6 พฤศจิกายน 2023
2 K

‘PP Group Thailand’ ก่อตั้งโดยสองพี่น้องที่หลงใหลในแฟชั่นสุด ๆ 

คนพี่คือ ปิ่น-สุวดี พึ่งบุญพระ ผู้เคยทำงานอยู่ในโลกของ PR ให้บริษัทแฟชั่นยักษ์ใหญ่อย่าง LVMH 

ส่วนคนน้องคือ โอ-โอฬาร ปุ้ยพันธวงศ์ ผู้เคยทำงานธนาคาร บริษัทโฆษณา เป็นผู้จัดการแบรนด์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำงานเปิดตลาดพรีเมียมในประเทศไทย

ทั้งสองคนชอบแฟชั่นแบรนด์หรู มีความรู้เรื่องการสื่อสารและการทำตลาด

20 ปีที่แล้วทั้งคู่เริ่มต้น PP Group จากการซื้อมาขายไป ก่อนขยับขยายเป็นตัวแทนจำหน่ายที่แบรนด์ให้ความไว้วางใจ อันได้แก่ Tory Burch (ทอรี่ เบิร์ช), Longchamp (ลองฌองป์), Roger Vivier (โรเฌร์ วิวีเยร์), MCM (เอ็มซีเอ็ม), Off-White™ (ออฟไวท์), Maison Kitsuné (เมซง คิทสึเนะ), Palm Angels (ปาล์ม แองเจิลส์), CASETiFY® (เคสทิฟาย) และล่าสุดกับการร่วมทุนนำเข้าแบรนด์ Gentle Monster (เจนเทิล มอนสเตอร์) แบรนด์แว่นตาสัญชาติเกาหลี

ปิ่น-สุวดี พึ่งบุญพระ
โอ-โอฬาร ปุ้ยพันธวงศ์

ปัจจุบัน PP Group เป็นหนึ่งในผู้เล่นคนสำคัญของอุตสาหกรรมแฟชั่นในภูมิภาคนี้ เรียกว่าใครจะไป ใครจะมา หรือแบรนด์ไหนต้องการเปิดตลาดในไทย ต้องมาคุยกับพวกเขาเป็นที่แรก

ซึ่งโมเดลธุรกิจใหม่ PP Group นั้นสนุกมาก

แทนที่จะรอการเติบโตจากการขยายแบรนด์ พวกเขาเลือกหยิบจุดแข็งที่ทำและเชี่ยวชาญมาตลอด 20 ปีมาต่อยอดเป็นธุรกิจใหม่ เช่น ให้บริการด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจและเป็นที่ปรึกษาด้านการสร้างแบรนด์

และไม่ว่ากูรูหรือตำราธุรกิจจะพร่ำบอกให้ผู้ประกอบการปรับตัวเข้าไปอยู่ในออนไลน์และลดความสำคัญของการพึ่งพาหน้าร้านแค่ไหน สิ่งที่ธุรกิจนี้ทำคือสวนทางตำราเหล่านั้น เปิดหน้าร้านใหม่ตลอดเวลา และทำหน้าร้านสวยมาก

โดยเฉพาะหน้าร้าน Gentle Monster สาขา The EmQuartier ที่เรากำลังยืนอยู่ตอนนี้

PP Group ผู้นำเข้าแบรนด์แฟชั่นที่ทำให้คนไทยพ่ายแพ้คำว่า Limited Edition และใช้จุดแข็งตลอด 20 ปีสร้าง Business Model ใหม่

แม้แต่ช่วงโควิด ธุรกิจแฟชั่นในโลกนี้ก็ยังเติบโตรวดเร็วมาก

และไม่ว่าการแข่งขันจะสูงแค่ไหน มีแบรนด์เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปเท่าไร มีคอลเลกชันรายซีซัน รายเดือนไปจนถึงรายวันให้ติดตามเพียงใด การบริโภคในอุตสาหกรรมแฟชั่นก็สูงขึ้น สิ่งที่จะลดลงมีเพียงอายุของผู้บริโภค

ถามใคร เขาก็บอกว่าตลาดโตขึ้น

สาเหตุแรก คือคนรุ่นใหม่มีกำลังซื้อเยอะ อาจด้วยเพราะเข้าสู่วัยทำงานเร็วขึ้น มีรายได้หลายทางกว่าแต่ก่อน ขณะเดียวกัน แบรนด์แฟชั่นก็ปรับตัว ปรับสินค้าให้มีความหลากหลาย เช่น หากเป็นแบรนด์กระเป๋าหรู จากเดิมที่มีสินค้าเป็นกระเป๋าชิ้นใหญ่ราคาสูง ก็เริ่มทำสินค้าที่มีราคาถูกลงมาเพื่อให้กลุ่มลูกค้าที่เด็กลงเข้าถึงสินค้าของแบรนด์ได้ จะเห็นว่าหลายแบรนด์เริ่มมีสินค้าเล็ก ๆ อย่างรองเท้า เครื่องประดับ เคสมือถือ ไปจนของเล็ก ๆ อยากกิ๊บติดผม

เมื่อแบรนด์แฟชั่นนำเสนอสินค้าที่เป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น 

พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ต้องการแสดงตัวตนให้มากขึ้น ไม่ใช่แค่การใช้สินค้า แต่รวมไปถึงการเลือกใช้ชีวิตในรูปแบบต่าง ๆ 

ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่นไลฟ์สไตล์ชั้นนำระดับโลกอย่าง PP Group ปรับตัวได้ทันและเติบโตไปพร้อมโลกสวนกระแสเศรษฐกิจได้อย่างไร The Cloud จะเล่าให้ฟัง

PP Group ผู้นำเข้าแบรนด์แฟชั่นที่ทำให้คนไทยพ่ายแพ้คำว่า Limited Edition และใช้จุดแข็งตลอด 20 ปีสร้าง Business Model ใหม่
PP Group ผู้นำเข้าแบรนด์แฟชั่นที่ทำให้คนไทยพ่ายแพ้คำว่า Limited Edition และใช้จุดแข็งตลอด 20 ปีสร้าง Business Model ใหม่

จุดเริ่มต้นธุรกิจอาจฟังดูคลีเช เรื่องราวของสองพี่น้องตกลงชวนกันทำธุรกิจบนโต๊ะอาหารที่บ้าน ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีงานประจำที่มั่นคงและกำลังเติบโตไปได้สวย โดยตั้งโจทย์ว่าลงมือทำไปก่อน แล้วค่อยพิจารณาเรื่องรอบ ๆ ด้านระหว่างทาง

“แค่อยากทำสิ่งที่รักและสนุกกับมัน โดยที่ตอนนั้นยังไม่ได้คิดถึงอนาคตอันไกล รู้แค่ว่าอนาคตอันใกล้ บริษัทพอมีกำไรก็ดีใจแล้ว” ปิ่นเปิดประเด็น

แต่เรามักจะพบว่าคนชอบเสื้อผ้า ชอบแต่งตัว มีความฝันอยากทำแบรนด์แฟชั่นเป็นของตัวเอง 

อะไรทำให้ปิ่นและโอหลงใหลในการเป็นตัวแทนของแบรนด์หรือคนที่เลือกของมาขาย

“เราชอบ Luxury ตั้งแต่เด็ก ไม่ได้แปลว่าต้องใช้ของแพงนะ เราชอบตัวตน ชอบเรื่องราว ยิ่งถ้าเป็นเรื่องเบื้องหลังยาก ๆ กว่าจะเป็นงานสักหนึ่งชิ้น ยิ่งชอบมาก ถึงขั้นหลงใหลเลย พูดถึงแบรนด์ได้ตลอดเวลา ขณะเดียวกันเรารู้ตัวเองว่าไม่ได้เป็นคนเก่งในเรื่องจับอะไรมาออกแบบหรือผลิตได้เอง แต่บอกได้ว่าของอันนี้สวย” ปิ่นตอบ

ขั้นแรก คือจีบแบรนด์ที่รักมาอยู่ด้วยกัน

“เมื่อมั่นใจว่าเราอยากได้แบรนด์นี้ เราก็ไปเลย ไปกัน 2 คน ไปเคาะประตู กดกระดิ่งออฟฟิศแบรนด์ที่ยุโรป จนได้ทำนัดพบ” ปิ่นเล่าย้อนถึงวันแรก

PP Group ผู้นำเข้าแบรนด์แฟชั่นที่ทำให้คนไทยพ่ายแพ้คำว่า Limited Edition และใช้จุดแข็งตลอด 20 ปีสร้าง Business Model ใหม่

แม้ว่าตอนนั้นยังเป็นเพียงบริษัทเล็ก ๆ แต่หลังจากแนะนำตัวเองว่าเป็นใคร มีจุดแข็งเรื่องไหน รู้จักแบรนด์ดี และมองเห็นศักยภาพอะไร พวกเขาก็สร้างความมั่นใจว่าจะทำให้แบรนด์นั้นเติบโตในตลาดประเทศไทยได้

“พวกเราเตรียมตัวหนักมาก ไม่ใช่แค่เรื่องรู้จักแบรนด์ แต่ข้อมูลด้านการตลาดพร้อมแผนการทำงานก็ต้องแน่น ซึ่งเราปรับแต่งแผนการตลาดให้แต่ละแบรนด์ เราจะไม่ Copy-Paste วิธีการทำงานเดิม ๆ พวกเราจริงจังและจริงใจมาก เราไม่ได้กำลังขายฝันให้แบรนด์ แต่เพราะเรามีข้อมูลตลาด เรารู้จักลูกค้า และเรารู้จักแบรนด์ของคุณ เรามองเห็นภาพแบรนด์เติบโตในตลาดไทยว่าไปได้ถึงขนาดไหน เราคุยกับเขาตรง ๆ แบบนี้เลย บอกว่าพวกเราพร้อมจะเติบโตไปด้วยกัน” ปิ่นเก็งข้อสอบวิชา How to be Distributor 101

“ความที่เราบริหารแบรนด์ ดูแลแบรนด์เหมือนเราเป็นเจ้าของแบรนด์ ไม่ใช่แค่ตัวแทนที่รับแบรนด์มาทำการตลาด แต่เราสร้าง เราดูแลและเอาใจใส่ ไม่ประนีประนอมกับสิ่งที่จะส่งผลเสียต่อแบรนด์ พอทำงานด้วยกันมา แบรนด์ก็เห็นว่าเราจริงจังแค่ไหน นี่คือมาตรฐานการทำงานของเรา ซึ่งทำให้เขาเชื่อใจ เพราะเห็นผลที่จับต้องได้” โอเสริม

และจากผลงานการสร้างแบรนด์ YSL ในไทย เป็นผลทำให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 3 ของชาติที่เข้าเว็บไซต์หลักของ YSL มากที่สุด บริษัทก็เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จาก 1 ค่อย ๆ เป็น 2 3 4 แบรนด์ และตลอดระยะเวลา 20 ปี พวกเขาสั่งสมความเชี่ยวชาญจนก้าวขึ้นไปสู่บริษัทตัวแทนจำหน่ายอันดับต้น ๆ ของประเทศ เรียกได้ว่าแบรนด์แฟชั่นแบรนด์ไหนอยากทำกิจกรรมในประเทศไทย ต้องมาปรึกษาหรือเลือกใช้บริการจาก PP Group

PP Group ผู้นำเข้าแบรนด์แฟชั่นที่ทำให้คนไทยพ่ายแพ้คำว่า Limited Edition และใช้จุดแข็งตลอด 20 ปีสร้าง Business Model ใหม่

PP Group ไม่เคยจับแบรนด์ที่ดังอยู่แล้วมาขาย ด้วยว่านอกจากจะดีลยาก ขนาดของธุรกิจที่แตกต่างกัน ยังทำให้รู้สึกว่าต้องพึ่งพาอีกฝ่ายมากเกินไป โอบอกว่าพวกเขาชอบทำงานกับแบรนด์ที่ตอนนี้อาจยังไม่ดังมาก แต่กำลังจะมา 

“เราศึกษามาแล้วว่าเขาจะประสบความสำเร็จ เหมือนซื้อหุ้นเก็งกำไรไว้ก่อน เพราะจริง ๆ เราเห็นศักยภาพของแบรนด์ ซึ่งเราก็ต้องสื่อสารกับแบรนด์ว่าเราเห็นศักยภาพอะไร และเราจะทำให้ทั้งเขาและเราเติบโตไปด้วยกันได้ยังไง” 

เพื่อให้แบรนด์ในมือมีความหลากหลาย ตอบรับความสนใจที่แตกต่างของลูกค้าในวันนี้ พวกเขาเริ่มจากการค้นหาว่ายังมีกลุ่มลูกค้ากลุ่มไหนอีกบ้างที่ PP Group ยังไม่มี 

“2 – 3 ปีก่อนเราแข็งแรงมากเรื่องแบรนด์ Luxury และพบว่าเราสนใจลูกค้ากลุ่ม Gen X-Z ซึ่งกระแสที่กำลังมาและน่าสนใจคือเรื่องเทคโนโลยี เป็นเหตุผลที่เราเลือก CASETiFY® เข้ามา หรือกระแส K-POP ที่กำลังมา เราก็เลือกทำ Joint Venture กับ Gentle Monster” ปิ่นเสริม

PP Group ผู้นำเข้าแบรนด์แฟชั่นที่ทำให้คนไทยพ่ายแพ้คำว่า Limited Edition และใช้จุดแข็งตลอด 20 ปีสร้าง Business Model ใหม่

และนี่คือหลักการเลือกแบรนด์ที่ทำให้ธุรกิจนี้เป็น First Move ของวงการผู้นำเข้าแบรนด์แฟชั่นหรูและไลฟ์สไตล์

หนึ่ง แบรนด์หรือประเภทสินค้าต้องไม่แข่งกันกับแบรนด์ที่มีอยู่ในบริษัท เพราะต้องทำให้ทุกคนโตไปด้วยกัน 

สอง ต้องเป็นแบรนด์ที่มั่นใจว่าตรงกับความสนใจของตลาดและทันกับกระแสโลก ณ เวลานั้น ๆ

“เราเลือกลงทุนกับแบรนด์ที่ตั้งใจทำของดีมีคุณภาพ คิดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ถ้าไม่รู้ที่มาที่ไป เราก็จะพูดได้ไม่เต็มปาก” โอเสริมเหตุผลที่พวกเขาไม่เลือกแบรนด์ที่ฉาบฉวยหรืออยู่ในกระแส ฮิตมาก ๆ ระดับที่ดาราคนดังใส่ ซึ่งทำให้แบรนด์ในพอร์ตของ PP Group ไม่เหมือนใครและเซอร์ไพรส์ลูกค้าเสมอ

สำหรับนักช้อปตัวยง เรามี Tips สนุก ๆ เวลาไปห้างสรรพสินค้าในต่างประเทศจากปิ่น เธอบอกว่าเธอจะไม่เดินหาคอลเลกชันใหม่ แต่จะไปสิงตัวหาแบรนด์ใหม่ ๆ ที่โซน Pop-up ซึ่งมักอยู่ที่ชั้น G ของห้างชั้นนำ

“และไม่ได้แค่ดูจำนวนคนที่เข้าแถวรออยู่หน้าร้านแบรนด์หรู แต่เราสังเกตว่าคนที่มายืนเข้าแถวแบรนด์นั้น ๆ มีเชื้อชาติไหนบ้าง เรารีเสิร์ชกันตลอดเวลา หรือแม้แต่ดูว่าแบรนด์ของเราอยู่ตรงไหนของห้างนั้น อยู่ใกล้กับแบรนด์อะไร เราต้องศึกษา ตั้งคำถาม หาคำตอบ และทำความเข้าใจตลอดเวลา” ปิ่นผู้ไม่เคยเดินห้างเล่น ๆ เล่าด้วยตาเป็นประกาย

PP Group ผู้นำเข้าแบรนด์แฟชั่นที่ทำให้คนไทยพ่ายแพ้คำว่า Limited Edition และใช้จุดแข็งตลอด 20 ปีสร้าง Business Model ใหม่

แม้ว่าเศรษฐกิจจะแย่แค่ไหน แต่อย่าได้ประมาทตลาดไทย

ด้วยจุดเด่นที่คนไทยเปิดรับความทันสมัยได้ง่าย มีความหลากหลาย ทำให้แบรนด์มีโอกาสเข้ามาทำตลาดในประเทศมากขึ้น ที่สำคัญ คนไทยมีกำลังซื้อสูงมาก

“ช่วงโควิด เราได้เห็นชัดเจนเลยว่ากำลังซื้อของคนไทยสูงแค่ไหน อาจเพราะทุกคนเดินทางไม่ได้ ช่วงนั้นยอดขายทุกแบรนด์ในประเทศเติบโตหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้ PP Group โตขึ้นเร็วมาก เรียกว่าก้าวกระโดด เราโตแบบไม่เคยเป็นมาก่อนเลยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา” โอสรุปสถานการณ์

นอกจากนี้ ลูกค้าคนไทยยังแพ้คำว่า Limited Edition หรือของที่มีความพิเศษ หาที่ไหนไม่ได้ แถมถ้าเป็นลูกค้าระดับ Super Premium ก็จะชอบของประเภทมีชิ้นเดียวในโลก 

“เราสังเกตว่าคนไทยซื้อของเพื่อแชร์เรื่องราว เขาไม่ได้ซื้อเพื่อเสพสิ่งนั้นคนเดียว แต่แฝงไปด้วยความรู้สึกภูมิใจที่ได้สะสมชิ้นหายาก และในบรรดาสินค้า Limited Edition มักขายดีมาก ๆ อย่างแบรนด์ Off-White™ ก็หมดภายในวันเดียว” โอเล่า

PP Group ผู้นำเข้าแบรนด์แฟชั่นที่ทำให้คนไทยพ่ายแพ้คำว่า Limited Edition และใช้จุดแข็งตลอด 20 ปีสร้าง Business Model ใหม่

นี่คือ 10 แบรนด์ที่ PP Group กำลังดูแลอยู่

Roger Vivier แบรนด์รองเท้าจากฝรั่งเศส ซึ่งเป็นดั่งรองเท้าในฝันของผู้หญิงทั่วโลก นอกจาก สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร จะทรงสวมใส่ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว Roger Vivier ยังเป็นรองเท้าแบรนด์โปรดของเจ้าหญิงหลายพระองค์ ตัวแบรนด์โดดเด่นที่งานฝีมือระดับสูง และดีไซน์แสนคลาสสิก เรียบโก้ เหนือกาลเวลา

Off-White™ แบรนด์จากอิตาลีที่ผสมผสานระหว่างสตรีตแฟชั่นกับความเป็นแฟชั่นชั้นสูง ผลงานของ Virgil Abloh ตัวพ่อแห่งวงการสร้างสรรค์ เป็นแบรนด์ที่มักหยิบหรือทำอะไรเหนือความคาดหมายได้เสมอ

Palm Angels ไฮสตรีตแบรนด์จากอิตาลีที่หยิบวัฒนธรรมสเกตบอร์ดและดนตรีฮิปฮอปมาอยู่บนเครื่องแต่งกาย ให้ความสนุกและคาแรกเตอร์ที่ไม่เหมือนใคร

Maison Kitsuné ไลฟ์สไตล์แบรนด์จากปารีสที่นำเสนอศิลปะในการใช้ชีวิตให้ผู้คน ผ่านสินค้าและบริการที่ออกแบบมาเพื่อสร้างความสุข ตัวแบรนด์ผสมผสานวัฒนธรรมระหว่างฝรั่งเศสและญี่ปุ่น ซึ่งเป็น 2 ส่วนประกอบที่ชนะใจคนไทยได้ไม่ยาก

Longchamp ไลฟ์สไตล์แบรนด์จากฝรั่งเศสที่สาว ๆ ยกใจให้ แม้จะเป็นแบรนด์ที่อยู่มากว่า 70 ปี แต่ด้วยคุณภาพการตัดเย็บและดีไซน์อันเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ Longchamp เป็นสัญลักษณ์ของการส่งต่อภูมิปัญญางานฝีมือและคุณภาพเครื่องหนังแบรนด์ฝรั่งเศสจากรุ่นสู่รุ่น สมมงฐานะกระเป๋าใบแรกของใครหลายคน 

Tory Burch แบรนด์สัญชาติอเมริกันที่หยิบ Preppy Style แบบอเมริกันจับมา Twist ใส่ความคลาสสิกและเรียบง่ายลงไป จนเกิดสไตล์ใหม่ที่ลงตัว ดูแพงแต่ราคาเข้าถึงได้

CASETiFY® แบรนด์เคสโทรศัพท์กันกระแทกจากฮ่องกง แม้จะเริ่มต้นธุรกิจจากการทำเคสมือถือแบบ Customize ให้ลูกค้าเลือกได้เองตามชอบ CASETiFY® ยังเป็นไอเทมที่แสดงตัวตน ความชอบ ความหลงใหลของเจ้าของเครื่องอีกด้วย 

MCM หรือ Modern Creation München แบรนด์แฟชั่นจากเยอรมนี ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารของบริษัทในเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ MCM กลับมานิยมอีกครั้ง โดยเฉพาะสินค้าประเภทกระเป๋าเดินทางคุณภาพสูงและดีไซน์ที่ไม่เหมือนใคร

Gentle Monster แบรนด์แว่นตาสุดเท่จากเกาหลี ไม่เพียงทำแว่นตาในดีไซน์สุดเท่ ล้ำสมัย แต่ออกแบบประสบการณ์ชั้นเยี่ยมผ่านการดีไซน์ร้านและองค์ประกอบศิลป์อื่น ๆ สร้างความรู้สึกร่วมให้การใส่แว่นตาไม่ใช่แค่แว่น แต่หมายรวมถึงเป็นคาแรกเตอร์และตัวตน ทำให้ใคร ๆ ก็อยากเป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์

AMI ดีไซเนอร์แบรนด์จากฝรั่งเศส ผลงานของ Alexandre Mattiussi ที่หยิบเรื่องราวกรุงปารีสมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ นอกจากความสนุกและมุมมองด้านบวกตามความหมายชื่อแบรนด์ที่แปลว่าเพื่อนแล้ว แบรนด์ยังมีความสดใหม่ ตอบโจทย์ตลาดในประเทศไทย

PP Group ผู้นำเข้าแบรนด์แฟชั่นที่ทำให้คนไทยพ่ายแพ้คำว่า Limited Edition และใช้จุดแข็งตลอด 20 ปีสร้าง Business Model ใหม่

ในฐานะที่ผู้เขียนเองก็เป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่ ทำธุรกิจเลือกสรรสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาในราคาจับต้องได้ เราอยากรู้ว่าอะไรคือหัวใจของการเป็นตัวแทนแบรนด์ที่ดี

“หัวใจสำคัญของการเป็น Distributor ที่ดี คือทำงานด้วยความจริงใจ ทุกคนในบริษัทจะให้คุณค่าและยึดมั่นเรื่องนี้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะในขั้นตอนติดต่อธุรกิจ ศึกษาตลาด คุยกับซัพพลายเออร์ ทำแผนการตลาด สื่อสารกับลูกค้า เมื่อเราจริงใจ สิ่งที่ตามมาคือความไว้ใจ ทำให้ทุกฝ่ายเคารพซึ่งกันและกัน ส่งผลให้งานที่ทำสำเร็จตามที่สัญญาไว้ นี่คือเรื่องสำคัญมากสำหรับเรา” ปิ่นตอบทันทีหลังได้ยินคำถาม

“แต่ละแบรนด์มีเรื่องราว ความเป็นมา มีความน่าสนใจ มี DNA ของตัวเอง ดังนั้น เราจะใช้ 1 ทีม ดูแล 1 แบรนด์ อาจดูเหมือนสร้างการแข่งขันกันเองภายใน แต่เรารู้สึกว่าทุกคนที่ทำงานก็มีตัวตนของตัวเอง เราอยากให้เขาภูมิใจในสิ่งที่ทำ ซึ่งไม่ว่าจะแบรนด์เล็กหรือใหญ่ เราก็ใช้วิธีนี้ ให้ความสำคัญเท่ากัน ทำงานให้หนักเท่า ๆ กัน แม้ว่ายอดขายจะแตกต่างกัน บางแบรนด์ขายดีมาก บางแบรนด์ต้องใช้เวลาหน่อย เราก็จะให้น้ำหนักเท่ากัน เพื่อที่บริษัทจะได้เติบโตอย่างมั่นคงยั่งยืน ที่เป็นแบบนี้เพราะเราเห็นตัวอย่างการพึ่งพาแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งมากเกินไป จนเมื่อวันหนึ่งที่แบรนด์นั้นจากไป ส่งผลกระทบที่แรงมากกับธุรกิจ” โอเล่าวิธีทำงานซึ่งเป็นสูตรลับของธุรกิจ

PP Group ผู้นำเข้าแบรนด์แฟชั่นที่ทำให้คนไทยพ่ายแพ้คำว่า Limited Edition และใช้จุดแข็งตลอด 20 ปีสร้าง Business Model ใหม่

ในวงการแฟชั่น ไม่ใช่แค่ธุรกิจแฟชั่นที่มีการแข่งขันสูง ธุรกิจตัวแทนจำหน่ายก็แข่งขันสูงเช่นกัน แต่ด้วยผลงานที่ดีต่อเนื่องและแพสชันในการทำงานที่ทั้งวงการเลื่องลือ ทำให้ขนาดที่เล็กของบริษัทนั้นเป็นข้อดีของธุรกิจ

“แม้ว่าการเป็นบริษัทใหญ่จะได้อำนาจการต่อรองในธุรกิจมากขึ้น แต่การเป็นบริษัทเล็ก ๆ ก็มีข้อดีไม่น้อย ทั้งแบรนด์จะได้รับการดูแลและโฟกัสจากเรามาก ๆ ซึ่ง CEO ของแบรนด์ที่เราทำงานด้วยมักบอกว่าเราปรับตัวเร็วและมีอิทธิพลในตลาด คือคนชอบมองว่าเราตัวเล็ก แต่เราไม่เคยทำตัวเล็ก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกล้าหาที่ใหม่ ๆ หรือการขยายตลาด เราตั้งใจจริงจนแบรนด์ไม่ได้รู้สึกว่าเราเล็กหรือใหญ่กว่าใคร ขณะเดียวกันเขาก็รู้สึกสบายใจมากกว่าที่ทำงานกับเรา” โอเล่าต่อว่าเรื่องนี้จะยังคงเป็นหนึ่งในเรื่องที่ท้าทายของธุรกิจ

ในหลักการสร้างแบรนด์ทั่วไป มักมีคำแนะนำให้ ‘Think Global Act Local’ หรือการเอา Global Brand มาปรับให้คนไทยเข้าใจ แต่สิ่ง PP Group ทำ คือ ‘Think Local act Global’ นั่นคือ คิดเหมือนคนโลคอล คนไทยคิดยังไง ต้องการอะไร และทำสิ่งที่แบรนด์ระดับโลกเขาทำ

โดยไม่ลืมสิ่งสำคัญ คือความเชื่อถือและความไว้ใจ

ปัจจุบัน PP Group เป็นหนึ่งในผู้เล่นคนสำคัญของอุตสาหกรรมในภูมิภาคนี้ เรียกว่าใครจะไป ใครจะมา หรือแบรนด์ไหนต้องการเปิดตลาดในไทย ต้องมาคุยกับพวกเขาเป็นที่แรก

PP Group ผู้นำเข้าแบรนด์แฟชั่นที่ทำให้คนไทยพ่ายแพ้คำว่า Limited Edition และใช้จุดแข็งตลอด 20 ปีสร้าง Business Model ใหม่

จาก Curator ผู้คัดสรรแบรนด์เข้ามาสู่คนไทย วันนี้ PP Group เป็น Tastemaker เป็นตัวเชื่อมแบรนด์กับคนไทย อะไรที่ PP Group ว่าดี คนก็พร้อมจะเชื่อและสนับสนุนเพราะว่าดี โดยไม่จำกัดตัวเองแค่ในเรื่องแฟชั่นเท่านั้น แต่รวมถึงสินค้าไลฟ์สไตล์ เครื่องสำอาง อาหาร ร้านกาแฟที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต 

นอกจากการเป็นผู้นำเข้าแบรนด์แฟชั่น ในวาระครบรอบ 20 ปี PP Group กำลังไปต่อด้วย Business Model ใหม่ ดังนี้

หนึ่ง การร่วมลงทุนกับนักลงทุนต่างชาติ (International Business Joint Venture) เช่น Gentle Monster

“การร่วมลงทุนกับนักลงทุนต่างชาติเป็นธุรกิจใหม่ที่เราเพิ่งเริ่มทำ ระบบเดิมเราเป็นเพียงตัวแทนจำหน่าย ซื้อสินค้า 100% มาทำตลาดแล้วขายไป สต็อกสินค้าเป็นของเรา แต่ความเป็นเจ้าของแบรนด์เป็นของเขา แต่การร่วมลงทุน คือเราลงทุนร่วมกัน มีความเป็นเจ้าของแบรนด์ส่วนหนึ่ง สต็อกสินค้าเป็นของแบรนด์ เราไม่ต้องซื้อขาด เหมือนแบรนด์เขาเข้ามาทำเองโดยมีเราเป็นพาร์ตเนอร์เรื่องการตลาดและการให้บริการหน้าร้าน” โอเล่า

“ข้อดีคือเราก้าวกระโดดเรื่องขนาดพื้นที่การทำร้าน จากที่เคยมีหน้าร้านขนาด 100 ตารางเมตร เป็น 300 ตารางเมตร ที่สำคัญ ได้เพื่อนคู่คิดที่มีประสบการณ์มาช่วยในธุรกิจ” ปิ่นเสริม

สอง Marketing & Brand Building Consultancy ให้บริการเป็นที่ปรึกษาในการทำ Brand Building ในเมืองไทย ด้วยคอนเนกชันที่แข็งแรงทั้งสื่อและเซเลบริตี้ 

และสาม Retail Operation Service เป็นผู้ให้บริการด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจ โดยใช้ความเชี่ยวชาญและความเข้าใจในตลาดไทยตลอด 20 ปีที่ผ่านมาสร้างความเชื่อมั่น

PP Group ผู้นำเข้าแบรนด์แฟชั่นที่ทำให้คนไทยพ่ายแพ้คำว่า Limited Edition และใช้จุดแข็งตลอด 20 ปีสร้าง Business Model ใหม่
PP Group ผู้นำเข้าแบรนด์แฟชั่นที่ทำให้คนไทยพ่ายแพ้คำว่า Limited Edition และใช้จุดแข็งตลอด 20 ปีสร้าง Business Model ใหม่

“บริการนี้ตอบโจทย์แบรนด์ที่อยากเข้ามาทำตลาดเอง แต่ยังไม่เข้าใจตลาดและผู้บริโภคชาวไทยมากนัก เราจะช่วยดูแลให้ ส่วนการเป็นที่ปรึกษาในการสร้างแบรนด์ เราจะทำพวกกลยุทธ์ เน้นเรื่อง Vision ของแบรนด์และวิธีการพาแบรนด์ไปถึงจุดนั้น ด้วยความถนัดของเราที่ดูแลการตลาด การสื่อสาร และการขายมาก่อน ความเห็นที่เราให้แบรนด์จะหยิบไปใช้ในธุรกิจได้เลย ไม่ใช่แค่แผนสร้างการรับรู้ทั่วไป” โอสรุป

เป็นการหยิบจุดแข็งที่ PP Group ทำและเชี่ยวชาญมาตลอด 20 ปีมาต่อยอดเป็นธุรกิจใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องเติบโตจากการขยายแบรนด์ 

และไม่เพียงจะทำให้ PP Group ร่วมงานกับแบรนด์ที่ไม่ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายได้ โมเดลธุรกิจที่หลากหลายยังมีส่วนสร้างทีมที่ทรงพลัง เพราะไม่ใช่แค่งานซื้อมาขายไป แต่มีงานด้านที่ปรึกษา มีงานบริหารจัดการหน้าร้านค้าปลีกอื่น ๆ งานที่ท้าทายเหล่านี้ดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพสนใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร และพร้อมจะเติบโตไปด้วยกัน

PP Group ผู้นำเข้าแบรนด์แฟชั่นที่ทำให้คนไทยพ่ายแพ้คำว่า Limited Edition และใช้จุดแข็งตลอด 20 ปีสร้าง Business Model ใหม่

ไม่ว่ากูรูหรือตำราธุรกิจจะพร่ำบอกให้ผู้ประกอบการปรับตัวเข้าไปอยู่ในออนไลน์และลดความสำคัญของการพึ่งพาหน้าร้านแค่ไหน สิ่งที่ PP Group ทำคือสวนทางตำราเหล่านั้น เปิดหน้าร้านใหม่ตลอดเวลา และทำหน้าร้านสวยมาก

“สุดท้ายแล้วลูกค้าก็อยากมีประสบการณ์ตรงกับแบรนด์ ขณะเดียวกันแบรนด์ก็อยากสื่อสารโดยตรงกับลูกค้า ไม่ใช่แค่การมาซื้อสินค้า แต่มันคือประสบการณ์ที่ได้รับจริง ๆ เราพูดบ่อยมากเรื่อง Store Experience ไม่ใช่แค่ Customer Service เช่น การเข้าไปใน Gentle Monster ไม่ใช่แค่ร้านขายแว่นตา แต่มีมากกว่านั้น มันคือความเป็น Gentle Monster ที่แบรนด์อยากสื่อถึงความทันสมัย การไปข้างหน้า (Moving Forward) ของการเป็นคอมมูนิตี้ ซึ่งจะเกิด Emotional ในระยะยาว และสร้าง Brand Loyalty ได้ ซึ่งต่างกับการคลิกใส่ตระกร้าตรงหน้าจอที่สร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับลูกค้ายากกว่า” ปิ่น

“ตอนนี้ PP Group จึงโฟกัสกับการสร้างร้านและสอดแทรก Experience ให้ลูกค้าได้เข้ามาสัมผัสมาก ๆ แต่ก็ไม่ได้แปลว่า PP Group จะเปิดหน้าร้านเยอะมาก แต่เราเลือกมากขึ้นเพื่อเปิดน้อย แต่มาแบบ Full Scale” โอทิ้งท้าย

PP Group ผู้นำเข้าแบรนด์แฟชั่นที่ทำให้คนไทยพ่ายแพ้คำว่า Limited Edition และใช้จุดแข็งตลอด 20 ปีสร้าง Business Model ใหม่

Lessons Learned

  • อย่ายึดติด อย่าโตเร็วเกินไป : ช่วงแรกที่ทำธุรกิจ เราโตเร็วมาก แต่นั่นกลับทำให้แบรนด์เลือกเข้ามาทำตลาดเองโดยไม่มีเรา เลยได้เรียนรู้ว่าควรกระจายความเสี่ยงและไม่ยึดติดกับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งเกินไป
  • ระวังกับดักความสำเร็จ : New Opportunity, New Consumer ถ้าเรายังมองหาของที่มาขายแบบเดิม ขายกับคนเดิม คิดวิธีทำงานเหมือนเดิม เราก็อยู่ที่เดิม

Writer

นภษร ศรีวิลาศ

นภษร ศรีวิลาศ

บรรณาธิการธุรกิจ The Cloud 4.0 แม่บ้านและฝ่ายจัดซื้อจัดหานิตยสารประจำร้านก้อนหินกระดาษกรรไกร ผู้ใช้เวลาก่อนร้านเปิดไปลงเรียนตัดเสื้อ สานฝันแฟชั่นดีไซเนอร์ในวัย 33 ปัจจุบันเป็นแม่ค้าที่ทำเพจน้องนอนในห้องลองเสื้อบังหน้า ซึ่งอนาคตอยากเป็นแม่ค่ะ

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล