เมื่อช่วงหลายสัปดาห์ก่อน มีตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง หลานม่า ของค่าย GDH ผุดขึ้นมาในโลกออนไลน์ ผมเป็นคนหนึ่งที่กดเข้าไปดูอย่างแบบไม่รีรอ หลายคนอาจมองเห็นภาพของหลาน อาม่า ครอบครัว และการหามาซึ่งเงินล้านก่อนอาม่าตาย (ชื่อหนังภาษาอังกฤษมันบอกงั้นนะ) แต่สิ่งที่ผมเห็นจากตัวอย่างภาพยนตร์นี้กลับไม่ใช่แค่เรื่องราวของหนัง แต่เป็นฉากหลังที่เห็นปั๊บชี้นิ้วไปที่จอปุ๊บ

“สถานีรถไฟตลาดพลูนี่”

สายตาคนบ้ารถไฟยังไงก็ต้องเห็นรถไฟทะลุออกมาสินะ

ภาพจากตัวอย่างภาพยนตร์ หลานม่า 

หลังจากกรอดูไปหลายรอบก็พออนุมานได้ว่า เรื่องนี้คงเป็นชีวิตประจำวันของคนไทยเชื้อสายจีนย่านตลาดพลู ซึ่งเป็นย่านเก่าแก่ ย่านของกิน และพื้นที่ชุมชนที่มีรถไฟสายวงเวียนใหญ่-มหาชัย เป็นเส้นทางคมนาคมหลัก ซึ่งรถไฟสายนี้เองก็เป็นทางรถไฟยุคแรก ๆ ของไทยที่เชื่อมระหว่างเมืองหลวงกับเมืองใหญ่ริมแม่น้ำท่าจีนอย่างสมุทรสาครมาแต่ไหนแต่ไร สินค้าการเกษตร สินค้าการประมง เคลื่อนย้ายขึ้นรถไฟจากมหาชัยเข้ามากรุงเทพฯ เป็นระยะเวลากว่าร้อยปี จึงเกิดชุมชนเกาะไปตลอดสองข้างทางรถไฟ ทั้งคลองสาน วงเวียนใหญ่ ตลาดพลู วัดไทร วัดสิงห์ บางบอน

บรรยากาศของฝั่งธนบุรีในอดีต 
ภาพ : ศิลปวัฒนธรรม

ก่อนจะมีรถไฟ ย่านตลาดพลูเป็นพื้นที่ตั้งรกรากมาตั้งแต่สมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น เดิมเป็นพื้นที่รกร้างริมแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม นั่นคือคลองบางกอกน้อยและคลองบางกอกใหญ่ ก่อนจะมีการขุดคลองลัดและกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงศิริราช ท่าพระจันทร์ ท่าช้าง อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน 

หลักฐานสำคัญที่บอกว่าคลองบางกอกน้อยและบางกอกใหญ่เป็นแม่น้ำสายเก่าที่ชัดเจนที่สุด คือการตั้งวัดอยู่ริมคลองทั้ง 2 สายเต็มไปหมด รวมถึงวัดปากน้ำภาษีเจริญที่ไม่ได้ติดแม่น้ำเจ้าพระยา แต่มีชื่อว่า ‘ปากน้ำ’ ซึ่งไม่ได้หมายความถึงปากแม่น้ำไหลลงทะเล แต่หมายถึงปากคลองที่ไหลลงแม่น้ำ

ชื่อตลาดพลูก็บ่งบอกความเป็นสถานที่นี้ ด้วยความที่ฝั่งธนบุรีในสมัยก่อนนั้นมีความเป็นเรือกสวนไร่นามากกว่าเป็นเมืองที่แผ้วถางใหม่ มีชาวจีนและมุสลิมอาศัยอยู่ก็ไม่น้อย ตั้งแต่ตลอดคลองบางไส้ไก่ไปจนถึงบางยี่เรือ ชุมชนย่านนี้มีการทำสวนพลู ปลูกต้นพลูที่เอาไว้กินกับหมากอย่างแพร่หลาย ในยุคนั้นที่คนยังกินหมากอยู่ ถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจในสังคมสมัยนั้นเลยก็ว่าได้ เมื่อมีการปลูกก็ต้องมีการขาย จึงเรียกพื้นที่นี้กันว่า ‘ตลาดพลู’

ทางรถไฟสายท่าจีน สถานีปากคลองสาน ปัจจุบันคือบริเวณพื้นที่ตลาดคลองสานพลาซ่า
ภาพ : Facebook : รักษ์คลองสาน

ในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 มีความเปลี่ยนแปลงต่อพื้นที่ตลาดพลูที่เคยสัญจรทางน้ำเป็นหลักมาก่อน เมื่อมีการตัดเส้นทางรถไฟเอกชนสายท่าจีนจากมหาชัยมาถึงปากคลองสาน สินค้าทางการประมง อาหารทะเล และเหล่าของกินของใช้จากมหาชัยขนขึ้นมาถึงกรุงเทพฯ อย่างง่ายดาย ทำให้ตลาดพลูและคลองสานกลายเป็นย่านการค้าสำคัญ ชุมชนเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มมีการตัดถนนเทอดไท เริ่มทำการค้าจากเดิมเป็นการเกษตร จนจุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่รัฐบาลมีนโยบาย ‘เลิกกินหมากพลู’ ทำให้สวนพลูที่เคยปลูกต้องยกเลิกไป 

หลัง พ.ศ. 2500 มีการขยายถนนเพิ่มเติม ซึ่งกระทบกับทางรถไฟสายมหาชัยด้วย เนื่องจากรัฐยกเลิกทางรถไฟช่วงปากคลองสานถึงวงเวียนใหญ่ มีการสร้างถนนทับทางรถไฟและปรับเปลี่ยนต้นทางของรถไฟสายมหาชัยเป็นสถานีวงเวียนใหญ่ (จากเดิมปากคลองสาน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา) ทำให้วงเวียนใหญ่กลายเป็นย่านการค้าใหม่ ตลาดพลูซึ่งอยู่ในถนนเส้นแยกลึกเข้ามาจึงซบเซาลง 

กลับมายืน ณ เวลาปัจจุบัน ถ้าเรานึกถึงเหล่าบรรดาอาหารแสนอร่อยที่หากินได้ตลอดทั้งวัน มีสูตรเก่าแก่รุ่นต่อรุ่น ตลาดพลูยังคงเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ยังนึกถึงอยู่ แม้ว่าในภาพปัจจุบันนั้น ความเป็นเมืองจะขยายเข้าไปจนความเป็นเรือกสวนไร่นาและสวนพลูหายไปหมดแล้วก็ตาม

ตลาดพลูเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงยากประมาณหนึ่งถ้าเดินทางด้วยรถไฟฟ้า เพราะอยู่ตรงกลางระหว่าง MRT ท่าพระ และ BTS ตลาดพลู (ที่ไม่ได้อยู่ตรงตลาดพลู) เส้นทางรถไฟเดียวที่ผ่านใจกลางตลาดพลูคือรถไฟ รฟท. สายวงเวียนใหญ่-มหาชัย ซึ่งเป็นสายที่ไม่ได้เชื่อมต่อกับรถไฟเส้นหลักจากหัวลำโพงและกรุงเทพอภิวัฒน์แต่อย่างใด ถ้าเราจะไปตลาดพลูอย่างง่ายที่สุด ก็คงมี 3 วิธี

วิธีแรก นั่ง MRT ไปลงสถานีท่าพระ แล้วเดินตามถนนรัชดาภิเษกมาเรื่อย ๆ ประมาณ 1 กิโลเมตร จะถึงสถานีรถไฟและย่านตลาดพลู 

วิธีที่ 2 นั่ง BTS ไปลงสถานีตลาดพลู แล้วเดินตามถนนรัชดาภิเษกมาประมาณ 2 กิโลเมตร ก็จะถึงตลาดพลู

วิธีที่ 3 เป็นวิธีที่คนที่อยากลองอะไรใหม่ ๆ หรือได้ดูชุมชนสองข้างทางรถไฟไปเรื่อย ๆ น่าจะชอบ คือไปเริ่มต้นที่สถานีรถไฟ รฟท. วงเวียนใหญ่ แล้วนั่งรถไฟต่อมาตลาดพลูในราคา 3 บาท ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 นาที จากสถานีต้นทาง

เรามาตลาดพลูด้วยวิธีที่ 3 ซึ่งง่ายที่สุดสำหรับเราแล้ว และการเดินทางด้วยรถไฟสายมหาชัยไปตลาดพลูจะเป็นอีกประสบการณ์หนึ่งสำหรับเราด้วย

สถานีวงเวียนใหญ่อยู่ตรงซอกเล็ก ๆ ก่อนถึงวงเวียนใหญ่ ถ้าใครมาถึงแล้วหาทางไปไม่เจอให้มองหางม้าเอาไว้ สถานีรถไฟจะอยู่ทางฝั่งนั้น สถานีรถไฟสายนี้ค่อนข้างแปลกจากสายอื่น ๆ คือมันพรางตัวไปกับชุมชนอย่างแนบเนียน จนสงสัยว่ารถไฟมาอยู่กับชุมชน หรือชุมชนค่อย ๆ กลืนสถานีและทางรถไฟเข้าไป 

รถไฟขบวนยาว 4 ตู้จากมหาชัยวิ่งมาสิ้นสุดสายที่นี่ นายสถานีออกมาโบกธงพร้อมบอกว่าอีกไม่กี่นาทีรถไฟขบวนนี้จะพร้อมออกไปมหาชัยอีกครั้ง ดูจากสายตาแล้วมีคนไม่น้อยเลยที่ขึ้นรถไฟสายนี้ 

คุณป้าที่อยู่บนรถบอกว่าไปมหาชัยเร็วกว่าทางถนนเอกชัยกับพระราม 2 จากวงเวียนใหญ่ไปมหาชัยวิ่งแค่ชั่วโมงเดียว ค่าตั๋ว 10 บาท แถมรถวิ่งเยอะแทบจะทุกชั่วโมงตั้งแต่เช้ามืดยันค่ำ ๆ จากตารางรถไฟที่แปะอยู่บนผนังแล้ว ถือว่าเป็นรถชานเมืองที่มีศักยภาพในการเอาคนจากชานเมืองเข้ามาในเมืองได้ดีทีเดียวเลยล่ะ แถมมีจุดเชื่อมต่อกับ BTS ที่วุฒากาศ และอนาคตจะต่อกับ MRT สายสีม่วงที่วงเวียนใหญ่แบบเสิร์ฟถึงที่เลยด้วย

รถไฟเคลื่อนตัวออกจากสถานีวงเวียนใหญ่ สองข้างทางไม่ชวนยื่นหน้าออกไปเท่าไหร่ เพราะทางรถไฟชิดกับต้นไม้และบ้านเรือนมาก อาจเป็นเพราะรถไฟสายนี้เคยเป็นเส้นทางของเอกชนมาก่อน เขตทางจึงแคบกว่าเส้นทางที่เป็นของกรมรถไฟ ด้านซ้ายของขบวนคือถนนเส้นเล็ก ๆ ที่ตัดขนานไปกับทางรถไฟยาวตลอดจนถึงตลาดพลู เราไปในช่วงเย็นแล้ว จึงเห็นบรรดาคนสูงอายุและคนละแวกนั้นออกมานั่งรับลมเย็นในหน้าร้อนที่หน้าบ้าน สายตามองรถไฟวิ่งผ่านไปขบวนแล้วขบวนเล่า เพียงแค่ 3 นาทีเศษ ๆ รถไฟดีเซลรางชานเมืองก็พาเรามาถึงชานชาลาสถานีตลาดพลู 

สถานีรถไฟตลาดพลูเป็นสถานีขนาดเล็กที่ขนาบไว้ด้วยบ้านเรือนและอาคารพาณิชย์ทั้งสองข้างทางรถไฟ มีทางรถไฟ 1 ทางวิ่งไม่มีทางหลีกเหมือนสถานีรถไฟทั่วไป 

อาคารสถานีทาสีเหลืองสด (ก็ไม่รู้ว่าทำไม) มีลักษณะสถาปัตยกรรมที่พอมองเห็นได้ว่าไม่ได้ต่างกับอาคารรถไฟคอนกรีตในช่วงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการเจาะช่องโค้งและแยกสัดส่วนระหว่างที่นั่งรอและชานชาลาอย่างชัดเจน บนชานชาลานอกจากเป็นที่รอรถไฟแล้ว ยังเห็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในอาคารพาณิชย์ฝั่งถนนเทอดไท ซึ่งหลังบ้านตรงกับทางรถไฟมานั่งพักผ่อนรับลมที่ชานชาลา

ปลายชานชาลาฝั่งตะวันตกทางไปมหาชัย คือถนนรัชดาภิเษกที่คร่อมทับทางรถไฟเอาไว้ ตรงนั้นแหละคือขุมทรัพย์ของทางเดินอาหาร

ร้านอาหารแบบสตรีตฟู้ดมากมายเกาะกลุ่มกันอยู่บริเวณนั้น เรามักจะมาที่นี่ช่วงเย็น เพราะถือว่าเป็นช่วงเวลาพิเศษที่จะกินได้หลาย ๆ ร้านโดยไม่มีเวลาจำกัด อีกปัจจัยหนึ่งคือที่นั่งของร้านเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นแบบเอาต์ดอร์ การมากินข้าวในช่วงแดดร่มลมตกจึงเป็นทางออกที่ดีของประเทศที่อากาศร้อนทะลุปรอท

เราเริ่มเดินสำรวจร้านอาหารจากสถานีรถไฟตั้งแต่ถนนเทอดไทไปเรื่อย ๆ มีร้านที่ตั้งป้ายว่า ‘เจ้าเก่า’ และ ‘ดั้งเดิม’ อยู่เต็มไปหมด จนบางทีก็สงสัยว่าร้านไหนคือเก่าสุดกันแน่ แต่ที่ไม่กังขาเลยน่าจะเป็นเรื่องรสชาติและความพิถีพิถันถึงเครื่องที่ทุกร้านมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองหมด 

บริเวณใต้สะพานลอยถนนรัชดาภิเษกเป็นแหล่งรวมสภาน้ำชาของเหล่าอากู๋ อากง อาม่าที่น่าจะมาใช้เวลาในช่วงค่ำพูดคุยกันพร้อมนั่งกินข้าวไปด้วย จุดนี้เป็นอีกพื้นที่ที่เราสำรวจร้านอาหารได้หลากหลาย มีทั้งก๋วยเตี๋ยว กุยช่าย ขนมไทย อาหารอีสาน ข้าวหมูแดง ข้าวหมูกรอบ ทอดมัน หรือจะเป็นร้านรวงสมัยใหม่ที่มีราเมง น้ำแข็งไส เรียกได้ว่าพบเจออาหารทุกชนิด ทุกรูปแบบ ได้ที่ใต้สะพานนี้

หรือจะกลับมาใกล้ ๆ กับทางรถไฟซึ่งเป็นพื้นที่ประจำของเรา ร้านอาหารกลุ่มใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่ปลายชานชาลา พร้อมคิวเข้าแถวรอซื้อกลับบ้านที่หางยาวพอ ๆ กับรถไฟ

เมนูที่น่าสนใจ คือข้าวหมูแดง ข้าวหมูกรอบ ก๋วยเตี๋ยวเกี๊ยวกุ้งลูกชิ้นปลา 

เราสั่ง 2 จานอย่างไม่รีรอ ข้าวหมูกรอบ 1 บะหมี่เกี๊ยวกุ้ง 1 รสชาติหวานเค็มของน้ำราดหมูกรอบเข้มข้น ตัดกับความกรอบกรุบของหมูกรอบแนมด้วยแตงกวา ซดน้ำซุปและเกี๊ยวกุ้งที่คล่องคอ ทำให้อาหารมื้อเย็นริมทางรถไฟดูพิเศษไปเลย

นอกจากของคาวแล้ว บัวลอยไข่หวานฝั่งตรงข้ามทางรถไฟก็ส่งสายตาเชิญชวนให้ข้ามไปกินอย่างไม่รีรอ 

บัวลอยหลากสีลอยอยู่ในกระทะทองเหลือง พี่ปู เจ้าของร้านค่อย ๆ ใช้กระชอนช้อนขึ้นมาแล้วถามว่าอยากใส่เครื่องอะไรบ้าง มีทั้งข้าวโพด เผือก ฟักทอง มะพร้าว ไข่หวาน ไข่เค็ม แต่ด้วยอานุภาพของอาหารจานหลักที่แน่นมาถึงลิ้นปี่แล้ว เราจึงขอหยุดไว้แค่ข้าวโพดกับไข่หวานเท่านั้น

พี่ปูบอกว่าขายที่นี่มา 11 ปีแล้ว ลูกค้าแวะเวียนมาเรื่อย ๆ บ้างตั้งใจมากินเลย บ้างก็กินของหนักก่อน แล้วมาตบท้ายด้วยขนมหวาน รสชาติบัวลอยของพี่ปูอร่อยใช้ได้ ตัวบัวลอยมีความหนึบหนับตัดกับข้าวโพดและไข่หวานเค็ม ๆ ปนหวาน ระหว่างที่นั่งกินไปก็มีรถไฟวิ่งผ่านมาให้สายตาไม่ว่าง ผลัดเวียนไปกับลูกค้าที่แวะเข้ามาซื้อบัวลอยกลับไปพร้อมถุงพลาสติกหอบหิ้วอีกหลายเมนู

ตลาดพลูในยุคที่รถไฟฟ้าเดินทางมาถึงต่างจากสมัยก่อนที่มีเพียงแค่รถไฟและรถเมล์ การมาถึงของรถไฟฟ้าพาคอนโดริมถนนรัชดาฯ ยาวไปจนถึง BTS ตลาดพลู คนต่างถิ่นเริ่มมาอยู่มากขึ้น ความต้องการอาหารง่าย ๆ เอาไว้กินในแต่ละมื้อแต่ละวันก็ยังคงเป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ 

นาฬิกาของตลาดพลูได้เปลี่ยนจากเรือกสวนไร่พลูมาเป็นย่านการค้า เป็นย่านที่อยู่อาศัย แหล่งของกิน และจะปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามการเปลี่ยนแปลงของเมือง ซึ่งเป็นที่น่าดีใจว่า แม้จะมีการเปลี่ยนไปของเมืองและชีวิตคน พื้นที่นี้ยังอนุญาตให้ความดั้งเดิมของรสอาหารและความเป็นอยู่ของคนในย่านยังอยู่ และไม่ได้เปลี่ยนไปมากเท่ากับหลาย ๆ พื้นที่ในกรุงเทพฯ 

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ