ช่วงเดือนที่ผ่านมา ถ้าใครได้ไปดูหนัง Spider-Man: Across the Spider-Verse หรือ Spider-Verse ภาค 2 ก็คงรู้แล้วว่าหนังเรื่องนี้ไม่ใช่แอนิเมชันดาษดื่นหาที่ไหนก็ได้ เรียกว่าไม่มีส่วนไหนเลยที่เข้านิยามของความปกติธรรมดาเลยดีกว่า

คอนเซปต์ – หนำใจไปกับจักรวาลนับร้อยพันของ สไปเดอร์แมน ร้อยเรียงออกมาเป็นพล็อตอันกลมกล่อมหนึ่งเดียว

ลำดับภาพ – 1 วินาทีเปลี่ยนไปไม่รู้กี่ช็อต ทำเอาคนดูทั้งเมาและมันไปพร้อมกัน

สไตล์ภาพ – เพราะมิติอันหลากหลาย ทำให้สไตล์หลากหลายเหนือจินตนาการคนดูตามไปด้วย

ในความเจ๋งเหล่านั้น มีคนไทยคนหนึ่งที่อยู่เบื้องหลังการจัดแสง ขั้นตอนสำคัญที่ทำให้หนังออกมาสมบูรณ์แบบ เข้าถึงความเป็น Multiverse และอารมณ์ที่เข้มข้นของเหล่าตัวละครได้เป็นอย่างดี

เขาคือ ช้าง-ธัชพล เลิศวิโรจน์กุล นักเรียนสถาปัตย์ผู้ไปเติบโตในเส้นทาง Computer Art ในประเทศสหรัฐอเมริกา เขาเป็นเจ้าของออฟฟิศทำ CG และ Visual Effect อย่าง Chaya Pictures ส่วนในต่างประเทศ เขาทำงานให้กับ Sony Pictures Studio มาแล้วหลายเรื่อง เช่น Cloudy with a Chance of Meatballs (2009), Alice in Wonderland (2010), Hotel Transylvania (2012), The Angry Birds Movie (2016), Spider-Man: Into the Spider-Verse (2018), Spider-Man: Across the Spider-Verse (2023)

ต่อไปนี้จะเป็นการผจญภัยของช้างตั้งแต่อยู่เมืองไทยจนไปเรียนนิวยอร์ก มีโอกาสทำงานระดับโลกมากมาย โดยมีไฮไลต์เป็นเบื้องหลังการทำงาน Spider-Verse ทั้ง 2 ภาค เขาบอกกับเราว่าตั้งแต่ทำงานมา ไม่มีอะไรที่ท้าทายไปกว่านี้แล้ว ถ้ามีอะไรที่จะล้มแชมป์ได้ คือภาค 3 ซึ่งจะเกิดขึ้นในอนาคตเท่านั้น!

จะเป็นตำนานต้องกล้าฉีกกรอบเดิม

เราเคยคุยกับ เอก DOF ไปเมื่อปีที่แล้ว เอกเป็นเด็กสถาปัตย์ที่บุกเบิกการพรีเซนต์แบบด้วยคอมพิวเตอร์ แต่จริง ๆ แล้วเอกไม่ได้ฉายเดี่ยวขนาดนั้น เขายังมีช้าง ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนร่วมรุ่นและเพื่อนรุ่นอุดมการณ์ผู้เคียงข้างกันมา หากเมื่อเติบโตก็แยกย้ายกันไปได้ดิบได้ดีในทางที่ใช่สำหรับตัวเอง

เมื่อเรียนจบคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้เพียงสัปดาห์เดียว ช้างกับเอกก็ตัดสินใจเปิดออฟฟิศทำ 3D อย่างห้าวหาญ ซึ่งนอกจากงานส่วนตัว เขาเป็นสถาปนิกประจำอยู่ที่ A49 อยู่ 2 ปีด้วย นับเป็นเด็กจบใหม่ที่ไฟแรงมาก ๆ

พอถึงจุดที่จะต้องไปเรียนต่อ เขาก็มานั่งคิดกับตัวเองว่าวิชาไหนที่เหมาะกับเขา และเส้นทางไหนกันแน่ที่เขาจะเลือกเดินในชีวิต 

“เรารู้ว่าถ้าเรียนสายสถาปัตย์จะเจออะไร เรารู้ดี เพราะอยู่กับมันมา 5 ปี” ช้างเอ่ยยิ้ม ๆ – เอาล่ะ เปิดมาอย่างนี้ก็เปลี่ยนสายแน่ ๆ แล้ว

ปี 2004 ช่วงเวลาที่ Finding Nemo ของ Pixar กำลังดัง เขาตัดสินใจเก็บกระเป๋า บอกลากรุงเทพฯ ไปเรียนต่อด้าน Computer Art ที่นิวยอร์ก เมืองแห่งความฝันของคนทั่วโลก แล้วจบมาทำบริษัทโฆษณาอยู่พักหนึ่ง

“พี่เข้า Sony เมื่อปี 2008” ช้างกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการผจญภัยครั้งสำคัญ

เรื่องแรกที่เขาได้แสดงฝีมือก็คือ Cloudy with a Chance of Meatballs (2009) แต่ด้วยเหตุผลหลายอย่าง ทั้งแผนเดิมที่วางไว้ ทั้งแฟนที่กำลังรอเจอหน้า อยู่ไม่นานเขาก็กลับประเทศไทย

จนเมื่อเกิดภาวะเครียดจากเหตุน้ำท่วมใหญ่ใน พ.ศ. 2554 ช้างก็แพ็กกระเป๋ากลับไปอีกครั้งพร้อมกับคู่ชีวิต โดยคราวนี้เป็นการทำงานแบบ Show Base (Project Base แต่ที่นี่เรียกหนังเรื่องหนึ่งว่า Show)

มองในมุมคนนอก เราว่าเขาตัดสินใจได้ถูกมาก คิดดูว่าจะมีสักกี่คนที่มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในงานสร้างสรรค์ระดับโลกแบบนี้ ถ้าเราเป็นลูกชายและลูกสาว 2 คนของเขาก็คงภูมิใจมาก และอวดเพื่อนไปสามบ้านแปดบ้าน

วัน ๆ ของนักออกแบบแสงก็งี้แหละ

“ที่ Sony ตอนนี้เราเป็น CG Artist ซึ่งถ้าพูดถึงชื่อตำแหน่งเลยก็คือ Senior Lighting Technical Director” ช้างกล่าว

“ตอนที่เพิ่งเข้า เราต้องเรียนโปรแกรมใหม่ทั้งหมด เพราะเขาใช้โปรแกรม In House ของเขา” ไม่ใช่ว่าเรียนมาตรงสายและมีประสบการณ์ในการทำงานออฟฟิศอื่นจะทำให้ผ่านฉลุยไปกับ Sony ได้เลย

เราคุยกันในฐานะศิษย์เก่าว่าที่คณะจะมีคืนแรกของวันเปิดเทอมเป็นคืนรับน้อง เพราะอาจารย์จะสั่งงานเขียนแบบแผ่นใหญ่เบ้อเริ่มให้เราทำส่งในวันรุ่งขึ้น หากผ่านคืนนั้นไปเราก็จะใช้เครื่องมือเป็นทั้งหมด ที่ Sony ก็คล้าย ๆ กัน หากช้างต้องใช้เวลาถึง 2 เดือน กว่าจะเริ่มเข้าใจ คล่องมือ และเริ่มใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปได้

“ตอนอยู่บริษัทโฆษณา พี่ทำทุกอย่างเพราะโปรเจกต์หนึ่งมีคนไม่เยอะ ในสายพี่เขาจะเรียกว่า Generalist แต่พอเป็น Sony หนังเรื่องหนึ่งมีคนหลักพันเลยนะ ตำแหน่งแต่ละคนก็จะเจาะจงไปเลย คนนี้ทำ Lighting อย่างเดียว คนนี้ทำ Animation อย่างเดียว คนนี้ทำโมเดลอย่างเดียว”

ช้างเล่าถึงกระบวนการในการทำงานให้เราฟังช้า ๆ ว่า ก่อนที่จะมาถึงแผนก Lighting งานจะต้องผ่านมือแผนก Animation ซึ่งมีหน้าที่ทำให้โมเดลขยับได้ และผ่านการสร้างสรรค์ของแผนก Look Development ซึ่งมีหน้าที่ทำให้โมเดลมี Material ตามจริงทั้งสีสันและพื้นผิว ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าตัวละคร หรือวัตถุอื่น ๆ อย่างผ้าบุโซฟา

และแผนก Lighting ก็จะรับบทบาทวางแสงตั้งแต่เม็ดแรกอย่างการกำหนด Key Lighting ไปจนถึงทำให้สำเร็จออกมาเป็นภาพสุดท้าย ซีนไหนง่ายก็ให้ Junior ทำ ซีนไหนปราบเซียนก็ต้องพึ่งระดับ Mid และ Senior เป็นลำดับไป

“ถ้าเป็นสมัยเราทำธีสิสหรือทำบริษัทโฆษณา ถ้าอยากจะแก้ก็แก้ไม่ยาก เพราะเราทำทั้งหมดคนเดียว แต่ที่นี่เราต้องส่งกลับไปแผนกอื่นด้วย บางทีรอเป็นอาทิตย์นะกว่าจะได้กลับมา”

หลักการในการออกแบบ Lighting เบื้องต้นคืออะไรบ้าง – เราถาม

“เราต้องดูว่าแสงควรเข้ามาถึงบริเวณไหนถึงจะกำลังพอดี หน้ากำลังสวย ส่วนที่ไม่โดนแสงอาทิตย์ก็ต้องเกลี่ยให้ยังเห็น Shape ของวัตถุอยู่ด้วย” เขาตอบ

“ถ้าเป็นช็อตที่เกี่ยวกับอารมณ์ ก็ต้องเอาอารมณ์เป็นหลัก จะน่ากลัว ตื่นเต้น ตกใจ ดีใจ พวกนี้มันจะออกมากับ Lighting และภาพสุดท้าย แต่ถ้าบางช็อตเป็นการดำเนินเรื่องปกติ ไม่ได้มีอารมณ์มากมาย ก็ยังต้องสวยงามต่อเนื่องจากส่วนอื่นของเรื่อง”

ซึ่ง Spider-Verse เรียกได้ว่า ‘ฉีกทุกกฎ’ ของการออกแบบแสงเลยทีเดียว ทีมของช้างต้องวางแสงตามความจริงก่อน จากนั้นก็ใส่ Creative Input เข้าไปตู้มต้าม 

เกริ่นพอเป็นน้ำจิ้ม เรามาฟังเขาเล่าถึง Spider-Verse ทั้ง 2 ภาคเต็ม ๆ ในพาร์ตต่อไปกันดีกว่า

เบื้องหลังแสนปวดตาของการทำ Spider-Verse ทั้ง 2 ภาค

Spider-Man: Into the Spider-Verse (2018)

ระหว่างกำลังอยู่ในขั้นตอนทำ The Angry Birds Movie (2016) อยู่เพลิน ๆ CEO ที่ Sony ก็ประกาศในการประชุมประจำเดือนว่าจะทำ Spider-Man ในรูปแบบแอนิเมชัน 2D ออกมา

ช้างซึ่งเป็นแฟนหนัง สไปเดอร์แมน อยู่แล้วย่อมดีใจกับโปรเจกต์นี้ แต่ถึงยังไงก็อดกังขาไม่ได้อยู่ดี

“พี่ก็แบบ… มันจะน่าดูเหรอ” เขาลังเล “พี่นึกภาพเป็น Comic ที่ฉายใน Cartoon Network อย่างนั้นเลย ไม่รู้ว่ามันจะน่าสนใจยังไง”

จบจาก Angry Birds เขาก็กลับเมืองไทยไปตามระเบียบ จนกระทั่งวันหนึ่งที่ Trailer ของ Spider-Verse เผยแพร่ (โดยปกติแล้วทีมสร้างจะดึงบางช็อตออกมาทำ Trailer ก่อน โดยที่อีก 99% ของหนังยังไม่เสร็จ) เขาสนใจจนต้องอีเมลไปถามไถ่เพื่อนในทีมสร้าง และได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในทีมในที่สุด

“เป็นงานที่หนักเหมือนกันครับ เพราะ Spider-Verse มี Visual Language แบบใหม่ที่ไม่เหมือนที่ไหนเลย และมีการเทรนด์ก่อนเริ่มโปรเจกต์ที่ไม่เหมือนกับโปรเจกต์อื่น ๆ ด้วย เราต้องเรียนรู้ไบเบิลของ Spider-Verse ทั้งหมดที่คิดโดยแผนก R&D (Research and Design)”

ถึงจะบอกว่าหนัง แต่ภาคแรกก็ยังพอทน เพราะโดยรวมยังมีเพียงสไตล์เดียวในหนัง

พวกเขาเลือกใช้วิธี Shift สี ให้สีเลยขอบออกมาเหมือนเวลาอ่านคอมิก ซึ่งยิ่งวัตถุอยู่ใกล้กล้องเท่าไหร่ สีก็จะยิ่ง Shift หนักขึ้น ตามระยะ ส่วนสไตล์ของแต่ละตัวละครก็มีการกำหนดมาแล้วตั้งแต่ในคอมิก

“สิ่งที่ทีม Lighting ต้องคิดหลัก ๆ เลยคือทำ Mood ซึ่งเป็นนามธรรมให้กลายเป็นภาพสุดท้ายให้ได้” ช้างสรุป

และภาคแรกของ Spider-Man ฉบับ 2D ก็ประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม สนุกเกินจากภาพแรกที่ช้างคิดในหัวมาไกลมาก

Spider-Man: Across the Spider-Verse (2023)

“ภาค 2 ยากขึ้นเยอะ” แค่ช้างเกริ่นมาก็สัมผัสได้ถึงความสนุกแล้ว

“หลัง ๆ ช่วงใกล้จบภาค 1 เราชินกับเครื่องไม้เครื่องมือมา 8 – 9 เดือนแล้ว ทำให้ใช้เวลาต่อ 1 ช็อตไม่นาน พี่เคยทำได้สูงสุด 9 ช็อตต่อ 1 อาทิตย์ แต่ภาค 2 นี่ 3 อาทิตย์ 1 ช็อต

ซึ่งสิ่งที่ทำให้ยากก็คือสไตล์ที่เปลี่ยนไป ถ้าในช็อตนั้นมีไมลส์คนเดียวในโลกของไมลส์ ช้างบอกได้เลยว่า ‘หมู’ แต่ปัญหาคือมันไม่เป็นแบบนั้นน่ะสิ ภาคนี้มี Verse ที่เยอะและซับซ้อนขึ้น ทั้งยังต้องออกแบบสไตล์ให้แต่ละตัวละครต่างกันอย่างชัดเจนด้วย

“มิเกลเป็นตัวเอกของภาคนี้ รายละเอียดเลยต้องมากเป็นพิเศษ” ช้างเปิดด้วยการเล่าถึง Miguel O’Hara

โลกของมิเกลเป็น Sci-fi โดยกำหนดสไตล์ภาพเป็นมาร์กเกอร์โคปิกที่ยิ่งปาดยิ่งเข้มขึ้น อ้างอิงจากหนัง Sci-fi สมัยก่อนที่ใช้โคปิกในการสเกตช์

เสื้อของมิเกลก็ไม่ใช่เสื้อธรรมดา หากเป็นเลเซอร์ที่วิ่งอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าหนังจะรวดเร็วจนคนดูอย่างเรามองไม่ค่อยทัน แต่จริง ๆ แล้วทีมงานทำกันแทบตาแตก แค่ฉากที่ไมลส์ดูดพลังจากเสื้อมิเกล แล้วเสื้อแตกกลายเป็นพิกเซลก็ใช้เวลาถึง 2 เดือนแล้ว

ทั้งนี้ยังมีการใช้เทคนิค Rim Light ทำลายขอบภาพใน Verse ของมิเกล ซึ่งช้างบอกว่าต้องใช้พลังงานเครื่องหนักมาก

“ส่วนโฮบี้ยากที่สุด ซับซ้อนที่สุดเลย เพราะภาคนี้มันโผล่มาตัวเดียวไงเขาถึงกล้าทำ” ช้างระเบิดหัวเราะ โฮบี้ที่เขาว่าหมายถึง Hobart Brown หรือที่รู้จักกันในนาม Spider-Punk

ทีมออกแบบตีความความขบถของโฮบี้ออกมาเป็น Collage Art ซึ่งแม้จะเป็นสไตล์นี้ตั้งแต่ในคอมิก แต่เดิมทีก็ยังไม่ได้ล้ำขนาดในแอนิเมชัน ช้างถึงกับบอกว่านี่เป็นตัวที่จะมีปัญหาที่สุดแล้วในพาร์ตหน้า แค่ช็อตที่ยืนข้างหลัง Peter Parker ก็ใช้เวลานานมากแล้ว แต่ภาค 3 นี้จะต้องมี Verse ของโฮบี้ด้วย ไปกันใหญ่แล้ว

นอกจากนี้เขายังเล่าถึง Go Home Machine ที่ใช้ส่งเหล่าสไปเดอร์กลับ Verse ของตัวเอง เรียกว่าเป็น ‘ช็อตโคตรยาก’ ประจำหนังเรื่องนี้เลยทีเดียว “คนดูอาจไม่ค่อยรู้สึกว่ายาก แต่ใช้เวลาในการเซตอัปให้ได้ลุคนั้นนานมากครับ เหมือนเข็นครกขึ้นภูเขาเลย เปิดไฟล์มาทีทุกคนตกใจเลยว่า โห เยอะขนาดนี้เลยเหรอ”

ก่อนจบจากเรื่องราวของ สไปเดอร์แมน เราถามคำถามที่คิดมาตั้งแต่รู้ว่าจะได้คุยกับทีมงานของหนัง – คุณเชื่อเรื่องจักรวาลคู่ขนานจริง ๆ ไหม

“เชื่อ 100 เปอร์เซ็นต์เลย” ช้างตอบทันควัน “พี่คลั่งไคล้ฟิสิกส์นะ ในฟิสิกส์มีช่องว่างที่ทำให้เกิดความเป็นไปได้อยู่ พี่ตามอ่านงานของ สตีเฟน ฮอว์คิง ที่พูดถึงทฤษฎีรูหนอน

“ในหนัง Spider-Verse ทำมาเพื่อเอนเตอร์เทน แต่มีหลักความจริงอยู่ส่วนหนึ่งซึ่งทำให้เราเชื่อว่ามันเป็นไปได้”

หนัง สไปเดอร์แมน ภาคนี้ใช้เวลาแทบทุกนาทีไปกับการเล่าถึงจักรวาลคู่ขนาน ซึ่งแก่นไอเดียนั้นก็นำมาสู่สไตล์ภาพ แสง สี เสียง ซึ่งล้ำไปกว่าแอนิเมชันทั่วไปที่เคยมีมาก ๆ ใครยังไม่ได้ไปดู ต้องไปตามเก็บแล้วล่ะ

ชีวิตต้องแลก เพื่อหนังต้องดู

“พี่ไม่เคยดูหนังสนุกเหมือนเมื่อก่อนอีกเลย” 

เพื่อแลกกับประสบการณ์ล้ำค่าที่ได้ทำงานระดับโลก ช้างสูญเสียอรรถรสในการดูหนังแบบคนธรรมดาไปซะแล้ว เวลาดูหนังเขาจะจับผิด CG ดูว่าตรงไหนคือรอยต่อระหว่าง CG กับของจริง เวลาดูแอนิเมชันก็จะนั่งดูเรื่องการจัดแสง

แต่ถึงอย่างนั้นก็มีหนังที่ทำให้เขาทึ่งและลืมหมวกคนทำงานไปเสียสนิท อย่าง Top Gun: Maverick, Gravity Falls หรือ Wall•E ซึ่งเป็นหนังที่เขาชอบที่สุดของ Pixar

“ชอบทุกอย่างของ Wall•E เลย ปกติชอบ Sci-fi อยู่แล้ว การทำ World Buliding ให้เชื่อว่าโลกเราเป็นอย่างนั้นแล้วมันยากมาก เพราะว่าพื้นที่มันใหญ่ แต่เรื่องนี้ทำได้ดีมากเลย”

ช้างมีโอกาสได้ทำงานทั้งที่ไทยและต่างประเทศ เขามองว่าวงการแอนิเมชันของทั้ง 2 ที่นั้นยังต่างกันอยู่มาก ซึ่งจุดประสงค์ของการเปิดออฟฟิศ Chaya Pictures ที่ไทยคือการทำงานให้ได้คุณภาพเท่าต่างประเทศ โดยทำทั้ง CG และ Visual Effect เหมือนกับที่ Sony

ปัจจุบัน Chaya Pictures ทำแอนิเมชันให้ทั้งไทยและจีน หากเป็นของไทยก็มีเรื่อง หนุมาน นักรบมนตรา ซึ่งทำบางส่วนให้กับ RiFF Studio กำลังจะเข้าฉายในปีนี้ มี The Lake หนังสัตว์ประหลาดที่ฉายปีที่แล้ว ซึ่งคว้ารางวัล Best Visual Effect มาครอง แล้วก็มีภาพยนตร์ที่ทำให้ค่าย Streaming ดังอีก 2 แห่ง

เมื่อเราถามว่า ที่ว่า ‘ต่างกัน’ นั้น เขาหมายถึงอะไรบ้าง เขาพูดถึงการขาดการสนับสนุนของภาครัฐ เพราะในด้านฝีมือ ทุกวันนี้เริ่มมีคนไทยไปทำงานต่างประเทศแล้วกลับมาแชร์ความรู้เยอะขึ้น คุณภาพก็ดีขึ้นจนเรียกว่าเข้าที่เข้าทางแล้ว

“ณ ปัจจุบันยังไม่เคยเจออะไรที่ยากกว่าการทำ Spider-Verse เลย ถ้าภาค 3 เริ่มวันนี้ พี่คงชักแม่น้ำทั้งห้ามาบอกตัวเองว่าจะไม่กลับไปทำ เพราะมันทั้งสนุกและทรมาน แต่ถ้าเป็นอีกสัก 3 เดือนก็คงลืมความทรมานนั้นไปแล้ว” ช้างหัวเราะ อยากจะมอบเหรียญผู้รักความท้าทายให้เขาจริง ๆ

“พี่คิดว่าภาค 3 จะยากกว่าภาค 2 เขาจะดันบาร์กันสุดจนปรอทแตก และมั่นใจว่าจะไม่มีใครทำได้เหมือน Sony อีกแล้ว หลังจากภาค 3 เขาก็คงไม่ทำต่อ เพราะใช้ทรัพยากรสูงมาก

“มี Fun Fact หนึ่งที่เขาพูดกันในอาทิตย์สุดท้ายก่อนจบงาน เขาบอกว่า ถ้าคน 1 คนทำทุกอย่างได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ภาคแรกจะใช้เวลา 4,500 ปีในการทำ ส่วนภาค 2 ใช้เวลา 7,500 ปี”

ขอบคุณสวรรค์ที่มีทีมงานเป็นพันคน พวกเราคงได้ดูภาค 3 กันในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ไม่ต้องรอถึงหมื่นปี!

ที่มาภาพประกอบ
  • www.gamesradar.com/spider-man-into-the-spider-verse-review
  • www.wired.com/story/spider-man-into-the-spider-verse-review
  • www.digitaltrends.com/movies/where-to-watch-spiderman-into-the-spider-verse
  • variety.com/2023/film/features
  • www.hollywoodreporter.com/news/general-news
  • en.hocmarketing.org
  • www.thedailybeast.com/obsessed
  • twitter.com/spiderverse/status

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์