แค่เอาตัวรอด ยังไม่เพียงพอ (Survival is Insufficient) หรือแปลเป็นเวอร์ชันดิบ ๆ ให้ได้อารมณ์ก็ ต่อให้มีชีวิตรอดมาได้ แล้วไงต่อ คือสโลแกนของคณะซิมโฟนีสัญจร หรือคณะละครที่ออกเดินทางเพื่อแสดงละครเชกสเปียร์ ด้วยแนวคิดที่ว่า ศิลปะ การแสดง วรรณกรรม และสื่อบันเทิงแขนงอื่น ๆ คือสิ่งที่ตอกย้ำว่าเรายังมีชีวิตอยู่ เพราะมันคือหลักฐานของอารยธรรมมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่โลกล่มสลายแล้ว แนวนิดนี้ครอบซีรีส์ทั้งเรื่องไว้ ทำให้ธีมชัดเจนและไม่เหมือนใคร

ในปี 2021 หรือช่วงเวลาที่สถานการณ์โควิด-19 ค่อนข้างดำเนินไปอย่างเข้มข้นและตึงเครียด มีซีรีส์ของ HBO เรื่องหนึ่งที่เข้ากับสถานการณ์เป็นอย่างดี ซีรีส์เรื่องนั้นมีชื่อว่า Station Eleven ที่ถูกต้องบอกว่าเป็นมินิซีรีส์ 10 ตอนจบที่ดัดแปลงจากหนังสือขายดีชื่อเดียวกันในปี 2014 และยังเข้าชิงรางวัล Emmy Awards ถึง 7 รางวัลด้วยกันครับ

หากแต่ซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้พูดถึงแค่โรคระบาดและการเอาตัวรอดเหมือนซีรีส์ Post-apocalypse เรื่องอื่น ๆ ไม่ได้เน้นการรบราฆ่าฟัน ไม่ได้มีซอมบี้เหมือน The Walking Dead ไม่ได้มีเนื้อเรื่องเข้มข้น ดุเดือด หรือพูดว่าเราจะหาทางแก้ไขซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไรเหมือน The Last of Us แต่พูดถึงการมูฟออนในโลกอนาคตดิสโทเปียที่แตกสลายแล้ว และโฟกัสไปแค่กลุ่มคนเล็ก ๆ ที่ต้องทำภารกิจสำคัญเล็ก ๆ แต่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้การกอบกู้มนุษยชาติ นั่นคือทำให้ส่วนหนึ่งของมนุษยชาติยังคงอยู่ และเปลี่ยนโฟกัสให้คนเกิดอารมณ์ร่วมกับความบันเทิงได้ เหมือนกับโลกใบนี้เป็นปกติแล้ว (ถึงอย่างนั้นก็ยังมีส่วนของเนื้อหาที่ทำให้กลัวมนุษย์ด้วยกันมาคุกคามให้เห็นอยู่เป็นช่วง ๆ)

Station Eleven ซีรีส์เล่าเรื่องหลังโลกล่มสลายเพราะโรคระบาด แต่มนุษย์กลับรอดมาได้ด้วยศิลปะ

นิตยสาร Vogue นิยามซีรีส์ Station Eleven ไว้ว่า ซีรีส์เรื่องใหม่ที่ดีที่สุดแห่งปี 2021 ส่วน The New York Times เขียนรีวิวโดยพาดหัวว่านี่คือ ซีรีส์ชุบจิตชูใจในโลกหลังล่มสลายที่คุณจะต้องอยากดู

สมัยเรียนคลาสภาพยนตร์ช่วงมหาลัย ผมยังพอจำได้ราง ๆ ว่าอาจารย์ผู้สอนเคยกล่าวไว้ว่า ฉากแรกหรือช็อตแรกไม่ได้สำคัญหรือฮุกให้คนอยากดูต่อ แต่ยังทำหน้าที่กำหนดโทนทั้งหมดว่าหนังหรือซีรีส์เรื่องนั้นเกี่ยวกับอะไร คนดูกำลังจะได้ดูอะไร และโทนเรื่องต่อจากนี้จะเป็นประมาณไหน

หากเรายึดตามนี้ ฉากเปิดฉากแรกของ Station Eleven ก็นับว่ามีความชัดเจนอย่างมากเลยล่ะครับ เพราะมันคือภาพของสิงสาราสัตว์ที่กำลังโลดแล่นในโรงละครร้าง ปราศจากมนุษย์ มีเพียงต้นไม้ใบหญ้าขึ้นเลื้อยพันเต็มไปหมด แสงสว่างสาดส่องลงมา หรือถ้าจะมีสักอย่างที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ ก็คงจะเห็นสถานที่แห่งนี้ที่มนุษย์เคยสร้างขึ้นกับใบปลิวละครเวที King Lear ของ เชกสเปียร์ รับบทโดยชายชื่อ Arthur Leander ตามด้วยฉากที่ย้อนอดีตให้เห็นว่าตัวละครนี้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ กับตัวละคร Jeevan ที่เข้าไปช่วย แสดงให้เห็นว่าตัวละครนี้อยากมีบทบาทสำคัญทั้งที่ทำไม่ได้ และเป็นมนุษย์ที่มีข้อบกพร่อง

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อโลกเกิดโรคระบาดรุนแรงจากไข้หวัด Georgia Flu ชนิดที่ขจัดมนุษย์จนแทบไม่เหลือได้ เหมือนที่โฆษณาน้ำยาล้างห้องน้ำกล่าวไว้ว่า มันกำจัดแบคทีเรียและเชื้อโรคได้ขนาดไหน และนาย Arthur Leander คนนี้ที่เป็นเหมือนศูนย์กลางสำคัญของเรื่องราวนี้ในฐานะระบบสุริยะก็เสียชีวิตเป็นคนแรก ๆ ในโรงละครขณะกำลังทำสิ่งที่ตัวเองรัก และเหตุการณ์ทั้งสองนี้ (โรคระบาดและ Arthur เสียชีวิต) สร้างอิมแพกต์ให้เกิดเป็นเส้นเรื่องแบบคู่ Joel-Ellie ในซีรีส์ The Last of Us เมื่อผู้ชมคนหนึ่งชื่อ Jeevan ต้องพาเด็กสาวนักแสดงชื่อ Kirsten ไปส่งบ้าน แต่ลงเอยด้วยการกักตัวอยู่ด้วยกันกับพี่ชายของเขา 3 คน จนกระทั่งเรื่องราวตัดสลับไปเล่าตอนโตอีก 20 ปีถัดมาผ่าน Kirsten วัยผู้ใหญ่ (รับบทโดย Mackenzie Davis จากซีรีส์ Halt and Catch Fire) พร้อมกับแทรกแวบ ๆ ว่าจาก 3 เหลือเพียงแค่ 2 และสุดท้าย จาก 2 เหลือเพียงแค่เด็กหญิงเพียงคนเดียวที่เติบโตจากอายุ 8 ปีเป็นผู้ใหญ่วัย 28 ปี

นั่นคือสิ่งที่เราต้องติดตามผ่านหลายไทม์ไลน์ตัดสลับว่าระหว่างนั้นเกิดอะไรขึ้น เธอมาลงเอยอยู่ในคณะละครเร่ได้อย่างไร และ Arthur Leander เป็นศูนย์กลางเรื่องราวนี้อย่างไร เรื่องราวยังจะพาไปพบกับพิพิธภัณฑ์อารยธรรมมนุษย์ และลัทธิประหลาดที่ผู้นำหลอกใช้เด็ก นำเสนอทั้งด้านสุขนาฏกรรมและโศกนาฏกรรม และที่สำคัญที่สุดคือคอมมิกทำมือลิมิเต็ดอิดิชันหลักหน่วยเล่มในโลกเรื่อง ‘Station Eleven’ ของตัวละคร Miranda ที่เล่าเรื่องราวของนักบินอวกาศชื่อ Dr.Eleven มีบทบาทสำคัญอย่างไรกับชะตากรรมของตัวละครและเนื้อเรื่อง

Station Eleven ซีรีส์เล่าเรื่องหลังโลกล่มสลายเพราะโรคระบาด แต่มนุษย์กลับรอดมาได้ด้วยศิลปะ

Station Eleven เป็นมินิซีรีส์ที่ไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือมาก่อนก็รู้เรื่อง เนื่องจากมีการบิด ดัดแปลงและเปลี่ยนทิศทางเนื้อหาชะตากรรมกับตัวละครไปพอสมควร แต่ถึงอย่างนั้นก็ทำออกมาได้ดีในอีกเวอร์ชันหนึ่ง เมื่อพูดถึงทีมงานที่เกี่ยวข้อง ก็เรียกได้ว่าเป็นทีมคุณภาพเลยครับ ผู้สร้างซีรีส์คือ Patrick Somerville จากซีรีส์ Maniac ของ Netflix ที่ได้ตัว Jeremy Podeswa ผู้กำกับทั้ง Game of Thrones, The Handmaid’s Tale, True Detective และ Boardwalk Empire กับ Hiro Murai ผู้กำกับฝีมือขั้นเทพจากซีรีส์ Atlanta และ The Bear ของช่อง FX

ส่วนนิยายต้นฉบับของซีรีส์ Station Eleven ของนักเขียนชาวแคนาดาชื่อ Emily St. John Mandel ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2014 ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า โดยเฉพาะหลังเหตุการณ์โควิดระบาด ซึ่งนอกจากยอดขายเป็นล้านเล่มและกระแสตอบรับที่ดีแล้ว หนังสือยังได้รางวัล Arthur C. Clarke Award และยังแปลไป 31 ภาษา รวมถึง HBO ซื้อลิขสิทธิ์ไปสร้างเป็นซีรีส์เรื่องนี้อีกด้วยครับ 

มันคือเรื่องราวที่อารยธรรมมนุษย์ล่มสลาย แต่มนุษยชาติจริง ๆ แล้วยังคงอยู่ บางทีอาจมีบางอย่างในหนังสือเล่มนี้ที่คนต้องการซึมซับก็ได้นะคะ ฉันยังจำได้ว่าช่วงต้นของการเกิดโรคระบาดมันยากแค่ไหนในการปรับตัวกับชีวิตที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ฉันเองก็อยากรู้ว่ามันจะเป็นอย่างไรต่อ หรือมันจะจบลงยังไง ฉันต้องการความแน่นอนเกี่ยวกับอนาคต นั่นอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ Station Eleven ขายดี พวกเขาพยายามบังคับตัวเองในช่วงนี้เพื่อเผชิญหน้ากับสิ่งที่เกิดขึ้น และถ้าหากคุณมองดี ๆ จะเห็นว่าประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีโรคระบาดและสงครามเกิดขึ้นตลอดเวลา 

Emily กล่าวถึงประเด็นที่หนังสือขายดีและมีแฟนหนังสือออกมาพูดกันเล่น ๆ ว่า Station Eleven คือหนังสือทำนายอนาคต

Station Eleven ซีรีส์เล่าเรื่องหลังโลกล่มสลายเพราะโรคระบาด แต่มนุษย์กลับรอดมาได้ด้วยศิลปะ

พูดถึงอิทธิพลและไอเดียของนิยายต้นฉบับเรื่องนี้ เมื่อดูจากชีวิตและการเติบโตของ Emily ก็พอจะตอบคำถามนี้ได้ครับ เธอโตมากับการศึกษาแบบโฮมสคูลจนถึงอายุ 15 และตั้งแต่อายุราว ๆ 8 – 9 ขวบ (พอ ๆ กับ Kirsten ในเรื่อง) Emily ถูกฝึกให้ใช้ชีวิตโดยต้องข้องเกี่ยวกับการอ่านหนังสือและฝึกเขียนเชิงสร้างสรรค์ทุกวัน พออายุ 18 เธอก็ได้ทุนการศึกษาไปเรียนเกี่ยวกับการเต้นโดยเฉพาะ หลังจากนั้นทำอาชีพนักออกแบบท่าเต้นอิสระ และมาลงเอยด้วยการเป็นนักเขียนนิยายอย่างในปัจจุบัน 

และเมื่อศาสตร์การแสดงและตัวอักษรมาบรรจบกัน กับอิทธิพลจากการอ่านงานเขียนของ Michael Ondaatje และ The Executioner’s Song ของ Norman Mailer หล่อหลอมออกมาเป็น Station Eleven หรือผลงานที่มีความเป็น Emily St. John Mandel มากที่สุดเรื่องหนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศพอสมควร หลังจากที่ 3 เล่มก่อนหน้าวนเวียนอยู่กับเรื่องจิตวิทยา ไม่ก็อาชญากรรม ดราม่า หรือสืบสวนสอบสวน 

Station Eleven ซีรีส์เล่าเรื่องหลังโลกล่มสลายเพราะโรคระบาด แต่มนุษย์กลับรอดมาได้ด้วยศิลปะ

เดิมทีนั้นนิยายต้นฉบับเองก็ไม่ได้มีเนื้อหาเกิดขึ้นใน Post-apocalyptic World แต่มีไทม์ไลน์อยู่ในยุคปัจจุบัน โดยไอเดียตั้งต้นคือ Emily ต้องการเขียนเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของศิลปะต่อชีวิตของผู้คน โดยเล่าผ่านนักแสดงในบริษัทท่องเที่ยว แต่เมื่อเขียนไปเขียนมา เธอก็ได้ตั้งคำถามว่า แล้วจะเป็นอย่างไรหากก้าวข้ามไปเล่าเรื่องโลกอนาคตที่ล่มสลาย ไม่มีเมือง ไม่มีประเทศ ไม่มีเฟซบุ๊ก ไม่มีอีเมล ไม่มีอินเทอร์เน็ต เพื่อชวนคนดูคิดตามและหันมามองชีวิตแบบ Pure Organic ว่าอะไรยังสำคัญอยู่บ้างหากปราศจากสิ่งเหล่านี้ และจากที่ผมจับใจความได้ มันคือความสัมพันธ์ต่อมนุษย์ด้วยกันเอง และแน่นอน ศิลปะที่เป็นเหมือนตัวละครหลักของเรื่อง

ในทัศนะของผู้แต่ง เธอที่เติบโตมาในยุคก่อนเปลี่ยนผ่านเป็นโลกาภิวัตน์อย่างในปัจจุบัน ได้สัมผัสถึงความสวยงามของโลกก่อน และใจความหนึ่งที่อยากสื่อสารคือโลกที่ปราศจากเทคโนโลยีไม่ได้แย่เสมอไป หรืออันที่จริงแล้วมีหลายอย่างชวนให้อ้าปากค้างมากมาย แต่เราอาจมองไม่เห็นหรือไม่ซาบซึ้งกับมันเมื่อถูกบดบังไปด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ จึงได้ใส่เด็กและตัวละครอย่าง Alex ที่เป็นเด็กเกิดในยุคหลังโลกระบาดเข้าไปในเนื้อเรื่องเพื่อสะท้อนธีมที่ว่านี้

แน่นอนว่า ณ จุดหนึ่งของไทม์ไลน์ช่วง 20 ปีก่อน Time Skip มีช่วงเวลาที่โกลาหล วุ่นวาย หรือพูดง่าย ๆ ว่าดุเดือด เข้มข้น สยดสยอง เหมือน The Walking Dead กับ The Last of Us ในพาร์ตมนุษย์ vs มนุษย์อยู่เหมือนกัน แต่ Emily เลือกทางนี้เพราะผู้เขียนคนอื่นหรือสื่อแขนงอื่นอย่างหนังซีรีส์นำเสนอด้านเหล่านั้นไปเยอะแล้ว และตัวเธอเองก็ไม่เชื่อว่าอะไรเหล่านั้นจะคงอยู่ตลอดไปในทุก ๆ ที่ของโลก เธอมองว่าน่าสนใจกว่าว่าหลังจากนั้นจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป วิถีชีวิต วัฒนธรรม ของคนช่วงนั้นจะเป็นยังไง จึงกำหนดให้เนื้อเรื่องเกิดขึ้นแบบแยกกันก่อนเกิดเหตุการณ์โรคระบาด แล้วนำตัวละครมาใส่พื้นที่ที่ไม่ใกล้ไม่ไกลกันหลังเกิดเหตุการณ์โรคระบาด จากนั้นก็ผูกโยงองค์ประกอบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

Station Eleven ซีรีส์เล่าเรื่องหลังโลกล่มสลายเพราะโรคระบาด แต่มนุษย์กลับรอดมาได้ด้วยศิลปะ

จุดเด่นของ Station Eleven ทั้งในฉบับนิยายและซีรีส์มีสิ่งที่เหมือนกัน คือการเล่าหลายไทม์ไลน์สลับไปมา (แต่ถ่ายทอดออกมาเข้าใจง่าย และยังไม่ต้องใช้แรมหนักในการปะติดปะต่อขนาด Westworld ซีซัน 2 ซึ่งเทคนิคนี้ Emily ใช้มาตั้งแต่นิยายเล่มแรกแล้ว) ที่ยิ่งดูจะยิ่งเห็นภาพชัด และเมื่อดูจบก็จะเห็นภาพจิ๊กซอว์ทั้งหมดอย่างชัดเจน ซึ่งการเรียงร้อยทั้งเส้นเรื่อง สถานที่ และตัวละครเข้าด้วยกันอย่างมีบทบาทสำคัญแบบนี้ กับการเลือกเล่าแบบผสมความแฟนตาซีอ่อน ๆ เข้าไปด้วยในบางจังหวะ ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของซีรีส์เรื่องนี้ก็ว่าได้ครับ 

ทั้ง 2 เวอร์ชันจะสอดแทรกความสำคัญของศิลปะเข้าไปในเส้นเรื่องและตัวละคร ตั้งแต่ให้กลุ่มของตัวเอกเป็นคณะละครสัญจร (การแสดง) ชื่อคณะซิมโฟนี (ดนตรีคลาสสิก) กับด้านวรรณกรรมอย่างเชกสเปียร์ และตัวละครสำคัญที่ถือเป็นหนึ่งในแขนงของศิลปะในเรื่องนี้ด้วย คือนิยายภาพ Station Eleven ที่มีบทบาทสำคัญในฐานะอิทธิพลในการเอาตัวรอด แนวคิด ทัศนคติ ของ 2 ตัวละครที่อยู่ขั้วตรงข้าม และต่างก็เคยอ่านหนังสือเล่มนี้มาแล้ว อย่าง Kirsten และศาสดาลัทธิ (ที่ขอปิดชื่อไว้ก่อน) แต่ทว่าเมื่อดูไปเรื่อย ๆ จะพบว่าทั้งสองเหมือนกันอย่างแปลกประหลาด คือเป็นคนแกร่งในโลกผุพัง อาจดูกระด้างกระเดื่อง กร้านโลก ทัศนคติชัดเจนเกินกว่าจะเข้ากับใครได้ แต่แท้จริงแล้วกลับอ่อนโยน เปราะบาง และต้องการความรักความอบอุ่น

นอกจากนี้ตัวเนื้อหาก็ยังมีลักษณะเป็น Play-within-play / Story-within-story หรือมีความเป็นละครซ้อนละคร เรื่องราวซ้อนเรื่องราว ผนวกเข้ากับอิทธิพลของเชกสเปียร์อยู่ไม่น้อย ตั้งแต่ที่คณะละครเล่นละครเชกสเปียร์อย่าง แฮมเล็ต ในขณะที่ตัวบทละคร แฮมเล็ต เองก็ใช้การแสดงละครเป็นกุญแจและฉากสำคัญของเรื่องราวเช่นกัน การจับนักแสดงที่บทบาทคล้ายคลึงหรือตรงกันมารับบทเป็นตัวละครแฮมเล็ตและตัวละครอื่น ๆ ในเรื่อง เพื่อสื่อสารใจความผ่านบทพูดและการแสดงแทนการพูดกันโดยตรง การที่ตัวละคร Arthur ที่เป็นศูนย์กลางแม้จะตายตั้งแต่ต้นเรื่องรับบท King Lear หรือแม้แต่ฉากไฟลุกที่เป็นเสมือนจุดจบก่อนเริ่มตอนสำคัญต่อไปในเรื่อง ก็ทำให้ชวนนึกถึงจุดจบอาชีพนักประพันธ์ของ William Shakespere ที่เป็นผลมาจากโรงละคร The Globe Theatre ถูกไฟลุกไหม้

Station Eleven ซีรีส์เล่าเรื่องหลังโลกล่มสลายเพราะโรคระบาด แต่มนุษย์กลับรอดมาได้ด้วยศิลปะ

ว่าแต่สงสัยมั้ยครับว่า ทำไมต้องแสดงละครเชกสเปียร์ นอกจากที่ได้กล่าวไปข้างต้น อันที่จริงแล้วเดิมทีคณะซิมโฟนีสัญจรในดราฟต์แรก ๆ แสดงละครหลากหลายประเภทเพื่ออนุรักษ์สิ่งนี้ไว้ในวันที่ไม่มีเทคโนโลยี ตั้งแต่ทุกอย่างของเชกสเปียร์ จนถึงบทหนังบทละครของ David Mamet และซีรีส์ยุคโมเดิร์นอย่าง How I Met Your Mother กับ Seinfeld เลยครับ (ซึ่งใน 20 ปีต่อมาก็คงกลายเป็นวรรณกรรมคลาสสิกแขนงหนึ่งไปแล้ว) แต่สุดท้ายเพื่อให้ธีมชัด จึงตัดองค์ประกอบของโลกโมเดิร์นออกไป

หลังจากการหาอ่านทั้งประวัติและผลงานของเชกสเปียร์เพื่อเขียนนิยายต้นฉบับของซีรีส์เรื่องนี้ เธอได้พบความเป็นจริงอย่างหนึ่งที่ว่า ครอบครัวของเชกสเปียร์เคยมีประวัติเผชิญหน้าและสูญเสียจากโรคระบาดสมัยนั้นอย่างกาฬโรคมาก่อน และในสมัยนั้นโรงละครกับคณะละครเร่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโรคระบาด มันจึงสมเหตุสมผลหากจะหยิบบทละครเชกสเปียร์กับคณะละครมาสลับด้านกัน ให้ยังคงอยู่ในโลกที่แตกสลายและเอาชนะโรคระบาดนี้ได้ เหมือนดอกไม้ที่ขึ้นในซากปรักหักพัง 

ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไมถึงมีคอมมิก Station Eleven ในเมื่อตั้งใจจะโฟกัสที่วรรณกรรมคลาสสิกจากยุคสมัยเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษมากกว่า นั่นก็เพราะคอมมิกหรือนิยายภาพถือว่าเป็นวรรณกรรมแขนงหนึ่งเช่นกัน และเรื่องราวนี้จำเป็นต้องมีบางสิ่งผูกโลก Pre และ Post-apocalyptic เข้าไว้ด้วยกัน เหมือนกับที่ละครเชกสเปียร์ (King Lear ที่ปรากฏช่วงต้นกับ Hamlet ที่ปรากฏตลอดเรื่อง) ยืนด้วยขา 2 ข้างแม้ต่างยุคสมัย

Station Eleven ซีรีส์เล่าเรื่องหลังโลกล่มสลายเพราะโรคระบาด แต่มนุษย์กลับรอดมาได้ด้วยศิลปะ

ดูเรื่องนี้แล้วทำให้นึกถึงหนังสือที่ผมกำลังอ่านอยู่ในช่วงนี้ ที่มีชื่อว่า The Science of Storytelling เขียนโดย Will Storr (นำมาแปลไทยโดยสำนักพิมพ์ Bookscape) มีเนื้อหาช่วงหนึ่งกล่าวว่า ศิลปะและการเล่าเรื่องนั้นอยู่คู่กับมนุษย์มาโดยตลอด และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้มนุษย์เดินหน้าได้ในทุก ๆ วงการ เริ่มตั้งแต่ภาพวาดฝาผนังถ้ำ จนถึงการถ่ายทอดความต้องการหรือชักจูงในชีวิตประจำวัน สำหรับโลกล่มสลายก็เช่นกัน มันไม่เพียงเป็นสิ่งเยียวยาและแสงสว่าง แต่การมีอยู่ของศิลปะยังเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญว่า “ We’re still here.” และมนุษยชาติยังไม่ได้ตายจากไปไหน

อาจแปลกไปหน่อยที่ฉันจะพูดสิ่งนี้เมื่อมันเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกือบทุกคนในโลกจากไป แต่สิ่งที่ Station Eleven มีให้คือความสุขหัวใจ มันเป็นเรื่องราวที่เต็มไปด้วยความรัก ฉันเชื่อว่าคนเราต้องการเรื่องราวอยู่เสมอ เพื่อช่วยให้เราข้ามผ่านช่วงเวลาที่ความเป็นจริงไม่เสถียรได้ และในซีรีส์ก็ทำหน้าที่นั้นเช่นกัน คุณมาถึงจุดที่คุณพูดถึงอะไรไม่ได้อีกต่อไป แต่ในเมื่อไม่มีคำตอบดี ๆ นั่นคือช่วงเวลาที่ศิลปะเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุด เมื่อคำพูดใช้ไม่ได้อีกต่อไป แต่เราร้องเพลงโฟล์กซองหรือทำการแสดงได้ Emily St. John Mandel กล่าว

Station Eleven ซีรีส์เล่าเรื่องหลังโลกล่มสลายเพราะโรคระบาด แต่มนุษย์กลับรอดมาได้ด้วยศิลปะ

Station Eleven เป็นอีกหนึ่งซีรีส์คุณภาพของ HBO ที่อาจไม่ได้ถูกพูดถึง เข้าชม หรือเป็นที่รู้จักในวงกว้างเท่าเรื่องอื่น ๆ นอกจากนี้แล้ว ซีรีส์ไม่เพียงแต่ดัดแปลงจากหนังสือที่เขียนขึ้นก่อนจะเกิดโควิด-19 แต่ยังถ่ายทำช่วงโรคระบาดตั้งแต่ต้นปี 2020 และเจออุปสรรคกับความยากลำบากจนต้องหยุดถ่ายทำไป ก่อนจะกลับมาถ่ายทำอีกครั้งจนได้ออนแอร์ทาง HBO ในที่สุด ฟังแล้วก็ดูคลับคล้ายคลับคลากับไอเดียของคณะซิมโฟนีสัญจรในเรื่องอยู่เหมือนกันนะครับ เป็นตัวแทนของศิลปะที่ข้ามผ่าน ทะลุช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด และกลายมาเป็นสัญลักษณ์หรือหนึ่งในสิ่งที่ดีงามที่สุดในโลกอนาคตนี้ พร้อม ๆ กับทำหน้าที่เป็น Art Therapy ให้กับตัวละครในเรื่อง (ทั้งฝั่งที่ทำการแสดงและฝั่งคนดู) ไปด้วย

แม้ผู้แต่งนิยายเรื่องนี้อย่าง Emily St. John Mandel จะไม่ได้มีส่วนกับซีรีส์ แต่เธอก็ชื่นชมในการดัดแปลงที่เลือกจะแตกต่าง แต่นำเสนอใจความเดิมได้อย่างครบถ้วน และยังต่อยอดได้อย่างสวยงาม ในการนำเสนอคอนเซปต์ ‘ศิลปะ=ความสุขใจ’ จากหนังสือของเธอ

Station Eleven อาจไม่ใช่ซีรีส์ที่หวือหวา และผมยังไม่แน่ใจเท่าไหร่ถ้าจะใช้คำว่า ‘สนุก’ นิยามซีรีส์เรื่องนี้ แต่ถ้าหากพูดถึงเรื่องเอกลักษณ์ ความน่าติดตาม และการนำเสนอแง่มุมในโลกล่มสลาย ก็นับว่าสดใหม่และเป็นไปอย่างคุณภาพ ตั้งแต่นักแสดง การเล่าเรื่อง การนำเสนอความหลากหลายของมนุษย์ และถ่ายทอดได้อย่างสวยงาม

อย่างเช่นวลี ฉันจดจำความเสียหายได้ (I remember damage.) กับ ไม่มีก่อนหน้านี้ (There is no before.) ที่เป็นการต่อสู้กันระหว่าง 2 ขั้วแนวคิด คือจดจำอดีตและโอบรับมัน เดินหน้าต่อ กับแนวคิดละทิ้งอดีตแล้วเดินหน้าสู่โลกใหม่พร้อมกับโอบรับมัน ในส่วนทั้งนิยายและซีรีส์ต่างทำได้น่าจดจำและชวนตั้งคำถามได้ไม่แพ้ To be, or not to be, that is the question. ในงานวรรณกรรมของเชกสเปียร์ที่เป็นอิทธิพลหลักเลยครับ

ดูทั้ง 10 อีพีของมินิซีรีส์ Station Eleven ได้ที่ HBO GO 

ข้อมูลอ้างอิง
  • www.npr.org
  • theguardian.com
  • www.ucf.edu
  • www.esquire.com
  • frictionlit.org

Writer

Avatar

โจนี่ วิวัฒนานนท์

แอดมินเพจ Watchman ลูกครึ่งกรุงเทพฯ-นนทบุเรี่ยน และมนุษย์ผู้มีคำว่าหนังและซีรีส์สลักอยู่บนดีเอ็นเอ