เมื่อไหร่ที่พูดถึงเมืองหลวงของเกาหลีใต้อย่างกรุงโซล สิ่งแรกที่ใครหลายคนนึกถึงคงหนีไม่พ้นภาพตึกระฟ้า แหล่งช้อปปิ้ง ไปจนถึงคาเฟ่และแกลเลอรี่เก๋ๆ หลายแห่ง ด้วยภาพลักษณ์ทั้งหมดที่ว่ากันมา เลยไม่แปลกใจที่คนจะตั้งสมการให้ ‘โซล = เมืองใหญ่’ ทุกอย่างในเมืองนี้ดูจะถูกหมุนไปด้วยทุน ผสมกับเทคโนโลยีและความล้ำสมัย ที่ดูจะยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์แบบนี้ยิ่งขึ้นไปอีก
ยอมรับเลยว่าเราเองก็เคยเป็นหนึ่งในคนที่วาดภาพโซลไว้แบบที่พูดมาทั้งหมดข้างบนนี่แหละ จนกระทั่งถึงวันที่อาจารย์ประจำภาคพาเราออกไปมองดูอีกมุมเล็กๆ ของโซล มุมที่ทำให้เรารู้ว่าเอาเข้าจริงแล้วโซลเองก็แอบซ่อนแง่มุมชีวิตของคนตัวเล็กๆ และความเป็นชุมชนไว้ไม่น้อยเลยทีเดียว
ที่ที่เปิดให้เราเห็นมุมมองใหม่ต่อกรุงโซลในวันนั้น มีชื่อว่า ‘หมู่บ้านซองมีซาน’ (성미산마을 อ่านว่า ซองมีซานมาอึล) หมู่บ้านแห่งนี้เป็นหมู่บ้านขนาดไม่เล็ก ตั้งอยู่ที่ตีนเขาซองมี (ซึ่งก็กลายเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านไปเลยนี่แหละนะ) ในเขตมาโปกู อยู่ห่างจากสถานีมังวอนมาแค่นิดเดียว และเป็นหมู่บ้านที่ได้รับรางวัลต้นแบบชุมชนพึ่งพาตัวเองในโซล เรียกว่าเป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงไม่น้อยเลยล่ะ
จุดเริ่มต้นที่สมาชิกตัวเล็กของหมู่บ้าน
แรกเริ่มเดิมทีหมู่บ้านซองมีซานเป็นหมู่บ้านที่คนอาศัยอยู่ธรรมดาปกติเหมือนหมู่บ้านอื่นๆ ในโซล แต่เมื่อ ค.ศ. 1994 บรรดาผู้ปกครองรุ่นใหม่มารวมตัวและปรึกษาหารือกันเรื่องสถานรับเลี้ยงเด็กในชุมชน ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตและภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้พ่อแม่ชาวเกาหลีต้องออกไปทำงานหารายได้ทั้งคู่ เวลาในการเลี้ยงดูเด็กๆ ช่วงหลังเลิกเรียนจึงตกไปอยู่ที่สถานรับเลี้ยงเด็ก แต่ครั้นจะเอาไปฝากที่สถานรับเลี้ยงเด็กทั่วไปที่ให้บริการโดยรัฐหรือนายทุนกลุ่มใหญ่ พวกเขาก็ไม่ค่อยมั่นใจในคุณภาพเท่าไหร่นัก
ด้วยเหตุนี้เองหมู่บ้านซองมีซานจึงได้จัดตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กของตัวเอง และมีชาวบ้านเป็นคนเข้ามาร่วมกันดูแลโดยตรง การดูแลเด็กของที่นี่จะเน้นเรื่องการให้เด็กได้อยู่กับธรรมชาติ และได้ใช้เวลาไปกับเพื่อนในวัยเดียวกัน ทำให้เด็กมีโอกาสได้เติบโตขึ้นตามวัยในสภาพแวดล้อมที่ดีและปลอดภัยกับตัวเด็กเอง
ไม่เฉพาะกับเด็กที่มาใช้บริการเท่านั้น แม้แต่กับคุณครูที่เข้ามารับหน้าที่ดูแลเด็กๆ ทางหมู่บ้านก็จัดระบบการทำงานให้คุณครูสนใจแค่การสอนและการดูแลเด็กอย่างเดียว เรื่องการบริหารงานนอกอื่นๆ ทั้งเรื่องสถานที่ อาหาร ฯลฯ จะมีคณะกรรมการของหมู่บ้านเข้ามาจัดการให้ทั้งหมด
อำนาจในการตัดสินใจและการจัดการต่างๆ มาจากความเห็นชอบร่วมกันของคนในชุมชน ท้ายที่สุด ความร่วมมือกันเพื่ออนาคตของสมาชิกตัวเล็กๆ ในหมู่บ้านก็ประสบผลสำเร็จ สถานเลี้ยงเด็กของหมู่บ้านซองมีซานกลายมาเป็นทางเลือกใหม่ที่พ่อแม่ของเด็กๆ ในชุมชนมั่นใจในคุณภาพและยังดำเนินการมาจนถึงปัจจุบัน
แต่นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น เมื่อโครงการแรกอย่างสถานรับเลี้ยงเด็กประสบความสำเร็จไปได้ด้วยดี ชาวหมู่บ้านซองมีซานก็ต่อยอดจากโครงการดังกล่าวออกมาเป็นโครงการอื่น สิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากสถานรับเลี้ยงเด็กคือ โรงเรียนทางเลือกของหมู่บ้าน
อย่างที่เราน่าจะเคยได้ยินกันบ่อยๆ ว่าสภาพการเรียนของเกาหลีใต้นั้นค่อนข้างเคร่งเครียดและมีการแข่งขันค่อนข้างสูง ชาวบ้านในหมู่บ้านซองมีซานจึงต้องการสร้างทางเลือกใหม่ๆ ให้ครอบครัวที่มองหาโอกาสให้เด็กๆ ได้ค้นหาตัวตน โรงเรียนแห่งนี้ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2004 และออกแบบหลักสูตรที่ให้ความสำคัญแก่กิจกรรมนอกห้องเรียน เช่น การออกกำลังกาย และศิลปะ เน้นให้เด็กได้เรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนอื่น ในโรงเรียนมีพื้นที่ให้เด็กๆ ได้วิ่งเล่นกับเพื่อน มีห้องปฏิบัติสำหรับการทำงานศิลปะ
ตอนที่เราไปทัศนศึกษา วิทยากรชี้โทรศัพท์สาธารณะเครื่องเก่าแบบที่เราไม่ได้เห็นกันนานแล้ว และเล่าให้ฟังด้วยว่าโรงเรียนมีกฎไม่ให้นักเรียนเอาโทรศัพท์มือถือมาโรงเรียน เพราะต้องการให้เด็กๆ ได้ใช้เวลาไปกับเพื่อนและกิจกรรมอื่นๆ ที่ตนเองสนใจมากกว่าเรื่องบนหน้าจอ ถ้ามีเรื่องฉุกเฉินอะไร ทุกคนจะมาใช้โทรศัพท์สาธารณะเครื่องนี้ในการติดต่อหาพ่อแม่แทน แต่เอาจริงๆ แล้ว วันที่เราไปก็ไม่เห็นจะมีเด็กคนไหนสนใจใช้โทรศัพท์กันเท่าไหร่ ทุกคนยุ่งอยู่กับการวิ่งเล่นกับเพื่อนเสียมากกว่า
เรายังแอบไปอ่านเจอมาอีกด้วยว่าโรงเรียนของหมู่บ้านซองมีซานมีโครงการให้เด็กทำสถานเรียนรู้ในหมู่บ้าน เพื่อให้เด็กๆ ได้แบ่งปันสิ่งที่ตัวเองเรียนรู้กับสมาชิกคนอื่น และขณะเดียวกัน คนในหมู่บ้านจะได้เห็นพัฒนาการและการเติบโตของสมาชิกวัยเยาว์ของหมู่บ้านไปด้วยอีกทางหนึ่ง หลักสูตรดังกล่าวได้รับความสนใจจากสังคมเกาหลีไม่น้อย จนถึงกับมีการตั้งชื่อให้วิธีการสอนแบบนี้ว่าเป็น ‘วิธีการสอนแบบซองมีซาน’ (성미산식 교육 อ่านว่า ซองมีซานชิก คโยยุก)
พื้นที่ในการแสดงออก
โครงการต่อมาของหมู่บ้านซองมีซานคือ การสร้างโรงภาพยนตร์ในชุมชนของตัวเอง ก่อนหน้าที่จะมีการเสนอความคิดสร้างโรงภาพยนตร์ขึ้นมา ชาวบ้านซองมีซานได้ก่อตั้งชมรมตามความสนใจที่หลากหลาย มีการบันทึกไว้ว่าพบตัวเลขจำนวนชมรมไปเกินกว่า 50 ชมรม แต่เพราะไม่มีพื้นที่ในการนำเสนอผลงานของแต่ละชมรม ชาวบ้านจึงเสนอให้สร้างพื้นที่ส่วนกลางที่ทุกคนเข้ามาขอใช้งานได้ จึงเกิดเป็น ‘โรงภาพยนตร์หมู่บ้านซองมีซาน’ (성미산 마을 극장 อ่านว่า ซองมีซานมาอึลกึกจัง)
แม้ชื่อจะบอกว่าเป็นโรงภาพยนตร์ แต่โรงหนังแห่งนี้เป็นพื้นที่ในการแสดงผลงานศิลปะมาแล้วแทบทุกแขนง ทั้งการฉายหนัง การแสดงดนตรี ภาพถ่าย ฯลฯ ชาวบ้านซองมีซานต้องการให้โรงภาพยนตร์แห่งนี้เป็นตัวแทนที่แสดงถึงการข้ามเส้นแบ่งทั้งหลายที่แบ่งเขตผลงานทางศิลปะออก รวมไปถึงเส้นแบ่งเขตความเป็นมืออาชีพและมือสมัครเล่น เส้นแบ่งเขตของเวลา สถานที่ และช่วงวัยด้วย สิ่งที่เราชอบมากและแอบกรี๊ดอยู่ในใจคือ คอนเซปต์ของโรงภาพยนตร์แห่งนี้คือ สนามเด็กเล่นทางวัฒนธรรม (문화 놀이터 อ่านว่า มุนฮวา โนรีทอ) ที่ทุกคนเข้ามาร่วมเล่น ร่วมทดลอง กันได้เต็มที่และสนุกไปด้วยกันได้
ชอบความใจกว้างและการเปิดใจของชาวหมู่บ้านซองมีซานจัง
นอกจากนี้ ชาวบ้านในหมู่บ้านซองมีซานยังมีโครงการย่อยอื่นๆ เช่น คาเฟ่ต้นไม้จิ๋ว (작은 나무카페 อ่านว่า ชักกึน นามูคาเพ่) ที่เกิดจากไอเดียที่ว่าอยากสร้างพื้นที่ให้เด็กๆ ในหมู่บ้านได้มาแวะกินไอศครีมหลังเลิกเรียน ที่นี่เปิดให้บริการขายชา กาแฟ และขนมนมเนย เป็นคาเฟ่ในตอนกลางวัน และตอนหัวค่ำเปลี่ยนตัวเองเป็นบาร์ให้บรรดาผู้ใหญ่ได้มาพักผ่อนหย่อนใจ นั่งพูดคุยกันหลังเลิกงาน แล้วยังมีโครงการบริการดูแลผู้สูงอายุ ซูเปอร์มาร์เก็ตของหมู่บ้าน ห้องอ่านหนังสือ ชมรมทำสบู่ ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ โรงพยาบาล ไปจนถึงบ้านพักอาศัยสำหรับคนในชุมชนที่มีรายได้น้อย
ใจความสำคัญที่ความเป็น ‘หมู่บ้าน’
จากทั้งหมดที่เราได้ยินได้ฟังและไปเห็นกับตัวเองมา เราไม่ค่อยแปลกใจเท่าไหร่นักว่าทำไมหมู่บ้านซองมีซานจึงได้รับการกล่าวขวัญถึงและกลายมาเป็นชุมชนต้นแบบให้หมู่บ้านแห่งอื่นอีกมากมายในกรุงโซล ชาวบ้านซองมีซานเลือกที่จะแก้ไขปัญหาสังคมเมืองใหญ่ เช่น ทุนนิยม คนซึมเศร้าจากการอยู่คนเดียว โดยใช้ความเป็นหมู่บ้านเป็นเครื่องมือ หมู่บ้านในที่นี้ไม่ใช่แค่การแก้ไขในเชิงกายภาพ แต่ลงลึกไปถึงความสัมพันธ์ทางสังคมของคนในพื้นที่ด้วย
แม้จะเป็นการเริ่มต้นจากปัญหาเล็กๆ เช่น เรื่องสถานรับเลี้ยงเด็ก แต่พวกเขาก็ได้ปลดล็อกและเปิดพื้นที่ในการแสดงศักยภาพของคนในหมู่บ้าน ใช้ทรัพยากรทั้งทางกายภาพและสังคมที่มีในการเสริมสร้างวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกัน คุณภาพชีวิตและการมีส่วนร่วมทางสังคม เน้นการพึ่งพาตัวเองและเสริมสร้างความเข้มแข็งในชุมชนไปด้วยพร้อมๆ กัน
อีกเรื่องที่เราแอบไปอ่านเจอมาคือ วิธีการทำงานของคนในหมู่บ้านแห่งนี้ เวลามีปัญหาหรือเรื่องที่ต้องตัดสินใจ พวกเขาจะยึดระบบฉันทามติ (Consensus) เพราะเราเรียนรัฐศาสตร์มาด้วยหน่อยๆ เลยแอบคิดตอนแรกว่า เอ๊ะ แบบนี้มันจะทำได้ยากหรือเปล่า ถ้าจะให้ทุกคนเห็นด้วยหมด เมื่อไหร่ถึงจะได้ตัดสินใจกันล่ะ แต่เขาอธิบายไว้ว่าฉันทามติของซองมีซานจะให้ทุกคนถกเถียงถึงปัญหาและวิธีการในการแก้ไขตามความคิดของทุกคน เพื่อให้ทุกคนได้รู้จักรับฟังความเห็นของกันและกัน และทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ได้ยินได้ฟังมาขนาดนี้ คงอดคิดไม่ได้ว่าทำไมทุกอย่างดูเพอร์เฟกต์ไปหมดขนาดนี้นะ เอาจริงชาวบ้านซองมีซานเองก็เคยตั้งโครงการบางอย่างออกมาแล้วไม่สามารถดำเนินการต่อได้บ้าง หรือบางครั้งก็เจอปัญหาจากฝั่งนายทุนและภาครัฐ เช่นเรื่องกรณีพิพาทการใช้ที่ดินในการสร้างอพาร์ตเมนต์ของนายทุนใหญ่บ้าง และเคยมีโครงการของรัฐที่ถึงขั้นจะรื้อภูเขาซองมีเพื่อสร้างระบบกระจายน้ำด้วยซ้ำ แต่ด้วยความสามัคคีและความร่วมมือร่วมใจสร้างสิ่งที่ดีให้กับชุมชนของคนในหมู่บ้าน การเคลื่อนไหวในรูปแบบใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์จึงเกิดขึ้นมาเรื่อยๆ เช่นกัน
ถึงจะไม่ได้ออกตัวจริงจัง แต่เราสัมผัสได้ว่า พวกเขามีจิตวิญญาณแห่งการไม่ยอมแพ้อยู่ในตัว
อ้างอิง
Write on The Cloud
Travelogue
ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ