เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า บ่อยครั้งที่บัณฑิตคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ จะทำงานไม่ตรงสายเสียทีเดียว บุคคลที่เราคุยด้วยวันนี้ก็เช่นกัน เขาออกห่างจากความเป็นสถาปนิก แต่ใช้ความรู้จากคณะเป็นพื้นฐานและไปได้ดีในหนทางที่เลือกเอง

เอก-กฤตภัค กุลบุศย์ เป็นผู้ก่อตั้งและพาร์ตเนอร์บริษัท Depth of Field (DOF) ที่ทำ 3D Visualization ทางสถาปัตยกรรม หรือถ้าอธิบายง่าย ๆ ก็คือ เป็นอาชีพที่อยู่เบื้องหลังการใช้คอมพิวเตอร์ทำภาพจำลอง 3 มิติให้ทุกคนดูก่อนที่อาคารจะสร้าง

โครงการ Sindhorn Village หลังสวน  Client : Siam Sindhorn Co., Ltd. - บริษัท Depth of Field
โครงการ Sindhorn Village หลังสวน
Client : Siam Sindhorn Co., Ltd.

นอกจากนั้น ออฟฟิศนี้ยังรับถ่ายภาพ ทำวิดีโอด้านสถาปัตยกรรม และยังมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ตามยุคสมัยเพิ่มเข้ามาเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น VR, AR หรือแม้กระทั่งการลงไปวิ่งเล่นในโลกเสมือนอย่าง Metaverse เขาและทีม DOF เรียกได้ว่าเป็นเหล่าคนสำคัญของวงการอสังหาริมทรัพย์มาแล้วกว่า 2 ทศวรรษ

ณ ออฟฟิศที่หน้าตาเหมือนร้านเกม (ช่างภาพของเราบอกมา) เอกจะเล่าที่มาที่ไปของอาชีพเจ๋ง ๆ ของเขา และแชร์มุมมองที่เขามีต่ออนาคตให้พวกเราฟัง

เป็นตำนาน

“พี่จบภาคสถาปัตยกรรมที่จุฬาฯ จบมาน่าจะเกิน 20 ปีแล้วนะครับ” เขาต้องเริ่มเล่าตั้งแต่สมัยเรียน ตอนที่ความสนใจทางด้านการทำภาพจำลองเริ่มก่อตัว

เวลานั้นยังคงเป็นยุคเริ่มต้นมาก ๆ ของงานคอมพิวเตอร์กราฟิก ไม่ได้มีโปรแกรมหลากหลายเหมือนอย่างทุกวันนี้ เอกบอกว่าแม้ในคณะเริ่มมีการสอน AutoCAD พื้นฐาน แต่นิสิตในยุคนั้นก็ยังใช้มือในการเขียนแบบและทำโปรเจกค์ และยังไม่ได้อนุญาตให้ทำงานส่งโดยใช้คอมพิวเตอร์

“ส่วนโปรแกรม 3D ที่เริ่มมีให้ใช้ตอนนั้นเป็น 3D Studio Max version แรก ซึ่งเราต้องฝึกกันเองทั้งหมด” เขาเล่าต่ออย่างเมามัน “อาจจะสงสัยว่ายุคนั้นฝึกเองยังไงใช่ไหมครับ ตอนที่อินเทอร์เน็ตทำได้แค่รับส่งอีเมล ไม่มียูทูบ ไม่มีเว็บสอน ไม่มีโรงเรียนไหนสอน คือข้างในโปรแกรมก็จะมี Help File และ Tutorial เล็ก ๆ เขียนเป็นตัวหนังสืออยู่ในนั้นแหละ เราช่วยกันอ่านและแปลกับเพื่อน ๆ แล้วก็ลองทำตาม ซึ่งก็ต้องใช้ความพยายามมากพอดู”

เพื่อนของเราซึ่งทำงานที่ DOF เล่าตำนานให้ฟังอย่างหนึ่งว่า ‘พี่เอก’ นี่แหละ คือคนแรกที่ขออาจารย์พรีเซนต์งานทีสิสด้วยคอมพิวเตอร์

เอก-กฤตภัค กุลบุศย์ ผู้ก่อตั้งบริษัท DOF นักสร้างภาพ 3 มิติทางสถาปัตย์ที่กำลังไปไกลถึงโลกเสมือน Metaverse
กฤตภัค กุลบุศย์ ผู้ก่อตั้งและพาร์ตเนอร์บริษัท Depth of Field (DOF)

“เป็นเรื่องเล่ามาถึงรุ่นนี้เลยใช่ไหมครับ” ตำนานที่ยังมีชีวิตหัวเราะเสียงดัง “ตอนนั้นพี่เขียนมือตามมาตรฐานที่ทางคณะเขาให้ทำแหละ แต่ว่าของเราพิเศษคือมี 3D Animation เพิ่มมาด้วยตามความสนใจ ทางอาจารย์ก็ลังเลว่าควรให้พรีเซนต์ไหม เพราะเขาอยากให้เด็กทุกคนเท่าเทียมกัน แล้วก็อาจจะไม่ได้คุยกันมาก่อนว่าจะให้หรือไม่ให้ พี่เองก็ไม่ได้แจ้งก่อนด้วย สุดท้ายเลยไม่ได้พรีเซนต์

“แต่ปีถัดมาอาจารย์ก็อนุญาตให้รุ่นน้องใช้คอมพิวเตอร์ได้ เหมือนเขาได้ไปประชุมกันเรียบร้อยว่า โอเค ถึงเวลาเปลี่ยนยุคแล้วล่ะ”

เอกไม่ได้คิดจริงจังว่าต่อไปจะทำอาชีพอะไร แต่เขารับงานทำ 3D ตั้งแต่ยังเป็นนิสิต เขาได้ไปช่วยอาจารย์ ได้มีลูกค้าเป็นของตัวเอง เมื่อเรียนจบ เขาและเพื่อนสนิทที่ฝึก 3D ด้วยกันมาอีกคน ช้าง-ธัชพล เลิศวิโรจน์กุล จึงเดินเส้นทางนี้ในชื่อบริษัท Depth of Field ไปโดยปริยาย และเปิดโรงเรียนถ่ายทอดวิทยายุทธให้คนอื่น ๆ ในเวลาไล่เลี่ยกัน

ถึงจะดูมีอาชีพเป็นหลักเป็นแหล่งแล้ว แต่เส้นทางการเรียนของเขาก็ยังไม่จบ หลังจากนั้นเขาได้ทุนเรียนต่อปริญญาโทภาคคอมพิวเตอร์ในงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่จุฬาฯ จบมาเป็นอาจารย์สักพัก แล้วก็ตัดสินใจไปเรียนต่อเพื่อเพิ่มทักษะอีก 1 ใบ

“ตอนนั้นในเมืองไทยเพิ่งเริ่มมีบริษัท Digital Magic (DM) เป็นบริษัทแรก ๆ เลยที่สร้างงานโฆษณาออกมาในลักษณะคอมพิวเตอร์กราฟิก ทำออกมาเป็นหิมะตกในเมืองไทย พอพี่เห็นปุ๊บก็คิดเลยว่า อันนี้แหละสิ่งที่เราอยากจะเรียน”

เอกไปแคนาดา เรียนด้าน 3D Animation และ Visual Effects อยู่ 2 ปี แล้วพบว่าตัวเองไม่ได้ชอบงานแอนิเมชันแบบการ์ตูน แต่ชอบงาน Visual Effects ที่นำ CGI ที่สร้างไปผสมกับของในโลกจริงที่เขาได้เรียนในปีที่ 2 เขาจึงนำส่วนนั้นกลับมาเป็น Service เพิ่มเติมในงาน DOF ซึ่งเป็นงานในวงการอสังหาริมทรัพย์ที่เขาสนใจมาแต่เดิม

เอก DOF : นักสร้างภาพ 3 มิติทางสถาปัตย์ที่กำลังไปไกลถึงโลกเสมือน Metaverse - โครงการ Dusit Central Park 
Client : Vimarn Suriya Company Limited
โครงการ Dusit Central Park
Client : Vimarn Suriya Company Limited
เอก DOF : นักสร้างภาพ 3 มิติทางสถาปัตย์ที่กำลังไปไกลถึงโลกเสมือน Metaverse - โครงการ Crossroads Maldives
โครงการ Crossroads Maldives
Client : Singha Estate PCL.

เป็นคนวาดรูป

DOF เป็นหนึ่งในบริษัทรุ่นบุกเบิกที่รับงาน 3D Visualization ทุกวันนี้ลูกค้าของพวกเขาคือผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เจ้าหลัก ๆ ทั้งหมดของประเทศไทย บริษัทออกแบบ รวมถึงลูกค้าต่างประเทศด้วย

อาชีพนี้ใช้ทักษะที่เหมือนหรือต่างกับสถาปนิกนะ – เราถาม

“อืม…” เขาลากเสียงยาวอย่างใช้ความคิด “เราเหมือนคนวาดรูปมากกว่า สถาปนิกต้องรู้จัก Design Planning การแก้ปัญหาอะไรต่าง ๆ แต่ของเราคือการเอาแบบที่สถาปนิกทำไว้หมดแล้ว เขียนภาพออกมาให้มันสวยที่สุด เพื่อที่จะขายสิ่งนั้นให้กับลูกค้าของเขาอีกทีหนึ่ง”

เอก-กฤตภัค กุลบุศย์ ผู้ก่อตั้งบริษัท DOF นักสร้างภาพ 3 มิติทางสถาปัตย์ที่กำลังไปไกลถึงโลกเสมือน Metaverse

แม้ความสามารถที่ใช้เป็นคนละส่วนกับงานออกแบบ คนที่ DOF ส่วนใหญ่ก็จบสถาปัตย์ สถาปัตย์ภายใน ภูมิสถาปัตย์ หรือออกแบบผลิตภัณฑ์ เอกบอกว่าพวกเขาต้องทำงานกับดีไซเนอร์ ต้องอ่านแบบ หากจบสายอื่นก็คงต้องใช้ความเข้าใจเรื่องอาคารมากเป็นพิเศษ

แรกรับพนักงานใหม่เข้ามา ทุกคนจะไม่ได้เริ่มทำงานทันที แต่ต้องผ่านการเทรนแบบฉบับของ DOF ทั้งในแง่เทคนิคและความงาม ให้มีตาที่มองความงามใกล้เคียงกันก่อนจึงจะปล่อยให้เริ่มงานได้

เอก DOF : นักสร้างภาพ 3 มิติทางสถาปัตย์ที่กำลังไปไกลถึงโลกเสมือน Metaverse - โครงการ King Power MahaNakhon  Client : Pace Development - King Power 
โครงการ King Power MahaNakhon 
Client : Pace Development – King Power 

เราถามเขาว่า อะไรคือตัวตัดสินว่างานงานหนึ่งดีหรือไม่ดี

“ถ้าเป็นสมัยเริ่มแรกคนอาจจะบอกว่า งาน 3D ที่ดีคืองานที่แสงและวัสดุดูเหมือนจริง อันนั้นก็เป็นคุณภาพหนึ่งที่อาร์ติสต์จะมุ่งไป แต่ถ้าบอกว่ามันเป็นแค่อย่างเดียวที่จะตัดสินว่างานดีหรือไม่ดี มันก็ไม่ใช่ งานที่เหมือนจริงไม่ได้แปลว่างานสวย มันมีส่วนที่ประกอบกัน คือเรื่องของ Eye Training ฝึกเรื่องมุมมอง เอ๊ะ ภาพที่สวยคืออะไร การจัดองค์ประกอบเป็นยังไง คุณภาพด้านสีเป็นยังไง เราดูคุณภาพด้าน Artistic ด้วย”

หลังจากที่ Render ภาพจนหนำใจ คนขี้เบื่ออย่างเอกก็ถึงจุดอิ่มตัว พร้อมพบกับสิ่งใหม่ที่น่าตื่นเต้นอย่างการถ่ายภาพและภาพยนตร์

“เราได้ไปเห็นคลิปวิดีโอพรีเซนต์งานสถาปัตย์ของต่างประเทศ อยู่ชิ้นนึง เป็นงานถ่ายจากอาคารจริงทั้งหมด แล้วก็ร้องโอ้โห 3D Animation หรือ 3D Rendering น่ะเราไม่เคยทำอะไรแบบนั้นได้” DOF Sky|Ground พาร์ตใหม่ของ DOF ที่ให้บริการ จึงถือกำเนิดขึ้น

เอก-กฤตภัค กุลบุศย์ ผู้ก่อตั้งบริษัท DOF นักสร้างภาพ 3 มิติทางสถาปัตย์ที่กำลังไปไกลถึงโลกเสมือน Metaverse

“บางทีชีวิตเราดำเนินไป เราค่อย ๆ เจอเหมือนกันนะว่าเราอยากทำอะไรอีก หรือว่ามันน่าจะพอขยายอะไรได้ กับอีกส่วนหนึ่งคือลูกค้า บางทีลูกค้าก็จะถามว่าคุณทำอันนี้ได้ไหม เราก็เริ่มขยายไปตามความต้องการ”

ถือเป็นความขี้เบื่อที่มีประโยชน์และมีไฟจริง ๆ

เอก DOF : นักสร้างภาพ 3 มิติทางสถาปัตย์ที่กำลังไปไกลถึงโลกเสมือน Metaverse - ภาพถ่ายโครงการ Gaysorn Village  Client : Gaysorn Group
ภาพถ่ายโครงการ Gaysorn Village
Client : Gaysorn Group

เป็นความตื่นเต้น

พาร์ตใหม่ล่าสุดที่เอกประจำอยู่ตอนนี้ก็คือ DOF VR ตั้งแต่ 3 – 4 ปีก่อนที่เทคโนโลยี VR, AR เข้ามาในประเทศไทย เหล่าลูกค้าผู้น่ารักก็ถามเขาอีกว่าทำได้ไหม

มีหรือที่คนชอบความท้าทายอย่างเขาจะตอบว่าไม่ได้

สิ่งที่เขาทำคือไปศึกษาต่อว่า DOF จะทำในส่วนนี้ได้มากน้อยแค่ไหน แล้วเริ่มลุยอีกตั้ง ปัจจุบันนี้เขามีพาร์ตเนอร์ที่จบทาง Computer Science และมี Programmer มาดูแลงานส่วนนี้ให้ลูกค้าเป็นที่เรียบร้อย

VR คือเหมือนเราเข้าไปอยู่ในอีกโลกหนึ่ง คล้าย ๆ กับเวลาที่เราฝันแล้วตัดขาดจากโลกจริง แต่ AR คือการซ้อนภาพที่สร้างขึ้นลงบนโลกจริง ซึ่ง DOF ก็นำทั้ง VR ทั้ง AR มาใช้กับวงการสถาปัตย์และอสังหาฯ

“สมัยเป็นนักเรียนเราใช้จินตนาการอย่างเดียว ที่เราออกแบบมันดีรึยัง แล้วเข้าไปอยู่จะเป็นยังไง ไม่มีใครรู้หรอก ถ้าเป็น 3D Render มันก็เห็นอยู่ในจอนั้น ๆ แต่พอเป็น VR มันเป็นเครื่องมือที่ทำให้เราเข้าไปเดินในชิ้นงานออกแบบได้ก่อนที่จะสร้างขึ้นจริง”

เอกบอกว่า VR นั้นใกล้เคียงความจริงเหลือเกิน โดยเฉพาะเรื่อง Sense of Scale หากเราเข้าไปเดินใน VR จะรู้ว่าห้องกว้างหรือแคบขนาดไหน เดินกี่ก้าวถึงตรงไหน ยังไม่มี Media อื่นที่มาแทนตรงนี้ได้

เราเองก็เคยลองใส่แว่น VR ดูงานสถาปัตยกรรมอยู่ครั้งหนึ่ง ตอนนั้น DOF ไปออกบูทร่วมกับคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ที่งานสถาปนิก นำงาน 3D ของนิสิตมาสัมผัสแบบ VR นับเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่มาก แค่เดินไปใกล้ระเบียงก็รู้สึกใจหวิวกลัวตกราวกับว่าภาพตรงหน้าเป็นของจริง

DOF VR : Interactive 3D Hologram - เอก-กฤตภัค กุลบุศย์ แห่ง DOF
DOF VR : Interactive 3D Hologram
DOF VR : Immersive Theater - เอก-กฤตภัค กุลบุศย์ แห่ง DOF
DOF VR : Immersive Theater

มากไปกว่านั้น หลังจากที่กระแส Metaverse เป็นที่พูดถึงในโลกเมื่อปลายปี 2021 หรือต้นปี 2022 ที่ผ่านมา ล่าสุดเอกและทีม DOF ก็ได้พยายามก้าวเข้าไปในโลกเสมือนใบนั้นกับเขาด้วย

“VR เป็นประสบการณ์ส่วนตัว เราเข้าไปเหงา ๆ คนเดียว ไม่เจอใคร เข้าไปแล้วก็ออกมา เราคิดตั้งแต่ตอน VR เริ่มแล้วว่า คงจะดีมากเลยถ้าเราเข้าไปกันได้หลาย ๆ คน” เอกพูด “แต่พอมี Metaverse มันทำได้ ใส่แว่น VR จากที่ไหนก็ได้ แล้วก็เข้าไปเจอกัน”

เขายกตัวอย่างการใช้งานด้วยการสมมติว่าตัวเองเป็นสถาปนิกภายใน หากมีโลกเสมือนนี้เขาก็จะพาลูกค้าที่อยู่ไกลไปดูแบบด้วยกัน แล้วอยากลองวางเฟอร์นิเจอร์ตัวไหนก็เรียกออกมาแสดงตรงนั้นได้เลย

“ถ้าเทคโนโลยีนี้สำเร็จจริง ๆ มันจะช่วยเรื่องของการออกแบบและการพรีเซนต์งานออกแบบได้เยอะมาก วิธีสื่อสารจะเปลี่ยนไปทั้งหมด ”

ตอนนี้ DOF กำลังร่วมมือกับ 3D Creator เบอร์ต้น ๆ ของไทยอย่าง DEC Media, OWL Studio และ Jom3D พัฒนาโปรเจกต์ Metaverse หนึ่งที่เรียกว่า Bangkokverse โดยพาร์ตแรกคือการทำโชว์เคส ‘First Space’ ซึ่งเป็น Virtual Space แรกบนโลกเสมือน มีบริษัทดีไซน์ที่มีชื่อเสียง อย่าง Design 103, Plan Architect และบริษัทสถาปนิกเจ้าอื่น ๆ มาร่วมสร้างผลงานออกแบบ แล้วให้ผู้คนจากทุกที่เข้ามาสัมผัส Space ร่วมกับคนอื่น จะเข้าผ่านมือถือ คอมพิวเตอร์ หรือแว่น VR ก็แล้วแต่สะดวก

BANGKOKVERSE : metaverse for real-estate & design industry
BANGKOKVERSE : metaverse for real-estate & design industry

เป็นไปได้ไหม?

แล้วก็มาถึงประเด็นสำคัญที่เราอยากรู้เป็นการส่วนตัว ช่วงเดือนที่ผ่านมามีกระแส AI วาดรูปตามคำสั่งได้อย่างน่าทึ่ง เราเลยตั้งใจมาถามว่าเขาคิดยังไงกับเรื่องนี้บ้าง

“จริง ๆ Midjourney ออกมานี่ สายงานที่เป็น Concept Artist เขาก็ต้องสะดุ้งบ้างแหละ ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่ง AI จะวาดรูปได้แล้วออกมาได้ขนาดนี้” เอกตอบพร้อมบอกว่าตนเองก็ลองเล่นแล้วเหมือนกัน “เขาคงต้องฉีกตัวว่ามีอะไรที่จะทำได้ดีกว่า AI”

แล้วถ้าถามถึงวงการที่เขาอยู่ล่ะ หากป้อนไปว่าอยากได้ห้องแบบไหน แล้ว AI ประมวลผลออกมาเป็นภาพที่ต้องการ คุณคิดว่าเป็นไปได้ไหม – เราถามอย่างคนไม่รู้

“เป็นไปได้ แต่เราเชื่อว่ามันมีขอบเขตบางอย่าง สุดท้าย AI อาจจะช่วยไกด์ได้ประมาณหนึ่ง แล้วเราใช้ตัวนั้นมาพัฒนาต่อดีกว่า เพราะว่าสุดท้ายก็ได้แบบไม่ตรงกับสิ่งที่เรากับลูกค้าคิด 100 เปอร์เซนต์หรอก ขนาดลูกค้าตรวจงานกับเรายังแก้แล้วแก้อีก กว่าจะได้สิ่งที่ถูกใจจริง ๆ

“งาน AI สวยก็จริง แต่พอเราต้องการอะไรที่เฉพาะเจาะจงมาก ๆ มันเริ่มไม่ได้แล้ว”

เอกบอกว่า เทรนด์ที่จะเป็นอนาคตของ Architectural Presentation จริง ๆ เลยก็คือ Metaverse ช่วงสิบปีที่ข้างหน้านี้ สถาปนิกคงต้องขยับไปดีไซน์สถาปัตยกรรมในโลกเสมือนมากขึ้น ถึงแม้ตอนนี้จะยังดูเหมือนว่าเป็นส่วนเสริม แต่เทคโนโลยีทุกอย่างก็กำลังเติบโต สุดท้ายแล้วทุกอย่างก็จะเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันปกติ

“ถ้าพูดถึงการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย” ผู้เชี่ยวชาญพูดต่อ “คิดว่าส่วนที่เราเรียนกันมาอยู่แล้ว การออกแบบสถาปัตยกรรม การสร้างสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโลกจริงก็ยังต้องมีเหมือนเดิมไปตลอด แต่คงมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างการสร้างโลกเสมือนเพิ่มมา

“เพิ่มแค่เป็นรายวิชาก็ได้ สมมติว่าถ้าคุณได้ไปออกแบบงานในโลกเสมือนที่ไม่ได้อยู่ในโลกจริง ๆ หลักการจะเป็นยังไงบ้าง ต้อง Concern เรื่องอะไรบ้าง ลองทำงานกันจริง ๆ ก็น่าจะเป็นประสบการณ์ที่ดีให้กับนักเรียนเหมือนกัน”

ก่อนจะจบการสัมภาษณ์ เราถามว่าเขารู้สึกยังไงกับชีวิตที่ได้ทำงานแบบนี้ ซึ่ง ‘สนุก’ และ ‘ภูมิใจ’ ก็เป็น 2 คำตอบที่เขาให้มา

สนุก เพราะเป็นสิ่งที่เขาสนใจ อยากจะทำให้ได้ ตลอดชีวิตการทำงานของเขา เขาสนุกกับการเรียนรู้สิ่งใหม่และทำออกมาให้สำเร็จ

ภูมิใจ ที่ DOF ได้อยู่ในระดับต้น ๆ ของประเทศและมีความน่าเชื่อถือในกลุ่มลูกค้า ได้ทำโปรเจกต์สเกลใหญ่ ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ใหม่, คิงเพาเวอร์ มหานคร, ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค, ทรู ดิจิทัล พาร์ค หรือสนามบินอู่ตะเภาใหม่ รวมถึงได้ทำงานบ้านส่วนตัวให้คนมีชื่อเสียงระดับโลก

ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้สำหรับเอก และ Depth of Field

เอก-กฤตภัค กุลบุศย์ แห่ง DOF เกี่ยวกับที่มาที่ไปของอดีต งานปัจจุบัน และอนาคตของวงการ 3D Visualization

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์