‘Rifle Range Nature Park’ คือสวนป่าใหม่เอี่ยมของประเทศสิงคโปร์
ในสมัยสร้างชาติ ที่นี่เคยเป็นเหมืองแกรนิต แต่เมื่อชุบชีวิตขึ้นมาในปี 2022 ก็กลายเป็นพื้นที่ชอุ่มงามที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งยังสื่อสารถึงประวัติศาสตร์อันน่าสนใจของประเทศได้ในขณะเดียวกัน
หากนึกถึงพื้นที่สีเขียวของสิงคโปร์ เมื่อก่อนเราอาจนึกถึง Park ดี ๆ สำหรับออกกำลังกาย หรือ Garden ที่คนนิยมไปชมพืชพรรณสวยงาม แต่โปรเจกต์พื้นที่ธรรมชาติแบบ Adaptive Reuse ไม่ได้มีให้เห็นนัก โดยเฉพาะที่อยู่ใกล้เมืองเช่นนี้ Rifle Range จึงเป็นที่พูดถึงอย่างมากในปีที่ผ่านมา
บริษัทที่ออกแบบที่นี่คือ Henning Larsen บริษัทสัญชาติเดนมาร์กในสิงคโปร์ที่เป็น Multi Disciplinary มายาวนาน ในบริษัท Ramboll ซึ่งเป็นร่มใหญ่ มีทั้งสถาปนิก ภูมิสถาปนิก วิศวกร และผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ พวกเขาจึงทำงานออกแบบโดย Evidence Base ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ครั้งนี้เรามีโอกาสได้คุยกับทีมออกแบบของ Henning Larsen อย่าง Leonard Ng (Country Market Director), APAC และ Sophie Budsworth (Landscape Designer)
ความเชี่ยวชาญของอเวนเจอร์สแก๊งนี้คือการพัฒนา Blue-green Infrastructure หากจะพูดให้เห็นภาพกันอีกสักนิดก็คงต้องยกตัวอย่าง ‘Bishan-Ang Mo Kio Park’ ที่เปลี่ยนคลองคอนกรีตให้เป็นคลองธรรมชาติ และทำให้พื้นที่สีเขียวเลียบคลองรองรับน้ำท่วมได้
นอกจากจะเป็นโปรเจกต์สร้างชื่อของพวกเขาแล้ว Bishan-Ang Mo Kio Park ยังแสดง Philosophy และแสนยานุภาพในการออกแบบของพวกเขาได้อย่างชัดเจนที่สุดด้วย
พรุ่งนี้ของเมือง (แห่งเหมือง)
ก่อนจะไปถึงรายละเอียดต่าง ๆ ของสวนป่า เราขอย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นอย่าง ‘เหมือง’ เพื่อให้เข้าใจตรงกันสักนิด
สิงคโปร์มีเหมืองเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้วมากมาย เหตุเพราะในยุคแรกเริ่มมีความจำเป็นต้องใช้เหมืองในการสร้างบ้านแปลงเมือง ก่อร่างถนนหนทางต่าง ๆ แม้จะเป็นเกาะเล็ก ๆ แต่พวกเขาก็พยายามวางแผนใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดให้ดีที่สุด
จากระบอบการปกครองของสิงคโปร์ เหมืองทั้งหมดที่มีจึงเป็นของรัฐบาล และเมื่อผ่านยุคนั้นมาแล้วก็ถึงเวลาที่รัฐต้องคิดต่อ
จะพัฒนาพื้นที่เหล่านั้นให้กลายเป็นอะไรต่อดี
จริง ๆ แล้วไทยเองก็มีกฎหมายที่ต้องฟื้นฟูเหมืองเก่าให้กลับคืนสู่สภาพเดิมเช่นกัน หากของเราไม่ได้ ‘จริงจัง’ ที่จะพลิกพื้นที่ให้มีประโยชน์หรือใช้การได้ขนาดนั้น แต่สำหรับสิงคโปร์ ประเทศแห่งพ่อค้า ประเทศแห่งนักวางแผนตัวยง พวกเขามีเฟรมเวิร์กสำหรับพื้นที่เหมืองเก่าอย่างชัดเจน
กับ Rifle Range เองก็เช่นกัน
“รัฐบาลสิงคโปร์เริ่มต้นจากการวาง Planning กำหนดว่าตรงนี้จะเป็น Buffer Zone ที่มี Green Link ไปเชื่อมกับโซนอื่น ๆ” ทีมออกแบบเล่า
ถ้าลองดูใน Google Maps ก็จะเห็นว่า Rifle Range อยู่ติดกับทั้งพื้นที่ธรรมชาติแหล่งอื่น ๆ ทั้งพื้นที่เมืองที่คนอยู่อาศัย ซึ่งเมื่อวางแผนอย่างดีก็ทำให้มีเป้าหมายแน่ชัดว่าเขาจะพัฒนาพื้นที่นี้ไปทางไหน และทำเพื่ออะไร
ภาพรวมชัดเจนแล้วจึงมาถึงการออกแบบในสเกลที่เล็กลง ซึ่งเป็นหน้าที่ของทีมภูมิสถาปนิกในการมองหาคุณค่าของที่นี่ แล้วขับเน้นให้กลายเป็นจุดเด่นที่น่าสนใจ (และขายได้)
ดีเทลการออกแบบที่น่าสนใจของ Rifle Range
1. ก้อนหิน ต้นไม้ หน้าผา กิมมิกที่ระลึกจากเหมืองเก่า
เมื่อเคยเป็นเหมืองมาก่อน ทีมผู้ออกแบบก็ไม่ปล่อยให้เป็นแค่ประวัติศาสตร์ แต่ขับเน้นองค์ประกอบที่อยู่มาก่อนเก่าอย่างหน้าผาที่เกิดจากการระเบิด ต้นไม้อายุยืนยาว ซากหิน ให้น่าสนใจในปัจจุบัน โดยออกแบบสิ่งแวดล้อมรายรอบให้ส่งเสริมสิ่งเหล่านั้น เช่น จุดชมวิวหน้าผา หรือทางเดินหลากหลายประเภท เพื่อให้มีวิธีเข้าถึงประสบการณ์ได้เหมาะกับแต่ละองค์ประกอบ
สิ่งนี้มีประโยชน์หลายอย่าง นอกจากได้สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่สีเขียวแล้ว ยังเป็นการให้ข้อมูลเรื่องประวัติศาสตร์การเกิดขึ้นของชาติได้อย่างไม่ยัดเยียดด้วย
2. ความหลากหลายทางระบบนิเวศ
แม้เหมืองสิงคโปร์จะมีพื้นที่ไม่ใหญ่นักเมื่อเทียบกับเหมืองบ้านเรา แต่การฟื้นฟูกลับคำนึงถึงความหลากหลายทางระบบนิเวศมากกว่าของเรานัก
ที่นี่มีป่า มีหน้าผา มีหิน มีบึงที่ชื่อว่า Quarry Wetland โดยทุก ๆ ภูมิประเทศนั้นก็ให้คนเข้าไปสัมผัสได้ผ่านทางเดินแบบต่าง ๆ
“กว่าจะได้ทางเดินแบบที่เห็น เราสำรวจป่ากันจริงจังมาก ทั้งลงไปจดบันทึกกันเองด้วยมือ ทั้งส่งโดรนไปดู แล้วสุดท้ายเราก็ใช้ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ในการดีไซน์เส้นทาง Trail” ทีมออกแบบอธิบายถึงกระบวนการ
ซึ่งมากไปกว่าการออกแบบทางเดินของคน ยังคำนึงถึงความเชื่อมต่อของทางเดินของเหล่าสัตว์ป่าด้วย
3. สัตว์น้อยน่ารัก
Rifle Range ขึ้นชื่อเรื่องสัตว์ป่า ไม่ว่าจะเป็น Horsfield’s Flying Squirrel, Sunda Pangolin, Asian Fairy-bluebird หรือ Malayan Colugo
สำหรับที่นี่ พระเอกของเขาก็คือ ‘Malayan Colugo’ หรือ ‘บ่าง’ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ใครอยากเจอน้องบ่างลองไปยืนรอเงียบ ๆ ได้
“เราออกแบบ Pole ให้บ่างกระโดดเกาะด้วย” ทีมออกแบบเล่าถึงทีเด็ด
Pole นี้ดีไซน์ด้วยการศึกษาธรรมชาติของบ่างอย่างละเอียด ฉะนั้นจึงมีระยะห่างที่เหมาะสมกับการกระโดด เฉลี่ยประมาณ 30 เมตร มีสีและลายที่เหมาะกับการพรางตัว มีพื้นผิวภายนอกที่เอื้อให้บ่างเกาะ มีชายคาไว้ให้หลบนักล่า และมีฐานรองรับด้านล่างเพื่อความปลอดภัย
ไม่ใช่แค่น่ารักกระชุ่มกระชวยใจ แต่สัตว์ป่าคือหลักฐานของความอุดมสมบูรณ์ที่รัฐและผู้ออกแบบพิสูจน์ให้คนสิงคโปร์เห็นด้วย
4. ความเชื่อมโยงกับเมืองโดยรอบ
ปัจจุบันผู้มาเยือน Rifle Range ส่วนใหญ่คือคนในชุมชนโดยรอบและผู้คนจาก Green Rail Corridor หรือทางรถไฟสายเก่าที่เชื่อมสิงคโปร์กับมาเลเซีย ซึ่งเมื่อก่อนเป็นของมาเลเซีย แต่ทุกวันนี้มีการแลกที่ดินมาเป็นของสิงคโปร์ และมีแผนจะพัฒนาให้เป็น Green Link ความยาวประมาณ 30 กิโลเมตร จากสิ่งก่อสร้างรกร้างที่ดูเหมือนหลังบ้านก็จะกลายเป็นหน้าบ้าน แล้วผู้คนก็จะเดินทางมา Rifle Range ได้ง่ายขึ้น
Green Rail Corridor เป็นตัวอย่างของการใช้พื้นที่สีเขียวเป็นตัววางโครงสร้างของเมือง เมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้วพื้นที่ที่เกาะอยู่สองข้างทางรถไฟก็จะมีมูลค่าในมิติต่าง ๆ มากขึ้นด้วย
เรื่องนี้ที่ขึ้นชื่อลือชา
ทุกวันนี้สิงคโปร์กำลังวาง Planning ให้กรีนเติบโตควบคู่ไปกับเมืองอย่างสมดุล มีการทำให้พื้นที่สีเขียวไม่ได้อยู่แค่ในป่า แต่ไหลทะลุไปอยู่บนกรีนรูฟ ในใต้ถุน ทำให้สิงคโปร์กลายเป็น City in the Garden
ในยุคแรกพื้นที่สีเขียวของสิงคโปร์จะเป็นแนว Garden มี Tropical Plant มีไม้ดอก ซึ่งก็เป็นจุดขายที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวในตอนนั้นได้เป็นอย่างดี
แต่เมื่อมีกระแสเรื่อง Climate Change ขึ้นมา สิงคโปร์ที่เป็นประเทศเกาะ มีโอกาสเดือดร้อนจากน้ำทะเลหนุนสูง ก็ต้องพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้มีความหลากหลายมากขึ้น อยู่ร่วมกับธรรมชาติมากขึ้น มีการทำ Blue-green Infrastructure มากขึ้น ซึ่งเขาก็มีนโยบายออกมาอย่างชัดเจน มีการประชาสัมพันธ์ทิศทางที่ประเทศจะมุ่งไป
พาร์กไหนเสร็จก็มีการโปรโมตความดีงามให้ประชาชนทราบในหนังสือพิมพ์หรือรายการโทรทัศน์ หากจะผลักดันการอนุรักษ์สัตว์ชนิดไหนก็มีการสร้างบทสนทนาให้คนในสังคม ทั้งยังสื่อสารองค์ความรู้ต่าง ๆ ให้ทุกภาคส่วนทำไปพร้อม ๆ กันด้วย
เพราะฉะนั้น คนสิงคโปร์จึงมีเรื่องกรีน ๆ สอดแทรกอยู่ในชีวิตประจำวัน และรู้แน่ว่ารัฐจะพัฒนาด้านกรีนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีพื้นที่สีเขียวที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้คนได้ตลอดเวลา
ถามว่าเราจะถอดบทเรียนจากเขาได้อย่างไรบ้าง
ความแตกต่างที่มากที่สุดของสิงคโปร์กับไทย คือสิงคโปร์วางแผนก่อน แล้วการเจริญเติบโตของเมืองค่อยตามมา เขาจึงมีสัดส่วนพื้นที่ที่สมดุล เมื่อประเทศเรามีบริบทที่ต่างกัน อาจต้องออกแบบวิธีการให้เหมาะกับตัวเอง แต่เราหยิบ ‘หัวข้อ’ ในการพัฒนาของเขามาคิดได้
อีกเรื่องที่น่าสนใจ คือการสร้างค่านิยม
นอกเหนือจากการประชาสัมพันธ์ประโยชน์ของพื้นที่สีเขียวแล้ว หากผู้มีอำนาจทำให้ประชาชนเป็นตัวอย่างได้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ผู้คนก็จะมุ่งหน้าไปทางเดียวกันได้อย่างมั่นใจ
ที่สำคัญ รัฐต้องเป็นเจ้าภาพในการกำหนด Agenda ให้ชัดเจน ออกไกด์ไลน์ สร้างแรงจูงใจ หากประชาชนหรือหน่วยงานใดติดขัด ไม่ว่าจะเรื่ององค์ความรู้ เรื่องงบประมาณ รัฐก็มีหน้าที่จะส่งเสริมตรงนั้น
สำหรับเรื่อง Adaptive Reuse เอง ในบริบทของประเทศไทยเราอาจไม่ได้มองเรื่องเหมืองเป็นหลัก แต่อาจมองไปที่พื้นที่รกร้าง สนามกอล์ฟ บึงน้ำที่ไม่ได้ใช้ แล้วเปลี่ยนสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ให้เป็น Blue-green Infrastructure
แม้แต่สวนต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ที่สร้างมานาน แทนที่จะเป็น Picturesque Landscape เพียงอย่างเดียว เราก็คิดใหม่ ทำใหม่ ปรับให้กลายเป็น Blue-green Infrastructure ที่มีความหลากหลายทางนิเวศได้เช่นกัน
ภาพ : Finbarr Fallon