรม เพราะอยากให้ได้ความรู้สึกเหมือนเวลาไปเที่ยวบ้านเพื่อน ก็เลยจะใช้การมิกซ์แอนด์แมตช์เฟอร์นิเจอร์เยอะมาก ตั้งแต่ที่ล็อบบี้ไปจนถึงในห้องพัก ดังนั้นถึงจะกลับมาพักที่นี่กี่ครั้ง ก็จะได้ห้องพักที่บรรยากาศไม่ซ้ำเดิม 

Raintree Residence โรงแรมของคนรักหนังสือในมือทายาทรุ่น 3 สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, เจน จงสถิตย์วัฒนา
Raintree Residence โรงแรมของคนรักหนังสือในมือทายาทรุ่น 3 สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, เจน จงสถิตย์วัฒนา

“อีกอย่างหนึ่งก็คือการคงแลนด์สเคปที่มีลักษณะเป็นเนิน เพราะคุณแม่คิดว่าคนที่มาเที่ยวเขาก็น่าจะอยากได้ห้องพักที่อยู่บนเนินและเห็นวิวภูเขา ให้รู้ว่าฉันมาเที่ยวเขาใหญ่นะ ดังนั้นตัวโรงแรมก็จะตั้งอยู่บนเนิน และสถาปนิกที่ออกแบบเขาก็มีการเล่นระดับกับพื้นที่ คือถ้ามองจากข้างนอกอาจจะดูเหมือนว่ามีแค่สองชั้น แต่พอเดินเข้ามาในตึกแล้วถึงจะเห็นว่าเรายังมีอีกชั้นหนึ่งซ่อนอยู่ข้างล่างด้วย”

Raintree Residence โรงแรมของคนรักหนังสือในมือทายาทรุ่น 3 สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, เจน จงสถิตย์วัฒนา
Raintree Residence โรงแรมของคนรักหนังสือในมือทายาทรุ่น 3 สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, เจน จงสถิตย์วัฒนา

นอกจากในแง่การตกแต่งแล้ว Rain Tree Residence ยังเป็นโรงแรมที่เต็มไปด้วยรายละเอียดมากมาย ด้วยคอนเซปต์ห้องพักธีมนักเขียน หลังบานประตูก็จะมีแผ่นป้ายที่อธิบายประวัติของนักเขียนประจำห้องนั้นๆ เช่น แว่นแก้ว, โม่เหยียน หรือ โจฮันนา บาสฟอร์ด (Johanna Basford) รวมถึงผลงานที่โดดเด่นของแต่ละคน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้มาแค่ชื่อเรื่อง แต่ยังมีหนังสือจริงๆ วางไว้รอให้ผู้เข้าพักได้หยิบขึ้นมาอ่าน

Raintree Residence โรงแรมของคนรักหนังสือในมือทายาทรุ่น 3 สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, เจน จงสถิตย์วัฒนา

“โจทย์คือเราจะทำยังไงให้ลูกค้าเห็นคุณค่าของสิ่งที่เราเตรียมไว้ในโรงแรม เราต้องให้พนักงานตอบคำถามลูกค้าให้ได้ เขาต้องท่องว่านักเขียนคนนี้คือใคร หนังสือที่อยู่ในแต่ละห้องมีอะไรบ้าง นอกจากนี้เราก็มีการทำคู่มือแนะนำห้องพักให้ลูกค้าได้อ่านเพิ่มเติมด้วยด้วย” เหล่านี้คือความตั้งใจของเจน ที่อยากต่อยอดคอนเซปต์ของโรงแรมให้เป็นที่เข้าถึงได้สำหรับลูกค้าทุกคน

“มีแขกหลายคนมากที่บอกเราว่า เขาไม่ได้อ่านหนังสือมาเป็นสิบปีแล้ว แต่พอมาพักที่นี่แล้วเห็นหนังสือวางอยู่ในห้องนอน เขาก็เลยได้หยิบขึ้นมาอ่าน ซึ่งอะไรแบบนี้มันทำให้เราดีใจมาก เพราะนี่ก็คือตัวตนของนานมีบุ๊คส์ที่อยากจะส่งเสริมการอ่านมาโดยตลอด” เจนเล่าด้วยความภูมิใจ

Raintree Residence โรงแรมของคนรักหนังสือในมือทายาทรุ่น 3 สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, เจน จงสถิตย์วัฒนา

ตำราการบริหารของครอบครัว

สำหรับทายาทธุรกิจ ย่อมมีบทเรียนในการทำงานมากมายที่ถูกถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น

“เพราะเราทำธุรกิจครอบครัว ดังนั้นสิ่งที่เรายึดถือมาโดยตลอด คือการดูแลทีมงานของเราเหมือนกับคนในครอบครัว แต่อีกอย่างที่ทั้งอากงและคุณแม่ให้ความสำคัญมาโดยตลอดก็คือ พนักงานทุกคนต้องแสดงความคิดเห็นเวลาประชุม ถ้าใครไม่พูดก็จะถูกคุณแม่ดุว่า ‘ทำไมถึงปล่อยให้พี่พูดคนเดียวล่ะ นี่เรามาประชุมกันนะ’ ดังนั้นพนักงานของเราก็จะเป็นคนที่กล้าพูด กล้าเสนอไอเดีย

“ซึ่งมันดีมากนะ เพราะสำหรับเจนเอง เรารู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่คนที่เก่งมาก หรือมีความรู้มากพอจะตัดสินใจได้ทุกอย่าง ดังนั้นเวลาจะทำอะไรเราก็ถามทีมงานได้” เจนอธิบายด้วยความภูมิใจในทีมเวิร์กที่ดีของเธอ ซึ่งไม่ใช่แค่เสริมความมั่นใจให้เจนในฐานะผู้บริหาร แต่หลายครั้งยังช่วยพัฒนาไอเดียเล็กๆ ให้ไปไกลได้มากกว่าเดิม

Raintree Residence โรงแรมของคนรักหนังสือในมือทายาทรุ่น 3 สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, เจน จงสถิตย์วัฒนา
Raintree Residence โรงแรมของคนรักหนังสือในมือทายาทรุ่น 3 สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, เจน จงสถิตย์วัฒนา

ส่วนทักษะการทำงานของตัวเธอเอง เจนบอกว่าสิ่งที่สำคัญคือการคิดอย่างเป็นระบบที่ได้ฝึกฝนมาตลอด 10 ปีของการบริหารธุรกิจรองเท้า

“จริงๆ แล้วงานโรงแรมจะมี Back-office Operation เยอะมากที่ลูกค้ามองไม่เห็น ซึ่งการที่เราเคยดูแลสาขาร้านรองเท้า หรือช่วยดูแลโรงงานรองเท้ามาก่อน มันก็ช่วยให้เราคิดอย่างเป็นระบบมากขึ้น เห็นความเชื่อมโยงจากจุดหนึ่งสู่อีกจุด

“ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเห็นแม่บ้านเก็บผ้าเสร็จแล้วมากองทิ้งไว้ตามทางเดิน แทนที่จะไปโทษแม่บ้าน เราก็ต้องย้อนกลับมาคิดและออกแบบวิธีการทำงานให้เขาใหม่ เริ่มจากหารถเข็นใส่ผ้า กำหนดจุดเก็บผ้า และหาคนขับรถมารับผ้าไปส่งห้องซักรีด พวกนี้คืองานที่ต้องใช้ระบบคิดในลักษณะเดียวกัน” เจนยกตัวอย่างให้เห็นภาพ

ถ้าเป็นเราจะต้องการอะไร

เมื่อไม่ใช่คนที่เรียนจบการโรงแรมมาโดยตรง สิ่งที่เจนใช้เป็นหลักยึดในการบริหาร Rain Tree Residence ก็คือประสบการณ์ของตัวเองในฐานะลูกค้า ซึ่งน่าจะเป็นมาตรวัดที่ดีที่สุด

“พอเราไม่ได้มีความรู้มาก ดังนั้นเราก็ต้องลองแทนตัวเองเป็นแขก ว่าถ้าเป็นเราจะต้องการอะไร เช่น ช่วงนี้อากาศมันร้อน เราอยากกินน้ำหวานๆ เย็นๆ แต่ทำไมโรงแรมถึงไม่มีร้านกาแฟล่ะ” เมื่อสังเกตเห็นช่องว่างตรงนี้ เจนก็เดินหน้าขอความช่วยเหลือจากเพื่อนที่เป็นคอกาแฟ และเริ่มทำเมนูเครื่องดื่มเพื่อรองรับแขกที่มาเข้าพัก เช่นกันกับการเพิ่มบริการร้านอาหารในมื้อเที่ยงและเย็น

“ก่อนหน้านี้โรงแรมเรามีแค่อาหารเช้าอย่างเดียว เจนก็รู้สึกว่าแปลกจัง เป็นโรงแรมจะไม่มีร้านอาหารได้ไง แต่ด้วยความที่โรงแรมเราเล็ก และถ้าเป็นวันธรรมดาก็มีแขกน้อยมาก การจะเปิดร้านอาหารที่มีเมนูสักห้าสิบอย่างเราก็ทำไม่ไหว ดังนั้นเราเลยเริ่มจากการทำ Lunch Set และ Dinner Set เหมือนกับโรงแรมญี่ปุ่นหลายที่ที่เขาจะให้เราจองเซ็ตอาหารล่วงหน้ามาก่อน ซึ่งจะมีให้เลือกประมาณสองถึงสามเซ็ต”

นอกจากจะใช้ตัวเองเป็นมาตรฐานแล้ว หลายองค์ประกอบในความเป็น Rain Tree Residence ก็เป็นสิ่งที่ตกผลึกมาจากแพสชันส่วนตัวของเจน

Raintree Residence โรงแรมของคนรักหนังสือในมือทายาทรุ่น 3 สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, เจน จงสถิตย์วัฒนา

“คือเราเป็นคนรักสิ่งแวดล้อมมาก จะไม่ชอบเห็นขยะพลาสติก และไม่ชอบให้ใครใช้น้ำอย่างสิ้นเปลือง พวกนี้คือเรื่องน่าหงุดหงิดมาก พอมาทำโรงแรมเราก็เลยตั้งใจให้มัน Go Green ได้มากที่สุด อันที่ชัดก็คือตอนนี้ไม่มีการใช้ขวดพลาสติกในโรงแรมแล้ว เพราะในห้องอาหารเราเปลี่ยนมาใช้ขวดแก้วแทน และในห้องพักเราก็แจกขวดน้ำพลาสติกให้ลูกค้าเอาไว้ใช้กรอกน้ำ และนำกลับไปใช้ต่อที่บ้านได้ด้วย 

“ส่วนอื่นๆ ในโรงแรมก็จะมีแปลงผักออร์แกนิกที่เราปลูกไว้ใช้ทำอาหารในครัว แล้วก็ยังเปิดให้แขกได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน ด้วยไอเดียที่เราอยากให้ครอบครัวได้มาใช้ Quality Time ด้วยกันที่นี่ คือเขาก็จะได้ทดลองปลูก และจะได้ผักใส่กระถางกลับบ้านไปปลูกต่อได้อีกเหมือนกัน” 

Raintree Residence โรงแรมของคนรักหนังสือในมือทายาทรุ่น 3 สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, เจน จงสถิตย์วัฒนา
Raintree Residence โรงแรมของคนรักหนังสือในมือทายาทรุ่น 3 สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, เจน จงสถิตย์วัฒนา

เขาไม่ได้มารู้กับเราด้วย

เมื่อถามถึงสิ่งที่ยากที่สุดในการบริหารงานโรงแรม คำตอบของเจนคือ คนและสถานที่

“อย่างแรกคือเรื่องคน เพราะโรงแรมมันเป็นธุรกิจการบริการ พนักงานจะต้องคิดเสมอว่า เมื่อลูกค้ามาถึงเราจะต้องสวัสดี ยิ้มให้ แล้วอธิบายข้อมูลให้ฟังอย่างครบถ้วน แต่รายละเอียดพวกนี้ถ้าเราปล่อยให้เขาทำซ้ำต่อไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่เข้าไปตรวจ บางครั้งเขาก็อาจจะลืม หรือพูดไปตามที่เขาสะดวก ซึ่งมันไม่ตรงกับแนวทางที่เรากำหนดไว้ และไม่ใช่การบริการที่ลูกค้าควรจะได้รับ ดังนั้นการบริการมันจึงเป็นอะไรที่ต้องย้ำเตือนเยอะมากกก” เจนลากเสียงยาวเป็นการยืนยัน

Raintree Residence โรงแรมของคนรักหนังสือในมือทายาทรุ่น 3 สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, เจน จงสถิตย์วัฒนา
Raintree Residence โรงแรมของคนรักหนังสือในมือทายาทรุ่น 3 สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, เจน จงสถิตย์วัฒนา

“ส่วนเรื่องของสถานที่ ด้วยความที่เรามีสวนขนาดใหญ่มาก สิ่งที่สำคัญคือต้องดูแลให้ไม่รกและสะอาดอยู่ตลอด ส่วนในอาคารก็ต้องคอยเช็กทุกจุด เพราะแค่พัดลมหรือไฟเสียจุดเดียว ก็ทำให้เราดูเป็นโรงแรมร้างแล้ว ดังนั้นถ้าตรงไหนเสียเราก็ต้องรีบซ่อมทันที

“งานซ่อมบำรุงเป็นอะไรที่ละเอียดและต้องใส่ใจมาก เพราะลูกค้าเขาไม่ได้มารู้กับเรานะว่าหลังบ้านเราเจอปัญหาอะไร ไม่ว่าจะคนไม่พอ ช่างไม่ว่าง หรืออะไรก็ตาม ลูกค้าไม่สมควรที่จะต้องมาพยายามเข้าใจเรา เพราะเขาอุตส่าห์มาเที่ยวแล้ว เราก็ต้องให้สินค้าและบริการตามที่เขาควรจะได้รับ นี่สิ่งที่เราต้องทำให้ได้ค่ะ” ทัศนคติในการบริหารของเจนทำให้เราเกือบลืมไปว่า เธอคือทายาทรุ่นสามของนานมีบุ๊คส์ ไม่ใช่ธุรกิจโรงแรมที่ไหน

เราไม่ต้องสมัครงาน

ในปัจจุบัน นานมีบุ๊คส์ อยู่ภายใต้การบริหารงานร่วมกันของคุณสุวดีและลูกสาวทั้งสอง 

“มีปัญหาคลาสสิกของการทำธุรกิจครอบครัวบ้างไหม” เราถาม ทั้งที่ใจหนึ่งก็พอจะรู้คำตอบ

“มีค่ะ พอบริษัทเรามีผู้บริหารสามคน ก็จะเริ่มงงแล้วว่าใครเป็นคนสั่งอะไร ดังนั้นเราสามคนต้องคุยกันเยอะมากๆ เพื่อให้มีคอนเซปต์ทุกอย่างตรงกัน ไม่ว่าพนักงานจะถามอะไร เราก็ต้องตอบให้ไปในทางเดียวกัน แต่เราก็เคลียร์กันชัดว่า ถ้าเรื่องไหนไม่เกี่ยวกับเธอ เธอห้ามตอบนะ ต้องให้เจ้าของเรื่องตอบ เพราะไม่งั้นเดี๋ยวมันจะเกิดการทำงานข้ามกันและกลายเป็นปัญหา

“อีกอย่างคือทั้งคุณแม่และพี่สาวเขาจะเป็นคนจริงจัง ดังนั้นเวลาคุยงานเขาจะไม่ได้คิดว่าเราคือน้องหรือลูก ช่วงแรกบางทีเราก็ยังตั้งตัวไม่ทันและแอบน้อยใจบ้าง แต่ตอนหลังถึงรู้สึกว่าแบบนี้ก็ดีเหมือนกัน ไม่ต้องมาโอ๋เรานะ เพราะเราก็ต้องพิสูจน์ตัวเองด้วย ว่าเราไม่ได้มานั่งตำแหน่งผู้บริหารเพียงเพราะเราเป็นลูก แต่ขอเวลาเราเรียนรู้นิดหนึ่งนะ แล้วเราจะทำให้ทุกคนเห็นว่าเราทำได้” เจนเล่าถึงการเติบโตในฐานะน้องและลูกสาวคนเล็ก

ซึ่งการพิสูจน์ตัวเองที่ว่า คือบทเรียนสำคัญของเจนจากการรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว

“คือเราอาจจะโชคดีกว่าคนอื่นตรงที่ว่า เราได้งานนี้มาโดยที่เราไม่ต้องสมัครงานเลย แต่การจะรักษางานนี้เอาไว้ได้มันก็ต้องมีบทพิสูจน์ตัวเอง อย่างตอนที่เจนเริ่มทำงานกับคุณพ่อในช่วงแรกๆ เวลาอยากทำอะไร เราก็จะไปงอแงใส่คุณพ่อเหมือนตอนเด็กๆ ซึ่งเราก็ได้รู้ว่าทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะมันไม่ใช่ว่าเรางอแงเพราะจะขอซื้อตุ๊กตาหนึ่งตัวเหมือนเมื่อก่อนแล้วนะ ตอนนี้เรากำลังทำงาน ความเสียหายที่ตามมามันคือเรื่องของธุรกิจล้วนๆ 

“เวลาที่เราเสนองานไป ไม่มีครั้งไหนเลยที่เราเสนอผ่านในรอบเดียว หลายครั้งที่เราโดนถามต่อว่า แล้วมันยังไงต่อ ราคาเท่าไหร่ ทำแล้วจะได้อะไร หรือจะทำเสร็จเมื่อไหร่ ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนว่าจะต้องหาข้อมูลอะไรเพิ่ม หรือว่าที่เสนอไปนั้นเราคิดผิด ซึ่งเจนคิดว่าการทำแบบนี้มันช่วยให้เราเก่งขึ้น ไม่ใช่ว่าเราได้สิ่งที่เราเสนอเพียงเพราะเราเป็นลูก” 

แก่นคุณค่าเดียวกัน

แม้ว่าจุดเริ่มต้นของ Rain Tree Residence จะฟังดูเหมือนเป็นการจับพลัดจับผลูอย่างไม่ได้ตั้งใจ แต่เมื่อดูจากการลงทุน ลงแรง และเวลาที่ทุ่มลงไปกับโรงแรมแห่งนี้ เราจึงได้เห็นความตั้งใจและวิสัยทัศน์ที่ซ่อนอยู่

“เรามองว่าที่นี่คือการต่อยอดจากนานมีบุ๊คส์โดยตรงเลย ไม่ใช่ธุรกิจแยกหรือการลงทุนเพื่อหวังกำไรอย่างเดียว เพราะนานมีบุ๊คส์เองก็เชื่อในการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ และการเรียนรู้จากธรรมชาติมาโดยตลอด โรงแรมนี้ก็เกิดขึ้นจากการที่เราอยากพาเด็กๆ มาเข้าค่าย หรือพาบุคลากรมาอบรมนั่นแหละ มันคือการต่อยอดธุรกิจการเรียนรู้ของนานมีบุ๊คส์อยู่แล้ว ทั้งหมดนี้มันคือแก่นคุณค่าเดียวกัน” 

ดูเหมือนว่าแก่นคุณค่าของนานมีบุ๊คส์ที่เจนหมายถึง จะเติบโตขึ้นมากในระยะเวลา 28 ปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับความตั้งใจแรกที่อยากผลิตหนังสือสำหรับเยาวชน มาวันนี้พวกเขากำลังสร้างการพื้นที่การเรียนรู้ให้กับคนทุกเพศทุกวัย

“ตอนแรกที่เราเริ่มตั้งบริษัท เราอาจจะเริ่มโฟกัสจากจุดเล็กๆ ก่อน เราเลยตั้งเป้าหมายไปที่เด็กประถม แต่หลังจากนั้นเราก็ค่อยๆ ขยายออกมาเรื่อยๆ ทั้งแนวหนังสือและรูปแบบของการเรียนรู้

“เพราะเราเชื่อว่าการเรียนรู้มันเกิดขึ้นได้ตลอดชีวิต”

Raintree Residence โรงแรมของคนรักหนังสือในมือทายาทรุ่น 3 สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์, เจน จงสถิตย์วัฒนา

Writer

Avatar

สาริศา เลิศวัฒนากิจกุล

เด็กนิเทศ เอกวารสารฯ กำลังอยู่ในช่วงหัดเขียนอย่างจริงจัง แต่บางครั้งก็ชอบหนีไปวาดรูปเล่น มีไอศครีมเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในยามอ่อนล้า

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ