10 เมษายน 2561

นาฬิกาเรือนใหญ่บนหลังคาของสถานีรถไฟกรุงเท บอกเวลาบ่าย 2 โมงกว่าๆ และ 24 ชั่วโมงต่อจากนี้จะเป็นการเดินทางที่จะต่อเนื่องจากกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทย ไปปลายทางที่สถานีกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย และเป็นการเดินทางจากสถานีรถไฟสุดคลาสสิกของไทยไปสถานีรถไฟสุดคลาสสิกของมาเลเซียอีกต่างหาก

นั่งรถไฟไปมาเลเซีย,รถไฟไทย,ปาดังเบซาร์

หลายคนรู้ว่าเราสามารถนั่งรถไฟจากประเทศไทยไปมาเลเซียได้ถึงแค่สถานีบัตเตอร์เวิร์ธ รัฐปีนัง แต่นั่นก็เป็นการเดินทางด้วยรถไฟขบวนเดียวรวดจากกรุงเทพฯ ยันบัตเตอร์เวิร์ธ ซึ่งในความเป็นจริงเราสามารถนั่งรถไฟของมาเลเซียต่อๆ กันไปเรื่อยๆ จนถึงสิงคโปร์ได้เลย

รถไฟระหว่างประเทศขบวนแรกในประวัติศาสตร์รถไฟไทยคือขบวนรถนอนจากบางกอกน้อยไปสถานีไปร ที่เปิดเดินรถเมื่อวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2465 (2466 ตามการนับปีตามปัจจุบัน) โดยเปิดเดินรถเฉพาะวันจันทร์ พุธ และเสาร์ ก่อนจะย้ายต้นทางมาเป็นสถานีกรุงเทพไปปลายทางที่สถานีบัตเตอร์เวิร์ธ โดยวิ่งวันเว้นวันสลับกับรถด่วนสุไหงโก-ลก และเดินรถทุกวันเป็นขบวนประจำในเวลาต่อมา ซึ่งนั่นคือจุดเริ่มต้นของการเดินทางด้วยรถไฟจากไทยไปมาเลเซียจนถึงปัจจุบัน

นั่งรถไฟไปมาเลเซีย,รถไฟไทย,ปาดังเบซาร์ นั่งรถไฟไปมาเลเซีย,รถไฟไทย,ปาดังเบซาร์

การเดินทางของเราแบ่งออกเป็น 3 ช่วง

กรุงเทพ-ชุมทางหาดใหญ่ เรานอนบนขบวนรถด่วนพิเศษทักษิณารัถย์ ขบวนใหม่เอี่ยมที่ทำหน้าที่เป็นเรือนพักตลอดค่ำคืนนี้ รถไฟจะออกจากกรุงเทพ 14.45 น. และถึงหาดใหญ่ 06.35 น. ของวันรุ่งขึ้น

จากนั้นเราจะเปลี่ยนขบวนไปเป็นรถไฟระยะสั้นจากหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ จะออกจากหาดใหญ่ 07.20 น. และใช้เวลาวิ่งถึงปาดังเบซาร์เพียง 40 นาที

เมื่อผ่านการตรวจคนเข้าเมืองเรียบร้อยแล้ว ขบวนสุดท้ายที่จะมุ่งหน้าสู่กัวลาลัมเปอร์คือรถด่วนไฟฟ้า ETS จะออกจากปาดังเบซาร์ 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นมาเลเซีย และถึงสถานีกัวลาลัมเปอร์ (เก่า) ในเวลาบ่าย 3 โมง

เท่ากับว่าเราจะเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงกัวลาลัมเปอร์เป็นระยะเวลาถึง 24 ชั่วโมง

ใครฟังก็อยากเป็นลม

แต่เราสู้ตาย

นั่งรถไฟไปมาเลเซีย,รถไฟไทย,ปาดังเบซาร์

ทักษิณารัถย์

14.45 น. สถานีกรุงเทพ

ตั๋วพร้อม พาสปอร์ตพร้อม รถไฟพร้อม รถด่วนพิเศษทักษิณารัถย์เคลื่อนตัวออกจากชานชาลาที่ 4 สถานีรถไฟกรุงเทพตรงเวลาเป๊ะ

รถไฟขบวนนี้เดบิวต์เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ชื่อทักษิณารัถย์แปลว่า ‘เส้นทางสู่ภาคใต้’ เกิดจากคำว่า ‘ทักษิณ’ แปลว่า ทิศใต้ มาสนธิกับคำว่า ‘รัถยา’ แปลว่า เส้นทาง ซึ่งชื่อนี้พระราชทานโดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

นั่งรถไฟไปมาเลเซีย,รถไฟไทย,ปาดังเบซาร์ นั่งรถไฟไปมาเลเซีย,รถไฟไทย,ปาดังเบซาร์

รถด่วนพิเศษทักษิณารัถย์มีความยาว 13 ตู้ มากกว่า 80% เป็นรถนอนปรับอากาศชั้น 2 ที่มีเตียงเรียงรายอยู่ข้างๆ ทางเดินในตู้อยู่ 40 เตียง และมีห้องน้ำที่เก๋ไก๋ไฮโซระบบสุญญากาศเหมือนเครื่องบิน ถ่ายปุ๊บดูดปั๊บไม่ปล่อยเรี่ยราดเหมือนรถไฟรุ่นเก่าๆ กลางขบวนคือตู้เสบียงที่ทุกๆ คนสามารถสั่งอาหารนั่งกินดูวิวเพลินๆ หรือจิบกาแฟเบาๆ ยามเย็นก็ได้

นั่งรถไฟไปมาเลเซีย,รถไฟไทย,ปาดังเบซาร์

อาจเป็นเพราะว่ารถไฟออกจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่บ่าย ที่นั่งของแต่ละคนยังไม่ปรับเป็นที่นอน พนักงานจึงเอาหมอนออกมาให้เรารองหลังหรือเอามากอดงีบก่อน เราจึงได้เห็นอิริยาบถของผู้โดยสารที่แตกต่างกันไป บางคนนั่งดูหนัง บางคนเอนหลังหลับตา (แล้วตามมาด้วยเสียงกรน) บางคนก็นั่งมองวิวนอกหน้าต่าง

เวลาผ่านไปเกือบ 5 โมงเย็นรถไฟใกล้ถึงสถานีราชบุรี นึกขึ้นได้ว่าที่นี่มีกิจกรรมอย่างหนึ่งที่คนนั่งรถไฟสายใต้จะรู้กัน นั่นคือการแย่งกันซื้อก๋วยเตี๋ยวราชบุรีมารองท้องก่อนจะกินอาหารมื้อหลัก โดยปกติถ้าเป็นขบวนอื่นเมื่อรถไฟจอดที่สถานีราชบุรีแม่ค้าจะขึ้นมาขายบนรถ แต่เพราะขบวนนี้เป็นรถไฟระบบปิด ไม่อนุญาตให้มีการขายของบนรถ จึงเป็นหน้าที่ของผู้โดยสารที่ต้องลุกมาขยับแข้งขาแล้ววิ่งไปที่ประตูขึ้นลงเพื่อรอวินาทีที่รถไฟจอดเทียบชานชาลาสถานีราชบุรี

นั่งรถไฟไปมาเลเซีย,รถไฟไทย,ปาดังเบซาร์

เมื่อรถไฟจอดสนิทปั๊บ ประตูเปิดปุ๊บ แม่ค้าแต่ละคนจะยืนรอตรงประตูและไสถาดก๋วยเตี๋ยวที่เป็นกล่องโฟมเรียงตั้งเป็นคอนโดฯ ขึ้นมาบนรถไฟ คนบนรถที่มีจำนวนกล่องไว้ในใจแล้วก็จะตะโกนบอกไปว่าเอาก๋วยเตี๋ยวกี่กล่อง โดยจ่ายเงินกับมือแม่ค้า และหยิบก๋วยเตี๋ยวไปตามจำนวนที่ได้จ่ายเงินไว้

นั่งรถไฟไปมาเลเซีย,รถไฟไทย,ปาดังเบซาร์

เป็นเรื่องมหัศจรรย์มากที่การซื้อขายด้วยความไวแสงเสร็จสิ้นภายในเวลา 1 นาทีหลังรถไฟจอดที่สถานีราชบุรี ผู้โดยสารแต่ละคนก็หอบหิ้วกล่องก๋วยเตี๋ยวกลับฐานที่มั่นเพื่อจัดการกับเมนูขึ้นชื่อนี้ ในกล่องเป็นก๋วยเตี๋ยวแห้งเส้นเล็ก มีเนื้อหมู ลูกชิ้นหมู และลูกชิ้นปลา อยู่นิดหน่อย ปริมาณความอิ่มของกล่องคือ 6 คำหมด ส่วนใหญ่แล้วจะต้องกินสัก 2 กล่องถึงจะพออยู่ท้อง

นั่งรถไฟไปมาเลเซีย,รถไฟไทย,ปาดังเบซาร์

ตะวันเริ่มคล้อยต่ำลง วิวข้างทางเริ่มเปลี่ยนจากทุ่งนาเป็นต้นตาลเต็มไปหมด นั่นหมายความว่าเราเข้าใกล้เพชรบุรีมากขึ้นทุกที และแน่นอนว่าก๋วยเตี๋ยว 2 กล่องนั้นไม่อิ่มเอาเสียเลย จึงต้องขอไปฝากท้องกับรถเสบียง เมื่อช่วงแรกที่เปิดเดินรถรุ่นใหม่อาหารในรถเสบียงเป็นแบบ Frozen Food แต่พอ 1 ปีผ่านไปก็เปลี่ยนเจ้าสัมปทานเป็นอาหารปรุงรายวันใส่ในกล่องที่เหมือนถาดหลุมโรงเรียนประถมพิกล ช่วงเย็นนั้นจนถึง 2 ทุ่มเราก็ฝั่งตัวเองอยู่ในตู้เสบียงจนถึงหัวหิน

นั่งรถไฟไปมาเลเซีย,รถไฟไทย,ปาดังเบซาร์

เราสาดสายตาไปที่หน้าจอในรถไฟที่แสดงความเร็ว พิกัดของรถไฟ และเวลาที่รถไฟจะไปถึงปลายทาง ซึ่งบัดนี้มันกลายเป็น 07.00 น. ไปซะแล้ว แสดงว่าตอนนี้รถไฟช้าอยู่ 25 นาที ถึงแม้ว่าช่วงก่อนหน้านี้รถไฟสายใต้จะทำเวลาดีขึ้นมากจนน่าตกใจจากการปรับปรุงทางรถไฟทั่วประเทศ แต่ก็ยังมีความล่าช้าเกิดขึ้นอยู่จากการสร้างรถไฟทางคู่ตั้งแต่นครปฐมจนถึงชุมพร

ซึ่งแต่เดิมจากนครปฐมจนถึงชายแดนมาเลเซียเป็นทางเดี่ยวรถไฟสวนกันไม่ได้ จะต้องรอหลีกกันที่สถานี ถึงแม้ว่าการรอหลีกจะถูกกำหนดในตารางเดินรถแล้วก็ตาม แต่ถ้ามีขบวนใดที่มาช้าเพียงไม่กี่นาทีก็สามารถทำให้รถไฟที่สวนกันช้ากระทบกันเป็นลูกโซ่ได้ เราหวังแค่ว่ารถไฟจะช้าไม่เกิน 50 นาที เพราะถ้าช้ากว่านั้นหมายความว่าเราจะต้องตกขบวนรถไฟ Shuttle ไปปาดังเบซาร์อย่างแน่นอน

แต่แล้วเรื่องนี้ก็ถูกสลัดออกไปเพราะความง่วง เรากลับไปที่เตียงนอนตัวเอง ซึ่งบัดนี้ถูกปูไว้เรียบร้อยพร้อมให้เจ้าของเตียงซุกตัวเอนกายลงไปนอนพร้อมผ้าห่มอุ่นที่หอมกรุ่น

นอนเก็บแรงไว้ก่อน พรุ่งนี้เช้าเราต้องผจญภัยอีกตั้งค่อนวัน

นั่งรถไฟไปมาเลเซีย,รถไฟไทย,ปาดังเบซาร์

11 เมษายน 2561 5.50 น.

อรุณสวัสดิ์ เราตื่นแล้ว

สิ่งแรกที่ทำคือผงกหัวมาดูวิวนอกหน้าต่างก่อนเลยว่าถึงไหนแล้ว สิ่งแรกที่เห็นคือภูเขาหินปูนทรงแปลกตาสูงปรี๊ด ด้วยประสบการณ์การนั่งรถไฟที่สะสมมาตั้งแต่เยาว์วัย การประมวลในสมองตอบได้ทันทีว่า นี่คือสถานีพัทลุง

หา พัทลุง…

รถไฟช้าเกือบชั่วโมงแล้ว ตายแล้ว นี่ต้องตกรถไฟอีกขบวนที่หาดใหญ่แน่ๆ ความ Panic เกิดขึ้นตลอด แปรงฟันก็ยังไม่หาย กินกาแฟแล้วก็ยังใจเต้นตึกๆ เอาล่ะสิ จะไปทันไหม ใครต่อใครก็บอกว่ารถไฟไทยช้า ที่ผ่านมา ตอนนั่งมันไม่ค่อยช้านี่หน่า แล้วเมื่อคืนระหว่างที่เรานอนมันเกิดเหตุอาเพศอะไร ทำไมอยู่ๆ รถไฟที่ขึ้นชื่อว่าตรงเวลาที่สุดขบวนหนึ่งถึงได้ช้าเกือบชั่วโมงได้

ด้วยความอยากรู้ที่แน่นอยู่เต็มอกเลยต้องหาทางยกออกโดยการไปถามพนักงาน ได้ความว่าทางรถไฟช่วงชุมพร สุราษฎร์ธานี มีการซ่อมทาง ขยายสะพาน เจาะช่องน้ำหลายจุด เพราะเมื่อปลายปีก่อนมีเหตุน้ำท่วมใหญ่ภาคใต้และทางรถไฟขาดหลายจุด พอรถไฟผ่านจุดก่อสร้างจึงต้องลดความเร็วลง เมื่องานเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะใช้ความเร็วตามปกติและรถก็จะตามเวลาเหมือนเดิม

ถามว่าได้คำตอบแล้วรู้สึกดีขึ้นไหม

อืม ก็ดีขึ้นนะ แต่ไม่มาก ก็ยังนั่งก้นไม่ติดเบาะเหมือนเดิม ในหัวจินตนาการไว้ร้อยแปดพันเก้าว่าถ้าตกรถขึ้นมาจะทำยังไงวะเนี่ย ตั๋วจะเต็มไหม แล้วจะไปถึงกัวลาลัมเปอร์กี่โมงถ้าไปรถเที่ยวบ่ายโมง

เหมือนจะรู้ว่าผู้ชายคนนี้กำลังพารานอยด์หนักมาก

พนักงานรถนอนคนเดิมก็บอกกลับมาอีกว่า จากพัทลุงไปหาดใหญ่รถไฟจะได้เวลาคืนกลับมาอีกเกือบครึ่งชั่วโมงเลย เพราะหลังจากที่ปรับปรุงทางรถไฟเสร็จยังไม่ได้มีการปรับเวลา ไปถึงหาดใหญ่จะดีเลย์แค่ 20 – 30 นาทีเท่านั้น

เออ อันนี้ค่อยรู้สึกดีขึ้นมาหน่อย แล้วก็เป็นจริงตามที่พนักงานคนนั้นบอกไว้ เสียง Voice Over ในรถไฟดังขึ้นว่าอีก 15 นาทีจะถึงสถานีหาดใหญ่ให้ผู้โดยสารทุกคนเตรียมสัมภาระและพร้อมลงจากรถได้

นั่งรถไฟไปมาเลเซีย,รถไฟไทย,ปาดังเบซาร์

หาดใหญ่

07.00 น. รถด่วนพิเศษทักษิณารัถย์หยุดสนิทที่ชานชาลาที่ 1 ดีเลย์ 25 นาที ทำเวลากลับคืนมาได้ 35 นาที จากที่ทำเราใจหายใจคว่ำที่พัทลุง พอลงจากด่วนพิเศษทักษิณารัถย์ได้เราก็วิ่ง 4 x 100 ไปซื้อตั๋วรถไฟอีกขบวนโดยทันทีแล้ววิ่ง 4 x 100 อีกรอบมาที่ชานชาลาหมายเลข 3 เพื่อขึ้นรถขบวนใหม่

โอยน่อออออ ออกกำลังแต่เช้าเลย

นั่งรถไฟไปมาเลเซีย,รถไฟไทย,ปาดังเบซาร์

ชุมทางหาดใหญ่เป็นสถานีประจำจังหวัดสงขลา คำว่าชุมทางไม่ได้หมายความว่ามีทางรถไฟมากมายชุกชุม แต่หมายถึงสถานีที่ทำหน้าที่เป็นเหมือน ‘ทางแยก’ ไปยังสายหลักต่างๆ ซึ่งสถานีชุมทางหาดใหญ่มีทางแยกออกไป 2 เส้นทาง

หาดใหญ่-สุไหงโก-ลก เป็นเส้นทางส่วนสุดท้ายของรถไฟสายใต้ที่พาดผ่าน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ถ้านับจากกรุงเทพฯ มาเส้นทางสายนี้คือทางรถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทยแตะขอบสระที่ 1,159 กิโลเมตร ที่สถานีสุไหงโก-ลก

หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ เป็นเส้นทางที่มีการเชื่อมต่อไปประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ และเป็นเส้นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและการขนส่งระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก ซึ่งรถไฟระหว่างประเทศทุกขบวนจะต้องผ่านเส้นทางนี้ ไม่ว่าจะเป็นรถด่วนพิเศษกรุงเทพ-ปาดังเบซาร์ รถพิเศษสุดหรู Eastern and Oriental Express กรุงเทพ-สิงคโปร์ หรือแม้แต่รถสินค้าจากไทยไปมาเลเซีย

ชุมทางหาดใหญ่จึงถือว่าเป็นหน้าด่านสำคัญของระบบขนส่งทางรางในภาคใต้ตอนล่าง และยังเป็นประตูบานใหญ่ของชาวมาเลเซียที่เข้ามาในประเทศไทยอีกด้วย สถานีแห่งนี้จึงเต็มไปด้วยชาวไทยและชาวมาเลเซียเต็มสถานีไปหมด

นั่งรถไฟไปมาเลเซีย,รถไฟไทย,ปาดังเบซาร์

07.30 น. รถพิเศษหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ วันนี้ใช้รถดีเซลรางสปรินเตอร์ (BREL Class 158) ยอดนักวิ่งรุ่นแรกของ รฟท. ขบวนสีฟ้าสดใส อิมพอร์ตมาไกลมากจากอังกฤษตั้งแต่ปี 2534

ปกติแล้วรถสปรินเตอร์จะวิ่งแค่ 2 เส้นทางคือ กรุงเทพ-สวรรคโลก-ศิลาอาสน์ และ กรุงเทพ-พัทยา-บ้านพลูตาหลวง

อ้าว แล้วทำไมสปรินเตอร์มาอยู่ที่หาดใหญ่?

เป็นเพราะว่าช่วงนั้น รฟท. วางแผนใช้รถสปรินเตอร์ให้วิ่งระยะสั้นเป็นรถเชื่อมต่อระหว่างหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ เพราะเป็นรถที่คล่องตัวสูง ที่นั่งสบาย กว้างขวาง แต่น่าเสียดาย เพราะเมื่อลองวิ่งไประยะหนึ่งก็ไม่ค่อยโอเคเท่าที่ควร จึงเรียกตัวสปรินเตอร์กลับกรุงเทพฯ ซึ่งเราเป็นผู้โชคดีลำดับท้ายๆ ที่มีโอกาสได้นั่งสปรินเตอร์ก่อนที่จะกลับกรุงเทพฯ ไปทำหน้าที่เดิม

นั่งรถไฟไปมาเลเซีย,รถไฟไทย,ปาดังเบซาร์

นั่งรถไฟไปมาเลเซีย,รถไฟไทย,ปาดังเบซาร์

รถไฟขบวนนี้เราเรียกมันว่ารถ Shuttle วิ่งไปกลับระหว่างหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์วันละ 4 เที่ยว เพื่อพาคนจากทั้ง 2 ฝั่งเข้าหากัน

ปกติแล้วคนมาเลเซียจะเข้ามาหาดใหญ่เยอะมากในแต่ละวัน จะเข้ามาตอนเช้าแล้วกลับออกไปตอนเย็น ส่วนนักท่องเที่ยวจากไทยก็จะออกไปตอนเช้าและกลับมาตอนเย็นเช่นกัน ที่สถานีปาดังเบซาร์ก็มีรถไฟฟ้า 2 แบบ คือรถชานเมืองไปบัตเตอร์เวิร์ธ และรถด่วนไปกัวลาลัมเปอร์เกือบตลอดทั้งวัน

นั่งรถไฟไปมาเลเซีย,รถไฟไทย,ปาดังเบซาร์ นั่งรถไฟไปมาเลเซีย,รถไฟไทย,ปาดังเบซาร์

ผ่านไป 40 นาที ขบวนรถไฟ Shuttle ก็มาถึงสถานีสุดท้ายในประเทศไทย ‘ปาดังเบซาร์ (ไทย)’ สถานีลำดับที่ 444 ของไทยที่เปิดให้บริการเมื่อ พ.ศ. 2559

เมื่อคนสุดท้ายลงจากรถไฟ นายสถานีก็ยกธงสีเขียว สปรินเตอร์ค่อยๆ ขยับตัวเคลื่อนเข้าไปใกล้ชายแดนมากขึ้น ภาพข้างหน้าของเราคือรั้วลวดหนามที่ขวางทางรถไฟเอาไว้ มีเพียงช่องพอดีทางรถไฟให้รถไฟผ่านไปได้ และไกลออกไปเป็นอาคารสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ฝั่งมาเลเซีย ส่วนหัวขบวนเคลื่อนเข้ารั้วไปด้วยความเร็ว 20 กม./ชม. อึดใจเดียวรถไฟทั้งขบวนก็เข้ามาอยู่ในสถานีปาดังเบซาร์ ประเทศมาเลเซีย และเวลาที่บวกขึ้นไปอีก 1 ชั่วโมง

นั่งรถไฟไปมาเลเซีย,รถไฟไทย,ปาดังเบซาร์

เราเดินทางถึงประเทศที่ 2 ของการเดินทางไกลครั้งนี้แล้ว

รถไฟขบวนต่อไปจะออกจากปาดังเบซาร์ไปกัวลาลัมเปอร์ในเวลา 10.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นมาเลเซีย

นั่งรถไฟไปมาเลเซีย,รถไฟไทย,ปาดังเบซาร์

อีกนิดอีกหน่อย

  1. หลังจากที่เราเดินทางกลับมาจากทริปและเริ่มเขียนเรื่องนี้รถด่วนรอบ 10.00 น. ก็เปลี่ยนเวลาเป็น 11.40 น. ในวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ที่ออกช้าลง เหตุผลส่วนหนึ่งเพราะทางรถไฟในกัวลาลัมเปอร์มีการปรับปรุงทางครั้งใหญ่ และเพื่อรอผู้โดยสารจากรถด่วนพิเศษกรุงเทพ-ปาดังเบซาร์ด้วย ฉะนั้น ใครที่ไปค้นตารางเดินรถหลังจากที่อ่านเรื่องนี้อย่าตกใจที่หารถไฟรอบ 10.00 น. ไม่เจอ
  2. นั่นยังไม่พอ รถไฟ Shuttle จากหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ก็เปลี่ยนจากรถสปรินเตอร์แอร์เย็นฉ่ำเป็นรถนั่งชั้น 3 ลมโกรกหัวฟูอีกต่างหาก
  3. ใครที่จะนั่งรถไฟจากกรุงเทพ-กัวลาลัมเปอร์ ถ้าต้องการความสบายเรื่องการต่อรถเราแนะนำขบวน 45 กรุงเทพ-ปาดังเบซาร์ จะได้ไม่ต้องขึ้นลงรถไฟบ่อยๆ เหมือนเรา
  4. ดูตารางรถไฟระหว่างไทย-มาเลเซีย ให้ระวังเรื่องเวลาในตารางด้วย เพราะเวลาสองประเทศต่างกัน 1 ชั่วโมง ดูเวลาผิดชีวิตเปลี่ยนทันที