ยินดีต้อนรับเข้าสู่งาน STYLE Bangkok 2023 งานแสดงที่รวบรวมสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่นอันดับ 1 ของเอเชีย จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 ด้วยแนวคิด Sustainability+ ปีนี้เราแวะไปเดินสำรวจ 4 ฮอลล์อย่างเพลิดเพลินในศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีทั้งผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการจากต่างประเทศตบเท้าเข้าร่วมงานมากกว่า 500 ร้านค้า รับรองว่ามีสินค้าให้เลือกอย่างคับคั่งและจุใจ
พร้อมป้ายยา 8 แบรนด์ไทยที่เห็นแล้วกรี๊ดจนอยากบอกต่อ มีตั้งแต่สินค้าแฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ยันเฟอร์นิเจอร์ ยิ่งกว่านั้น แต่ละแบรนด์พกวัสดุ-เทคนิคแพรวพราวที่นำมาสร้างสรรค์และต่อยอด จนสร้างมูลค่าและคุณค่าให้กับสินค้าได้อย่างเยี่ยมยอด อย่างกาบกล้วยตานีก็กลายมาเป็นกระเป๋าเรียบโก้ เปลือกหอยมุกก็กลายเป็นเครื่องประดับรักษ์โลก เทคนิคเป่าแก้วกลายเป็นของแต่งบ้านดีไซน์เปรี้ยวจี๊ด เทคนิคทำกระดาษสาก็ยังกลายร่างเป็นสินค้าแฟชั่นได้อย่างแนบเนียนจนขาช้อปไม่รู้ว่านี่คือกระดาษ!
ยังมีสารพัดความสนุกรอให้ขาช้อปค้นพบอีกเพียบ หยิบตะกร้าแล้วลุยเลยค่า
HIZOGA
แวบแรกที่เห็นดิสเพลย์สีม่วงและผลิตภัณฑ์แก้วจาก ‘ฮิโซกะ’ ก็กรีดร้องด้วยความชอบใจ มันเปรี้ยวมากพวกเธอ นี่คือแบรนด์ไทยน้องใหม่แกะกล่องที่หยิบเทคนิคการเป่าแก้วของไทยมาปรุงใหม่อย่างเอร็ดอร่อย โดยสาวเจ้าของแบรนด์เล่าให้ฟังอย่างกันเองว่าเธอเริ่มต้นจากสนใจการเป่าแก้ว เลยบินลัดฟ้ามุ่งสู่แดนอาทิตย์อุทัยไปเรียนรู้วิชาเป่าแก้ว และมองเห็นโอกาสในไทยที่การเป่าแก้วยังไม่ถูกหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นในรูปโฉมใหม่ เธอเลยลงพื้นที่ตามหาช่างท้องถิ่นในพระนครศรีอยุธยาเพื่อแลกเปลี่ยนการทำงานและองค์ความรู้ จนดอกผลงอกเงยเป็นข้าวของกิ๊บเก๋ยูเรก้า (เธอทำงานกับช่างฝีมือจากญี่ปุ่นด้วย)
คอลเลกชันแรก คือ ‘melt’ มีให้เลือกอุดหนุนกลับบ้านตั้งแต่ของตกแต่งบ้านยันเครื่องประดับ อย่างต่างหูและจี้สร้อยคอที่อยู่ในรูปแบบน้องโดนัทกำลังละลาย มาพร้อมสีสันขยี้หัวใจ ส่วนแก้วไวน์ก็ดีไซน์สนุกไม่แพ้กัน ที่สำคัญ จับถนัดมือและน้ำหนักเบา เธอว่าการมีแก้วสวย ๆ ก็ทำให้การดื่มอร่อยขึ้น
และการมีแจกันดี ๆ สักใบ ก็ทำให้บ้านน่าอยู่ขึ้น ฉะนั้น เหมาค่ะ!
ป.ล.ชื่อแบรนด์มาจากตัวละครที่เธอชอบ นั่นคือ ฮิโซกะ จากการ์ตูน Hunter x Hunter
G’Craftroom
เราทำความรู้จักกับ จี-จิรวัฒน์ บุญสมบัติ นักพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนและเจ้าของแบรนด์ G’Craftroom ราว 3 ปีที่แล้ว วันนี้เราดีใจมากที่เจอเขาอีกครั้งในงานนี้ จีทักทายและต้อนรับเราด้วยความอบอุ่นเหมือนครั้งแรกที่เจอกัน แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือผลิตภัณฑ์งานคราฟต์ที่วางอยู่ตรงหน้า
เราคุ้นเคยว่าจีคลุกคลีกับงานผ้า แต่เบื้องหน้าคือเปลือกหอยมุกสีสันสดใสที่กลายเป็นเครื่องประดับรักษ์โลก เจ้าตัวบอกว่าเขาบังเอิญรู้จักรุ่นพี่ที่ผลิตหน้าปัดนาฬิกาส่งออก โดยหนึ่งในวัสดุของหน้าปัดนาฬิกาคือเปลือกหอยมุก จีหยิบเปลือกหอยที่มีรอยเจาะวงกลมมาให้เราดูประกอบ ซึ่งมีบางส่วนเหลือจากขั้นตอนการผลิต รุ่นพี่คนนั้นก็เก็บสะสมไว้เรื่อยมาเป็นระยะเวลานานกว่า 10 ปี
จีเลยปิ๊งไอเดีย เอาของสะสมที่หมดมูลค่ามาสร้างคุณค่าด้วยเรื่องราวใหม่ ๆ โดยเขานำเปลือกหอยมุกไปย้อมสีธรรมชาติ ทั้งครามที่ให้สีน้ำเงิน ขมิ้นที่ให้สีเหลือง ครั่งที่ให้สีแดง และมะเกลือที่ให้สีน้ำตาล จากนั้นก็มาร์กจุดและเทกซ์เจอร์ที่ชอบบนเปลือกหอยมุก เพื่อให้ช่างฝีมือตัดแต่งออกมาเป็นเครื่องประดับที่หน้าตาไม่เหมือนกันสักชิ้น เขาว่าเป็นการ Upcycling ที่เป็นมิตรกับโลกและเป็นมิตรกับผู้สวมใส่
และสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้เรื่องราวใหม่ของ G’Craftroom คือการส่งต่อแรงบันดาลใจว่าข้าวของรอบตัวก็นำมาต่อยอด สร้างประโยชน์ และเพิ่มมูลค่าได้ สมแล้วกับตำแหน่งนักพัฒนาผลิตภัณฑ์!
Tanee Siam
แบรนด์ไลฟ์สไตล์จากล้วยตานี เป็นความตั้งใจของ กอล์ฟ-ธนกร สดใส ลูกหลานชาวราชบุรี ที่นำรากเหง้าของบรรพบุรุษอย่างงานสกุลแทงหยวกและงานบายศรีมาต่อยอดกับสิ่งที่เขาเรียนรู้มา นั่นคือวิชาเทคโนโลยีสิ่งทอ (สาขาที่เขาเรียนจบมา) จนกลายเป็นแบรนด์ ‘ตานี สยาม’ ที่ทำงานร่วมกับพี่น้องกว่า 30 ครอบครัวจากวิสาหกิจชุมชนในตำบลเจ็ดเสมียน อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี
สิ่งแรกที่จุดประกายกอล์ฟ คือสายพันธุ์กล้วยตานีที่หลงเหลือและถูกลืม เขาจับมันมาแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่ด้วยศักยภาพและฝีมือชุมชน พร้อมคอนเซปต์ Derived from Nature, Engineered by Community จากความเชื่อนำมาสู่แฟชั่น สื่อสารเรื่องราวของโลคอลสู่เลอค่า เป็นเรื่องกล้วยกล้วยที่ช่วยชุมชน ซึ่งเขาเรียนรู้ธรรมชาติและพัฒนาผลิตภัณฑ์จนได้หนังทดแทนสำหรับทำกระเป๋ากล้วยตานี
กระเป๋ามีให้เลือกช้อปมากมายหลายขนาด-หลายทรง-หลายสี (ตามธรรมชาติรังสรรค์)
ความพิเศษของธรรมชาติคือสีสัน กอล์ฟว่า กล้วยตานีมี 3 ฤดู แต่ละฤดูมีเฉดสีเฉพาะตัว ยิ่งกว่านั้น เขายังใช้ประโยชน์จากกล้วยตานีตั้งแต่โคนยันยอด อย่างยางกล้วย เขาพัฒนาจนนำไปเคลือบกระเป๋าได้ เพราะมีคุณสมบัติกันเชื้อรา โดยมีส่วนผสมของแวกซ์จากธรรมชาติ ก้าน นำไปทำบรรจุภัณฑ์ เปลือก เอาไปทำเชือก ฯลฯ ซึ่งสิ่งที่ ตานี สยาม ทำ ก็บรรลุเป้า Zero Waste ที่นำเศษวัสดุในกระบวนการผลิตมาแปรรูปให้เกิดประโยชน์สูงสุดและนำมาซึ่งมูลค่าด้วย อย่ารีรอ แวะไปอุดหนุนกลับบ้านกัน
Live Life Detail
‘เชย’ เราสะดุดตาคำนี้บนดิสเพลย์ของ Live Life Detail ที่หยิบคำว่า เชย มานำเสนออย่างร่วมสมัยด้วยเทคนิคปักดิ้นทองฉบับราชสำนัก เป็นเทคนิคเดียวกับการปักชุดโขนและงานภัตราภรณ์
พัชรวรรณ เชยสาคร เจ้าของแบรนด์เล่าจุดเริ่มต้นราวปี 2019 ให้เราฟังว่า เธอชอบดูโขนมาก และการแสดงแต่ละครั้งก็มีการจัดแสดงเครื่องแต่งกายโขนด้วย คงไม่ต้องบอกว่าเธอตาเป็นประกายขนาดไหน ซึ่งพัชรวรรณเลือกใช้ศาสตร์ชั้นสูงมาประยุกต์ใหม่ให้ร่วมสมัย ผ่านเครื่องประดับและของแต่งบ้าน โดยเธอทำงานร่วมกับบรรดาช่างฝีมือผู้เชี่ยวชาญที่มีตั้งแต่วัยเด็กโตจนถึงแม่ ๆ ประสบการณ์สูง
ลวดลายบนชิ้นงานเธอออกแบบเอง ซึ่งมีแรงบันดาลใจจากความงามของธรรมชาติ ที่เห็นแล้วน่ามีครอบครอง คือมือจับประตูปักดิ้น เห็นแล้วสะดิ้งมาก หรือโคมไฟที่หุ้มด้วยผ้าพิมพ์ลายดิ้นทองก็โก้เก๋
ส่วนโปรเจกต์ล่าสุด เธอขยับมาจับตลาดคนรักษ์สิ่งแวดล้อม เลือกใช้ผ้ารีไซเคิลจาก SC Grand ชิ้นงานออกมาเทรนดี้มาก แถมมีเวอร์ชันเศษผ้าไหมด้วยที่เธอทำร่วมกับแบรนด์เพื่อนพ้อง
ANOTHER CUP
นี่คืองานเซรามิกที่ผสมผสานเทคนิคแบบประติมากรรมของชายหนุ่มผู้เรียนจบด้านออกแบบผลิตภัณฑ์ เขาพัฒนาโปรเจกต์สู่แบรนด์ ANOTHER CUP ได้ราว 2 – 3 ปี ด้วยการนำเสนอความงามของงานประติมากรรมที่จับต้องได้ ฟังก์ชันก็ได้ และใช้งานได้จริงก็ได้ โดยเริ่มสินค้าแรกด้วย ‘ถ้วย’
เขาว่าถ้วย วางเป็นของตกแต่งก็ได้ มองเป็นงานศิลปะก็ได้ แถมใช้งานก็ได้ พ่วงด้วยมิติของเทกซ์เจอร์ อย่างปากแก้วหนา-บาง เมื่อปากสัมผัสก็ให้ความรู้สึกแตกต่าง รวมถึงลวดลายภายในและภายนอกก็มีมิติของงานประติมากรรมอยู่ครบ ทำให้ชายเจ้าของแบรนด์สนุกกับการเล่าเรื่องได้สุด ๆ
สินค้าด้านหลังที่วางเรียงรายก็ล้วนน่าจับจอง อย่างถ้วยคอลเลกชัน SOMEONE ที่เขาได้แรงบันดาลใจจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผู้คนขาดการปฏิสัมพันธ์ ถ้วยแต่ละใบเลยมีเฉดสีที่ต่างกันตามแต่สีผิว พร้อมด้วยทรงคล้ายทรงร่างกาย จับเข้ามือ ให้เหมือนเราได้สัมผัสหรือโอบกอดใครสักคน
ยังมีหลายคอลเลกชันให้ขนกลับบ้าน เช่น คอลเลกชันชาโดว์ มีทั้งแบล็กชาโดว์และไวต์ชาโดว์ ที่ใช้เทคนิคขูดอย่างประติมากรรมมาสร้างแสงและเงา คอลเลกชันมาร์เบิล คอลเลกชันเฉดสีกาแฟ (เจ้าของร้านคาเฟ่ หากเล็งแก้วที่ไม่เหมือนใครไว้ใช้ในร้าน ANOTHER CUP ยินดีร่วมโปรเจกต์ด้วยกัน) คอลเลกชันเซน และที่กวาดรางวัล DEmark 2020 คืองานชื่อ ‘จานเดียว’ เป็นถาดหลุมที่สร้างสุนทรียะในการกิน
Por Sa
เป็นเวลากว่า 25 ปี ของ ทัศนีย์ วุฒิเจริญ หญิงผู้สืบทอดกระบวนการผลิตกระดาษสา ภายใต้โรงงานผลิตกระดาษสา ‘เฮือนปอสา’ ณ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ และนี่เป็นการออกร้านแห่งแรกของเธอในงาน STYLE Bangkok เธอนำสินค้าไลฟ์สไตล์มาจัดวางพร้อมเรื่องราวมากมาย
กระเป๋าสะพาย รองเท้า เซตแผ่นรองจาน-แก้ว ล้วนทำมาจากกระดาษสาทั้งสิ้น จากเดิมผลิตกระดาษสา ถุงกระดาษสา กรอบรูป และสมุดโน้ต ทัศนีย์ไม่หยุดเรียนรู้ เธอนำเทคนิคฟั่นเกลียวมาใช้ และนำกระดาษสามาทอ เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่และความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับกระดาษสา
และที่ดอยสะเก็ด เธอก็เปิดศูนย์การเรียนรู้ให้ผู้คนที่สนใจเข้ามาศึกษาด้วย
Clothear
ตอนสายตาพลันเห็นเสื้อปาเต๊ะพิมพ์ลายหนังตะลุง ก็ได้แต่คิดในใจว่าทำออกมาได้หรอยหนัด! เห็นแล้วแปลกตาแหวกความเป็นปาเต๊ะที่คุ้นตาจากลวดลายหมู่มวลบุปผาและธรรมชาติรอบตัว
‘คลอเทียร์’ เป็นแบรนด์จากหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่ต้องการยกระดับผ้าปาเต๊ะให้สวมใส่ได้จริงในชีวิตประจำวัน เพราะคนส่วนใหญ่เห็นว่าปาเต๊ะเป็นผ้าที่สาวรุ่นเดอะหรือแม่เฒ่าสวมใส่เป็นผ้าถุง
นี่คือปาเต๊ะนิวเจนที่สร้างสรรค์ลวดลายลิขสิทธิ์ของแบรนด์ขึ้นมาใหม่จากศิลปวัฒนธรรม สถานที่ท่องเที่ยว และวิถีชีวิตคนใต้ แถมเปลี่ยนเนื้อผ้าคอตตอนเป็นผ้าไหมซาติน ให้ความรู้สึกพรีเมียมไปอีก!
สิ่งที่ควรมีติดตู้คือเสื้อผ้าลายรวมดาวโจ๊กหนังตะลุง ยกขบวนกันมาหมด ทั้งไอ้แก้ว ขวัญเมือง สะหม้อ ลุงเท่ง หนูนุ้ย ตามมาด้วยคอลเลกชันล่าสุด รวมดาวใต้ (หนังตะลุง) น่ารักมาก ๆ ไม่แพ้กัน ซึ่งงานของคลอเทียร์เป็นงานคัสตอมเมดด้วย ที่ต้องสั่งผลิตขึ้นมาใหม่เพื่อให้พอดิบพอดีกับรูปร่างผู้สวมใส่
นอกจากหยิบสิ่งที่คนคาดไม่ถึงมาทำให้กลายเป็นแฟชั่นและสร้างมูลค่า ยังต่อยอดปาเต๊ะได้เจ๋งแจ๋วจนต้องยกนิ้ว และมีสินค้าอีก 1 ตัวของแบรนด์ที่อยากให้คุณทำความรู้จัก นั่นคือผ้าคลุม ทำจากผ้าไหมแท้ เขียนลายด้วยมือจากช่างฝีมือประเทศอินโดนีเซีย ใช้เวลาผลิต 3 – 4 เดือน งามสะบัด!
Podium lite
PODIUM เป็นแบรนด์ไทยที่สั่งสมประสบการณ์มามากว่า 38 ปี และมีแบรนด์พี่น้องนาม Podium lite เน้นสินค้าเฟอร์นิเจอร์อีโค่ โดยสินค้าตัวแรกที่อยากนำเสนอ คือ Plus Chair เก้าอี้ไม้จริงแบบ Flat Pack วัสดุไม้บีชจากป่ายั่งยืนในประเทศเยอรมนี แถมถอด-ประกอบได้ด้วยตัวเองแบบง่าย ๆ
ความพิเศษอีกอย่างคือเบาะผ้า ทำจากเศษผ้าเหลือใช้จากโรงงานที่มีคุณสมบัติกันไฟลาม เพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ใช้งาน และเป็นการมอบชีวิตที่ 2 ให้ของเหลือใช้ได้กลับมาเจิดจรัสอีกครั้ง
ดีไซน์ก็โมเดิร์นทันสมัย มีให้เลือกหลายสีสัน และการออกแบบให้อยู่ในรูป Flat Pack ก็ทำให้ขนส่งในปริมาณต่อรอบได้มากขึ้น ก็เท่ากับช่วยลดมลพิษจากรถที่ใช้ในการขนส่งด้วย แต่สิ่งที่ทำให้เราชอบเก้าอี้ตัวนี้เป็นพิเศษ คือกิมมิกเล็ก ๆ ที่ออกแบบให้พนักพิงมีร่องเล็ก ๆ สำหรับแขวนกระเป๋า ตอบโจทย์!
รับรองว่าเก้าอี้ตัวนี้จะทำให้บ้านของคุณอบอุ่นสุด ๆ (วางในคาเฟ่ ร้านอาหารก็เหมาะนะ)