15 พฤศจิกายน 2023
2 K

The Cloud x Swap & Go

ขอถามคนที่ใช้มอเตอร์ไซค์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ถ้าต้องเปลี่ยนมาใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า จะสนใจไหม

หลายคนอาจชั่งใจ เพราะคำที่เด้งขึ้นมาเมื่อนึกถึงมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า อาจเป็นคำว่า ‘ยังแพง’ แต่ก็ยัง ‘รักษ์โลก’ 

แต่ถ้าเราบอกว่า มีบริการให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่นอกจากช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมแน่ ๆ แล้ว ยังช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าของคุณได้อีก จะสนใจขึ้นหรือเปล่า

Swap & Go คือบริการที่เราพูดถึง พวกเขาเป็นแบรนด์สตาร์ทอัพน้องใหม่ภายใต้กลุ่มบริษัท ปตท. ที่เกิดขึ้นเพราะอยากสนับสนุนให้ผู้ใช้งานมอเตอร์ไซค์หันมาใช้งานรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ผ่านการให้เช่ารถพร้อมแพ็กเกจสลับแบตเตอรี่ที่คัดสรรคุณภาพได้มาตรฐาน

ผู้ใช้งานเพียงแค่จ่ายรายเดือนราคาเดียวแล้วเอารถไปใช้ พอแบตฯ หมดก็เอาไปเปลี่ยนในสถานีสลับแบตฯ ใกล้บ้าน สะดวก ง่ายดาย และประหยัด โดยเฉพาะกับคนที่เติมน้ำมันวันละหลายครั้งอย่างพี่ ๆ ไรเดอร์

ที่น่าสนใจคือ Swap & Go มีฝันใหญ่ พวกเขามุ่งมั่นจะสร้างโครงสร้างที่ซัพพอร์ตให้เกิดการใช้รถไฟฟ้า 2 ล้อมากขึ้นในประเทศไทย เพื่อให้บ้านเรามีสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่ น่ามอง และมีอากาศที่หายใจได้สะดวกขึ้นอีกนิด

ความเชื่อแบบไหนที่สร้าง Swap & Go ขึ้นมา บทสนทนาในบรรทัดถัดไปกับ อาวีมาศ สิริแสงทักษิณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สวอพ แอนด์ โก จำกัด จะเฉลยให้ฟัง

Research & Go

ไม่เกินจริงถ้าจะบอกว่า Swap & Go เกิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาหรือ Pain Point ของคนใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าอย่างแท้จริง

ย้อนกลับไปในปี 2019 ExpresSo ทีมนวัตกรรมของกลุ่มบริษัท ปตท. ที่ลงทุนกับธุรกิจใหม่ด้านเทคโนโลยีมองเห็นศักยภาพของธุรกิจที่ซัพพอร์ตรถไฟฟ้า EV 2 ล้อว่า ‘มาแน่’ เนื่องจากตอนนั้นประเทศไทยเริ่มมีการนำมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเข้ามา แม้จะมีจำนวนผู้ใช้เพียงหลักพันก็ตาม

โอกาสที่ทีม ExpresSo มองเห็นตรงกับวิสัยทัศน์ที่กลุ่ม ปตท. กำลังขับเคลื่อนอยู่เช่นกัน นั่นคือการสนับสนุนให้ผู้ใช้รถยนต์ 4 ล้อหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทน

“เรามองว่ารถไฟฟ้า 2 ล้อเป็นโอกาส เพราะในประเทศไทยมีคนใช้มอเตอร์ไซค์กว่า 20 ล้านคัน ใน 1 ปีมีการจดทะเบียนมอเตอร์ไซค์ใหม่กว่า 2 ล้านคัน ตลาดนี้เป็นตลาดที่กว้าง และถ้าเปลี่ยนให้คนไปใช้รถไฟฟ้า 2 ล้อได้น่าจะมีอิมแพกต์สูง” อาวีมาศเท้าความ

เหตุผลที่คนคนหนึ่งตัดสินใจเปลี่ยนจากมอเตอร์ไซค์ธรรมดามาใช้รถไฟฟ้าคืออะไร คำตอบอาจเรียบง่าย แค่ประหยัดกว่า 

“ช่วงที่บ้านเราค่าน้ำมันแพง หลายคนหันมาใช้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เพราะทำให้เขาเซฟเงินค่าพลังงานได้มากขึ้น โดยเฉพาะคนขับที่ให้บริการดิลิเวอรีในช่วงโควิด-19 ที่วันหนึ่งเขาต้องขับไกล เติมน้ำมันหลายรอบ การมีมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าช่วยให้เขาประหยัดและมีเงินเก็บมากขึ้น”

แต่เพราะเป็นของใหม่ในบ้านเรานี่แหละ ปัญหาหรือ Pain Point ของคนขับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าจึงหนีไม่พ้นจุดชาร์จที่หาได้ยาก ชาร์จแต่ละทีต้องใช้เวลานานมาก ประมาณ 2 – 3 ชั่วโมง แล้วแต่ความจุของแบตเตอรี่

นั่นคือไอเดียตั้งต้นของ Swap & Go ให้บริการสถานีสลับแบตเตอรี่ที่มีระบบชาร์จในตู้ด้วยระบบไฟที่เสถียรและมีประสิทธิภาพ แบตเตอรี่พร้อมให้ผู้ขับขี่มาสลับเปลี่ยนได้อย่างง่ายดาย ไม่เสียเวลารอชาร์จ

“เป้าหมายคือเราอยากเป็น Infrastructure ของการเติมพลังงานในรูปแบบใหม่ เพื่อให้คนหันมาใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ากันมากขึ้น” อาวีมาศกล่าวด้วยความหนักแน่น

“ก่อนจะออกโปรดักต์ตัวแรก เราเห็นตัวอย่างจากต่างประเทศที่มีรถไฟฟ้า 2 ล้อใช้แบบเดียวกัน เช่น ไต้หวันที่มีรถไฟฟ้า 2 ล้อแบรนด์ Gogoro เขาก็มีบริการ Battery Swap หรืออย่างในเมืองจีนก็มีเหมือนกัน เราไปศึกษาโมเดลนั้นว่าทำไมถึงเวิร์ก แล้วพบว่าบ้านเขาไม่ได้ต่างจากบ้านเรามากเท่าไหร่ เพราะประชากรของเขามีเยอะ คนขับส่วนใหญ่อยู่คอนโด หาที่ชาร์จยาก นี่จึงดูเป็นโอกาสทางธุรกิจ”

Pay, Download & Go

สินค้าตัวแรกของ Swap & Go คือเทคโนโลยี Battery Swap มีต้นแบบมาจากประเทศจีน ประกอบไปด้วยแบตเตอรี่ ตู้สลับแบตเตอรี่ และรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าให้เช่าครบชุด

แต่ก่อนจะปล่อยสินค้าตัวแรกออกไป ทีมมีการสำรวจตลาดดูก่อนเพื่อค้นหาลูกค้ากลุ่มเป้าหมายกลุ่มแรก สุดท้ายคำตอบที่ชัดเจนก็หนีไม่พ้นกลุ่ม ‘ไรเดอร์’ ผู้ให้บริการดิลิเวอรี เพราะเป็นกลุ่มที่ใช้น้ำมันเยอะ เติมน้ำมันวันละหลายครั้ง

“สมมติคนขี่เขาเติมน้ำมันวันละ 2 รอบ ตกวันละ 120 บาท แต่หากเทียบกับการใช้แบตเตอรี่ 1 วัน จะเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 90 – 100 บาท นั่นแปลว่าเขาคุ้มกว่าแล้ว” อาวีมาศอธิบาย เธอเสริมต่อว่าสิ่งหนึ่งที่จูงใจไรเดอร์ให้มาใช้อีกคือความสะดวกสบายในการสลับเปลี่ยนแบตฯ จากตู้ที่ทำได้ง่าย ไม่ต้องรอชาร์จให้เสียเวลา

‘สลับแบตไว ไปได้เร็ว ไม่ต้องรอชาร์จ’ จึงกลายมาเป็นสโลแกนของพวกเขาไปโดยปริยาย

และเมื่อรู้แล้วว่าเพนพอยต์ของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายคือการประหยัดเงินและความสะดวกสบาย ทีม Swap & Go จึงออกแบบโมเดลการจ่ายเงินให้เป็นแบบจ่ายรายเดือนหรือ Subscriptions ให้ไรเดอร์จ่ายราคาเดียว แต่สลับแบตเตอรี่ได้แบบไม่อั้น ยิ่งเพิ่มความคุ้มค่าให้ผู้ใช้ 

Swap & Go ยังมีสถานีสลับแบตฯ 30 สถานีใน พ.ศ.​ 2566 กระจายตัวอยู่ทั่วกรุงเทพฯ และมีแผนเพิ่มจำนวนให้ครอบคลุมการใช้งานมากขึ้น ซึ่งผ่านการเลือกสถานที่จากข้อมูลการใช้งานรถเยอะของไรเดอร์ มากกว่านั้น พวกเขายังมีการพัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือที่ผู้ใช้ค้นหาสถานีสลับแบตฯ และจองแบตฯ ก่อนไปถึงสถานี แถมยังมีบริการซ่อมฟรีและประกันการเดินทางให้ด้วย เรียกได้ว่าอำนวยความสะดวกอย่างที่เคยสัญญากับไรเดอร์ไว้จริง ๆ

Develop & Go

ไม่เพียงส่งเสริมการเติมพลังงานในรูปแบบใหม่ แต่ Swap & Go ยังฝันใหญ่กว่านั้น

พวกเขาอยากให้เมืองไทยมีระบบ Universal Battery หรือแบตเตอรี่มาตรฐานที่ใช้กับรถไฟฟ้าได้ทุกรุ่น

“ด้วยความที่แบตเตอรี่แพงมาก และมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าก็มีความหลากหลาย เราจึงอยากให้แบตเตอรี่เป็นเหมือนพลังงานใหม่ที่ใส่กับรถคันไหนก็ได้” อาวีมาศเผย

เพราะอยากให้แบตเตอรี่ของพวกเขาเซตสแตนดาร์ด สิ่งที่ตามมาคือการพัฒนาคุณภาพให้ตรงใจผู้ใช้มากขึ้น

หลังจากปล่อยแบตเตอรี่และรถโมเดลแรกออกไป ได้รับข้อเสนอแนะจากผู้ใช้งานให้พัฒนาความเร็วของรถที่เดิมขี่ได้เพียง 50 – 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งอาจอันตรายหากต้องขับขี่เร่งแซงรถใหญ่บนถนนในเมืองไทย อีกทั้งแบตเตอรี่รุ่นเดิมยังมีความจุน้อย แบตฯ หมดไวเกินไป ต้องเปลี่ยนหลายรอบ

Swap & Go ไม่รอช้า พวกเขาพัฒนาแบตเตอรี่ที่เร่งเครื่องได้ถึง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีความจุให้ขับขี่ได้มากถึง 100 กิโลเมตรก่อนต้องเปลี่ยนก้อนใหม่ ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังไปจับมือกับผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์แบรนด์อื่น เช่น I-Motor และ Stallions เพื่อพัฒนาระบบการใช้แบตเตอรี่เดียวกัน ให้ผู้ใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามีทางเลือกที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น

“ตั้งแต่ปล่อยโปรดักต์ออกไป หนึ่งในสิ่งที่เราไม่แน่ใจคือผู้ใช้จะอยากสลับแบตฯ หรือเปล่า แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือเขาทำนะ มันเวิร์กกับเขา เพราะมันสะดวก ใช้เวลาไม่เกิน 2 นาที ถ้าสลับคล่องแล้วอาจทำได้เร็วกว่านี้ด้วย

“อีกอย่างที่เราเคยกังวลคือลูกค้าบางคนอาจมองว่าเรามีสถานีสลับแบตฯ น้อย แค่ 30 สถานีเอง กลัวหาที่สลับแบตฯ ไม่ทัน แต่สุดท้าย ผู้ใช้ของเราก็ปรับพฤติกรรมได้ด้วยการวางแผนการเดินทางของเขาให้ประหยัดขึ้น และทำให้เขามีแรงจูงใจในการใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามากขึ้น” 

Swap & Go

ในฐานะผู้เล่นคนแรก ๆ ที่บุกเบิกตลาดนี้ เราอดสงสัยว่าในอนาคต Swap & Go และกลุ่ม ปตท. มองเทรนด์และความเป็นไปได้ของ EV ไว้อย่างไร

“เท่าที่เห็น เราคิดว่าเทคโนโลยีการสลับแบตฯ จะมา มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าก็จะมีความหลากหลายเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น แบตเตอรี่ก็น่าจะราคาดีขึ้น ในอีก 2 – 3 ปี เราน่าจะเห็นแบตเตอรี่ที่คนยอมจ่ายเงินให้มากขึ้น โดยเฉพาะในหมู่ไรเดอร์และคนขับมอเตอร์ไซค์ในชีวิตประจำวัน ในระยะยาว เราอาจได้เห็นจุดชาร์จที่ชาร์จเร็วขึ้น และมีแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น 

“เทรนด์ที่ต่อเนื่องมาจากอุตสาหกรรมนี้คือการทำให้แบตเตอรี่มี Second Life หรือทำให้วงจรชีวิตของแบตเตอรี่นั้นใช้ได้หลายรอบและยาวนานมากขึ้น มากกว่านั้น เราคิดว่าเราจะเห็นธุรกิจใหม่ ๆ ของคนไทยเกี่ยวกับรถไฟฟ้า 2 ล้อมากขึ้นเมื่อมันเป็นที่นิยมมากขึ้น”

ส่วน Swap & Go เอง พวกเขามีแผนจะเร่งขยายสถานีและร่วมงานกับแบรนด์ใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น ในขณะเดียวกันก็อยากพัฒนาคุณภาพของแบตเตอรี่ให้ดี และทำให้ราคาย่อมเยาลง เพื่อสร้างสังคมที่คนหันมาใช้ EV เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอย่างที่ตั้งใจ

“เราโชคดีที่เป็นสตาร์ทอัพที่มีอยู่ภายใต้เครือ ปตท. และ OR ซึ่งเห็นความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อมและพร้อมจะซัพพอร์ตสังคมไทยให้ดีขึ้น พูดแล้วอาจฟังดูดี แต่วิสัยทัศน์ของบริษัทเป็นอย่างนั้นจริง ๆ เพราะเรามีจุดมุ่งหมายว่าจะทำให้คาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2025 

“หากมองในมุมของการใช้มอเตอร์ไซค์ ลองจินตนาการสิว่า ถ้ามอเตอร์ไซค์ 20 ล้านคันของคนไทยเป็นมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า PM 2.5 จะลงลงเท่าไหร่ เพราะมีผลวิจัยออกมาว่าการใช้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า 4 แสนคันจะลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้เท่ากับการปลูกต้นไม้ 5 แสนต้น นี่แสดงให้เห็นว่า ถ้าทุกคนพร้อมใจกันเปลี่ยน โอกาสที่เราจะเซฟสิ่งแวดล้อมไปด้วยกันมันก็เกิดขึ้นได้เลย

“มีผู้ใช้ของเราหลายคนที่มาบอกกับเราว่าเขาเริ่มใช้เพราะประหยัด ใช้แล้วทันสมัย แต่หลังจากใช้ไปสักพัก เขารู้สึกว่าเขาได้ช่วยโลก สิ่งนี้มันมีความหมายกับเรามากนะ เพราะแบรนด์ของเราไม่ได้ใหญ่ แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนเห็นความสำคัญและมีมายด์เซตว่าสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เขาทำมันช่วยโลกได้จริง ๆ และเราจะช่วยกันเปลี่ยนแปลงจากสิ่งเล็ก ๆ นี้ไปด้วยกัน” อาวีมาศปิดประโยคด้วยรอยยิ้ม

Lessons Learned

  • แม้ตลาดจะดู Niche แต่หากมีแรงจูงใจดีมากพอ ลูกค้าก็พร้อมเปลี่ยน
  • การทำความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายคือเรื่องสำคัญในการเจาะตลาด
  • จุดแข็งของงานบริการคือการแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด

ภาพ : Swap & Go

Writer

พัฒนา ค้าขาย

พัฒนา ค้าขาย

นักเขียนชาวเชียงใหม่ผู้รักทะเลและหนังสุขซึ้ง สนใจประเด็น gender ความสัมพันธ์ และเรื่องป๊อปทุกแขนง