26 พฤศจิกายน 2019
26 K

ต้องยอมรับว่า เรารู้จักพิพิธภัณฑ์แห่งวัดปากน้ำภาษีเจริญนี้ ด้วยความบังเอิญ จากการที่ตัวแทนของพิพิธภัณฑ์ได้สมัครเข้าร่วมโครงการออกแบบการเรียนรู้ซึ่งทางทีม Museum Minds ได้ร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ด้วย จำได้เลยว่าทุกคนในการอบรมถึงกับอ้าปากค้าง เมื่อคุณต้นพงษ์ สิทธิพงษ์ ภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์ เปิดสไลด์แนะนำตัวพิพิธภัณฑ์ด้วยภาพ ‘พระมหาเจดีย์มหารัชมงคล’ สูงกว่า 80 เมตร ถอดแบบมาจากเจดีย์ของวัดโลกโมฬี จังหวัดเชียงใหม่ มีลักษณะทรงสี่เหลี่ยมแบบย่อมุมไม้สิบสอง ฐานเก้าชั้น และใช้งบประมาณในการสร้างกว่า 300 ล้านบาท 

“ในพระมหาเจดีย์นี้มีอยู่ 5 ชั้นด้วยกัน มีส่วนที่จัดเป็นพิพิธภัณฑ์อยู่ 2 ชั้น คือ ชั้น 1 ห้องมหาชนคุณารมณ์ ซึ่งจัดแสดงสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ และในชั้น 3 ห้องสังฆคุณารมณ์ ประดิษฐานพระพุทธรูปหลากหลายลักษณะ” คุณต้นพงษ์เล่า 

“พิพิธภัณฑ์ของเราเป็นที่นิยมอย่างมากในหมู่นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะคนญี่ปุ่น เนื่องจากสื่อมวลชนญี่ปุ่นที่ติดตามสังฆราชนิกายชินเนียวเอ็นมาทำข่าวเมื่อ พ.ศ. 2555 แล้วนำภาพข่าวไปเผยแพร่ ทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นพากันมาเยี่ยมชม จนเกิดเป็นกระแสในหมู่นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น ทำให้พระมหาเจดีย์มหารัชมงคลนี้ติดอันดับหนึ่งของสิบอันดับสถานที่และสิ่งที่ต้องทำเมื่อมาเมืองไทยของนิตยสารท่องเที่ยวญี่ปุ่น” 

พิพิธภัณฑ์แห่งวัดปากน้ำภาษีเจริญ พิพิธภัณฑ์ Hidden ใต้พระมหาเจดีย์วัดปากน้ำฯ 1 ใน 10 ที่ที่นิตยสารท่องเที่ยวญี่ปุ่นแนะนำ
พิพิธภัณฑ์แห่งวัดปากน้ำภาษีเจริญ พิพิธภัณฑ์ Hidden ใต้พระมหาเจดีย์วัดปากน้ำฯ 1 ใน 10 ที่ที่นิตยสารท่องเที่ยวญี่ปุ่นแนะนำ

พอได้ยินอย่างนี้ ทีมของเราก็อดรู้สึกเสียดายไม่ได้ ที่พิพิธภัณฑ์นี้กลับไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างในหมู่คนไทย เหมือนกับชาวต่างชาติ ว่าแล้วเราจึงถือโอกาสนัดแนะเข้าไปเยี่ยมชม สัมภาษณ์ และเก็บภาพเพื่อมาเขียนคอลัมน์เสียของเราเลย จะได้รู้กันว่าด้านในพิพิธภัณฑ์(ลับ )แห่งนี้ เขามีดีอะไรบ้าง 

วัดปากน้ำภาษีเจริญนั้นเดินทางไปไม่ยาก สามารถนั่งรถไฟฟ้าไปลงที่สถานีตลาดพลู แล้วนั่งรถสองแถวต่อเข้าไปไม่ถึง 10 นาทีก็จะไปจอดในบริเวณวัดเลย ด้านในมีป้ายบอกทางเป็นรูปการ์ตูนน่ารักๆ ชวนชี้ทางไปให้ไม่มีหลงแน่นอน

ในวันที่เราไปเยี่ยม คุณต้นพงษ์ออกมาต้อนรับเราด้วยรอยยิ้ม พร้อมเล่าประวัติความเป็นมาของวัดก่อนที่จะพาเราเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์ด้านในพระมหาเจดีย์ฯ เป็นการเกริ่นความไม่ธรรมดาของวัด 

พิพิธภัณฑ์แห่งวัดปากน้ำภาษีเจริญ พิพิธภัณฑ์ Hidden ใต้พระมหาเจดีย์วัดปากน้ำฯ 1 ใน 10 ที่ที่นิตยสารท่องเที่ยวญี่ปุ่นแนะนำ
พิพิธภัณฑ์แห่งวัดปากน้ำภาษีเจริญ พิพิธภัณฑ์ Hidden ใต้พระมหาเจดีย์วัดปากน้ำฯ 1 ใน 10 ที่ที่นิตยสารท่องเที่ยวญี่ปุ่นแนะนำ

“เรามีหลักฐานมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนกลางน่ะครับ ตั้งแต่สมัยพระเพทราชา ว่ามีวัดปากน้ำแล้ว ก็หลายร้อยปีแล้วล่ะ”

ภัณฑารักษ์ของเราชี้ให้เห็นว่า งานสถาปัตยกรรมและศิลปวัตถุที่อยู่คู่วัดเป็นฝีมือช่างสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และปรากฏอยู่ในบันทึกว่าได้รับสถาปนาเป็นพระอารามสำคัญในสมัยอยุธยา นอกจากนี้เมื่อพิจารณาจากหลักฐานที่พบ ก็คาดการณ์ได้ว่าช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์วัดน่าจะเจริญรุ่งเรืองมาก มีพระราชาคณะครองวัดสืบมาหลายรูป พอหลังสมัยรัชกาลที่ 3 ไปจนถึงปลายรัชกาลที่ 5 นอกจากบันทึกราชการแล้ว หลักฐานอื่นไม่ว่าจะในหนังสือ เรื่องเล่า ตำนาน หรือเรื่องของประวัติเจ้านายที่มาสร้างวังแถวนี้ แทบไม่ค่อยมีคนเอ่ยถึงวัดปากน้ำเลย แต่จะพูดถึงวัดอัปสรสวรรค์ วัดอินทาราม วัดจันทาราม วัดราชคฤห์ ที่อยู่ในละแวกเดียวกันเสียมาก แม้แต่ตอนที่ลูกระเบิดของสัมพันธมิตรทิ้งลงมาในคลองข้างวัดเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ยังมีบันทึกไว้ว่า 

“ระเบิดลงในคลองใกล้ๆ วัดหมู (วัดอัปสรสวรรค์)” โดยข้ามวัดปากน้ำไป จึงอนุมานภาพว่าช่วงเวลานั้น วัดปากน้ำน่าจะมีสภาพเหมือนกึ่งวัดร้าง พระเณรมีน้อย เสนาสนะทรุดโทรม ทั้งการคมนาคมก็ยากลำบาก จึงไม่เป็นที่สนใจของผู้คน กระทั่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อสด พระมงคลเทพมุนี (สด จนทฺสโร) มาเป็นเจ้าอาวาส วัดปากน้ำจึงเป็นที่รู้จักขึ้นมาอีกครั้งตั้งแต่นั้น

พิพิธภัณฑ์แห่งวัดปากน้ำภาษีเจริญ พิพิธภัณฑ์ Hidden ใต้พระมหาเจดีย์วัดปากน้ำฯ 1 ใน 10 ที่ที่นิตยสารท่องเที่ยวญี่ปุ่นแนะนำ

ก้าวแรกที่เราย่างเข้าพิพิธภัณฑ์ในชั้น 1 ของพระมหาเจดีย์ เราถึงกับเอามือทาบอก ด้วยคอลเลกชันวัตถุมีค่าที่มากมายมหาศาล เริ่มจากของเครื่องใช้ส่วนตัวของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ไปจนถึงของที่ได้รับบริจาคจากศรัทธาของลูกศิษย์ลูกหาที่มีตั้งแต่อุปกรณ์ที่แสดงถึงวิถีชีวิตพื้นบ้านไทย พระพุทธรูปแกะสลัก เรือเก่า รถม้า เครื่องเบญจรงค์ ตู้ลายรดน้ำ รวมไปถึงของที่มีมูลค่าสูงลิ่ว อย่างนาฬิกาโรเล็กซ์หรือรถเมอร์เซเดส เบนซ์ วินเทจรุ่น 300D Cardiolet ซึ่งอาจทำให้บางคนรู้สึกตะขิดตะขวงอยู่บ้าง อย่างไรก็ดี ในฐานะนักพิพิธภัณฑ์แล้ว เราต้องยอมรับว่า การนำของเหล่านี้มาเก็บรักษาและจัดแสดงในศาสนสถานเพื่อการศึกษานั้น ถือเป็นสาธารณประโยชน์ไม่แพ้การจัดแสดงในพื้นที่พิพิธภัณฑสถานอื่นๆ เลย

พิพิธภัณฑ์แห่งวัดปากน้ำภาษีเจริญ พิพิธภัณฑ์ Hidden ใต้พระมหาเจดีย์วัดปากน้ำฯ 1 ใน 10 ที่ที่นิตยสารท่องเที่ยวญี่ปุ่นแนะนำ
พิพิธภัณฑ์แห่งวัดปากน้ำภาษีเจริญ พิพิธภัณฑ์ Hidden ใต้พระมหาเจดีย์วัดปากน้ำฯ 1 ใน 10 ที่ที่นิตยสารท่องเที่ยวญี่ปุ่นแนะนำ
พิพิธภัณฑ์แห่งวัดปากน้ำภาษีเจริญ พิพิธภัณฑ์ Hidden ใต้พระมหาเจดีย์วัดปากน้ำฯ 1 ใน 10 ที่ที่นิตยสารท่องเที่ยวญี่ปุ่นแนะนำ

“เนื่องจากผู้คนที่ศรัทธาวัดของเรานั้นมีจำนวนมาก เรามักจะได้รับของบริจาคอยู่อย่างไม่ขาดสาย” คุณต้นพงษ์เล่า “เสียดายที่ผู้ชมจะสนใจเรื่องราคาที่แพงเป็นอันดับแรก แต่ในความจริงแล้ว พิพิธภัณฑ์ของเรามีของหลากหลายมากอย่างที่เห็น ทำให้เราสามารถนำเสนอความรู้กับผู้เข้าชมได้หลายหัวข้อด้วย”

หนึ่งในไฮไลต์ที่คุณต้นพงษ์นำเสนอเราคือ คอลเลกชันตาลปัตรและพัดยศกว่า 3,000 เล่ม ที่ถูกเลือกมาจัดแสดงรายล้อมไปในทุกๆ ชั้นของพระมหาเจดีย์ฯ ตั้งแต่ชั้น 1 โดยจะมีโซนจัดแสดงตาลปัตร หรือเรียกอีกอย่างว่าพัดรองที่ได้รับพระราชทานจากพระราชวงศ์โดยเฉพาะ เรียงรายแบ่งประเภทตามผู้ที่พระราชทานเป็นพระองค์ๆ ไป โดยตาลปัตรเล่มที่เก่าแก่ที่สุดที่บันทึกได้ของทางวัด ย้อนไปถึงงานพระราชทานเพลิงศพของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา ซึ่งเป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ตราของวัดที่ปรากฏในงานนั้น ต่อมาหลวงพ่อเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ยังได้นำมาเป็นตราวัดปากน้ำที่ยังคงใช้จนถึงทุกวันนี้ 

พิพิธภัณฑ์แห่งวัดปากน้ำภาษีเจริญ พิพิธภัณฑ์ Hidden ใต้พระมหาเจดีย์วัดปากน้ำฯ 1 ใน 10 ที่ที่นิตยสารท่องเที่ยวญี่ปุ่นแนะนำ
พิพิธภัณฑ์ Hidden ใต้พระมหาเจดีย์วัดปากน้ำฯ 1 ใน 10 ที่ที่นิตยสารท่องเที่ยวญี่ปุ่นแนะนำ

เรียกได้ว่าจุดเด่นประการหนึ่งของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ คือการเปิดโอกาสให้ผู้มาเยือนได้เปรียบเทียบวิวัฒนาการของการประดิษฐ์ตาลปัตร อาทิ พัดที่ได้รับพระราชทานรุ่น 30-40 ปีก่อน ด้ามจะเป็นไม้หรืองา บางทีมีฐานที่ทำจากงาทั้งชุด ซึ่งในปัจจุบันแม้ไม่ได้ใช้งาช้างในการประดิษฐ์พัดแล้ว แต่ความวิจิตรในการออกแบบสร้างสรรค์นั้นกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อันจะเห็นได้จากตาลปัตรของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ที่ใช้ช่างจากโรงฝึกศิลปาชีพ (ปัจจุบันคือสถาบันสิริกิติ์) โดยผสมผสานเทคนิคโบราณที่หลากหลาย ทั้งการปักดิ้น ปักเลื่อม ใช้ไม้โมกแกะสลักลาย และประดับด้วยปีกแมลงทับ 

พิพิธภัณฑ์แห่งวัดปากน้ำภาษีเจริญ พิพิธภัณฑ์ Hidden ใต้พระมหาเจดีย์วัดปากน้ำฯ 1 ใน 10 ที่ที่นิตยสารท่องเที่ยวญี่ปุ่นแนะนำ

ข้างๆ กันยังมีตาลปัตรที่ระลึกในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 10 โดยความโดดเด่นของตาลปัตรนี้เริ่มตั้งแต่รูปทรงของตัวพัดมีลักษณะที่เรียกว่าพัดหน้านาง ตามความนิยมในการทำตาลปัตร พื้นของพัดเป็นผ้าไหมสีน้ำเงิน ด้านหน้าได้ออกแบบลวดลายอย่างวิจิตร ตรงกลางปักตราพระราชลัญจกร ประจำรัชกาลที่ 10 ภายใต้นพปฎลเศวตฉัตร ล้อมด้วยสายสร้อยมหาจักรี ไขว้ด้วยเครื่องราชกกุธภัณฑ์ประกอบด้วย พระมหาพิชัยมงกุฎ มีพระมหาอุณาโลม ประกอบเลขมหามงคลประจํารัชกาลอยู่เบื้องบน พร้อมพระแสงขรรค์ชัยศรีกับพระแส้จามรี ไขว้อยู่เบื้องขวา ธารพระกรกับพัดวาลวิชนี ไขว้อยู่เบื้องซ้าย และฉลองพระบาทเชิงงอนอยู่เบื้องล่าง เบื้องซ้ายของตรามีคชสีห์ เบื้องขวามีราชสีห์ประคองอยู่ ทั้งยังแวดล้อมด้วยลายดอกพรรณพฤกษ์ มีริบบิ้นสีฟ้าปักพระปรมาภิไธยอยู่ด้านบน ล้อมด้วยริบบิ้นสีเหลืองปักชื่องานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ส่วนด้านหลังของพัดเป็นอักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร ที่บรรจงปักอย่างประณีตไม่แพ้กัน ส่วนด้ามเป็นไม้โมกมันแกะลายดอกพุดตาน ลงยาสีเขียว เรียกว่างามโดดเด่นสะดุดตาอย่างมาก

นอกจากตาลปัตรและพัดยศแล้ว เรายังสามารถเรียนรู้ประวัติศาสตร์ผ่านการเปรียบเทียบศาสนวัตถุชนิดอื่นๆ อีกด้วย ที่เห็นชัดเลยคือพระพุทธรูป โดยพระพุทธรูปที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ในชั้น 3 ส่วนมากมีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 24 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 หรือในสมัยอยุธยาถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นพระพุทธรูปไม้แกะสลัก ลงรักปิดทอง บางองค์ประดับกระจกที่ฐาน ฝีมือประณีตงดงาม มีทั้งพระพุทธรูปและพระสาวกในปางต่างๆ นอกจากนั้นยังมีพระพุทธรูปศิลปะต่างๆ เช่น พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย พระพุทธรูปสมัยเชียงแสน พระพุทธรูปศิลปะลาว พระพุทธรูปศิลปะพม่า พระพุทธรูปศิลปะลังกา พระโพธิสัตว์ศิลปะจีน ฯลฯ ซึ่งตรงนี้จะช่วยให้ผู้ชมสามารถเทียบเคียงความเหมือนและแตกต่างของศิลปะ ความเชื่อในแต่ละประเทศได้อย่างดี 

พิพิธภัณฑ์แห่งวัดปากน้ำภาษีเจริญ พิพิธภัณฑ์ Hidden ใต้พระมหาเจดีย์วัดปากน้ำฯ 1 ใน 10 ที่ที่นิตยสารท่องเที่ยวญี่ปุ่นแนะนำ
พิพิธภัณฑ์ Hidden ใต้พระมหาเจดีย์วัดปากน้ำฯ 1 ใน 10 ที่ที่นิตยสารท่องเที่ยวญี่ปุ่นแนะนำ

“สำหรับพระคัมภีร์ก็เช่นกัน คือเราจะมีคัมภีร์ทั้งแบบสมุดไทยที่มีลงรักปิดทอง ไปจนถึงวิธีการวาดภาพประกอบและภาษาเขียนที่หลากหลาย ถ้าใครสนใจวิวัฒนาการของคัมภีร์ใบลานในภูมิภาคนี้ก็สามารถมาศึกษาได้”

พิพิธภัณฑ์ Hidden ใต้พระมหาเจดีย์วัดปากน้ำฯ 1 ใน 10 ที่ที่นิตยสารท่องเที่ยวญี่ปุ่นแนะนำ
พิพิธภัณฑ์ Hidden ใต้พระมหาเจดีย์วัดปากน้ำฯ 1 ใน 10 ที่ที่นิตยสารท่องเที่ยวญี่ปุ่นแนะนำ

จากนั้นคุณต้นพงษ์พาเราขึ้นไปชั้นบนสุด เพื่อชมอีกหนึ่งไฮไลต์ที่ห้ามพลาดของที่นี่ นั่นก็คือ ‘เจดีย์แก้วมรกต’ สร้างจากกระจกหนา 1 เซนติเมตร แกะสลักด้วยมือ นำมาวางซ้อนกันจำนวน 800 ชั้น แต่ละชั้นผนึกแน่นด้วยกาวที่สั่งทำพิเศษ ทำให้มีความใสจนไม่เห็นรอยกาว ด้านยอดบนสุดของเจดีย์จะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมทั้งจะมีการสร้างเจดีย์ทองคำครอบบนยอดของเจดีย์แก้วอีกด้วย ขณะที่ฐานของเจดีย์แก้วจะใช้กระจกแกะสลักเป็นรูปพญานาคจำนวน 80 ตัวเท่ากับอายุของพระพุทธเจ้า ส่วนเพดานเป็นโดมสูง 10 เมตร ตกแต่งด้วยภาพเขียนอนันตจักรวาล โดยอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต รอบโดมนั้นยังมีเป็นภาพเขียนพระพุทธเจ้า ที่เป็นตัวแทนแห่งอดีตพุทธ 28 พระองค์

พิพิธภัณฑ์ Hidden ใต้พระมหาเจดีย์วัดปากน้ำฯ 1 ใน 10 ที่ที่นิตยสารท่องเที่ยวญี่ปุ่นแนะนำ

สุดท้ายเราปิดทริปที่ห้องสมุดศิริมงคล ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่เราประทับใจมาก นอกจากจะมีหนังสือหลากหลายให้อ่านแล้ว ในนี้ยังมีแมวเหมียวอีกหลายตัว เดินไปมาคอยออดอ้อนผู้มาเยือนอีกด้วย 

“ในฐานะห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ตั้งแต่ต้น เพราะไม่เพียงให้บริการหนังสือนักธรรม-บาลีแก่พระภิกษุสามเณรในวัดและที่มาเรียนหนังสือ แต่ยังให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปทั้งชาวบ้านรอบวัด นักเรียน นักศึกษา มีบริการให้ยืมคืนหนังสือเหมือนระบบห้องสมุดทั่วไป มีการจัดหาหนังสือใหม่และหนังสือความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ปัจจุบันห้องสมุดยังเป็นเสมือนห้องทำงานและคลังโบราณวัตถุเล็กๆ ของเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ด้วย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ภัณฑารักษ์ผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดเป็นเจ้าหน้าที่ชุดเดียวกัน จึงใช้ห้องสมุดเป็นสถานที่จัดเก็บโบราณวัตถุ ซ่อมรักษา ทำอุปกรณ์ รวมถึงทำงานด้านห้องสมุด ซึ่งมีการเก็บหนังสือเก่าและใช้เป็นสถานที่ทำกิจกรรมแก่นักเรียนใกล้เคียงที่มาใช้เวลาว่างทำกิจกรรมในพิพิธภัณฑ์” 

ส่วนเจ้าแมวทั้งหลายนั้น ในตอนแรกมีแค่ตัวเดียว มานอนป่วยอยู่ที่หน้าห้องสมุด ทีมงานที่เห็นจึงช่วยกันรักษาจนหายดี ต่อมาก็มีแมวมาขอความช่วยเหลือเพิ่มเรื่อยๆ จนกลายเป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของห้องสมุดที่นี่ไปแล้ว

พิพิธภัณฑ์ Hidden ใต้พระมหาเจดีย์วัดปากน้ำฯ 1 ใน 10 ที่ที่นิตยสารท่องเที่ยวญี่ปุ่นแนะนำ

สุดท้ายคุณต้นพงษ์กล่าวเชิญชวนว่า “ถ้าหากอยู่ใกล้หรือมีโอกาสแวะเวียนมาวัดปากน้ำภาษีเจริญ หลังจากสักการะขอพรหลวงพ่อสด พระมงคลเทพมุนีแล้ว อยากให้ลองเดินมาเที่ยวชมพระมหาเจดีย์และพิพิธภัณฑ์ ซึ่งอยู่ในอาคารเดียวกัน จะได้ทั้งความรู้ ความเพลิดเพลิน มีของแปลกๆ น่าสนใจที่หลายคนอาจจะไม่เคยพบเห็นที่อื่น และของที่อาจสร้างแรงบันดาลใจหรือเตือนให้ระลึกถึงสิ่งต่างๆ สถานที่ ผู้คนที่เรารู้จัก หรือจะแวะมานั่งอ่านหนังสือที่ห้องสมุดเย็นๆ ก็ยังได้” 

ถ้าจะตอบโจทย์ครบครันขนาดนี้ ใครที่ยังไม่เคยแวะเวียนมาแถวนี้ก็น่าจะลองมาเช็กอินซักครั้งหนึ่ง อย่าให้อายคนต่างชาติที่เขาจะรู้จักพิพิธภัณฑ์ในบ้านเรามากกว่าพวกเรากันเองซะแล้ว

Writer

Avatar

Museum Minds

ทีมที่ปรึกษาเฉพาะทางด้านปฏิบัติการพิพิธภัณฑ์แห่งแรกของประเทศไทย รับปรึกษาปัญหาหัวใจ (และคอลเล็กชัน และการสร้างสื่อศึกษา และวิเคราะห์ผู้เข้าชม และทำแบบประเมินนิทรรศการ) ให้มิวเซียมทั่วราชอาณาจักร

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล