ไปแสดงความเห็นที่งานประชาพิจารณ์ ต่อหน้าวุฒิสมาชิกกับผู้แทนราษฎรมาค่ะ

เรื่องมันคือ ราว ๆ ต้น ๆ ปี ทุกคนในประเทศสหรัฐอเมริกาต้องทำเรื่องเสียภาษีใช่มั้ยคะ และเผื่อใครยังไม่รู้ ประชากรทุกคนในสหรัฐฯ (นอกจากคนที่อยู่ในรัฐ Alaska, Florida, Nevada, South Dakota, Texas, Washington และ Wyoming) ต้องเสียภาษี 2 ชุดนะคะ คือ Federal Income Tax จ่ายให้รัฐบาล กับ State Income Tax จ่ายให้รัฐที่ตัวเองอยู่ ใครเคยมาเที่ยวออริกอนแล้วตื่นเต้นว่า ต๊ายตาย ซื้อของถูกกว่าที่อื่นแหละเธอ เพราะไม่มีภาษี พาลไปคิดว่าคนอยู่ที่นี่ก็คงจะสุขสบายไม่ต้องเสียภาษีไปด้วย อันนี้ผิดถนัดเลยค่ะ เพราะภาษีสินค้ากับภาษีที่ประชาชนจ่ายมันไม่เหมือนกั๊น! ปี ๆ หนึ่งบ้านอุ้มเสียภาษีไปราว 30 เปอร์เซ็นต์ของรายได้แหนะค่ะ แอบแพง

นายกฯ อุ้ม สิริยากร ไปแสดงความเห็นเรื่องการตัดงบโรงเรียนต่อหน้า ส.ส. ส.ว. อเมริกา

ทีนี้พอประเทศและรัฐเก็บภาษีมาได้ตอนต้นปี ก็จะเข้าสู่รอบการจัดสรรงบประมาณ อย่างรัฐออริกอนจะผ่านงบประมาณทุก ๆ 2 ปี และโหวตกันในปีเลขคี่ ปีนี้ปี 2023 ก็เลยจะมีการโหวตงบประมาณของอีก 2 ปีข้างหน้า (กรกฎาคม ปี 2023 – มิถุนายน ปี 2025)

การร่างงบประมาณจะเริ่มจากปลาย ๆ ปีก่อนหน้า ที่แต่ละองค์กรซึ่งมีรายได้จากรัฐเสนอกันเข้ามา แล้วหน่วยงานบริหารจัดการงบประมาณ (Budget and Management Division : BAM) ดูตัวเลขประกอบกับปัจจัยเศรษฐกิจอื่น ๆ แล้ว ‘เคาะ’ เป็นร่างงบประมาณเอาไปเสนอผู้ว่าการรัฐ (Governor) ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเข้ามา และเปรียบประหนึ่งประธานาธิบดีแห่งแต่ละรัฐ คือใหญ่สุดว่าอย่างนั้น

ผู้ว่าการรัฐดู แล้วก็จะผ่านร่างงบประมาณมาที่คนออกกฎหมาย ซึ่งคือวุฒิสมาชิกและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของรัฐ (ที่นี่เรียกว่า Joint Committee on Ways and Means) สอสอสอวอเหล่านี้ก็มีหน้าที่พิจารณาและจัดประชาพิจารณ์ (Public Hearing) เพื่อให้ประชาชนในแต่ละองค์กรมาบอกเล่าความเห็นว่า ถูกใจ ไม่ถูกใจ ร่างงบประมาณนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าถึงขั้นจะมาร้องเรียนที่งานประชาพิจารณ์ก็แปลว่าไม่ถูกใจ เพราะถ้าโอเคแล้วก็อยู่บ้านดู หมอหลวง สบายใจดีกว่ามั้ยล่ะ

โรงเรียนรัฐบาล (Public Schools) ทั้งหมดในรัฐออริกอนใช้งบประมาณจากรัฐมาบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนครู พนักงาน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ หลายปีที่ผ่านมา งบประมาณด้านการศึกษาถูกตัดแล้วตัดอีก เพราะตั้งแต่โควิด คนย้ายออกไปจากออริกอนก็มาก คนที่อยู่ เอาลูกออกจากโรงเรียนรัฐบาลไปอยู่โรงเรียนเอกชน หรือโฮมสคูลเองที่บ้านก็มาก ครอบครัวใหม่ ๆ ก็มีลูกกันน้อยลง เพราะฉะนั้น จำนวนเด็กที่มาเข้าโรงเรียนรัฐบาลในแต่ละปีจึงลดน้อยลงทุกที ๆ รัฐคำนวณเงินที่จะส่งมาให้จากจำนวนเด็ก เด็กน้อยก็ได้เงินน้อยลง

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ แต่ละโรงเรียนได้เงินน้อยลงไปด้วย ต้องลดจำนวนครู พอครูน้อยลง ขนาดของห้องเรียน (คือจำนวนเด็กในแต่ละห้อง) ก็ใหญ่ขึ้น ทำให้ครูเครียดว่าต้องทำงานหนักขึ้น พ่อแม่ก็เครียดว่าลูกจะได้รับการดูแลทั่วถึงหรือเปล่า

ร้อนถึงนายกสมาคมผู้ปกครองและครูอย่างเรา

จึงต้องไปแสดงความเห็นที่งานประชาพิจารณ์ ต่อหน้าวุฒิสมาชิกกับผู้แทนราษฎรด้วยเหตุนี้เอง (อธิบายเสียยาว)

นายกฯ อุ้ม สิริยากร ไปแสดงความเห็นเรื่องการตัดงบโรงเรียนต่อหน้า ส.ส. ส.ว. อเมริกา

สมัยอยู่เมืองไทย พอพูดถึงคำว่าประชาพิจารณ์ ภาพในหัวอุ้มตอนนั้นคือ คนสะพายย่ามไปหยุดเขื่อน อนุมานได้ว่าสิริยากรไม่ได้มีความรู้ที่แท้จริงหรือมีส่วนร่วมในสิ่งนี้กับใครเขา ออกจะหูหนาตาเล่อ คิดว่ามันเป็นเรื่องของนักประท้วงและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเสียเป็นส่วนใหญ่

แต่พอย้ายมาอยู่สหรัฐฯ ดินแดนแห่งการใช้สิทธิ์ใช้เสียง แม่เจ้าโว้ย! ถ้ามีอะไรที่กระทบถึงตัวเอง คนที่นี่จะต้องลุกขึ้นแสดงความเห็นกันไปซะทุกเรื่องสิน่า แล้วพอมาเป็นนายกฯ นี่ อุ้มเลยมีอันต้องเข้าร่วมแสดงความเห็นมาแล้วไม่รู้กี่ Public Hearing ตั้งแต่ที่โรงเรียนกับครูใหญ่ ไล่ไปที่ Board of Education ของ Portland Public School ร่วมกับผู้ปกครองโรงเรียนอื่น หรือผู้ปกครองโรงเรียนเราเอง รวมตัวกันนัดคุยกับ ส.ส.เขต ไปจนถึงที่ลงชื่อไปแสดงความเห็นต่อหน้าสอสอสอวอโน่น คือมีความสะพายย่ามหยุดเขื่อนเข้าเส้นไปแล้วค่ะตอนนี้

สิ่งที่อุ้มได้พบอย่างหนึ่งหลังจากขวบปีแห่งการต่อสู้ร้องเรียนแทนผู้ปกครองและครูก็คือ ถึงแม้ส่วนใหญ่คนที่มีอำนาจจะตัดสินใจอย่างที่ตัดสินใจอยู่ดี โดยไม่ได้ฟังคนที่มาแสดงความเห็น แต่อย่างน้อยสิ่งที่เป็นปัญหาก็ถูกนำขึ้นมาพูดให้คนทั่วไปได้รู้ เพราะคนส่วนใหญ่ (คือเกือบทั้งหมด) ที่กล้ามาให้ความเห็นในงานประชาพิจารณ์ มักเป็นคนที่รู้ตื้นลึกหนาบางของเรื่องนั้น ๆ ลึกซึ้งกว่าคนทั่วไป 

อย่างเรื่องที่อุ้มเขียนไปเกี่ยวกับปัญหาของการตัดงบโรงเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองในโรงเรียนเองจำนวนมากก็ไม่รู้รายละเอียดขนาดนั้นมาก่อน แต่พออุ้มไปพูด คนจำนวนมากก็มาขอบคุณที่ทำให้เขาได้รู้เรื่องมากขึ้น แต่รัฐจะให้งบมากขึ้นอย่างที่เราอยากได้หรือเปล่านั่นอีกเรื่องหนึ่ง

นายกฯ อุ้ม สิริยากร ไปแสดงความเห็นเรื่องการตัดงบโรงเรียนต่อหน้า ส.ส. ส.ว. อเมริกา

แต่อุ้มอยากเล่าให้ฟังเรื่องนี้ เพราะคิดว่า ‘การมีส่วนร่วมของประชาชน’ ที่นักการเมืองไทยเราชอบพูด หน้าตามันเป็นแบบนี้ ในสังคมที่ให้ความสำคัญกับประชาพิจารณ์มาเป็นร้อย ๆ ปี ประชาพิจารณ์ของประเทศไทยใน พ.ศ. 2565 ควรจะมาไกลจาก พ.ศ. 2504 ที่ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม ให้ชาวบ้านต่างมาชุมนุมที่บ้านผู้ใหญ่ลี ทุกวันนี้คนไทยเรารู้ว่าสุกรแปลว่าหมู และทางการไม่ได้มีเพียงแค่อำนาจสั่งการให้ชาวบ้านเลี้ยงเป็ดและสุกร แต่มีหน้าที่รับฟังชาวบ้านด้วยว่าการเลี้ยงเป็ดและสุกรเป็นสิ่งที่เขาอยากทำหรือเปล่า ถ้าจริง ๆ แล้วชาวบ้านคิดว่าควรจัดสรรงบประมาณมาสร้างสนาม Pickleball เพื่อรองรับเทรนด์ของโลกจะเหมาะและมีโอกาสสร้างรายได้มากกว่า ชาวบ้านก็แสดงความเห็นกลับไปได้ในงานประชาพิจารณ์

แบบนี้สิคือสังคมประชาธิปไตย นักการเมืองที่อาสาเข้ามาเป็น ‘ทางการ’ ในรัฐบาลใหม่ ต้องเคารพใน ‘ประชา’ และกล้าฟังคำ ‘พิจารณ์’ บ้านเมืองถึงจะเจริญก้าวหน้า

ฝากไว้ให้คิดกันค่ะ

Writer & Photographer

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

อดีตนักแสดงและพิธีกร จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ายมาเป็นพลเมืองพอร์ตแลนด์ ออริกอน ตั้งแต่ปี 2012 ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูกสองของน้องเมตตาและน้องอนีคา เธอยังสนุกกับงานเขียนและแปลหนังสือ รวมทั้งเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในเมืองนอกกระแสที่ชื่อพอร์ตแลนด์