17 ชั่วโมงนับจากรถด่วนพิเศษทักษิณารัถย์ ออกจากกรุงเทพฯ ตอนนี้เรามาถึงปาดังเบซาร์ สถานีรถไฟระหว่างประเทศที่เปิดเดินรถข้ามไปมาระหว่างไทย-มาเลเซียตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6

เมื่อขบวนรถ Shuttle จากหาดใหญ่จอดสนิทที่ชานชาลาที่ 2 ผู้โดยสารทุกคนโดนต้อนให้ออกจากขบวนรถเข้าไปที่ห้องตรวจคนเข้าเมือง ที่นี่ด่าน ตม. ฝั่งไทยและมาเลเซียอยู่ในชานชาลาเดียวกัน ทุกคนต้องเดินตามเส้นทางที่กำหนด

มวลมหาประชาชนมากมายลงจากรถไฟมาพร้อมกระเป๋าใบใหญ่ พร้อมกรูกันเข้าไปที่ด่าน เราดันลงจากรถช้าก็เลยรั้งอยู่ปลายแถว ตอนนี้เหลือเวลาอีกแค่ครึ่งชั่วโมงก่อนที่รถไฟด่วนไปกัวลาลัมเปอร์จะออก แต่เรายังอยู่ท้ายแถวและไม่มีท่าทีว่าคิวข้างหน้าจะขยับเลย อาจเป็นเพราะเป็นทัวร์จีนคณะใหญ่ที่ต้องกรอกใบ ตม. ด้วยล่ะมั้ง

“มีใครจะต่อรถไปกัวลาลัมเปอร์ไหมครับ” เสียงพี่เจ้าหน้าที่ ตม. ดังแทรกความวุ่นวายขึ้นมา

“ผมไปพี่ ผมไป” เราชูสุดแขนโบกตั๋วในมือไปมา นี่เป็นโอกาสเดียวที่เราจะต้องได้สิทธิพิเศษ เพราะถ้าไม่บอกไปว่าเราจะเดินทางต่อ รับรองว่าต้องต่อคิววนไปจนรถไฟออกอย่างแน่แท้

แล้วก็จริงอย่างที่คาด พี่เจ้าหน้าที่ ตม. โบกมือให้เราเดินไปอีกช่องหนึ่งซึ่งเป็น Fast Lane ท่ามกลางพี่น้องชาวแผ่นดินใหญ่ที่มองงงๆ ว่าทำไมเราและคนอีก 3 – 4 คนถึงได้แหวกแถวไปตรวจหนังสือเดินทางก่อนพวกเขา พอถึงหน้าช่องกระบวนการตรวจก็เริ่มขึ้น

“ไปไหนคะน้อง”

“กัวลาลัมเปอร์ครับ”

“ไปกี่วันเนี่ย”

“เกือบอาทิตย์น่ะพี่ ไปสิงคโปร์ต่อด้วย”

พี่เจ้าหน้าที่ ตม. เหลือกตาขึ้นมามองพร้อมพลิกหน้าพาสปอร์ตของเราเพื่อเช็กว่าหน้าตรงแน่นอน

“คล้ำลงนะน้อง สงสัยจะเที่ยวบ่อย….อะ เดินทางปลอดภัยค่ะ” เธอยื่นพาสปอร์ตกลับมาให้เราด้วยรอยยิ้ม ก่อนจะตะโกนเรียกคนถัดไปด้วยเสียงหลายเดซิเบล “คนต่อไปค่า…!!!”

รถไฟ, กัวลาลัมเปอร์

เราผ่าน ตม. ฝั่งบ้านเกิดตัวเองเรียบร้อย ขั้นตอนต่อไปคือ ตม. เพื่อนบ้าน เราลากกระเป๋าไปตามทางอีกนิดหน่อยก็เจอเจ้าหน้าที่ ตม. มาเลเซียกวักมืออยู่ไหวๆ ฝั่งมาเลเซียใช้วิธีสแกนนิ้วมือแทนการกรอกใบ ตม. ไม่ว่าคุณจะเป็นคนชาติใดก็ตาม เราโชว์ตั๋วรถด่วนไปกัวลาลัมเปอร์ให้พี่เจ้าหน้าที่ ตม. สาวดู เพื่อบอกเธอว่าเราจะเดินทางด้วยรถไฟต่อ ควบคุมเวลาให้เราหน่อย อย่าถามเยอะเดี๋ยวตกรถ เธอผู้คงพบเจอคนตกรถไฟมาเยอะเลยไม่ถามอะไรเราเลย แถมจัดการให้เราผ่านไปอย่างเร็วด้วยยิ้มมลายู เพื่อไปเจอด่านสุดท้ายคือการตรวจกระเป๋า

กระบวนการทั้งหมดกินเวลาประมาณ 10 นาที ถือว่าไวมากยิ่งกว่าวิ่ง 4×100

โชคดีที่เราจองตั๋วรถไฟมาแล้วทั้งไปและกลับ เราเดินออกมาที่ชานชาลาเดิม ที่นั่นมีรถไฟชานเมืองจอดอยู่ขบวนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ขบวนของเรา

รถไฟที่เราจะขึ้นนั้นเป็นรถไฟด่วนความยาว 6 ตู้ จอดอยู่อีกชานชาลาหนึ่ง วิธีขึ้นรถไฟที่เหมือนกันทั่วโลกคือเราต้องรู้เลขขบวนรถไฟของเรา ถึงแม้ว่ารูปลักษณ์ภายนอกของรถไฟจะแตกต่างกันหรือเปลี่ยนไปยังไง แต่เลขขบวนรถยังไงก็จะเหมือนเดิม

เหนือหัวของเราคือจอขนาดใหญ่ที่บอกว่าขบวนรถด่วน ETS จอดอยู่ในชานชาลาที่ 1

รถไฟ, กัวลาลัมเปอร์

สถานีรถไฟในมาเลเซียเป็นระบบปิดเกือบทั้งประเทศ

คำว่า สถานีระบบปิด หมายถึงการแยกพื้นที่ระหว่างคนเดินทางและผู้มารับมาส่ง ถ้านึกไม่ออกให้นึกภาพสถานีรถไฟฟ้าที่แบ่งส่วนชัดเจนระหว่างพื้นที่ส่วนกลาง (Unpaid Area) และผ่านเข้าเกตไปจะเป็นพื้นที่ของผู้โดยสาร (Paid Area) นอกจากเป็นสถานีระบบปิดแล้ว ทางรถไฟสายตะวันตกในมาเลเซียตั้งแต่สถานีปาดังเบซาร์ยาวไปตลอดถึงสถานีเกอมัส (Gemas) เป็นทางคู่ติดระบบเพื่อจ่ายพลังงานให้กับรถไฟด้วยสายส่งไฟฟ้าเหนือหัว แบบเดียวกับ Airport Rail Link บ้านเรา

ขนาดความกว้างทางที่มาเลเซียใช้นั้นมีความกว้าง 1 เมตรถ้วนเท่าบ้านเราเป๊ะ ใครบอกว่าทางรถไฟของเราเชื่อมต่อกับใครไม่ได้เพราะขนาดทางรถไฟไม่เท่ากัน ขอให้เข้าใจกันใหม่ ส่วนสถานีในเส้นทางสายใต้และสายตะวันออกของประเทศเขายังคงเป็นระบบเปิดแบบบ้านเรา ที่ญาติพี่น้องสามารถเข้ามาส่งได้ถึงในชานชาลา

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2559 ที่เราเห็นภาพรถไฟ ETS กับหัวรถจักรของไทยจอดคู่กันที่สถานีปาดังเบซาร์จนเกิดกระแสใน Social Network ใหญ่โตว่ารถไฟมาเลเซียล้ำหน้าที่ใช้รถไฟหน้าตาโมเดิร์น ส่วนรถไฟยังใช้รถจักรดีเซลหน้าตาล้าสมัยอยู่

มันเป็นรถไฟคนละฟังก์ชันกัน

รถไฟฟ้าชุด (EMU) ใช้สำหรับขนส่งผู้โดยสาร

ส่วนรถจักรดีเซลใช้ทั้งขนส่งผู้โดยสารและสินค้า

รถไฟ, กัวลาลัมเปอร์

รถไฟฟ้าชุด (EMU) ของมาเลเซีย

รถไฟ, กัวลาลัมเปอร์

รถจักรดีเซลของมาเลเซีย

แม้ว่าคนทั่วไปจะเข้าใจว่าเมื่อเปลี่ยนเป็นระบบไฟฟ้าแล้วจะยกเลิกระบบรถดีเซลทั้งหมด แต่จริงๆ แล้วระบบไฟฟ้าและดีเซลเป็นระบบที่ใช้ควบคู่กัน ยุทธศาสตร์ของประเทศที่ใช้ไฟฟ้าในการเดินรถนั้นจะมองว่าเส้นทางไหนที่มีขบวนรถวิ่งเยอะ ก็จะถูกติดตั้งระบบไฟฟ้าให้รถไฟฟ้าวิ่งได้ ส่วนในเส้นทางย่อยที่ขบวนรถไม่หนาแน่นก็ใช้ระบบรถไฟดีเซล

ส่วนระบบดีเซลนั้นก็ยังมีใช้ควบคู่กันไป บางประเทศก็ยังมีรถจักรไอน้ำวิ่งขวักไขว่ในเชิงท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน ประโยชน์สูงสุดของรถจักรดีเซลก็คือเมื่อระบบไฟฟ้ามีปัญหา รถจักรดีเซลเหล่านั้นก็จะเป็นฮีโร่ขี่ม้าขาวมาช่วยให้รถไฟฟ้าที่น็อกจากระบบไฟสามารถวิ่งได้ต่อ โดยทั้งรถไฟฟ้า รถไฟดีเซล และรถจักรไอน้ำ สามารถวิ่งบนทางเดียวกันได้อย่างสามัคคีกลมเกลียว จะต่างกันก็แค่ระบบพลังงานของพวกมันเท่านั้น

รถไฟ, กัวลาลัมเปอร์

กลับมาที่การเดินทางของเรา

รถไฟโดยสารในสายตะวันตกเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งจะมีรถไฟฟ้าชานเมืองวิ่งระหว่างปาดังเบซาร์-บัตเตอร์เวอร์ธ ใช้ความเร็ว 120 กม./ชม. ไม่มีห้องน้ำ เน้นยืนมากกว่านั่ง ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง มีรถออกทุกๆ 1 – 2 ชั่วโมง

ส่วนรถไฟด่วนที่เราจะนั่งมีแต่นั่งไม่มียืน ใช้ความเร็วสูงสุด 143 กม. / ชม. แต่ส่วนใหญ่จะคงที่อยู่ที่ 120 – 130 กม./ชม. ใช้เวลาเดินทางไปถึงกัวลาลัมเปอร์ประมาณ 5 ชั่วโมง

 

Electric Train Service (ETS)

ETS คือชื่อแบรนด์ของรถด่วนที่ใช้รถไฟฟ้า EMU ของมาเลเซีย ย่อมาจากคำว่า Electric Train Service

รถไฟขบวน EG9221 ของเราจอดอยู่ในชานชาลาที่ 1 หน้าตาของรถไฟขบวนนี้ดูโฉบเฉี่ยว หน้าแหลมเปี๊ยวละม้ายคล้ายรถไฟความเร็วสูง จนคนเข้าใจว่ามาเลเซียมีรถไฟความเร็วสูงใช้แล้ว เจ้า EMU ชุดนี้ผลิตจากประเทศจีน ตัวรถเน้นสีขาว ขอบหน้าต่างสีดำ และประกอบด้วยแถบสีน้ำเงินเหลืองซึ่งเป็นสีประจำองค์กรของ KTMB (การรถไฟมาเลเซีย) มีความยาว 6 ตู้ถ้วน

รถไฟ, กัวลาลัมเปอร์

รถไฟฟ้าด่วน ETS วิ่งจาก Padang Besar – KL Sentral

การนับตู้ของ ETS จะแตกต่างจากรถไฟไทยคือจะนับตามตัวอักษรภาษาอังกฤษ A B C D E และ F

ตู้ A และ F เป็นรถที่มีห้องขับ ไม่มีห้องน้ำ

ตู้ B และ E มีที่นั่งโดยสาร และห้องน้ำ 1 ห้อง

ตู้ C มีที่นั่งโดยสารและบาร์อาหารที่สามารถซื้ออาหารประทังชีวิตระหว่างทางได้ รวมถึงมีห้องละหมาดอยู่ในตู้นี้

ตู้ D เป็นรถนั่งที่มีพื้นที่สำหรับผู้พิการ ห้องน้ำขนาดใหญ่

รถไฟ, กัวลาลัมเปอร์

นั่นหมายความว่าในรถไฟขบวนนี้มีห้องน้ำเพียง 3 ห้องเท่านั้น นั่นคือปัญหาพอสมควรเพราะจะมีคนยืนรอใช้ห้องน้ำแน่นอน (แล้วบางช่วงเวลาคิวไม่ได้สั้นๆ เลยนะจ๊ะ) ซึ่งตรงนี้รถไฟไทยเราชนะเลิศตรงที่ทุกตู้มีห้องน้ำให้บริการอย่างน้อย 2 ห้องใน 1 ตู้

เรื่องต่อมาที่น่าจะสร้างความปวดหัวให้กับการจองตั๋วรถไฟมาเลเซียคือการจัดวางที่นั่ง ในรถไฟ 1 ตู้จะมีที่นั่ง 2 แบบคือหันหน้าไปทางเดียวกับรถวิ่งกับหันหลังทิศทางที่รถวิ่ง

รถไฟ, กัวลาลัมเปอร์

ความยากยิ่งกว่าคือเราต้องจำให้ได้ว่าที่นั่งแถวไหนหันหน้าไปตามทิศทางที่รถวิ่ง แถวไหนหันหลังให้ทิศทางขบวนรถ ถ้าหากรถไฟขบวนนั้นวิ่งตรงดิ่งจากปาดังเบซาร์ไปกัวลาลัมเปอร์ เราจะหายห่วงกับทิศของที่นั่งที่จะหันแบบนั้นไปตลอด ถ้าเลือกผิดชีวิตจะเปลี่ยนโดยทันที

ความดีงามของ ETS คือมีปลั๊กไฟอยู่ใต้ที่นั่งทุกที่นั่ง เราไม่ต้องกังวลเรื่องแบตเตอรี่โทรศัพท์จะหมด แต่ควรกังวลว่าเพื่อนร่วมทางจะยอมให้เราชาร์จหรือเปล่า เพราะมันมีแค่รูเสียบเดียว

ซึ่งเราโชคร้ายที่คนนั่งข้างๆ ไม่ยอมให้เราแชร์ปลั๊กเลย T_T

 

ล้อหมุน

10.00 น. ล้อรถไฟหมุนตรงเวลาเป๊ะ การออกตัวของ ETS ถือว่าใช้ได้ เพราะไม่นานนักความเร็วก็พุ่งขึ้นไปถึง 80 กม. / ชม. ทัศนียภาพนอกหน้าต่างเป็นที่ราบสลับป่าปาล์ม ภาคเหนือของมาเลเซียคล้ายคลึงกับภาคใต้ของไทยมาก จนเอาเข้าจริงเราก็แยกไม่ออก  

รถไฟ, กัวลาลัมเปอร์

เราสังเกตเห็นว่าสองข้างทางรถไฟนั้นถูกตีรั้วกั้นไว้ตลอดแนว แบบนี้เรียกว่า ‘ทางรถไฟระบบปิด’ คือปิดไม่ให้ใครเข้ามาบนทางรถไฟเลยเหมือนกับมอเตอร์เวย์ ตอนแรกทางรถไฟสายนี้ไม่ได้ต่างอะไรกับบ้านเรา ทั้งเป็นทางเดี่ยว มีถนนตัดผ่านทั้งแบบมีและไม่มีไม้กั้น สองข้างทางเปิดโล่ง ใครจะเดินขึ้นมาบนทางรถไฟก็ได้ เมื่อการรถไฟมาเลเซียมีโครงการปรับปรุงอัพเกรดให้ทางรถไฟสายนี้เป็นระบบทางคู่พ่วงการติดระบบไฟฟ้า ทางรถไฟจึงจำเป็นต้องทำให้เป็นทางเฉพาะ เพื่อให้การเดินรถไฟราบรื่นและปลอดภัยจากปัจจัยภายนอกที่สุด

รถไฟ, กัวลาลัมเปอร์ รถไฟ, กัวลาลัมเปอร์ รถไฟ, กัวลาลัมเปอร์

เราหิวแล้ว และเพิ่งระลึกได้ว่าตั้งแต่ลงจากรถด่วนพิเศษทักษิณารัถย์มาเรายังไม่ได้กินอะไรเลย นอกจากโค้ก 1 กระป๋อง

ท้องมันสั่งให้เราเดินไปที่ Coach C เพื่อกินข้าวเช้าบวกข้าวเที่ยง

รถไฟ, กัวลาลัมเปอร์

ที่ Coach C เคาน์เตอร์บาร์เต็มไปด้วยขนมและข้าวกล่องพร้อมเมนูเป็นภาษามลายูวางเอาไว้

เวรแล้ว…ฉันอ่านภาษามลายูไม่ออก ต้องใช้เดชดัชนีจิ้มแล้วสินะว่าจะกินอะไร ว่าแต่ไอ้ข้าวกล่องแต่ละอย่างมันคืออะไรกันแน่

เมนูแรกบ่งบอกว่ามันคือนาซิเลอมัก (Nasi Lemak) อาหารเชิดหน้าชูตาของมาเลย์ที่เป็นข้าวหุงด้วยกะทิ อันนี้ขอผ่านเพราะเคยมีประสบการณ์ไม่ค่อยดีมาก่อน

เมนูถัดไปเป็นบะหมี่สีส้มๆ ที่ดูไม่มีผักและท่าทางจะเผ็ด

เมนูถัดไปพอเดาได้ว่าเป็นข้าวคลุกมะเขือเทศ เอาล่ะว่ะ อันนี้น่าจะผ่าน

เราจิ้มนิ้วไปที่อาหารชุดนี้ที่เล็งเอาไว้พร้อมน้ำเปล่า 1 ขวด ซึ่งอาบังประจำเคาน์เตอร์อาหารก็เข้าใจดี เขาพยักหน้าให้เราแล้วเอากล่องอาหารไปเวฟ ไม่กี่อึดใจข้าวกล่องไซส์เท่าข้าวเซเว่นพร้อมน้ำเปล่าก็ถูกใส่ถุงกระดาษมาให้เรา ซึ่งเราเลือกที่จะนั่งตรงบาร์ ผึ่งแดดยาม 11 โมงตามเวลาท้องถิ่นประเทศมาเลเซีย พร้อมกินข้าวมื้อแรกของวันที่อร่อยใช้ได้เลยล่ะ

รถไฟ, กัวลาลัมเปอร์

 

ระหว่างรางทางรถไฟ

การเดินทางด้วยรถไฟ จุดเด่นของมันก็คือวิวข้างทาง

ที่นี่ก็เช่นกัน นอกจากสวนปาล์มตลอดทางตั้งแต่ปาดังเบซาร์ยันสถานีปาริตบุนตาร์ (Parit Buntar) แล้ว เมื่อออกจากสถานีบากันเซไร (Bagan Serai) ทางรถไฟก็ยกตัวสูงขึ้น เบื้องหน้าคือเวิ้งน้ำที่กว้างใหญ่ของอ่างเก็บน้ำบูกิตเมราห์ (Bukit Merah)

ถ้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์คือรถไฟลอยน้ำของไทย บูกิตเมราห์ก็คือรถไฟลอยน้ำของมาเลเซีย

ทางรถไฟสายเดิมเป็นคันทางวิ่งตัดกลางผ่านอ่างเก็บน้ำนี้ ส่วนทางรถไฟปัจจุบันเป็นสะพานทอดยาวเหนืออ่างเก็บน้ำ ถึงแม้ว่าบูกิตเมราห์จะกว้างใหญ่เทียบกับเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ไม่ได้เลย (เพราะเล็กกว่าเยอะ) แต่ภาพรถไฟวิ่งด้วยความเร็วบนสะพานเหนืออ่างเก็บน้ำนี้ก็ทำให้เรานึกถึงรถไฟลอยน้ำที่ประเทศไทยไม่ได้ คนมาเลย์หลายคนละสายตาจากโทรศัพท์มือถือมองออกไปนอกหน้าต่าง พลางยกโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูปเวิ้งน้ำนั้นเก็บไว้

เห็นไหม ข้างทางรถไฟมีเสน่ห์จะตาย

รถไฟ, กัวลาลัมเปอร์

พ้นจากอ่างเก็บน้ำมาไม่นานนัก ETS ก็เดินทางมาถึงสถานีไทปิง (Taiping) ที่นี่มีพืดเขาย่อมๆ ขวางทางรถไฟเอาไว้ ถ้าตอนนี้เรายังอยู่บนเส้นทางเดิม รถไฟจะวิ่งเลาะเขาไปเรื่อยๆ เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ข้ามสะพาน เข้าอุโมงค์ เพราะรถไฟจะใช้ความเร็วไม่มากนักหากทางเป็นภูเขา พี่มาเลเซียก็เลยคิดใหม่ทำใหม่ ทางคู่สายนี้จึงถูกตัดแนวทางรถไฟใหม่ให้ตรงมากขึ้น ชันน้อยลง รถไฟจะได้ใช้ความเร็วได้เต็มสปีด ส่วนทางรถไฟเดิมก็ปล่อยทิ้งร้างไป นอกจากนั้นแล้ว จากที่เคยต้องอ้อมเขา จึงขุดอุโมงค์ยาวกว่า 3 กิโลเมตรเพื่อร่นระยะทาง ซึ่งเป็นอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในมาเลเซียอีกด้วย

รถไฟ, กัวลาลัมเปอร์

นาฬิกาบอกเวลาบ่าย 2 โมง รถไฟเรามาถึงสถานีอิโปห์ (Ipoh) จากตรงนี้ไป อีกไม่นานเราก็ถึงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย ตอนนี้หน้าจอแสดงความเร็วนั้น ตัวเลขเริ่มลดลงเหลืออยู่ราวๆ 125 กม./ชม. จะว่าไปแล้ว ETS ทำความเร็วสูงสุดแตะอยู่ที่ 143 กม./ชม. เป็นบางช่วงเท่านั้น พอยิ่งเข้าใกล้กัวลาลัมเปอร์มากขึ้นเท่าไหร่ทางโค้งก็มากขึ้น ทำให้ต้องลดความเร็วลง อาจเป็นเพราะว่าทางคู่แถวนี้ถูกสร้างมานานแล้ว จึงไม่ถูกแก้ไขแนวทางรถไฟแบบตอนเหนือของประเทศ

รถไฟ, กัวลาลัมเปอร์

 

มหานคร

รถไฟของเราหยุดที่สถานีตันจุงมาลิม (Tanjang Malim) มา 15 นาทีแล้ว ที่นี่คือจุดเริ่มต้นของรถไฟชานเมืองกัวลาลัมเปอร์ภายใต้ชื่อว่า KTM Komuter

เราสังเกตว่าทางรถไฟสองข้างทางกำลังถูกปรับปรุงอยู่ เมื่อรถไฟเคลื่อนตัวออกจากสถานีเราสัมผัสได้ทันทีว่าทางรถไฟโยกมาก ไม่สมูธเหมือนช่วงแรกๆ ที่ออกจากสถานีปาดังเบซาร์ ความเร็วของรถไฟลดลงอย่างน่าใจหายเหลือเพียง 90 กม./ชม. จนเริ่มมองไม่เห็นรั้วกั้นสองข้างทางแล้ว แต่สิ่งที่ยังเหมือนเดิมคือไม่มีถนนตัดผ่านทางรถไฟในระดับเดียวกัน ทุกแห่งเป็นสะพานข้ามทางรถไฟทั้งสิ้น

รถไฟ, กัวลาลัมเปอร์

‘พี่บอล’ เพื่อนของเราที่นั่งรถไฟมาเลเซียจนแทบเป็นงานอดิเรก บอกเราว่า เมื่อไหร่ที่รู้สึกว่านั่งรถไฟแล้วโยกเหมือนขี่ม้า นั่นหมายความว่าใกล้ถึงกัวลาลัมเปอร์แล้ว

จริงอย่างที่ว่า เราเริ่มมองเห็นตึกสูงมากขึ้น ชุมชนเริ่มหนาตัวขึ้น สถานีรถไฟเริ่มถี่ขึ้น (แต่ขบวนของเราไม่จอด) ตอนนี้เวลาบ่ายสองโมงสี่สิบห้า จริงๆ เราควรต้องถึงสถานีกัวลาลัมเปอร์แล้ว แต่นี่รถไฟเพิ่งจะผ่านสถานีสุไหงบุโลห์ (Sungai Buloh)

ใช่ครับ รถไฟมาเลเซียก็ดีเลย์เหมือนรถไฟบ้านเรา เรานั่งไล่ดูโพยชื่อสถานีรถไฟที่พกมาจากกรุงเทพฯ ตอนนี้เหลืออีกหลายสถานีพอควรกว่าเราจะถึงปลายทาง สิ่งเดียวที่เราทำได้คือนั่งดูวิวไปเรื่อยๆ ภาพของชุมชนที่หนาแน่นของกัวลาลัมเปอร์เริ่มแทรกตัวเข้ามาในกรอบหน้าต่าง แม้ว่าตึกรามบ้านช่องจะเยอะแค่ไหน แต่สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกสดชื่นตลอดเวลาคือต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่สองข้างทางรถไฟ จนสงสัยว่านี่มันเมืองหรือป่ากันแน่ คนมาเลเซียเขาดูใส่ใจธรรมชาติดีเนอะ

รถไฟ, กัวลาลัมเปอร์

ETS วิ่งผ่านสถานีเล็กๆ สถานีหนึ่งที่เรากวาดสายตามองไปที่ป้าย อ่านได้ความว่า Bank Negara (แปลว่า ธนาคารแห่งชาติ) ไม่นานนักเสียงงุ้งงิ้งจากลำโพงก็บอกเราว่าสถานีต่อไปคือ สถานีกัวลาลัมเปอร์

 

กัวลาลัมเปอร์

รถไฟพ้นโค้งเข้ามา ปรากฏสถานีรถไฟสีขาวรูปทรงเป็นเอกลักษณ์ข้างหน้า ชานชาลาที่ดูเงียบเหงาเหมือนสถานีรถไฟร้างผู้คนปรากฏขึ้นด้านขวามือของขบวนรถไฟ ชั่วอึดใจเดียวรถด่วน ETS ที่เรานั่งมา 6 ชั่วโมงก็จอดสนิทที่ชานชาลาสถานีกัวลาลัมเปอร์ ดีเลย์สิริรวมไปเกือบ 40 นาที

นับจากเวลาที่ออกมาจากกรุงเทพฯ จนถึงตอนนี้ เราใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงกัวลาลัมเปอร์กว่า 23 ชั่วโมง

เวลาจะจองตั๋วรถไฟต้องเช็กให้ดีว่าเราจะลงสถานีไหนระหว่างกัวลาลัมเปอร์ (Kuala Lumpur) และเคแอลเซ็นทรัล (KL Sentral) สถานีกัวลาลัมเปอร์นั้นอยู่ใกล้กับย่านไชน่าทาวน์ และสถานีรถบัสปาซาร์เซนี (Pasar Seni) ซึ่งค่อนข้างใกล้ย่านเมืองเก่าและไชน่าทาวน์ของกัวลาลัมเปอร์มากกว่าสถานีเคแอลเซ็นทรัล จึงเป็นเหตุผลให้เราเลือกลงรถไฟที่นี่

รถไฟ, กัวลาลัมเปอร์

‘พี่ตั้ม’ เพื่อนคนรักรถไฟที่มาทำงานในมาเลเซีย ยืนรอรับเราอยู่ที่ชานชาลา จริงๆ แล้วเขาไม่ให้ญาติเข้ามารับถึงหน้าประตูรถแบบนี้หรอก แต่เผอิญพี่ตั้มไปนั่งรถไฟเล่นก่อนมารับเรา แล้วรถไฟของเฮียแกก็มาถึงก่อนหน้าเราไม่กี่นาที จึงมายืนรอ Welcome ได้ถึงหน้าประตู

นี่เป็นครั้งแรกที่เราเหยียบสถานีรถไฟกัวลาลัมเปอร์ อดีตสถานีหลักของประเทศมาเลเซีย

รถไฟ, กัวลาลัมเปอร์

สถานีกัวลาลัมเปอร์

รถไฟ, กัวลาลัมเปอร์

แต่ดั้งเดิมสถานีกัวลาลัมเปอร์ก็ไม่ได้ต่างกับสถานีรถไฟกรุงเทพสุดคลาสสิกของเราหรอก เมื่อมาเลเซียพัฒนาระบบขนส่งในประเทศครั้งใหญ่ จึงสร้างสถานีรถไฟกลางขึ้นมาใหม่เพื่อใช้งานเป็นสถานีหลักแทนสถานีกัวลาลัมเปอร์ ห่างจากที่นี่ไปประมาณ 1 กิโลเมตร ชื่อว่าสถานีเคแอลเซ็นทรัล (KL Sentral) เป็นศูนย์กลางการขนส่งของประเทศและในกัวลาลัมเปอร์ ไม่ว่าจะเป็นระบบรถไฟทางไกล รถไฟชานเมือง รถไฟเชื่อมท่าอากาศยาน KLIA รถไฟ Metro ต่างๆ รวมถึงรถเมล์ก็มารวมตัวกันอยู่ที่นี่ ส่วนสถานีกัวลาลัมเปอร์ก็กลายเป็นแค่สถานีรองไปโดยปริยาย

รถไฟ, กัวลาลัมเปอร์

นี่คือครั้งแรกที่เรามาเหยียบกัวลาลัมเปอร์และสถานีรถไฟของเขา ไม่น่าเชื่อเลยว่าเรามาถึงที่นี่แล้วจริงๆ เรายืนมองสถานีรถไฟและตึกที่ทำการของ KTMB ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับสถานีด้วยความตื่นเต้น ที่ผ่านมา เราเห็นแค่ภาพถ่ายจากกล้องฟิล์มของ ‘ป้าใจ’ ผู้เป็นพี่สาวของพ่อและผู้หญิงที่ปลุกความเป็นนักเดินทางให้กับเรา ป้าใจเคยเดินทางมาถึงที่นี่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว

เราหยิบกล้องถ่ายรูปขึ้นมาแล้วกดชัตเตอร์รัวๆ ในมุมเดียวกับที่ป้าเคยถ่ายไว้เมื่อ 20 ปีก่อน แล้วพี่ตั้มก็ส่งเสียงแทรกความเงียบขึ้นมา

“เอ้า จะไปโรงแรมได้หรือยัง เดี๋ยวจะพาไปทัวร์กัวลาฯ”