21 พฤศจิกายน 2023
2 K

คอลัมน์ The Entrepreneur ตอนนี้ ชวนมาคุยกับ SC GRAND โดย วัธ-จิรโรจน์ และ ตั้ม-สรรพัชญ์ พจนาวราพันธุ์ ทายาท บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด ผู้สานต่อความเชี่ยวชาญของครอบครัวจากโรงงานล้างฝ้าย สู่โรงปั่นด้ายที่เก่งการรีไซเคิล จนได้ร่วมงานกับแบรนด์แฟชั่นจากต่างประเทศ (อ่านเรื่องราวการสืบทอดธุรกิจของพวกเขาได้ที่คอลัมน์ทายาทรุ่นสอง)

ในวันนี้ SC GRAND พาโรงงานปั่นเศษด้ายของครอบครัวฝ่าฟันอุปสรรคมาจนเข้าสู่โลกยุคใหม่ เมื่อโลกตอบรับการรีไซเคิลมากยิ่งขึ้น ยิ่งนำขยะมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้เท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อโลกมากเท่านั้น 

ก่อนจะไปติดตามเรื่องราวของขยะสิ่งทอว่าจะโลดแล่นในเส้นทาง Circular Fashion ได้ไกลขนาดไหน มาทวนเส้นทางชีวิตของตั้มและวัธในการสานต่อธุรกิจครอบครัวกันก่อนสัก 1 นาที แล้วจะเห็นถึงหัวใจที่สู้ไม่ถอยของพี่น้องคู่นี้

โรงงานแสงเจริญการฝ้ายอยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่การแข่งขันรุนแรงมากว่า 58 ปี ประเทศไทยสูญเสียความได้เปรียบเมื่อค่าแรงสูงขึ้น จากโรงงานปั่นด้ายนับร้อยโรงงานเหลือไม่ถึง 20 แห่ง แต่โรงงานแห่งนี้ยังอยู่ได้ เพราะเป็นปลายน้ำที่รับขยะสิ่งทอจากทุกโรงงานมาแปรรูป

เคยมีเพื่อนสายการเงินแนะนำว่าให้ขายโรงงาน ชีวิตจะสบาย แต่ด้วยความรักและความตั้งใจของคุณยายที่สร้างโรงงานมากับมือ หลาน ๆ จึงอยากให้ธุรกิจไปต่อ

วัธและตั้มคลุกคลีกับโรงงานในลักษณะขาจรมาหลายปี ไม่มีโอกาสได้เข้ามาทำงานมากนัก เพราะมีพนักงานเก่าแก่ช่วยกันดูแลอยู่แล้ว จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์จับโกงครั้งใหญ่กับพนักงานเก่าแก่ซึ่งไว้ใจที่สุด ทำให้ทั้งคู่ได้เข้ามาเปลี่ยนระบบการทำงานภายในอย่างสิ้นเชิง

ในวันที่ตัดสินใจเข้ามาทำเต็มตัว ตั้มถามตัวเองก่อนเลยว่า “อยากทำรึเปล่า เราถามตัวเองอยู่หลายรอบ จนได้คำตอบว่า อยากทำก็ลุย แล้วถึงคำถามต่อมาว่า เข้าใจธุรกิจตัวเองมากแค่ไหน ผมเริ่มจากศูนย์ในการมาเรียนรู้ธุรกิจสิ่งทอ คู่ค้า ลูกค้า แล้วมาคิดต่อว่าจะสร้างคุณค่าเพิ่มเติมได้อีกแค่ไหน”

5 ปีผ่านไป หลังทายาทรุ่นสามเข้ามาบริหารงานเต็มตัว The Cloud ได้เดินทางไปเยี่ยมโรงงานย่านสมุทรปราการอีกครั้ง เรายังชอบบรรยากาศของการเดินคุยกันผ่านม้วนผ้าขนาดมหึมาหลากสี บางมุมยังมีกองเศษผ้าเก่ารอแยกปั่นกลับมาเป็นเส้นด้าย วัธไม่เขินอายที่จะชี้ให้ดูเศษฝุ่นที่ขดติดกันอยู่ตามเสาและหลังคา พร้อมบอกว่า “โรงงานผ้าฝุ่นเยอะหน่อยนะครับ แต่ไม่เป็นอันตรายหรอก อากงผมเสียตอนอายุ 105 ปี ส่วนคุณยายตอนนี้ 95 ปีแล้ว”

ธุรกิจ : บริษัท บางปะกอกการฝ้าย จำกัด (พ.ศ. 2508), บริษัท แสงเจริญการฝ้าย จำกัด และ บริษัทอุตสาหกรรมคลองสวนการฝ้าย จำกัด (พ.ศ. 2530) ปัจจุบันควบรวมและเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด

ปีที่ก่อตั้ง :  พ.ศ. 2508

อายุ : 58 ปี

ประเภท : โรงงานปั่นด้ายและธุรกิจซื้อมาขายไปของเสียในอุตสาหกรรมสิ่งทอ

ทายาทรุ่นสอง : จิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ และ สรรพัชญ์ พจนาวราพันธุ์

เศษด้ายที่ไม่มีใครเห็นค่า

เสื้อผ้าไม่ว่าจะราคาถูกหรือแพงก็ล้วนมีจุดเริ่มต้นไม่ต่างกัน นั่นคือเส้นด้ายบางจิ๋ว 

ต้นฝ้ายคือต้นทางของอุตสาหกรรมสิ่งทอในการนำมาทำเป็นเส้นด้าย แต่เมื่อแฟชั่นเสื้อผ้าหมุนไว การปลูกฝ้ายจึงต้องเร่งรีบตาม ใช้น้ำและสารเคมีมหาศาลจนทำลายดินอย่างไม่มีวันหวนกลับ ในบางพื้นที่ของประเทศจีนแผ่นดินใหญ่หรือประเทศบูร์กินาฟาโซในทวีปแอฟริกา ผืนดินปลูกฝ้ายถูกทำลายรุนแรงจนกลายเป็นทะเลทรายไปแล้ว

แม้จะมีวัตถุดิบทางเลือกแทนฝ้าย นั่นคือเส้นใยสังเคราะห์โพลิเอสเตอร์ที่มีส่วนผสมมาจากพลาสติก แต่ก็มาจากกระบวนการกลั่นน้ำมัน ซึ่งทำร้ายโลกอีกเช่นกัน

หลังจากนั้น การผลิตเสื้อผ้ายังตามมาด้วยกระบวนการใช้พลังงาน น้ำ และความร้อนอีกมหาศาล ทั้งการปั่นด้าย ทอผ้า ฟอกย้อม ตัดเย็บ ไปจนถึงส่งขาย กลายเป็นเสื้อผ้าสวยงามที่เราเห็น แต่สิ่งที่ไม่มีใครสังเกตเห็น คือขยะสิ่งทอ เศษด้ายจากการทอผ้า เศษผ้าจากโรงงานตัดเย็บ เสื้อผ้าที่ไม่ผ่านการตรวจคุณภาพถูกทิ้งเกลื่อนกลาดในกระบวนการผลิต

ใครไม่เห็น แต่ SC GRAND มองเห็นและรับซื้อ หลายคนรวมถึงคุณยายของทายาทธุรกิจทั้งสองจึงมองว่าโรงงานแห่งนี้เป็น ‘โรงงานขยะ’ แต่พวกเขากลับภาคภูมิใจว่านำของเหลือทิ้งเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ต่อได้ และนั่นคือจุดแข็ง เพราะไม่ว่าเศษผ้าหรือเสื้อผ้าเก่าจะส่งมาในรูปแบบใด SC GRAND ก็นำไปจัดการได้ อย่างการทำเป็นไฟเบอร์ ก่อนปั่นเป็นเส้นด้ายและนำไปทอผ้าต่อ

ระหว่างเดินไปคุยไป หากสังเกตดูดี ๆ ในโซนจัดเก็บเศษผ้าที่รับมาจากโรงงานตัดเย็บทั่วประเทศ จะพบว่าสีสันไม่เหมือนกันเลย แค่โซนม้วนผ้าสีเขียวที่สูงถึงหลังคาโรงงาน กลับมีสารพัดเฉดสีเขียว หากเทียบรหัสสีในคอมพิวเตอร์ คงได้ออกมาไม่ต่ำกว่า 30 รหัส ยังไม่นับลักษณะของเนื้อผ้าที่จับไปเจอทั้งหนา บาง ลื่น ลาย และอื่น ๆ จนอดถามไม่ได้ว่ามีวิธีจัดการกันอย่างไร

“ตั้มเป็นคนดูเรื่องเทคโนโลยีครับ แม้ผ้าจะมาต่างกัน แต่เครื่องจักรของเราต้องรองรับได้ทุกแบบ ให้ปั่นกลับมาเป็นเส้นด้ายรีไซเคิล แผนก R&D จึงมีความสำคัญมาก ตอนโควิดเราทุ่มเทให้เรื่องนี้เต็มที่ ขายของก็ลำบากอยู่แล้ว ผลประกอบการขาดทุนติดต่อกันหลายปีเลยนะ แต่มั่นใจว่าเรื่องนวัตกรรมจะเป็นจุดแข็งของเราในอนาคต”

ครั้งแรกของการมีแบรนด์และหน้าร้าน

ผ่านมา 3 เจเนอเรชัน และกว่า 5 ปีที่วัธและตั้มเข้ามาดูแลกิจการเต็มตัว จนการผลิตผ้าจากด้ายรีไซเคิลได้มาตรฐานและความหลากหลายเพียงพอก็ถึงเวลาของการสร้างแบรนด์เป็นของตนเองสักทีในนาม CIRCULAR เพื่อสื่อสารออกมาว่าผ้าจาก Sustainable Textile ทำออกมาได้หลากหลายรูปแบบ ที่สำคัญที่สุดคืออัตรากำไร (Profit Margin) เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 3 – 5% ในสมัยธุรกิจ B2B ดั้งเดิม ขยับมาเป็น 10% เมื่อขายแบบ B2C มากขึ้น

หากมองในมุมดีไซเนอร์ การออกแบบเสื้อผ้ามา 1 คอลเลกชัน ย่อมอยากให้เสื้อผ้าชุดนั้นผลิตซ้ำได้เรื่อย ๆ จึงต้องได้วัตถุดิบผ้าที่มีสีมาตรฐาน หากสีเพี้ยนก็ใช้วิธีฟอกย้อมจนได้สีที่ต้องการ แต่วิถีของ SC GRAND ต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง

“เสื้อผ้าแต่ละตัวมีเนื้อผ้าและสีผ้าไม่เท่ากัน แบรนด์ CIRCULAR มีความชัดเจนว่าเป็นผ้ารีไซเคิล 100% ไม่ฟอกย้อม มาจากผ้าเก่าสีอะไรก็เป็นด้ายสีนั้น แต่ละคอลเลกชันจึงมีความไม่เท่ากันประมาณ 10 – 15% แต่เรามองว่านั่นคือเสน่ห์”

เมื่อหันไปดูราวแขวนผ้า ก็เห็นจะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ลองไปเพ่งพินิจกันได้ที่โชว์รูม 4 ชั้น ณ สยามสแควร์ซอย 2 หน้าร้านแห่งแรกของ SC GRAND สถานที่รวบรวมความฝันและแรงบันดาลใจของวัธและตั้ม ซึ่งอยากให้คนเข้าใจ Sustainable Textile มากขึ้น 

เสื้อผ้าสวยงามที่แขวนเรียงรายนั้น หากมองให้ทะลุถึงเนื้อผ้า จะเห็นเส้นด้ายเก่า ๆ ที่ยังอยากมีชีวิตต่อเข้ามาผสมอยู่ในความเท่ของแบรนด์ต่าง ๆ โดย SC GRAND เป็นพันธมิตรกับร้านเสื้อผ้าแฟชั่นมากมายที่อยู่ใจกลางสยามสแควร์ ทั้งแบรนด์เสื้อผ้าผู้หญิงอย่าง KLOSET เสื้อผ้าแนวสตรีตอย่าง CARNIVAL กางเกงยีน Indigoskin แม้แต่ในรองเท้า Mango Mojito เชือกผูกรองเท้าก็มาจากเส้นด้ายรีไซเคิล

ชั้นบนของตึกยังมีโชว์รูมผ้าหลากหลายสีสัน สแกน QR Code สั่งซื้อได้ทันทีตั้งแต่ 1 หลา หรือ 1 กิโลกรัม และมีบริการส่งถึงบ้าน หรือจะไปนั่งเล่นบนโซฟาที่นำเสนอไอเดียการนำผ้าจากเส้นใยรีไซเคิลไปอยู่ในทุก ๆ หมวดสินค้า ตั้งแต่เครื่องแต่งกายยันเฟอร์นิเจอร์ก็ได้

“โรงแรมที่ใส่ใจเรื่องความยั่งยืนก็มาหาเรา สั่งซื้อผ้าม่าน ปลอกหมอนจากเส้นด้ายรีไซเคิล แถมยังเอาผ้าปูเตียง ผ้าเช็ดตัวเก่า ๆ ของโรงแรมมาให้เรารีไซเคิลใหม่เป็นของใช้ในโรงแรมต่อไป เช่น ผ้าม่าน ผ้าปูโต๊ะ”

ร้อยคำพูดไม่เท่าพิสูจน์ผ่านป้ายเสื้อผ้า

การพิสูจน์ตัวเองในโลกของความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องง่าย ท่ามกลางกระแสฟอกเขียวทั่วโลก จึงต้องมีผู้เชี่ยวชาญจากแดนไกลมาช่วยการันตี นั่นคือการทำ Life Cycle Assessment (LCA) โดยร่วมมือกับบริษัทจากแคนาดาที่รับประเมินวงจรชีวิตเสื้อผ้าให้แบรนด์แฟชั่นในยุโรปจำนวนมาก ฝั่งหลังบ้านของ SC GRAND ก็ต้องทำงานอย่างหนักในการส่งข้อมูลวัตถุดิบและเครื่องจักรทุกอย่างเพื่อตรวจประเมิน

ข้อมูลเหล่านี้จะถูกแปะอยู่บนป้ายเสื้อผ้า เพียงพลิกด้านหลัง สแกน QR Code จะพบว่าเสื้อผ้าชิ้นนี้ลดการปล่อยน้ำและคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไหร่ ลูกค้าที่ซื้อไปรับรู้ถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไปด้วย 

“เราขายคุณค่า มีเรื่องราวเบื้องหลังของด้ายแต่ละเส้น จึงไม่ได้แข่งขันที่ราคา” วัธยิ้มอย่างภูมิใจ

ไปให้สุดและไม่หยุดสร้างความร่วมมือ

การเคารพแนวทาง Circular Fashion อย่างสุดใจ ทำให้ลูกค้าที่เชื่อในแนวทางนี้อยากไปสุดตาม

หากใครมาขอตัดเย็บเสื้อผ้าที่มีสีแบบเดียวกันจำนวนมาก จนด้ายรีไซเคิลสีนั้นไม่เพียงพอ คงต้องขอเจรจากันใหม่ แต่วัธก็ไม่ได้ปฏิเสธลูกค้าอย่างสิ้นเชิง กลับกลายเป็นช่วยกันหาวิธีที่ดีที่สุด

‘ลูกค้าองค์กร’ เป็นโจทย์ที่ท้าทายไม่เบา เมื่อมีสีขององค์กรเป็นตัวกำหนด แถมอยากให้พนักงานทั้งบริษัทใส่แบบเดียวกัน

วัธยกตัวอย่างลูกค้าสายการบินเจ้าหนึ่งที่เดินมาหา SC GRAND ด้วยความต้องการใช้ด้ายรีไซเคิลมาทำชุดยูนิฟอร์มใหม่ให้ลูกเรือ สุดท้ายทั้งสองฝั่งก็ตกลงปลงใจกันด้วยไอเดียว่า นำชุดยูนิฟอร์มเก่าของลูกเรือตั้งแต่สมัยอดีตคืนมาให้โรงงาน SC GRAND ช่วยปั่นเป็นด้ายใหม่ ทอใหม่ ตัดเย็บใหม่ จนกลายเป็นยูนิฟอร์มรุ่นใหม่ 

ลองคิดดูว่าบางบริษัทมีการเปลี่ยนเสื้อองค์กรทุกปี ย่อมมีเสื้อที่ไม่ใช้แล้วหรือยังไม่ได้นำไปแจกด้วยซ้ำไป จะนำไปขายต่อมือสอง แม่ค้าตลาดนัดก็ยังส่ายหน้า เพราะไม่รู้จะไปขายลูกค้าที่ไหน SC GRAND จึงเป็นคำตอบที่จะมาชุบชีวิตใหม่ให้กับเสื้อผ้าเหล่านี้ และมีลูกค้าองค์กรจำนวนไม่น้อยที่มาใช้บริการ CIRCULAR OEM 

โรงงาน SC GRAND ในวันนี้จึงปรับตัวตามให้เป็นกึ่ง Customization พยายามลดพื้นที่จัดเก็บของและสต็อก แล้วเปลี่ยนมาเป็น Made-to-Order มากยิ่งขึ้น 

“อะไรที่โรงงานอื่นทำได้ เราจะไม่เน้นตรงนั้น ออร์เดอร์เสื้อร้อยตัว พันตัว เราทำได้ แต่ถ้าต้องการผลิตเป็นหมื่นตัว หาโรงงานพาร์ตเนอร์มาทำให้ดีกว่า เทคโนโลยีไหนที่เขามี เราก็จะร่วมมือกับเขา ให้วงการไปกันต่อได้ เพราะโรงงานสิ่งทอในบ้านเราเหลือน้อยเต็มที พยุงกันไปดีกว่า”

หากถามว่าเราเป็นใครในระบบนิเวศสิ่งทอเมืองไทย วัธมีจุดยืนที่ชัดเจนคือการเป็น Supplier Chain Partner เปิดรับของเสียที่อยู่ในโรงงานสิ่งทอต่าง ๆ มารีไซเคิลเป็นของใหม่ แล้วขายต่อให้กับลูกค้าร่วมกัน เป็นโอกาสดีที่จะชวนโรงงานอื่น ๆ มาเรียนรู้การใช้ผ้ารีไซเคิล และยังลดการแข่งขัน แบ่งงานกันทำ เรียกว่าต้องรอดทั้งอุตสาหกรรม

เป้าถัดไป Textile Recycle Hub แห่งอาเซียน

แม้พิษโควิดทำให้สถานะขาดทุนปรากฏอยู่ในงบการเงินบริษัทมาหลายปี แต่ส่วนหนึ่งของตัวเลขที่ติดลบ เกิดจากการทุ่มทุนด้าน R&D อย่างหนัก เพื่อไปสู่การเป็นโรงงานปั่นด้ายสีเขียว 

“ในปีนี้สิ่งที่ตั้งใจก็ผลิดอกออกผล เริ่มเห็นผลกำไรกลับมาเป็นบวก และยังเพิ่มสัดส่วนตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น เช่น ญี่ปุ่นและยุโรป คิดเป็นประมาณ 30% ของยอดขายรวม แต่ถ้าตอนนี้เราขายดี เราต้องดูเลยว่า 5 – 10 ปีข้างหน้ามีอะไรที่จะมาดิสรัปต์เรา เราต้องเริ่มวิจัยพัฒนาสิ่งใหม่ ไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต”

ปี 2024 บริษัท SC GRAND จะเริ่มนับหนึ่งสู่การเตรียมตัวเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ด้วยความฝันที่จะเป็น Textile Recycle Hub ซึ่งแข็งแกร่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิภาคที่ยังถือเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมสิ่งทอทั่วโลก ย่อมมีเศษผ้าจากโรงงานตัดเย็บจำนวนมหาศาลรอการเก็บกลับไปใช้ใหม่ การระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะนำมาซึ่งเงินลงทุน ความโปร่งใสในการบริหารจัดการ และการดึงดูดคนเก่งเข้ามาช่วยบริหารงาน

“เราตั้งใจให้ธุรกิจนี้อยู่ต่อไปได้โดยไม่มีเรา นอกจากธุรกิจที่เราสร้างมาจะอยู่ในเทรนด์รักษ์โลกแล้ว เราอยากให้คนที่เข้ามาทำงานรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง และได้สร้างประโยชน์ต่อสังคมด้วย เป็นหนึ่งในความหมายของชีวิตที่เรายังอยากทำงานอยู่ครับ” วัธว่า

รับชมสรุปบทเรียนธุรกิจและการแก้ปัญหาผ่านมุมมองของทายาท SC GRAND ได้ที่วิดีโอนี้ และติดตามรายการ ทายาท The Next Gen ได้ทุกวันจันทร์ที่ 2 และ 4 ของเดือน

สำหรับผู้ที่สนใจ เข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.live-platforms.com แพลตฟอร์มที่ให้บริการสำหรับผู้ประกอบการ SMEs และ Startups เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความแข็งแกร่งในการดำเนินธุรกิจ ผ่านการพัฒนาหลักสูตรองค์ความรู้และเครื่องมือสำหรับผู้ประกอบการ รวมถึงการจัดทำโครงการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่ตลาดทุน โดย บริษัท ไลฟ์ฟินคอร์ป จำกัด ในกลุ่มตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

Writer

ธันยมัย อนันตกรณีวัฒน์

ธันยมัย อนันตกรณีวัฒน์

นักข่าวเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยเชื่อว่า GDP คือคำตอบ แต่กลับชื่นชอบในแนวคิด Circular Economy ว่าจะสร้างอนาคตอันสดใสให้กับโลกที่ร้อนขึ้นทุกวัน

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน