ความรู้สึกที่ได้มางานวันนี้เป็นยังไงบ้างครับ 

“พี่รู้สึกเหมือนได้กลับมางานรวมตัวศิษย์เก่าเลย มาโรงเรียนที่สอนเราหลายเรื่องมาก ๆ ตอนที่เริ่มเป็นสถาปนิกน้องใหม่ รู้สึกว่ามันพิเศษมากกว่าแค่บริษัทที่มาทำงานแล้วกลับบ้าน”

“ส่วนพี่นะ ตอนนี้ก็ยังทำงานอยู่ที่สาขาเชียงใหม่ วันนี้ได้เจอหลายคนที่เราไม่ได้เจอกันนาน พี่ ๆ น้อง ๆ ได้กลับมาบ้านที่ทุกคนก็ยังทักทายกันแบบอบอุ่น ตอนทำที่กรุงเทพฯ ไม่ได้มีกิจกรรมเยอะ นอกจากแค่เรื่องงานอย่างเดียว”

หลังจากที่ผมลองเดินสุ่มถามผู้คนในงานดูแล้ว 

แทบจะไม่มีใครเรียก A49 ว่าเป็นแค่สถานที่ทำงานเลย

หรือเป็นเพราะว่า A49 ไม่ใช่สถานที่ แต่คือผู้คน

ปัจจุบัน 49GROUP มีบริษัทออกแบบครอบคลุมหลากหลายสาขา มีผู้คนมากกว่า 600 คน 

และยังคงรับสมัครพนักงานใหม่มากขึ้นเรื่อย ๆ 

“บริษัทเราเกิดขึ้นมาได้ ไม่ใช่มีแค่เราเป็นปัจเจก มันเกิดขึ้นจากมวลของผู้คน และน้อง ๆ ทุกคนที่มีความสามารถรวมกันสร้างขึ้นมา” เล็ก-ประภากร วทานยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด (A49) พูดประโยคเปิดบนเวที

ตลอดการเสวนา ผู้คนที่นั่งฟังอยู่จะคอยยกมือเช็กชื่อตัวเอง เวลาที่ถูกพี่เล็กขานชื่อว่าคนนี้ทำงานนี้นะ มีเสียงปรบมือดังขึ้นเป็นระยะ สลับกับหันไปพูดคุยกันเล็ก ๆ น้อย ๆ ถึงแต่ละก้าวเดินในอดีต กว่าจะมาถึงวันนี้ได้

เหลียวมอง 40 ปีที่ผ่านมาของครอบครัวสถาปนิก A49 ด้วยสายตาหัวเรือใหญ่ ประภากร วทานยกุล

วันเปิดงานครบรอบ 40 ปี บริษัท A49 งานรวมตัวเหล่าผู้คนที่มีส่วนร่วมกันมาเสมอ ผู้คนที่คอยช่วยสร้างสรรค์ผลงาน ขับเคลื่อนแต่ละโปรเจกต์ให้สำเร็จ 

เป็นธรรมดาที่ความสำเร็จของทุกคนย่อมต้องมีร่องรอยเท้าทิ้งไว้ มีเรื่องราวหลังฉากหน้าเกิดขึ้นมากมาย มาลองเหลียวมองย้อนกลับไปตลอด 40 ปี กับ 9 โปรเจกต์ 9 หลักคิดการทำงานของบริษัทสถาปนิก A49 ในแต่ละ (9) เดิน

เหลียวมอง 40 ปีที่ผ่านมาของครอบครัวสถาปนิก A49 ด้วยสายตาหัวเรือใหญ่ ประภากร วทานยกุล

สั่งสมประสบการณ์ 

อาคารไทยประกันภัย

“นี่คืออาคารสำนักงานยุคแรก ๆ ของ A49 เลยนะครับ อยู่ในซอยร่วมฤดี สมัยก่อนตื่นเต้นมากนะครับ โอ้โห ได้ทำอาคาร 4 ชั้น ทุกอย่างเขียนแบบด้วยมือทั้งหมด คอมพิวเตอร์ยังไม่มีเลย ทำตึกนี้ออกมาได้นี่ดีใจมาก” 

ประสบการณ์สำคัญที่ได้ทำอาคารสำนักงานในวันนั้น เป็นหนึ่งในก้าวแรกที่สำคัญให้ A49 เริ่มสั่งสมผู้คนมากฝีมือ ทีมงานหลากหลายสาขาอาชีพ ขยับขยายเครือ 49GROUP เป็นรากฐานรองรับโครงสร้างการเติบโตต่อมาได้ในอนาคต

“พอทำอาคารสำนักงานได้ดี จากนั้นเราก็เริ่มสร้างบริษัท A49 ให้แข็งแรงขึ้น เริ่มสร้างกลุ่ม 49GROUP ขึ้นมา หาทีมวิศวกรของตัวเอง จนมาถึง พ.ศ. 2538 – 2539 ก่อนที่ฟองสบู่จะแตก ยุคนั้นน้อง ๆ ที่จบปริญญาตรีสถาปัตยกรรมศาสตร์ในกรุงเทพฯ มา เงินเดือนสถาปนิกที่ยังไม่มีประสบการณ์เริ่มต้นเรียกได้ 25,000 บาท เพราะเป็นคณะที่ได้รับความนิยมสูงมาก เงินเดือนสูง” 

“บูมมากขนาดที่ผมต้องพกโทรศัพท์ 3 เครื่อง แล้วมันก็ดังพร้อมกัน 3 เครื่องเลย จนต้องคอยวิตกกังวล เวลาได้ยินเสียงโทรศัพท์ขึ้นมาจะตกใจ เหงื่อแตกหมด เพราะรับโทรศัพท์มาแล้วจะได้ยินแต่ โปรเจกต์ผมถึงไหนแล้ว โปรเจกต์ผมถึงไหนแล้ว จนสุดท้ายไม่กล้ารับโทรศัพท์” 

เหลียวมอง 40 ปีที่ผ่านมาของครอบครัวสถาปนิก A49 ด้วยสายตาหัวเรือใหญ่ ประภากร วทานยกุล

บทเรียนจากอดีต

Country Marina City 

“โปรเจกต์นี้เป็นโปรเจกต์น่าสนุกในยุคที่เฟื่องที่สุด ทุกวันนี้ก็ยังอยู่นะ

“เราทำกับ ด้วง-ดวงฤทธิ์ บุนนาค เขาเข้ามาช่วยคิดอะไรหลายอย่างมาก เจ้าของโปรเจกต์มีที่ดินอยู่บางปะกง ใกล้ปากอ่าวมากเลย ผมเลยลองเสนอให้ทำบ้านที่มีเรือเข้าไปจอดได้ นี่เป็นจุดขายสำคัญของโปรเจกต์

“ยังไม่ทันเสร็จงานนี้ เจ้าของโปรเจกต์มีที่เหลืออีกด้านข้างด้วย ท่านก็มาคุยกับผมว่าอยากทำโรงแรมเพิ่ม งานของเราในยุคนั้นมีเข้ามาเยอะจริง ๆ ทั้งบ้าน ออฟฟิศ โรงแรม อาคารขนาดใหญ่ แต่ตอนนั้นผมคิดว่ายังไม่ถึงเวลา ยังไม่มั่นใจที่จะทำ จึงขอปฏิเสธไป 

“มีงานเข้ามาก็รับคนเพิ่มตลอด วันนั้นเรามีพนักงาน 115 คนแล้ว ตอนสิ้นปีจะมีเงินพิเศษ 2 ซอง ซองหนึ่งเป็นเงินตอบแทนปลายปี อีกซองเป็นการแจ้งขอบคุณ ปีหน้าท่านจะได้เงินเดือนปรับขึ้นเท่านี้เท่านั้น”

เข้าสู่ช่วงวิกฤตการณ์การเงิน พ.ศ. 2540 หรือ ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ บริษัท A49 ก็ต้องบอบช้ำสาหัสแบบไม่ทันตั้งตัวกับการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท วิกฤตครั้งนั้นส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสร้างความเสียหายอย่างมากต่อประเทศไทย

แล้ววันที่โทรศัพท์ทั้ง 3 เครื่องไม่ดังอีกเลยก็มาถึง 

“จำเป็นต้องพูดกับน้อง ๆ ตรง ๆ ว่าต้องลดพนักงาน สิ้นปีนั้นเราต้องแจกซองที่บอกข่าวเลิกจ้าง เหลือพนักงาน 45 คน ทั้งผู้บริหาร น้อง ๆ ทุกคนโดนลดเงินเดือนหมด ทำงานกันแค่ 4 วันเท่านั้น ขอผ่อนจ่ายเงินเดือนให้ทุกคน

“ผมผิดอะไรรึเปล่าครับ – ตอนที่โดนเลิกจ้าง น้องคนหนึ่งพูดแล้วก็ร้องไห้ 

“เป็นบทเรียนที่พี่ผู้บริหารทุกคนเจ็บปวด”

เหลียวมอง 40 ปีที่ผ่านมาของครอบครัวสถาปนิก A49 ด้วยสายตาหัวเรือใหญ่ ประภากร วทานยกุล

การบริหารกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น 

King Power Complex 

ถ้าผ่านวิกฤตต่ำสุดมาได้ คุณก็จะมีโอกาสเติบโตขึ้นแน่ 

ค่อย ๆ วางอิฐที่ละก้อน ต่อเติมทีละเล็กละน้อย สร้างรากฐานใหม่ให้มั่นคง 

A49 กลับมาสร้างสรรค์ผลงานด้วยความร่วมมือร่วมใจของสมาชิกที่เหลืออยู่ ฟื้นฟูบริษัทให้กลับมาแข็งแรงกว่าเดิม เพิ่มสาขาและบริการให้ครอบคลุมทั้งเรื่องการออกแบบ การก่อสร้าง การสื่อสาร โดยมีสถาปัตยกรรมเป็นจุดศูนย์กลาง 

ขยายกลุ่มใหญ่ขึ้นมาได้อีกครั้ง 

“วันดีคืนดี King Power อยากจะสร้างองค์กรให้มีอัตลักษณ์ อยากทำ Duty Free ที่ถนนรางน้ำ 33 ไร่ คุณวิชัย ศรีวัฒนประภา เชื่อใจเรามาก ปล่อยให้ 49GROUP เข้ามาควบคุมดูแลการออกแบบ ก่อสร้างภายใน-ภายนอก กราฟิกอัตลักษณ์องค์กร ทุกฝ่ายช่วยกันเต็มที่มาก ๆ ให้ King Power รางน้ำ Headquarter สาขาแรก เสร็จทันภายใน 8 – 9 เดือน”

A49 ไม่ปล่อยให้โอกาสสำคัญนั้นหลุดมือไป หลังจากสาขาแรกเสร็จสมบูรณ์ ก็ยังได้ความเชื่อใจให้สร้าง King Power สาขาอื่น ๆ ตามมาอีกมากมายจนปัจจุบัน 

เหลียวมอง 40 ปีที่ผ่านมาของครอบครัวสถาปนิก A49 ด้วยสายตาหัวเรือใหญ่ ประภากร วทานยกุล
เหลียวมอง 40 ปีที่ผ่านมาของครอบครัวสถาปนิก A49 ด้วยสายตาหัวเรือใหญ่ ประภากร วทานยกุล

ชื่อเสียง 

BU Diamond

“พื้นที่ 380 ไร่ติดถนนพหลโยธินที่รถวิ่งผ่านอย่างรวดเร็ว ทำยังไงให้คนรู้ว่า ม.กรุงเทพ อยู่ตรงไหน

“ตอนที่เรากลับมาคิดแบบตึกเพชร พูดตามตรงว่าเราคิดเล่น ๆ ว่าใครจะไปสร้างตึกนี่จริง ๆ ได้ แต่ปรากฏว่าแบบตึกเพชรถูกเลือกขึ้นมาจริง ๆ” 

ม.กรุงเทพ มีสัญลักษณ์ที่ใช้ในยุคแรก คือเพชรในช่อชัยพฤกษ์

“มาจากคอนเซปต์เพชรธรรมชาติที่รอการเจียระไน แล้ว ม.กรุงเทพ จะช่วยเจียระไนด้วยองค์ความรู้ให้นักศึกษากลายเป็นเพชรที่สมบูรณ์ ตอนแรกตึกเพชรมี 5 เม็ด แต่เกินงบประมาณ เลยต้องแก้แบบให้เหลือแค่ 2 เม็ด”

BU Diamond อาคารที่เป็นไอคอนของความสร้างสรรค์ระดับโลก ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นระดับนานาชาติ The ARCASIA Awards for Architecture 2011 และเป็นอาคารดีไซน์สุดล้ำที่เน้นการใช้แสงสว่างจากธรรมชาติ ประหยัดพลังงานไฟฟ้า รองรับทิศทางลมทั่วถึง 

เปิดรับแนวคิดคนรุ่นใหม 

Energy Complex 

งานสร้างสรรค์ที่เปิดรับแนวความคิดคนรุ่นใหม่ และใช้หลักประชาธิปไตยในงานออกแบบ

“เราไม่ได้คิดว่าใครซีเนียร์แล้วจะต้องเก่งกว่าใคร แต่ยอมรับว่าถ้าน้องคนไหนมีไอเดียที่ดีกว่า ทำให้พวกผู้ใหญ่อย่างผม อย่าง พี่เต้ย (นิธิ สถาปิตานนท์) พี่ ๆ ซีเนียร์คนอื่นยอมรับ ก็จะทำให้โปรเจกต์นั้นเป็นจริงได้ 

“ตึก EnCo เราประกวดแบบกันภายในก่อน น้อง ๆ ส่งมา 11 แบบด้วยกัน คนที่ชนะคือเด็กจบจาก ม.เชียงใหม่ และเป็นปีแรกที่มาทำงานกับเรา 

 “เขาคิดไอเดียเป็นหยดน้ำมัน 2 หยดกอดกัน ถ้าดูในแผนผังอาคาร จะเห็นรูปหยดน้ำมัน 2 หยดชัดเจน เป็นสัญลักษณ์ของ ปตท. เราก็มาโหวตเลือกกันว่าจะเอาแบบนี้มาพัฒนา”

อยากสร้างสรรค์ ก็ต้องส่งเสริม

“ถ้ามีอะไรก็ตามที่เป็นองค์ความรู้ จะพาน้อง ๆ ไปทั้งหมดเลย เคยจัดสูงสุด 5 คันรถไปดูงานต่างประเทศ ไปเยอรมนี ไปเบลเยียม ถ้ามีโอกาสทุกปี เราไปแน่”

เหลียวมอง 40 ปีที่ผ่านมาของครอบครัวสถาปนิก A49 ด้วยสายตาหัวเรือใหญ่ ประภากร วทานยกุล

บ้าบิ่น อุตสาหะ มุมานะ

New Thai Parliament House – Design Competition

มีโจทย์ท้าทายว่าการประชุมสภาล่างกับสภาสูง หากกดออดแล้ว ภายในนาทีครึ่ง ส.ส. และ ส.ว. จะต้องเข้าห้องประชุมมาลงคะแนนได้ทันทั้งหมด 

“สุดท้ายเราออกแบบอย่างนี้ครับ มีรัฐสภาอยู่ตรงกลาง มีทาวเวอร์ ด้านหนึ่งเป็น ส.ส. อีกด้านหนึ่งเป็น ส.ว. แต่ละตึกมีลิฟต์เต็มไปหมด เวลากดออดแล้วเราจับเวลาเดินทาง ทุกคนลงมาปุ๊บ เดินเข้าเลยภายในนาทีครึ่ง”

ถึงจะไม่ได้รับเลือกในการประกวดก็ไม่เป็นไร

ได้มานะอุตสาหะไปเต็มที่แล้ว ไม่มีอะไรต้องติดค้างใจ

แม่ทัพต้องมีขุนพล

สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) 

“A49 ทั้งหมดขับเคลื่อนด้วยผู้คนที่นั่งฟังอยู่รอบ ๆ เวทีตรงนี้ล่ะครับ 

“อย่าง VISTEC ที่เราชนะประกวดของ ปตท. ขนาดพื้นที่ 1,000 ไร่ที่มาบตาพุด เราออกแบบไว้ว่าต้องใช้แหล่งน้ำตรงกลางขนาด 280,000 ลูกบาศก์เมตร ทำการบ้านอย่างดีว่าที่ตั้งใกล้แหล่งน้ำใหญ่ ผันมาใช้งานได้แน่ คำนวณการผันเอาไว้ทั้งหมด แต่วันที่เจาะนำมาใช้จริง ๆ ได้น้ำน้อยมาก ๆ

“มันวิกฤตมากเลยครับ ยังมีภาพที่ผมเดินเตะฝุ่น มันไม่มีวันมีแหล่งน้ำเกิดขึ้นได้เลย” 

ภาพฝันเรื่องน้ำต้องแห้งลงทันตา แต่ขุนพลนักออกแบบยังไม่ยอมแพ้การศึกนี้ แล้วทำการบ้าน หาน้ำจากบริเวณอื่น ๆ รอบโครงการมาใช้แทน จนได้แหล่งน้ำตามที่ออกแบบไว้สำเร็จ

เหลียวมอง 40 ปีที่ผ่านมาของครอบครัวสถาปนิก A49 ด้วยสายตาหัวเรือใหญ่ ประภากร วทานยกุล

ZERO DEFECT

สรรค์สาระ เมืองไทยประกันชีวิต

สรรค์สาระ เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ฝึกอบรมคนให้พร้อมกับธุรกิจประกันยุคใหม่

“เราตั้งคำถามขึ้นมาว่า ทำยังไงให้ใช้พลังงานน้อยที่สุด ลดการใช้เครื่องปรับอากาศ ลดการใช้หลอดไฟ เราคำนวณการใช้พลังงานโดยละเอียดทั้งหมด ออกแบบช่องแสงที่เพียงพอต่อการใช้งานจริง ทำให้เกิดหลังคาโปร่งแสงระดับหนึ่ง ให้แสงส่องลงมาถึงภายในได้ ส่วนเครื่องปรับอาการทำงานเฉพาะห้องเรียนเท่านั้น ทางเดินหรือที่ภายนอกตรงนี้ไม่ต้องมี อยู่ตรงจุดไหนก็เกิดการเรียนรู้ได้ 

“สิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น ที่ตึกด้านข้างเป็นโรงสีข้าว ทำให้มีนกจากโรงสีข้าวเข้ามาทำรัง ทิ้งขี้นกเอาไว้ในอาคารสรรค์สาระ เราต้องทำตาข่ายกันนกเพิ่มที่ฝ้าเพดาน เป็นต้นเรื่องที่มาว่าจากนี้ไปงานของ A49 จะต้อง Zero Defect มีข้อบกพร่องน้อยที่สุด เป็นศูนย์ได้เลยยิ่งดี”

ไอเดียบรรเจิด นวัตกรรม ใครไม่ทา เราทา 

ศูนย์เลิศพนานุรักษ์

“ปตท. เขามีดอกไม้เมืองหนาวปีหนึ่ง 2 อาทิตย์ ดอกทิวลิปต้องอยู่ในอุณหภูมิ 14 – 15 องศาเซลเซียส ใช้เครื่องทำความเย็นขนาดหนัก ใช้พลังงานไฟฟ้ามากที่สุดเลย แค่เปิดใช้งาน 2 อาทิตย์ติดกันก็ต้องจ่ายเงินมหาศาลแล้ว 

“ในงานประกวดแบบเราก็เลยไป Challenge ปตท. ว่า องค์กรขนาดใหญ่แบบนี้จะยอมจำนนกับการดูดอกทิวลิปแค่ปีละ 2 อาทิตย์แค่นั้นเหรอ ในเมื่อคุณดูดอกทิวลิปทั้งปีได้โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม”

คำตอบก็คือ ‘พลังงานความเย็น’ จาก LNG พลังงานเหลือทิ้งที่ ปตท. มีอยู่แล้วมาใช้งานใหม่ 

ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) คือก๊าซที่ผ่านการลดอุณหภูมิให้อยู่ในรูปของเหลว เพื่อให้ขนส่งได้โดยง่าย จะทำให้เปลี่ยนสถานะได้ด้วยการใช้ความร้อนจากน้ำทะเล แลกเปลี่ยนอุณหภูมิ LNG ร้อนขึ้นจนเปลี่ยนเป็นก๊าซเมื่อต้องการใช้งาน 

สิ่งที่หลงเหลืออยู่ก็คือพลังงานความเย็น เนื่องจาก LNG ในสถานะของเหลวนั้นมีอุณหภูมิต่ำมากอยู่ที่ -160 องศาเซลเซียส พลังงานความเย็นที่เกิดขึ้นนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกมากมาย ช่วยลดต้นทุนด้านพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

“ตอนพรีเซนต์งาน เราขายให้ดูเลยว่า ปตท. จะปลูกดอกไม้เมืองหนาวเพิ่มได้อีก นอกจากทิวลิป สุดท้ายตัดสินว่าชนะ ได้สร้างโครงการนี้ขึ้นมาโดยใช้พลังงานความเย็น 

“ล่าสุดเมื่อ 2 อาทิตย์ที่แล้ว มีดอกไฮเดรนเยีย มีดอกทิวลิปอยู่ 54,000 ดอก จนตั้งเป้าจะส่งออกดอกทิวลิปไปต่างประเทศอีก ที่นี่เป็นจุดท่องเที่ยวที่ชาวบ้านชอบมาก วันหนึ่งเคยมีคนมาเที่ยวพีกสุด 7,000 คน”

เหลียวมอง 40 ปีที่ผ่านมาของครอบครัวสถาปนิก A49 ด้วยสายตาหัวเรือใหญ่ ประภากร วทานยกุล

ก้าวเดินต่อไปพร้อมกับทุกคน 

“ถึงวันนี้สาขาที่เชียงใหม่ก็ช่วยสาขาภูเก็ตได้ เราช่วยเหลือกันตลอดมา ผมต้องให้เครดิตกับทุกคนใน A49 ทุกผลงานเป็นความภาคภูมิใจของพี่น้อง ของเราทุกคน” 

“40 ปี เรามี 15 บริษัทย่อย มาถึงได้เพราะมีน้อง ๆ เรา วัฒนธรรมของเรา สังคมของเราที่ร่วมกันสร้างองค์กรนี้ขึ้นมา และอนาคตที่ยังไม่จบแค่เท่านี้ครับ”

ไม่ใช่แค่การสร้างผลงาน ถ้าเราสร้างผู้คนไปด้วยกันแล้ว

ทุกก้าวต่อไปจากนี้ก็จะมีผู้คนพร้อมเดินหน้าต่อไปด้วยกันเสมอ 

เหลียวมอง 40 ปีที่ผ่านมาของครอบครัวสถาปนิก A49 ด้วยสายตาหัวเรือใหญ่ ประภากร วทานยกุล

Writer

ประภวิษณ์ สิงขรอาจ

ประภวิษณ์ สิงขรอาจ

ใจดี สปอร์ต กทม. ชอบสีน้ำเงินเข้ม ที่ดูสว่าง

Photographer

Avatar

ณัฐวุฒิ เตจา

เกิดและโตที่ภาคอีสาน เรียนจบจากสาขาศิลปะการถ่ายภาพ สนใจเรื่องราวธรรมดาแต่ยั่งยืน ตอนนี้ถ่ายภาพเพื่อเข้าใจตนเอง ในอนาคตอยากทำเพื่อเข้าใจคนอื่นบ้าง