22 กุมภาพันธ์ 2024
2 K

พ.ศ. 2563 สตางค์-ภัทรียา พัวพงศกร จับเข่าคุยเรื่องเส้นทางชีวิตและการเติบโตทางความคิดของนักเขียนการ์ตูนไทยสะท้อนสังคม ภูมิ-ธนิสร์ วีระศักดิ์วงศ์ aka Sa-ard สะอาด ตั้งแต่วีรกรรมแฉผู้อำนวยการคอร์รัปชันในวันปัจฉิมนิเทศ เป็นนักศึกษาผู้หลงทางในระบบการศึกษา เขียนหนังสือการ์ตูนเล่มแรกชื่อ ชายผู้ออกเดินทางตามเสียงของตัวเอง (พ.ศ. 2554) ก่อนจะเผชิญชีวิตอกหักในทุกแง่ กลัวไปทุกอย่าง จนกล้าก้าวเดินและเติบโตขึ้นพร้อมหนังสือเล่มล่าสุด (ณ ตอนนั้น) อย่าง บทกวีชั่วชีวิต

หลังคุยจบ Sa-ard สะอาด ก็รับปี๊บมาคลุมหัว ไม่ใช่เพราะอาย แต่เพราะช่างภาพบอกให้ทำ

สะอาด นักเขียนการ์ตูนแก๊ก/เพื่อสังคมผู้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกและความละเอียดอ่อนเล่าเรื่อง

ผู้บรรยายเรื่องเปลี่ยนจากพี่สตางค์เป็น ‘เรา’ เอง ซึ่งรับหน้าที่ติดตามชีวิตและอัปเดตการเติบโตของ Sa-ard สะอาด ในเวอร์ชัน พ.ศ. 2567 ผ่านผลงานที่เจ้าตัวชอบที่สุดอย่าง ให้รักเป็นบทกวีชั่วชีวิต (พ.ศ. 2565) และผลงานเล่มใหม่ล่าสุดเรื่อง 2475 นักเขียนผีแห่งสยาม ที่เข้มข้น เปิดโลก และใช้พลังงานชีวิตเยอะสุดในประวัติกาลของตัวเอง ชนิดที่สะอาดเรียกว่า ‘โคตรของโคตรของโคตรเหนื่อย’

สำหรับเรา นี่คือครั้งแรกในรอบ 10 ปีที่ได้พบเขาอีกครั้ง เพราะลูกพี่ลูกน้องของเราเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์การ์ตูนไทย Let’s Comic ที่มีสะอาดมาร่วมออกหนังสือตั้งแต่ ชายผู้ออกเดินทางตามเสียงของตัวเอง (พ.ศ. 2554) นิทานโลก (พ.ศ. 2555) ชายผู้ออกเดินทางไปญี่ปุ่นด้วยการ์ตูนของตัวเอง (พ.ศ. 2556) คน/การ์ตูน/หมา (พ.ศ. 2557) สยามยิ้มแสยะ (พ.ศ. 2558) จนถึง ตูดเด็กวิทยา (พ.ศ. 2559) เราเลยได้เจอเขาอยู่บ้างและเคยไปช่วยที่บ้านขายหนังสือของเขาที่งานสัปดาห์หนังสือด้วย

แต่ออกตัวก่อนว่าไม่ได้คาดหวังให้สะอาดจำได้ เพราะเรื่องก็นานมากแล้ว…

“ตอนนั้นน้องคงตัวเล็กมากเลย” ชายร่างสูงโปร่งนั่งประจำที่ ดูดชาเขียวและเคี้ยวเค้กเรดเวลเวต

เขาต้องกำลังคิดอยู่แน่ ๆ ว่าเราเป็นใครในสารบบความทรงจำ แต่ไม่ต้องรื้อฟื้นอดีตให้เสียเวลา เพราะคนอ่านไม่ได้อยากรู้จักเรา ทุกคนอยากรู้จักสะอาดและชีวิตปีที่ 20 ในวงการนักเขียนการ์ตูน

ชีวิตวัยเลข 3 ของ Sa-ard สะอาด กับหนังสือเล่มใหม่ อะไรเหนื่อยกว่ากัน

เหนื่อยคนละอย่าง หนังสือคือเหนื่อยแต่ได้ทำสิ่งที่ชอบ ได้ค่าประสบการณ์ แต่เพราะมัน ‘เหนื่อยโคตร ๆๆๆ’ ตอนนี้งานจบเลยเหลือแค่ ‘เหนื่อย’ ส่วนชีวิตก็เข้าช่วงวัยที่ต้องคิดอะไรหลายอย่างตามความรับผิดชอบของคนอายุ 33

ตั้งคำถามกับตัวเองบ้างไหมว่านี่คือชีวิตที่ต้องการหรือเปล่า

ไม่ขนาดนั้น เหนื่อยแต่ไม่ได้สงสัยในตัวเอง มีบ้างที่สงสัยว่าทำไมงานที่กูชอบมันได้ตังค์น้อยจังวะ (หัวเราะ) ระยะยาวก็มองไม่เห็นการ์ตูนไทยที่จะโตไปมากกว่านี้ เพราะตลาดหนังสือมันโหด

คุณเองยังมองไม่เห็นภาพ แล้วทำไมยังทำต่อ

เพราะการวาดการ์ตูนยังเป็นสิ่งที่ชอบเลยยังดื้อด้านอยู่ ขณะที่เพื่อนในวงการน้อยลงเรื่อย ๆ บางคนก็ไปเป็นศิลปิน บางคนก็ไปทำงานโฆษณา

ในเมื่อหนังสือได้เงินไม่มาก คุณต่อยอดหรือทำยังไงเพื่อสร้างรายได้เพิ่มจากผลงานที่เสร็จแล้วบ้าง

ตกอับก็เอาต้นฉบับมาประมูลขาย (หัวเราะ) 

หรือล่าสุดก็มีทาง บริษัท ภาพดีทวีสุข จำกัด อ่านการ์ตูนแล้วชอบ เลยหยิบเรื่องสั้นในหนังสือ 3 เล่มคือ ชายผู้ออกเดินทางตามเสียงของตัวเอง บทกวีชั่วชีวิต และ ให้รักเป็นบทกวีชั่วชีวิต มาทำซีรีส์ชื่อ Good Old Days

พอหยิบมาจากหนังสือก็คงทำสตอรีบอร์ดง่ายเลย

ไม่ค่อยครับ หนังสือกับซีรีส์ถูกทำไปพร้อมกัน ผมขายบท เขาก็ไปเซ็นสัญญา กระบวนการของทีมเขียนบทและผู้กำกับก็เริ่มดำเนินการไป ระหว่างนั้นผมทำงานการ์ตูนแยกกัน

ที่ตัดสินใจแบบนี้ เพราะรู้ตัวว่าเราไม่ค่อยว่าง เลยให้สิทธิ์เขาในการปรับเปลี่ยน ดัดแปลงอย่างเต็มที่ แต่ยังคงแก่นของเรื่องเอาไว้

ถ้ามีคนอยากรู้จักสะอาด เขาควรอ่านหนังสือเล่มไหนของคุณ

ให้รักเป็นบทกวีชั่วชีวิต เพราะเป็นเราในเวอร์ชันที่โตแล้ว จริง ๆ ทุกงานเป็นตัวเรา แต่โตขึ้นเรื่อย ๆ

ระหว่างความฝันกับความจริง คุณอยู่กับอะไรมากกว่ากัน

เป็นโจทย์ของชีวิตในตอนนี้ที่จะหาสมดุลระหว่าง 2 สิ่ง อุดมคติก็ต้องรักษา เป็นเหตุผลที่เรายังดื้ออยู่ แต่ก็จะไม่ยอมให้ความจริงมาเป็นเหตุผลที่จะไม่มองสิ่งที่ดีกว่า ต้องรักษาความฝันเอาไว้ เพื่อแสวงหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ

ตัวคุณเองอยู่กับความฝันมาได้ 20 ปี อีกสัก 10 ปีจะยังเป็นฝันเดิมอยู่ไหม

คิด 2 – 3 ปีก็บุญแล้ว ตอนนี้เอาให้รอดทีละปี (หัวเราะ) 

เป็นธรรมชาติของงานที่จะมีขึ้นมีลง ถ้าสิ่งที่ทำกับตลาดไปด้วยกัน เราก็จะอยู่ในกระแส แต่สิ่งที่ต้องทำและสำคัญ คือทำยังไงให้เรายังชอบงานของตัวเองอยู่ มันเลยเป็นเหตุผลให้เราคิดทีละปีด้วย

มองเห็นอะไรที่เปลี่ยนไปในหมู่นักอ่านการ์ตูนไทยบ้าง

10 ปีที่แล้วยังมีคนที่ยอมซื้อการ์ตูนมา ‘ลอง’ อ่าน แต่ตอนนี้ไม่ใช่ ต้องมีคนรีวิวสัก 20 คนจนเห็นว่าดีถึงได้ยอมซื้อ ทำงานดีไม่พอ ตอนนี้ต้องทำให้ดีเชี่ย ๆๆๆๆ ยิ่งในยุคนี้ คนโดนช่วงชิงเวลาจากสิ่งต่าง ๆ เยอะมาก เราไม่ใช่แค่ทำงานให้ดี แต่ต้องขายงานให้ได้ด้วย

ชีวิตยากขึ้นทุกวัน อะไรคือสิ่งที่ยากสุด ณ ตอนนี้

ถ้าเรื่องงานก็หนังสือเล่มปัจจุบัน

แต่ถ้าเรื่องชีวิตถือเป็นความยากที่รับได้ คือการสานสัมพันธ์ เป็นสิ่งที่ไม่ถนัด แต่รู้ว่าสำคัญ

หนังสือแต่ละเล่มเกี่ยวกับการเดินทางตามหาอะไรบางอย่าง ตอนนี้คุณตามหาอะไรอยู่

แสวงหาหนทางว่างานเราจะดีขึ้นเรื่อย ๆ ได้ยังไง จะเติบโตอย่างไร

สอง ในแง่วิชาชีพ ไม่ใช่การมองว่าจะไปสู่ดวงดาว แต่ถ้ายังอยากทำสิ่งนี้ในอีก 10 ปี จะต้องวางแผนทำอะไรอีกบ้าง

เห็นหน้าปกหนังสือของเขาครั้งแรกตอนที่ฉีกห่อกระดาษสีน้ำตาลออกมา หนังสือ ชายผู้ออกเดินทางตามเสียงของตัวเอง หลายโหลถูกหยิบวางขึ้นชั้นในงานสัปดาห์หนังสือ แล้วปีถัด ๆ มาก็มี ชายผู้ออกเดินทางไปญี่ปุ่นด้วยการ์ตูนของตัวเอง อะไร ๆ ก็ทำด้วยตัวคนเดียว 

เราสงสัยในใจว่า ‘ทำไมชายคนนี้ถึงดูโดดเดี่ยวจัง’ 

ตอนเด็ก ๆ เราสงสัยแบบที่เล่าไปด้านบน คุณมองว่าตัวเองโดดเดี่ยวไหม

ตอนนี้ไม่ค่อยแล้ว (ยิ้ม)

ถ้าสังเกตงานยุคแรกจะเขียนเกี่ยวกับคนที่ทำตามความฝันคนเดียว ตั้งคำถามกับตัวเอง เขียนการ์ตูนเพื่อหาความหมายของชีวิต หมกมุ่นกับตัวเอง ซึ่งหลังจากนั้นเราเติบโตและเรียนรู้ว่าเราไม่ได้เขียนงานให้ตัวเองอ่าน

ยกตัวอย่าง ให้รักเป็นบทกวีชั่วชีวิต จะเห็นว่ามีตัวละครเยอะขึ้น คิดถึงคนอื่นมากขึ้น มีคนรอบข้างเข้ามาอยู่ในสมการการทำงาน ส่วนงานล่าสุดอย่าง 2475 นักเขียนผีแห่งสยาม ยิ่งออกห่างจากตัวเองไปอีก เพราะเป็นเรื่องสื่อสารมวลชนที่ตัวละครอยากให้สังคมดีขึ้น

อธิบายนิสัยของตัวเองให้ฟังหน่อย คิดว่าตัวเองเป็นคนยังไง

ผมเป็น Introvert ที่ชอบกินเบียร์เพื่อพูดคุยกับคนอื่นแบบลึกซึ้ง แล้วก็เรียนคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนเลยต้องฝึกทักษะด้านนี้ ต้องเข้าหาคนให้เป็น 

แต่โดยธรรมชาติคือผมไม่ชอบพูด ถ้าต้องเข้าสังคมเยอะ ๆ จะเหนื่อยง่าย

คุณชอบทำงานเป็นทีมหรือชอบทำงานคนเดียว

ชอบเป็นทีม แต่ทำมาเยอะจนติดนิสัยหลายอย่างคนเดียว เช่น 2475 นักเขียนผีแห่งสยาม ทำเป็นทีมจริง แต่พอถึงจุดหนึ่งเราก็รวบงานมาทำคนเดียว เอามาเลย กูรับจบเอง มันก็เป็นปัญหากับทีม

เราอยากพัฒนาตัวเองให้ทำงานเป็นทีมเก่งขึ้น ถ้าทำงานในระยะยาวต้องรู้จักกระจายงานให้เป็น เหมือนการ์ตูนญี่ปุ่นที่เราชอบ อาจารย์ทั้งหลายเขาก็มีทีม เราไม่อยากปวดหลังคนเดียว (หัวเราะ)

ทางทีมที่ทำหนังสือเล่มล่าสุดด้วยกันฟีดแบ็กอย่างไรบ้าง

เราออกแบบการทำงานไม่ชัดว่าตรงไหนที่เราจะตัดสินใจ ตรงไหนปรึกษาทีม ทางทีมก็เลยบอกว่า บางอย่างแลกเปลี่ยนกันได้นะ เพราะถ้าได้คุยกัน ตัวเราเองจะมีมุมมองใหม่มากกว่าเดิม แต่เขาก็เข้าใจที่เรารวบและเผด็จการเพื่อให้งานเสร็จ

คุณยังไม่เคยเสียใครไปจากชีวิตเพราะการทำงานแบบนี้ใช่ไหม

ยังไม่เคยทะเลาะกับใครจริงจังจากการทำงานนะ หรือมีใครอันเฟรนด์กูป่าววะ (หัวเราะ)

ไม่มี ๆ เพราะเราสปอยล์คนที่ทำงานด้วยพอสมควร เรารวบเพราะเกรงใจ เราจ่ายเงินเท่านั้นก็เอางานไปเท่านั้นแหละ ถ้าให้ทำเพิ่มเราก็ต้องจ่ายเพิ่ม ซึ่งไม่มี เพราะฉะนั้นก็เอามาลงที่ตัวเองดีกว่า

ความตั้งใจในการเขียนการ์ตูนของคุณได้ผลตอบรับจากแฟนคลับอย่างไรบ้าง

มีนักศึกษาที่สงสัยกับระบบการศึกษาจนอยากลาออก แต่พอได้อ่าน การศึกษาของกระป๋องมีฝัน (พ.ศ. 2563) เขาบอกว่าเหมือนได้เจอเพื่อนที่คิดเหมือนกัน ก็ตัดสินใจเรียนต่อจนจบ น้องคนนี้เอาสเลตถ่ายหนังมาให้เราเซ็น 

หรือมีน้องที่เป็นเด็กเล็ก ๆ เลย เล็กจนสงสัยว่าอ่านการ์ตูนของเรารู้เรื่องจริงเหรอ แต่เขาเดินทางมาจากเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ คุณแม่พามาเพื่อมาหาเรา

ผมก็จะทดเรื่องราวเหล่านี้ไว้ในใจ วันไหนตื่นมารู้สึกแย่ ก็จะคิดถึงเรื่องของพวกเขาเพื่อบำบัดทุกข์

จากที่เล่ามา ผลงานของคุณจะให้ความรู้สึกเหมือนเขียนให้เพื่อนอ่าน

ใช่ ไม่มีอีโก้ในการนำใคร มีความเป็นเพื่อนกินเบียร์สูงมาก

พูดถึงเบียร์ 2 รอบแล้ว เบียร์ให้อะไรกับชีวิตคุณบ้าง

(หัวเราะ) ถ้าสังเกตเกือบทุกเรื่องมีฉากกินเบียร์ แต่ให้อะไรเหรอ…

จินตนาการมากมายเกิดจากการที่เราดื่มเบียร์ เป็นบทสนทนาเชิงลึกที่เกิดจากความเมา ด้วยนิสัยว่าเราเมาแล้วเป็นเพื่อนใครก็ได้ เราเลยกลายเป็นคนที่เข้าใจความคิดของคนหลาย ๆ แบบ เห็นคาแรกเตอร์มากมาย ซึ่งเรามีพรสวรรค์อย่างหนึ่งที่ไม่ได้ฝึกเลย

ถ้าเรานั่งอยู่ในวงสนทนาของคนแปลกหน้า เรากลับไปนอน บรรยากาศเหล่านั้น บทสนทนาที่เขาคุยกันจะยังวนอยู่ในหัว เราจำได้ทุกอย่าง แม้กระทั่งว่าคนนี้จะพูดในจังหวะนี้ แล้วต่อไปจะมีคนนั้นแทรกเข้ามา อีกคนต่อมุก ถ้าสังเกตจะมีฉากเหล่านี้ในหนังสือของเราเยอะมาก

คุณเสียน้ำตาให้อะไรเยอะที่สุดในชีวิต

การที่ต้องจากลาจากสิ่งที่ผูกพัน คนตาย เพื่อนตาย หมาตาย

ช่วงชีวิตไหนหม่นหมองที่สุด

ช่วงที่เขียนหนังสือเล่มแรก เพราะเป็นวัยแสวงหาที่ทางของอนาคต ไม่มีความมั่นใจว่าเราจะทำสิ่งนี้ได้ดีไหม ชีวิตมหาวิทยาลัยค่อนข้างทรมานและโดดเดี่ยว ยิ่งช่วงที่ยังไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม เราต้องต่อสู้กับภายในตัวเองไม่พอ ยังเจอคำถามเยอะมาก

มีคนถามว่ายังเขียนการ์ตูนปัญญาอ่อนอยู่อีกเหรอ สงสารแม่มึงจริง ๆ เลย เขาอาจจะพูดด้วยความหวังดี แต่เราก็เอาคำพูดของเขากลับมาคิด แม่เราน่าสงสารจริง ๆ เหรอ

ตอนนี้คุณแม่คิดเห็นอย่างไรกับการ์ตูนของคุณ

แม่อ่านได้ แม่ชอบ แม้กระทั่งคนที่เคยพูดไม่ดีกับเรา เขาก็อ่านผลงานของเรา แถมยังชอบด้วย

คุณไม่ค่อยชอบช่วงเรียนเท่าไหร่นัก แต่มีวิชาไหนบ้างไหมที่เสียดายที่ไม่ได้เรียน

วิชาของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล มั้งครับ (หัวเราะ) วิชาประวัติศาสตร์

มีวิชาไหนที่อยากให้เพิ่มในหลักสูตรไหม

เราก็เรียนจบมานานแล้ว แต่ถ้าเอาจากประสบการณ์การทำงาน ออนไลน์เป็นเรื่องสำคัญมาก ควรอัปเดตให้เร็ว อย่างน้อยควรเข้าไปอยู่ในบทสนทนาระหว่างอาจารย์กับนักศึกษาในห้อง

นอกจากนี้ก็เรื่องอุดมคติกับความเป็นสื่อ อาจารย์มีอุดมการณ์ เขาใส่แก่นของสื่อสารมวลชนให้นักศึกษายึดเอาไว้เมื่อออกไปทำงาน แต่ชีวิตจริงมันต้องบาลานซ์ ถ้าลูกค้าเรื่องมาก แต่จ่ายเงิน เราจะหาสมดุลระหว่างอุดมคติกับความจริงอย่างไร ถ้ารู้ก่อน เด็ก ๆ จะได้ออกแบบที่ทางของตัวเอง

คุณเห็นอะไรสำคัญขึ้นบ้างในช่วงวัยนี้

เงิน การเมือง คนรอบข้าง และความเพลิดเพลินในชีวิต

สะอาดวัย 33 ปี เห็นอะไรในชีวิตที่เปลี่ยนไปบ้าง

พูดถึงตัวเราเอง จากที่ทุกข์ทรมานกับชีวิตตอนเด็ก ตอนนี้ย้อนกลับไปมองก็เห็นว่าปัญหาอาจจะไม่ใช่ตัวเรา แต่เป็นที่ระบบ เราไม่ได้เป็นคนแย่อย่างที่เคยมองตัวเอง 

พูดถึงสังคมการเมือง จากคณะราษฎร สู่คนเมืองนักศึกษาสมัย 14 ตุลาฯ เปลี่ยนไปสู่กลุ่มคนเสื้อแดงจากต่างจังหวัด ปัจจุบันทุกคนเข้าใจคอนเซปต์เรื่องเสรีภาพ ความเท่าเทียม จนถึงประชาธิปไตยมากกว่าแต่ก่อนเยอะ เรียกว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่แบ่งบานที่สุดสำหรับเรา

2475 นักเขียนผีแห่งสยาม ว่าด้วยเรื่องของ ‘นิภา’ นักพิสูจน์อักษรของหนังสือพิมพ์แห่งหนึ่งที่รับบทนักเขียนผีผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก่อนจะเข้าไปพัวพันกับกลุ่มก่อการปฏิวัติ ‘คณะราษฎร’

ถือเป็นหนังสือการ์ตูนที่หนาจนตกใจ แต่รับรองว่าอ่านจนอิ่ม ด้วยเนื้อหาอิงประวัติศาสตร์จึงมีรายละเอียดให้ค้นคว้าและใส่ลงไปในผลงานจำนวนมาก สะอาดบอกว่าต้องไปขุดภาพเก่า หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรในยุคก่อนมาอ่าน เพื่อทำความเข้าใจและวาดให้ใกล้เคียงที่สุด ด้วยขั้นตอนและเรื่องราวคุณภาพ หลายคนเรียก 2475 นักเขียนผีแห่งสยาม ว่าเป็นผลงานชิ้นโบแดงของสะอาด แต่เจ้าตัว ‘ปฏิเสธ’

ทำไม

ไม่รู้อะ ไม่ได้เรียกว่าผลงานชิ้นโบแดง ไม่ใช่มาสเตอร์พีซ เราอ่านมันไป 300 รอบก็ไม่รู้จะต้องมองยังไง แต่ถ้าถามว่ามันไม่เหมือนเล่มอื่นที่เคยเขียนใช่ไหม คำตอบคือใช่ เพราะเราทำงานด้วยความกลัวมาก ฟอร์มการเขียนก็แปลกใหม่สำหรับเรา เพราะผสมสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ข้อมูลระดับมหาศาล กลัวจะผิด แล้วตลาดจะรับได้ไหม เล่าแล้วจะแหลมไหม ต้องให้นักกฎหมายมาตรวจด้วย

อะไรคือจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์นี้

เรารู้จัก พชร-พชรกฤษณ์ โตอิ้ม ตอนไปกินเบียร์ พอมีโปรเจกต์จากเพื่อนที่อยากให้เราเขียนการ์ตูน 2475 เข้ามา ก็รู้ว่าต้องยากแน่ เราอยากได้ทีมที่มี 2 เงื่อนไข คือต้องอินกับ 2475 เพราะเราไม่ค่อยอินเท่าไหร่ คนนี้ต้องเข้ามาเติมรายละเอียดที่เราอาจมองข้ามไป สอง คือต้องเป็นหนุ่มเป็นสาวพอจะทำงานโดยไม่ได้ค่าตอบแทนช่วงหนึ่ง เพราะต้องรันงานก่อนถึงจะไปขอสปอนเซอร์ได้ พชรเลยเป็นคนนี้ที่ตามหา

อะไรทำให้ตัวละครเอกเป็นนักหนังสือพิมพ์และยังเป็นผู้หญิงด้วย

พชรเอาข้อมูลมาให้ พอได้ช่วงเวลาก็คิดว่าตัวละครเอกควรจะเป็นนักหนังสือพิมพ์ เพราะเล่าเรื่องราวได้มากกว่าคนในคณะราษฎร และอยากให้เป็นผู้หญิงในหมู่มวลผู้ชาย ยุคนั้นมันช้ายชาย จะได้มีไดนามิกของเรื่อง พชรก็ไปช่วยขึ้นโครงมาให้ เราพัฒนาพล็อตต่อไปเรื่อย ๆ พชรเป็น บ.ก. ที่ช่วยแนะนำ แต่เราเป็นคนตัดสินใจ

กระบวนการไหนท้าทายที่สุด

ยากหมดเลยอะ ยากกกกกกกก หนังสือเล่มไหนที่ผ่านมาว่ายากแล้ว เล่มนี้ยากกกกกกว่ามากกกกกก

หาตังค์ยาก วิธีเล่ายาก ภาพยาก ภาษายาก ต้องเช็กคำราชาศัพท์ เพราะมีหลายลำดับ ต้องใช้ข้อมูลในระดับเท่าไหร่ถึงจะไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป ผสมกับเรื่องแต่งแล้วสนุก เห็นไหม ยากกกกกกกกก

(หัวเราะ) ขั้นตอนการวาดภาพยากยังไง

นี่เลย ภาพนี้ไม่มีภาพถ่ายของจริงให้เห็น มีแค่หลักฐานลายลักษณ์อักษรที่บอกว่าเป็นการประชุมของอภิรัฐมนตรีสภา 5 คน ในข้อมูลบอกว่าเขาประชุมกันที่ไหน แต่เราต้องไปหาว่าห้องนั้นหน้าตาประมาณไหน เก้าอี้ในยุคนั้นเป็นอย่างไร คงต้องดูหรู ดูแพง โต๊ะน่าจะต้องมีเอกสารอะไรบ้าง คนหน้าตาแบบไหน เขาจะนั่งกันมุมไหน กรอบรูปที่แขวนอยู่ในห้องใช่รูปนี้จริงหรือเปล่า เอาออกดีกว่าไหม

ต้องไปหาข้อมูล 6 – 7 ภาพ กว่าจะประกอบกันมาเป็น 1 ช่อง แต่โชคดีที่ไม่ได้ยากแบบนี้ทุกช่อง ก็พยายามอุดรูโหว่ให้มากที่สุด

คุณไปค้นคว้าจากไหนบ้าง

สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ หอภาพยนตร์ ห้องสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยกหนังสือมาเป็นตั้ง ภาพยุคนั้นมีอะไรมาใช้ได้บ้าง เราสร้างไว้เป็นโฟลเดอร์โดยเฉพาะ

พอได้เขียนงานชิ้นนี้แล้ว อินกับช่วงเวลา พ.ศ. 2475 มากขึ้นไหม

ไม่อะ

หรือเปิดโลกไหม

เปิดโลกมาก ทำให้เรามองอดีตระดับ 90 ปีว่าไม่ไกลอย่างที่เราเคยคิด 90 ปีก็แค่คุณยายคนหนึ่งจากวันที่เขาปฏิวัติ อีกแง่หนึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่สั้นมากเมื่อเทียบกับประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศอื่น

2475 ให้อะไรกับคนในยุคปัจจุบันอย่างคุณบ้าง

เรามองเห็นชีวิตของตัวละครในประวัติศาสตร์ละเอียดขึ้นมากกว่าที่เคยเรียนในหนังสือ เราเห็นความหวาดกลัว แต่เห็นความเป็นมนุษย์ในตัวพวกเขาด้วย

ตอนทำงานมีหลายอารมณ์อยู่ในนั้น โกรธ เศร้า หลายอย่างคล้ายปัจจุบันเกินไป มีทั้งเปลี่ยนและไม่เปลี่ยนไปเลย คนจนยุคนั้นจนแล้วยังถูกบดขยี้จนเละ เช่น ภาษีรัชชูปการเก็บเท่ากันทุกคน ชาวนาถูกรีดไถ ไม่มีจ่ายก็เอาตัวมาแลก มาขุดคลอง เอาลูกไปขาย หรือเจ้าหน้าที่รัฐอาจเข้าไปเอาของในบ้านคุณมาขายเลยก็ได้ ตัวอย่างเรื่องภาษีค่อนข้างชัดเวลามองในแง่การเมือง

จบงานชิ้นนี้จะยังอ่านหนังสือประวัติศาสตร์เพิ่มไหม

ต้องหยุดก่อน ตอนนี้โอเวอร์โดสแล้ว (หัวเราะ) แต่พชรน่าจะอ่านเยอะกว่า เพราะเขาต้องอ่านภาษาอังกฤษด้วย หรือคลิปวิดีโอ ภาพถ่ายยุคนั้น เราก็เสพเยอะจนหลอน แต่มันต้องดูจริง ๆ เช่น เรารู้ว่าสมัยรัชกาลที่ 5 เลิกหมอบกราบไปแล้ว แต่ในชีวิตจริงยังมีคนทำอยู่ไหม สมัยนั้นผู้ใหญ่คุยกับผู้น้อย ใครนั่งใครยืน ก็ต้องไปหาดู ไม่ก็คาดเดาเอาจากหลักฐานที่มี

คุณสร้างพระนครที่ตัวเองไม่เคยเห็นออกมาโดยผสมผสานอะไรบ้าง

หลักฐานก็ส่วนหนึ่ง แต่ผมต้องจินตนาการด้วย ต้องคิดว่า World Building ของโลกใบนี้เป็นอย่างไร บางคนมองพระนครในอดีตว่าสวยงาม ฝรั่งเข้ามา สะอาด แต่ถ้าดูหลักฐานจะมีเขียนว่า สยามเหม็น สกปรก มีคนตายข้างถนน มีย่านคนรวยกับคนจนที่ห่างกันแค่นิดเดียว

พชรบอกว่า ผมว่าพื้นมันต้องแฉะ เพราะถนนหลายที่ในพระนครมันยังเป็นดิน มันต้องเป็นโคลนตอนฝนตก ขับถ่ายกันตรงนั้น เราก็ใส่เข้าไป พยายามตีความแล้วคิดหาวิธี ทำยังไงให้พระนครในตอนนั้นกลายเป็นเมืองก็อตแธม (หัวเราะ) 

อะไรคือสิ่งที่คุณได้จากการทำการ์ตูนเล่มนี้

ในแง่วิชาชีพ เราเลเวลอัปขึ้นมาก นี่คือชิ้นแรกที่เล่าเรื่องตัวละครเดียวตั้งแต่ต้นจนจบอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ทักษะในการทำงานเป็นทีมก็เพิ่มมากขึ้น

ในแง่เนื้อหา เรารู้สึกถึงเส้นประวัติศาสตร์ อดีต ปัจจุบัน และอนาคต หนังสือเล่มนี้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นประวัติศาสตร์นี้ เรารู้สึกได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมครั้งแรก เพราะได้ทำงานที่เชื่อมคนกับประวัติศาสตร์ แต่จะเชื่อมได้มากน้อยไม่ได้สนใจ อย่างน้อยมันจะมีความหมายในแง่หนึ่งแน่นอน

จนถึงตอนนี้ยังคิดว่าอาชีพนักเขียนเปลี่ยนแปลงสังคมได้ไหม

จะเปลี่ยนแบบที่เราไม่รู้ตัว และจะเปลี่ยนโดยที่เราไม่มีสิทธิ์ได้เครดิต สมัยก่อนเราอยากให้คนอ่านงานของเราเยอะ แต่ตอนนี้เรียนรู้แล้วว่า 1 คนอ่านก็มีความหมาย เราจะเป็นองค์ประกอบเล็ก ๆ ที่เปลี่ยนแปลงความคิดของเขา

งานเขียนจำนวนมากไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างทันที บางครั้งผ่านไป 10 – 20 ปี คนเพิ่งรับได้ คนกลับมาอ่าน หน้าที่ของเราเลยเป็นการทำผลงานออกมาให้ดีที่สุด แม้จะไม่มีคนอ่าน แต่จะมี 1 คนคือคุณเองที่เป็นคนอ่าน ถ้างานชิ้นนี้เปลี่ยนแปลงคุณเองได้ ได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง ผมคิดว่าก็มีคุณค่าแล้วนะ

Writer

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์