เรารู้จัก เต๋า-ภูศิลป์ วารินรักษ์ ศิลปินลูกทุ่งจากค่ายแกรมมี่ โกลด์ ครั้งแรกในภาพยนตร์เรื่อง อ้อมกอดเขมราฐ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความรักของหนุ่มสาว ท่ามกลางบรรยากาศสองฝั่งโขงที่ชวนให้คนดูอยากเก็บกระเป๋าไปสัมผัสธรรมชาติอันงดงามของเขมราฐสักที
ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายตั้งแต่ พ.ศ. 2559 นานจนเกือบลืมกลิ่นอายของวัฒนธรรมอีสาน-ลาว ที่ซุกซ่อนอยู่ในหนังเสียแล้ว กระทั่งได้มาเยือนบ้านของเต๋าในวันนี้
แน่นอนว่าบ้านของเขาไม่เหมือนฉากในภาพยนตร์ แต่กลิ่นอายความคิดถึงอีสานบ้านเกิดกลับแฝงอยู่แทบทุกซอกทุกมุมในโซนที่เขาต่อเติมขึ้นเป็นพิเศษ บ้างหลับใหลอยู่ในประตูไม้ที่ยกมาจากอีสาน บ้างสานไว้ในผ้าซิ่นนับร้อยผืน ฝากฝังผ่านรอยหมากบนผ้าถุงคุณทวด ประดับอยู่บนภาพขาวดำของคุณปู่คุณย่าที่เคารพ และหลอมรวมอยู่ในพระพุทธรูปศิลปะล้านช้างซึ่งตั้งใจหล่อขึ้นเองด้วยความรักและแรงศรัทธา
นี่เป็นเพียงน้ำจิ้มของความคิดถึงเท่านั้น เพราะความรักและความต้องการเก็บความทรงจำไว้ใกล้ตัวยังทำให้เต๋าเหมาพื้นที่ส่วนหนึ่งของตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อนำวัตถุโบราณอายุนับร้อยปีหลายสิบชิ้นกลับมาไทยหลายครั้ง
The Cloud ได้เป็นสื่อแรกในการทัวร์กึ่งเลกเชอร์กับเจ้าของบ้าน นอกจากจะม่วนสมการรอคอยแล้ว เรายังสนุกกับการเห็นเต๋าเผยความเนิร์ดในตัวออกมา โดยเฉพาะเรื่องที่เขาถนัดที่สุดอย่าง ‘หมอลำ’
“สมัย ม.2 นั่งรถโดยสารจากอุบลราชธานีไปบ้านโพน จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อหาซื้อผ้าแพรวา หมอลำสมัยก่อนถ้าลำคนเดียวจะเป็นได้ทั้งตัวละครชายและหญิง ตัวโกง นางร้าย จนถึงพ่อพญา เสนา อำมาตย์คอยตบมุก เอาผ้ามัดเอวจะเรียกว่าเป็นพระเอก พอเปลี่ยนเป็นสไบก็กลายเป็นผู้หญิง เอาไปโพกหัวแทนมงกุฎจะกลายเป็นพ่อพญา” เต๋าหยิบผ้าขึ้นมามัดให้ดูทันที


ห้องที่เขาพาเข้ามาตกแต่งด้วยสิ่งของหลากหลายสไตล์ แต่ทั้งหมดล้วนมีที่มาที่ไปและเข้ากันได้อย่างลงตัวระหว่างสไตล์ไทยกับประเทศอื่นในแถบตะวันออกและตะวันตก ถือเป็น ‘เซฟโซน’ ที่สุดของเขา
“บางทีผมก็จิบไวน์เป็นเพื่อนพระพุทธรูป” เขาทำท่าสงบนิ่งหน้าองค์พระรัตนะที่ตั้งอยู่ติดผนัง
ไม่ไกลจากกัน ภายในตู้ไม้ใบสีเขียวสด เต๋าทยอยหยิบผ้ากว่าร้อยผืนออกมาให้ดู หนึ่งในนั้นคือผ้าถุงอายุเกิน 100 ปี ของ คุณทวดทองศรี สารสมัคร หมอลำกลอนผู้ส่งต่อสายเลือกหมอลำเข้มข้นมาสู่เหลนชาย เต๋าตั้งใจเก็บผ้าผืนนี้ไว้บูชา เขาชี้ให้ดูว่าบนผืนผ้าทอมือสีดำนั้นยังมีคราบหมากซึมอยู่

“ผมซึมซับเรื่องราวเหล่านี้มาจากครอบครัวและคนรอบตัว สมัยก่อนเวลาใครอยากประชาสัมพันธ์ข่าว เขาก็ไปบอกหมอลำให้แต่งกลอนให้หน่อย อยากเรียนรู้อะไรก็ไปหาหมอลำ เรียกว่าเป็น Google กับ Youtube ยุคนั้นเลย เมื่อร้อยปีก่อนมีแค่หมอลำกับหมอแคนก็แทนวงทั้งวงได้
“หมอลำยุคก่อนไม่ได้จบปริญญา แต่เขามีความสามารถด้านการท่องจำกลอนลำได้อย่างแม่นยำ หมอลำ 1 เพลงยาวประมาณ 5 เพลงในยุคนี้ ต้องแก้กลอนสด ด้นสด อัจฉริยะเลย เขาจะขี่เกวียนไปตามหมู่บ้านเพื่อลำแลกข้าว เพราะตัวเองไม่ได้ทำนา” ลูกหมอลำถ่ายทอดสิ่งที่รับรู้มาจากคุณย่าให้ฟังแล้วหยิบผ้าผืนต่อไปขึ้นมา


ผ้าซิ่นตีนตวย หัวจกดาว สีพาสเทลจากจังหวัดอุบลราชธานีบ้านเกิดของเต๋าซึ่งเคยมีราชสำนักยาวนานกว่า 200 ปี เต๋าบอกว่าจังหวัดอุบลราชธานีเคยมีเจ้าเมืองและมีระบบการปกครองแบบอาญาสี่ โดยผ้าซิ่นตีนตวยถือเป็นสิ่งบ่งบอกฐานะผู้นุ่ง หากเทียบกับภาคกลางคงเปรียบเหมือนสถานะเจ้าหญิง ส่วนภาคอีสานจะเรียกว่า ‘อัญญานาง’ หรือภรรยาของเจ้าเมือง


คุณย่าผู้เลี้ยงดูและถ่ายทอดเรื่องหมอลำให้ฟัง
ผ้าหลายผืนคือความภูมิใจของเขา เพราะได้มาจากน้ำพักน้ำแรงที่ไปร้องเพลงตามงาน บางครั้งเต๋าเลือกไม่รับค่าตอบแทนแต่ขอรับเป็นผ้าไว้สะสม อย่างที่เล่าไปว่ายุคก่อนหมอลำแสดงเพื่อแลกกับข้าว ส่วนเต๋าร้องเพลงเพื่อแลกผ้า
เจ้าบ้านบอกว่า ผ้าที่เก็บมีหลายราคาตั้งแต่หลักพันขึ้นไป แต่การสะสมของเขาไม่เกี่ยวกับราคา ทุกอย่างเกี่ยวกับ ‘ความทรงจำ’ และประวัติศาสตร์ที่แฝงอยู่ในนั้นเช่นเดียวกับผ้าลาวผืนนี้
“ผืนนี้ได้มาตั้งแต่ตอนผมไปลาวครั้งแรกกับอาจารย์ใน พ.ศ. 2553 นั่งรถทัวร์จากกรุงเทพฯ ไปถึงเวียงจันทน์ หลายคนบอกว่าไทยลาวเป็นเพื่อนบ้านกัน แต่ที่จริงไม่มีคำว่าเพื่อนบ้านหรอก ไทย-ลาว อีสาน-ลาว ลาว-พม่า ลาว-เขมร เราแบ่งแยกประเทศเพื่อการปกครอง แต่วิถีชีวิตเป็นวัฒนธรรมร่วม” เราเองก็แทบแยกไม่ออกว่าผ้าผืนไหนเป็นศิลปะสัญชาติอะไร เพราะหลายอย่างคล้ายคลึงและกลมกลืน


นอกจากผ้าถุงคุณทวดจะเป็นตัวแทนครอบครัวซึ่งอยู่ห่างออกไปกว่า 600 กิโลเมตรแล้ว ความคิดถึงบ้านของเต๋ายังทำให้เขาตัดสินใจยกประตูไม้มาจากบ้านเก่าของตาที่อีสาน เพื่อทำเป็นประตูห้องน้ำและประตูห้องพระ
“คิดเสียว่าเป็นประตูที่เปิดไปเจออดีต นอกจากนี้ก็มีของใช้ของย่าที่เก็บเอาไว้ในตู้ ทั้งเครื่องเงิน กระเป๋าเงิน ผมคิดถึงทุกอย่าง เพราะไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่อีสานเป็นหลักแล้ว กลับบ้านก็อยู่ได้ไม่นานต้องกลับมาทำงานที่กรุงเทพฯ ต่อ ถ้ายกมาแบบนี้ก็พอช่วยให้หายคิดถึงได้”
เต๋าเดินนำเราเข้าไปยังประตูไม้อีกฝั่งที่แง้มอยู่ ภายในมีพระรัตนะปางห้ามสมุทร พระพุทธรูปสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้นประดิษฐานอยู่บนหิ้งจำนวน 6 องค์ แต่ละองค์อายุราว 150 ปี นี่คือห้องพระที่เปลี่ยนสไตล์แต่เข้ากับบ้านโมเดิร์นได้อย่างไร้ที่ติ แถมยังเป็นแหล่งของสะสมอายุรวมกันเยอะที่สุดในบ้าน


ด้านหลังองค์พระคือผนังและหน้าต่างไม้สักที่ยกมาจากภาคเหนือ และยังมีคันฉ่องจำลองจากของจริงที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ทัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
“ผมเริ่มจากความชอบนี่แหละ ไปบ้าน ครูไก่-สุรัตน์ จงดา ท่านเป็นผู้เรื่องวัฒนธรรมและบูชาพระเยอะมาก ผมเห็นว่าองค์พระงดงามเลยขอบูชาต่อ องค์แรกที่บูชาคือองค์ขวามือสุด หลังจากนั้นท่านก็เริ่มพาเพื่อนมาเพิ่ม
“บางองค์นิมนต์กลับมาจากต่างประเทศ มีนักสะสมต่างชาติเช่าไปอย่างถูกต้อง แต่พอเขาเสีย คนที่รับช่วงต่อกลับไม่เห็นคุณค่าเลยขายทิ้งไปที่ร้านเอเชีย พี่ที่ร้านขายของเก่าที่ไทยเลยไปนิมนต์กลับมา มีเอกสารครบ ก็คือพระรัตนจีวรดอกพิกุลองค์นี้เลย” เจ้าของห้องเล่าด้วยความศรัทธา เขาบอกว่าตัวเองเกิดวันอาทิตย์ แต่มีปางถวายเนตรเพียงองค์เดียว ที่เหลือเป็นปางที่ชื่นชอบ


ทางด้านขวาของหิ้งพระรัตนะคือโต๊ะประดิษฐานองค์พระศิลปะล้านช้างซึ่งหล่อขึ้นใหม่ตั้งแต่ 6 ปีก่อน บริเวณพระเกตุหล่อจากเงินแท้ มีพลอยกาญจนบุรีประดับ บริเวณพระโอษฐ์เป็นทองแดง โดยเต๋าได้สลักว่า ‘นายเกษม ศรีสมบูรณ์’ ซึ่งเป็นชื่อของตนเองเอาไว้ด้านหลัง พร้อมปีที่หล่อคือ พ.ศ. 2560
“ผมรักองค์นี้มากเลย ท่านอยู่กับผมมาตั้งแต่สมัยสร้างเนื้อสร้างตัว พระศิลปะล้านช้างมีเสน่ห์ตรงที่มีฐานสูงและถอดแยกส่วนได้ ผมไปขอให้พระอาจารย์ที่นับถือหล่อให้ ท่านก็แกะแบบเป็นศิลปะล้านช้างแล้วเจิม”


ชิ้นต่อมาคือพานเงินแท้สมัยรัชกาลที่ 6 อายุเกิน 100 ปี ราคา 100,000 บาท “ผ่อนหมดแล้วนะครับ ใครสนใจบอกได้” เต๋าหัวเราะ เขามีศิลปะหลายสัญชาติที่สะสมเอาไว้ แม้แต่ในห้องพระไทยก็มีเทพอินเดียและเทพเจ้าจีนอยู่ด้วย
เต๋าบูชาไฉ่ซิ่งเอี๊ยโดยเก็บเอาไว้ในตู้เก็บของ จนกระทั่งได้ออกรายการ บ้านดีผีคุ้ม ริว จิตสัมผัส โทรมาหาและบอกว่า “มีเทพองค์หนึ่งที่เธอบูชา ดูแลเขา แต่กลับเอาเขาไปขังไปไว้ในตู้” แล้วริวก็วาดภาพไฉ่ซิ่งเอี๊ยมาให้ เพราะท่านมาสื่อให้รับรู้ หลังจากนั้น เต๋าจึงนำภาพของท่านออกมาจากตู้และวางไว้ในห้องพระแทน


พระรัตนะหน้าโต๊ะทำงานที่เต๋ามักนั่งสงบใจด้วย
ออกจากโซนไทยมาสู่โซนตะวันตก เต๋าพาสิ่งของหลายอย่างเดินทางมาจากต่างแดน ชิ้นสำคัญคงหนีไม้พ้นกรอบรูปเปล่าที่ตั้งอยู่ด้านหลังพระรัตนะ ซึ่งเขาให้นิยามว่าเป็นของสะสมชิ้นแรกที่ตั้งใจสะสมอย่างจริงจัง
“ชิ้นนี้อายุ 111 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 1912 ด้านหลังมีตรา GGG ติดอยู่ว่า มาจากแกลลอรีที่บรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม หลังล้มเลิกกิจการ อย่างที่บอกว่าผมสนิทกับครูไก่ และ อาจารย์อนุชา ทีรคานนท์ อาจารย์เลยคอยแนะนำให้ ผมถึงรู้ว่าทางพิพิธภัณฑ์เขาเอาออกมาประมูล
“เวลาไปต่างประเทศ ผมจะชอบหิ้วของกลับมาตลอด อย่างตอนไปเอดินบะระ ประเทศสกอตแลนด์ ก็เดินเล่นในร้านขายของเก่าจนเจอกรอบรูปที่ไม่รู้ว่าเป็นภาพใคร วันนี้เพิ่งหาเจอ ปรากฏว่าคนในรูปคือผู้ว่าการแหลมกู๊ดโฮปที่อยู่แอฟริกาใต้ ซึ่งสมัยร้อยกว่าปีก่อนเป็นอาณานิคมอังกฤษ”


เต๋าเป็นนักช้อปเหมือนกัน – เราชม เขายิ้มแล้วหัวเราะออกมา
“นี่ยังน้อยนะ เวลาขนมาปกติเป็นตู้คอนเทนเนอร์ใหญ่ไปสุวรรณภูมิ ด้านในแบ่งเป็นช่องเล็ก ๆ เราก็เหมามาเลยหนึ่งช่อง เรียกว่าระบบ Door to Door คือเราชอบชิ้นไหนก็ชี้ในร้านที่ขายของนั่นแหละ กรอกที่อยู่ในกรุงเทพฯ จ่ายภาษี ค่าขนส่งให้เรียบร้อย ออกจากร้านของเก่าที่เอดินบะระแล้วอีก 3 เดือนเขาก็จะส่งขึ้นเรือมาถึงหน้าบ้านเราเลย”


นอกจากกรอบรูป เต๋ายังมีรูปปั้นบรอนซ์จากปารีสอายุ 130 กว่าปี พร้อมโต๊ะทำงาน บาร์น้ำ และพรมส่งตรงมาจากลอนดอนในล็อตเดียวกัน ส่วนที่ทีมงานของเรานั่งพิงอยู่นั้น คือโต๊ะสมัยนโปเลียน อยู่ในช่วงเทียบเท่าสมัยรัชกาลที่ 2 และนอกบ้านที่แดดส่องนั้นคือไหปลาร้าเก่าของคุณย่าที่ถูกประยุกต์เป็นกระถางต้นไผ่
หรือแม้แต่ของชิ้นเล็กชิ้นน้อยจากอิเกียต่างประเทศ หรือของทำใหม่ ไม่ได้มีประวัติส่วนตัวอันยาวนานอย่าง อ่างล้างหน้าจากสุโขทัยหรือก๊อกน้ำ ศิลปินหนุ่มคนนี้ก็เก็บสะสมเช่นกัน เพราะทุกอย่างล้วนทำให้เขาหวนคิดถึงความทรงจำที่มีโอกาสลืม
“คนมักถามผมว่าจะหิ้วมาจากเมืองนอกเลยหรอ ก๊อกน้ำเนี่ยนะ ที่ไทยก็มี แต่สำหรับผม คุณค่ามันไม่เหมือนกัน อย่างแจกันจีนอันนี้เป็นของทำขึ้นใหม่ แต่แฟนคลับของผมที่อยู่จีนเขาส่งมาให้ เท่านี้ก็มีเหตุผลให้เก็บเอาไว้แล้ว
“ส่วนของที่เก่าจริง ผมจะบอกก่อนว่า เก่าของใครแต่ใหม่ของผมนะ ถ้าจะมาอยู่ด้วยกันผมก็โอเค ขอแค่ทำให้เรามั่งมีก็พอ ไม่ต้องมาหลอกกัน” เต๋าหัวเราะ พอจะคาดเดาได้ว่าสื่อถึงอะไร

เรียกว่าบ้านหลังนี้คือการผสมผสานกันอย่างลงตัวระหว่างความโหยหาบ้านเกิดกับความชอบส่วนตัว เต๋าเลือกสิ่งของที่จะสะสมจากความถูกชะตา ถูกที่ และถูกเวลา ส่วนคำถามว่าเขาสะสมไปทำไม เต๋าผู้มีเพื่อนเป็นอาจารย์หรือคนที่มีวัยวุฒิสูงกว่ากล่าวว่า
“ก็คงเหมือนคนที่เกษียณแล้วที่พร้อมหาจุดสบายใจ คนอื่นกลับจากงานอาจไปปาร์ตี้ แต่ผมขอกลับบ้านมานั่งจิบไวน์ นั่งมองพระพุทธรูปให้ใจสงบ นี่คือเซฟโซนที่เราได้พักผ่อน ฟื้นฟูจากความเหนื่อยล้า หรือบางวันก็แค่หลับตา คิดถึงทุ่งนา บ้านเกิด คิดถึงคุณย่า ประมาณนั้นก็พอครับ” เขาทิ้งท้าย
แม้ตอนนี้เต๋าจะใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ มากกว่าบ้านเกิด แต่ตัวตนของเขายังไม่เปลี่ยนไป ความเป็นลูกอีสานยังไหลเวียนอยู่ในสายเลือด และอัดแน่นอยู่ในห้องที่เขาสร้างขึ้นเพื่อปลดปล่อยความเป็นตัวเอง
นี่คือที่ที่เขาชาร์จพลังอย่างเต็มเปี่ยม แล้วก้าวออกจากบ้านไปทำหน้าที่อย่างสุดความสามารถในฐานะเต๋า ภูศิลป์ ศิลปินลูกทุ่ง แกรมมี่ โกลด์ และลูกหลานหมอลำแห่งจังหวัดอุบลราชธานี

