“สวัสดีครับ เรื่องคุณสมภพเป็นไงบ้างครับ”

“ยังเงียบอยู่เลยค่ะ เดี๋ยวอัปเดตนะ”

ทุกเดือน หลายเดือน ผมและทีมแกรมมี่จะคุยไลน์กัน จบด้วยคำตอบเดิมเสมอ

คุณสมภพไม่เคยออกสื่อ หาชื่อใน Google คุณจะเจอแค่ประวัติไม่กี่บรรทัดในเอกสารสำหรับผู้ถือหุ้นแกรมมี่ 

คุณภาวิต จิตรกร CEO ของแกรมมี่บอกเราว่า ถ้าทำเรื่องบริษัทนี้แล้วไม่สัมภาษณ์คุณสมภพ ถือว่าพลาดอย่างแรง

เขาคือใคร ทำไม The Cloud ถึงต้องตามตื๊อขอคุยด้วยนานหลายนาน

เขาคือพนักงานบัญชี ผู้พลิกให้ธุรกิจ Showbiz ของแกรมมี่ทำรายได้แตะพันล้าน 

เปลี่ยนวิธีคิดการทำคอนเสิร์ตของค่ายเพลง สู่การเป็นหน่วยธุรกิจทำเทศกาลดนตรีทั่วประเทศ 

สมภพ บุษปวนิช พนักงานบัญชีผู้ไม่ชอบดูคอนเสิร์ต แต่ทำให้ Showbiz แกรมมี่ทำเงินพันล้าน

คุณสมภพ บุษปวนิช เข้าตึกแกรมมี่มาด้วยตำแหน่งพนักงานบัญชี เติบโตในสายตัวเลขมาเนิ่นนาน ในจังหวะที่กำลังจะได้ขึ้นเป็น Chief Finance Officer เขาตัดสินใจว่าขอย้ายจากฝ่ายหลังบ้านสู่แนวหน้า เป็นผู้บริหารดูแลธุรกิจของแกรมมี่ ซึ่งเป็นความฝันของเขามานานนับสิบปี

เขาคือคนที่ คุณไพบูลย์ ดํารงชัยธรรม สั่งให้เข้าไปจัดการทุกครั้งก่อนจะเปิดบริษัทใหม่ เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน เมื่อแกรมมี่จะบุกเบิกสิ่งใหม่ คุณสมภพอยู่แถวหน้าเสมอ

มีหลายสื่อเคยวิเคราะห์ความสำเร็จของธุรกิจ Showbiz แกรมมี่

แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เราจะได้ฟังเรื่องนี้จากปากของผู้บริหารคนสำคัญ ซึ่งไม่เคยให้สัมภาษณ์สื่อไหนมาก่อน

นอกจากได้บันทึกเรื่องนี้ในหนังสือ Coming of Age 40 years of GMM Grammy คุณสมภพยังเล่าเรื่องเบื้องหลัง Showbiz ของแกรมมี่ ผ่าน 4 คอนเสิร์ตสำคัญของบริษัทในรอบ 40 ปี

เพลงแรกเริ่มแล้ว 

Big Mountain Music Festival

พ.ศ. 2553

ถ้าจะเข้าใจความสำเร็จของแกรมมี่ ควรเริ่มจากงาน Big Mountain Music Festival 

ถ้าจะเข้าใจความสำคัญของ Big Mountain Music Festival ต้องย้อนกลับไปมองภาพใหญ่ของวงการดนตรีไทยเมื่อ 3 ปีก่อน

พ.ศ. 2550 บริษัทดนตรีขนาดใหญ่ทั่วโลกเริ่มเห็นว่าปรากฏการณ์ Disruption ที่ทำให้คนไม่ซื้อซีดีและเทปแคสเซ็ต หันไปฟังเพลงบนออนไลน์น่ากลัวเพียงใด เพราะรายได้จากการขายสินค้า Physical หายไปในพริบตา 

แต่ละแห่งต้องปรับตัวเพื่อแก้ปัญหา แกรมมี่ก็เช่นกัน แม้จะได้เปรียบในเรื่องโครงสร้างบริหารงานที่รวมเอาหน่วยโปรดักชันและดูแลลิขสิทธิ์เพลงมาไว้ในบริษัท ทำให้จัดการได้ง่ายกว่า ปรับตัวได้เร็ว แก้ปัญหาได้ไม่ยากนัก

ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้หนักกว่าที่หลายคนคิด แหล่งรายได้ที่เป็นเงินสดจึงสำคัญกว่าครั้งไหน ๆ 

หลายค่ายจึงเริ่มมองรายได้จากงานจ้างหรือคอนเสิร์ตมากเป็นพิเศษ สำหรับแกรมมี่ รายได้จากศิลปินที่เป็นลักษณะการเล่นสด โดยเฉพาะ Big Mountain Music Festival จึงสำคัญมาก เพราะเป็นงานสเกลใหญ่ สร้างรายได้ไม่น้อย 

แต่แน่นอน งานนี้ไม่ง่ายนัก เพราะเป็นงานที่ต้องลงทุนสูง ต้องบริหารจัดการหลายเรื่อง มันจึงเป็นทางเลือก แต่ไม่ใช่ทางหลักที่แกรมมี่จะยืนหยัด

แกรมมี่ยุคนั้นสู้กับ Disruption ด้วยการปรับโครงสร้าง บุกเบิกงานด้านทีวีดิจิทัล ส่วนงานดนตรีก็ยังใช้โครงสร้างเดิมเป็นกระดูกหลัก เน้นทำคอนเสิร์ตของศิลปินตัวเองเพื่อสร้างฐานแฟนเพลงและรายได้ไปพร้อมกัน 

Big Mountain Music Festival ประสบความสำเร็จด้วยดี จัดต่อเนื่องมาอีกหลายครั้ง ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงในบริษัทก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุดนิ่ง

พ.ศ. 2555 แกรมมี่เปิดตัว GMM Z แพลตฟอร์มทีวีดาวเทียมที่เอาข้อดีของเพย์ทีวีมาหีบห่อให้น่าใช้ ราคาจับต้องได้ 

พ.ศ. 2556 แกรมมี่กระโจนเข้าสู่สังเวียนทีวีดิจิทัล ประมูลได้ 2 ช่อง ซึ่งต่อมานำมาสู่ความล้มเหลวในเชิงธุรกิจ คอนเทนต์ที่ซื้อมาไม่เข้าเป้า มีปัจจัยลบมากมาย บริษัทติดหนี้จำนวนมาก ต้องหารายได้จากทุกทิศทุกทาง

พ.ศ. 2559 เกิดเหตุการณ์ 2 เรื่องที่ดูไม่เชื่อมโยงกัน แต่เกี่ยวข้องกัน 

คุณภาวิต จิตรกร อดีตผู้บริหารบริษัทโฆษณา Ogilvy Thailand เข้ามาทำงานในแกรมมี่ ในขณะเดียวกัน คุณสมภพ บุษปวนิช ขอย้ายจากแผนกบัญชีการเงิน มาทำงานเป็นผู้บริหารด้านหน้า กลายเป็นรอง CEO ของธุรกิจเพลง ร่วมกับ คุณกริช ทอมมัส ผู้บริหารลูกหม้อคนสำคัญของแกรมมี่

คุณสมภพเป็นพนักงานบัญชีมาทั้งชีวิต เขาทำงานสายวิเคราะห์ แต่ใจรักงานครีเอทีฟ อยากลองทำธุรกิจ แม้จะไม่ถนัด แต่เขารู้ดีว่าควรทำงานอย่างไรให้ได้ผลเสถียร โดยเฉพาะกับงานด้านดนตรีที่ต้องการ KPI มีกำหนดงานแน่นอน เพื่อให้ทุกคนบรรลุถึงเป้าหมาย

ก่อนหน้านี้เขาดำรงตำแหน่งรอง CFO ที่กำลังจะได้เลื่อนขึ้นมาดูงานหลังบ้านทั้งองค์กร แต่เมื่อใจอยากไปอีกทาง เขาจึงขอเปลี่ยนตำแหน่งมาเป็น COO หรือ Chief Operation Officer 

หน้าที่ของงานนี้ คือการคุมงานหลังบ้านทั้งบัญชี กฎหมาย การผลิต คุณสมภพช่วยจัดโครงสร้าง ขยับไปมาจนลงตัว จากนั้นใน พ.ศ. 2562 เกิดการปรับโครงสร้างอีกรอบ คุณฟ้าใหม่ ดำรงชัยธรรม ลูกชายคนโตของ คุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เข้ามาทำงานเป็น Chief Strategy Officer และได้คุณสมภพเข้ามาร่วมทีมนี้ด้วย เป็นจุดที่ทำให้เขาได้บริหารธุรกิจเต็มตัว

ธุรกิจแรกที่เขาได้รับผิดชอบ คือธุรกิจ Showbiz ภายใต้ชื่อ GMM Show ซึ่ง ณ ตอนนั้นมีขนาดเล็กมาก

สมภพ บุษปวนิช พนักงานบัญชีผู้ไม่ชอบดูคอนเสิร์ต แต่ทำให้ Showbiz แกรมมี่ทำเงินพันล้าน

“พ.ศ. 2562 เรามี Big Mountain Music Festival ตัวเดียว บิลลิ่ง 100 – 200 ล้านบาท คอนเสิร์ตน้อยมาก เป็นธุรกิจที่ไม่มั่นคง บางครั้งคนนิยม บางครั้งคนก็ไม่นิยมเฉย ๆ ซะอย่างนั้น แผนกนี้จะรับพนักงานเพิ่มก็ยาก เดี๋ยวถ้าขาดทุนก็ต้องให้เขาออกอีก” 

ถ้าเทียบกับวิกฤตที่บริษัทกำลังเผชิญ Showbiz น่าจับตา แต่ยังไม่ใช่ลำดับแรกในใจผู้บริหาร 

คุณสมภพแก้โจทย์นี้อย่างไร 

เขามองไปที่ชั้นหนังสือที่เต็มไปด้วยแผ่นเสียง ดูเหมือน พี่เต๋อ-เรวัต พุทธินันทน์ บนแผ่นเสียงครบเซตของเขาจะมีคำตอบ 

คอนเสิร์ตปึ๊กกก!

พ.ศ. 2529

หากมีคนเขียนประวัติศาสตร์ดนตรีไทยเป็นหนังสือ 

เรื่องราวของคอนเสิร์ตปึ๊กกก! โดย พี่เต๋อ เรวัต คงเป็นบทใหญ่และสำคัญของเล่ม

ในอดีต การจัดคอนเสิร์ตของไทยไม่ได้มีระบบระเบียบชัดเจนนัก โดยเฉพาะในแง่การจัดการ บริหาร จัดสรรคนทำงานตามตำแหน่งต่าง ๆ แต่ละงานจะพึ่งพาคนดนตรีเป็นหลัก ไม่ได้มีระบบมาช่วยดูแล คุณภาพจึงขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนเล่น ใครเอาเวทีอยู่ งานนั้นก็รอดตัว

คอนเสิร์ตปึ๊กกก! ถูกพูดถึงในแง่การรวมคนดนตรีมากที่สุดครั้งหนึ่ง มองไปทางซ้ายพบกับ อัสนี โชติกุล ทางขวาพบ ชาตรี คงสุวรรณ, กริช ทอมมัส, จาตุรนต์ เอมซ์บุตร และยอดฝีมืออีกหลายคน

มาตรฐานที่คอนเสิร์ตนี้ทำไว้กลายเป็นระบบต้นแบบที่อุตสาหกรรมคอนเสิร์ตและอีเวนต์ทำตาม ศิลปินแกรมมี่อีกหลายคนได้จัดคอนเสิร์ตของตัวเองก็ด้วยองค์ความรู้และมาตรฐานที่คอนเสิร์ตปึ๊กกก! สร้างไว้

ในยุคที่แกรมมี่เฟื่องฟู สร้างฐานแฟนเพลงไว้มากมาย หนึ่งในนั้นคือคุณสมภพที่ไม่เพียงเป็นแฟนเพลง เขายังอยากทำงานที่นี่ด้วย

คุณสมภพโตในครอบครัวข้าราชการ ไม่มีธุรกิจ ไม่ร่ำรวย เขาทำงานตั้งแต่เป็นเด็กนักเรียนขาสั้น คุณสมภพเลือกเรียนคณะบัญชี มหาวิทยาลัยรามคำแหง เพราะเป็นหนึ่งในคณะที่เรียนจบแล้วไม่ตกงาน 

ชีวิตแบบ Work & Study บีบให้เขาแทบไม่ได้เข้าห้องเรียน ซื้อชีตรายวิชามาอ่าน รับจ้างตรวจสอบบัญชี (Audit) ทั่วราชอาณาจักร จากนั้นมีโอกาสได้ทำบัญชีที่บริษัทสื่ออย่าง The Nation ผ่านไปราว 5 ปีถึงมีโอกาสได้ย้ายมาทำงานที่แกรมมี่

คุณสมภพเล่าว่าพนักงานบัญชีแบ่งเป็น 2 สาย คือสายด้านการเงินอย่างเดียว หน้าที่คือทำตัวเลขให้เที่ยงตรงที่สุด กับสายด้านการบริหาร ซึ่งต้องนำตัวเลขมาวิเคราะห์และนำเสนอผู้บริหาร 

เขาเลือกอย่างหลัง นั่นทำให้เขาได้ขึ้นลิฟต์สู่ห้องทำงานชั้น 42 พรีเซนต์กับผู้บริหารที่ชื่อ คุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เป็นประจำ

สมภพ บุษปวนิช พนักงานบัญชีผู้ไม่ชอบดูคอนเสิร์ต แต่ทำให้ Showbiz แกรมมี่ทำเงินพันล้าน

“ตอนนั้นมีความหวังมากว่าคุณไพบูลย์จะจำชื่อผมได้ แต่แกไม่เคยจำได้เลย ผมตัวเล็กมาก พรีเซนต์ไปเรื่อย ๆ หลายปี ผมคิดว่าแบบนี้สงสัยจะไม่มีประโยชน์” เขาเล่าความหลัง

เมื่อปรึกษารุ่นพี่ ตอนนั้นแกรมมี่ปรับเปลี่ยนทีม เขามีโอกาสได้รวบงานบัญชีของแผนกสื่อหรือ Media มาดูแลในบัญชีส่วนกลาง นั่นทำให้คุณสมภพได้ดูแลงานกว้างขึ้น สายตามองเห็นกิจการบริษัทไกลขึ้น เขาได้รู้จัก คุณถกลเกียรติ วีรวรรณ, คุณภิญโญ รู้ธรรม และผู้บริหารยุคนั้นอีกหลายคน 

จุดเปลี่ยนของคุณสมภพคือการเข้าไปช่วยตั้ง GTH ค่ายหนังที่แกรมมี่ร่วมทางกับ หับ โห้ หิ้น และ ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ สร้างระบบบัญชีประหนึ่งสร้างฐานรากของบ้านภาพยนตร์แห่งนี้ให้แข็งแรง

หลังจากนั้นคุณสมภพก็เป็นคนที่คุณไพบูลย์และผู้บริหารวางใจ ถ้าจะเปิดบริษัทหรือหน่วยธุรกิจใหม่ เขาจะถูกส่งไปเป็นคนแรก ทั้งดูลู่ทาง ตั้งระบบ หลังจากดีลระหว่างผู้ใหญ่สำเร็จแล้ว “ตอนนั้นคุณไพบูลย์จำผมได้แล้ว” เขาเล่ายิ้ม ๆ 

เมื่อได้ทำงานใกล้ชิด เขาพบว่าจุดแข็งของแกรมมี่ในทางบัญชี คือการควบคุมต้นทุนอย่างมีศิลปะ

ต้นทุนในโลกนี้มี 2 แบบ คือต้นทุนทางตรงที่เกี่ยวกับสินค้านั้น และต้นทุนที่เป็นค่าใช้จ่ายประจำหรือ Fix Cost 

ถ้าต้องทำงานใหม่ ยังไม่เคยเกิดขึ้น ต้องมีการคาดเดาต้นทุน งานแต่ละแบบจะมีราคาตลาดที่ยอมรับกันในวงการ แกรมมี่ยึดตัวเลขนี้ จะลดหรือเพิ่มก็มีระดับเป็นเปอร์เซ็นต์ ใช้ให้สมเหตุสมผล

เรื่องรายได้ คุณไพบูลย์มักพูดกับคนทำงานว่า “พระเจ้าให้” มันเป็นเรื่องอนาคต ไม่มีใครรู้ว่าจะได้หรือไม่ได้ เราเพียงต้องทำสิ่งที่ควบคุมได้ให้ดีที่สุด 

อีกงานหนึ่งของคุณสมภพ คือการอธิบายให้ศิลปินซึ่งเป็นผู้บริหารของแกรมมี่เข้าใจด้วย ศิลปินมักไม่พอใจเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงต้นทุน เขาต้องอธิบายหลักการและเหตุผล เป็นเหมือนคนทำงานในฝั่ง Commercial ที่ต้องพางานฝั่ง Artist สู่ความสำเร็จเดียวกัน

การจะทำงานนี้ได้ นั่งเฉย ๆ พูดหล่อ ๆ ไม่พอ ต้องออกแรง ลงไปคลุกคลีในงานอย่างเข้าใจจริง ๆ 

“หัวใจที่ทำให้แกรมมี่แข็งแรงทางบัญชี คือวิเคราะห์และคุมต้นทุนอยู่ รู้ต้นทุนในเชิงธุรกิจได้ ไม่ใช่รู้แต่ชื่อ เช่น ค่ากล้อง สมมติว่ามี 5 คิว บัญชีต้องรู้ว่าทำไมต้อง 5 คิว 

“สมัยทำบัญชี คุณไพบูลย์เคยด่าผมว่า มึงนั่งอยู่บนหอคอย ไม่รู้หรอกว่าเขาทำอะไรมา จ่ายหมด ไปออกกองบ้าง บัญชีจะไปรู้เรื่องอะไร ก็สั่งให้พนักงานบัญชีอย่างผมไปนั่งดูเขาออกกอง 

“ตอนหลังผมอยากรู้รายละเอียดมากขึ้น เลยคุยกับ คุณจินา (จินา โอสถศิลป์ ผู้บริหาร GTH และ GDH) เขาก็เอาบทมาให้อ่าน ในนั้นบอกว่าเขาใช้กี่คิว ถ่ายอะไรบ้าง ผมก็เอาปรับใช้กับเรื่องบัญชี เราจะรู้ว่าต้นทุนมาจากไหน สอนลูกน้องได้ เช่น ตอนนั้นถ่ายหนังคิวละ 1 ล้านบาท 5 คิวก็ 5 ล้านบาท เราต้องหาเงิน 10 ล้านบาท เพราะ Box Office มีต้นทุนครึ่งหนึ่ง เราเหลือครึ่งหนึ่ง GTH ขาดทุน 4 ปี แต่ต้นทุนคุมได้ พอเข้าปีที่ 6 ก็เริ่มดีขึ้น” 

เมื่อย้อนกลับมาดูธุรกิจ Showbiz เขาพบว่าปัญหาคือความสม่ำเสมอ

แกรมมี่ทำคอนเสิร์ตให้เฉพาะศิลปินค่ายตัวเอง นั่นถือเป็นเรื่องปกติ รายได้ของคอนเสิร์ตจึงขึ้นอยู่กับศิลปินดังมั้ย ปีไหนอัลบัมขายดี ศิลปินก็ดีตาม กลับกัน ถ้าฝั่งงานเพลงไม่ดี ก็ฉุดทุกอย่างให้จมลงพร้อมกัน 

มันเป็นเรื่องปกติ แต่หากจะทำให้ธุรกิจ Showbiz ยั่งยืน คุณสมภพต้องหาวิธีใหม่ จนกระทั่งเขาค้นพบจุดเปลี่ยนธุรกิจที่ต่อยอดความสำเร็จเดิมของแกรมมี่ จุดที่ว่านั้นอยู่แค่ปลายจมูก

เชียงใหญ่เฟส

พ.ศ. 2562

“มีธุรกิจเดียวที่ทำงานกับศิลปินได้ทั่วประเทศ คือธุรกิจเทศกาลดนตรี หรือ Music Festival ไม่จำกัดค่ายเพลง แต่ทำไม่ง่าย เพราะลงทุนสูง มีความเสี่ยง ผมเข้ามาก็คิดว่าทำอย่างไรไม่ให้ขึ้นอยู่กับศิลปินเป็นหลัก”

คุณสมภพกลับไปดูงานข้อมูลของ Big Mountain Music Festival เขาพบว่างานนี้มีคนจากทั่วประเทศไทย แต่มาไม่เยอะมาก คนดูส่วนใหญ่ยังเป็นคนกรุงเทพฯ แต่ถ้าคุณคิดว่า ‘จัดเทศกาลดนตรีในต่างจังหวัดสิ’ ก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ในหลายจังหวัดมีคอนเสิร์ตจัดอยู่แล้ว แต่เป็นงานที่หลากหลาย ไม่สม่ำเสมอ และสเกลไม่ใหญ่มาก

ในทางธุรกิจ จะหาทางออกนี้ ยังไงแกรมมี่ก็ต้องจัดเทศกาลดนตรีมากขึ้น และควรไปต่างจังหวัด คำถามคือที่ไหนและอย่างไร ไม่ให้เจ๊งเหมือนผู้จัดรายอื่น 

คุณสมภพเลือกเชียงใหม่เป็นพื้นที่ทดลองแรก เพราะเป็นจังหวัดที่มีการท่องเที่ยว มีโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ที่สำคัญคือมีผับ เป็นตัวสะท้อนว่าคนจังหวัดนั้นมียอดใช้จ่ายหรือ Spending ดี 

ความโชคดีอีกข้อของคุณสมภพ คือเขาได้ทีมงานจากแผนกการตลาดเดิมของ คุณภาวิต จิตรกร คนโฆษณาที่เข้ามาด้วยตำแหน่ง CMO ของแกรมมี่และเลื่อนขึ้นเป็น CEO ในตอนหลัง ทำให้คุณสมภพมีกำลังคนมากพอในการวิเคราะห์ข้อมูลเทศกาลดนตรีทั้ง 4 ภาค การเลือกจึงแม่นยำมากขึ้น

มีผู้จัดเทศกาลดนตรีเคยเลือกเชียงใหม่หลายคน แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าไหร่ ยกเว้นหนึ่งคนที่รอดและโดดเด่นมาก คือ ZAAP Party ของ คุณบาส-เทพวรรณ คณินวรพันธุ์

บาสถนัดงานปาร์ตี้ นั่นคือสิ่งที่คนนอกเห็น แต่สิ่งที่คุณสมภพเห็น คือคุณบาสอ่านขาดงานในเชียงใหม่มาก มีประสบการณ์ รู้จักลูกค้า แกรมมี่มีทุนซึ่งเป็นสิ่งที่บาสขาด นั่นคือเหตุผลที่แกรมมี่ชวน ZAAP Party มาร่วมหุ้นร่วมจัดเทศกาลดนตรีด้วยกัน 

นั่นคือที่มาของ ‘เชียงใหญ่เฟส’ เทศกาลดนตรีในภาคเหนือครั้งแรกของแกรมมี่ เป็นงานที่สำเร็จ แผ้วถางทางให้ GMM Show กล้าบุกตลาดต่างจังหวัดในอีกหลายภาคที่เหลือ 

ทีมของคุณสมภพยังถูกเสริมแกร่งด้วยการกลับมาของ ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม หนึ่งในผู้ให้กำเนิด Big Mountain Music Festival หลังออกจากแกรมมี่ไปผจญภัยในนาม บริษัท แก่น 555 จำกัด และไม่สำเร็จเท่าที่ควร เขากลับมาช่วยดูด้านความคิดสร้างสรรค์ในโชว์ทั้งหมด ทั้งคอนเสิร์ตและเทศกาลของแกรมมี่ 

คุณสมภพวิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ผู้จัดเทศกาลดนตรีไม่ประสบความสำเร็จ คือขาดการวิเคราะห์ฐานลูกค้าและการโปรโมตที่ไม่จริงจัง ผิดกับแกรมมี่ที่จริงจังทั้ง 2 ด้าน มีทีมงานพร้อม ความสำเร็จจึงตามมา

การกดสูตรติดครั้งนี้ของแกรมมี่และคุณสมภพ ประจวบเหมาะเกิดการเปลี่ยนถ่ายทีมผู้บริหาร จากคนรุ่นก่อนสู่คนรุ่นใหม่ นำทีมโดยคุณฟ้าใหม่และคุณภาวิต จากเดิมที่ใช้ศิลปินมาเป็นผู้บริหาร แกรมมี่นำมืออาชีพมาเป็นผู้บริหาร บริษัทจึงก้าวเข้าสู่ยุคใหม่

สัญญาณกำลังไปได้สวย จนกระทั่งเกิดโรคระบาด คุณสมภพต้องพลิกตำราบริหารด้วยสัญชาตญาณ เอาตัวรอดจากสถานการณ์ไม่มีงานโชว์ตลอด 2 ปี 

สถานการณ์โควิด-19 ในไทยต่างจากประเทศอื่น คือมีการเปิด-ปิดประเทศเป็นระยะ เคล็ดวิชาของคุณสมภพในตอนนั้นคือเลือกทำงานที่มีกำไรแน่นอน เตรียมทุกอย่างให้พร้อม ทั้งไอเดีย รูปแบบ ศิลปิน ประเทศเปิดเมื่อไหร่ก็จัดทันที เก็บกำไรระยะสั้นนำมาหล่อเลี้ยง Fix Cost ให้อยู่ได้ 

“เปิด ผมทำ ปิด ผมหยุด” กลยุทธ์สั้น ๆ ได้ใจความ 

แม้มีสูตร รู้ทาง คุณสมภพและทีม Big Mountain Music Festival ก็ยังพลาดจากการต้องปิดเทศกาลกะทันหันในช่วงโควิด กัปตันทีม GMM Show เล่าสั้น ๆ ว่าทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ควบคุมยาก ทีมงานจำเป็นต้องทำตามกฎเพื่อแก้ปัญหาให้คลี่คลายรวดเร็วที่สุด จากยอดบิลลิ่งไม่ถึง 1 ใน 3 หน่วยธุรกิจของคุณสมภพมีส่วนให้แกรมมี่เติบโต เสริมกับเทรนด์ในวงการดนตรีที่กำลังงอกงามด้วยกำไรจากสตรีมมิง ประหนึ่งคลื่นลูกที่ 3 ที่อุตสาหกรรมจับตา

“จริง ๆ การทำธุรกิจ Showbiz ไม่เคยมีใครเก็บข้อมูลการตลาดนะ แต่แกรมมี่เก็บทั้งตลาดเลยว่าตอนนี้มูลค่าเท่าไหร่ ทั้งไทยและต่างประเทศ เนื่องจากเรามีกำลังคน ธุรกิจ Showbiz ณ ปัจจุบันเขาไม่ได้ทำงานนี้เป็นธุรกิจจริง ๆ ทำเท่าที่มีในแพลตฟอร์มของเขา 1 งานต่อปี เขามีอาชีพอื่น แต่ผมคิดว่าน่าจะเป็นธุรกิจหลักได้ เพราะมีโอกาสสูงมาก เป็นตลาดใหม่สำหรับผู้บริโภค

“ตอนเล่าให้คุณไพบูลย์ฟัง แกเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง แต่แกเชื่อ ยอมให้ทำ เจ๊ง 2 ปีเพราะโควิด พอเปิดตลาด แกรมมี่ก็ทำเทศกาลดนตรีไปทั้งประเทศเลย” 

สมภพ บุษปวนิช พนักงานบัญชีผู้ไม่ชอบดูคอนเสิร์ต แต่ทำให้ Showbiz แกรมมี่ทำเงินพันล้าน

Grammy RS Concerts

พ.ศ. 2566

“ผมเคยขอเขาเมื่อ 2 – 3 ปีก่อนโควิด” คุณสมภพเล่าเรื่องขอไพบูลย์จัดคอนเสิร์ต Grammy RS “เขาไม่ให้ผมทำ” 

หลังโควิด คุณสมภพเข้าไปขออีกทีเพราะเห็นโอกาส สุดท้ายก็ได้ทำสมใจ เข้าไปร่วมหารือกับ คุณสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ที่ RS พร้อมป๋าเต็ด สุดท้ายคอนเสิร์ตในตำนานก็ได้จัดสมใจถึง 3 ครั้ง 

คุณสมภพยอมรับว่าคอนเสิร์ต 2 ครั้งหลังไม่ได้ Sold Out เร็วเท่าครั้งแรก แต่อย่างน้อยก็ได้เปิดประตูแห่งโอกาสใหม่ ๆ ที่จะต่อยอดธุรกิจ Showbiz ของแกรมมี่ให้ไปไกลยิ่งขึ้น 

“ผมบอก เฮียฮ้อ ว่าปีที่ 3 ผมจะเข้าราชมังฯ คิดว่าจะทำงานใหญ่สักงาน จบสวย ๆ” คุณสมภพสปอยล์ตอนจบ 

เขาคาดการณ์ว่าปีหน้า Showbiz ของแกรมมี่น่าจะถึงพันล้านบาทไม่ยาก ปัจจุบันแกรมมี่จัดโชว์ในทุก Segment ของตลาด กับฝั่งต่างประเทศก็กำลังร่วมทำกับค่ายอย่าง YG Entertainment ซึ่งคงสร้างสิ่งใหม่ให้เราเห็นในไม่ช้า

ธุรกิจ Showbiz วันนี้ทั้งตลาดประมาณ 7,000 ล้านบาท โตกว่าธุรกิจภาพยนตร์ 4,000 ล้านบาทที่คุณสมภพเคยคลุกคลีเรียบร้อย มันเป็นงานที่ศิลปินแกรมมี่ได้ไปเจอลูกค้า

“ผมว่าทำคอนเสิร์ตเหมือนภาพยนตร์มาก สมัยหนึ่งผมทำกับคุณจินา ผมรอลุ้น 3 วันแรกที่หนังเข้า ถ้าวันแรกไม่ดี ทั้งออฟฟิศเหี่ยวหมด เพราะวันที่ 2 ตามสถิติจะไม่ค่อยดี ถ้าหนังเรื่องนั้นไม่ได้ Box Office 10 ล้านบาท หนังเรื่องนั้นจะไม่ทะลุ 50 ล้านบาท ซึ่งมีโอกาสเจ๊ง คือขาดทุนขั้นต้น ไม่เกี่ยวกับ Fix Cost 

“เวลาทำคอนเสิร์ต ผมก็ดูการขาย 3 วันเหมือนภาพยนตร์ ถ้าวันแรกออกมาไม่ดี เหี่ยวกันทั้งออฟฟิศ ผมเลยต้องสร้างแพลตฟอร์มเพื่อเชื่อมกับคนให้ได้ทั้งปี” 

แพลตฟอร์มที่ว่า คือการสื่อสารกับแฟนเทศกาลช่วงที่ไม่ได้จัดงาน แม้เป็นเทคนิคปกติ แต่ก็สำคัญมากสำหรับธุรกิจนี้ ทำให้คนยังไม่ลืมงาน ถูกพูดถึงอยู่เสมอ

“ผมว่าสิ่งที่แกรมมี่ทำแตกต่างจากบริษัทอื่นค่อนข้างมาก ตลาดโตขึ้น คนทำเยอะขึ้น คนอาจจะชมคอนเสิร์ตเยอะขึ้น น่าเบื่อ แต่จริง ๆ ประสบการณ์การเข้าไปในงานคือสิ่งที่ทำให้งานนั้นแตกต่าง ผมคุยกับพี่เต็ดเสมอว่า เวลาแกรมมี่ทำ เราลงทุนมากกว่าคนอื่น นั่นแปลว่าผู้บริโภคต้องได้ประสบการณ์ที่มากกว่า พี่ทำยังไงก็ได้ให้เขารู้ว่าเป็นงานเรา” เขาเล่า

“คุณเคยเข้าไปดูคอนเสิร์ตที่ตัวเองทำมั้ย”

“น้อย จริง ๆ ผมไม่ชอบดูคอนเสิร์ต” 

“ผมเคยไปดูรอบ ๆ แบ่งหน้าที่ ไม่ค่อยเข้าไปจุกจิกในเนื้องาน เราไม่ถนัด เรามาคิดว่างานนี้จะมีความเสี่ยงเรื่องอะไรบ้างมากกว่า” คุณสมภพเล่าวิธีคิดแบบนักบัญชีที่ต้องทำธุรกิจคอนเสิร์ต

“ปีนี้ผมอายุ 57 จริง ๆ ต้องเตรียมเกษียณแล้ว ผมอยากทำธุรกิจให้มั่นคง ส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ ทำให้ดีที่สุด ส่งให้น้อง ๆ ที่ผมลากเข้ามาให้เขามั่นคงหน่อย”

“อีกอย่าง” เขาพูด มองออกไปนอกหน้าต่าง “อยากตอบแทนคุณไพบูลย์ที่อุตส่าห์ให้เงินผมตั้งเยอะ อยากทำให้ดีที่สุด ไม่ให้เขาต้องเสียเงินฟรี” เขาระเบิดหัวเราะ

สมภพ บุษปวนิช พนักงานบัญชีผู้ไม่ชอบดูคอนเสิร์ต แต่ทำให้ Showbiz แกรมมี่ทำเงินพันล้าน

Writer

ศิวะภาค เจียรวนาลี

ศิวะภาค เจียรวนาลี

บรรณาธิการที่ปั่นจักรยานเป็นงานหลัก เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์