ไม่มีใครกำหนดอนาคตได้ แต่ดูเหมือนจะไม่ใช่ในวงการแฟชั่น

เมื่อทุกๆ ปีวงการนี้จะมีการออกเทรนด์บุ๊ก หรือหนังสือที่สำนักแฟชั่นต่างๆ มาร่วมกันกำหนดอนาคตของวงการในอีก 1 – 2 ปีข้างหน้า แล้วสรุปเป็นแนวโน้มการใช้สี ชนิดผ้า สไตล์ และรูปแบบการตัดเย็บที่นักออกแบบสามารถนำไปปรับใช้ไม่ให้ตกเทรนด์

ในอีก 2 ปีข้างหน้า เทรนด์นั้นอาจรวมไปถึงการใช้ผ้าไหมจากประเทศไทยด้วย เพราะเรากำลังจะมีเทรนด์บุ๊กที่ว่าด้วยงานหัตถศิลป์ท้องถิ่นไทยเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก

เทรนด์บุ๊กผ้าไทย SPRING/SUMMER 2022 คู่มือแฟชั่นที่แปลงหัตถศิลป์พื้นบ้านเข้าตลาดแฟชั่นโลก

THAI TEXTILES TREND BOOK SPRING/SUMMER 2022 เป็นแนวคิดและผลงานการบรรณาธิการของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยมี ฟอร์ด-กุลวิทย์ เลาสุขศรี บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Vogue ประเทศไทย และ โจ-อัครชญ แก้วอาภรณ์ ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสบริหารไอคอนคราฟต์ เป็นหนึ่งในกรรมการที่ปรึกษา ในการนี้พระองค์ได้เสด็จมาร่วมเปิดตัวหนังสือเทรนด์บุ๊ก นิทรรศการแฟชั่นผ้าไหมไทยโดยดีไซเนอร์ระดับประเทศ และเป็นองค์ประธานในการเสวนาวิชาการส่งเสริมและพัฒนาภาพลักษณ์ผ้าไทยสู่สากล ที่ Iconsiam Art and Cultural Space ชั้น 8 ไอคอนสยาม ด้วยพระองค์เอง

เทรนด์บุ๊กผ้าไทย SPRING/SUMMER 2022 คู่มือแฟชั่นที่แปลงหัตถศิลป์พื้นบ้านเข้าตลาดแฟชั่นโลก

แม้ในงานเสวนาจะมีการเล่ารายละเอียดและกระบวนการทำงานของหนังสือเล่มนี้ไปบ้างแล้ว แต่เราก็อยากชวนทั้งฟอร์ดและโจ มาเจาะลึกถึงเส้นทางกว่าจะมาเป็นเทรนด์บุ๊ก ยาวไปถึงเรื่องราวของผ้าไหมไทยในวงการแฟชั่นระดับโลกกันอีกสักหน่อย

01

When Local Wisdom Meets Fashion

หนังสือเล่มนี้ได้แนวคิดมาจากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ซึ่งได้โดยเสด็จพระราชชนนีพันปีหลวงหลายต่อหลายครั้ง เมื่อได้เห็นความสวยงามของผลงานภูมิปัญญาที่สั่งสมมาอย่างยาวนานของบรรพบุรุษ เช่น การทอผ้า คุณภาพของไหมไทยที่ยืดหยุ่นมีคุณภาพสูง การย้อมสีจากวัตถุดิบธรรมชาติของไทย ทำให้เลือกสร้างสรรค์เฉดสีออกมาได้เยอะมาก ผ้าไทยจึงเป็นสื่อที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาและรากเหง้าทางวัฒนธรรม

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ มีดำริที่จะเริ่มสืบสาน รักษา และต่อยอดออกมาในลักษณะของการผสมผสานงานแฟชั่นและสไตล์ที่ทันสมัย เพื่อให้ราษฎรและผู้ประกอบการด้านวัฒนธรรมมีตำราที่เป็นแนวทางในการผลิต ทำให้ผลผลิตที่ออกมาสู่ตลาดมีคุณภาพและทันสมัย

เทรนด์บุ๊กผ้าไทย SPRING/SUMMER 2022 คู่มือแฟชั่นที่แปลงหัตถศิลป์พื้นบ้านเข้าตลาดแฟชั่นโลก

จากโจทย์ดังกล่าว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ และทีมงานต้องใช้เวลาร่วมปี เพื่อศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับสีไทยท้องถิ่น แล้วหาคำตอบว่าสีประเภทไหนคือสีพื้นฐานของไทย จนได้ข้อสรุปว่า สีไทยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทง่ายๆ คือ สีแมทแบบ Tone on Tone คล้ายสีฝุ่นสำหรับงานจิตรกรรมฝาผนัง และสีมันวาวที่พบได้ในงานผ้าทอ โดยสีทั้งหมดมีชื่อเรียกรวมๆ ว่า ‘ไทยโทน’ ซึ่งเป็นกลุ่มสีที่ตั้งชื่อโดยทีมงานจากคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และมีรหัสเทียบเท่ากับสี Pantone ในระบบสีสากล

“สมมติเราไปเจอสีหงสบาทหรือสีชมพูอ่อน เราก็ต้องไปเทียบว่าสีชมพูอ่อนมาจากสีธรรมชาติอะไร มันมาจากครั่ง แล้วครั่งย้อมได้กี่ครั้ง แต่ละครั้งจะให้เฉดสีแตกต่างกันอย่างไร รหัสสีสากลคืออะไร อันนี้คือตัวอย่างองค์ความรู้ที่จะอยู่ในหนังสือ

เทรนด์บุ๊กผ้าไทย SPRING/SUMMER 2022 คู่มือแฟชั่นที่แปลงหัตถศิลป์พื้นบ้านเข้าตลาดแฟชั่นโลก

“เมื่อรีเสิร์ชแล้วจะไปสู่กระบวนการวางเลเอาต์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของทีมแฟชั่นว่าจะเอาองค์ความรู้ที่วิชาการมากๆ มาทำยังไงให้เข้าใจง่าย อ่านรู้เรื่อง ใช้ได้ทั้งกลุ่มวิชาชีพผู้ประกอบการ เจ้าของโรงงานผลิตเส้นใย นักเรียนนักศึกษาแฟชั่น และนำไปสู่การใช้ในระบบเศรษฐกิจมหภาคได้จริง” โจขยายความ

“นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมเราต้องทำเทรนด์บุ๊ก ค.ศ. 2022 ซึ่งคืออีกสองปีข้างหน้าด้วยซ้ำ เพราะวงการแฟชั่นสากลทำงานล่วงหน้ากันนานมาก พอเราคิดจะทำเทรนด์บุ๊ก เลยต้องมาคิดว่าจะทำยังไงให้ภูมิปัญญาชาวบ้านไทยเข้าไปอยู่ในระบบแฟชั่นโลกได้จริง เราจึงต้องไปเริ่มที่ Spring/Summer 2022 เลย เพื่อผู้ผลิตจะได้มีเวลาเตรียมตัวและศึกษาข้อมูลจากเทรนด์บุ๊กก่อนออกแบบคอลเลกชันนั้น” ฟอร์ดสมทบ

02

ร้อยตำบล ร้อยผลิตภัณฑ์

นอกจากการค้นคว้าวิจัยเรื่องสีแบบไทยๆ แล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ยังเสด็จไปถึงแหล่งผ้าทอในจังหวัดลำพูน สกลนคร และนครศรีธรรมราช เพื่อศึกษาปัญหาเกี่ยวกับการทอผ้า เรียนรู้วัฒนธรรม สังเกตวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และทำความเข้าใจเอกลักษณ์ของงานผ้าทอในภูมิภาคที่แตกต่างกัน

“หลังจากลงไปรีเสิร์ชข้อมูล เราพบว่าหลายชุมชนหันมาผลิตผ้าด้วยรูปแบบและสีซ้ำๆ กัน” โจกล่าวถึงหนึ่งในสารพัดปัญหาที่เจอระหว่างลงพื้นที่

เพราะยิ่งกว่านั้น งานผ้าทอในหลายชุมชนยังมีลายที่หยาบและใหญ่ขึ้น เนื่องจากชาวบ้านเปลี่ยนมาใช้กี่กระตุก ซึ่งหากทอไม่ดีเส้นด้ายจะออกมาไม่สม่ำเสมอ ไหมบางส่วนถูกเปลี่ยนมาย้อมด้วยสีเคมีที่ใช้ง่าย และได้เฉดสีตรงกว่าสีธรรมชาติ นอกจากนี้ชาวบ้านบางส่วนยังหันมาทอผ้าเชิงสั้นและแคบลง เลิกทอผ้าลายละเอียดประณีตที่ใช้เวลานาน แล้วหาซื้อผ้าจากประเทศเพื่อนบ้านมาต่อเพื่อความรวดเร็ว

“พอเราเห็นปัญหาตรงนี้ เราก็เข้าไปช่วยไกด์ชาวบ้านว่า เขาควรทำอย่างไรจึงจะเจาะตลาดได้ เอาเทรนด์บุ๊กไปให้ลองใช้ เพราะเมื่อก่อนเวลาเราไปเจอผู้ผลิตผ้าไหมรุ่นสองรุ่นสาม เราก็จะเอาหนังสือ Vogue ไปให้เขาดูว่าคนแต่งตัวกันยังไง สีอะไรกำลังมา มันช่วยให้เขาออกแบบงานได้ในระดับหนึ่งก็จริง แต่สุดท้ายนิตยสารก็ไม่ละเอียดเท่าเทรนด์บุ๊ก

“อย่างกลุ่มอีสานใต้ที่มีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับเขมร งานผ้าทอของเขาจะมีสีเข้มและทึบ พอเราได้ลงไปคุยกับชาวบ้าน เขาก็ได้รู้ว่า จริงๆ แล้วงานผ้าของเขาทอด้วยสีที่สว่างหรือหวานขึ้นก็ได้ ไม่ใช่ว่าเราเข้าไปเปลี่ยนวัฒนธรรมเขานะ แต่เราต้องการทำให้อดีตและเอกลักษณ์ของเขาอยู่กับยุคปัจจุบันให้ได้มากที่สุด

เทรนด์บุ๊กผ้าไทย SPRING/SUMMER 2022 คู่มือแฟชั่นที่แปลงหัตถศิลป์พื้นบ้านเข้าตลาดแฟชั่นโลก
เทรนด์บุ๊กผ้าไทย SPRING/SUMMER 2022 คู่มือแฟชั่นที่แปลงหัตถศิลป์พื้นบ้านเข้าตลาดแฟชั่นโลก

“เทรนด์บุ๊กเล่มนี้จะทำให้เขาเห็นว่า ความจริงผ้าทอดัดแปลงได้ มีสีและลายให้เลือกใช้มากมาย จะ Redesign ลายใหม่ผสมกับลายผ้าท้องถิ่นก็ได้ หรือไซส์ผ้าประมาณไหนที่ตลาดแฟชั่นต้องการ ที่สำคัญเมื่อเขารู้ว่ามีตลาดรองรับอยู่ เขาก็ย่อมอยากผลิตสินค้าให้มีคุณค่ามากขึ้น ไม่อย่างนั้นสิบหมู่บ้านก็ทอผ้าด้วยรูปแบบและคุณภาพคล้ายกันหมด เขาก็แย่งตลาดกันเองสิ”

ใครจะรู้ ในงานสินค้า OTOP คราวหน้า เราอาจได้เห็นงานผ้าไหมจากร้อยหมู่บ้านในรูปแบบที่ไม่ซ้ำกันเลยก็ได้

03

ผ้าไหมไทยอยู่กับใครก็ได้

ไม่เพียงแค่เป็นมิตรกับผู้ผลิตสิ่งทอเท่านั้น แต่สำหรับนักออกแบบที่มีเทรนด์บุ๊กเป็นเหมือนเข็มทิศนำทาง หนังสือเล่มนี้ยังอิงกับเทรนด์แฟชั่นโลก ช่วยให้นักออกแบบทั้งไทยและเทศนำหนังสือไปใช้ได้อย่างไม่เป็นปัญหา และยิ่งง่ายเข้าไปอีกเมื่อหนังสือเล่มนี้ช่วยจัดกลุ่มผู้บริโภคให้นักออกแบบตาม 6 กลุ่มเป้าหมายแล้วเรียบร้อย อันได้แก่

  • The Value of Dusit Legacy กลุ่มสีเหลือง นำเสนอความรุ่งเรืองในยุค 1920 ด้วยศิลปะแนวอาร์ตเดโค เหมาะกับกลุ่มผู้นำแฟชั่นที่ชอบเข้าสังคม มีเสน่ห์ดึงดูด
  • Holistic Elegance กลุ่มสีแดง แสดงถึงความสดใส แอคทีฟ มีพลัง เหมาะกับกลุ่มผู้ให้คุณค่ากับความงามแบบองค์รวม
  • Social Creation กลุ่มสีคราม หรือกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับปัญหาสังคมและความยั่งยืน ซึ่งเป็นกลุ่มที่กำลังขยายตัวในสังคม
  • Social Creation กลุ่มสีเขียวโศก สีที่มีความเรโทร เล่าถึงความไร้เดียงสาและความฝันของเด็กสาว
  • New Wave Ego กลุ่มสีดำ ผู้มีคาแรกเตอร์ชัดเจน มีความซับซ้อน เป็นปัจเจก
  • Change of Redemption กลุ่มสีเทา นำเสนอไลฟ์สไตล์ของเด็กรุ่นใหม่ที่สนใจเทคโนโลยี ชอบแฟชั่นแนวสตรีทและสปอร์ต
เทรนด์บุ๊กผ้าไทย SPRING/SUMMER 2022 คู่มือแฟชั่นที่แปลงหัตถศิลป์พื้นบ้านเข้าตลาดแฟชั่นโลก

“เราเอาผ้าไหมไทยที่ดีที่สุดมาตัดเป็นต้นแบบในเล่ม พร้อมใส่ Directory สำหรับหาซื้อผ้าไหม ถ้าอยากได้ผ้าไหมเฉดนี้ ลายนี้ มีภูมิภาคไหนที่น่าไปซื้อ แล้วเราก็มีต้นแบบของงานผ้าไหมไทยให้ดูว่าแบบโบราณ แบบร่วมสมัย และแบบโมเดิร์นเป็นยังไง

“จริงๆ หนังสือเล่มนี้เป็นแค่โปรเจกต์ Kick Off ที่แจกให้หน่วยงานและสถานศึกษาซึ่งทำเรื่องงานผ้าท้องถิ่นเท่านั้น แต่มันจะเป็นจุดเริ่มต้นสู่การพัฒนาที่ละเอียดและลึกซึ้งขึ้นในอนาคต เราต้องการให้คนเห็นว่า ผ้าไหมไทยมีแนวโน้มพัฒนาไปได้ไกลและหลากหลายขนาดไหน เราเชื่อว่าสิ่งนี้จะไม่หยุดอยู่แค่งานแฟชั่นด้วย แต่สำหรับนักออกแบบในสายอื่นๆ เมื่อมาเห็นผ้าไหมสวยๆ หรือผ้าไหมที่ตัดไปอาจทำให้ลวดลายเสีย ก็ช่วยเอางานเหล่านี้ไปต่อยอดเป็นของตกแต่งบ้าน หรือเป็น Product Design อื่นๆ ได้” โจแสดงความคิดเห็น

04

From Local to Global

จาก Spring/Summer ฟอร์ดยืนยันกับเราอย่างหนักแน่นว่า ในอนาคตเทรนด์บุ๊กนี้จะมีซีซั่นอื่นๆ ตามมาอย่างแน่นอน แม้เราจะเข้าใจว่าประเทศไทยมีแค่ 3 ฤดู อย่างร้อน ร้อนมาก และร้อนสุดๆ ก็ตามที แต่ความคิดนั้นกลับผิดถนัดเมื่อเราพบว่า ศักยภาพของผ้าไทยสามารถเข้าไปอยู่ในทุกฤดูกาลทั่วโลกได้อย่างกลมกลืน

เทรนด์บุ๊กผ้าไทย SPRING/SUMMER 2022 คู่มือแฟชั่นที่แปลงหัตถศิลป์พื้นบ้านเข้าตลาดแฟชั่นโลก

“ถ้าเราพูดตามบริบทสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านเมื่อก่อนเวลาทอผ้า เขาจะทอตามสิ่งใกล้ตัว เช่น ช่วงหน้าหนาวหรือฤดูแล้ง ผ้าจะออกมาเป็นสีน้ำตาล สีเทา แสดงถึงความหม่นหมองของช่วงชีวิตที่ไม่มีฝน ทำอาชีพไม่ได้ ในทางกลับกันเวลาเราเข้าไปในหมู่บ้านช่วงฤดูร้อนหรือช่วงเก็บเกี่ยว ชาวบ้านจะทอผ้าสีเขียวอ่อน สีเหลือง มันคือซีซั่นที่ธรรมชาติกำหนด นี่แหละคือสินค้าตามฤดูกาลในแบบไทยๆ” โจอธิบาย

“เมื่อตลาดกว้างขึ้น เราจะทำหนังสือ Autumn/Winter ก็ยังได้ เพราะเราไม่ได้ทำขายคนไทยอย่างเดียว เรายังมีกลุ่มนักท่องเที่ยว กลุ่มชาวต่างชาติที่สนใจงานคราฟต์ของไทยอีกเยอะแยะ ชาวต่างชาติเขาถือว่าสินค้าคราฟต์ของไทยเป็นงานพรีเมี่ยม

“โดยเฉพาะดีไซเนอร์ต่างชาติจะบอกเลยว่างานผ้าไหมไทยเป็นงานแบบ One of a Kind คือเป็นงานชิ้นเดียวในโลก ทอด้วยความรัก งานพวกนี้แหละคืองานที่ดีไซเนอร์ต่างประเทศถวิลหามาก เวลาเราส่งผ้าไปให้เขาดู เขาจะรู้เลยว่างานพวกนี้เป็นงานที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านจริงๆ” ฟอร์ดเสริม

เมื่อผ้าไทยได้บุกตลาดโลก แบบนี้จะยิ่งมีราคาแพงขึ้นจนคนส่วนใหญ่เอื้อมไม่ถึงไหม-เราสงสัย

“ผ้าไทยต้องราคาแพงขึ้น สมมติผ้าราคาเดิมเมตรละสามร้อยบาท เมื่อเขาพัฒนาและเพิ่มคุณค่า เปลี่ยนวิธีการย้อมสี เปลี่ยนเส้นใยและวิธีการทอแล้ว เท่ากับว่างานชิ้นนี้ผ่านการคิดมากขึ้น จากเดิมสามร้อยบาทชาวบ้านต้องขายได้ในราคาหกร้อยบาทโดยลูกค้าไม่เกิดคำถาม นี่คือไอเดียของเรา” โจคลายข้อสงสัยของเรา

ขณะเดียวกันระบบฤดูกาลยังช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของตลาดผ้า เมื่อผ้าหมดฤดูย่อมมีราคาถูกลง ทำให้นิสิตนักศึกษาหรือคนที่มีงบประมาณไม่มากนักเข้าถึงงานผ้าทอได้ง่ายขึ้น วงการแฟชั่นจึงสามารถเติบโตไปพร้อมกับตลาดผ้าที่ขยายวงกว้างขึ้นเช่นกัน

05

ผ้าไทยที่ใส่ได้ทุกวัน

ในมุมของคุณรุ่นใหม่ ผ้าไหมไทยอาจเป็นสิ่งที่ดูไกลตัว ทั้งด้วยภาพลักษณ์ของงานหัตถศิลป์ที่ผูกติดมากับภาพชุดออกงานของคุณหญิงคุณนาย หรือจะให้ทันสมัยหน่อย ผ้าไทยก็มักจะเป็นเสื้อผ้าอลังการในงานแฟชั่นวีกที่คงไม่มีใครใส่จริงๆ ในชีวิตประจำวัน เราจึงอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า แล้วที่ทางของผ้าไหมไทยนั้นอยู่ตรงไหนกันแน่

เทรนด์บุ๊กผ้าไทย SPRING/SUMMER 2022 คู่มือแฟชั่นที่แปลงหัตถศิลป์พื้นบ้านเข้าตลาดแฟชั่นโลก

“เข้าใจแบบนั้นก็ถูก” โจตอบ

“ผ้าไทยมี Occasion ของมัน ชาวบ้านเองก็ไม่ได้ใส่ผ้าไหมไทยทุกวันนะ เขาใส่ในโอกาสที่สำคัญกับชีวิตของเขาเท่านั้น เพราะผ้าไหมเป็นงานที่มีมูลค่า เป็นเหมือน Aesthetic ในการใช้ชีวิต แล้วมันก็ต้องการการดูแลรักษาที่ดี

“แต่เราก็อยากเปลี่ยนความคิดนี้เหมือนกัน เราอยากให้คนเห็นว่าจริงๆ แล้วผ้าไทยมีหลายมิติ มันไม่ได้มีแค่ผ้าไหมไทยแข็งๆ ที่คุณใส่ทุกวันไม่ได้ แต่ยังมีผ้าคอตตอนออร์แกนิก ผ้าเรยอน ผ้าย้อมมือ หรือผ้าที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการย้อมสีธรรมชาติให้ดูทันสมัยก็ได้

“ในปัจจุบันกลุ่มคนทำงานหันมาใช้ผ้าไทยกันเยอะขึ้น หรือกลุ่มเด็กมหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีโอกาสใช้ผ้าไหม แต่มีความชื่นชอบ สนใจ เจอเด็กอย่างนี้สักสองจากสิบคน เราก็คิดว่าผ้าไหมไทยไม่มีทางสูญหายแล้ว มันไม่จำเป็นต้องให้คนทั้งห้องเรียนมาใส่ผ้าไหมหรือมาชอบผ้าไหมหรอก สุดท้ายเราจะเจอคนที่มีแพสชันกับมันโดยมีเทรนด์บุ๊กเล่มนี้เป็นไกด์ช่วยให้เขาเห็นแนวทางในการต่อยอด ต่อไปเขาจะกลายเป็นเหมือนเราหรือพี่ฟอร์ดที่คอยช่วยส่งต่อสิ่งเหล่านี้ไปให้คนรุ่นต่อๆ ไปได้รู้ว่าผ้าไทยดียังไง ควรใช้ยังไง ราคาควรเป็นยังไง” โจกล่าว

“สุดท้ายถ้าเราทำให้ผ้าไหมไทยไปอยู่ในชีวิตประจำวันได้จริงๆ ก็ถือว่าเราประสบความสำเร็จ” ฟอร์ดออกความเห็น เราคิดว่าความตั้งใจของฟอร์ดเข้าใกล้จุดนั้นมากขึ้นทุกที

เทรนด์บุ๊กผ้าไทย SPRING/SUMMER 2022 คู่มือแฟชั่นที่แปลงหัตถศิลป์พื้นบ้านเข้าตลาดแฟชั่นโลก
เทรนด์บุ๊กผ้าไทย SPRING/SUMMER 2022 คู่มือแฟชั่นที่แปลงหัตถศิลป์พื้นบ้านเข้าตลาดแฟชั่นโลก

ไม่ต้องไปดูที่ไหนไกล แค่จากนิทรรศการแฟชั่นชุดผ้าไหมไทย ผลงานของดีไซเนอร์ระดับประเทศที่ตั้งอยู่ในบริเวณงาน เราเห็นว่าชิ้นงานส่วนใหญ่เริ่มดัดแปลงให้เข้ากับชีวิตประจำวันมากขึ้น โจขยายความให้ฟังว่าดีไซเนอร์หลายคนเลือกนำผ้าไหมไทยมาผสมกับผ้าทั่วไปหรือผ้าพิมพ์ลาย Silk Screen ที่มีลูกเล่นและสีสันสดใส แล้วใส่ลงในแบบชุดที่เราคุ้นเคย ทำให้งานดีไซน์ออกมาดูกลมกล่อมจนแยกแทบไม่ออกว่านี่คือชุดผ้าไหมไทยด้วยซ้ำ

“เราอยากให้คนเห็นว่าชุดผ้าไหมไทยไม่ได้แก่เสมอไป ถ้าไปเห็นที่อื่นผู้บริโภคอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่านี่คือผ้าไหม แถมยังเป็นงานผ้าไหมที่ตามเทรนด์แฟชั่นด้วย นี่แหละคือ Fashion System ที่ผ้าไทยจะถูกกลืนเขากับกระแสนิยมโดยที่เราไม่รู้ตัว นั่นไม่ได้หมายความว่าถ้าผ้าไหมจะ Blend in กับชีวิตประจำวัน ทุกคนต้องหันมาใส่ผ้าไหมทั้งตัวนะ แต่เราเลือกใส่ได้ ใส่เข็มขัด ต่างหู หรือจะเอาผ้าไหมไปผสมกับสูท กับเสื้อปกติก็ได้ เดี๋ยวเราก็จะค่อยๆ ซึมซับมันเข้าไปในชีวิตประจำวันเอง

“ตั้งแต่อยู่ Vogue มา ทุกปีเราจะเห็นดีไซเนอร์หน้าใหม่เรื่อยๆ ทุกครั้งที่เราพูดถึงผ้าไหมไทยหรือเวลาเราพาเด็กๆ ไปลงชุมชน กลับมาทุกคนจะหลงเสน่ห์ไหมไทยกันหมด เขาจะค่อยๆ หันมาดัดแปลง หยิบผ้าไหมมาใช้ในชีวิตประจำวัน มาทำเป็นขลิบที่แขนเสื้อ ทำปกเสื้อ สิ่งนี่แหละที่ทำให้เราเชื่อว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว” ฟอร์ดทิ้งท้าย

เทรนด์บุ๊กผ้าไทย SPRING/SUMMER 2022 คู่มือแฟชั่นที่แปลงหัตถศิลป์พื้นบ้านเข้าตลาดแฟชั่นโลก

Writer

Avatar

เอม มฤคทัต

นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ที่อยากจะลองทำงานเขียน หลงรักทุกอย่างที่เป็นสีพีชและภาพยนตร์จิบลิ มีความสามารถพิเศษในการกินข้าววันละ 5 มื้อ

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)