บ้านห้วยส้มสุก ตำบลสะลวง อำเภอแม่ริม

ผมเคยขับรถบนถนนเส้นนี้เพื่อพาแม่มาไหว้พระที่วัดพระพุทธบาทสี่รอยเมื่อหลายปีก่อน 

จากเมืองเชียงใหม่ เลยตัวอำเภอแม่ริมมาไม่ไกล เลี้ยวซ้ายเข้าซอยที่ติดกับสำนักงานเทศบาลตำบลริมเหนือ ถนนจะพาเราขึ้นดอยไปเรื่อย ๆ ผ่านหมู่บ้านจัดสรร ชุมชน เรือกสวน โรงเรียนนานาชาติ สำนักสงฆ์ น้ำตก และผืนป่า พ้นจากแยกที่ลัดไปอำเภอปาย เส้นทางจะมุ่งไปสู่สถานีสุดท้ายคือวัดพระพุทธบาทสี่รอย ที่เหลือคือป่าและภูเขา ไม่มีทางไปต่อหลังจากนั้น

ด้วยข้อจำกัดของเส้นทาง ภูมิทัศน์ข้างทางบนภูเขาลูกนี้จึงไม่ต่างไปจากหลายปีก่อนนัก เว้นก็แต่จุดหมายที่ผมตั้งใจมาเยือนซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จเมื่อปลายปีที่ผ่านมา – 10 กิโลเมตรเศษก่อนถึงวัด ในหมู่บ้านห้วยส้มสุก ตำบลสะลวง อำเภอแม่ริม – ‘Secret Window Chiangmai’ คือบ้านชั้นเดียวที่ทำจากปูน ไม้ เหล็ก และกระจก แปลกต่างจากอาคารหลังอื่น ๆ ในละแวก หากก็เรียบเนียนไปกับธรรมชาติโดยรอบ 

จะว่าเป็นบ้านลับก็ได้ เพราะแม้ตัวบ้านจะตั้งอยู่ริมถนน แต่ถ้าคุณไม่คิดที่จะเดินทางไปวัดดังกล่าว หรือมีเหตุให้ต้องมาทำธุระแถวนี้จริง ๆ ก็คงไม่มีโอกาสผ่านมาเจอ 

ผมถอยรถเข้าที่จอดข้างป้อมยาม กระจกหลังสะท้อนเงาของสะพานไม้ข้ามลำน้ำ และรถบ้านสีขาว-เขียว ตระหง่านกลางสนามหญ้าที่มีฉากหลังเป็นภูเขา สุนัขสีน้ำตาลหน้าตาคล้ายหมาจิ้งจอก (ที่ผมมารู้ทีหลังว่าชื่อ ‘เบค่อน’) กระดิกหางต้อนรับ เห็นถ้วยข้าวของมันวางอยู่ใกล้ ๆ เข้าใจว่าเจ้านี่เป็นหนึ่งในเจ้าของบ้านกับเขาด้วย 

ต้นยูคาลิปตัสสูงชะลูดวางสลับกับสนสามใบในกระถางเบื้องหน้าสิ่งปลูกสร้าง กระจกใสบานใหญ่นำสายตาจากภายนอกให้มองเข้ามา ว่าไปก็คล้ายโชว์รูมขายเฟอร์นิเจอร์หรือคาเฟ่ที่ตั้งอยู่กลางป่า ที่ซึ่งไม่เพียงอนุญาตให้คนข้างนอกสำรวจสิ่งของต่าง ๆ ที่อยู่ในห้องนั่งเล่นได้ แต่ยังเปิดให้สายตาทะลุผ่านบานเฟี้ยมกรุกระจกใสที่เป็นผนังหลังบ้าน เห็นระเบียงขนาดใหญ่ที่ยื่นออกไปหาลำห้วยและทิวทัศน์ของต้นไม้บนภูเขาที่เป็นฉากหลัง

เท่ แต่เอาจริงก็โป๊ชะมัด จนเข้าไปในบ้านจึงพบว่าเขามีลูกเล่นเป็นรีโมตกดเลื่อนบานทึบให้มาปิดกระจกใสเพื่อความเป็นส่วนตัว เป็นคล้ายบานหน้าต่างลับ อืม Secret Window จริง ๆ 

นักเขียนพำนัก

Secret Window Chiangmai เป็นบ้านของ บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ผู้กำกับภาพยนตร์ที่ผมชื่นชมผลงาน ซึ่งเขาร่วมกับ จ๊ะจ๋า-แพรว พูนพิริยะ, แมน-อมร นิลเทพ และ แมวน้ำ-ศิลปี กอบกิจวัฒนา สร้างขึ้น และเปิดให้ผู้สนใจได้เช่าเหมาหลังเพื่อการพักผ่อน

ก่อนหน้านี้บาสทำวิลล่าให้เช่าแบบเดียวกันนี้ที่หัวหิน โดยวางธีม Filmmaker’s House ให้กับมัน พอมาถึงหลังนี้ที่เป็นหลังที่ 2 ด้วยทำเลที่เงียบสงบและใกล้ชิดธรรมชาติ เขาจึงคิดถึงการทำกระท่อมนักเขียน (Writer’s Cabin) บ้านที่เหมาะแก่การปลีกวิเวกมาเขียน-อ่านหนังสือ หรือเพียงนั่ง ๆ นอน ๆ ริมระเบียง จิบเครื่องดื่มพลางสดับเสียงของผืนป่าและลำห้วย

ด้วยการวางธีมไว้เช่นนี้ บ้านจึงไม่ได้มีแค่ชั้นหนังสือที่บรรจุคอลเลกชันวรรณกรรมคลาสสิก-ร่วมสมัยของไทยและต่างประเทศ ของตกแต่งอย่างเครื่องพิมพ์ดีดวินเทจ ภาพถ่ายนักเขียน นีออนดัดเป็นคำคมของ Jacques Lacan หรือการหยิบยืมชื่อมาจากนิยายสั้น (Secret Window, Secret Garden) ของ Stephen King เจ้าพ่อนิยายสยองขวัญเท่านั้น แต่เจ้าของบ้านยังได้ชวนนักเขียนจริง ๆ ให้ผลัดกันมาพำนักเพื่อเก็บเกี่ยวแรงบันดาลใจไปเขียนเรื่องสั้น รวมเล่มพิมพ์ขายกันจริง ๆ เลย

และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้ผมมีโอกาสเข้าพัก เช่นเดียวกับ อาจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา, วีรพร นิติประภา, อุทิศ เหมะมูล, จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท และนักเขียนคนอื่น ๆ รวม 12 ท่าน ในโครงการ Writers in Residence ที่ แมวน้ำ ศิลปี เป็นผู้จัดการ และมี กิตติพล สรัคคานนท์ เป็นบรรณาธิการ 

“เราคิดถึงกระท่อมนักเขียนของ Martin Heidegger นักปรัชญาชาวเยอรมัน พื้นที่สำหรับคิดและเขียนต้นฉบับ ซึ่ง Secret Window ทำหน้าที่แบบนั้นเหมือนกัน เลยอยากชวนนักเขียนมาทำโปรเจกต์ร่วมกัน โดยแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเขียนถึงบ้านหลังนี้ตรง ๆ บ้านอาจถูกเปลี่ยนเป็นโรงหนัง โรงพยาบาล สวนสนุก อะไรก็ได้ แล้วแต่จินตนาการ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความรู้สึกที่มาพักที่นี่” แมวน้ำเล่าไอเดียให้ฟังในตอนที่มาชวนผมร่วมโครงการ

ผมใช้เวลาไม่นานในการตอบตกลง คิดถึงการสวมบทเป็น Johnny Depp ในบท Mort Rainey จากภาพยนตร์เรื่อง Secret Window (2004) ของ David Koepp ที่สร้างจากนิยายสั้นของ Stephen King หนังเล่าเรื่องของนักเขียนอกหักที่มานั่งทำงานในกระท่อมริมน้ำกลางป่า แล้วอยู่มาวันหนึ่งก็มีผู้มาเยือนแปลกหน้าชักพาความสยองขวัญมาให้ 

ซึ่งนั่นล่ะ พอคิดแบบนี้ก็สนุกดีพิลึก 

บ้านที่สร้างโดยพ่อครัว

ห้องเขียนหนังสือคือสิ่งแรกที่จะได้เห็นเมื่อเปิดประตูเข้ามา

จะเรียกว่าห้องก็ไม่ถูก มันเป็นโถงกลางที่เชื่อมพื้นที่ต่าง ๆ ของบ้านมากกว่า โต๊ะเขียนหนังสือสไตล์ Mid-century Modern ที่มีพิมพ์ดีดยี่ห้อ Olympia Werke พร้อมกระดาษโน้ตต้อนรับจากเจ้าของบ้านวางตัวอยู่ทางขวา ฝั่งซ้ายเป็นประตูเข้าห้องนอน และผนังหินที่แขวนรูปของ William S. Burroughs ไว้ (ซึ่งเมื่อพิจารณาจากเครื่องพิมพ์ดีดบนโต๊ะทำงานและเครื่องพิมพ์ดีดอีกตัวที่ตั้งอยู่ในห้องนั่งเล่น เข้าเฟรมกับรูปถ่ายดังกล่าว ก็ทำให้คิดถึงนิยายสุดเพี้ยนเรื่อง Naked Lunch ของ เบอร์โรห์ ที่มีสัตว์ประหลาดจากเครื่องพิมพ์ดีดเป็นตัวเดินเรื่อง แพรวพราวชะมัด) สุดปลายโถงกลางคือประตูไม้บานใหญ่ที่เปิดออกไปเป็นทางลงสวนริมลำห้วย รวมถึงทางเชื่อมไปยังระเบียงที่ทอดตัวยาวขนานไปกับตัวบ้าน ส่วนทางขวามือที่พ้นไปจากโต๊ะทำงาน คือห้องนั่งเล่นและครัว 

ผมจำฉากในหนังเรื่อง Secret Window ไม่ได้ ซึ่งก็แน่ล่ะ ดูมาจะเกือบ 20 ปีแล้ว แต่กลิ่นอายแบบกระท่อมไม้สไตล์อเมริกันของประดับจากขนสัตว์ เฟอร์นิเจอร์ไม้ ก้อนหิน เตาผิง และท่อนซุงที่อยู่ในบ้านต่างเชื่อมโยงถึงฉากในหนังเรื่องนั้น อย่างไรก็ดี ที่แตกต่างกันอย่างน่าสนใจคือองค์ประกอบที่ว่ามาทั้งหมด ล้วนเป็นวัสดุและผลงานจากสล่าท้องถิ่นในเชียงใหม่ โดยเฉพาะอย่างหลัง ใครที่สนใจงานไม้จะรู้ดีว่าสล่าไม้เชียงใหม่ส่วนใหญ่ล้วนมีผลงานเฉียบ เนี้ยบ และหมดจด ต้องยกให้พวกเขา บ้านหลังนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ว่า

จะว่าเป็นความบังเอิญก็ได้ วันแรกที่มาถึง ผมมาไม่ทันเวลาทำการของร้านอาหารที่ตั้งอยู่ใกล้บ้าน จึงต้องขับรถออกไปหากินมื้อค่ำข้างนอก หลังจากขับขึ้น-ลงเนินอยู่สักพักก็เจอร้านอาหารท้องถิ่นที่ชื่อว่า ‘แซ่บสะลวง’ โดยเมื่อผมมีโอกาสได้คุยกับเจ้าของ พี่เทพ-สหเทพ ไพศาลเจริญกิจ ก็พบว่านอกจากจะเป็นพ่อครัว พี่เขายังเป็นช่างไฟ ช่างไม้ นายหน้าขายที่ดิน และผู้รับเหมาฯ 

และใช่ นอกจากทำอาหารอร่อย เขายังเป็นผู้รับเหมาสร้างบ้านที่ผมมานอนคืนนี้ 

“แต่เดิมบ้านที่คุณอยู่เป็นบ้านไม้หลังเล็กมาก ๆ ขนาดเท่าห้องนั่งเล่นตอนนี้ แต่ที่พิเศษคือที่ดินของที่นี่ทำเลดีมาก มันครอบคลุม 2 ฝั่งของลำห้วย และเลยขึ้นไปถึงภูเขารวม ๆ กัน 1 ไร่ได้ พอคุณบาสมาซื้อ ผมก็รับเป็นคนสร้างให้ ก็ใช้ช่างไม้และช่างก่อสร้างจากหมู่บ้านเรานี่แหละ” พี่เทพเล่า 

“บ้านที่คุณเห็นอยู่ตอนนี้สร้างใหม่ทั้งหมด รื้อหลังเดิม ถมทรายเพื่อยกระดับที่ดิน และขึ้นโครงสร้างใหม่ จะมีแค่ไม้จากตัวบ้านเก่าที่ถูกเอามาทำเป็นรั้ว และกรอบหน้าต่างของห้องครัวที่เป็นกรอบเดิม ดีไซน์หลัก ๆ มาจากคุณบาสและสถาปนิกของเขา ซึ่งผมช่วยออกความเห็นเรื่องเทคนิคต่าง ๆ และการเลือกไม้มาใช้กับส่วนต่าง ๆ ของบ้าน

“โครงสร้างหลักคือเหล็กและปูน แต่เรากรุไม้เพื่อให้บ้านดูอบอุ่น พื้นเป็นไม้สัก ระเบียงบ้านเป็นไม้แดงที่ทนแดดและฝน ส่วนผนังและบิลต์อิน ในบ้านก็มีทั้งไม้เปา เต็ง และรัง เป็นไม้เนื้อแข็งท้องถิ่นที่คนพื้นเมืองเขาใช้สร้างบ้านกันอยู่แล้ว ส่วนเฟอร์นิเจอร์กับของตกแต่งนี่คุณบาสเป็นคนเลือกมา ส่วนหนึ่งก็มาจากบ้านถวาย (อำเภอหางดง) กับของที่เขาสะสม รวมถึงก้อนหินและท่อนซุงที่คุณบาสตั้งใจใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์ด้วย ทั้งหมดก็มาจากร้านในเชียงใหม่

“พอดูดีไซน์ บ้านมันไม่มีความเป็นเชียงใหม่แบบที่คนเชียงใหม่คุ้นเคยเลย แต่อย่างที่บอกว่าทุกอย่างมาจากแถวนี้หมด และอาจเพราะความตั้งใจใช้วัสดุธรรมชาติเกือบทั้งหมด บ้านเลยดูไม่แปลกแยกจากที่ตั้งของมันเท่าไหร่ นี่เป็นโปรเจกต์ที่ผมภูมิใจมากทีเดียว เพราะเอาเข้าจริง ก่อนหน้านี้ผมไม่เคยได้โจทย์ที่เยอะแบบนี้มาก่อน” เจ้าของร้านอาหารที่ผมไปฝากท้องกล่าวพร้อมลงท้ายด้วยเสียงหัวเราะ 

ผมกลับบ้านมาเปิดไวน์ ฟังเพลงจากเพลย์ลิสต์ของบ้าน (ใช่ เขาทำเพลย์ลิสต์ใน Spotify ไว้ และเปิดผ่านโทรทัศน์จอใหญ่ในห้องนั่งเล่น Leonard Cohen, Joni Mitchell, Jeff Buckley, Fleet Foxes, Air ไปจนถึงบทกวีประกอบเมโลดี้ของ Jack Kerouac ฯลฯ รื่นรมย์ทีเดียวเชียว) นอนแช่น้ำร้อนในอ่างบนระเบียงบ้าน ดูดาว และฟังเสียงน้ำตกจากฝายขนาดย่อมที่ไหลผ่านห้วยหลังบ้าน ก่อนจะเข้านอน 

ตื่นเช้ามาผมออกไปเดินขึ้น ‘วัดดอยเทสรังสี’ ที่อยู่บนเนินเขาเยื้องกับตัวบ้าน (เขาเขียนแบบนั้นจริง ๆ จนคิดถึงชื่อภาษาอังกฤษเล่น ๆ ว่า Radioactive Testing Mountain Temple ยังไงยังงั้น) เนินค่อนข้างชัน เรียกกำลังขาได้ดีเลยล่ะ จากนั้นกลับบ้านมาดื่มกาแฟ กินข้าวเช้า และใช้เวลายามบ่ายด้วยการอ่านหนังสือที่ระเบียงและสวนริมลำห้วย พยายามจะปั่นจักรยานเสือภูเขา (เขาแขวนไว้ให้ข้างบ้าน) เพื่อไปเที่ยวน้ำตกในเย็นวันหนึ่ง แต่เส้นทางกลับชันเกินสังขาร ขี่เลาะลำห้วยไปได้ครึ่งทาง ผมก็ยอมแพ้ 

กิจวัตรวนซ้ำเช่นนั้นอยู่ 3 วัน ปลอดโปร่งและผ่อนคลาย แต่ก็แอบรู้สึกผิดที่ไม่แม้กระทั่งเปิดโน้ตบุ๊กเขียนหนังสือ 

ไตรภาคบ้านของผู้กำกับ

ราว 1 เดือนหลังจาก 3 วันอันแสนสุข ผมมีโอกาสกลับมาที่บ้านหลังนี้อีกครั้ง เพื่อพา หมิว-มณีนุช บุญเรือง มาถ่ายรูปลงบทความนี้ วันนั้นทั้งบาสและแมวน้ำมาทำธุระที่นี่พอดี เลยมีโอกาสพูดคุย

“จริง ๆ ไม่ได้คิดจะทำธุรกิจ Vacation Home จริงจังมาก่อน แต่หมอดูทัก ไป ๆ มา ๆ ก็ออกมาเป็นแบบนี้” บาสเล่าติดตลก

“หมอดูบอกว่าผมเป็นคนเก็บเงินไม่อยู่ จะให้ดีน่าจะเอาไปลงทุนกับอสังหาริมทรัพย์ ผมไม่ได้เชื่อหมอดูอะไรขนาดนั้น แต่กับเรื่องนี้ดันทักตรง เพราะแต่ไหนแต่ไรพอได้เงินก้อนจากโปรเจกต์ไหนมา สักพักก็จะต้องเสียเงินกับเรื่องอะไรไม่รู้ ทีนี้ก็เลยลองเอาไปลงทุนกับการทำบ้านดีกว่า” เขาเล่าต่อ

เริ่มจากบ้านพักตากอากาศสำหรับครอบครัวที่หัวหิน ซึ่งต่อมาเขาเปิดเป็นธุรกิจแบบ Airbnb จากนั้นก็เห็นประกาศขายที่ดินที่แม่ริม เชียงใหม่ จากพี่เทพในเฟซบุ๊ก จึงเป็นที่มาของบ้านหลังนี้

“ผมฝันอยากมีบ้านที่เชียงใหม่มาแต่เด็ก เพราะพ่อผมเคยเป็นเซลส์แมนและเป็นผู้จัดการสาขาที่เชียงใหม่ สมัยก่อนตอนปิดเทอมพ่อจะพาครอบครัวมาโร้ดทริปจากบ้านที่นนทบุรีขับขึ้นเหนือมาเรื่อย ๆ ก่อนมาพักที่เชียงใหม่ เป็นกิจกรรมประจำปี คิดมาตั้งแต่ตอนนั้นว่า ถ้าโตมาและเราพอมีเงิน ก็อยากปลูกบ้านไว้ที่นี่ ให้ครอบครัวมาพัก” 

บาสเล่าต่อว่าเขาตั้งใจทำบ้านหลังนี้ให้มีกลิ่นไอแบบ Writer’s Cabin อยู่แล้ว แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อยากให้บ้านดูขรึมเกินไป เลยหารถบ้านมาตั้งกลางสวน เติมอารมณ์แบบคาราวาน เป็นมิตรกับสมาชิกทุกคนในครอบครัว 

ซึ่งนั่นล่ะ จากบ้านหลังแรกที่หัวหินที่เขาวางธีมบ้านเป็น Filmmaker สอดพ้องไปกับ Writer’s Cabin หลังที่ 2 หลังนี้ และนั่นทำให้โปรเจกต์ต่อไปที่เขาวางแผนจะปลูกบ้านหลังที่ 3 ริมชายหาดเจ้าสำราญ เพชรบุรี จึงวางธีมไว้เป็นบ้าน Musician กลายเป็นไตรภาคบ้านที่สร้างโดยผู้กำกับภาพยนตร์ไปโดยปริยาย

ผมตั้งข้อสังเกตว่าเพราะการทำอินทีเรียเหมือนวางเฟรมภาพยนตร์ใช่ไหม ทำให้บาสติดใจการทำบ้านขนาดนี้ 

“ก็อาจใช่ เวลาทำหนัง ผมจะใส่ใจกับการวางเฟรม เลือกพร็อป และวางสไตล์ให้มันตลอด พอเลือกเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน ก็ให้ความรู้สึกสนุกแบบเดียวกัน” เขาตอบ

“ผมชอบผลลัพธ์ที่ออกมาโดยไม่ตั้งใจด้วย อย่างบ้านหลังนี้เราตั้งใจให้เป็นสไตล์กระท่อมอเมริกัน แต่ทำเสร็จ ด้วยองค์ประกอบหลายอย่าง ทั้งพื้นผิวไม้หรือแสงธรรมชาติ บ้านกลับมีความเซ็น วาบิซาบิ แบบญี่ปุ่นอย่างไม่ตั้งใจ ดีกว่าที่คิดไว้แต่ต้นเยอะ 

“ซึ่งแผนการทำบ้านใหม่ในอนาคต ผมตั้งโจทย์หลวม ๆ ไว้ว่า อาจเป็น Jazz Music แบบนิวออร์ลีนส์ แต่ก็มีความรู้สึกลุ้น ๆ ว่าผลลัพธ์ปลายทางจะออกมาเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ขอหาเงินก่อน ถ้าสร้างเสร็จ ยังไงเรียนเชิญมาพักด้วยนะครับ”

ผมไม่แน่ใจว่าที่บาสกล่าวนั่นคือชวนจริง ๆ หรือเป็นมารยาท แต่ก็ถือเอาว่านั่นคือคำเชิญในล่วงหน้าอย่างจริงจังและตั้งตารอ 

“ว่าแต่ต้นฉบับเรื่องสั้นเป็นยังไงบ้างพี่กุ๊บ” แมวน้ำที่รับผิดชอบโครงการ Writer in Residence ถามไถ่ ซึ่งผมแน่ใจว่าอันนี้คือการทวงต้นฉบับอย่างจริงจัง เพราะมันเลยเดดไลน์ไปหลายวันแล้ว

“ใกล้แล้วครับ เหลือปรับแก้อีกนิดก็ส่งได้ละ” 

เปล่าเลย ผมตอบแมวน้ำเป็นมารยาท ตั้งใจว่าส่งบทความนี้ให้ The Cloud เสร็จจะเริ่มเขียนเรื่องสั้นเกี่ยวกับบ้านหลังนี้เสียที

Secret Window Chiangmai อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ราวขับรถ 1 ชั่วโมง ติดต่อจองบ้านพักที่ Facebook : Secret Window Chiangmai รองรับแขกได้สูงสุด 6 ท่าน (มีเตียง 2 ชั้นเสริมในห้องนอนใหญ่นอนได้ 2 คน และรถบ้านที่มีเตียงนอนสำหรับ 2 คน) ให้บริการอาหารเช้าฟรี (มื้ออื่น ๆ สั่งได้จากร้านฮิมห้วยคาเฟ่ที่อยู่ห่างจากบ้านราว 100 เมตร) รวมถึงบริการนวดไทยโดยหมอนวดชุมชนฟรี 2 ชั่วโมง สำหรับแขก 2 ท่าน

รายชื่อนักเขียนที่ร่วมโครงการ Writer in Residence ของ Secret Window Chiang Mai มีดังนี้ ธเนศ วงศ์ยานนาวา, อุทิศ เหมะมูล, วีรพร นิติประภา, นัฐวุฒิ พูนพิริยะ, จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์, ศิลปี กอบกิจวัฒนา, กิตติพล สรัคคานนท์, พวงสร้อย อักษรสว่าง, นัทธมน เปรมสำราญ, จิดานันท์ เหลือเพียงสมุทร, วิภาส ศรีทอง และ อินทรชัย พาณิชกุล

Writer

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

จิรัฏฐ์​ ประเสริฐทรัพย์

นักเขียนและนักแปล แต่บางครั้งก็หันมาทำงานศิลปะ อาศัยอยู่ที่เชียงใหม่ ผลงานล่าสุดคือรวมเรื่องสั้น 'รักในลวง'

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล