6 มกราคม 2024
6 K

นับเป็นโอกาสอันดีที่พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ภายใต้การกำกับดูแลของมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่ง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธานมูลนิธิ ได้เปิด ‘พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม’ เพื่อประชาชนทั่วไป ลงทะเบียนเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567

“พระตำหนักใหญ่เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระราชชนนีใน สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และทรงเป็นสมเด็จพระอัยยิกาเจ้า (ย่า) ใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และยังเป็นสถานที่ที่มีเหตุการณ์สำคัญ ๆ เกิดขึ้นหลายเหตุการณ์” คุณกรรภิรมย์ กังสนันท์ กรรมการมูลนิธิฯ เอ่ย

“นอกจากความสำคัญในเชิงประวัติศาสตร์แล้ว พระตำหนักใหญ่ยังมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมอันงดงามโดดเด่น และยังได้รับการอนุรักษ์อย่างถูกต้อง จึงควรค่าแก่การเยี่ยมชมและศึกษาเป็นอย่างยิ่ง” พลเอกศยาม จันทรวิโรจน์ กรรมการมูลนิธิฯ กล่าวเสริม

“ที่สำคัญคือ พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา เป็นปีครบรอบ 100 ปี วันประสูติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทางมูลนิธิฯ จึงได้จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติชื่อ ‘เฉลิมศตพรรษ์กัลยาณิวัฒนา’ ขึ้นที่หอนิทรรศการ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในช่วงเวลาเดียวกันนี้ด้วย” คุณเกตุวลี นภาศัพท์ กรรมการมูลนิธิฯ กล่าวถึงนิทรรศการสำคัญ

สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล
จากซ้ายไปขวา คุณเกตุวลี นภาศัพท์, พลเอกศยาม จันทรวิโรจน์ และคุณกรรภิรมย์ กังสนันท์ กรรมการมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ผู้ให้สัมภาษณ์

ด้วยความกรุณาของมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า The Cloud จึงได้รับโอกาสพิเศษที่จะพาผู้อ่านทุกท่านเข้าไปสำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม เพื่อเรียนรู้เรื่องราวหลากมิติ เชื่อว่าจะทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้และความเข้าใจอย่างละเอียดลึกซึ้ง และที่สำคัญคือเราจะได้ร่วมกันรำลึกถึงพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์พระองค์สำคัญแห่งพระราชวงศ์จักรี ผู้ทรงมีคุณูปการเป็นอเนกอนันต์ต่อพสกนิกรชาวไทยสืบเนื่องยาวนานมาจวบจนปัจจุบัน

วังสระปทุม

“เมื่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สวรรคตในปี พ.ศ. 2453 พระมเหสีเทวีที่ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังบ้าง พระราชวังดุสิตบ้าง ฯลฯ บางพระองค์มีพระดำริที่จะไปประทับ ณ ที่ส่วนพระองค์ภายนอก สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีในรัชกาลที่ 5) ได้มีพระราชดำริจะเสด็จออกมาทรงสร้างพระตำหนักส่วนพระองค์ ณ บริเวณที่เป็นวังสระปทุมในปัจจุบันนี้ด้วย”

สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล
สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า (สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีในรัชกาลที่ 5 พระมารดาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลาครินทร์ ต่อมาคือสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระอัยยิกา (ย่า) ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

วังสระปทุมนั้น ทิศเหนือจรดคลองแสนแสบ ทิศใต้จรดถนนบำรุงเมืองตอนนอกพระนคร (ชื่อดั้งเดิมของถนนสายนี้ ก่อนเปลี่ยนมาเป็นถนนประทุมวัน ปัจจุบันคือถนนพระรามที่ 1) ทิศตะวันออกจรดคลองอรชรที่คั่นระหว่างวังสระปทุมกับวัดปทุมวนาราม ส่วนทิศตะวันตกจรดถนนพญาไท บริเวณสะพานเฉลิมหล้า 56 (สะพานหัวช้าง)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงซื้อที่ดินแห่งนี้ไว้ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ มีพระราชดำริที่จะพระราชทานแก่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ (พระอิสริยยศขณะนั้น)

สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล
แผนที่ตั้งวังสระปทุม พ.ศ. 2467 – 2468

“วังสระปทุมในครั้งนั้นถือว่าเป็นเขตนอกเมือง ไกลจากพระบรมมหาราชวัง สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้เคยโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มา ณ ที่นี้ด้วยรถม้า โปรดว่าสงบ มีความเป็นธรรมชาติ อากาศดี ความจริงบริเวณริมถนนพระรามที่ 1 เคยเป็นที่ตั้งของพระราชวังปทุมวัน ซึ่งรัชกาลที่ 4 พระชนกโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2400 เพื่อเป็นที่ประทับแรมชั่วคราวเวลาเสด็จประพาสนอกพระนครมายังบริเวณนี้” คุณกรรภิรมย์เริ่มเล่าให้พวกเราฟัง

“เมื่อรัชกาลที่ 5 สวรรคต สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงระลึกถึงพระราชดำริที่รัชกาลที่ 5 จะพระราชทานที่ดินผืนนี้แก่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช แต่ยังไม่ได้พระราชทานเอกสารสิทธิ์ จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเอกสารแสดงสิทธิ์และโฉนดที่ดิน

หลังจากงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 5 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช เสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อที่เยอรมนี สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าจึงทรงเป็นธุระจัดการในเรื่องการก่อสร้างพระตำหนักในวังสระปทุมขึ้น

“ในช่วงแรก ราว ๆ พ.ศ. 2454 โปรดให้สร้างพลับพลาริมคลองแสนแสบขึ้นก่อน เป็นเรือนไม้เพื่อเสด็จมาประทับทอดพระเนตรการก่อสร้าง และโปรดให้ทำสวนปลูกต้นไม้ต่าง ๆ เมื่อพระตำหนักแล้วเสร็จ จึงโปรดให้รื้อพลับพลาไปสร้างเรือนข้าราชบริพาร ตอนนั้นกรุงเทพฯ ยังมีการสัญจรทางน้ำเป็นหลัก มีบันทึกว่าได้เคยทรงพายเรือล่องตามคูคลองต่าง ๆ ไปยังคลองเตย ประตูน้ำ ฯลฯ

“ราว ๆ พ.ศ. 2455 ได้ทรงสร้างพระตำหนักเขียวขึ้นเป็นแห่งแรก ตั้งอยู่ริมคลอง ขณะที่การก่อสร้างกำลังดำเนินไปอยู่นั้น ก็ได้โปรดให้สร้างพระตำหนักใหญ่ขึ้นอีกด้วย โดยเริ่มปรับพื้นที่เตรียมการก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2455 แล้วจึงเริ่มวางฐานรากของพระตำหนักในปีต่อมา ตามด้วยการก่อผนังพระตำหนักใหญ่ใน พ.ศ. 2457 จนแล้วเสร็จ คาดว่าเสด็จไปประทับที่พระตำหนักใหญ่ประมาณ พ.ศ. 2459 ประมาณเวลาก่อสร้างทั้งสิ้นราว ๆ 4 ปี”

สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล
พระตำหนักเขียวเป็นพระตำหนักที่สร้างขึ้นเป็นแห่งแรกในวังสระปทุม ระหว่างที่ดำเนินการก่อสร้างอยู่นั้น สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้โปรดให้สร้างพระตำหนักใหญ่ขึ้นตามไปด้วย

“ระหว่างนั้น สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาทหารเรือจากประเทศเยอรมนี แต่ยังไม่ทันได้ประจำการ เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็อุบัติขึ้นในทวีปยุโรป จึงต้องเสด็จนิวัติประเทศไทย และมาประทับ ณ ตำหนักใหญ่กับสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทั้งนี้ทรงมีห้องบรรทมและห้องทรงงานส่วนพระองค์อยู่ทางทิศตะวันตกขององค์พระตำหนัก”

“เหตุการณ์สำคัญแรก ๆ ที่เกิดขึ้นที่พระตำหนักใหญ่ คือพิธีอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กับ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ ในขณะนั้น) ซึ่งตรงกับวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2463 ซึ่งวันที่ 10 กันยายนนั้นเป็นวันพระราชสมภพของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าด้วย ในวันสำคัญดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานน้ำสังข์พร้อมพระราชทานเลี้ยงที่หน้าพระตำหนักใหญ่ด้วย สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้พระราชทานพระตำหนักเขียวให้เป็นพระตำหนักหอของพระราชโอรส ซึ่งต่อมาก็ต้องเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อยังต่างประเทศอีกครั้งหลังอภิเษกสมรสได้ไม่นาน”

สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล
สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช และหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา (ต่อมาคือสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) คราวเสด็จไปทรงศึกษาต่อต่างประเทศ

“หลังจากอภิเษกสมรส สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช ได้เสด็จพร้อมด้วยหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา ไปทรงศึกษาวิชาแพทย์ที่ประเทศอังกฤษ เมื่อพระราชธิดาพระองค์แรกประสูติ คือ หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา (พระอิสริยยศขณะนั้น) ก็ได้ทรงพาครอบครัวเสด็จกลับเมืองไทย พ.ศ. 2466 ขณะนั้น พระธิดามีพระชันษา 6 เดือน สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าพระราชทานพระตำหนักใหญ่เป็นที่ประทับ ส่วนพระองค์ท่านเองทรงย้ายกลับไปประทับพระตำหนักเขียว”

ครอบครัวราชสกุลมหิดลประทับอยู่ประเทศไทยเป็นเวลา 20 เดือน สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช ได้เสด็จไปทรงศึกษาวิชาแพทย์ต่อยังต่างประเทศ ระหว่างนั้น หม่อมเจ้าอานันทมหิดล พระโอรสพระองค์ที่ 2 ประสูติที่เยอรมนี เมื่อ พ.ศ. 2468 ต่อมาพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช พระโอรสพระองค์ที่ 3 ก็ประสูติที่สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2470

ในปี พ.ศ. 2471 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช เสด็จกลับมาจากสหรัฐอเมริกา ขณะนั้นพระโอรสพระองค์เล็กเพิ่งเจริญพระชันษาได้ราว ๆ 1 ปี ในครั้งนั้นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช ได้ทรงสร้างพระตำหนักใหม่ขึ้นจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2469 เพื่อเป็นที่ประทับสำหรับครอบครัวราชสกุลมหิดล จนเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472 สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช ได้สวรรคต ณ พระตำหนักองค์นี้”

สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล
พระตำหนักใหม่สร้างขึ้นหลังสุดเพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช และครอบครัวจนสวรรคต ต่อมาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ประทับจนตลอดพระชนม์ชีพ

คุณกรรภิรมย์ไล่เรียงเรื่องราวเกี่ยวกับพระตำหนักใหญ่ในมิติทางประวัติศาสตร์ให้พวกเราทราบเรียบร้อยแล้ว คราวนี้ถึงเวลาเจาะลึกในมิติทางด้านสถาปัตยกรรมของพระตำหนักสำคัญองค์นี้ไปพร้อม ๆ กัน

ก้านไม้ขีดกับหางพลู

“มีเรื่องเล่ากันว่า สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงวางผังพระตำหนักใหญ่ด้วยพระองค์เอง โดยทรงใช้ก้านไม้ขีดไฟกับหางพลูเรียงต่อกันเป็นรูปร่างอาคารและห้องต่าง ๆ ทรงกำหนดด้วยว่า ตัวอาคารควรจะวางในทิศทางใด จากนั้นจึงโปรดให้ หม่อมเจ้าหญิงจันทรนิภา เทวกุล ทรงบันทึกผังทรงร่างขึ้น แล้วพระราชทานให้สถาปนิกนำไปออกแบบตามพระราชประสงค์” ข้อความที่พลเอกศยามเพิ่งถ่ายทอดให้ผมฟังเมื่อสักครู่นั้น สอดคล้องกับงานเขียนของ ศาสตราจารย์กิตติคุณ หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย ศักดิ์ศรี ที่เคยพิมพ์เผยแพร่ในหนังสือ พระราชวังและวังในกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2525 คราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี รวมทั้งในหนังสือ สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ ของ คุณสมภพ จันทรประภา

สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล
สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงใช้ก้านไม้ขีดและหางพลูวางผังพระตำหนักใหญ่

“สถาปนิกที่ทรงเลือกคือ เปาโล เรเมดี (Paolo Remedi) สถาปนิกชาวอิตาเลียนที่เข้ามารับราชการในกรมโยธาธิการตั้งแต่ พ.ศ. 2435 โดยเคยเป็นช่างเขียนแบบให้กับ โยอาคิม กรัสซี (Joachim Grassi) และเป็นผู้ช่วยคนสำคัญของ มาริโอ ตามัญโญ (Mario Tamagno) โดยเรเมดีเคยมีผลงานร่วมออกแบบอาคารสำคัญหลายแห่ง เช่น วังบางขุนพรม พระตำหนักพญาไท ฯลฯ สันนิษฐานว่าพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม เป็นผลงานท้าย ๆ ของเขาก่อนเดินทางกลับอิตาลี” พลเอกศยามเอ่ยถึงสถาปนิกคนสำคัญ

สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล
พระตำหนักใหญ่ออกแบบโดยเปาโล เรเมดี โดยสมเด็จพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงใช้ก้านไม้ขีดและหางพลูวางเป็นแบบร่างลักษณะการวางอาคารและห้องต่าง ๆ ก่อนพระราชทานให้นำไปพัฒนาแบบขึ้น

“อีกบุคคลหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญคือ พระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา) ซึ่งรับหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน กำกับ และดูแลการก่อสร้างพระตำหนักใหญ่ในทุก ๆ ด้านตลอด 4 ปี ตั้งแต่เริ่มปรับพื้นที่จนตกแต่งภายในเสร็จสิ้น พระยาวรพงศ์พิพัฒน์เป็นมหาดเล็กในรัชกาลที่ 5 ผู้มีความสนใจ และรอบรู้ด้านการออกแบบ การช่าง และการก่อสร้าง จึงเป็นผู้ถวายงานด้านนี้มาจนตลอดรัชกาล”

พระตำหนักใหญ่เป็นอาคารที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งในเชิงสถาปัตยกรรม ประการแรกคือโครงสร้างที่รองรับพระตำหนักนั้นไม่มีเสาเข็ม แต่ออกแบบเป็นฐานรากแผ่ขยายออกไปกินพื้นที่กว้างและลึก มีลักษณะสอบ ดูคล้ายท้องเรือขนาดใหญ่ โดยมีอาคารพระตำหนักตั้งอยู่ด้านบนเสมือนท้องเรือสำเภา กลวิธีดังกล่าวแสดงให้ว่าทั้งสถาปนิกและวิศวกรมีความเข้าใจสภาพดินของกรุงเทพฯ เป็นอย่างดี การวางรากฐานเช่นนี้จะช่วยพยุงให้พระตำหนักตั้งอยู่บนฐานที่ลอยขึ้นเมื่อน้ำใต้ดินขึ้นสูงในหน้าน้ำ และจะไม่จมลงเมื่อน้ำใต้ดินลดเหือดในหน้าแล้ง อาคารพระตำหนักจึงมีลักษณะคล้ายกับลอยอยู่บนโป๊ะ

สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล
ภาพร่างจากคณะวิศวกรผู้สำรวจโครงสร้างที่รองรับพระตำหนักใหญ่พบว่ามีลักษณะคล้ายท้องเรือกว้างและลึก

“สำหรับองค์พระตำหนักนั้น โปรดให้วางยาวขนานแนวทิศเหนือ-ใต้ ขนานไปกับคลองแสนแสบ ทั้งนี้เพื่อรับลมที่พัดมาจากทิศใต้ ดังนั้นห้องต่าง ๆ บนพระตำหนักจะตั้งอยู่ทางทิศใต้ทั้งหมดเพื่อรับลมธรรมชาติได้เต็มที่” 

พระตำหนักใหญ่สร้างขึ้นโดยอิงรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก (Neo-classic) อันเป็นที่นิยมในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 โครงสร้างรับน้ำหนักเป็นระบบเสาและคาน ตัวอาคารวางผังแบบสมมาตร (Symmetrical) โดยเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กที่ก่อด้วยอิฐดินเผาชนิดรับน้ำหนัก (Load-bearing Brick) 

หากหันหน้าเข้าพระตำหนัก จะปรากฏมุขกลางอาคารที่มีบันไดหลักขึ้นสู่พระตำหนัก และมีทางเดินทอดยาวไปยังท่าน้ำด้านคลองแสนแสบด้วย ส่วนมุขด้านขวา (ทิศตะวันตก) เป็นที่เทียบรถยนต์พระประเทียบ ซึ่งทั้ง 2 มุขที่กล่าวมานี้สงวนไว้เป็นทางเสด็จเท่านั้น 

สำหรับมุขด้านซ้าย (ทิศตะวันออก) สงวนไว้สำหรับผู้มาเฝ้า รวมทั้งเป็นทางสัญจรของข้าราชบริพาร ทั้งนี้พระตำหนักใหญ่จะมีมุขเฉลียงนอกพระตำหนักทั้ง 4 ทิศ พร้อมกับมุขบันไดทรงสูง เมื่อมองภายนอกจะดูคล้ายหอคอยปรากฏขึ้นที่มุมอาคารทั้งทรงเหลี่ยมและทรงกลม

สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล
พระตำหนักใหญ่สร้างขึ้นตามรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิก มีทางเข้าพระตำหนัก 3 ด้าน

พระตำหนักใหญ่ประกอบด้วยชั้นใต้ดิน 1 ชั้น และสูง 2 ชั้น มีความสูงวัดจรดหลังคา 13.5 เมตร อาคารเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขาดกว้าง 15 เมตร ยาว 35 เมตร โดยชั้นบนจะประกอบด้วยห้องเทา ห้องทรงงาน ห้องทรงนมัสการ และห้องบรรทม ชั้นล่างเป็นห้องรับแขก ห้องพิธี ห้องอเนกประสงค์ ซึ่งปัจจุบันปรับพื้นที่มาเป็นห้องนิทรรศการ ซึ่งห้องทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะนำชมอย่างละเอียดต่อไปในบทความชิ้นนี้ เนื่องด้วยแต่ละห้องล้วนมีเรื่องราวที่ควรกล่าวถึงเป็นการเฉพาะ

“คราวนี้เราควรมาลงรายละเอียดกันสักเล็กน้อย เพื่อจะได้ชมพระตำหนักใหญ่ได้อย่างเข้าใจยิ่งขึ้น ขอเริ่มที่เรื่องสี สีที่ใช้ทาอาคารพระตำหนักใหญ่เป็นสีเหลือง เป็นสีที่ค่อนข้างได้รับความนิยมในยุคนั้น หากเดินทางไปยุโรปก็จะพบสีเหลืองคล้ายกันนี้ปรากฏอยู่กับอาคารนีโอคลาสสิกต่าง ๆ สีเหลืองชนิดนี้เรียกขานกันหลายชื่อ บางคนเรียกว่าเหลืองเชินบรุน ตามชื่อพระราชวังเชินบรุนน์ (Schönbrunn) ในออสเตรีย เมื่อตอนที่บูรณะพระตำหนักใหญ่ ได้กราบบังคมทูลถามพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชวินิจฉัยจากความทรงจำครั้งยังทรงพระเยาว์ว่าเป็นสีเหลืองมัสตาร์ด 

“เมื่อบูรณะเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ มาทอดพระเนตร รับสั่งว่าสีเหลืองที่ใช้นี้สดกว่าที่เคยทอดพระเนตร อย่างไรก็ตาม เป็นการเลือกใช้สีเหลืองที่ต้องคำนึงถึงเหตุปัจจัยหลายด้านประกอบกัน เช่น ถ้าใช้สีเหลืองอ่อนทาทั่วทั้งพระตำหนัก เมื่อโดนแดดจัดทางด้านทิศใต้และตะวันตก พระตำหนักก็จะดูซีดจางลงอย่างรวดเร็วเกินไป ทำให้ต้องบูรณะบ่อย ๆ ดังนั้นการใช้สีเหลืองในความเข้มอย่างที่เห็นจึงเป็นสีพิเศษที่คำนวณมาแล้วว่าใกล้เคียงพระราชวินิจฉัยและคำสัมภาษณ์ของผู้ที่เคยใช้ชีวิตอยู่ในพระตำหนักใหญ่มาก่อน และคงสภาพได้นานจนไม่ต้องซ่อมบำรุงถี่เกินไปด้วย” พลเอกศยามเอ่ยถึงเรื่องการใช้สีเหลืองที่เรามองเห็นอยู่ตอนนี้”

สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล
พระตำหนักก่อนการบูรณะ สังเกตสีเหลือง
สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล
พระตำหนักหลังการบูรณะ

“ทีนี้ลองมองด้านบนกันก่อนนะครับ บริเวณใกล้ชายคาบนผนังด้านนอกพระตำหนัก ปรากฏเป็นลายปูนปั้นรูปทานตะวันเรียงเป็นแถวยาว ซึ่งตัวดอกนั้นทำขึ้นด้วยปูนหล่อสำเร็จ นำมาติดด้วยซีเมนต์เหนือก้านซึ่งใช้วิธีปั้นสดด้วยมือ สันนิษฐานว่าเป็นไปตามอิทธิพลของศิลปะอาร์ตนูโว (Art Nouveau) ซึ่งนิยมใช้ประดับอาคารต่าง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 6 ส่วนใต้ชายคานั้นเป็นงานไม้เดินเส้นตัดขอบแบบลายเรขาคณิตให้ดูเป็นระเบียบสวยงาม”

สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล
ลายปูนปั้นรูปทานตะวัน และใต้ชายคาเป็นงานไม้ประณีตเดินเส้นตัดขอบแบบเรขาคณิต
สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล
ดอกทานตะวันทำขึ้นด้วยปูนหล่อสำเร็จ ก้านเป็นงานปั้นสดด้วยมือ

“นอกจากลายทานตะวันแล้ว ยังปรากฏลายพรรณพฤกษาที่เป็นไม้ดอกประเภทอื่น ๆ ตามอย่างตะวันตก หรืออย่างหัวเสาที่ระเบียงชั้นล่างก็มีการประดับใบอะแคนทัสแทนกลีบบัว ลวดลายที่มีความประณีตเหล่านี้เกิดจากการหล่อบล็อกก่อนนำมาประดับบนตัวอาคาร แสดงให้เห็นถึงเทคนิคการประดับตกแต่งอาคารปูนที่เกิดขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 6”

สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล
นอกจากลายทานตะวันแล้วยังปรากฏลายพรรณพฤกษาอื่น ๆ
สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล
หัวเสาที่ระเบียงชั้นล่างก็มีการประดับใบอะแคนทัสแทนกลีบบัว

“นอกจากลวดลายพรรณพฤกษาแล้ว ลายเรขาคณิตทรงกลมทรงเหลี่ยมอื่น ๆ ก็นำมาใช้ประดับพระตำหนักเช่นกัน ซึ่งลายลักษณะนี้เป็นลายที่พบได้ทั่วไปกับศิลปะอาร์ตนูโว”

สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล

“หลังจากมองบนแล้วลองมองที่พื้นกันบ้าง พื้นเฉลียงทางเดินชั้นล่างปูด้วยหินอ่อน ทางเดินบริเวณรอบพระตำหนักเป็นกระเบื้องพิมพ์ลายสี ซึ่งกระเบื้องที่นำมาใช้ในปัจจุบันนี้ส่วนมากเป็นของเดิมที่นำมาชำระล้างให้สะอาด ขัดและซ่อมคืนสู่สภาพเดิมก่อนนำกลับมาใช้ รอบเฉลียงทางเดินและบนระเบียงมีราวกันตกประดับลูกมะหวดซีเมนต์ทอดไปตามความยาวโดยตลอด”

สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล
เฉลียงทางเดินชั้นล่างปูหินอ่อน
สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล
ราวกันตกประดับลูกมะหวดซีเมนต์

หลังจากที่พลเอกศยามกรุณาอธิบายลักษณะเด่นในเชิงสถาปัตยกรรมของพระตำหนักใหญ่ให้พอเห็นภาพรวมจากภายนอกแล้ว คราวนี้ก็ถึงเวลาที่เราจะเข้าไปสำรวจห้องสำคัญต่าง ๆ ภายในพระตำหนักด้วยกัน ในครั้งนี้ คุณงามพรรณ จึงรัศมีพานิช คณะทำงานฝ่ายวิชาการและกิจกรรมพิเศษ พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้เข้ามาร่วมนำพวกเราชมโดยละเอียด

โถงมุขตะวันตก

สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล
 บันไดทางเสด็จทางโถงมุขตะวันตก ทางปีกขวาของพระตำหนัก เมื่อหันหลังให้คลองแสนแสบ

เมื่อหันหน้าเข้าหาพระตำหนัก โดยหันหลังให้คลองแสนแสบ โถงมุขตะวันตกอยู่ด้านขวาสุด ต่อจากที่เทียบรถยนต์พระประเทียบ เมื่อสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้ายังมีพระชนม์ชีพ บริเวณนี้จะมีข้าหลวงผู้ใหญ่และมหาดเล็กนั่งเฝ้าเวรยามอยู่ตลอดเวลาเพื่อรอรับ-ส่งเสด็จ และถวายงานตามที่ต้องพระราชประสงค์ สิ่งที่ควรสังเกตคือฝ้าเพดานที่มีลักษณะเป็นฝ้าเพดานแผ่นเรียบตีคิ้วไม้ลงสีเข้มแบบ Coffer จำหลักลายเรขาคณิตเรียบโก้ บันไดไม้เนื้อแข็งนี้เป็นบันไดทางเสด็จ สงวนไว้ให้พระองค์ท่านทรงใช้เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น ข้าราชบริพารหรือผู้ที่มาเฝ้าฯ จะต้องเลี่ยงไปใช้บันไดทางโถงตะวันออกแทน

สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล
บันไดสำหรับข้าราชบริพาร (Service Stairs) และผู้มาเฝ้าฯ ทางโถงตะวันออก ทางปีกขวาของพระตำหนัก

บริเวณโถงมุขตะวันตกมีการจัดแสดงสิ่งของที่น่าสนใจอยู่ด้วย นั่นคือ เจ๊กตู้ เมื่อพระราชนัดดา (หลาน) ทั้ง 3 พระองค์ยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเรียกพ่อค้าเร่ชาวจีนหาบสินค้าเข้ามาถึงพระตำหนักใหญ่เพื่อให้ทั้ง 3 พระองค์ได้ทรงรู้จักและทดลองซื้อของต่าง ๆ ด้วยพระองค์เอง

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงเล่าพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีว่า เมื่อทรงพระเยาว์ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโปรดให้พ่อค้าชาวจีนหาบตู้สินค้าเข้ามาขายในวังสระปทุม เรียกว่า ‘เจ๊กตู้’ การจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ได้จำลองตู้ใส่สินค้าต่าง ๆ ที่มีขายในอดีตมาตั้งไว้ ณ บริเวณใกล้กับที่ทรงเลือกสินค้าจากเจ๊กตู้ครั้งทรงพระเยาว์

สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล
ทรงฉายกับเจ๊กตู้ที่วังสระปทุม

ห้องเทา

บันไดทางเสด็จซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกนำขึ้นสู่ชั้นบนของพระตำหนัก ตรงโถงอัฒจันทร์ ผนังด้านหน้าห้องเทาประดับพระสาทิสลักษณ์ (ภาพเขียน) สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งจำลองจากห้องควีนในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทไว้อย่างงดงาม พวกเรารีบก้มลงกราบด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในฐานะที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจมากมายต่อแผ่นดิน

สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงมีส่วนช่วยกิจการ สภาอุณาโลมแดง หรือ สภากาชาดไทย ในปัจจุบัน นับแต่แรกก่อตั้ง ทรงดำรงตำแหน่งสภานายิกาสภากาชาดสยามต่อเนื่องเป็นเวลานานถึง 35 ปี พระองค์ยังได้พระราชทานพระตำหนักที่อำเภอศรีราชาจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชาที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังทรงสนับสนุนการจัดสร้างโรงพยาบาลศิริราช และทรงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช สนพระทัยศึกษาและอุทิศพระองค์เพื่อพัฒนาการแพทย์ไทย

อีกยังทรงสนับสนุนการศึกษา โดยเฉพาะการเล่าเรียนของสตรีที่ควรจะมีโอกาสเท่าเที่ยมกับบุรุษ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ทำนุบำรุงและสนับสนุนกิจการโรงเรียนหลายแห่งทั่วประเทศ เช่น โรงเรียนราชินี โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จังหวัดเชียงใหม่ ประการสำคัญ ยังได้พระราชทานทุนส่งนักเรียนไปศึกษาวิชาแพทย์และพยาบาลที่ต่างประเทศ เพื่อกลับมาจะช่วยพัฒนาวงการแพทย์ไทยให้ก้าวหน้า เมื่อครั้งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนียังทรงเป็น นางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ อยู่นั้น พระองค์ก็ทรงเป็นนักเรียนทุนพระราชทานของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าด้วย

สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล
เมื่อเดินขึ้นมาตามบันไดทางเสด็จจะพบกับห้องเทาเป็นห้องแรกบนชั้น 2 ของพระตำหนัก

สาเหตุที่เรียกขานห้องนี้โดยลำลองว่าห้องเทานั้น ก็เพราะว่าใช้การตกแต่งในโทนสีเทา-ฟ้าเป็นหลัก เดิมเป็นห้องที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช ประทับครั้งยังไม่ได้ทรงอภิเษกสมรส และเสด็จกลับจากการศึกษาในต่างประเทศ

พระรูปของสมเด็จพระบรมราชชนกและสมเด็จพระบรมราชชนนีที่ประดิษฐานบนผนังห้องเป็นภาพจำลองมาจากพระรูปที่รัชกาลที่ 6 ทรงฉายพระราชทาน ณ พระที่นั่งนงคราญสโมสร

การจัดแสดงเครื่องเรือนและสิ่งของต่าง ๆ ล้วนเป็นสิ่งของส่วนพระองค์และเครื่องเรือนที่โปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อมาตกแต่งพระตำหนักมาแต่เดิม และได้รักษาไว้จนถึงปัจจุบัน บนโต๊ะเครื่องพระสำอาง จะมีกระป๋องแป้งสีเหลืองที่มีมาแต่เดิม สันนิษฐานว่าเป็นกระป๋องแป้งที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เคยทรงใช้เมื่อยังทรงพระเยาว์ เมื่อคราวที่เสด็จกลับมายังประเทศไทยครั้งแรกเมื่อพระชันษาเพียง 6 เดือน และประทับอยู่ที่ห้องเทาแห่งนี้เป็นเวลา 20 เดือน ก่อนที่จะโดยสมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อยังต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง

ห้องทรงพระอักษร

ถัดจากไปจากห้องเทาจะเป็นห้องทรงพระอักษรของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช โดยจะมีโต๊ะทรงงานพร้อมเครื่องเขียนและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เคยทรงใช้งานจริง ๆ รวมทั้งหนังสือที่ทรงใช้ศึกษาค้นคว้าในช่วงเวลานั้น เช่น ตำราวิชาแพทย์ ตำราวิชาทหารเรือ ฯลฯ

สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล
ห้องทรงพระอักษร

สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่นำมาจัดแสดงในห้องนี้คือหนังสือพระราชนิพนธ์ในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช เรื่องโรควัณโรค (Tuberculosis) ซึ่งเป็นโรคอันตรายที่เรารู้จักและคุ้นเคยกันดีแล้วในปัจจุบัน แต่เป็นโรคที่พระองค์ท่านทรงศึกษาและพระราชนิพนธ์ขึ้นเป็นตำราแพทย์เล่มแรก ๆ มาตั้งแต่ช่วงนั้น

สิ่งที่อยากชวนให้สังเกตอีกอย่าง คือช่องลมที่ประดับไม้ฉลุลายผลทับทิมที่มีทั่วทั้งพระตำหนัก เมื่อผมมาลองสืบค้นด้วยตัวเองดูก็พอสรุปได้ว่า ทับทิมเป็นผลไม้มงคลตามคติจีน ผลทับทิมมีเมล็ดมากหมายถึงความมั่งคั่งบริบูรณ์ กิ่งและใบทับทิมใช้ประพรมน้ำมงคล หรือพกไว้คุ้มกันภัยเพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายไม่ให้มารบกวนได้ จึงพอสันนิษฐานได้ว่า ช่องลมทั่วพระตำหนักจึงปรากฏไม้ฉลุลายผลทับทิมอยู่ทั่วไป

สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล
ไม้ฉลุลายผลทับทิม
สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล
ช่องลมที่ประดับไม้ลุลายผลทับทิมพบได้ทั่วไปภายในพระตำหนัก

ห้องทรงพระสำราญ

เป็นห้องที่อยู่กลางพระตำหนัก ทรงใช้เป็นทั้งห้องทรงงานและห้องทรงพระสำราญ สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพารที่ใกล้ชิดขึ้นมาเฝ้าสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าในยามพักผ่อนพระราชอิริยาบถ ด้านหลังจัดเป็นโต๊ะทรงงานด้วยทรงมีพระราชภารกิจในฐานะที่ทรงเป็นสภานายิกาสภากาชาดไทยต่อเนื่องยาวนาน

สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล

นอกจากนี้ยังจัดแสดงหนังสือทรงสะสม ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษจำนวนไม่น้อยเลย หนึ่งในนิตยสารที่โปรดทรงอยู่เสมอคือ The National Geographic เป็นต้น ส่วนพระฉายาลักษณ์และพระสาทิสลักษณ์ที่ประดิษฐานอยู่ในห้องส่วนมากคือพระราชโอรสและพระราชธิดา เช่น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ รวมทั้งพระราชโอรสบุญธรรม พระราชนัดดา และพระประยูรญาติพระองค์ต่าง ๆ

ห้องทรงนมัสการ

ห้องที่จัดแสดงเป็นห้องทรงนมัสการในปัจจุบัน เดิมเคยทรงใช้เป็นห้องบรรทมในช่วงที่พระชนมายุสูงขึ้น ภายในห้องประดิษฐานพระพุทธรูปหลายองค์ ทุกองค์เป็นพระพุทธรูปที่พบอยู่ในห้องทรงนมัสการมาแต่เดิม โต๊ะหมู่บูชาก็จัดแสดงโดยอิงตามสภาพเดิมที่ค้นพบเมื่อบูรณะ นอกจากพระพุทธรูปแล้ว ยังปรากฏพระบรมฉายาลักษณ์สมเด็จพระบรมราชชนก คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชชนนี คือ สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา หรือ เจ้าจอมมารดาเปี่ยม

สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล

เมื่อทรงเจริญพระชนมายุสูงขึ้น ได้จัดเปลี่ยนห้องทรงนมัสการให้เป็นห้องบรรทม โดยพนักงานจะลาดพระยี่ภู่ (ฟูก) ให้บรรทมบนฟื้นแทนการบรรทมบนพระแท่น (เตียง) ตราบจนเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2498 รวมพระชนมายุ 93 พรรษา

พระเฉลียงที่ประทับ

พระตำหนักใหญ่มีเฉลียงทางเดินยาวเชื่อมผ่านทุกห้อง ตั้งแต่ห้องบรรทมทางทิศตะวันออกจรดด้านห้องเทาทางทิศตะวันตก ทางเดินยาวนี้ปูพื้นด้วยไม้เรียบขัดมันเรียงต่อกันเป็นลายก้างปลาที่สวยงามประณีตและเดินสบาย

พระเฉลียงที่ประทับ และพื้นไม้ลายก้างปลา

ในช่วงปลายพระชนม์ชีพ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโปรดประทับที่พระเฉลียง ตรงกับพระแกล (หน้าต่าง) ช่องที่ 2 หน้าห้องบรรทม ซึ่งเป็นที่โปร่ง มีแสงและลมธรรมชาติ ทำให้ได้สำราญพระราชอิริยาบถ สามารถทอดพระเนตรสนามหน้าพระตำหนักได้ มีเครื่องพระศรีและเครื่องถ้วยพระสุธารสชาจัดวางบนโต๊ะเตี้ยทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าข้างพระองค์ ผู้เคยเฝ้าทูลละอองพระบาทเล่าว่าโปรดประทับ ณ ที่แห่งนี้ทั้งวัน รวมทั้งเสวยพระกระยาหาร ณ ที่นี่ด้วย

เหตุการณ์สำคัญที่สุดที่เกิดขึ้น ณ พระเฉลียงที่ประทับคือเหตุการณ์วันราชาภิเษกสมรสระหว่าง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง (ขณะนั้นทรงมีพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร)

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จออกพระเฉลียงแห่งนี้เพื่อถวายน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนตร์แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และพระราชทานน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนตร์แด่หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เมื่อเวลาพระฤกษ์ระหว่าง 10.24 น. ถึง 12.10 น. ของวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493

วันพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ พระเฉลียงพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม

ห้องบรรทม

ห้องบรรทมของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าด้านทิศตะวันออกของพระตำหนักใหญ่ การจัดแสดงเครื่องเรือนและสิ่งของส่วนพระองค์ครั้งยังมีพระชนม์ชีพ

นอกจากนี้ยังแสดงเครื่องใช้ส่วนพระองค์บางชิ้น ได้แก่ ฉลองพระองค์ที่โปรดทรงในขณะนั้น เช่น พระภูษาโจง (ผ้านุ่งโจงกระเบน) ที่ทรงกับฉลองพระองค์ (เสื้อ) แขนกระบอก รวมทั้งฉลองพระบาท เป็นต้น

ติดกับห้องบรรทมเป็นห้องสรงซึ่งมีเครื่องสุขภัณฑ์ทันสมัยในเวลานั้น มีระบบน้ำร้อน-น้ำเย็น กระเบื้องที่ใช้เป็นกระเบื้องลายพรรณพฤกษาสีขาว-เขียว-แดง แบบเดียวกับที่พบที่วังจักรพงษ์

สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล

ห้องพิธี

ปกติผู้ที่ลงทะเบียนเข้าชมพระตำหนักใหญ่ จะเริ่มชมที่ห้องพิธีเป็นห้องแรก ห้องพิธีอยู่บริเวณพระตำหนักชั้นล่าง สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโปรดใช้สำหรับพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในวาระต่าง ๆ และเป็นห้องเสวยอย่างเป็นทางการในโอกาสคล้ายวันพระราชสมภพ 10 กันยายนของทุกปี

ปัจจุบันห้องได้จำลองห้องพิธีเป็นห้องเสวย โดยจัดแสดงโต๊ะพระกระยาหารไว้ตรงกลาง บนโต๊ะเสวยประกอบด้วยเครื่องถ้วย-ชามส่วนพระองค์ที่ปรากฏอักษรพระนามย่อ ส.ว. อยู่ ซึ่งอักษรพระนามย่อ ส.ว. นี้ สันนิษฐานว่าเป็นพระนามของ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ พระราชโอรส

ห้องพิธีซึ่งปัจจุบันจัดจำลองเป็นห้องเสวย

การจัดห้องพิธีนั้นได้แบบอย่างมาจากภาพถ่ายในอดีตที่ค้นพบในวังสระปทุม โดยทุกวันที่ 10 กันยายน อันเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เหล่านักเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ เช่น นักเรียนจากโรงเรียนราชินี จะจัดการแสดงมาถวายให้ทอดพระเนตรที่ห้องนี้เป็นประจำทุกปี ในกาลครั้งนั้นได้มีการบันทึกภาพเอาไว้ และต่อมาได้กลายเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ทำให้เห็นสภาพดั้งเดิมของห้อง รวมทั้งรูปแบบการจัดเครื่องเรือนต่าง ๆ เช่น อย่างตู้เก็บของ ว่าตั้งอยู่มุมไหน ในลักษณะอย่างไร

เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น ณ ห้องพิธีคือเหตุการณ์วันราชาภิเษกสมรส ได้เสด็จมาทรงลงพระปรมาภิไธยและพระนามาภิไธยในพระทะเบียนราชาภิเษกสมรส หลังจากเฝ้าฯ รับการถวายน้ำพระพุทธมนต์ เทพมนตร์บนพระเฉลียงชั้นบนแล้ว เสด็จลงยังห้องพิธี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อาลักษณ์อ่านประกาศสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เป็น ‘สมเด็จพระราชินี’

สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล

ห้องรับแขก

ห้องรับแขกเป็นห้องเชื่อมติดกับห้องพิธี สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโปรดใช้ห้องนี้เป็นห้องรับแขกของพระราชโอรส เครื่องเรือนสำหรับใช้ตกแต่งเป็นแบบตะวันตก

สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล

ในการบูรณะนั้น เครื่องเรือนที่ค้นพบหลายชิ้นเสื่อมสภาพเหลือเพียงโครง เช่น ชุดเก้าอี้ ซึ่งผ้าหุ้มเบาะชำรุดเสียหายขนาดหนัก ทำให้ต้องทอผ้าขึ้นมาใหม่ โดยมี ผศ.สุรชัย ชลประเสริฐ เป็นผู้ออกแบบลวดลายผ้าบุดังกล่าว ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้พยายามสืบค้นข้อมูลเพื่อกำหนดลายผ้าหุ้มเบาะเก้าอี้ที่ถูกต้อง ได้มีการตรวจสอบเอกสารการสั่งซื้อชุดเครื่องเรือนว่าเป็นพุทธศักราชใด จากที่ไหน นอกจากนี้ยังใช้หลักฐานอื่น ๆ ประกอบด้วย ในกรณีนี้นับเป็นความโชคดีของทีมวิชาการที่ค้นพบพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เมื่อยังทรงพระเยาว์ได้ ประทับบนเก้าอี้ชุดเดียวกัน ทำให้ได้แบบลายอ้างอิงที่ถูกชัดเจนมากขึ้น เพื่อนำมาบูรณะหมู่เครื่องเรือนชิ้นสำคัญของห้องรับแขก

ภาพสำคัญในห้องนี้คือพระฉายาลักษณ์ของพระราชโอรส-ธิดาจำนวนหนึ่ง รวมทั้งของทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมารในพระราชพิธีลงสรง เป็นต้น

ในวันราชาภิเษกสมรส ห้องรับแขกเป็นห้องประทับพักรอเวลาพระฤกษ์ของหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร (พระอิสริยยศขณะนั้น) นายกรัฐมนตรี และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่

สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล

สำหรับห้องสำคัญห้องสุดท้าย เดิมเป็นห้องอเนกประสงค์ ปัจจุบันจัดเป็นห้องนิทรรศการสำหรับแสดงเอกสารสำคัญส่วนพระองค์ โดยทางพิพิธภัณฑ์ฯ ได้ทำสำเนาจากต้นฉบับนำมาจัดแสดงเป็นจำนวนมาก เช่น หนังสือเดินทางของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เป็นต้น

นับว่าเป็นหนึ่งในเอกสารสำคัญที่มีคุณค่าอย่างยิ่งที่อัญเชิญมาจัดแสดงในห้องนี้

กระบวนการอนุรักษ์

หลังจากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานวังสระปทุมให้เป็นที่ประทับของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วยทรงมีพระราชปรารภว่าวังสระปทุมเป็นสถานที่สำคัญ สมควรจะได้รับการบูรณะและพัฒนาให้เป็นศูนย์การค้นคว้า ศึกษา และเรียนรู้ เรื่องราวอันเกี่ยวเนื่องกับพระราชประวัติ พระราชจริยวัตร และพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าอย่างถูกต้องครบถ้วน ต่อมาสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ จึงได้ทรงจัดตั้งมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าขึ้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2548 ภายในวังสระปทุม เพื่อดำเนินการดังกล่าวตามพระราชปรารภ” คุณเกตุวลีเล่าให้พวกเราฟัง

“พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ดำเนินงานโดยคณะกรรมการมูลนิธิฯ และเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงต่อการอนุรักษ์ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ให้เป็นสมบัติทางวัฒนธรรม ซึ่งต้องอาศัยกระบวนการอนุรักษ์ที่ถูกต้องเหมาะอย่างต่อเนื่อง”

ความจริงการบูรณะพระตำหนักใหญ่มีด้วยกันหลายครั้ง ครั้งแรกคือ พ.ศ. 2536 เพื่อรักษาสภาพอาคารไม่ให้ทรุดโทรมมากขึ้น และปรับปรุงบางส่วนเพื่อรองรับการใช้งานที่เปลี่ยนไป

การบูรณะครั้งใหญ่เกิดขึ้นต่อมาในช่วงปลาย พ.ศ. 2536 – 2540 เพื่อสร้างความมั่นคงแข็งแรงให้กับอาคาร และรักษารูปแบบสถาปัตยกรรมเอาไว้ให้ครบถ้วนตามหลักการอนุรักษ์อาคารสำคัญทางประวัติศาสตร์

สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล

ได้มีการขุดสำรวจโครงสร้างพระตำหนักอย่างละเอียดจนค้นพบเรื่องการออบแบบโครงสร้างแบบเรือลอยน้ำ ไม่มีเสาเข็ม ฯลฯ นอกจากนี้ยังได้เร่งบูรณะปัญหาหลัก ๆ 3 ส่วน คือ

  1. ปัญหาน้ำฝนรั่วซึมจากหลังคาและรางน้ำฝนผุกร่อน ซึ่งต้องทำการเสริมหลังคาที่ทำด้วยไม้อัดชนิดพิเศษซึ่งทนความชื้นสูง เพื่อรองใต้วัสดุมุงหลังคาทั้งหมด ส่วนวัสดุมุงหลังคานั้นก็ทำขึ้นใหม่เลียนแบบวัสดุเดิม
  2. ปัญหาน้ำรั่วซึมและท่วมขังชั้นใต้ดิน ก่อให้เกิดความเสียหายต่ออาคารเป็นอย่างมาก ซึ่งต้องแก้ไขโดยซีเมนต์ปรุงพิเศษ (Water Plug) เสริมด้วยการทำกันซึม การอัดฉีดน้ำปูนเสริมใต้รากฐานเดิม อุดซ่อมรอยรั่ว และเทพื้นคอนกรีตเพื่อยกระดับห้องใต้ดินขึ้น
  3. ปัญหาพื้นระเบียงภายนอกที่ต้องทุบของเดิมออกและเทหล่อพื้นใหม่
สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล
สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล

หลัง พ.ศ. 2540 เมื่อมีพระราชดำริที่จะจัดปรับพระตำหนักใหญ่เป็นพิพิธภัณฑ์ ทรงพระกรุณาโปรดฯ ให้ตรวจสอบสภาพพระตำหนัก พบว่าโครงสร้างจากการบูรณะครั้งล่าสุดยังอยู่ในสภาพดี ปัญหาหลักที่พบยังเป็นเรื่องระดับน้ำใต้ดินที่ก่อให้เกิดความชื้นสูงมาก จึงต้องเร่งแก้ปัญหาโดยการติดตั้งพัดลมระบายอากาศอัตโนมัติที่ใต้ถุนอาคาร ต่อมาคือการปรับปรุงอาคารให้พร้อมแปรสภาพเป็นพิพิธภัณฑ์ เช่น การปรับสภาพอาคารเพื่อติดเครื่องปรับอากาศโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อโครงสร้าง และสถาปัตยกรรม มีการต่อเติมห้องน้ำเพิ่ม ซึ่งจำเป็นต้องแยกโครงสร้างใหม่ออกจากโครงสร้างเดิมโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับพระตำหนักได้

การปรับปรุงครั้งล่าสุดเพิ่งเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2561 หลังพระตำหนักใหญ่เปิดให้สาธารณชนเข้าชมมานาน 10 ปี โดยยังคงต้องปรับปรุงการแก้ปัญหาเรื่องความชื้นเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากนั้นเป็นงานเก็บรายละเอียดและพัฒนางานระบบทั้งหมด เช่น งานระบบไฟฟ้า งานเคลือบรักษาผิวไม้ งานทาสีภายนอกและภายในอาคาร งานระบบปรับอากาศ รวมทั้งการสืบประวัติเครื่องเรือนและจัดแสดงโดยยึดหลักความถูกต้อง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้มาจากภาพถ่ายในอดีต เอกสารต่าง ๆ สิ่งของทรงสะสม รวมทั้งคำสัมภาษณ์ผู้ที่เคยพำนักอยู่ที่วังสระปทุมมาตั้งแต่เดิม โดยเป็นการสัมภาษณ์บุคคลจำนวนหนึ่งอย่างต่อเนื่องแล้วบันทึกเก็บไว้

“การที่ได้มีโอกาสเข้ามายังสถานที่สำคัญแห่งนี้ เชื่อว่าจะได้รับความรู้เป็นอย่างมากเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และเรื่องราวอันเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ไม่เพียงแต่เท่านั้น ยังเป็นการสนับสนุนมูลนิธิฯ เพื่อสานต่อภารกิจอันสืบเนื่องมาจากสิ่งต่าง ๆ ที่ทรงวางรากฐานไว้ รวมทั้งกิจกรรมที่มุ่งช่วยเหลือสังคมตามที่เห็นสมควร ไม่ว่าจะเป็นด้านการสังคมสงเคราะห์ สาธารณภัยส่งเสริมการศึกษา กีฬา วัฒนธรรม และศาสนา ฯลฯ”

“เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 ผ่านมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประธานมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้พระราชทานเงินที่มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้รับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาและจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิฯ รวมจำนวน 150 ล้านบาท ให้แก่โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา เพื่อจัดซื้อเครื่องมือแพทย์” คุณเกตุวลีกล่าว

เฉลิมศตพรรษ์กัลยาณิวัฒนา

วาระครบ 100 ปี วันประสูติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ใน พ.ศ. 2466 มูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้จัดนิทรรศการชื่อ ‘เฉลิมศตพรรษ์กัลยาณิวัฒนา’ ขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องจากสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้เคยประทับอยู่ที่พระตำหนักใหญ่และพระตำหนักใหม่ วังสระปทุม สองช่วงเวลาแห่งพระชนม์ชีพ และทรงมีความผูกพันต่อสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเป็นอย่างยิ่ง

สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล

“สมเด็จกรมหลวงทรงเป็นพระราชนัดดาพระองค์แรกในสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และเคยเสด็จอยู่วังสระปทุมมาแต่ครั้งทรงพระเยาว์ เมื่อสมเด็จพระราชบิดาสวรรคตกะทันหัน ส่งผลให้สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงทำหน้าที่เป็นพระอภิบาล (ดูแล) แทนสมเด็จพระราชบิดาไปพร้อม ๆ กันกับสมเด็จพระราชชนนี” คุณกรรภิรมย์เอ่ย

“ในนิทรรศการจะเห็นว่าสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าและสมเด็จพระราชชนนีทรงอบรมสั่งสอนพระราชนัดดาอย่างไร ทรงปลูกฝังเรื่องอะไรบ้าง เราจะได้ทำความเข้าใจว่า เมื่อทรงเจริญพระชันษาแล้ว เหตุใดสมเด็จกรมหลวงจึงทรงงานด้านต่างๆ เพื่อสร้างประโยชน์สุขกับประชาชนชาวไทยมาโดยตลอดพระชนม์ชีพ”

สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล

นอกจากนี้ยังมีสิ่งของมีค่าอันเกี่ยวเนื่องกับสมเด็จฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ซึ่งเป็นของที่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงจัดเก็บไว้ เช่น พระอู่ (เปล) พระภูษาเครื่องละคร (ชุดรำ) หนังสือทรงแปล ฯลฯ ซึ่งสะท้อนได้อย่างชัดเจนว่าสิ่งของอันเกี่ยวเนื่องกับพระราชนัดดาล้วนมีค่าสำหรับ ‘สมเด็จย่า’ เสมอ

สำรวจพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ที่ประทับสไตล์นีโอคลาสสิกของพระอัยยิกาในหลวง 2 รัชกาล

พระตำหนักใหญ่เป็นสถานที่สำคัญที่มีเรื่องราวให้ศึกษามากมาย ทั้งด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชจริยวัตรของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ผมจึงขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยร่วมลงทะเบียนเข้าชมพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม และนิทรรศการเฉลิมศตพรรษ์กัลยาณิวัฒนาได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์นี้ โดยศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขการเข้าชมได้ทาง www.queensavang.org/queensavang 

แล้วพบกันนะครับ

ขอขอบพระคุณผู้ให้สัมภาษณ์
  • คุณกรรภิรมย์ กังสนันท์ กรรมการมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า 
  • คุณเกตุวลี นภาศัพท์ กรรมการมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
  • พลเอกศยาม จันทรวิโรจน์ กรรมการมูลนิธิสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
  • คุณงามพรรณ จึงรัศมีพานิช คณะทำงานฝ่ายวิชาการและกิจกรรมพิเศษ พิพิธภัณฑ์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
เอกสารอ้างอิง
  • เจ้านายเล็ก ๆ – ยุวกษัตริย์ พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
  • พระราชวังและวังในกรุงเทพฯ (พ.ศ. 2325 – 2525) โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ หม่อมราชวงศ์แน่งน้อย ศักดิ์ศรี และคณาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2525 คราวสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี
  • สมเด็จพระศรีสวรินทิรา โดย สมภพ จันทรประภา คณะกรรมการฝ่ายจัดทำหนังสือที่ระลึกในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมฉลองวาระ 150 ปี พระราชสมภพ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จัดพิมพ์ พ.ศ. 2555

Writer

Avatar

โลจน์ นันทิวัชรินทร์

หนุ่มเอเจนซี่โฆษณาผู้มีปรัชญาชีวิตว่า "ทำมาหาเที่ยว" เพราะเรื่องเที่ยวมาก่อนเรื่องกินเสมอ ชอบไปประเทศนอกแผนที่ที่ไม่ค่อยมีใครอยากไป เลยต้องเต็มใจเป็น solo backpacker Instagram : LODE_OAK

Photographer

โตมร เช้าสาคร

โตมร เช้าสาคร

ชอบถ่ายวิวมากกว่าคน ชอบกินเผ็ดและกาแฟมาก เป็นคนอีโค่เฟรนลี่ รักสีเขียว ชวนไปไหนก็ได้ไม่ติด ถ้ามีตัง