“ซื้อใหม่เหอะ คุ้มกว่า” อาจเป็นคำพูดที่เราได้ยินบ่อย ๆ เวลาถามว่าจะซ่อมสิ่งนี้ยังไงหรือซ่อมที่ไหนดี

หากมองผิวเผิน การซื้อใหม่อาจดูคุ้มค่ากว่าการซ่อมสำหรับสิ่งของหลายชิ้น แต่แท้จริงแล้วการทำแบบนั้นมีต้นทุนแอบแฝงซ่อนอยู่ – ไม่ใช่แค่ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิทธิ์บางอย่างของเราที่ถูกพรากไปโดยไม่รู้ตัว

“สาเหตุที่ทำให้การซ่อมเป็นเรื่องลำบาก เพราะสินค้าทุกวันนี้ไม่ได้ออกแบบมาให้ซ่อม แต่ออกแบบให้เราซื้อใหม่ตลอดเวลา จะเห็นว่าถ้าเทียบกับ 10 – 20 ปีที่แล้ว สินค้าเดี๋ยวนี้พังง่ายกว่าแต่ก่อน และซ่อมยากกว่าแต่ก่อนมาก เพราะแบรนด์ต่าง ๆ พยายามทำทุกวิถีทางให้เราซื้อใหม่แทนการใช้ให้นานที่สุด” ภูมิ-ภาคภูมิ โกเมศโสภา Community Director ของกลุ่ม Reviv สะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับที่เราเคยได้ยินช่างซ่อมสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บ่นให้ฟัง

ภูมิเล่าว่ากลยุทธ์เบื้องหลังความซ่อมยากคือ ‘การออกแบบให้หมดอายุขัย’ (Planned Obsolescence) ซึ่งมี 6 วิธีด้วยกัน คือหนึ่ง ใช้วัสดุที่พังง่าย สอง ทำให้อะไหล่หายาก สาม ออกแบบให้แกะซ่อมยาก สี่ ไม่เปิดเผยข้อมูลวิธีการซ่อมต่อสาธารณะ ห้า ทำให้ค่าซ่อมแพงกว่าซื้อใหม่ หรือออกโปรโมชันส่งเสริมการซื้อใหม่จนราคาใกล้เคียงกับการซ่อม และหก การตลาดที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าสินค้าที่เรามีอยู่ตกรุ่นแล้ว

ผลก็คือกองภูเขาขยะขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และทรัพยากรมากมายถูกดึงมาใช้ผลิตสิ่งของชิ้นใหม่ ขณะที่ผู้บริโภคต้องเสียเงินซื้อใหม่บ่อยขึ้น

แล้วเราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อแก้ไขวงจรนี้

คำตอบคือผู้บริโภคต้องตระหนักใน ‘สิทธิ์ในการซ่อม’ หรือ Rights to Repair ของตนเองมากขึ้น และนั่นก็คือเป้าหมายของ Repair Café แห่งแรกของเมืองไทย

ณ ชั้น 2 ของร้าน Yellow Lane ย่านอารีย์ ในช่วงต้นเดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 กลุ่มผู้บริโภคอาสาที่ชื่อ Reviv จัดงาน Repair Café ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเป็นกิจกรรมที่เปิดให้คนทั่วไปนำสิ่งของมาซ่อมแบบฟรี ๆ ตั้งแต่เสื้อผ้า ตุ๊กตา อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จักรยาน รวมถึงบริการลับมีดลับกรรไกร โดยมีอาสาสมัครนักซ่อมนั่งประจำการอยู่ที่โต๊ะ หรือถ้าใครอยากเรียนรู้วิธีการซ่อม ก็พูดคุยและฝึกมือกับเหล่าอาสาสมัครได้ ซึ่งเขาและทีมตั้งใจไว้ว่าจะจัดกิจกรรมแบบนี้อย่างน้อยเดือนละครั้งหมุนเวียนไปตามย่านต่าง ๆ

นอกจากการซ่อมสิ่งของแล้ว ความพิเศษของวันนี้คือช่วงบรรยายที่ภูมิจะมาเล่าถึงความสำคัญของ ‘สิทธิ์ในการซ่อม’ ไปจนถึงกรณีศึกษาจากต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะเปิดหูเปิดตาแบบสุด ๆ แล้ว ยังทำให้เราเข้าใจว่าผู้บริโภคมีพลังสร้างความเปลี่ยนแปลงมากกว่าที่เราคิด

เรื่องเล่าจากต่างแดน

“เวลาที่พูดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน เรามักได้ยินแบรนด์ต่าง ๆ พูดถึงการรีไซเคิลบ่อยมาก ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ใช่วิธีการเดียวและไม่ใช่วิธีที่เราควรทำเป็นอันดับแรก เพราะการรีไซเคิลยังต้องใช้ทรัพยากร ใช้พลังงานสูง แต่การซ่อมเป็นการรักษามูลค่าของทรัพยากรไว้ได้มากที่สุด และลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้ดีที่สุด แต่ในไทยเรายังพูดเรื่องนี้กันน้อยมาก ๆ” ภูมิเล่าถึงสาเหตุที่เขาเลือกผลักดันประเด็นการซ่อม

ก่อนหน้านี้ภูมิเคยทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งที่นั่นเขาได้รู้จักกับเพื่อนที่ทำ Repair Café ทำให้แนวคิดนี้อยู่ในใจเขาตั้งแต่ตอนนั้น

Repair Café ที่เขาได้เห็น คือพื้นที่ที่ให้คนที่อยากซ่อมสิ่งของและคนที่มีความสามารถในการซ่อมได้มาเจอกัน โดยทั้งหมดเป็นกิจกรรมรูปแบบอาสาสมัคร คนที่นำสิ่งของมาซ่อมไม่ต้องจ่ายเงินใด ๆ ส่วนอาสาที่มาซ่อมให้ก็ได้มิตรภาพและความสุขเป็นค่าตอบแทน

จากจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่เนเธอร์แลนด์ แนวคิดนี้ค่อย ๆ ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดเป็น International Repair Café Network 2,948 แห่งทั่วโลก ซ่อมสิ่งของรวมกันเฉลี่ยกว่า 50,000 ชิ้นต่อเดือน อีกทั้งผู้ก่อตั้งยังได้เขียนคู่มือการทำ Repair Café ให้ดาวน์โหลดฟรีในเว็บไซต์ เพื่อให้คนที่อยากทำสิ่งนี้ในพื้นที่ของตนเองได้มีแนวทาง พูดง่าย ๆ ว่านี่ไม่ใช่แฟรนไชส์ แต่เป็นเครือข่ายของคนที่อยากเห็นสังคมและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น

ความตื่นตัวในประเด็นการซ่อมของโลกตะวันตกไม่ได้มีแค่ Repair Café เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการออกมาเรียกร้องของผู้บริโภค เพื่อให้ผู้ผลิตออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ซ่อมง่ายขึ้น

ในช่วงหนึ่งของสไลด์บรรยาย ภูมิแสดงภาพการประท้วงของผู้บริโภคที่รวมตัวกันถือป้ายที่มีข้อความว่า ‘Right to Repair’ และ ‘No More Disposable Products’

“การเรียกร้องของพวกเขา นำมาสู่การที่สหภาพยุโรปออกกฎหมาย 4 ฉบับที่พูดถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์และสิทธิ์ของผู้บริโภค ฉบับแรกมีชื่อว่า Sales of Goods Directive ที่กำหนดว่า หากผู้บริโภคพบว่าสินค้ามีความบกพร่องในช่วง 2 ปีแรก ทางแบรนด์ต้องซ่อมให้ฟรี ฉบับที่ 2 มีชื่อว่า Ecodesign for Sustainable Products ที่เป็นข้อกำหนดของการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ยั่งยืน เช่น เรื่องความทนทาน ซ่อมง่าย ถอดประกอบง่าย รีไซเคิลง่าย ประหยัดพลังงาน มีคาร์บอนฟุตพรินต์ต่ำ”

ส่วนฉบับที่ 3 คือ Empowering Consumers for the Green Transition ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่บอกว่าบริษัทต้องให้ข้อมูลตามจริง รวมถึงระบุคะแนนความซ่อมง่ายของผลิตภัณฑ์ หรือถ้าไม่มี ก็ต้องให้ข้อมูลเพิ่มเกี่ยวกับวิธีการซ่อม

และฉบับสุดท้าย คือ Common Rules Promoting the Repair of Goods ที่บอกว่า หากสินค้ามีความบกพร่องและบริษัทซ่อมได้ในราคาไม่สูงเกินกว่าการเปลี่ยนใหม่ ทางบริษัทต้องเลือกซ่อมเป็นอันดับแรกแทนที่จะเปลี่ยนสินค้าใหม่ให้ รวมถึงข้อกำหนดที่ว่าทุกประเทศในสหภาพยุโรป ภาครัฐต้องทำแพลตฟอร์มระดับประเทศที่เชื่อมผู้บริโภคกับช่างซ่อมไว้ด้วยกัน

“เขาประเมินประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการผ่านกฎหมาย 4 ฉบับนี้ว่าจะเกิดการจ้างงานและลงทุนในการซ่อมมากขึ้น ผู้บริโภคจะประหยัดเงินได้ถึง 6.7 ล้านล้านบาท ภายใน 15 ปี และลดก๊าซเรือนกระจกได้ 18 ล้านตัน” ภูมิสรุปความสำคัญของกฎหมาย 4 ฉบับให้เราเข้าใจอย่างง่าย ๆ

ผลจากการผลักดันของผู้บริโภคไม่ได้ส่งผลแค่กฎหมายบนหน้ากระดาษเท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติ บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Apple ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นคู่อริกับการซ่อมมาตลอดก็ยังยอมปรับเปลี่ยนการออกแบบเพื่อให้สินค้าซ่อมง่ายขึ้น เช่น iPhone 14 ที่ผู้ใช้ถอดเคสด้านหลังเองได้ ส่วน iPhone 15 ก็จะปรับมาเป็นสายชาร์จ USB-C ที่หาง่ายขึ้น รวมถึงบริษัท Apple ทางฝั่งสหรัฐอเมริกาก็กำลังจะปล่อยคู่มือการซ่อมสู่สาธารณะ

“การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ได้เกิดจาก Apple ใส่ใจเรา แต่เกิดจากการเรียกร้องของภาคประชาสังคมที่เรียกร้องเรื่องสิทธิ์ในการซ่อมอย่างจริงจัง”

การที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการซ่อม ยังนำมาสู่การที่มีสินค้าที่ให้ความสำคัญด้านนี้ออกสู่ตลาด เช่น ที่เนเธอร์แลนด์มีบริษัทโทรศัพท์มือถือที่ชื่อ Fairphone ซึ่งภูมิเล่าว่าเป็นแบรนด์ที่มีจุดขายคือการออกแบบให้ผู้ใช้ใช้งานได้ยาวนานอย่างต่ำ 8 ปี และตัวเครื่องก็มาพร้อมประกันนาน 5 ปี ถอดประกอบได้ด้วยไขควงด้ามเดียว และอัปเดตเฟิร์มแวร์ได้เรื่อย ๆ ตลอด 8 ปี

“การส่งเสริมสิทธิ์ในการซ่อม นอกจากช่วยสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยคืนอำนาจและสิทธิ์ของผู้บริโภคที่จะเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่ดีจากระบบธุรกิจที่มุ่งทำกำไรสูงสุด จะทำให้เราได้สินค้าที่คุณภาพดีขึ้น คงทนมากขึ้นและซ่อมง่ายขึ้น”

จาก Reviv สู่ Repair Café แห่งแรกของไทย

หลังจากที่ภูมิตัดสินใจกลับมาอยู่ไทยในช่วงโควิดเพื่อดูแลครอบครัว เขาจึงรวมตัวกับเพื่อนเพื่อก่อตั้งกลุ่ม Reviv ซึ่งเขานิยามตัวเองว่าเป็นกลุ่มผู้บริโภคอาสาที่อยากผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียนในไทยผ่านการซ่อมและดูแลสินค้า

“จากการทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนมา 9 ปี เราได้เห็นว่าบทสนทนาที่ไทยจะอยู่แค่รีไซเคิล เราจะอยู่แค่การรีไซเคิลนี้อีกนานแค่ไหนกว่าเราจะพูดถึงทางออกที่ควรทำก่อนอย่างการซ่อม ในเมื่อตอนนั้นยังไม่มีใครทำ เราก็เลยทำ เพื่อกระตุ้นให้ความตื่นตัวเรื่องนี้เกิดเร็วขึ้น”

งานช่วงแรกของ Reviv เป็นการส่งเสริมการซ่อมและใช้ซ้ำในอุตสาหกรรมแฟชั่นเป็นหลัก พร้อม ๆ กับการสร้างงานให้ผู้ลี้ภัยในงานซ่อมเสื้อผ้า ต่อมาพวกเขาก็ขยายขอบเขตการทำงานกว้างขึ้น ผ่านแนวทาง 3 ข้อด้วยกันคือ

หนึ่ง สร้างเครื่องมือที่ผู้บริโภคส่งเสียงถึงภาคธุรกิจและภาครัฐได้ สอง สร้างแพลตฟอร์มที่ให้ผู้บริโภคค้นหาร้านซ่อมได้ง่าย และสาม สร้างเครือข่ายของผู้บริโภคที่สนใจการซ่อม

“สำหรับข้อแรก ตอนนี้เรากำลังออกแบบเกณฑ์การประเมินความซ่อมง่ายของสินค้า (Repairability Index) เป้าหมายคืออยากให้ประเทศไทยมีเครื่องมือประเมินความซ่อมง่ายอันแรกที่มีความโปร่งใส มีการนำเสนอแบรนด์ดีเด่น เพื่อกระตุ้นให้เกิดบทสนทนาเรื่องการซ่อมกับทางผู้ผลิตสินค้ามากขึ้น ซึ่งตอนนี้เราได้ร่างแรกแล้ว และปีหน้าก็น่าจะได้เห็นกัน ซึ่งในอนาคตเราก็หวังว่าภาครัฐจะนำเครื่องมือนี้ไปพัฒนากฎหมายที่ส่งเสริมการซ่อม”

ส่วนข้อที่ 2 พวกเขาสร้างแพลตฟอร์มชื่อ WonWon เป็นเว็บไซต์ที่จะให้ข้อมูลร้านซ่อมเสื้อผ้าทั่วกรุงเทพฯ มีข้อมูลเวลาเปิด-ปิด และรีวิวจากลูกค้า เพื่อให้คนที่อยากซ่อมเสื้อผ้าหาร้านซ่อมใกล้บ้านได้สะดวกขึ้น

“ตอนนี้ยังเป็นเวอร์ชันทดลองเพื่อทดสอบไอเดียก่อน ซึ่งในอนาคตเราก็อยากขยายพื้นที่ไปต่างจังหวัด ขยายประเภทการซ่อมให้มากกว่าแค่เสื้อผ้า และทำระบบให้ผู้ใช้เพิ่มข้อมูลร้านซ่อมเข้าไปเองได้”

และสุดท้าย ในการสร้างเครือข่ายและชุมชนก็ออกมาเป็นกิจกรรม Repair Café ซึ่งจะหมุนเวียนจัดตามย่านต่าง ๆ อย่างน้อยเดือนละครั้ง จากนั้นก็จะจัดทำเป็นคู่มือการทำ Repair Café ฉบับประเทศไทยเพื่อให้คนที่สนใจแนวคิดนี้นำไปใช้ต่อ

“ความฝันของเราคืออยากเห็นประเทศไทยมี Repair Café หลาย ๆ จุด สร้างเป็นเครือข่ายที่คนพูดคุยกันได้ เป็นพื้นที่รณรงค์ และกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มเล็ก ๆ นี่แหละจะเป็นกระบอกเสียงให้กลุ่มผู้บริโภคที่เหลือ เพราะถ้าเราไม่พูด ก็จะเป็นภาคธุรกิจที่กำหนดทิศทางทุกอย่าง”

มาถึงวันนี้ ทีม Reviv มีอาสาสมัครกว่า 30 ชีวิตทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งพวกเขายินดีเปิดรับทุกคนที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นอาสาช่างซ่อมที่อยากมาร่วมงาน Repair Café ครั้งถัดไป อาสาผู้จัดงาน หรือแม้แต่ใครมีสถานที่ที่อยากให้จัดกิจกรรมก็ติดต่อพวกเขาได้  

“เราทำงานด้าน Digital Marketing ซึ่งเป็นการส่งเสริมการบริโภค แต่เราเชื่อว่าพลังของผู้บริโภคไปไกลได้มากกว่านั้น เมื่อรวมกันแล้วจะผลักดันทิศทางของตลาดได้ เราเลยอยากใช้มันเพื่อสื่อสารเรื่องความยั่งยืนด้วย ซึ่งวันนี้เราทดลองกับเรื่องง่าย ๆ ที่ทำได้ยากอย่างการออกมาพูดเรื่องการซ่อม ซึ่งถ้ากลับไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้นได้ พฤติกรรมการบริโภคที่ยั่งยืนอื่น ๆ ก็จะตามมา และแน่นอนว่าตลาดก็จะต้องหมุนตาม” ฝน-เย็นจิต มีอัศวเป็นมงคล หนึ่งในทีมงานเบื้องหลังแลกเปลี่ยนให้ฟัง

ในขณะที่ มีมี่-ปวิตรา ชำนาญโรจน์ อีกหนึ่งอาสาด้านการหาทุน และเป็นผู้สนใจเศรษฐกิจหมุนเวียนตั้งแต่สมัยทำงานที่ Chula Zero Waste ก็เล่าถึงความสำคัญของงานนี้ว่า 

“เราว่ากิจกรรมนี้ได้มากกว่าการซ่อม แต่ยังทำให้คนได้มารู้จักกันด้วย เราเชื่อว่าบทสนทนาวันนี้ไม่ได้อยู่แค่เรื่องการซ่อมแน่ ๆ เราอยากเห็นชุมชนแบบนี้เกิดขึ้นในหลาย ๆ ย่าน และอนาคตก็อยากให้มีเป็นจุดถาวรเหมือนในต่างประเทศที่เขาจะเปิด Repair Café ที่โบสถ์หรือเทศบาลเดือนละครั้ง 

“หลายคนอาจมองว่าการซื้อใหม่ง่ายกว่าซ่อม แต่การทำแบบนั้นมันไม่ยั่งยืน เพราะกระบวนการซื้อใหม่ใช้ทรัพยากรตลอดเวลา นอกจากนั้น การซ่อมคือการอยู่กับสิ่งของชิ้นนั้น การได้รักษาของที่เรารักมันทำให้มีความสุขนะ มันต่ออายุความทรงจำให้ของชิ้นนั้น”

กำไรของธุรกิจ VS คุณภาพชีวิตของผู้บริโภค

หนึ่งในข้อโต้แย้งของภาคธุรกิจที่ต่อต้านการซ่อมก็คือแนวคิดที่ว่า เมื่อคนซื้อใหม่น้อยลง จะทำให้เศรษฐกิจแย่ลง ซึ่งภูมิก็กล่าวว่าในตัวบทกฎหมายของสหภาพยุโรปมีเขียนอธิบายต่อประเด็นนี้เช่นกัน โดยเขียนไว้ว่า The losses of businesses therefore reflect a transfer from business revenues to consumer welfare. หรือสรุปความได้ว่าภาคธุรกิจอาจสูญเสียรายได้บางส่วนไป แต่ส่วนที่หายไปนั้นก็ได้แปรเปลี่ยนมาเป็นคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้บริโภค

“การที่มีประโยคนี้อยู่ในกฎหมายของสหภาพยุโรป แสดงถึงทัศนคติที่ไปไกลมาก ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราทึ่งและประทับใจที่สุด แม้ว่าธุรกิจอาจได้ผลกระทบในยอดขาย แต่ถึงที่สุดแล้วมันคือการที่ผู้บริโภคมีเงินเก็บออมมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้ใช้สินค้าที่ดีขึ้น”

นอกจากนั้น เขาก็ชวนมองถึงเป้าหมายแท้จริงของคำว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ว่า เราอยากให้เศรษฐกิจเติบโตเพื่อความเป็นอยู่ของเราจะได้ดีขึ้น แต่ในความเป็นจริงของประเทศไทย มันกลับมักไม่เป็นเช่นนั้น

“เป้าหมายสูงสุดของเศรษฐกิจก็คือคุณภาพชีวิตของทุกคน แต่ถ้ามาดูในบ้านเรา การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยคือเจ้าสัวทุกคนโตขึ้น แต่ทำไมชีวิตคนธรรมดากลับไม่ดีขึ้นเลย ดังนั้นการที่ประโยคนั้นจะอยู่ในกฎหมายของสหภาพยุโรปได้ แปลว่าเขาต้องมองเห็นแล้วว่าการสูญเสียของธุรกิจบางส่วนจะไปเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคได้มากกว่า นี่คือความคิดที่ไปไกลมาก”

ติดตามกิจกรรมของ Repair Café ได้ที่ Facebook : Reviv

กิจกรรม Repair Café ครั้งที่ 2 จะจัดขึ้นวันอาทิตย์ที่ 21 มกราคม ที่ WAMP co-crafting space & studio (MRT ท่าพระ) โดยมีการซ่อมสิ่งของ 4 ประเภท คือเสื้อผ้า อุปกรณ์ Outdoor ลับมีด ลับกรรไกร เครื่องใช้ไฟฟ้า (บางชนิด) โดยดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Facebook : Reviv

ส่วนใครสนใจเป็นอาสาช่างซ่อม สมัครได้ที่นี่

Writer

Avatar

เมธิรา เกษมสันต์

นักเขียนอิสระ เจ้าของเพจ ‘Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ’ สนใจเรื่องธรรมชาติ ระบบนิเวศ สรรพสัตว์ โลกใต้ทะเล และการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลงานหนังสือแล้ว 2 ชุด คือ ‘สายใยที่มองไม่เห็น’ และ ‘สายใยใต้สมุทร’

Photographer

โตมร เช้าสาคร

โตมร เช้าสาคร

ชอบถ่ายวิวมากกว่าคน ชอบกินเผ็ดและกาแฟมาก เป็นคนอีโค่เฟรนลี่ รักสีเขียว ชวนไปไหนก็ได้ไม่ติด ถ้ามีตัง