“เวลาเด็กผู้หญิงโดนบังคับให้ตัดผม พวกเขาโดนตัดไปแค่ผม
…จริงเหรอ?” 

เช้าวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 คือวันที่ข้อความข้างต้นปรากฏบนหนังสือพิมพ์หน้า 1 ของ ไทยรัฐ พร้อมภาพของเด็กนักเรียนหญิงถูกตัดผมให้สั้นเท่าติ่งหู เธอน้ำตาคลอหน่วย – วันเดียวกับที่ภาพยนตร์โฆษณาเมสเซจเดียวกันถูกปล่อยบนโซเชียลมีเดีย จนมีผู้เข้าชมกว่า 18 ล้านครั้ง

แต่ไม่ใช่แค่เช้าวันนั้นที่เด็กผู้หญิงถูกตัดผม

เป็นฝันร้ายในหลาย ๆ เช้าหลังเข้าแถวหน้าเสาธงที่อาจารย์ฝ่ายปกครองจะมีกรรไกรพร้อมไม้บรรทัดอยู่ในมือ คอยตัดทอนสิทธิและเสรีภาพในร่างกายของเด็ก ๆ ไม่ให้ยาวเกินกฎเกณฑ์ 

นั่นเป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ #LetHerGrow จาก Dove Thailand แบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมยักษ์ใหญ่ที่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับความไม่ปกติในสังคมไทย จนกลายเป็นแคมเปญแรกที่ได้รางวัล Bronze หมวด Health & Wellness Lions และหมวด Glass : The Lions for Change รางวัลพิเศษที่พูดถึงพลังของผู้หญิงทั่วโลก จากเทศกาลความคิดสร้างสรรค์ Cannes Lions International Festival of Creativity 2023 ที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส

ปุ้ย-สราพร เอี่ยวภิรมย์กุล คือหนึ่งในผู้ปลุกปั้นแคมเปญนี้ ร่วมกับ Edelman Bangkok และ Mindshare Bangkok กำกับโดย ไก่-ณฐพล บุญประกอบ จาก underDOC Film

ปุ้ย-สราพร เอี่ยวภิรมย์กุล

เธอบินลัดฟ้าไปนำเสนอผลงานต่อหน้ากรรมการ โดยสไลด์แรกของเธอคือภาพเด็กหญิงปุ้ยถูกตัดผม

ปุ้ยไม่ได้เติบโตจากการเป็นครีเอทีฟ แต่เป็นอดีตนักการตลาด เธอลาออกมาเปิดเอเจนซี่เล็ก ๆ ของตัวเองในชื่อ Select Start และทำงานด้วยสายตาของคนที่เคยเป็นลูกค้ามาก่อน

ในวันที่โจทย์ใหญ่สุดท้าทายจาก Dove Thailand ร่อนลงบนโต๊ะ 

“แม่ง เขากล้าบรีฟอย่างนี้ด้วยว่ะ” คือความคิดแรกของปุ้ย

เพราะใครก็รู้ การขยับตัวของแบรนด์ใหญ่เป็นเรื่องยากเสมอ ยิ่งเป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์บ้านเมืองกำลังคุกรุ่นได้ที่ 

แต่ปุ้ยมีวิธีทำให้มันได้ผล

Unilever คือบริษัทเก่าของปุ้ย ทำตั้งแต่ดูแลโปรดักต์ไปจนถึงคิดวิธีการสื่อสาร เรียกได้ว่า 1 – 100 

เมื่ออายุงานนานขึ้น ตำแหน่งก็เติบโตขึ้นตาม จากผลิตงานสร้างสรรค์ก็กลายเป็นตัวเลขและกลยุทธ์ ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เธอรัก เป็นเหตุผลข้อแรกของการตัดสินใจลาออกมาชิมลางมาเปิดเอเจนซี่ในวัย 30 ต้น ๆ 

“ตอนเป็นลูกค้า เรามี Pain Point ว่าทำไมเอเจนซี่คุยยาก ไม่เข้าใจกันสักที เลยคิดขึ้นมาว่าถ้าเราทำเองจะเป็นยังไง” ส่วนนี่คือข้อสอง

ปุ้ยบอกว่าที่มาของ Select Start คือสูตรลัดในเกม เพราะอยากเป็นเอเจนซี่ที่เปรียบได้กับสูตรลัดของลูกค้า 

“เราอยากแก้โจทย์เรื่องที่เคยคอมเมนต์แล้วเอเจนซี่ไม่ฟังเรา ทำไมรู้สึกว่าคอมเมนต์ของเราดูงี่เง่าจังเลยในสายตาครีเอทีฟ เราอยากเป็นเอเจนซี่ที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าเราฟังทุกอย่างที่คุณพูด และจะเข้าใจให้ได้ว่ามีเหตุผลมาจากอะไร”

แล้วโชคชะตาก็หยิบยื่นบททดสอบอันยิ่งใหญ่มาให้ในปีที่ 2 ของการทำงาน คือลูกค้าอยากสร้าง Branding Campaign เรื่อง Hair Stereotype ในสังคมไทย ว่าทำไมผู้หญิงในหลายสาขาอาชีพถึงควรมีผมทรงที่ ‘ดูเหมือนจะ’ สุภาพ

ผิวเผินก็ดูจะไม่ยาก เพราะนี่ไม่ใช่ครั้้งแรกที่ Dove แตะเรื่องประเด็นอ่อนไหวจนกลายเป็นหนังในตำราของนักเรียนโฆษณาทั่วโลก ปัญหาคือนี่เป็นครั้งแรกของ Dove Thailand ต่างหาก

“ก่อนหน้านี้เขาเคยเอาแคมเปญฝรั่งมาตั้งต้นแล้วพยายามปรับให้เป็นไทย แต่ทำแล้วคนไม่ค่อยรู้สึกรีเลต เพราะมันเป็น Pain Point ของฝรั่งที่ประเทศเราไม่เข้าใจ”

ปุ้ยรับเอาโจทย์ใหญ่มาแก้ไข ตีกรอบ Hair Stereotype ให้แคบลง ว่าแท้จริงแล้วจุดเริ่มต้นของทุกอย่างมาจากไหน

“ทำไมทุกคนยอมอยู่ภายใต้ทรงผมเหล่านั้นเมื่อเราโตขึ้นมาแล้ว หรือเพราะตอนเด็กเราถูกบังคับให้ตัดผมสั้นเท่าติ่งหูแล้วจะไม่โดนทำโทษรึเปล่า

“การที่ตอนเด็กเราถูกตีกรอบความคิดแบบนั้น ทำให้เรารู้สึกเหมือนยอมตั้งแต่เกิด เหมือนเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าไม่ยอมก็ได้ หรือการที่เรารู้สึกว่า ถ้าไม่ยอม ถ้าเถียง จะมีผลกระทบไม่ดีกลับมาหา ฉะนั้น อยู่อย่างนี้ไปก็ได้นี่ ไม่ได้เสียหาย

“งั้้นเราตั้งคำถามกับสังคมดีไหมว่าพวกเขารู้สึกยังไงกับเรื่องนี้” 

แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น เมสเซจที่สุ่มเสี่ยงแต่ทรงพลัง ก็ต้องได้รับคำยืนยันจากลูกค้าเสียก่อน 

“คุณพร้อมจะไปสุดแค่ไหน” คือการบ้านที่ปุ้ยเป็นฝ่ายหยิบยื่น

“เรากลัว ลูกค้ากลัว ทุกคนกลัวหมด”

ไม่ใช่กลัวกระแสสังคมอนุรักษนิยมตีกลับ แต่กลัวถูกหาว่าทำไมไม่ออกมาพูดเร็วกว่านี้ เพราะนี่เป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของกลุ่มนักเรียนเลวที่เริ่มขยับเพดานการต่อสู้ ณ ตอนนั้น 

ด้วยความตั้งใจแรกที่อยากเป็นเอเจนซี่คุยง่าย ซึ่งไม่ได้แปลว่าจะ Say Yes กับทุกอย่าง แต่จะรับฟังทุกความคิดเห็นและหาตรงกลางระหว่างลูกค้ากับครีเอทีฟให้ได้ 

การชี้ให้เห็นความสำคัญของการแสดงจุดยืนเท่าที่แบรนด์ทำได้ จึงกลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ลูกค้ายอมเดินมาเจอกันครึ่งทาง

“ในเมื่อ Dove เป็นแบรนด์ที่พูดเรื่องประเด็นสังคมมาตลอดทั่วโลก ถ้า Dove Thailand ไม่พูดเรื่องนี้แล้วจะพูดเรื่องไหน คุณโชคดีแล้วที่อัตลักษณ์ของแบรนด์มีอำนาจในการพูดเรื่องทรงผม

“แน่นอน มีความเสี่ยงอยู่ในทุก ๆ สิ่งที่พูดออกไป ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี เราต้องรับผิดชอบ แต่ถ้าเชื่อว่าเรา Stand on a right side of history แล้ว Why not?

“คุณจะยืนขึ้นเป็นคนที่ 1 หรือคนที่ 3 ก็ต้องยืนอยู่ดี แค่เลือกว่าคุณจะเป็นคนที่ 1 หรือคุณจะรอให้มีอีก 100 คนมายืนแล้วค่อยยืนเป็นคนที่ 101 สุดท้ายก็แค่คิดว่า แล้วไม่ดีกว่าเหรอถ้าเราทำบ้าง”

ปุ้ยเล่าว่าถ้ากลัวไปก่อนแล้วทำไปแค่ 50 ก็อาจจะถูกตีตกเหลือ 20 แต่หนังเรื่องนี้ทำไป 100 ตั้งแต่แรก แล้วให้ลูกค้าค่อย ๆ ตบลงมาแบบที่ทีมเอเจนซี่ยังแฮปปี้ ทีมโปรดักชันแฮปปี้ เมสเซจยังผ่านไปได้ และแบรนด์เองก็แฮปปี้ที่จะพูด

เธอย้ำหลายครั้งว่าต้องยกความดีความชอบให้ลูกค้า เพราะการกล้าเผชิญหน้ากับกระแสสังคมเพื่อพูดในสิ่งที่ใหญ่กว่า เต็มไปด้วยกระบวนการหลังบ้านในการอนุมัติ 

“แต่ลูกค้าก็โดนตัดผมมาเหมือนกัน เขาเชื่อในสิ่งที่เขาพูดอยู่ ประเด็นเลยจริงมาก ๆ จนเถียงกันไม่ได้

“ไม่ใช่เถียงเรื่องจริงไม่จริง แต่เถียงเรื่องความเหมาะสมว่าแค่ไหนถึงจะเรียกว่าเหมาะ”

ซึ่งนอกจากจะหาตรงกลางระหว่างทีมกับลูกค้า บอกเขาว่าคุณมีพลังขนาดไหนในฐานะแบรนด์ อีกหนึ่งสิ่งที่ปุ้ยทำคือการหาตรงกลางให้กับสังคม ผ่านการพูดของแบรนด์ใหญ่ด้วยน้ำเสียงเป็นมิตร

“พอหนังเป็นโทนที่ไม่ได้เข้าข้างฝั่งใดฝั่งหนึ่งมาก เลยดึงบางคนที่เขายังหมิ่นเหม่อยู่ให้มาอยู่ฝั่งเดียวกับเราได้ นั่นคือข้อดีของการพูดผ่านแบรนด์

เราว่ามันเป็นโจทย์ของทุกการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ต้องมีโทน ไม่ได้แปลว่าทุกคนต้องเป็นมิตร แต่ผสมผสานกันไปเพื่อดึงคนที่แตกต่าง มีบางคนที่ไม่ได้อยากรับฟังมากกว่านี้ เขาจะรู้สึกว่ามากไปสำหรับเขา แต่ถ้าเท่านี้เขาฟังได้”

เราจึงได้เห็นหนังโฆษณาที่ไม่ได้บอกว่าผิดหรือถูก แต่ตั้งคำถามผ่านเรื่องเล่าว่า ‘ทำไมต้อง’ 

หลังออกฉาย หนังตัวนี้ไวรัลมากและถูกพูดถึงบนโลกโซเชียลอยู่พักใหญ่ กวาดรางวัลในประเทศมากมาย จนไปได้ไกลถึงฝรั่งเศสในอีกปีต่อมา

#LetHerGrow

“แค่ติด Shortlist ของ Cannes Lions ก็บ้ามากแล้ว” ปุ้ยยอมรับ

บวกกับการสื่อสารถึงปัญหาการตัดผมเท่าติ่งหูในประเทศโลกที่ 3 ให้เวทีโลกเข้าใจ เธอเองก็กุมขมับอยู่พักใหญ่ เพราะหมวด Glass : The Lions for Change เป็นรางวัลพิเศษที่พูดถึงพลังของผู้หญิงทั่วโลก เจ้าของงานต้องนำเสนอด้วยตัวเองเป็นเวลา 10 นาที

เมื่อต้องพูดด้วยตัวเอง เธอจึงใช้รูปตัวเองนำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการ

“เราเปิดรูปเราตอนเด็กที่โดนตัดผม ถัดมาคือเพื่อนเรา 40 คนที่มีผมทรงเดียวกันหมด แล้วค่อยบอกว่า เด็กนักเรียนหญิงในประเทศไทยทุกคนตัดผมทรงนี้ โดยที่คุณไม่มีทางเลือกด้วยซ้ำ

“เล่าให้เขาฟังว่ากฎการตัดผมไม่รุนแรงเท่าการบังคับตัดในโรงเรียน ถ้าเกิดเป็นแค่กฎก็กลับบ้านไปตัดผม แต่การดึงออกมาหน้าชั้นแล้วตัดเลย ให้อยู่กับผมทรงนั้นทั้งวันด้วยความอับอาย นั่นคือสิ่งที่แย่ที่สุด มันสร้างความกลัวให้เกิดขึ้น” 

เธอหยิบยกการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ที่เริ่มมาก่อนมาเสริมทัพ ป่าวประกาศว่านี่เป็นเรื่องที่เด็กไทยไม่ยอมจำนนอีก เพียงแต่ ‘พวกผู้ใหญ่’ ไม่ได้ยินเสียงพวกเขา และนั่นทำให้แบรนด์ใหญ่อย่าง Dove เข้ามาช่วยให้ข้อเรียกร้องของพวกเขาดังขึ้น

“สำคัญคือการทำให้รู้ว่ามันยังไม่จบ กระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนกฎแล้วก็จริง แต่เรื่องแบบนี้ไม่ใช่แค่กฎที่เปลี่ยน วิธีคิดของคนในสังคมด้วย ซึ่งสิ่งที่พูดกับคนเหล่านั้นก็คืองานสื่อสารมวลชนนี่แหละ

“เราต้องทำให้เห็นความหลากหลายของคน และความย้อนแย้งกันระหว่างอาชีพกับทรงผมของเขา ทุกคนมีปัญหาเรื่องทรงผมในอาชีพของตัวเอง” 

ภาพแพทย์หญิงผมฟ้า ตำรวจหญิงผมฟูฟ่อง ช่างภาพหญิงผมสกินเฮด แม้แต่เด็กหญิงที่ไถผมให้สั้นเกรียนด้วยการสนับสนุนจากแม่ผู้ให้กำเนิด ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องจริงทั้งสิ้น

“เราจำได้เลย กรรมการเขายังสงสารที่เราต้องมาแชร์ประสบการณ์นี้อีกครั้ง” ปุ้ยเล่า 

“เขาบอกว่า ขอบคุณนะที่ทำเพื่อคนอื่น ตอนนั้นเลยบอกเขาว่า จริง ๆ แล้วเราทำเพื่อตัวเองเหมือนกัน เพราะยิ่งเรามาทำเรื่องนี้ ยิ่งอ่านเยอะ ๆ ดูเยอะ ๆ ยิ่งรู้สึกว่าเรามีส่วนผิดที่ปล่อยให้มันเกิดขึ้น เราก็เป็นหนึ่งในฟันเฟืองนั้น ถ้าคนรุ่นเราลุกขึ้นมาเหมือนน้อง ๆ รุ่นนี้ ทุกวันนี้เด็ก ๆ อาจไว้ผมทรงอื่นไปแล้ว

“อำนาจนิยมในโรงเรียนไม่ได้ส่งผลถึงแค่เสื้อผ้าหรือทรงผม แต่รวมไปถึงระบบการศึกษา การไม่กล้ายกมือถามครูในห้อง การมีสายการเรียนให้เลือกแค่ไม่กี่อย่าง ซึ่งเป็นคำถามเล็ก ๆ ว่าทำไม แต่ไม่เคยมีใครกล้าถาม”

และหยดน้ำตาจากเรื่องเล่าของเด็กหญิงปุ้ยในวันวาน ก็นำพาให้เธอคว้า Bronze ตัวที่ 2 จากคานส์มาครองได้สำเร็จ

ขอพาทุกคนย้อนหลังไปไกลสัก 5 ปี มีงานหนึ่งของ Sunsilk ที่ขึ้นหิ้งประดับวงการโฆษณาไทยไม่แพ้กัน

หนังเรื่องนั้นเล่าเรื่องเด็กผู้ชายที่มีหัวใจเป็นเด็กสาวและเฝ้าใฝ่ฝันถึงวันที่มีผมยาวสลวย – นั่นคือผลงานของปุ้ยสมัยเป็นลูกค้า

“เราเดาว่าเพราะงานนั้นแหละที่ทำให้เราได้งานนี้มา เขาน่าจะเลือกเพราะเรารู้ว่าในมุมลูกค้ามันยากแค่ไหน และเราคงไม่กดดันเขามากเกินไป”

ถามต่อว่าปุ้ยสนใจเรื่องประเด็นสังคมเป็นทุนเดิมตั้งแต่ตอนนั้นแล้วรึเปล่า

“เราอยากทำอะไรบ้าง เพราะเราขายของเยอะมาก (หัวเราะ)” เธอตอบติดตลก “บางทีการได้ทำงานแบบนี้ก็เหมือนให้รางวัลตัวเองในฐานะคนธรรมดาคนหนึ่ง”

  ส่วนในฐานะคนเบื้องหลังที่เคยเป็นทั้งมันสมองของแบรนด์และเอเจนซี่ เธอทิ้งท้ายไว้อย่างดี

“แบรนด์มี Voice แบรนด์มี Power ที่สื่อสารกับคนได้ในวงกว้าง ในฐานะที่เราทำงานการสื่อสารอยู่ตรงกลาง เราว่างานนี้พิสูจน์แล้วว่าแบรนด์สื่อสารถึงประเด็นทางสังคมได้โดยที่ผู้บริโภคไม่ได้รู้สึกว่าฝืน และทางแบรนด์เองก็ได้การรับรู้ในเชิงบวก ส่วนตัวเราอยากเห็นแบรนด์อื่น ๆ ลดความกลัวที่จะสื่อสารประเด็นทางสังคม ให้การออกมาพูดประเด็นอะไรก็ตามเป็นเรื่องปกติแบบที่มันควรจะเป็น

“วันนี้ทุกแบรนด์เริ่มรู้แล้วว่าในระยะยาว พวกเขาต้องมีตัวตนให้ได้ แต่ปัญหาคือพวกเขาติดหล่มว่าจะต้องพูดแค่มุมนี้เท่านั้น ทั้งที่มีอะไรให้พูดเยอะมากในสังคม ต้องหาให้เจอว่าทางของแบรนด์คืออะไร มีประเด็นไหนที่พูดได้โดยที่ยังเป็นเราอยู่

“สังคมไม่ได้เปลี่ยนแปลงได้ในวันเดียว ต้องค่อย ๆ ขยับไปทีละนิด และเราเชื่อเสมอว่างานโฆษณาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเปลี่ยนสังคมได้”

จนกว่าแบรนด์จะกล้าชนกับระบบด้วยกระบอกเสียงอันใหญ่ บอกให้รู้ว่าทุกคนต่างไม่ได้สู้โดยลำพัง 

เมื่อนั้นเราคงได้เห็นอิสรภาพของผู้คนอีกมาก และพร้อมจะ Let Them Grow.

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์