24 กุมภาพันธ์ 2023
4 K

ไม่แปลกที่เราทั้งหลายจะไม่คุ้นกับชื่อ สุภา สิริสิงห

แต่หากเปลี่ยนมาเรียกเธอด้วยนามปากกาอย่าง โบตั๋น แทนล่ะก็ คอนิยายและแฟนละครไทยทุกคนย่อมรู้จักชื่อนี้จากปกหนังสือหรือภาพไตเติล

นานกว่า 55 ปีมาแล้วที่ โบตั๋น โลดแล่นอยู่ในบรรณโลก ฝากผลงานนวนิยายประดับวงการหนังสือไทยมากกว่า 64 เรื่อง ขายลิขสิทธิ์สร้างละครมากกว่า 40 ครั้ง ให้กำเนิดตัวละครที่โด่งดังเป็นที่กล่าวขวัญในสังคมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ตัน ส่วงอู๋ แห่ง จดหมายจากเมืองไทย บุญรอด ในเรื่อง ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด ทิพย์ ในเรื่อง กว่าจะรู้เดียงสา ตลอดจนสองแม่ลูก ลำยอง และ วันเฉลิม จาก ทองเนื้อเก้า 

เกือบทุกเรื่องเป็นนิยายดราม่าที่มีเนื้อหาบีบคั้นอารมณ์หนักหน่วง ตัวละครเอกฝ่ายหญิงต้องดิ้นรนเอาตัวรอดจากมรสุมชีวิต หลายเรื่องจบลงด้วยความสูญเสียหรือความตายของนางเอก

บทสัมภาษณ์ ‘สุภา สิริสิงห’ เจ้าของนามปากก 'โบตั๋น' ดาวค้างฟ้าประจำวงการวรรณกรรมไทยในวันที่วางปากกา เลิกแต่งนิยายถาวร

แฟนนิยายหลายคนคงทราบอยู่แล้วว่านักเขียนชั้นครูผู้นี้เป็นลูกสาวชาวจีนอพยพ ดำเนินชีวิตช่วงต้นอยู่ในบ้านสวนแถบฝั่งธนบุรี จบโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ต่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยประกอบอาชีพหลากหลาย รวมทั้งเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ชมรมเด็กที่ก่อตั้งร่วมกับสามี

แต่ที่หลายคนยังไม่ทราบคือหลายปีมานี้ โบตั๋นหายหน้าไปไหน เหตุใดจึงไม่มีผลงานใหม่ ๆ ออกมาให้ผู้ติดตามผลงานอ่านคลายคิดถึงเลย

ในฐานะรุ่นน้องโรงเรียน รุ่นน้องมหาวิทยาลัย และรุ่นน้องนักเขียนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากนิยายโบตั๋น ผมขออาสาเป็นตัวแทนของแฟนคลับ นำคำถามทั้งหมดที่คาใจไปสนทนากับเธอที่สำนักพิมพ์ชมรมเด็ก ซอยประชาอุทิศ 91/1 เอง

เบื้องหลังชีวิตและนิยายจรรโลงสังคมของ ‘โบตั๋น’ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2542

ขออนุญาตเรียก ‘อาจารย์’ ได้มั้ยครับ

จ้ะ เรียกเถอะ ฉันชินแล้ว เพราะเคยเป็นครูโรงเรียนมาก่อน อีกอย่างคือพวกกรมส่งเสริมวัฒนธรรมเขาก็เรียกพวกนักเขียนแบบนี้กันเป็นปกติ

ก่อนที่ผมจะเข้ามา อาจารย์อ่านหนังสืออะไรอยู่หรือครับ

พจนานุกรมภาษาอังกฤษ เมื่อก่อนตอนเรียนอักษรฯ กับตอนเป็นไกด์ยังจำศัพท์แม่นอยู่ เดี๋ยวนี้แก่ ลืมหมดแล้ว (หัวเราะ)

อาจารย์เป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กเลยหรือเปล่า

มันคือความจำเป็น เพราะสมัยก่อนอยู่ในสวน เป็นที่เช่า ซื้อไม่ได้เพราะพ่อแม่เป็นต่างด้าว ทั้งไฟฟ้าและน้ำประปายังไม่มี มีละครวิทยุซึ่งเราก็ไม่ได้สนุกกับมันเท่าไหร่ เลยอ่านหนังสือแทน

ตอนเด็กก็ไปเช่าหนังสือนิทานหน้าโรงเรียนมาอ่าน พอโตมาอีกนิด พี่สาวติดการ์ตูนตุ๊กตาจำพวก ห้องสีชมพู หนูจ๋า จนย้ายโรงเรียนไปเรียนอีกที่ ปรากฏที่นี่ห้องสมุดหนังสือเต็มเลย ก็ได้อ่านเยอะขึ้น เป็นโรงเรียนเอกชนเล็ก ๆ ธรรมดา อยู่ตรงตลาดพลู แต่ตอนนี้ปิดไปแล้วเพราะทางด่วนมาตัดพาดกลาง

เบื้องหลังชีวิตและนิยายจรรโลงสังคมของ ‘โบตั๋น’ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2542
เบื้องหลังชีวิตและนิยายจรรโลงสังคมของ ‘โบตั๋น’ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2542

ตอนอาจารย์ยังเด็ก นิยายของใครเป็นที่นิยมอ่านกัน

สมัยนั้นคนไม่นิยมอ่านนิยายกันสักเท่าไหร่หรอก มีพวก เพลินจิต ที่เป็นรายสัปดาห์ หนังสือเล่มไม่ค่อยมี ตัวเองอ่านนิยายเรื่องแรก หญิงคนชั่ว ของ ก.สุรางคนางค์ ขโมยพี่ชายมาอ่าน

ฟังเรื่อง หญิงคนชั่ว มันดูน่ากลัวมาก แต่จริง ๆ ไม่มีอะไร เลิฟซีนไม่มีเลย เป็นเนื้อเรื่องที่หลอกเอาผู้หญิงมาขายซ่อง เป็นเรื่องที่ในยุคนั้นยังไม่มีใครเคยเขียน เหมือนอย่างกับตอน รงค์ วงษ์สวรรค์ ไปสัมภาษณ์พวกโสเภณี ตกใจอะไรหนักหนาก็ไม่รู้ แต่ที่เขาสะดุ้งเฮือกกันมาก ๆ เพราะ ก.สุรางคนางค์ เป็นผู้หญิง

เห็นสมัยก่อนตอนอยู่มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2505 อาจารย์สุทธิลักษณ์ บรรณารักษ์ใหญ่ของจุฬาฯ ไม่ยอมให้เอาหนังสือ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ เข้าหอสมุดกลางเลย

เพราะมันโป๊ใช่มั้ยครับ

ฉันไม่เห็นว่าโป๊ตรงไหนเลย ขนาดฉันหัวโบราณแล้วนะ แต่เขาหัวโบราณกว่าฉัน 20 เท่า บางคนเขาบอกว่า หัวโบราณอะไรกัน นั่งอ่าน Boy Love อ่านไปอ่านมาเลยติด ไม่ถึงกับติดมากแต่ถ้ามีใครมาวางให้เห็นฉันจะหยิบอ่าน มันก็สนุกดีจะคิดอะไรมากมาย หรือเรามันจะ 80 อยู่แล้วมันก็เลยไม่รู้สึก แต่บางคน 60 ไม่ได้เลย

อยากทราบเลยว่าอะไรคือแรงบันดาลใจให้อาจารย์อยากเป็นนักเขียน

บางทีเราอ่านแล้วรู้สึกไม่ชอบใจ ทำไมนางเอกต้องอ่อนแอนักวะ ฉันเขียนใหม่ดีกว่า เอานางเอกประเภทคว้าปังตอแล้วไล่ฟันเมียน้อยประเภท ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด เราอ่านแล้วโมโห แหม เพียบพูนด้วยเสน่ห์และแสนดีอย่าง ยอพระกลิ่น พ่อแม่ลูกชายฉันไปเอาผู้หญิงที่ไหนมาก็ไม่รู้ หนำซ้ำยังบอกว่าเจอในกอไผ่เอาไหมล่ะ เป็นฉันไม่เอาเชิญไปอยู่ที่อื่น

ตอนเริ่มเขียนนิยายแรก ๆ อาจารย์ใช้อุปกรณ์อะไรในการเขียน

ดินสอ ปากกา มีพิมพ์ดีดด้วย แต่ส่วนใหญ่เขียนด้วยลายมือ ตัวเองเคยเป็นเลขานุการพิมพ์สัมผัสได้ แต่เดี๋ยวนี้เป็นคนล้าสมัยไปแล้ว ตอนนั้นเป็นที่ทันสมัยสุด ๆ หลังจากใช้พิมพ์ดีดธรรมดาแล้วไปลองเอาพิมพ์ดีดไฟฟ้ามาใช้แล้วไม่ชอบ คือมันเบาจนเราไม่ได้สัมผัสมาสักนิดเดียว แล้วถ้ามือไปโดนมันก็ทำให้เราเสียแม้ว่าเราไม่ต้องการตัวนั้นก็ตาม มันไปสะกิดโดน สายตายาว 400

เดี๋ยวนี้อ่านหนังสือก็เริ่มมีปัญหาแล้ว ใส่แว่นยังไงก็ไม่ไหว ต้องมีแว่นขยายอยู่เป็นประจำจนเดี๋ยวนี้หนังสือพิมพ์แทบจะไม่มีเวลาอ่านเลย ข่าวไม่ได้สนใจด้วย

เบื้องหลังชีวิตและนิยายจรรโลงสังคมของ ‘โบตั๋น’ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2542

นามปากกา ‘โบตั๋น’ เกิดจากอะไร

ไม่แน่ใจว่าใช้มาก่อนเขียนเรื่อง จดหมายจากเมืองไทย หรือเปล่า แต่ประมาณ พ.ศ. 2508 ตอนนั้นเรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 3 เพื่อนหลายคนส่งนิยายไปก็ได้ตีพิมพ์

ชื่อนี้ตั้งมาจากการที่ตั้งใจจะเขียนถึงชีวิตคนจีนในเมืองไทย หมั่นไส้เรื่อง น้ำใจสาวจีน (หัวเราะ)

จดหมายจากเมืองไทย เป็นนิยายเรื่องแรกในชีวิตที่ได้ตีพิมพ์เลยไหม

ไม่ใช่ มีเรื่อง น้ำใจ รุ้งสีชมพู ทางชีวิต อีกเรื่องคือ สายสัมพันธ์ ลงหนังสือสัปดาห์ ใช้นามปากกาอื่น ยาวมากเรื่องนั้น เขียนมาได้ยังไง 60 ตอน หลังจากนั้นก็เลยลดเหลือ 30 ตอน ไม่เคยเกิน 30 ตอน

พูดถึงเรื่อง จดหมายจากเมืองไทย หลายคนอ่านแล้วรู้สึกทึ่งกับเรื่องราวของ ตัน ส่วงอู๋ ที่เขียนจดหมายหาแม่ 100 ฉบับ แต่แม่ไม่ได้รับเลย สงสัยว่าส่วงอู๋มีตัวตนจริงไหมครับ

ไม่มี้! ตัน ส่วงอู๋ ไม่มี แต่โรงงานของส่วงอู๋มี ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริง

ทำไมเรื่องนี้ถึงใช้วิธีดำเนินเรื่องในรูปแบบจดหมาย

ไม่ถึงกับมีแรงบันดาลใจ แต่ได้อ่านพระราชนิพนธ์ หัวใจชายหนุ่ม ของ รัชกาลที่ 6 ที่เป็นจดหมายโต้ตอบระหว่าง พ่อประเสริฐ-พ่อประพันธ์ แล้วก็มีเรื่อง จดหมายจางวางหร่ำ แต่อันนั้นไม่ใช่ตัวต้นเหตุ น่าจะ หัวใจชายหนุ่ม มากกว่า

ที่เลือกใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 เล่าเรื่องนี้ เพราะเราเขียนในเรื่องที่ตัวละครไม่พอใจโน่น ไม่พอใจนี่ แล้วจะให้บรรยายไง ถ้าเล่าแบบบรรยายมันไม่เข้าใจความรู้สึก ถ้าไม่เขียนเป็น First Person ก็เขียนเป็นจดหมาย ทีนี้เขียนสรรพนามบุรุษที่ 1 เรามานั่งกลุ้มเราจะจับเรื่องให้มันเข้าไปยังไง ทำยังไงให้คนอื่นเข้าใจความรู้สึกของเขา จดหมายที่กล่าวถึงแม่ไม่มีตัวตนนี่แหละดีที่สุด

แต่เรื่องนี้ก็มีจุดที่ผิดนะ

เบื้องหลังชีวิตและนิยายจรรโลงสังคมของ ‘โบตั๋น’ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2542
เบื้องหลังชีวิตและนิยายจรรโลงสังคมของ ‘โบตั๋น’ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2542

ผิดตรงไหนหรือครับ

ฉันผิดตอนต้นเรื่อง ที่เล่าว่าจดหมายของส่วงอู๋มันไปตกอยู่ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมันเป็นคนละที่กัน เขาส่งจดหมายไปซัวเถา จะไปตกที่เซียงไฮ้ไม่ได้ ก็มีคนทักมาเหมือนกัน แต่ตอนนั้นฉันไม่รู้ เพราะตอนที่เขียน ฉันอายุแค่ 21 – 22 เอง (หัวเราะร่วน)

มีคนจำนวนมากที่ไม่เชื่อว่าผู้หญิงอายุแค่ 22 เขียน เขาหาว่าฉันไปเอาจดหมายคนอื่นมาแปล ถึงขนาดมีคนมาว่า เขาเคยได้ยินว่ามีตาแป๊ะคนนึงแถวเยาวราช เขาเขียนจดหมายถึงแม่เขาที่เมืองจีนแบบนี้แหละ ก็ไม่ได้รับคำตอบเหมือนกัน ฉันถามหน่อยว่าทำไม เธอรู้หรือว่าเขาเขียนหาแม่เรื่องอะไร เหมือนกับเนื้อหาในนิยายของฉันเหรอ

พอเรื่องนี้พิมพ์ออกไป คนที่อ่านแล้ววิจารณ์เยอะไหม

เยอะ ฉันก็ว่าตัวเองก๋ากั่นไปที่อายุแค่ 22 แล้วเขียนเรื่องเป็นตุเป็นตะขนาดนี้ บางคนก็ไล่ให้ไปอยู่กับ เหมา เจ๋อตง ไป

ในปัจจุบันมีการตีพิมพ์นิยายใต้นามปากกา โบตั๋น มาแล้วกี่เรื่อง

63 หรือ 64 เรื่อง เรื่องเก่า ๆ ก็เอามาพิมพ์ เขียนตั้งแต่ พ.ศ. 2509 คนก็ยังซื้อเลย อ่านไปก็มีความรู้สึกว่ามันโบราณตรงที่มาตราเงิน มีอยู่เรื่องหนึ่ง สายสัมพันธ์ ได้เงิน 5 บาท ดีใจแทบตาย บางคนเขาก็งง เราบอกว่าดูก่อนนั่นมันปีอะไร ยุคนั้นได้ 5 บาทดีใจเหมือนยุคนี้ได้ 100 บาท ฉันไปมหาลัยฉันได้เงินแค่อาทิตย์ละ 40 บาทเอง

อาจารย์คิดว่าคนส่วนใหญ่เขารู้จัก โบตั๋น จากผลงานเรื่องใด

ทองเนื้อเก้า คือเรื่องไหนที่ละครดัง หนังสือมันก็จะดังไปด้วย จดหมายจากเมืองไทย มันไม่ได้ดังแบบนั้น มันออกแนววิชาการ เป็นต้นว่าเด็ก ม.ปลาย อ่าน

เบื้องหลังชีวิตและนิยายจรรโลงสังคมของ ‘โบตั๋น’ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2542
เบื้องหลังชีวิตและนิยายจรรโลงสังคมของ ‘โบตั๋น’ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2542

ทำไม ทองเนื้อเก้า ถึงดังกว่าเรื่องอื่น

มันเป็นงานที่ท้าทายของนางเอก ถ้าแสดงดี ๆ คนก็จะดู

เพราะอะไรอาจารย์ถึงได้แต่งเรื่องนี้

แถวบ้านเมื่อก่อน มีหญิงสาวคนหนึ่ง หน้าตาดี อายุเยอะแล้ว เห็นลูกเต็มบ้าน ไม่รู้กี่คนต่อกี่คน พ่อไหนต่อแม่ไหน ลูกชายคนโตไม่เกิน 12 ขวบ ไม่รู้อายุเท่าไหร่ แต่เขาไม่ได้เรียนต่อ จบ ป.6 แล้วแม่ก็ทิ้งไว้ให้เลี้ยงน้อง เด็กผู้ชายมันหน้าตาเศร้ามาก ไม่เคยเห็นเด็กที่ไหนหน้าเศร้าขนาดนั้น มีอยู่วันหนึ่งยายเขา แม่ของยายคนนั้น เขาคงทนไม่ไหว เลยลากหลานชายไปบวช 

พอไปบวชแล้ว เราเห็นเขาตอนบิณฑบาตต่างกันราวฟ้ากับเหว ทำไมดูผ่องใส ดูผิดกับสมัยตอนอยู่บ้านเลี้ยงน้อง ยายเขาทนไม่ไหวก็เลยจับหลาน ๆ แบ่งให้คนโน้น คนนี้เอาไปเลี้ยง อีนี่ก็เมาของมันไป

ตอนหลัง บ้านที่เขาอยู่ก็ดูค่อนข้างดี ไม่รู้สามีคนไหนปลูกให้ เป็นบ้านชั้นครึ่งอยู่ริมคลอง เลยมีความรู้สึกอยากเขียน แต่ความจริงไม่ใช่ประวัติเขา แรงบันดาลใจกับชีวประวัติไม่เหมือนกัน ฉันว่าคนอ่านต่อให้เอาคนนั้นมานั่งอ่านยังไม่รู้เลยว่าเป็นตัวแก

อาจารย์นำเค้าโครงจากใครสักคนมาเป็นแรงบันดาลใจ แล้วเอามาแต่งเติมเองตลอดเลยมั้ยครับ

ต้องมีบ้าง บางเรื่องไม่มีเลย บางเรื่องจินตนาการล้วน ๆ อย่าง ตอนที่เขียน ปลายฝนต้นหนาว ตัวผู้หญิงที่เป็นตัวเอกมีตั้ง 4 – 5 คน ตัวผู้หญิงแต่ละคนเวลาเลือกคู่มันเป็นยังไง เรื่องนั้นเน้นความรักล้วน ๆ

เบื้องหลังชีวิตและนิยายจรรโลงสังคมของ ‘โบตั๋น’ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2542

อะไรคือลักษณะเด่นหรือลายเซ็นนิยาย โบตั๋น

เครียด เครียดจริง ๆ มีอยู่หนหนึ่งละครช่อง 7 กว่าจะรู้เดียงสา บัวแล้งน้ำ อีกเรื่องจำไม่ได้ 3 เรื่องติดต่อกัน นางเอกตายหมด

ทำไมถึงแต่งออกมายาวแต่งออกมาเครียดขนาดนี้

ตัวเองเป็นคนเครียด เขียน ๆ ไป มีความรู้สึกว่าชีวิตคนมันไม่ได้สนุกสนานเหมือนอย่างนี้ ถ้าเอาเรื่องไม่มีอะไรกุ๊กกิ๊ก ไม่อยากเขียน มีความรู้สึกว่าไม่มีอะไร

จดหมายจากเมืองไทย จบด้วยการที่พระเอกชีวิตดี ลูก ๆ แต่งงานมีครอบครัวหมดแล้ว ตัวเองก็กำลังจะแต่งงานใหม่ด้วย นี่เรียกจบดีที่สุดแล้วมั้ย

มีเรื่องอื่นจบดีกว่านี้ อย่าง ไฟในดวงตา จริง ๆ เรื่องนี้ค่อนข้างทะลึ่งด้วย เป็นแม่ม่ายคือชาวนาธรรมดาแต่หน้าตาดี แกก็แต่งงาน สามีไปทำงานเมืองนอกแล้วตาย แกมีลูกไว้คนหนึ่ง 3 ขวบ แกก็เดินทางไปกรุงเทพฯ ไปอยู่กับพี่สาว เป็นคนใช้เพื่อจะเอาลูกไปรักษาเนื่องจากหูไม่ดี หมอบอกต้องผ่าตัดใส่หูฟัง แกไม่มีตังค์หรอก แต่แกยอมเสี่ยงเข้ามา

อยู่ ๆ น้องชายนายจ้างของพี่สาวชอบแก เซ็กซ์ล้วน ๆ เขียนต้องระวังมาก ถ้าเขียนให้คนอื่นรู้สึกว่า เซ็กซ์เยอะ ไป ๆ มา ๆ แม่พระเอกป่วย ลูกก็ต้องไปโรงพยาบาลอยู่ทุกเดือน ทางยัยแม่ปากร้ายไม่มีใครดูแลแก เป็นอัมพฤกษ์-อัมพาตหน่อย ๆ ทีนี้อย่าลืมว่าเขาเป็นพี่น้องกับนายจ้างพี่สาว เลยอาสาไปดูแม่เขา แต่ตอนนั้นจริง ๆ เป็นเมียกับพระเอกแล้วนะ ไปเมืองนอกกลับมา

พระเอกกลับมานึกว่ายัยนี่หนีกลับบ้านไปแล้ว ไปบ้านพี่สาวไม่เจอใครไง ถามยัยพี่สาวแกรู้ แต่แกไม่บอก แต่จริง ๆ ทั้งแม่ทั้งลูกอยู่ในบ้าน ออกขำนิด ๆ พระเอกทะลึ่ง เราบรรยายมากไม่ได้

เขียนนิยายเองก็แล้ว อาจารย์ยังเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ชมรมเด็กด้วย ที่นี่ก่อตั้งขึ้นเมื่อไหร่ครับ

ตามกฎหมาย ที่นี่ตั้ง พ.ศ. 2520 แต่จริง ๆ ก่อนหน้านั้นลองตลาดก่อน พอคิดว่ามันไปได้ค่อยจดทะเบียน

บทสัมภาษณ์ ‘สุภา สิริสิงห’ ดาวค้างฟ้าประจำวงการวรรณกรรมไทยในวันที่วางปากกา เลิกแต่งนิยายถาวร

อาจารย์มีหน้าที่อะไรในสำนักพิมพ์นี้

ทำทุกอย่าง ยุคนั้นมีลูกจ้าง 1 – 2 คน ต้องทำเอง จัดหนังสือ ขี่รถไปส่งยังเคย เพราะลูกจ้างหยุด ซื้อเรื่องด้วย ซื้อจากครู ๆ นักเขียนส่วนใหญ่จะเป็นครู ยุคนั้นยังมี ชัยพฤกษ์ แต่ ดรุณสาร ไม่มีแล้ว เครือ สตรีสาร เขาก็เลิกไป สู้ไม่ไหว ตอนหลังมาทำเป็นภาคเด็กใน สตรีสาร ให้ดึงออกได้ สตรีสาร เย็บกลางดึงได้ผู้ใหญ่สามารถแงะออกมาแล้วก็ติดเข็มลงไปใหม่

ชัยพฤกษ์ ก็ยังอยู่ ฉันเคยทำงานที่ไทยวัฒนาพานิชตั้งหลายปี ตอนหลังก็มีภาคการ์ตูน ภาคนักศึกษาประชาชน ไป ๆ มา ๆ ตอนหลังเลิกเลย เพราะว่า บ.ก.อนุช อาภาภิรม หมดพิษสงแล้ว

จากเขียนนิยายดราม่า ทำไมเปลี่ยนแนวมาเขียนหนังสือเด็ก

หนังสือเด็กทำมาก่อนแล้ว ทำตั้งแต่อยู่ ชัยพฤกษ์ นิยายมันเขียนตั้งแต่ พ.ศ. 2508 เขียนมาแล้วเป็นที่รู้จักมากกว่า แต่เขียนหนังสือเด็กไม่ใช่เราเปลี่ยน ทำมาตั้งแต่อยู่กองบรรณาธิการ ชัยพฤกษ์ เราทำหนังสือนั่นแหละ บางทีเรื่องไหนแปลมาดี ๆ เราก็เอามาตีพิมพ์ พอตอนหลังเราออกมาทำเองมันก็แบบเดียวกัน แต่เราไม่ได้ทำวารสาร เคยลองออกแล้ว 30 เล่ม เอวังสังขารา ขายไม่ออก อาจเป็นเพราะเราสายส่งเราไม่ดีด้วย ที่มันอยู่ได้เพราะหนังสือเด็กเล่ม ๆ มันอยู่ได้

ภายใน 1 ปี ตอนที่ยังสุขภาพแข็งแรง อาจารย์เขียนนิยายปีละกี่เรื่อง

ไม่เคยเขียนเยอะ อย่างเก่งก็ 2 เรื่อง ถึงตอนดัง ๆ ก็เท่านั้นแหละ หนำซ้ำบางทีปีละเรื่อง ฉันเขียนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2508 คนอื่น 20 ปี เขียนเป็น 100 เรื่อง ตอนนี้ฉันไม่ไหวแล้ว เรารู้ตัวเรา เขียนร่าง ๆ ไป ตอนนี้แค่เปิดเรื่องยังโยนเรื่องให้คนอื่นตรวจเลย ป่วยหลายโรค ไม่ไหวแล้ว

ช่วงที่ยังเขียนอยู่ อาจารย์มีวิธีจัดเวลาในการเขียนยังไงบ้างในแต่ละวัน

แต่ละวันไม่เคยได้เขียนเลย เขียนแค่วันเสาร์-อาทิตย์ กลางคืนอ่านนิยาย ดูทีวี ดูข่าว ทำอะไรไป ไม่ได้เขียนนอกจากไฟลนจริง ๆ มีอยู่ช่วงหนึ่งจะลง 3 แห่ง เขียนจบไปเรื่องหนึ่ง แห่งที่ 3 มาติดต่อ รับปากไปเพราะว่า พลอยเกมเพชร มันเป็นหนังสือรายปักษ์ มันไม่ไฟลนเหมือน สตรีสาร ตอนหลัง สตรีสาร ก็เป็นรายปักษ์ ตอนหลังสู้ไม่ไหว ยิ่งออกมากยิ่งขาดทุนมาก ค่าใช้จ่ายมันสูงยิ่งไฟลนประเภทรายสัปดาห์นะ บางฉบับเป็นรายเดือน แต่รายเดือนช้าไปเพราะว่าถ้าเราอ่านเรื่องหนึ่งมันนานไป ไม่ได้อ่านตอนต่อไป

บทสัมภาษณ์ ‘สุภา สิริสิงห’ ดาวค้างฟ้าประจำวงการวรรณกรรมไทยในวันที่วางปากกา เลิกแต่งนิยายถาวร

ในการแต่งนิยาย ขั้นตอนไหนที่อาจารย์คิดว่ายากที่สุด

เหตุการณ์หรือสถานการณ์บางอย่างที่เราไม่ได้ประสบเอง จะมีปัญหาว่ามันเป็นแบบนั้นจริง ๆ หรือเปล่า เช่น ถ้าคนที่เขาโดนอย่างนี้ เขาจะรู้สึกอย่างนั้นจริง ๆ หรือเปล่า ก็จะกังวล 

อย่างมีบางเรื่องนางเอกถูกข่มขืน มันจะเป็นแบบนิยายที่เขาเขียนหรือเปล่า พอสุดท้ายก็ดีกันอยู่ด้วยกันนึกภาพไม่ออก ถ้าผู้ชายทำกับเราถึงขั้นนั้น มาง้อฉันเท่าไหร่โดนมีดปังตอออกไปแน่ ๆ แต่ถ้าสมมติถ้าเราพลาดเองก็ช่าง (หัวเราะ)

เวลามีปัญหาเขียนไม่ออก อาจารย์มีวิธีแก้ปัญหานี้ยังไง 

โยนทุกอย่างทิ้ง แล้วแต่งตัวเดินออกไปข้างนอก ไปขึ้นรถ สมัยก่อนรถเมล์ผ่านปากซอย นั่งปรับอากาศสบาย ไปโรบินสันที่มันปิดไปแล้ว มี Tops อยู่ข้างล่าง ฉันไปตรงนั้น ไปซื้อเป็ดย่างกิน จากตรงนั้นบางทีหน้าแล้งมีเพลงคลาสสิกของ กทม. จัด ใช้วงดังสุดเลย มีอยู่วงเดียวออร์เคสตรา สนุกดี มนต์สิทธิ์ คำสร้อย ร้องกับออร์เคสตรา มันเป็นบ้า (หัวเราะ)

ขอตัวอย่างนิยายสัก 3 เรื่องที่เขียนเองแล้วประทับใจที่สุด

ความสมหวังของแก้ว เขียนตั้งแต่ พ.ศ. 2514 แต่ดังนะเรื่องนั้น 12 – 13 ตอนยังขายอยู่เลย ทุกวันนี้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลามัธยมต้น แล้วที่ประทับใจมาก ๆ คือ กว่าจะรู้เดียงสา สอนเรื่องชิกสุกก่อนห่าม มีคนมาบ่นมาเราเขียนอะไรเศร้ามาก เพราะนางเอกตาย บัวแล้งน้ำ ก็ตาย จำได้เพื่อนลูกสาวคนเล็ก บอกว่านางเอกป้าตายมา 3 เรื่องแล้ว เรื่องที่ 4 ขอร้องว่าอย่าตาย

แล้วมีผลงานเรื่องไหนค่อนข้างผิดหวังหรือไม่ค่อยประทับใจไหมครับ

มี เรื่อง รอยอดีต ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ ได้ทำเป็นละครด้วย ไม่ค่อยชอบเพราะสงสัยว่าตัวเราเขียนโอเวอร์ไปไหม ตัวร้ายเป็นเด็ก เก่งคอมพิวเตอร์มาก พิการ เก็บกด ทำอะไรที่ผิด ๆ ไม่สมควร แต่เราก็บอกตัวเองว่า เฮ้ย ฝรั่งเขาก็ยังทำเลย หนังเรื่อง Good Boys ก็แนวนี้

บทสัมภาษณ์ ‘สุภา สิริสิงห’ ดาวค้างฟ้าประจำวงการวรรณกรรมไทยในวันที่วางปากกา เลิกแต่งนิยายถาวร

ช่วงนั้นเคยท้อจนจะเลิกเขียนนิยายบ้างไหม

เคย นึกไม่ออก อยากหยุด ที่รู้สึกอยากกลับมาเขียนเพราะว่าว่าง มันมีบ้าง เราคิดหาตอนจบแล้วไม่ได้ดั่งใจ ก็วางทิ้งแล้วไปกินข้าวหน้าเป็ดของโปรด

ตอนนี้มีนิยายที่นำไปสร้างละครหรือภาพยนตร์กี่เรื่อง

 ไม่รู้ ไม่เคยนับ คงจะ 30 – 40 เรื่อง เขาเอาไปทำตั้งแต่ พ.ศ. 2512 จดหมายจากเมืองไทย ก็เคยทำ ตั้งแต่ ลิขิต เอกมงคล ยังเป็นเด็กหนุ่ม ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด ประมาณ พ.ศ. 2521 หลังจากนั้นก็เกือบทุกเรื่อง

เรื่องตัวเองขี้เกียจดู เรารู้อยู่แล้วว่าเรื่องมันเป็นยังไง ดูอย่างมากก็ 2 ตอน ตรงกลางอีกสักตอน อยากรู้ว่าตอนจบตรงกับที่เราเขียนหรือเปล่า ก็ไม่สนใจแล้ว บางทีกลางเรื่องเปลี่ยนไปตั้งเยอะ

ตัวเรายังไม่รู้เลยเพราะว่าไม่ได้ดู มีคนมาทักเราก็เลยบอกว่าไม่ได้ดู เพราะมันต้องผ่านคนเขียนบท นักแสดง มันเลยกลายเป็นคนละเรื่องเดียวแต่ข้างในไม่เหมือน ผู้กำกับคิดอย่างหนึ่ง เราคิดอย่างหนึ่ง

ในมุมของอาจารย์ นักเขียนนิยายทำงานประจำไปด้วยได้ไหม

ฉันทำตลอด บางคนไม่เอาเลย ถ้าคุณไม่มีประสบการณ์อะไรเลย เขียนนิยายมาตั้งแต่มหาลัยปี 3 ปี 4 ฉันถามหน่อยว่าคุณจะเอาประสบการณ์ที่ไหนมาเขียน อาชีพอะไรคุณก็ไม่เคยแตะต้อง ตัวฉัน 7 ปี งาน 7 แห่ง อะไรไม่ชอบก็ไป สมัยก่อนเขียนเรื่องยาวเรื่องหนึ่ง เรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง มันไม่พอกิน ถ้าไม่มีเงินเดือนประจำ เป็นไกด์ฝรั่งยังเคยเลย เป็นเลขาผู้เชี่ยวชาญราชการชั่วคราว 2 ปี การพลังงานแห่งชาติ โชคดีอย่างที่ตอนนั้นพูดภาษาอังกฤษเก่ง

รางวัลศิลปินแห่งชาติ ตอนนั้นได้รับตอนปีไหน

ได้รับตอน พ.ศ. 2542 บางคนบอกว่าได้เร็วจัง เราก็สวนว่า คุณจะดูจากอายุฉันได้ยังไง ดูจากผลงานสิว่าทำมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ตอนที่ได้นั่นอายุ 50 เองมั้ง 

นับว่าตอนนั้นอาจารย์ยังอายุน้อยมากนะครับ เป็นศิลปินแห่งชาติที่อายุน้อยสุดเลยไหมครับ

มีน้อยกว่าฉันอีก เช่น เนาว์-เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เขาได้ตั้งแต่ปีแรก ไม่มีใครที่เก่งกว่าเขาหรอก งานกวีนิพนธ์ เราเคยทำงานอยู่ไทยวัฒนาฯ ด้วยกันแต่อยู่คนละแผนก

บทสัมภาษณ์ ‘สุภา สิริสิงห’ เจ้าของนามปากก 'โบตั๋น' ดาวค้างฟ้าประจำวงการวรรณกรรมไทยในวันที่วางปากกา เลิกแต่งนิยายถาวร

ตอนที่ได้รางวัลนี้ รู้สึกยังไงบ้าง

เขาทำให้เรารู้ตัวว่าที่ทำมามีประโยชน์ (หัวเราะ)

รู้ก่อนแล้ว อยู่ ๆ ก็ส่งคนมานั่งถามว่าเรื่องที่เขียนทั้งหมดมีเรื่องอะไรบ้าง แล้วคนนั้นก็คนรู้จัก ก่อนประกาศจริงประมาณ 2 เดือน เขามาสัมภาษณ์เลย ปิดไม่ได้หรอก มานั่งถามอย่างนี้น่ะ

การเป็นศิลปินแห่งชาติทำให้ชีวิตอาจารย์เปลี่ยนไปจากเดิมไหม

มันอยู่ที่เรา ถ้าเราไม่เปลี่ยนมันก็จะไม่เปลี่ยน ฉันยังทำตัวเหมือนเดิม ยังขี้เกียจเหมือนเดิม เคยโดนคนขอเรื่องโวยวาย มาทีไรก็บอกว่าสุขภาพไม่ดี เป็นเกินกว่าที่คนแก่ทั่วไปเป็นด้วย พิมพ์สัมผัสก็ใช้นิ้วลำบาก ตอนนี้ป่วยเป็นตั้งหลายโรค

นักเขียนนิยายที่ดีควรมีคุณสมบัติอะไรบ้าง

หนึ่ง อย่าไปลอกของใครมา มาอ้างว่าชื่นชอบ ประทับใจ แล้วลอกมาหมด นึกถึงสำนักพิมพ์สิ เขาไม่ได้อ่านทั้งหมดในโลกนี้ใช่ไหม เขาก็เห็นว่าดีเลยซื้อมา ปรากฏว่าพิมพ์ออกมาเหมือนกันซะ 80 เปอร์เซ็นต์ มีครั้งหนึ่งเป็นเด็ก ม.ปลาย นานมีบุ๊คส์เปิดประกวดให้เขียนเรื่องสั้น มีรางวัลให้ทั้งโรงเรียนและนักเขียน ปรากฏว่าพิมพ์ออกมาแล้วถึงเห็น เรื่องที่ได้ชนะเลิศลอกของนักเขียนคนหนึ่งมาตัวแรกยันตัวสุดท้าย

สอง ต้องหาประสบการณ์ ไม่ใช่จบปุ๊บมาเขียนเลย คุณไม่เคยทำงานเลยแล้วคุณจะรู้ปัญหาได้ยังไง ไม่ใช่เอะอะว่าเขียนบท “ฉันชอบผู้ชายคนนี้ เขาต้องเป็นของฉัน” มันไม่ได้ แล้วพระเอกทำอะไรบ้างก็ไม่รู้ เขาไม่มีปัญหาด้านการงานบ้างเลยหรอ อย่างสมมติเป็นหมอ จะแต่งให้หมอมีปัญหาบ้างไม่ได้เลยเหรอ ดีเลิศเกินไป หมอก็ยุ่ง ๆ กันทั้งนั้น ไม่มีใครว่างจะมาตบตีแย่งผัวเมียชาวบ้าน

สาม ต้องรู้จริงในบางเรื่อง อย่างถ้าพระเอกของคุณเป็นแฮกเกอร์ ถ้าคุณไม่ใส่ใจเรื่องนี้เลย มันจะไม่มีอะไรเกี่ยวพันกับตัวพระเอกเลยว่าเขาเป็นคนยังไง ฉันเคยเขียนเรื่องหนึ่ง พระเอกเป็นแฮกเกอร์นี่แหละแต่อดีตตอนหลังไปทำงานให้กรมตำรวจชดใช้ความผิดที่ละเมิดเข้าไปกระทรวงกลาโหม

บทสัมภาษณ์ ‘สุภา สิริสิงห’ ดาวค้างฟ้าประจำวงการวรรณกรรมไทยในวันที่วางปากกา เลิกแต่งนิยายถาวร

คิดว่านิยายแต่ละเรื่องของอาจารย์ได้ให้อะไรกับสังคม

ฉันว่าอยู่ที่คนอ่านมากกว่า ว่าเขาเก็บข้อคิดจากมันได้ไหม คนเขียนมันก็ให้ทั้งนั้นแหละ ต่อให้เกี่ยวกับเรื่องเพศก็ตาม แต่เรื่องนี้ต้องระวัง สำคัญอยู่ที่คนรับ รับได้ยังไง ถ้าคุณอ่านนิยายแล้วคุณชอบอ่านแต่เลิฟซีน แล้วคุณอยากทำมันบ้าง ก็อันตราย แต่นิยายไม่ให้มีเลยก็ไม่ได้ เพียงแต่ว่าจะเขียนยังไง

ยกตัวอย่างเช่นเรื่อง กว่าจะรู้เดียงสา โดนนักเขียนคนหนึ่งบอกว่าโป๊มาก ฉากน้ำตกนี่เขียนบทอัศจรรย์หรอ ถือเป็นคำชมนะ กว่าฉันจะเขียนได้ตั้ง 2 – 3 อาทิตย์ เราเป็นประเภทไม่ได้เกรงใจผู้ใหญ่เท่าไหร่ ไม่ได้แปลว่าคนอ่านเขาจะอ่านแล้วจะเกิดความรู้สึก บางคนกลัวจะตาย กลัวจะเจอแบบนั้น ไม่แน่นอน เป็นความจริงใจของคนเขียนที่ต้องการเสนออะไรให้คนอ่าน แต่คนอ่านรับได้แค่ไหน ไม่รู้

ในความคิดเห็นของนักเขียนชื่อดังอย่างอาจารย์ มองว่าตลาดนิยายไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร ควรพัฒนาอะไรให้ดีกว่าที่เป็นอยู่

ฉันว่าเด็กไทยไม่ค่อยอ่านนิยายไทย อ่านเรื่องแปลเยอะ โดยเฉพาะ Boy Love อ่านหนังสือวายกันเยอะ ขนาดห้ามอ่อนกว่า 18 มันก็ให้คนสูง ๆ มาซื้อ คนห้ามมันไม่ได้เข้มงวดเหมือนเข้าคลับ

ในอนาคตข้างหน้าอาจารย์จะมีแผนนิยายเรื่องใหม่ ๆ อีกไหม

ไม่เอาแล้ว รู้ตัวอีกทีสมองมันก็แย่แล้ว เรื่อง เดนมนุษย์ เขียนปีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต พอดีนิตยสาร ขวัญเรือน หยุด เราก็หยุด พลอยแกมเพชร เขียนให้เขานานแล้ว สตรีสาร หยุดตั้งแต่ พ.ศ. 2539 เขียนให้ พลอยแกมเพชร กับ ขวัญเรือน ตอนหลังก็ไม่ไหว เลยเลิกไป

บทสัมภาษณ์ ‘สุภา สิริสิงห’ เจ้าของนามปากก 'โบตั๋น' ดาวค้างฟ้าประจำวงการวรรณกรรมไทยในวันที่วางปากกา เลิกแต่งนิยายถาวร

ตอนนี้อาจารย์ทำอะไรอยู่ในสำนักพิมพ์ชมรมเด็กบ้างครับ

เปิดเรื่อง ดูเรื่องเงินเรื่องทอง เราเป็นบริษัทเล็กมาก เก็บบัญชีเอง เวลาส่งภาษีก็หาคนมาตรวจให้เขาทำให้ แนะนำให้ 

อาจารย์มีความคิดที่จะออกจากวงการหนังสือไปเลยไหมครับ 

เกือบแล้ว ชมรมเด็กแทบไม่ได้ออกหนังสือใหม่เลย ปีนี้ยังไม่ได้ออกเลย ปีที่แล้วยังมีพอสมควรเพราะรู้สึกมึนงง ไม่เหมือนสมัยก่อน ปรับตัวง่าย

ถ้าสมมติว่านิยายเรื่องใหม่ผมได้ตีพิมพ์ จะขอส่งมาให้อาจารย์อ่านได้ไหมครับ

ส่งมาสิ ที่ผ่านมาก็มีคนส่งมาให้อ่านเยอะแยะนะ ส่งมาที่สำนักพิมพ์นี้แหละ

ฉันอ่านหมดทุกแนวนะจะบอกให้ นิยายวายสมัยนี้ พวก Boy Love ชาย-ชาย ฉันไม่ได้ชอบหรอก แต่ถ้าใครมาวางไว้บนโต๊ะ ฉันคว้าหยิบอ่านทุกเล่มแหละ (หัวเราะเสียงดัง)

บทสัมภาษณ์ ‘สุภา สิริสิงห’ เจ้าของนามปากก 'โบตั๋น' ดาวค้างฟ้าประจำวงการวรรณกรรมไทยในวันที่วางปากกา เลิกแต่งนิยายถาวร

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์