ตอนที่คุณกำลังอ่านบทสัมภาษณ์นี้ กิจกรรมดูหนังบนดาดฟ้าครั้งแรกในกรุงเทพฯ ได้ผ่านพ้นไปแล้ว

ซึ่งเป็น ‘ครั้งแรก’ ของทั้งผู้จัดและผู้ชมอย่างเรา

ก่อนอื่น ขอเล่าถึงประสบการณ์การดูหนังบนดาดฟ้าในฐานะผู้ชม คงไม่บ่อยนักที่ใครสักคนจะสบโอกาสขึ้นไปบนชั้นดาดฟ้าของอาคาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเขตหวงห้าม แต่วันนั้นเราและผู้ชมคนอื่นนั่งดู จูเลีย โรเบิร์ตส์ และ ฮิวจ์ แกรนท์ ในวัยหนุ่มสาวผ่านหนังรักตลอดกาลอย่าง Notting Hill รอบฉายราว 3 ทุ่ม ท่ามกลางความค่ำมืดของกลางคืน มองเห็นเสี้ยวพระจันทร์ ความสูงต่ำของอาคารใกล้เคียง แสงสีริมน้ำเจ้าพระยา เป็นความรู้สึกแปลกใหม่และน่าจดจำ 

ถ้ามาคนเดียว คุณจะซึมซับกับบรรยากาศอย่างเต็มอิ่ม ถ้ามากับกลุ่มเพื่อนหรือครอบครัว คุณจะได้แชร์บรรยากาศแห่งความสุขร่วมกัน ถ้ามากันเป็นคู่รักก็เข้าขั้นโรแมนติก

Skyline Film Bangkok ธุรกิจฉายหนังกลางแปลงบนดาดฟ้าด้วยวิธีคิดใหม่ที่ Sold Out ทุกรอบฉาย

ทั้งหมดนี้เป็นความตั้งอกตั้งใจของ ธรณ์ พิทูรพงศ์ และ แมน-พลัฏฐ์ เหมะจันทร์ สองผู้จัดกิจกรรมฉายหนัง ‘Skyline Film Bangkok’ ที่อยากให้ผู้ชมได้รับประสบการณ์การดูหนังที่ต่างจากเดิม คือการดูหนังบนดาดฟ้า ใช้หูฟังส่วนตัว นั่งเอนกายบนเก้าอี้ชายหาด นอกจากนั้นยังอยากให้ทุกพื้นที่ได้ใช้ประโยชน์ในเชิงสร้างสรรค์ อีกแง่หนึ่งพวกเขาเพียงอยากเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ สนับสนุนให้บ้านเรามีพื้นที่สร้างสรรค์แบบนี้อีกเยอะ ๆ 

“เราอยากเป็นส่วนเล็ก ๆ ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยมี Creativity Space มากกว่านี้ มีพื้นที่ให้คนได้ออกมาเอนจอยด้วยกัน” ธรณ์บอกเล่า โดยมีแมนพยักหน้าเห็นด้วยอยู่ข้าง ๆ 

Skyline Film Bangkok ธุรกิจฉายหนังกลางแปลงบนดาดฟ้าด้วยวิธีคิดใหม่ที่ Sold Out ทุกรอบฉาย

ด้วยความที่ตั๋วจำหน่ายหมดอย่างรวดเร็ว หลายคนอาจยังไม่แน่ใจว่ากิจกรรมนี้คืออะไร ถ้าพลาดครั้งนี้ไปแล้วจะมีโอกาสอีกไหม ถ้าอย่างนั้นขอชวนเข้าเรื่องเลยดีกว่า

Skyline Film Bangkok ดูหนังระหว่างเส้นขอบฟ้า 

Skyline Film หรือกิจกรรมดูหนังบนดาดฟ้าเกิดขึ้นครั้งแรกที่ไทเป (ก่อนจะขยับขยายไปจัดในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วเกาะไต้หวัน ทั้งดาดฟ้า ชายหาด พิพิธภัณฑ์) และถูกพบเจอโดยธรณ์ที่เรียนอยู่ที่นั่น เขาเล่าให้เราฟังว่าประทับใจตั้งแต่ก้าวเท้าเข้างาน พร้อมกับมองเห็นความไปได้ที่กิจกรรมดูหนังรูปแบบนี้จะถูกยกมาไว้ที่บ้านเรา ธรณ์เข้าไปพูดคุยกับผู้จัดชาวไต้หวัน ชวนให้มาจัดที่ไทยตั้งแต่วันนั้นเลย! 

“ผมจำหนังที่ดูวันนั้นไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่จำบรรยากาศได้ทั้งหมด ระหว่างที่ดูหนังก็จินตนาการว่าอะไรแบบนี้น่าจะมีในเมืองไทย ตึกสูง ๆ วิวสวย ๆ ชายหาดของบ้านเราจะมีอีเวนต์แบบนี้ได้ แต่ทำไมเรายังไม่มี” 

Skyline Film Bangkok ธุรกิจฉายหนังกลางแปลงบนดาดฟ้าด้วยวิธีคิดใหม่ที่ Sold Out ทุกรอบฉาย

พอคิดจะทำ ธรณ์นึกถึงแมน เพื่อนสนิทในวัยเรียนเป็นคนแรก นอกจากความคุ้นเคยแบบเพื่อนซี้ ธรณ์เล่าอย่างตรงไปตรงมาว่ากิจกรรมนี้จำเป็นต้องมีสถานที่จัดเก็บอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งหูฟัง เก้าอี้ รวมถึงของตกแต่ง และแมนมีพื้นที่รองรับข้าวของทั้งหมดนี้ Skyline Film Bangkok จึงเกิดขึ้นได้

ในแง่คอนเซปต์ไม่ต่างกับที่ไต้หวัน สถานที่ฉายต้องมองเห็นเส้นขอบฟ้าไปตลอดการรับชมภาพยนตร์ แต่คล้ายกับรสอาหารต่างถิ่นตรงที่มีข้อจำกัดเรื่องวัตถุดิบและการรับรส เมื่อเอาเข้ามาแล้วก็ต้องปรับให้เข้ากับบ้านเราเล็กน้อย กิจกรรมฉายหนังกลางแจ้งแบบนี้ก็ใช่ ด้วยสภาพอากาศร้อนมาก-ร้อนน้อย แต่ร้อนแทบทั้งปีอย่างบ้านเรา เป็นสิ่งที่ทำให้ Skyline Film Bangkok ต้องมองหาทำเลที่เหมาะสมที่สุด คือมีอากาศถ่ายเทเข้าขั้นเย็นสบาย เดินทางสะดวก ปลอดภัย และเจ้าของสถานที่ต้องเก็ตสิ่งที่พวกเขากำลังทำ 

หลังจากตระเวนดูสถานที่ทั่วกรุงเทพฯ บวกลบคูณหารแล้วมาลงเอยที่ River City Bangkok แกลเลอรีและพื้นที่จัดนิทรรศการที่รวบรวมงานศิลปะและแอนทีกเอาไว้ ด้วยความที่อาคารความสูงกำลังดี มีดาดฟ้าพร้อมใช้งาน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาในทิศที่ทดสอบแล้วว่าลมโฟลว์สุด ๆ และนำเสนอความเป็นกรุงเทพฯ ได้ดี 

อ่านมาถึงตรงนี้ คงมีสักคนคิดว่าการฉายหนังนอกโรงภาพยนตร์ไม่ใช่เรื่องใหม่สักหน่อย ที่จริงก็ใช่ หากย้อนกลับไปถึงยุคสมัยที่หนังเรื่องแรกในฐานะมหรสพแบบใหม่เข้ามาฉายในสยามประเทศ ด้วยข้อจำกัดหลายอย่างของโรงละคร ก่อให้เกิดรูปแบบการฉายหนังกลางแปลงขึ้นมา ซึ่งสิ่งที่ Skyline Film Bangkok ต้องการนำเสนอก็ไม่ต่างไปจากนั้น 

การฉายกลางค่ำกลางคืนในพื้นที่โล่ง จอผ้าสีขาว กินขนมขบเคี้ยวไปด้วยได้ เพิ่มเติมคือการเก็บค่าเข้าชม และการยกสถานที่ฉายขึ้นไปอยู่บนดาดฟ้า ให้ทิวทัศน์โดยรอบมีส่วนสร้างบรรยากาศ แถมถ่ายรูปเก็บภาพความประทับใจได้ตลอดเรื่อง (แต่ต้องไม่รบกวนผู้ชมคนอื่นนะ)

พอไม่ใช่อะไรที่ใหม่ซะทีเดียว แต่เต็มไปด้วยความน่าสนใจ เลยนับเป็นข้อดีของผู้ประกอบการหน้าใหม่อย่างธรณ์และแมน แม้จะจัดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่พวกเขาแทบไม่ต้องเสียเวลาอธิบายมากนัก นั่นอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังธีมคริสต์มาส 5 รอบ จากหนัง 5 เรื่อง ทั้ง Before Sunrise, You’ve Got Mail, About Time, Love Actually และ Notting Hill ขายตั๋วหมดเกลี้ยงในเวลาไม่นาน

ตาดู (สวม) หูฟัง นั่งสบาย

ขณะชมภาพยนตร์ คุณจะไม่ได้เห็นลำโพงขนาดมหึมา เพราะกิจกรรมฉายหนังบนดาดฟ้าใช้หูฟังในการรับเสียง หมายความว่าขณะที่หนังฉาย ถ้าคุณไปอยู่บริเวณนั้นโดยไม่ได้สวมหูฟัง คุณจะพบเพียงความเงียบ 

“เราไม่อยากสร้างมลพิษทางเสียง รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ด้วย จริง ๆ ต้นทุนของการใช้หูฟังจะสูงกว่าการยกลำโพงขึ้นไป แต่ถ้าทุกคนแฮปปี้ก็ถือว่าคุ้มที่จะลงทุน” ธรณ์และแมนเล่าต่อไปถึงคุณสมบัติของหูฟังที่มาเพื่อแก้ Pain Point ของการฉายหนังกลางแจ้งทั่วไป

Skyline Film Bangkok ธุรกิจฉายหนังกลางแปลงบนดาดฟ้าด้วยวิธีคิดใหม่ที่ Sold Out ทุกรอบฉาย

“อย่างแรก เราโฟกัสกับหนังทั้งเรื่องได้เต็มที่ ทั้งเสียงซาวนด์แทร็ก เสียงเอฟเฟกต์ต่าง ๆ ที่ละเอียดกว่าการฟังจากลำโพง ทำให้ได้อรรถรสในการรับชม อย่างที่ 2 การใช้หูฟังจะไม่สร้างผลกระทบกับชุมชนใกล้เคียง หรือถ้าจะกระทบอยู่บ้างก็น้อยที่สุด อย่างเวลาถึงซีนตลกก็อาจมีแค่เสียงหัวเราะของคนดูเท่านั้น อย่างสุดท้าย ปัญหาของการใช้ลำโพงคือคนข้างหน้ารับเสียงดังเกินไป ส่วนคนข้างหลังไม่ได้ยิน ซึ่งการใช้หูฟังปรับระดับเสียงให้เข้ากับความต้องการของแต่ละคนได้ แต่ถ้าไม่อยากใช้หูฟังร่วมกับคนอื่น ในอนาคตเราจะมีแอปพลิเคชันให้คนดูพกหูฟังส่วนตัวมาเชื่อมต่อในงานได้เลย”

เมื่อเราถามว่าทำไมเลือกเก้าอี้ชายหาด ธรณ์ตอบติดตลกว่าเพราะพวกเขาแบกอาร์มแชร์ขึ้นดาดฟ้า 200 กว่าตัวไม่ไหว หลังหัวเราะให้กับคำตอบทีเล่นทีจริง เขาก็เริ่มอธิบายอย่างจริงจัง

Skyline Film Bangkok ธุรกิจฉายหนังกลางแปลงบนดาดฟ้าด้วยวิธีคิดใหม่ที่ Sold Out ทุกรอบฉาย

“ในมุมของคนจัดงาน เก้าอี้ชายหาดมีต้นทุนไม่สูง จัดเก็บง่าย ไม่เปลืองพื้นที่ ส่วนในมุมของคนนั่งมันให้ความรู้สึกผ่อนคลาย เหมือนเวลาไปเที่ยวทะเล นั่งดื่มน้ำ กินขนม ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับบรรยากาศตรงหน้า เราทดลองเอาเก้าอี้ชายหาดไปวางไว้บนดาดฟ้าแล้วนั่งคุยกันกับทีมงาน ปรากฏว่านั่งสบายจนไม่อยากลุกเลย”

คราฟต์เบียร์ ป๊อปคอร์น และหนังไก่ทอด!

“พอโลเคชันเป็นเอาต์ดอร์ เราไม่มีข้อจำกัดเหมือนการฉายหนังในสถานที่ปิด คนดูเอาของกินมากินเล่นได้ เล่นโทรศัพท์ก็ได้ เราไม่ได้ห้าม แต่ต้องมีความเหมาะสม ไม่สร้างความรบกวนให้คนอื่น แค่นั้นก็พอ”

Skyline Film ยินดีให้ผู้ชมพกขนมขบเคี้ยวมากินเล่นระหว่างชมภาพยนตร์ แม้ด้านบนจะมีร้านขายป๊อปคอร์นไว้รองรับ ไหนจะมีเครื่องดื่มสุดสดชื่นหลายอย่างให้บริการ และมีสแน็กสุดฮอตอย่างหนังไก่ทอด! ที่เราต้องมองแล้วมองอีกว่าตาไม่ฝาดแน่นะ แล้วก็เป็นหนังไก่ทอดจริง ๆ 

เราเลยได้เห็นคนดูอิ่มเอมกับบรรยากาศดี ๆ ภาพยนตร์เรื่องโปรด พร้อม ๆ กับได้อิ่มท้องกับของกินเล่นที่ไม่ได้มาเล่น ๆ 

Skyline Film Bangkok ธุรกิจฉายหนังกลางแปลงบนดาดฟ้าด้วยวิธีคิดใหม่ที่ Sold Out ทุกรอบฉาย
Skyline Film Bangkok ธุรกิจฉายหนังกลางแปลงบนดาดฟ้าด้วยวิธีคิดใหม่ที่ Sold Out ทุกรอบฉาย

To be Continued… 

“ครั้งแรกนี้คล้าย ๆ กับการทำโปรไฟล์ของเราด้วย เพื่อให้คนที่สนใจอยากร่วมจัดกิจกรรมแบบนี้เห็นภาพว่า Skyline Film Bangkok เชื่อมโยงกับธุรกิจอื่น ๆ ได้ ยกตัวอย่าง แบรนด์เสื้อผ้าสนใจอยากจัดกิจกรรมเปิดตัวโปรดักต์ใหม่ ก็อาจฉายหนังที่เชื่อมโยงกับแฟชั่นหรือแบรนด์ของเขาได้ หรือภาครัฐจัดงานวันเด็ก เราก็ฉายหนังเด็กได้” 

“ต่อไปเราอยากขยับขยายโปรเจกต์นี้ให้กระจายไปทั่วประเทศ หัวเมืองในต่างจังหวัด ชายหาด อยากให้บ้านเรามีพื้นที่พบปะสังสรรค์หลากหลายไว้เป็นทางเลือก บางคนอาจไม่ได้อยากไปคลับไปบาร์ แต่อยากออกจากบ้าน ซึ่งกิจกรรมที่เราจัดก็เป็นการชวนคนมาแฮงก์เอาต์อีกรูปแบบหนึ่ง” ธรณ์และแมนช่วยกันเล่าถึงแพลนลำดับถัดไปในอนาคต 

“ไม่ใช่แค่หนังรัก แต่เราเปิดกว้างมาก ๆ ในครั้งถัดไปที่จะเกิดขึ้นจากนี้ เราอยากฉายหนังที่หลากหลายมากขึ้น โดยอิงตามเทศกาลบ้าง ตามโอกาสที่มีเข้ามาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นหนังเด็ก หนังเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง หนังครอบครัว หนังไทย หนังนอกกระแสที่ไม่มีพื้นที่ฉายก็ติดต่อมาคุยกับเราได้”

สำหรับผู้เขียน คงเร็วเกินไปที่จะบอกเล่าถึงความอยู่รอดในแง่มุมธุรกิจของ Skyline Film Bangkok สิ่งที่ธรณ์และแมนบอกเล่าได้ดีที่สุดตอนนี้มีเพียงความเชื่อมั่นและคาดหวังว่านอกจากจะ ‘อยู่ได้’ ในทางธุรกิจแล้ว ผู้จัดทั้งสองยังอยากเห็นยูนิตอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้มีพื้นที่ในการเติบโตไปด้วยกัน 

และเพื่อให้กิจกรรมดูหนังบนดาดฟ้าครั้งถัดไปกลับมาพบกับคนดูไว ๆ ตามไปสนับสนุนพวกเขาได้ที่ Skyline Film ดูหนังบนดาดฟ้า

Lessons Learned

  • เชื่อในเซนส์ของตัวเองไว้ก่อน จะผิดจะถูกก็ค่อย ๆ เรียนรู้กันไป
  • ไม่ใช่แค่ต้นทุน กำไร และลูกค้าที่ควรคำนึง แต่ควรแคร์รอบด้าน ทำอย่างไรให้ธุรกิจของเรากระทบกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนใกล้เคียงน้อยที่สุด
  • อยากเห็นอะไรเกิดขึ้น ไม่ต้องรอคนอื่นทำ ลงมือทำเองเลย

Writer

ใหม่ ศุภรุจกิจ

ใหม่ ศุภรุจกิจ

เคยเป็นกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ตอนนี้เป็นนักเขียน สัมภาษณ์ ที่อิสระและจ้างได้

Photographer

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

นักศึกษาเอกญี่ปุ่นจากมหาสารคาม สนใจภาพถ่าย ชีวิตขับเคลื่อนด้วยเสียงเพลง อยากมีเงินไปมิวสิกเฟสติวัลเยอะๆ