“ในแง่หนึ่ง ข้อจำกัดก็เป็นต้นทุนสำคัญในการทำงาน”
David Droga ยอดนักโฆษณาระดับโลก พูดประโยคนี้ในเทศกาลความคิดสร้างสรรค์ Cannes Lions ปีที่แล้ว
ประเทศที่เป็นตัวอย่างของการทำประโยคนี้ให้เป็นจริงที่สุด ต้องยกให้สิงคโปร์
ด้วยขนาดประเทศที่เล็ก คนมีจำกัด จะทำอะไรต้องคิดให้รอบคอบ
ทศวรรษ 1930 สิงคโปร์ขยายเมือง อาคารบ้านเรือนถูกสร้างครั้งใหญ่ โครงการเหล่านี้ต้องใช้หินแกรนิตเป็นวัตถุดิบ ในประเทศจึงเกิดเหมืองแกรนิตจำนวนมากเพื่อนำมาใช้สร้างเมือง หนึ่งในนั้นคือเหมืองชื่อ ‘Sin Seng’ ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและธรรมชาติ Bukit Timah
ไม่ไกลกันมีถนนชื่อว่า ‘Rifle Range’ ซึ่งตั้งมาจากชื่อชมรมยิงปืน The Bukit Timah Rifle Range and Gun Club ชมรมนี้ก่อตั้งและสร้างสนามยิงปืนสำหรับกองกำลังอาสาสมัครของสิงคโปร์ได้ใช้บริการ


เมื่อถึงยุค 90 สิงคโปร์ขยายเมืองเต็มที่ ไม่จำเป็นต้องก่อสร้างอาคารเยอะเหมือนเมื่อก่อน เหมืองแกรนิตจึงทยอยปิดตัวลง
ในขณะเดียวกัน โลกเปลี่ยนไป แนวคิดในการพัฒนาเมืองก็เปลี่ยนตาม สิงคโปร์พัฒนาเมืองด้วยแนวคิดขยายพื้นที่สีเขียว สร้างเมืองน่าอยู่ที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน
หนึ่งในเครื่องมือการสร้างเมืองยุคนี้ของสิงคโปร์ คือการกลับไปพัฒนาพื้นที่รกร้างให้กลับมาใช้งานใหม่ สร้างเครือข่ายพื้นที่สีเขียว ออกกฎหมายคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติให้ครอบคลุม ออกแบบพื้นที่ให้คนไปมาสะดวก เพื่อให้คนเข้าถึงพื้นที่ธรรมชาติได้ง่ายขึ้น

ถ้ามาสวนง่าย ก็อยากมาบ่อย
พอมาบ่อยก็เกิดความรู้ ความเข้าใจ และถ้าเกิดความรักด้วยก็จะยอดเยี่ยม
สิ่งเหล่านี้จะเป็นต้นทุนสำคัญในการสร้างเมืองให้ทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลง
‘Rifle Range Nature Park’ คือโครงการพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ล่าสุดของสิงคโปร์ ขนาดรวม 66 เฮกตาร์ เพิ่งเปิดตัวเมื่อปี 2022 นี่เอง
ชื่อของสวนนำมาจากชื่อถนนที่คนรู้จักกันดี (และไม่มีสนามยิงปืนแน่นอน) ภายในมีทางเดินเทรล 7 กิโลเมตร ลัดเลาะผ่านป่าและพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นบ้านของสัตว์ท้องถิ่น 300 สายพันธุ์ พรรณไม้ประจำถิ่นอีกกว่า 400 สายพันธุ์

สวนนี้มีคนสิงคโปร์มาใช้บริการเยอะ เดินทางสะดวกด้วยรถไฟใต้ดิน มีที่จอดรถ เชื่อมต่อกับเครือข่ายพื้นที่สีเขียว Rail Corridor ที่สำคัญคือสัตว์ท้องถิ่นยังอยู่ได้ ไม่ถูกรบกวน
งานยากแบบนี้ สิงคโปร์ทำได้อย่างไร?
National Parks Board หรือ NParks คือองค์กรที่ดูแลพื้นที่สีเขียวทั้งหมดของสิงคโปร์
Lim Liang Jim หนึ่งในผู้บริหารของ NParks คือคนที่ออกมาพบสื่อตอนเปิดสวนเมื่อปีที่แล้ว
ตอนหนึ่ง เขาเล่าว่าการสร้างสวนแห่งใหม่นี้ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์มาออกแบบทุกจุด
องค์ประกอบที่นำมาวางในสวนล้วนมีที่มาที่ไป ทำไปเพราะอะไร เพื่ออะไร ตอบได้หมด
โครงการ Rifle Range Nature Park เริ่มประกาศสร้างปี 2017
9 เดือนแรก ทีมงานศึกษาความหลากหลายของสายพันธ์ุ ติดกล้องในป่า 110 ตัวเพื่อศึกษา จะได้รู้ว่าพื้นที่ไหนสัตว์อยู่เยอะ ที่ไหนอยู่น้อย การพัฒนาจะได้แม่นยำ ไม่ทำร้ายธรรมชาติ
หัวใจสำคัญของการทำงานนี้ คือทำอย่างไรให้สัตว์เคลื่อนที่ได้อย่างอิสระและปลอดภัย
อันดับแรก เขาสร้างสะพานเชือกเส้นเล็ก ๆ ระหว่างต้นไม้ใหญ่และขุดอุโมงค์จิ๋วใต้ดิน เพื่อให้สัตว์ขนาดเล็กเคลื่อนที่ในสวนได้ปลอดภัย

สอง ทางเดินสำหรับผู้มาเยี่ยมชมถูกยกเป็นทางลอยฟ้า เพราะถ้าให้คนเดินบนพื้นเลย อาจทำลายพืชท้องถิ่นที่เปราะบางบางสายพันธุ์ รวมถึงอาจเดินเหยียบแมลงตัวเล็กที่มองแทบไม่เห็น
พอเป็นทางลอยฟ้า การเข้าสวนเลยจะประหลาดหน่อย ทางนี้ไปเชื่อมต่อกับห้างสรรพสินค้า Beauty World Centre บริเวณชั้น 4


ถ้าอยากมาสวน ต้องขึ้นบันไดเลื่อนห้าง 4 ชั้นถึงเข้ามาได้ เป็นวิธีเข้าสวนที่น่าสนใจมาก
แต่ในขณะเดียวกัน ทางเดินบางจุดก็โน้มลงระดับพื้นเพื่อให้คนศึกษาธรรมชาติอย่างใกล้ชิด รวมถึงเชื่อมต่อกับทางเทรลสำหรับคนรักการเดินป่า

สาม การออกแบบทางเดินและป้ายบอกทางเป็นมิตรกับผู้ใช้มาก
สวนนี้ค่อนข้างร้อน และร้อนมากถ้าคุณมาตอนบ่าย (เหมือนนักเขียนผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่มาตอนบ่าย 2)
สวนที่มีจุดเด่นทางธรรมชาติ มักมีป้ายบอกเอกลักษณ์ของสัตว์และพรรณพืช สวนนี้ก็มี แต่ป้ายมีขนาดเล็ก อ่านเร็ว ๆ ก็จบ จำนวนป้ายถูกซอยถี่ ๆ และกระจายไปทั่วสวน
คนเดินมาร้อน ๆ เลยดูป้ายได้เร็ว ไม่หงุดหงิด เข้าใจง่าย
บริเวณพื้นที่ชุ่มน้ำ ถ้าคนไม่เข้าใจจะไม่รู้เลยว่าต้นไม้รก ๆ ในพื้นที่มีคุณค่าแค่ไหน


ป้ายบริเวณนี้เล็กและวางถี่ อยู่ในจุดที่เห็นได้ชัด เข้าใจง่ายเช่นกัน
ส่วนป้ายขนาดใหญ่ ทีมงานจัดไว้ในอาคารใกล้ที่จอดรถ เย็น สบาย มีห้องน้ำและตู้กดน้ำให้บริการ
ทางเดินเป็นมิตรกับผู้พิการที่นั่งวีลแชร์ มีตัวเลขบอกระยะทางและทิศทางบนพื้น ตัวใหญ่ อ่านง่าย ไปสะดวก
เปิด 7 โมง ปิด 1 ทุ่ม เวลากำลังดี

ความจริงสวนนี้มีรายละเอียดเยอะมาก การสร้างก็ทำอย่างมีกลยุทธ์ เช่น แผนการฟื้นฟูป่าที่เรียกว่า ‘Forest Restoration Action Plan’ (FRAP) พื้นที่ในสวนบางจุดค่อนข้างเสื่อมโทรม ทีมงานเลยช่วยปลูกป่าเพื่อเร่งกระบวนการฟื้นฟู วางแผนว่าจะปลูกแบบไหน พันธุ์อะไร และถ้าปลูกแล้ว ต้นไม้ออกดอกออกผล สัตว์ท้องถิ่นมากินและคายเมล็ด ช่วยขยายสายพันธุ์ไปได้อีก
ใครอินเรื่องนี้ อยู่สวนนี้ได้เป็นชั่วโมง
สี่ อันนี้ยังสร้างไม่เสร็จ แต่เราว่าล้ำดี คือการสร้างระบบเตือนภัยสัตว์ข้ามถนน สำหรับคนที่ขับรถมาสวน
สวนอื่นทำแค่ป้าย สวนนี้เตรียมติดตั้งระบบอัตโนมัติ ถ้ามีสัตว์อยู่ใกล้ ๆ เตรียมวิ่งผ่านถนน จะมีไฟกะพริบเตือนรถให้ชะลอ ให้สัตว์ข้ามไปอย่างปลอดภัย
ระบบนี้เรียกว่า ‘Roadway Animal Detection System’ เริ่มทดลองใช้แล้วที่ถนน Old Upper Thomson เมื่อปี 2019 และจะเริ่มใช้ที่สวน Rifle Range ในปีนี้
เป้าหมายที่แท้จริงของ Rifle Range Nature Park คือการเป็นกันชนสีเขียว หรือ Green Buffer ระหว่างพื้นที่อยู่อาศัยกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและธรรมชาติ Bukit Timah


เมื่อประเทศเติบโต เมืองย่อมขยายตาม แน่นอนว่าวันหนึ่งคงมีคนหัวใส คิดโครงการที่กินพื้นที่ป่าในอนาคต
สวนนี้มีส่วนช่วยปกป้องความเจริญจากโครงการอสังหาริมทรัพย์ ไม่ให้รุกล้ำธรรมชาติจนเกินงาม
เมื่อป่ายังมี สัตว์และพืชจึงยังอยู่
แต่โครงการแบบนี้จะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าประเทศไม่เห็นความสำคัญของธรรมชาติ
ในงานเปิดสวน รองนายกรัฐมนตรี Lawrence Wong มาร่วมงาน เขาพูดกับสื่อมวลชนช่วงหนึ่งว่า พื้นที่สีเขียวแบบ Rifle Range สำคัญมากต่อเมือง ในช่วงโควิด คนสิงคโปร์มาเที่ยวสวนและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเยอะมาก


ต้นไม้ช่วยเยียวยาจิตใจ นั่นก็ส่วนหนึ่ง แต่สวนไหนที่มีความหลากหลายทางสายพันธุ์ คนไปแล้วจะรู้สึกอยากดูต่อ ศึกษาต่อ ช่วยให้คนหันเหความหนักใจจากโรคระบาดไปเรียนรู้ธรรมชาติ
ไม่เกินจริงเลยถ้าจะบอกว่าสิงคโปร์รอดจากโควิดได้ ส่วนหนึ่งเพราะพื้นที่สีเขียวช่วยไว้
ถ้าเรามองป่าเป็นแค่ป่า สวนเป็นแค่สวน สิ่งดี ๆ คงไม่เกิดขึ้น
พื้นที่ไหนมีความหลากหลายทางสายพันธุ์ ไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ควรรักษาไว้ อย่างน้อยมันพิสูจน์แล้วว่าช่วยชีวิตคนได้
คนและธรรมชาติไม่จำเป็นต้องอยู่ตรงข้ามกัน เราอยู่ร่วมกันได้ ถ้าคิดให้เยอะพอ
เหมือนที่สิงคโปร์ทำให้เห็นผ่านสวนนี้
ข้อมูลอ้างอิง
- www.channelnewsasia.com/singapore
- thelongnwindingroad.wordpress.com/tag/sin-seng-quarry
- thesmartlocal.com/read/rifle-range-nature-park
- www.nparks.gov.sg/gardens-parks-and-nature