คุณก็เป็นอีกคนใช่ไหมที่ไม่ชอบโรงพยาบาล?

นอกจากการไปที่นั่นหมายถึงเราหรือคนใกล้ชิดเจ็บป่วย ทั้งคุณและฉันต่างรู้ดีว่าโรงพยาบาลไม่ใช่ที่รื่นรมย์ ไม่ว่าจะเป็นความแออัดของผู้คนที่มานั่งรอคิวยาวเหยียดแต่เช้า จนถึงบรรยากาศที่อบอวลด้วยกลิ่นอายความป่วยไข้ จะว่าไป ความไม่น่าสบายนี้อยู่คู่กับคำว่าโรงพยาบาลมานาน แต่ก็เหมือนปัญหาโลกแตกที่เราได้แต่เจอแล้วทำใจ

ฉันคิดแบบนั้น จนได้รู้จักโครงการที่ชื่อว่า ‘ขอพื้นที่สบายในโรงพยาบาล’

ขอพื้นที่สบายในโรงพยาบาล : โปรเจกต์เปลี่ยนโรงพยาบาลเป็นพื้นที่ที่ทุกคนอยู่แล้วสบาย

โครงการนี้เกิดขึ้นจากผู้หญิงตัวเล็กๆ ชื่อ เสาวนีย์ สังขาระ เธอไม่ใช่แพทย์ ไม่ใช่ผู้บริหารระดับสูง แต่คือผู้กำกับภาพยนตร์สาวที่ต้องก้าวเข้า ‘โรงพยาบาลลำพูน’ ในฐานะญาติคนไข้ เพราะพ่อของเธอป่วยเป็นมะเร็ง และได้สัมผัสประสบการณ์ไม่ต่างจากคนอื่น ตั้งแต่การนั่งรอคิวตั้งแต่ตี 5 ถึง 5 โมงเย็น จนถึงความทุกข์ใจจากอาการป่วยของคนที่รัก ตอนแรกเสาวนีย์ก็พร่ำบ่น จนวันหนึ่ง เธอตัดสินใจลุกขึ้นแก้ปัญหาเตียงคนไข้ที่ตั้งอยู่ตรงทางเดินซึ่งทุกคนเดินชนได้ จนย้ายเตียงหลบมุมได้สำเร็จ ทั้งที่เธอนั่งเฉยๆ ก็ได้ และคนอื่นที่มองอยู่ก็ไม่มีใครทำอะไร

ตั้งแต่วันนั้น เสาวนีย์ตระหนักว่าตัวเองก็เปลี่ยนบางสิ่งได้ เธอจึงเลิกบ่นแล้วเริ่มเปลี่ยนแปลงจากเรื่องเล็กๆ อย่างเอายากันยุงไปให้ญาติที่ต้องนอนค้าง หอบหนังสือที่บ้านไปให้คนอื่นอ่านระหว่างรอ จากนั้น เธอก็ขยับเลเวลด้วยการเขียนโครงการส่งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

“เราเห็น สสส. เขาประกาศโครงการว่าให้ทำโครงการทำพื้นที่สร้างสรรค์ในพื้นที่แออัด ซึ่งเราก็ไปฟังการเสนอโครงการ ทุกคนพูดว่าพื้นที่แออัดก็คือสลัม เราก็บอกเลยว่า เฮ้ย ไม่ใช่สลัม โรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศนี่แหละแออัดยิ่งกว่าสลัมอีก สถิติที่เขาบอกว่าวันละ 1,700 คน นั่นแค่คนไข้ ญาติผู้ป่วยอีกเท่าตัว เท่ากับวันละสามพันกว่า แล้วโรงพยาบาลเล็กแค่นั้น ที่นั่งล้นตลอด เราก็เลยเสนอ สสส. ซึ่งเขาก็โอเคเลย บอกว่าไม่มีใครเคยทำ มันท้าทายมาก ถ้าทำได้ทำเลย” เสาวนีย์เล่า

ขอพื้นที่สบายในโรงพยาบาล : โปรเจกต์เปลี่ยนโรงพยาบาลเป็นพื้นที่ที่ทุกคนอยู่แล้วสบายขอพื้นที่สบายในโรงพยาบาล : โปรเจกต์เปลี่ยนโรงพยาบาลเป็นพื้นที่ที่ทุกคนอยู่แล้วสบาย

และนี่เองคือต้นกำเนิดของโครงการ ‘ขอพื้นที่สบายในโรงพยาบาล’ ซึ่งผู้บริหารของโรงพยาบาลลำพูนเห็นดีเห็นงามด้วย

โครงการนี้คืออะไร? เสาวนีย์อธิบายว่า มันคือโครงการที่ตั้งใจเปลี่ยนโรงพยาบาลให้เป็นพื้นที่สบายที่สุด เพราะคนมาที่นี่ล้วนแต่ไม่สบายกาย ไม่สบายใจ แต่พื้นที่โรงพยาบาลเดิมกลับมีจุดไม่น่าสบายหลายอย่าง โดยโครงการไม่ได้เกิดจากการขับเคลื่อนของเธอคนเดียว แต่มีกำลังสำคัญคือเหล่าเด็กชาวลำพูน เพราะเสาวนีย์ซึ่งทำงานอาสากับเยาวชนมานานแล้วมองว่า เด็กๆ คือเจ้าของพื้นที่ซึ่งจะต้องเติบโตไปกับโรงพยาบาลแห่งนี้  

ขอพื้นที่สบายในโรงพยาบาล : โปรเจกต์เปลี่ยนโรงพยาบาลเป็นพื้นที่ที่ทุกคนอยู่แล้วสบาย

โครงการนี้เริ่มต้นที่ไหน? เสาวนีย์กล่าวว่า เธอเริ่มจากชวนเด็กๆ เข้าสำรวจโรงพยาบาลเพื่อให้ ‘เข้าใจ’ ปัญหา ที่ผ่านมา ผู้ใหญ่อย่างเรามักพร่ำบ่นและโทษคนอื่นเพราะไม่เคยเข้าไปรับรู้ปัญหาถึงแก่น ขณะที่เมื่อเด็กๆ เข้าสำรวจและพูดคุยกับคนในโรงพยาบาล พวกเขาจึงตระหนักว่าที่เก้าอี้บางแถวว่างเปล่าทั้งที่คนแน่น ก็เพราะอยู่ในตำแหน่งแดดส่องร้อนเกินทน ที่คนเดินชนกันเพราะไม่มีป้ายบอกทาง ส่วนที่ห้องน้ำส่งกลิ่นเหม็นจนน่าบ่น ก็ไม่ใช่เพราะคุณป้าแม่บ้านอู้งาน แต่เพราะมีคนทำความสะอาดแค่ 2 คน ขณะที่มีคนเข้าใช้เกือบ 2,000

เมื่อเข้าใจ เด็กๆ ย่อมมองปัญหาด้วยสายตาใหม่  เลิกบ่นเลิกโทษคนอื่น และตั้งต้นแก้ไขได้จากต้นตอ หลังจากนั้น ทางแก้มากมายจึงงอกงาม

ขอพื้นที่สบายในโรงพยาบาล : โปรเจกต์เปลี่ยนโรงพยาบาลเป็นพื้นที่ที่ทุกคนอยู่แล้วสบาย ขอพื้นที่สบายในโรงพยาบาล : โปรเจกต์เปลี่ยนโรงพยาบาลเป็นพื้นที่ที่ทุกคนอยู่แล้วสบาย

โครงการนี้ทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง? สำหรับพื้นที่ทางกาย ตอนนี้โครงการได้เข้าไปปรับเปลี่ยนตำแหน่งแถวที่นั่ง ทำสนามเด็กเล่น จนถึงเปลี่ยนพื้นที่ในโรงพยาบาลส่วนหนึ่งให้กลายเป็น ‘ลานสบาย’ สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ เนื่องจากโรงพยาบาลไม่ได้มีงบประมาณเยอะ ลานนี้จึงเกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของหลายฝ่าย มีสถาปนิกชุมชนมาออกแบบ มีการขอบริจาคต้นไม้ มีการยืมอุปกรณ์ไม่ได้ใช้ของโรงพยาบาลมาประยุกต์ใช้ และวัสดุอย่างไม้ไผ่ที่ใช้ก็ตัดมาจากบ้านผู้กำกับสาวนี่แหละ

ขอพื้นที่สบายในโรงพยาบาล : โปรเจกต์เปลี่ยนโรงพยาบาลเป็นพื้นที่ที่ทุกคนอยู่แล้วสบาย

ส่วนพื้นที่ทางใจ นอกจากเด็กๆ จะนำดนตรีและศิลปะมาช่วยผ่อนคลายญาติคนไข้ การเปลี่ยนแปลงดีๆ ที่เกิดเป็นรูปธรรมยังทำให้เกิดความสัมพันธ์ใหม่ระหว่าง ‘คนนอก’ และ ‘คนใน’ เสาวนีย์ได้ไปนำเสนอโครงการกลางที่ประชุมของโรงพยาบาล บุคลากรฝ่ายต่างๆ ล้วนเข้าใจและสนับสนุนสิ่งที่เธอทำ ยิ่งกว่านั้นคือเสนอสิ่งที่อยากทำให้คนไข้ และลงมาสานสัมพันธ์กับผู้ป่วยเอง เช่น ขอให้โครงการไปจัดกิจกรรมให้หอผู้ป่วยในบ้าง ร่วมสอนผู้ป่วยโรคมะเร็งทำกิจกรรมบำบัดใจอย่างการจัดดอกไม้ หรือเดินมาร่วมร้องเพลงกับเด็กๆ

ขอพื้นที่สบายในโรงพยาบาล : โปรเจกต์เปลี่ยนโรงพยาบาลเป็นพื้นที่ที่ทุกคนอยู่แล้วสบายขอพื้นที่สบายในโรงพยาบาล : โปรเจกต์เปลี่ยนโรงพยาบาลเป็นพื้นที่ที่ทุกคนอยู่แล้วสบายขอพื้นที่สบายในโรงพยาบาล : โปรเจกต์เปลี่ยนโรงพยาบาลเป็นพื้นที่ที่ทุกคนอยู่แล้วสบาย

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่เรื่องดีๆ น่าชื่นใจ เมื่อมองให้ลึก โครงการขอพื้นที่สบายในโรงพยาบาลคือผลจากการรวมพลังของคนตัวเล็กที่มีส่วนร่วมในพื้นที่แห่งเดียวกัน ไม่มีคนนอก ไม่มีคนใน มีแต่คนที่เข้าใจกัน มองเห็นปัญหา แล้วช่วยกันแก้ไข
ขอพื้นที่สบายในโรงพยาบาล : โปรเจกต์เปลี่ยนโรงพยาบาลเป็นพื้นที่ที่ทุกคนอยู่แล้วสบาย

มองให้ลึกกว่านั้น ทุกอย่างที่เกิดขึ้นเริ่มต้นได้จากคนตัวเล็กๆ 1 คน

“เราเป็นคนที่ชอบคิดว่าตัวเองทำอะไรได้บ้าง แล้วเรื่องโรงพยาบาลเอง เราก็ไปโรงพยาบาลเพราะใครสักคนป่วย เลยคิดว่าทำไมตัวเองไม่ลุกขึ้นจัดการ ปล่อยให้เป็นภาระของหมอพยาบาลเท่านั้นเหรอ ซึ่งถ้าทุกคนเปลี่ยนทัศนคติได้ มองว่าเห็นปัญหาแล้วก็ต้องแก้ไขสิ อย่าไปบ่น เราก็จะไปช่วยกัน ที่จริงทัศนคตินี้ใช้ได้กับทุกเรื่องด้วยนะ ไม่ใช่แค่เรื่องโรงพยาบาล” เสาวนีย์บอกฉัน

ขอพื้นที่สบายในโรงพยาบาล : โปรเจกต์เปลี่ยนโรงพยาบาลเป็นพื้นที่ที่ทุกคนอยู่แล้วสบาย

ไม่ต้องเป็นคนตำแหน่งใหญ่โต ไม่ต้องมีทุนหนา แค่ญาติคนไข้คนหนึ่งก็ก่อเกิดแรงกระเพื่อมได้ ขอเพียงตัดสินใจลงมือแก้ปัญหา เสาวนีย์เล่าให้ฉันฟังว่า อีกสิ่งหนึ่งที่โครงการกำลังทำคือ ‘เรือนพักญาติ’ ที่จะช่วยสร้างพื้นที่สบายให้ญาติที่มาเฝ้ารอคนไข้ เพราะพวกเขาล้วนมีพลัง เมื่อสบายตัวสบายใจขึ้นย่อมช่วยเหลือโรงพยาบาลได้มากมาย ‘เปลี่ยนใจรอให้เป็นพลัง’ คือคำที่เสาวนีย์พูดติดปากเสมอ และแน่นอน เรือนพักนี้ก็จะเกิดขึ้นจากการระดมทุน จากการร่วมมือร่วมใจของทุกคน

ขอพื้นที่สบายในโรงพยาบาล : โปรเจกต์เปลี่ยนโรงพยาบาลเป็นพื้นที่ที่ทุกคนอยู่แล้วสบาย

ตอนนี้พ่อของเสาวนีย์ปลอดภัยแข็งแรงแล้ว แต่ถึงจากนี้ เสาวนีย์อาจแวะเวียนไปโรงพยาบาลนานๆ ครั้ง เธอก็ยืนยันว่าโครงการขอพื้นที่สบายในโรงพยาบาลจะยังดำเนินต่อแน่นอน เพราะผู้กำกับสาวรู้แล้วว่าเธอสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ขนาดไหน

ส่วนฉันเมื่อฟังเรื่องราวทั้งหมดจบ ก็อดทอดสายตาลงมองมือตัวเองไม่ได้

คนตัวเล็กอย่างฉัน สองมือเล็กๆ ของฉัน คงทำอะไรได้กว่าที่คิดมากนัก

Facebook l ขอพื้นที่สบายในโรงพยาบาล

Writer & Photographer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN