สวนรถไฟวันนี้ร้อนอบอ้าว ถึงจะไม่มีแดด แต่ความชื้นในอากาศของฤดูฝนก็ทำให้ไม่สบายตัวเท่าไหร่ แต่ถึงจะร้อนอบอ้าว ฝนที่ตกลงมาถี่ๆ ก่อนหน้านี้ทำให้ต้นไม้แตกพุ่มดูหนาฟูไปทุกจุด บรรยากาศของวันนี้แตกต่างจากครั้งแรกที่เรามาอย่างสิ้นเชิง
ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ อากาศตอนเช้ายังมีความเย็นของหน้าหนาวอ้อยอิ่งอยู่ เรานัดกับดุ่ยตั้งแต่ 6 โมงครึ่ง เพื่อจะมาดูนกในสวนด้วยกัน ดุ่ยเป็นแอดมินเพจดูนกเพจหนึ่ง และเป็นนักดูนกจริงจัง ถึงแม้อาชีพหลักของเขาจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับนกหรือการดูนกเลยก็ตาม
ดุ่ยพาเราเดินผ่านโซนสนามหญ้าเขียวไปด้วยความเร็ว และเริ่มชะลอฝีเท้าลงเมื่อถึงจุดที่มีไม้พุ่มกระจายตัวรกอยู่ด้านล่าง บางพื้นที่ของสวนสาธารณะ 3 สวนที่เชื่อมต่อกันนี้เหมาะกับการอยู่อาศัยของนก เพราะความที่มีทั้งต้นไม้สูงชูขึ้นด้านบนเป็นจุดให้นกเกาะ บวกกับไม้พุ่มที่ดูจะรกๆ ด้านล่างเป็นที่ซ่อนของเหยื่อที่เป็นอาหาร นกจึงไม่ต้องออกไปหาอาหารแบบเปิดเผยตัวมาก ความลงตัวของพื้นที่แบบนี้ไม่ได้มีให้เห็นกันทุกแห่ง


ภาพ : พลพิชญ์ คมสัน
สวนสาธารณะในเมืองแบบที่เป็นสนามหญ้าสั้นๆ ตัดแต่งพุ่มไม้สะอาดสบายตา กลับไม่เป็นที่นิยมสำหรับนกเท่าไหร่นัก ความเหมาะสมสำหรับมนุษย์ไม่สามารถเหมาว่าเป็นความเหมาะสมสำหรับทุกชีวิต
นกกวักผลุบๆ โผล่ๆ อยู่ริมตลิ่งคูน้ำ นกกาเหว่าตัวลายพร้อยบินทะลุเข้าไปเกาะในพุ่มไม้แน่น นกกิ้งโครงและนกเอี้ยงด่างเดินคุ้ยหาหนอนตามพื้นหญ้าแฉะ นกตีทองตัวจิ๋วเกาะอยู่บนยอดไม้สูงลิบ เสียงนกดังระงมล้อมรอบตัวเมื่อเราหยุดยืนฟัง


เราเดินกันไปถึงโซนที่มีต้นจามจุรีใหญ่และต้นนนทรีหลายต้นเพื่อตามหานกเค้าจุด ต้นจามจุรีมีลำต้นและกิ่งที่เปราะหักง่าย จึงทำให้เกิดโพรงได้ง่าย โพรงเหล่านี้กลายเป็นพื้นที่ที่ดีในเวลาทำรัง
คุณพ่อตะโกนบอกลูกสาวที่กำลังปั่นจักรยานให้ระวังความเร็วเมื่อเข้ามาใกล้เรา มนุษย์ที่ยืนนิ่งแหงนหน้ามองกิ่งไม้ดูแปลกประหลาดในสายตาของลูกสาว
หลังจากมองหาอยู่สักพัก เราก็เจอนกเค้าจุดตัวกลมฟูน่าฟัด 2 ตัวเกาะเบียดกันอยู่บนกิ่งสูงด้านบน ข่าวจากนักดูนกเล่าว่า กิ่งที่เป็นโพรงประจำของมันเพิ่งหักลงมา ลูกนกที่ยังอ่อนที่ติดอยู่ในรังก็ไม่น่าจะรอดชีวิตไปได้ แต่ยังโชคดีที่ยังพอมีเวลา นกเค้าจุดคู่นี้อาจจะทำรังใหม่และออกไข่ชุดใหม่ได้ทันก่อนจะเข้าหน้าฝน


หลังจากเพลินกับการเฝ้าดูนกเค้าจุดเปิดตาบ้าง ปิดตาบ้าง ไซ้ขนบ้าง จนเมื่อยคอแล้ว เราก็เดินต่อไปเพื่อหาตัวนกเค้าอีกประเภทที่อีกจุดหนึ่ง
ระหว่างเดินตัดสนามหญ้าใหญ่ตรงกลาง ก้อนสีฟ้าสดก็พุ่งตัวออกจากต้นไม้ใหญ่ข้างหน้าหนีห่างเราออกไป กลุ่มต้นไม้ที่เป็นเกาะกลางสนามหญ้านี้ เป็นที่อยู่ของนกตะขาบทุ่งหลายตัว นกชนิดนี้ชื่ออังกฤษของมันคือ Indian Roller ซึ่งมาจากพฤติกรรมการบินฉวัดเฉวียนม้วนไปมาเพื่ออวดสาวของพวกมัน

เราเดินผ่านบ่อน้ำเล็กๆ ไป เกือบจะไม่ทันเห็นนกกระเต็นหัวดำที่เกาะนิ่งอยู่บนกิ่งไม้ข้างบ่อ พวกมันรอจังหวะเพื่อจะจับปลาอย่างจดจ่อ สิ่งมีชีวิตต่างๆ ทำกิจกรรมของพวกมันไปตามธรรมชาติโดยไม่ได้สนใจอะไรเรา เหมือนกับเส้นที่วิ่งคู่ขนานกันไป บางครั้งสิ่งเหล่านี้ก็อยู่ใกล้ตัวเรามาก อยู่ที่ว่าเราจะหันไปสังเกตและมองเห็นพวกมันบ้างรึเปล่า
แผงต้นไม้ร่มข้างหน้ามีเสียงวี้ดแว่วมาก่อนที่เราจะเห็นตัว ก้อนสีแดงสดพุ่งผ่านตาไปด้วยความรวดเร็ว จากกิ่งนั้นไปกิ่งนี้ ท่าทางการบินหยุดนิ่งกลางอากาศก่อนเข้าไปเกาะที่กิ่งไม้ สะกิดให้เราสนใจ เราค่อยๆ เดินเข้าไปหาช้าๆ เพื่อดูตัวให้ชัด ค่อยๆ ขยับใกล้ขึ้นเรื่อยๆ ทันใดนั้นมันก็บินทิ้งระยะห่างจากเราไปอีกรอบ
เราพยายามถ่ายรูปนกที่เห็นทุกตัวให้ได้ เพื่อจะได้กลับไปเปิดรูปเทียบดูกับหนังสือว่าพวกมันคือนกอะไร รูปนกที่ได้มาส่วนใหญ่เป็นรูปเบลอๆ บ้าง กิ่งไม้บังบ้าง ภาพเหล่านี้ส่งประกวดหรือตีพิมพ์ที่ไหนไม่ได้ แต่มันทำให้เราทำความรู้จักกับนกเหล่านั้นได้ดีขึ้น เหมือนกับประโยคที่ช่างภาพสายอนุรักษ์ชอบพูดกัน
“ถ้าไม่รู้จัก แล้วเราจะอนุรักษ์พวกมันได้อย่างไร”

เมื่อเราเดินมาถึงอีกจุดหมาย นกเค้าแมวขนาดตัวสูสีกับนกเค้าจุดก็เกาะต้นไม้รอเราอยู่แล้ว เรียกได้ว่าโชคดีที่เดินมาแล้วเห็นตัวมันเด่นชัด พี่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ประจำอยู่ใกล้ๆ เล่าว่า ปกติแล้วมันจะชอบไปนอนอยู่ตรงต้นตะขบด้านในที่พุ่มไม้มืดทึบกว่า

เจ้าหน้าที่ดูแลสวนหลายคนคุ้นเคยกับนกประจำถิ่นในพื้นที่ทำงานของตัวเอง พี่แม่บ้านอีกคนหนึ่งก็ช่วยชี้จุดให้เรามองหานกเค้าอีกตัวที่ชอบมานอนที่ต้นไม้หลังห้องน้ำ แต่น่าเสียดายที่วันนั้นมันไม่อยู่ตรงที่ประจำของมัน
วันนั้นพวกเราเดินๆ หยุดๆ ไล่ดูนกตามต้นนั้นต้นนี้ แหงนมองไล่ดูตามยอดไม้ เวลา 4 ชั่วโมงผ่านไปโดยไม่รู้ตัว แดดแรงขึ้นเรื่อยๆ เตือนเราว่าเวลาหมดแล้ว
ก่อนจากกันไปวันนั้น ดุ่ยพูดทิ้งท้ายไว้ว่า นอกจากนกในเมืองเจ้าประจำที่เจอกันได้บ่อยๆ แล้ว บางช่วงเวลาก็จะเจอนกอพยพได้ที่นี่ เส้นทางการบินของนกอพยพยาวไกลหลายหมื่นกิโลเมตร ต้องมีจุดแวะพักก่อนที่จะไปต่อ การมาเดินสวนนี้ถูกที่ถูกเวลา อาจจะได้พบเจอตัวพวกมันบ้างก็เป็นได้
เราแวะไปสวนรถไฟอีกหลายครั้ง แต่ละครั้งก็จะเดินวนไปตามจุดเดิมๆ เพื่อทักทายและดูว่าแต่ละตัวยังอยู่ดีหรือไม่ บางครั้งก็ไปช่วงเช้า บางครั้งก็ไปช่วงเย็น ทุกครั้งก็ลุ้นว่าจะได้เจอพฤติกรรมใหม่ๆ บ้างไหม หรือจะมีนกตัวไหนที่เริ่มไว้ใจให้เราเข้าใกล้มากขึ้นไหม

ภาพ : พลพิชญ์ คมสัน
หลังจากสวนปิดเพราะสถานการณ์ COVID-19 เราไม่ได้ไปเยี่ยมเหล่านกในสวนเกือบ 2 เดือนเต็ม การกลับมาเดินสวนในวันนี้เหมือนได้กลับไปพบหน้าทักทายเพื่อนเก่า
นกเค้าจุด 2 ตัวยังอยู่ที่จามจุรีต้นเดิม นกตะขาบทุ่งก็ยังอยู่ที่กลุ่มต้นไม้เกาะกลางสนามหญ้าเหมือนเคย แต่วันนี้นกประจำที่เคยคุ้นหน้ากันอยู่ไม่ครบชุด ไม่รู้ว่าเป็นเพราะฤดูกาลที่เปลี่ยนไป หรือเพราะแค่เรามองหาตัวพวกมันไม่เจอ การเดินดูสัตว์ในธรรมชาติก็เป็นแบบนี้ เพราะที่นี่ไม่ใช่สวนสัตว์ที่พวกมันถูกกักขังไว้ พวกมันมีอิสระที่จะไปเกาะต้นไม้ต้นไหนก็ได้

ถึงแม้ว่าอิสระจะถูกจำกัดในพื้นที่ผืนเล็กที่ถูกล้อมด้วยเมืองใหญ่ แต่พื้นที่เท่านี้ก็อาจจะเพียงพอแล้ว ขอเพียงแค่ไม่เล็กลงไปกว่านี้ ไม่ถูกเปลี่ยนไปจนอยู่อาศัยไม่ได้ และไม่ถูกรบกวนจนเกินไป
สวนสาธารณะของเมืองเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างให้เราเข้าถึงได้ทุกวัน เป็นพื้นที่ที่ง่ายที่สุดในการเริ่มทำความรู้จักกับธรรมชาติ ไม่ใช่เฉพาะนก แต่รวมไปถึงทุกชีวิตที่อยู่ในสวน
ถ้าเราเคารพการมีอยู่ของชีวิตอื่นๆ ในธรรมชาติแล้ว คำว่า ‘สาธารณะ’ ก็จะหมายถึง ‘เพื่อส่วนรวม’ โดยแท้จริง

วาดโดย : ชุตินันท์ โมรา