20 กันยายน 2021
10 K

เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว บริษัทใหญ่ที่มีอายุหลายทศวรรษไม่อาจนิ่งนอนใจได้เหมือนเคย ต้องปรับตัวให้เท่าทันทั้งทางด้านเทคโนโลยีและสังคม

แต่การสร้างสรรค์และคิดค้นนวัตกรรมภายใต้โครงสร้างเดิมที่มีอยู่เป็นเรื่องไม่ง่าย อาจติดขัดกระบวนการ ใช้เวลานาน ต้องฝ่าฟันผู้คนหลายด่านกว่าไอเดียบนกระดาษจะเห็นแสงตะวัน

บริษัทใหญ่จึงมักตั้งหน่วยงานขนาดเล็กแยกออกมา เพื่อให้ทดลอง ลงทุนในนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ๆ ที่ต่างไปจากเดิม เปรียบเสมือนเรือลำเล็กที่เดินทางไปผจญภัยในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ได้อย่างอิสระเสรีกว่า โดยยังมีทรัพยากรจากเรือลำใหญ่พกติดตัวไปด้วย

ปตท. คือบริษัทพลังงานระดับประเทศที่ทำเช่นนี้ตั้งแต่เมื่อ 5 ปีก่อน ผ่านหน่วยงานที่ชื่อ ‘ExpresSo’ (ย่อมาจาก Express Solutions) ด้วยสมาชิกหลักสิบชีวิตที่มีเป้าหมายการสร้างธุรกิจใหม่ให้ ปตท. โดยไม่จำกัดอยู่แค่เรื่องพลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้คน ตามวิสัยทัศน์ของบริษัทที่ว่า ‘Powering Life with Future Energy and Beyond’

ExpresSo ทีมนวัตกรรมขนาดเล็กที่สร้างธุรกิจเพื่ออนาคตให้องค์กรใหญ่อย่าง ปตท.

ภายใน ExpresSo มีทั้งหน่วยงานที่ร่วมมือและลงทุนในกองทุน สตาร์ทอัพและบริษัทเพื่อการเติบโตร่วมกัน หรือที่เรียกว่า Venture Capital (VC)

และหน่วยงานที่ลงมือสร้างนวัตกรรมหลากหลายขึ้นมาตั้งแต่ศูนย์ด้วยตัวเอง โดยอาจต่อยอดจากเทคโนโลยีที่ VC ไปศึกษาหรือลงทุนมา เรียกว่า Venture Builder (VB)

ในวันที่บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ทั่วโลกถูกท้าทาย ต้องตื่นตัวและมองหาช่องทางการปรับเปลี่ยนให้ธุรกิจตัวเองปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) หรือกระทั่งเป็นลบ ด้วยการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่มากกว่าเพื่อรับผิดชอบสังคม The Cloud นัดหมาย 4 ตัวแทนของทีมงานคนรุ่นใหม่ใน ExpresSo ที่ต่างเคยทำงานในหน่วยงานอื่นของ ปตท. ก่อนเข้ามารับภารกิจสำคัญนี้ เพื่อคุยถึงเบื้องหลังการทำงานที่หลายองค์กรน่าเรียนรู้และนำไปใช้งาน

เพราะอนาคตมักมาถึงเร็วกว่าที่คิด และการรักษาโลกใบนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่รอไม่ได้ ถึงเวลาแล้วที่องค์กรไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ต้องปรับความคิด วิธีการทำงาน และเดินหน้าหาโอกาสใหม่ไปร่วมกัน 

ลงทุนในธุรกิจแห่งอนาคต

แม้จะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างลึกซึ้ง แต่ไม่มีใครรู้และทำเองได้ทุกอย่าง 

VC จึงเป็นหน่วยงานสำคัญที่ก่อตั้งขึ้นมา เพื่อช่วยให้องค์กรใหญ่ๆ มีโอกาสเรียนรู้จากสตาร์ทอัพที่ถนัดเฉพาะด้านและเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็ว แลกกับการลงทุนเพื่อช่วยผลักดันการเติบโต โดย VC ของ ExpresSo สนใจด้านพลังงานหมุนเวียน ความยั่งยืน และโซลูชันสำหรับใช้งานในอุตสาหกรรมเป็นหลัก ทั้งในไทยและต่างประเทศ

“เวลาพิจารณาการลงทุน เราดูว่ากองทุนหรือบริษัทที่จะเข้าไปลงทุนทำสิ่งที่ตรงกับวิสัยทัศน์ของ ปตท. หรือเปล่า ถ้าทิศทางตรงกัน เราจะดูว่าขนาดของตลาดใหญ่เพียงพอต่อการขยายไหม หลังจากนั้นดูว่าทีมที่ทำงานมีประสบการณ์และศักยภาพจะแก้ปัญหาที่เขาทำได้ดีไหม พวกเขาเชื่อในสิ่งเดียวกันจริงหรือเปล่า เพราะทำสตาร์ทอัพจะมีช่วงที่เครียดอยู่แล้ว เกิดไม่รักกันจริง อาจวงแตกตั้งแต่ไม่กี่เดือนแรก” ไกด์-เปรมปรีดี กิติรัตน์ตระการ Investment Director กล่าว เขาอยู่ ปตท. มานานกว่า 10 ปี และมีประสบการณ์นำการลงทุนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก่อน

ExpresSo ทีมนวัตกรรมขนาดเล็กที่สร้างธุรกิจเพื่ออนาคตให้องค์กรใหญ่อย่าง ปตท.

การลงทุนของ ExpresSo ไม่ได้เป็นเพียงทางการเงินเท่านั้น แต่จะช่วยให้คำปรึกษา เชื่อมโยงกับบริษัทอื่นๆ ในเครือข่าย และนำเสนอโซลูชันให้บริษัทในเครือ ปตท. ได้ใช้งาน กลายเป็นว่าสตาร์ทอัพมีโอกาสเติบโตและได้ทดลองใช้งานผลิตภัณฑ์กับลูกค้าจริง เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน

ยกตัวอย่างเช่น Sunfolding บริษัทในสหรัฐอเมริกาที่พัฒนาระบบ Solar Tracking ช่วยให้การผลิตพลังงานแสงอาทิตย์มีต้นทุนถูกลง และสูญเสียพลังงานในการผลิตระหว่างกระบวนการน้อยลง ตรงกับเป้าหมายการพัฒนาด้านพลังงานสะอาดของ ปตท.

และ HG Robotics (HiveGround) บริษัทผู้พัฒนาหุ่นยนต์อัตโนมัติและโดรนสัญชาติไทย แม้ไม่ได้เกี่ยวกับธุรกิจหลักที่ดำเนินการเป็นปกติของ ปตท. แต่โซลูชันของ HG Robotics ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนดีขึ้นอย่างมาก เช่น การใช้โดรนทางการเกษตรที่แบ่งเบาความเหน็ดเหนื่อยของเกษตรกรและทำงานได้อย่างรวดเร็ว เป็นตลาดแห่งอนาคตที่ ปตท. หันมาให้ความสำคัญ

ExpresSo ทีมนวัตกรรมขนาดเล็กที่สร้างธุรกิจเพื่ออนาคตให้องค์กรใหญ่อย่าง ปตท.

นี่คือ 2 ตัวอย่างเท่านั้น ExpresSo ยังดูแลอีกหลายการลงทุนและเปิดรับโอกาสใหม่

“ตอนนี้ในไทยยังมีผู้เล่นด้านความยั่งยืนน้อย เราอยากเชิญชวนคนที่สนใจลองคิดถึงการทำงานในแวดวงนี้ดู อาจเป็นเรื่องยากในตอนเริ่มต้น แต่ถ้าได้ทำงานร่วมกันกับ ปตท. ที่มีประสบการณ์และสนใจด้านนี้อยู่แล้ว น่าจะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น” ไกด์ฝากถึงคนที่กำลังปลุกปั้นสตาร์ทอัพหรือธุรกิจของตัวเอง เพราะประเทศเรายังคงต้องการคนคิดโซลูชันด้านนี้อีกมาก

ทดลอง เรียนรู้ สร้างนวัตกรรม

ในส่วนการสร้างธุรกิจใหม่ เราขอหยิบยก 3 โปรเจกต์และสตาร์ทอัพของ 3 ผู้ประกอบการภายในบริษัท ที่ถือเป็นดาวรุ่งน่าจับตาอย่าง Swap & Go, ReAcc และ MekhaTech 

ก่อนที่ 3 ไอเดียนี้จะเกิดขึ้นจริงเป็นธุรกิจ ทีม ExpresSo ทดลองไอเดียอื่นมาเยอะ ผิดพลาดและค่อยๆ เรียนรู้ว่าไอเดียใดมีโอกาสไปต่อ มีคนในองค์กรพร้อมทำ จังหวะตรงกับพัฒนาการของเทคโนโลยีและความต้องการของตลาดที่ใหญ่เพียงพอ จนกลายมาเป็นธุรกิจแบบทุกวันนี้

แม้จะทำงานกันคนละด้าน แต่โจทย์ที่พวกเขาเจอระหว่างทางล้วนมีลักษณะคล้ายคลึงกันคือ การปรับตัวตามโลกแห่งความเป็นจริงที่มีรายละเอียดซ่อนอยู่เยอะ การสื่อสารกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายให้เข้าใจความสำคัญของนวัตกรรมที่อาจมาทดแทนสิ่งดั้งเดิม และแบกรับความเสี่ยงที่ต้องเกิดขึ้น เมื่อลงมือสร้างสิ่งใหม่ที่ยังไม่มีใครรู้คำตอบ ตามธรรมชาติของการสร้างนวัตกรรม

Swap & Go สถานีสลับแบตเตอรี่สำหรับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า

ช่วงปีที่ผ่านมา เริ่มมีคนและบริษัทใหญ่ๆ เช่น บริษัทขนส่งหรือเดลิเวอรี่ หันมาให้ความสนใจและใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สอดคล้องกับการตื่นตัวเรื่องยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก

แต่ปัญหาที่ผู้ใช้งานต้องเจอในประเทศนี้คือ การชาร์จแบตเตอรี่แต่ละครั้งยังต้องใช้เวลานาน ทำให้ไม่อาจขับขี่หรือทำงานได้อย่างต่อเนื่องเท่าที่ควร และอาจไม่รู้ว่าจะไปชาร์จที่ไหนดี

Swap & Go มองเห็นช่องว่างตรงนี้ จึงสร้างแพลตฟอร์มและโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งสถานีสลับแบตเตอรี่ แบตเตอรี่ รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และแอปพลิเคชัน ช่วยให้ผู้ขับขี่ตรวจสอบสถานะของแบตเตอรี่ ตามหาสถานีสลับแบตเตอรี่และจองแบตเตอรี่ล่วงหน้า เมื่อไปถึงที่หมายแล้ว เพียงสมัครแพ็กเกจกับบริษัท เชื่อมต่อกับรถผ่านแอปพลิเคชันและชำระเงิน ก็สลับเอาแบตเตอรี่ใหม่ไปใช้ได้เลย ไม่ต้องรอชาร์จนานเหมือนเคย ง่าย สะดวก และทันสมัย รวมทั้งปลอดภัยตามมาตรฐานระดับสูงของ ปตท.

“ไอเดียนี้เกิดขึ้นจากที่ VC ลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในสตาร์ทอัพด้านโซลูชันการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์สี่ล้อแล้วเราลองวิเคราะห์โอกาสดู เห็นว่าตลาดรถยนต์สองล้ออาจจะเวิร์กในไทย เพราะเรามีจำนวนรถประเภทนี้มากถึงยี่สิบล้านคันในประเทศ ถ้าเราเปลี่ยนให้คนหันมาใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่แบบนี้ได้ ก็เปลี่ยนสังคมได้ประมาณหนึ่งเลย” ขวัญ-อาวีมาศ สิริแสงทักษิณ Venture Builder Team Lead และ Managing Director ของ Swap & Go กล่าว

แม้จะแยกออกมาจดทะเบียนเป็นบริษัทใหม่ที่อยู่ภายใต้และได้รับการสนับสนุนจาก ปตท. ที่วางกลยุทธ์จะเป็นผู้นำด้านรถยนต์ไฟฟ้าที่ครบวงจร แต่การสร้างสิ่งใหม่ในระดับที่ปรับเปลี่ยนทางออกเดิม ด้วยสมาชิกเพียง 5 คน ย่อมท้าทายและเผชิญปัญหาระหว่างทางไม่ต่างอะไรกับสตาร์ทอัพทั่วไป

“การทำสิ่งนี้ยากมาก เพราะไม่มีอะไรเหมือนในทฤษฎีที่เราคิดกันเป็นหลายร้อยหน้า มันมีกระบวนการที่ซ่อนอยู่เยอะ ทั้งปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ กฎหมายที่ยังไม่มีรองรับ เพราะเราทำของใหม่มาก ต้องไปบุกเบิกขึ้นมาร่วมกับหน่วยงานภายนอก รวมถึงมีสถานการณ์โควิด-19 ด้วย

“ตัวเทคโนโลยีทั้งรถมอเตอร์ไซค์และแบตเตอรี่พัฒนาขึ้นใหม่ ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้ใช้งานได้เหมาะสม แล้วจะสื่อสารกับผู้คนอย่างไร ในไทยเอง พฤติกรรมผู้ใช้งานแต่ละกลุ่มก็แตกต่างกันมาก ส่วนในต่างประเทศที่เราอยากขยายไป เช่น จีน เขาไม่ได้มีพฤติกรรมการขับขี่มอเตอร์ไซค์เหมือนเรา จะเจรจากับเขาอย่างไรให้พัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะกับสิ่งที่เราทำ หรือในอนาคตที่เราผลิตแบตเตอรี่เอง จะทำอย่างไรให้เขาใช้แบตเตอรี่ของเรา 

“สรุปคือ ต้องลงมือทำจริง ถ้าไม่ทำจะไม่รู้รายละเอียดเหล่านี้เลย”

คุยกับหน่วยงานนวัตกรรมของ ปตท. ที่สร้างสรรค์ธุรกิจแห่งอนาคต ทั้งเรื่องพลังงาน Blockchain และ Digital Transform
คุยกับหน่วยงานนวัตกรรมของ ปตท. ที่สร้างสรรค์ธุรกิจแห่งอนาคต ทั้งเรื่องพลังงาน Blockchain และ Digital Transform

เป้าหมายต่อจากนี้ของ Swap & Go หลังผนึกกำลังกับบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (มหาชน) (OR) คือการจดทะเบียน ผลักดันให้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่ออกแบบสามารถวิ่งบนท้องถนนได้จริง และการขยายตู้สลับเปลี่ยนแบตเตอรี่ให้ครอบคลุมมากขึ้น เริ่มต้นจาก 22 แห่งทั่วกรุงเทพมหานครในปีนี้ 

“ในฐานะที่ ปตท. เป็นบริษัทพลังงานระดับประเทศ เราอยากสนับสนุนเรื่องการสร้าง Infrastructure ที่ไม่ค่อยมีใครทำ เพราะต้องลงทุนเยอะ แต่ถ้าไม่มีใครทำ การพัฒนาใหม่ๆ แบบนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย

“นอกจากนี้ เราพยายามหาพาร์ตเนอร์ที่พัฒนามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าให้เข้ากับแบตเตอรี่ของ Swap & Go ที่มีอยู่ ซึ่งจะช่วยให้เขาประหยัดต้นทุนการผลิต ส่วนเราก็ขยายออกไปได้เร็วและคุ้มค่าขึ้น” ขวัญสรุปก้าวสำคัญต่อไป

คุยกับหน่วยงานนวัตกรรมของ ปตท. ที่สร้างสรรค์ธุรกิจแห่งอนาคต ทั้งเรื่องพลังงาน Blockchain และ Digital Transform

ReAcc (Renewable Energy Acceleration Platform) แพลตฟอร์มซื้อ-ขายผลิตภัณฑ์ทางด้านพลังงานหมุนเวียนด้วย Blockchain

ReAcc เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลที่อำนวยความสะดวกให้แก่บริษัทไทยและบริษัทข้ามชาติที่มีสถานประกอบการในประเทศไทยที่มีเป้าหมายการจัดหาพลังงานหมุนเวียน โดยรองรับการให้บริการ 3 โมดูลหลัก

หนึ่ง ซื้อขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate หรือ REC) เพื่อสนับสนุนการผลิตพลังงานหมุนเวียนของชุมชนหรือหน่วยงานอื่นแทนการผลิตขึ้นเองทั้งหมด โดยบริษัทผู้ซื้อจะได้หลักฐานรับรองว่ามีความตั้งใจในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

สอง การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบ Corporate Power Purchase Agreement (CPPA)

และสาม การใช้พลังงานหมุนเวียนกับยานยนต์ไฟฟ้า

ที่ผ่านมา กระบวนการเหล่านี้ในไทยมีข้อจำกัดอยู่มาก ExpresSo จึงหยิบปัญหานี้ขึ้นมาพัฒนาเป็น ReAcc ที่สอดคล้องกับมาตรฐานการประกาศรับรองการใช้พลังงานทดแทนระดับนานาชาติ (I-REC Standard) ถือเป็นโครงการแรกของไทยและภูมิภาคที่เป็นแบบแพลตฟอร์มและครบวงจรในที่เดียว

“ไอเดียนี้เริ่มจากการที่เราได้เข้าร่วม Energy Web Foundation ที่ทำงานด้านพลังงานแบบกระจายศูนย์ โดยอาศัยเทคโนโลยีอย่าง Blockchain ที่ช่วยให้ตรวจสอบกลับไปได้ว่าพลังงานไฟฟ้ามาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนหรือเปล่าอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ และปลอดภัย พอลองศึกษาตลาดประเทศไทยก็เห็นว่ามีปัญหาด้านนี้อยู่จริง

“บริษัทต่างชาติหลายแห่งมีความตั้งใจจริง และเข้าร่วมกลุ่มกัน หนึ่งในนั้นคือ RE100 (กลุ่มบริษัทที่มุ่งมั่นจะใช้พลังงานทดแทน 100 เปอร์เซ็นต์) แต่การหาแหล่งพลังงานหมุนเวียนในไทยยังทำได้ยากและมีข้อจำกัด หากบริษัทเหล่านั้นไม่คุ้นเคยกับตลาดที่ห่างไกลจากสำนักงานใหญ่ของเขา เช่น การเข้าถึงแหล่งผลิตท้องถิ่นที่ทำได้ยากและกระจัดกระจาย ในขณะที่ต้องพิจารณาหลายๆ แง่มุมประกอบด้วย ไม่ว่าจะเป็นราคาคือผลกระทบที่มีต่อท้องถิ่น การติดตามความคืบหน้าที่ยังค่อนข้าง Manual ทำให้ต้องใช้เวลาและอาจเกิดข้อผิดพลาด รวมทั้งการตรวจสอบซัพพลายเชนเพื่อยืนยันความถูกต้องยังแพงและใช้เวลาเหมือนกัน

“โจทย์ของเราคือการสร้างเครื่องมือที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดตรงนี้ ช่วยเข้าไปแก้ปัญหาให้ลูกค้า” อ้อม-สุภรัตน ฤทธิชัย ทอร์น Project Director ของ ReAcc เล่าจุดกำเนิดความคิดที่ช่วยขยายฐานลูกค้าจากหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลเรื่องไฟฟ้า ไปสู่บริษัททั่วไปที่สนใจพลังงานหมุนเวียน

คุยกับหน่วยงานนวัตกรรมของ ปตท. ที่สร้างสรรค์ธุรกิจแห่งอนาคต ทั้งเรื่องพลังงาน Blockchain และ Digital Transform

“ตลาดตรงนี้ค่อนข้างใหญ่และมีการดำเนินการทั่วโลก หน้าที่ของเราคือการพา ปตท. ไปหาโอกาสในตลาดที่ไม่คุ้นเคยนี้ แม้จะเสี่ยงกว่า แต่เป็นความเสี่ยงที่รับได้และไปได้ไกลถึงระดับนานาชาติ” 

หากเข้าไปในแพลตฟอร์มตอนนี้ จะเห็นรายการชุมชนและโรงงานที่ผลิตพลังงานหมุนเวียนภายในเครือข่ายของ ปตท. เพื่อให้เกิดการซื้อขายได้ เช่น โซลาร์ฟาร์มของสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้ง อำเภอนายายอาม จังหวัดจันทบุรี โดยเตรียมจะเปิดให้บริการในวงกว้างช่วงปลายปีนี้ เป็นการเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ใหม่ให้ชุมชนด้วย

“บางบริษัททำบริการด้านนี้โดยคิดเรื่องเทคโนโลยีเป็นหลัก แต่จริงๆ เราค้นพบว่าลูกค้าเขาให้ความสำคัญว่าเม็ดเงินของเขาไปถึงชุมชนท้องถิ่นจริงหรือเปล่ามากกว่า เราจึงออกแบบบริการโดยให้ความสำคัญความต้องการของลูกค้าเป็นหลักมากกว่า”

ส่วนความท้าทายที่ต้องเจอนั้นไม่ต่างกับ Swap & Go เช่น การหาช่องทางการทำงานที่ไม่ไปติดขัดกับระบบการทำงานแบบเดิม และการรอข้อบังคับใหม่เพื่อให้ ReAcc ปฏิบัติตามได้อย่างถูกระเบียบ 

“ความท้าทายคือเราเป็นเหมือนคนตรงกลางที่ต้องบริหารและสื่อสารกับทั้งคนภายในและภายนอกให้เห็นภาพเหมือนเรา ข้อดีคือเราเริ่มทำตรงนี้เร็วและได้เรียนรู้เยอะ ต่อไปถ้ามีทีมไหนใน ปตท. อยากเรียนรู้ด้านนี้ เราจะพอมีความรู้ไปแบ่งปันเพื่อที่พวกเขาจะไม่ทำผิดพลาดซ้ำแบบเรา” 

คุยกับหน่วยงานนวัตกรรมของ ปตท. ที่สร้างสรรค์ธุรกิจแห่งอนาคต ทั้งเรื่องพลังงาน Blockchain และ Digital Transform

MekhaTech บริการด้าน Cloud เพื่อการ Digital Transform ขององค์กร

นอกจากด้านพลังงาน เมื่อต้นปีนี้ ปตท. จัดตั้ง MekaTech ขึ้นมาเพื่อสร้างบริการด้านคลาวด์ของตัวเอง สำหรับบริการบริษัทในเครือและลูกค้า ช่วยให้มีระบบการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลผ่านทางออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ แทนการเก็บข้อมูลในเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทที่ต้องเสียต้นทุนค่าฮาร์ดแวร์ เป็นการทำงานในลักษณะเดียวกันกับบริการของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Google และ Microsoft ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เชื่อมต่อได้ทุกหน่วยธุรกิจและทำให้โครงสร้างทาง IT เข้มแข็งขึ้น

“บริการนี้จะ Disrupt ระบบเดิมที่ใช้งานกันอยู่ แต่ถ้าบริษัทอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร สุดท้ายคนจะหันไปใช้ Public Cloud ที่เป็นเทรนด์ของโลกอนาคตอยู่ดี เราเลยคิดว่าสร้างขึ้นมาใหม่ดีกว่า เป็นช่องทางการสร้างรายได้ใหม่ และการทำตรงนี้จะผลักดันให้เราต้องดึงดูด Developer ที่ถนัดในอุตสาหกรรมใหม่ให้กับ ปตท. ด้วย ซึ่งทำให้เรามี Talent พร้อมรองรับนวัตกรรมในอนาคต” อู๋-ชาคร เลิศอรรฆยมณี Venture Lead ด้าน Partnership ของ ExpresSo และ Head of Partnership ของ Mekha Technology อธิบาย 

ข้อได้เปรียบของ ปตท. คือความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมก๊าซและน้ำมัน ทำให้สามารถดึงดูดลูกค้าในอุตสาหกรรมที่อยากปรับเปลี่ยนได้เป็นอย่างดี ปัจจุบัน MekhaTech มีลูกค้าภายนอกแล้วแม้เพิ่งดำเนินการได้ไม่นานและและกำลังพัฒนาบริการต่อไป

คุยกับ ExpresSo หน่วยงานนวัตกรรมของ ปตท. ที่สร้างสรรค์ธุรกิจแห่งอนาคต ทั้งเรื่องพลังงาน Blockchain และ Digital Transform

จับมือกับพันธมิตร

อีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของอู๋ใน ExpresSo คือส่วน Venture Partner (VP) ที่มีหน้าที่คือการจับมือเป็นพันธมิตรกับสตาร์ทอัพหรือ Accelerator ที่ผลักดันสตาร์ทอัพอีกทีหนึ่ง เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันตามแนวคิด Open Innovation 

เช่น จับมือกับ Elemental Excelerator ในสหรัฐอเมริกาที่ผลักดันการลงทุนให้สตาร์ทอัพที่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมมามากกว่าร้อยราย 

รวมถึงการพาร์ตเนอร์กับบริษัทในเครือ ปตท. เอง เพื่อสร้างแนวคิดการทำงานด้านนวัตกรรมเข้าไปให้กับธุรกิจที่หลีกเลี่ยงความเสี่ยงใดๆ เป็นธรรมชาติ เพราะอาจเกิดอันตรายได้หากผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อย

“ปตท. เป็นบริษัทขนาดใหญ่มาก เราเปลี่ยนคนเดียวไม่สำเร็จอยู่แล้ว สิ่งที่เราทำได้คือการสร้าง Champion ด้านนวัตกรรมให้แต่ละหน่วยธุรกิจ ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่อาจคุ้นชินกับวัฒนธรรมของการทำให้ความเสี่ยงเป็นศูนย์ ในขณะที่การสร้างนวัตกรรมมีความเสี่ยงเสมอ ในส่วนนี้เราต้องพยายามเป็นวุ้นแปลภาษา สื่อสารให้คนที่ทำงานในโรงกลั่นหรือโรงไฟฟ้าไม่กลัวความล้มเหลว เพราะการทำงานแบบสตาร์ทอัพมีความเสี่ยง เพียงแต่เราบริหารให้อยู่ในระดับที่รับได้ ชั่งกับผลตอบแทนแล้วคุ้มค่าที่จะทำ” 

Express Solutions

ExpresSo เป็นหน่วยงานที่รวมพลคนมากฝีมือ หลายคนมองจากภายนอกแล้วเห็นภาพการทำงานที่สวยหรู แต่ไม่ว่าจะเก่งขนาดไหน ทุกคนต่างต้องเผชิญความท้าทายและเรียนรู้ใหม่อยู่ตลอดเวลา

“การทำงานตรงนี้ทำให้เราได้รับความเชื่อมั่นและความคาดหวังจากผู้ใหญ่ ซึ่งมาพร้อมความรับผิดชอบด้วย เราต้องพัฒนาวิธีการบริหารงานให้ตอบโจทย์วิสัยทัศน์ที่มีอยู่ตอนแรก โดยต้องคิดสิ่งที่จะทำเอง ไม่มีใครบอกได้ชัดเจนว่าเราทำต้องทำอะไร” อู๋เล่าการเติบโตที่เกิดขึ้นกับตัวเองเมื่อทำงานที่นี่

“พอทำเรื่องใหม่ ไม่ว่าจะเป็นใคร ทุกคนเหมือนเริ่มจากศูนย์ สิ่งสำคัญคือ ทำให้คนที่มาอยู่ด้วยกันกล้าคิด กล้าแสดงออก มองไปข้างหน้าร่วมกัน เมื่อก่อนองค์กรใหญ่อาจมีระบบอาวุโส คนนี้พูดเมื่อไรถูกต้องเสมอ แต่ทีมเราไม่ค่อยมีเรื่องนี้ เราฟังคนที่เด็กกว่าและมีพื้นที่ให้ถกเถียงกันด้วยเหตุผลและความเชี่ยวชาญของแต่ละคน

“แต่บางอย่างเราก็ต้องฟังผู้ใหญ่เหมือนกัน หลายอย่างคนที่ผ่านมาก่อนเขาจะเห็นอะไรนอกเหนือจากที่เราเห็นจริงๆ ทำให้เรียนรู้ว่าการเปิดรับทุกคนและความเชื่อใจสำคัญมากในการผลักดันโปรเจกต์หนึ่งให้เกิดขึ้น” เพื่อนร่วมทีมร่วมแบ่งปันชีวิตการทำงานในองค์กรที่มีความหลากหลาย 

คุยกับ ExpresSo หน่วยงานนวัตกรรมของ ปตท. ที่สร้างสรรค์ธุรกิจแห่งอนาคต ทั้งเรื่องพลังงาน Blockchain และ Digital Transform
คุยกับ ExpresSo หน่วยงานนวัตกรรมของ ปตท. ที่สร้างสรรค์ธุรกิจแห่งอนาคต ทั้งเรื่องพลังงาน Blockchain และ Digital Transform

“ถึงเราจะแยกกันทำงาน แต่เรามีแชร์กันทุกสัปดาห์ว่า ความคืบหน้าของแต่ละโปรเจกต์เป็นอย่างไรบ้าง ต้องการให้คนช่วยตรงไหนไหม เช่น ลองค้นหาสตาร์ทอัพที่ทำด้านนี้ หาโอกาสการลงทุน เพราะสุดท้ายแล้ว ทุกอย่างจะกลับมาเชื่อมต่อเข้าด้วยกันหมด”

หลังจากดำเนินธุรกิจมาได้ 5 ปี ExpresSo ช่วยขับเคลื่อน ปตท. ให้มองเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ และทำให้คนเข้าใจธรรมชาติของการสร้างนวัตกรรมที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ต้องเผชิญความผิดพลาดระหว่างทางเพื่อผลลัพธ์ที่คุ้มค่าในอนาคต แบบที่ทีม ExpresSo ฝ่าฟันอยู่

เมื่อทุกองค์กรต้องปรับตัว ผู้คนและหน่วยงานค้นหาและสรรสร้างนวัตกรรมแบบ ExpresSo ถือเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญที่จะทำให้องค์กรก้าวข้ามขีดจำกัดเดิมๆ และพร้อมมุ่งสู่อนาคตที่กำลังเกิดขึ้นแล้ววันนี้

คุยกับ ExpresSo หน่วยงานนวัตกรรมของ ปตท. ที่สร้างสรรค์ธุรกิจแห่งอนาคต ทั้งเรื่องพลังงาน Blockchain และ Digital Transform

 ภาพ : ExpresSo

Writer

Avatar

ปัน หลั่งน้ำสังข์

บัณฑิตวิศวฯ ที่ผันตัวมาทำงานด้านสื่อ เพราะเชื่อว่าเนื้อหาดี ๆ จะช่วยให้คนอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป