28 พฤศจิกายน 2023
2 K

ทำไมเกษตรกรไทยถึงยากจน 

เราเวียนวนกับคำถามแบบนี้มากี่ปีแล้ว

มันจะมีหนทางไหมที่ทำให้เกษตรกรไทยมีชีวิตที่มั่นคงกว่านี้ มีอำนาจต่อรองมากกว่านี้ ไม่ต้องพึ่งพาสารเคมีมากขนาดนี้ 

คำตอบคือ… มี 

และวันนี้เราก็ได้เห็นตัวอย่างจากชุมชนที่มาเล่าถึงเส้นทางการเปลี่ยนผ่านบนเวทีเสวนาในงาน PTT Group Innovation for Future Society 2023 ในหัวข้อ ‘เกษตรปรับ เพื่อโลกเปลี่ยน’ และ ‘Soft Power กับเศรษฐกิจชุมชน’ 

บนเวทีนี้ เราได้ฟังเรื่องเล่าจากลูกชาวนาคนหนึ่งที่กลับบ้านมาบุกเบิกเกษตรอินทรีย์ที่บ้านเกิด มีการรวมกลุ่ม ใช้นวัตกรรมเข้าช่วย จนได้มาตรฐานระดับประเทศและส่งออกข้าวไปขายให้ฝรั่งเศสเป็นปีที่ 7 ได้

เราได้ฟังเรื่องเล่าจากคนรุ่นใหม่ที่เคยหันหลังให้อาชีพไม้ดัดบอนไซของครอบครัว แต่ตัดสินใจกลับมาและนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาสร้างความเปลี่ยนแปลง จนบอนไซมีอัตรารอดที่ดีขึ้นและขายได้ราคาดีขึ้นเท่าตัว

เราได้ฟังเรื่องเล่าจากหมู่บ้านชาวลัวะที่เคยทำไร่เลื่อนลอย และรายได้ก็เลื่อนลอยเช่นเดียวกับวิธีทำไร่ แต่พวกเขาก็ได้นำนวัตกรรมโรงเรือนมาใช้จนกลายเป็นผู้ปลูกผักคุณภาพดีส่งให้อำเภอบ่อเกลือทั้งอำเภอ มีแบรนด์กาแฟและแพ็กเกจท่องเที่ยวเป็นของตัวเอง

นี่คือบางส่วนของเรื่องราวจาก 45 ชุมชน ใน 29 จังหวัด ที่เข้าร่วมโครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้มของ ปตท. ซึ่งเป็นการให้ทุนเด็กรุ่นใหม่กว่า 280 คน ภายใต้โครงการ Restart Thailand ให้ได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนบ้านเกิด โดยมี ปตท. คอยสนับสนุนองค์ความรู้ ทั้งในเรื่องนวัตกรรมการเกษตร (Smart Farming) การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยการแปรรูป สร้างมาตรฐาน และเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย (Smart Marketing) และการท่องเที่ยวชุมชนที่ส่งเสริมอัตลักษณ์ของท้องถิ่น (Community-based Tourism)

นอกจากงานนี้จะมีชุมชนมากมายมาออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์และแพ็กเกจท่องเที่ยวแล้ว บนเวทีเสวนายังมีเรื่องเล่ามากมายที่เป็นตัวอย่างให้เราเห็นว่า หากเกษตรกรไทยได้รับการส่งเสริมอย่างถูกทาง ศักยภาพของพวกเขาจะไปได้ไกลมาก ซึ่งผลที่ได้ก็ไม่ใช่เพียงรายได้ที่มั่นคงขึ้น แต่ยังรวมถึงความเข้มแข็งของชุมชน ความสุขของผู้คน และความภูมิใจในท้องถิ่น อีกทั้งยังทำให้เด็กรุ่นใหม่ไม่จำเป็นต้องระหกระเหินไปไกลจากบ้านเกิด

และต่อจากนี้คือบางส่วนของเรื่องเล่าจากพวกเขา

แก้ปัญหาการเกษตรด้วยนวัตกรรม 

หากย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว เกษตรกรตำบลบ้านน้ำพุ อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ก็ไม่ต่างอะไรจากภาพจำชาวนาไทยทั่วไปที่ชีวิตเต็มไปด้วยหนี้สิน สุขภาพย่ำแย่เพราะสารเคมี พอได้ข้าวมาทีก็ไม่เคยมีอำนาจต่อรองราคาใด ๆ 

สายฝน ช่างเขียน คือหนึ่งในลูกหลานของเกษตรกรตำบลนี้ที่ต้องระหกระเหินไปทำงานไกลจากบ้านเกิด เธอใช้ชีวิตเป็นสาวโรงงานนานนับ 10 ปี ก่อนมีเหตุให้ต้องกลับบ้านมาดูแลพ่อที่ล้มป่วย 

แต่สิ่งที่ทำให้เธอแตกต่าง คือแนวคิดที่ว่าไม่อยากใช้สารเคมีอีกต่อไปแล้ว 

“ช่วงแรก ๆ พ่อไม่ยอม เขาไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้ เลยแอบไปคุยกับแม่จนได้มา 1 ไร่ เราต้องแอบพ่อทำ” สายฝนเล่าถึงความยากลำบากในช่วงแรกเช่นเดียวกับผู้เริ่มต้นเกษตรอินทรีย์คนอื่น ๆ 

แต่เมื่อถึงวันที่เก็บเกี่ยวผลผลิต ข้าวไรซ์เบอร์รี 1 ไร่ของเธอให้ผลผลิตมากถึง 1 ตัน ขายได้ 3 หมื่นบาท ซึ่งนั่นก็เป็นจุดเปลี่ยนให้พ่อของเธอยอมรับและยกแปลงนาที่เหลือให้ แต่สายฝนก็ไม่หยุดเพียงแค่นั้น เธอค่อย ๆ ชักชวนเกษตรกรคนอื่น ๆ ให้เปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์ และรวมกลุ่มชาวบ้านจนเกิดเป็นวิสาหกิจชุมชน พัฒนาการผลิตจนได้รับมาตรฐาน Organic Thailand และส่งออกให้ฝรั่งเศสเป็นปีที่ 7 อีกทั้งยังมีฮ่องกงและอังกฤษติดต่อมาจนผลิตไม่ทัน

ถ้าเล่าเพียงเท่านี้ นี่ก็อาจดูเหมือนเรื่องราวของชุมชนเกษตรอินทรีย์ทั่วไป แต่สิ่งที่ทำให้กลุ่มนี้แตกต่างคือการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้แก้ปัญหาในหลาย ๆ ด้าน

“ปัญหาแรกคือเรื่องฟ้าฝน ด้วยความที่ที่นี่พึ่งพาน้ำฝนอย่างเดียว เราก็ต้องทำตัวเป็นคนรุ่นใหม่ ใช้แอปพลิเคชันพยากรณ์อากาศที่จับพิกัดแปลงเรา ดูความชื้นในแปลงว่าเหมาะสมต่อการเพาะปลูกแล้วหรือยัง แล้วนำข้อมูลนั้นบอกต่อกับสมาชิกในกลุ่มเพื่อลดความเสี่ยง” 

ปัญหาต่อมาคือเรื่องของแรงงานที่มีน้อย เนื่องจากคนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ไปทำงานในเมือง ทำให้กลุ่มของเธอตัดสินใจจ้างช่างชุมชนให้ทำเครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์แบบ 2 In 1 ที่หยอดปุ๋ยก้นหลุมแล้วหยอดเมล็ดตามได้ในการเดินเครื่องครั้งเดียว ซึ่งช่วยทั้งประหยัดเวลา ประหยัดแรงงาน และประหยัดเมล็ดพันธุ์ที่ราคาแพง

“ต่อมาก็คือขั้นตอนพ่นน้ำหมัก แต่ก่อนเราต้องสะพายเป้แล้วเดินพ่น ยิ่งเป็นเกษตรอินทรีย์ยิ่งต้องพ่นถี่ ตามหลักแล้วคือ 7 วันครั้ง ใครทำไหวก็บ้าแล้ว เราเลยได้มีโดรนพ่นน้ำหมักตัวแรกของตำบล จากเดิม 10 ไร่ใช้เวลาทั้งวันก็เหลือแค่ครึ่งชั่วโมง เบาแรงไปมาก ทำให้พ่นได้บ่อยตามที่ควรจะเป็น” สายฝนเล่าถึงอีกหนึ่งความล้ำ 

นอกจากนั้น ในขั้นตอนสุดท้ายของการตากข้าวเปลือกที่แต่เดิมต้องใช้พื้นที่กว้างและระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 7 วัน แถมต้องอาศัยแรงคนพลิกข้าว ซึ่งพวกเขาแก้ปัญหาด้วยการจ้างช่างชุมชนให้ทำตู้อบที่ช่วยย่นระยะเวลาให้เหลือแค่ 8 ชั่วโมง และใช้คนนอนเฝ้าเครื่องแค่คนเดียว คำนวณแล้วลดค่าใช้จ่ายได้ 800 บาทต่อตัน แถมข้าวเปลือกที่ได้ก็แห้งทั่วถึงทุกเมล็ด 

“ในอนาคตเราวางแผนว่าจะมีการผูกปิ่นโต ให้คนเมืองสั่งข้าวล่วงหน้า เราคอยถ่ายรูปส่งให้ดูว่าต้นข้าวของเขาโตแค่ไหนแล้ว พอถึงเวลาก็สีและส่งให้ทุกเดือน” เธอเล่าถึงแผนในอนาคต 

จากที่ราบลุ่มภาคกลางของจังหวัดสุโขทัย มาสู่ดอยสูงภาคเหนือของหมู่บ้านห้วยขาบ ตำบลดงพญา อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่เข้าร่วมโครงการนวัตกรรมสร้างรอยยิ้มกับ ปตท. และได้นำเทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหา 

“จากแต่ก่อนชาวบ้านทำไร่เลื่อนลอย อยากปลูกอะไรก็ปลูก บางปีเจอฝนหนักก็ปลูกไม่ขึ้นบ้าง แต่พอเราใช้นวัตกรรมโรงเรือนมาช่วย ทำให้ควบคุมน้ำได้ตามต้องการ ผลผลิตก็ดีขึ้นและปลูกได้ทั้งปี ผักสลัดของเราจะไม่ขม เพราะมีการให้น้ำที่แม่นยำ วันไหนร้อนก็ให้น้ำแบบพ่นหมอกได้ อย่างตอนนี้เราอยู่บนเวที ก็สั่งรดน้ำผ่านมือถือได้ พอทำแบบนี้ รายได้ก็ดีกว่าทำไร่เลื่อนลอย ใช้เวลาน้อยกว่า ชาวบ้านก็หันมาทำแบบนี้มากขึ้น” ทิพย์สุคนธ์ เครือธรรม หญิงสาวรุ่นใหม่จากโครงการ Restart Thailand เป็นตัวแทนเล่าเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของชุมชนห้วยขาบ 

“อีกเทคโนโลยีที่เราใช้คือหลอดไฟ LED เราจะเปิดตอนกลางคืนเพื่อหลอกผักว่าเป็นเวลากลางวัน ซึ่งช่วยเร่งการเติบโต ย่นระยะเวลาการปลูกจาก 30 วันเหลือ 15 วัน แล้วเราก็มีการใช้แสงฆ่าเชื้อ ช่วยลดการใช้สารเคมีลงได้มาก”

ด้วยนวัตกรรมทั้งหมดนี้ทำให้ห้วยขาบกลายเป็นแหล่งผลิตผักรายหลักของอำเภอบ่อเกลือ อีกทั้งที่นี่ยังมีพาราโบลาโดมที่ใช้ตากเมล็ดกาแฟ ทำให้เมล็ดไม่ขึ้นรา ใช้เวลาน้อยลง รายได้ดีขึ้น จนทุกวันนี้พวกเขามีแบรนด์ ‘ลั๊วะ คอฟฟี่’ เป็นสินค้าขึ้นชื่อของชุมชน

ถัดไปทางภาคตะวันออก ณ ตำบลดงขี้เหล็ก จังหวัดปราจีนบุรี อาชีพหลักอย่างหนึ่งของชาวบ้านที่นี่คือการทำมะสังดัดบอนไซ 

“ปัญหาที่เราเห็นมาตลอดคือพ่อใช้เวลาปลูก 9 เดือน แต่ขายแค่ไม่กี่สิบบาท และเป็นการขายหน้าร้านอย่างเดียว ส่วนการเก็บผลผลิตก็จะมีช่วงที่เรียกว่า 5 เดือนอันตราย ถ้าเจอลมแรง ๆ ต้นจะแห้ง บางปีปลูกหมื่นต้น ตายไป 8 พัน สวนของคุณตาข้าง ๆ ปลูกหมื่นต้น ไปทั้งหมื่นต้น ต้องไถทิ้ง” อาทิตติญา โทไธสง เกษตรกรรุ่นใหม่แห่งตำบลดงขี้เหล็กบอกเล่าเรื่องราวของปัญหา

“พอมีโครงการของ ปตท. เข้ามาช่วยทำโรงเรือนอัจฉริยะที่ควบคุมอุณหภูมิได้ ทำให้อัตรารอดดีขึ้น การจัดการก็ง่ายขึ้น จากเดิมที่ใช้เวลารดน้ำ 45 นาทีถึง 1 ชั่วโมง ก็เหลือแค่ 10 นาที สั่งรดน้ำผ่านมือถือได้ แล้วก็ประหยัดน้ำมากขึ้นด้วย”

นอกจากนั้นอาทิตติญายังได้ใช้ความรู้นิเทศศาสตร์ที่เรียนมาช่วยพ่อสร้างตลาดออนไลน์ ทำให้ขายได้ราคาดีกว่าเดิม 1 – 2 เท่าตัว ซึ่งเธอบอกว่า หากมีกำลังผลิตมากกว่านี้ก็อาจส่งออกได้ เพราะไม้ดัดบอนไซเป็นที่ต้องการมากในประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เนื่องจากถือว่าเป็นไม้มงคล

“เราเป็นเกษตรกรยุคใหม่ที่กลับมาอยู่กับครอบครัว แต่ก่อนเคยเป็นสิ่งที่เราต่อต้าน เพราะอยากอิสระ อยากโลดแล่นทำงานในสายที่เรียนมา แต่ทำงานไปได้ครึ่งปี คำถามในชีวิตเริ่มเกิด ทำไปทำไม ความมั่นคงในชีวิตไม่มีเลย เงินเก็บไม่มีเลย บ้านต้องเช่า ข้าวต้องซื้อ เราเลยสมัครเป็นเยาวชนคืนถิ่นพัฒนาชุมชน เรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน ทำให้เรารู้สึกว่าการกลับมาอยู่บ้านคือความมั่นคง” อาทิตติญาสรุป

บทเรียนจากลุงรีย์ – เรารู้จักสินค้าตัวเองดีพอแล้วหรือยัง

“เราจะทำยังไงให้ความขี้เสียดายเป็นอาชีพได้” คือคำถามที่ ลุงรีย์-ชารีย์ บุญญวินิต แห่ง Uncleree Farm ถามตัวเองเมื่อหลายปีก่อน

“เราเห็นปัญหาว่าตัวเองเป็นคนขี้เสียดาย ดังนั้นการเอาของเหลือของคนอื่นมาเป็นต้นทุนของเราคือที่มาของทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำ ตั้งแต่งานศิลปะจนถึงฟาร์ม” ชายวัย 30 กลาง ๆ ที่เรียกตัวเองว่าลุง เล่าถึงแนวคิดหลักในการทำงานที่ต้องเริ่มต้นจากการรู้จักตัวเอง 

ฟาร์มลุงรีย์คือชุมชนเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่ในซอยเพชรเกษม 46 เขาเริ่มเป็นที่รู้จักจากการเป็นนักออกแบบที่ผันตัวมาทำฟาร์มเลี้ยงไส้เดือน ก่อนต่อยอดเป็นโรงเพาะเห็ด และเปิดร้านอาหารแบบโอมากาเสะที่ใช้ชื่อว่า ‘โอมากาเห็ด’ ที่เป็นการเก็บเห็ดสด ๆ จากฟาร์มมาทำอาหาร จนได้รับความนิยมขนาดที่มีคนจองล่วงหน้านานนับเดือน 

“การจะขายให้ได้ราคาดีที่สุด เราต้องรู้จักของที่เราขาย เรารู้ว่าเห็ดเราไม่หอมเท่าทรัฟเฟิล แต่มันเด้งเหลือเกิน เราก็เอาความเด้งมาสู้ เราทำซ้ำ ๆ จนรู้หมดว่าจะหั่นยังไงให้เป็นเต้าหู้ หั่นยังไงให้เป็นปลาซาชิมิ สารพัดจะทำจนเรารู้สึกว่าเห็ดของเรานี่สนุกสุดยอดเลย”

บนหน้าจอ LED บนเวที ลุงรีย์ฉายภาพอินโฟกราฟิกของเห็ดดอกหนึ่งที่แสดงถึงการแปรรูปส่วนต่าง ๆ ของเห็ดให้มาเป็นอาหารหลากหลายประเภท… ดอกจิ๋ว – อบลมร้อนให้แห้ง เหมือนกินถั่ว, ครีบ – สไลซ์ส่วนครีบล้วน นำมาเผาไฟ เหมือนกินคางกุ้ง, หัว (ด้านใน) – เนื้อนิ่มกินง่าย หั่นลูกเต๋า สัมผัสคล้ายเต้าหู้, หัว (ใหญ่) – หั่นส่วนหัวเป็นทรงหางปลาวาฬ ทำเทมปุระ เคี้ยวสู้ฟัน, ผิวและแกนก้าน – ผิวอบลมร้อน สัมผัสกรอบ แกนก้านทำกระเทียมเจียวเห็ดได้, ก้าน (หั่นท่อน) – บั้งเลียนแบบหอยเชลล์ ย่างเกลือ เนย บีบมะนาว จบ!

ส่วนการเพาะเห็ด เขาก็ทดลองจนถึงขั้นรู้ว่าต้องเปิดไฟอย่างไรให้ได้เห็ดทรงที่ต้องการ เช่น เปิดแบบไหนให้ได้ต้นเตี้ย เปิดแบบไหนให้ได้ก้านยาว ๆ เปิดแบบไหนให้ได้ดอกใหญ่ 

“เราจะควบคุมการเติบโตของเห็ดให้เหมาะกับลูกค้า เช่น ร้านนี้ใช้ก้านยาว ส่วนร้านเบอร์เกอร์ใช้ดอกใหญ่ เรารู้ว่าลูกค้าคนไหนใช้แบบไหน ทำให้เขาใช้เห็ดของเราได้แทบ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องเหลือทิ้ง”

ส่วนบทเรียนอีกอย่างที่ลุงรีย์บอกกับเรา คือบางครั้งก็มีโอกาสใหม่ ๆ ซ่อนอยู่ในวิกฤต หากเรารู้จักปรับตัวและปรับมุมมอง 

“ช่วงที่ฟาร์มเติบโตขึ้น 4 – 5 เท่า คือช่วงที่เราป่วยหนักจนทำงานไม่ไหว พอเราไม่มีแรง ถึงได้มาคิดเรื่องการใช้นวัตกรรมช่วย ตอนที่เราไม่พร้อมที่สุดนั่นแหละคือตอนที่เราเจอทางออก ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นทิ้ง และถึงแม้ว่าพื้นที่ของเราจะเป็นหอพัก ไม่ค่อยมีแสง ไม่เหมาะกับคนเลย แต่เหมาะกับเห็ดมาก จนทุกวันนี้เราแทบไม่ต้องหาวิธีขายแล้ว เรามีลูกค้าที่พร้อมพาครอบครัวมาฟาร์มเล็ก ๆ ที่เห็ดมีชื่อเขาแปะอยู่ ทุกคนจองเห็ดล่วงหน้าได้ เราให้คุณค่ากับของที่เราทำ เราสื่อสารให้คนได้รู้ที่มาที่ไปของเห็ดที่เขาจะกิน สิ่งสำคัญคือเรารู้จักของของเราดีพอแล้วหรือยัง” 

เปลี่ยนสิ่งธรรมดาให้กลายเป็นจุดขาย

ณ ชุมชนแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่

ฟ้า-ณัฐสุดา กรุณา คืออีกหนึ่งคนรุ่นใหม่จากโครงการ Restart Thailand ที่มีโอกาสกลับไปช่วยพัฒนาบ้านเกิด

“ในอดีต ผู้นำของชุมชนเราต่อสู้เรื่องการอนุรักษ์ดินน้ำป่า เรามีทรัพยากรที่บรรพบุรุษทิ้งไว้ให้ ซึ่งโครงการของ ปตท. ก็เข้าไปช่วยดึงศักยภาพของชุมชนออกมา อย่างเช่นเถียงนากลางทุ่งที่คนพื้นที่อาจมองว่าธรรมดา แต่พอ ปตท. เข้าไป ก็มองเห็นว่าสิ่งนี้ขายได้ จุดนี้เลยเป็นส่วนหนึ่งของแพ็กเกจท่องเที่ยว เราจะพานักท่องเที่ยวนั่งซาเล้งที่เป็นยานพาหนะประจำชุมชน ลัดเลาะไปตามแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ แล้วมาแวะทำไข่ป่ามกันที่เถียงนา”

ฟ้าเล่าถึงเถียงนาทรงน่ารักที่ตั้งอยู่ท่ามกลางทุ่งนาเขียวขจี ส่วนไข่ป่ามที่เธอพูดถึงคืออาหารพื้นถิ่นของชุมชนที่มาจากไข่ไก่อารมณ์ดีและย่างด้วยเตาถ่าน นอกจากนั้นเธอยังบอกว่าที่นี่ยังมีพริกสายพันธุ์พื้นถิ่นที่อยากให้ทุกคนมาลองชิม นั่นคือพริกปู่ก้อนที่มีความเผ็ดถึงใจ

ส่วนทิพย์สุคนธ์จากหมู่บ้านห้วยขาบ จังหวัดน่าน ที่วันนี้มาในชุดประจำถิ่น ก็เชิญชวนให้ทุกคนได้มาท่องเที่ยวที่บ้านห้วยขาบเช่นกัน เธอเล่าว่าหมู่บ้านแห่งนี้เคยประสบภัยดินถล่มจนหมู่บ้านเก่าเสียหายทั้งหมด เมื่อสร้างใหม่ก็ทำให้บ้านทุกหลังเป็นทรงเดียวกันจนดูคล้ายหมู่บ้านญี่ปุ่นที่ซ่อนตัวอยู่กลางหุบเขา 

“ถ้าพูดถึงบ่อเกลือ คนทั่วไปอาจนึกถึงสะปัน แต่ถ้าเลยไปอีกนิดจะเจอบ้านห้วยขาบ มี One Day Trip พาชมวิถีชาวลัวะ ชิมไก่ทอดมะแขว่น เดินเก็บกาแฟในสวน ชิมกาแฟลั๊วะ คอฟฟี่ ที่ใช้วิธี Honey Process”

และชุมชนสุดท้ายที่จะมาแบ่งปันเรื่องราว คือวิสาหกิจชุมชนตำบลพิมาน อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ที่ส่ง คุณแม่พักสุดา วงค์ตาพรม มาเป็นตัวแทน วันนี้เธอขึ้นเวทีในเสื้อทรงสูทแต่เป็นผ้าทอพื้นเมืองที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ เธอบอกว่านี่คือลายที่แกะมาจากผ้าห่อคัมภีร์ใบลานของชุมชน

“บ้านเรามีของโบราณเยอะ เราเห็นสิ่งนี้มานาน เราก็มีความรู้ด้านการทอผ้า แต่เราไม่เคยนำลายผ้านี้มาทำอะไร พอ ปตท. เข้ามาเห็น เขาก็บอกว่าลายผ้าห่อคัมภีร์นี้ต่อยอดได้นะ เราเพิ่งนึกออกก็ตอนนั้น บางครั้งก็ต้องการคนมาจุดประกาย” 

แต่ความพิเศษของผ้าทอลายนี้ไม่ได้จบแค่นั้น เพราะการแกะลายไม่ใช่เรื่องง่าย และลายนี้ต้องใช้คนทอถึง 3 คน ช่วงแรก ๆ ที่ชาวบ้านยังทำไม่เป็นก็เป็นพระสงฆ์ที่เป็นคนสอนชาวบ้านทอ จนเรียกกันว่าเป็นผ้าทอ ‘พระ-ทำ’ 

นอกจากผ้าทอลายผ้าห่อคัมภีร์โบราณแล้ว ที่นี่ยังมีคอลเลกชันชุดผ้าทอสไตล์มินิมอลที่ผสานความพื้นถิ่นกับความทันสมัยเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน บางชุดลูกสาวเป็นคนออกแบบ บางชุดคุณแม่พักสุดาก็ออกแบบเองโดยได้แรงบันดาลใจจากชุดนางเอกละครในโทรทัศน์ แถมยังมีการทำตลาดออนไลน์ที่ทำให้ขายได้ 24 ชั่วโมง

“ต้องขอบคุณ น้องนิ พนักงานจากโครงการ Restart Thailand ของ กลุ่ม ปตท. ที่เป็นทุกสิ่งทุกอย่างของชุมชน ตั้งแต่ช่วยขนของ ช่วยเรื่องเทคโนโลยีเวลาแม่ต้องประชุมออนไลน์ ช่วยเรื่องการนำเสนอ ที่ชุมชนอยู่ได้ทุกวันนี้เพราะมีลูก ๆ หลาน ๆ เข้ามาช่วย” 

ทั้งหมดนี้เป็นแค่บางส่วนของเรื่องราวจากหลายชุมชน… ลองจินตนาการว่า หากเรื่องราวความสำเร็จแบบนี้เกิดขึ้นกับชุมชนเล็ก ๆ ทั่วประเทศ ประเทศไทยของเราจะเติบโตและเข้มแข็งได้ขนาดไหน

Writer

Avatar

เมธิรา เกษมสันต์

นักเขียนอิสระ เจ้าของเพจ ‘Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ’ สนใจเรื่องธรรมชาติ ระบบนิเวศ สรรพสัตว์ โลกใต้ทะเล และการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลงานหนังสือแล้ว 2 ชุด คือ ‘สายใยที่มองไม่เห็น’ และ ‘สายใยใต้สมุทร’

Photographer

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

นักศึกษาเอกญี่ปุ่นจากมหาสารคาม สนใจภาพถ่าย ชีวิตขับเคลื่อนด้วยเสียงเพลง อยากมีเงินไปมิวสิกเฟสติวัลเยอะๆ