ธุรกิจครอบครัวหลายแห่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งช่วยให้ธุรกิจระดมทุนจากนักลงทุนนอกครอบครัวและขยายกิจการได้มากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้สมาชิกครอบครัวยังขายหุ้นของตนในตลาด หากต้องการใช้เงินสดหรือกระจายความเสี่ยงไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ ได้อีกด้วย

แต่การเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็อาจสร้างความท้าทายให้แก่ธุรกิจครอบครัวได้เช่นกัน เพราะผู้ถือหุ้นจากนอกครอบครัวมีสิทธิ์ขัดขวางการตัดสินใจทางธุรกิจของครอบครัวได้ และยังเปิดช่องให้มีการทุ่มซื้อกิจการโดยคนนอกอีกด้วย

ตัวอย่างการทุ่มซื้อธุรกิจครอบครัวอันลือลั่นคงหนีไม่พ้นการเข้าครอบครองอาณาจักรแบรนด์หรู ‘LVMH Moët Hennessy Louis Vuitton’ โดย Bernard Arnault มหาเศรษฐีที่นิตยสาร Forbes จัดอันดับให้เป็นคนที่ร่ำรวยที่สุดในโลกคนหนึ่ง

อาณาจักร LVMH Moët Hennessy Louis Vuitton ที่ Bernard เข้ามาซื้อนี้ แรกเริ่มเกิดจากการควบรวมกิจการแบรนด์หรูของ 3 บริษัท ได้แก่ Moët et Chandon ผู้ผลิตไวน์และแชมเปญ Hennessy ผู้ผลิตเหล้า และ Louis Vuitton ผู้ผลิตกระเป๋าหนัง

การทุ่มซื้อธุรกิจครอบครัวอันลือลั่น LVMH Moët Hennessy Louis Vuitton จนเป็นที่มาของฉายา หมาป่าในผ้าแคชเมียร์

Moët et Chandon

Moët et Chandon เริ่มกิจการเมื่อ 280 ปีที่แล้วเมื่อ Claude Moët ก่อตั้ง Moët et Cie บริษัทผลิตไวน์และแชมเปญในปี 1743 ซึ่งตรงกับช่วงที่แชมเปญเป็นที่นิยมแพร่หลายในหมู่ชนชั้นสูงของฝรั่งเศสในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ทำให้ธุรกิจรุ่งเรืองเติบโต

Claude-Louis Moët ลูกชายของเขาสืบทอดกิจการต่อ ก่อนส่งมอบให้ Jean-Rémy Moët หลานปู่ทายาทรุ่นสามรับช่วงต่อไปในปี 1792 และขยายตลาดออกไปนอกประเทศฝรั่งเศส

การทุ่มซื้อธุรกิจครอบครัวอันลือลั่น LVMH Moët Hennessy Louis Vuitton จนเป็นที่มาของฉายา หมาป่าในผ้าแคชเมียร์

ในปี 1833 Pierre-Gabriel Chandon de Briailles ซึ่งเป็นลูกเขยของ Jean-Rémy Moët เข้ามาร่วมธุรกิจ กิจการจึงเปลี่ยนชื่อเป็น Moët et Chandon

ต่อมา Moët et Chandon ได้รับแบรนด์แชมเปญ Dom Pérignon จากตระกูล Mercier เป็นของขวัญแต่งงานระหว่าง 2 ตระกูลในปี 1927

กิจการ Moët et Chandon เจริญรุ่งเรืองมาถึงยุคที่ Count Robert-Jean de Vogüé เป็นผู้นำ กิจการใหญ่โตจนมีไวน์และแชมเปญที่ผลิตและเก็บไว้ในห้องเก็บไวน์ใต้ดินที่มีความยาวรวมถึง 22 ไมล์ มูลค่ารวมมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ฯ

แต่ในปี 1969 Count Robert-Jean ตระหนักว่าธุรกิจ Moët et Chandon นั้นใหญ่โตเกินกว่าที่สมาชิกครอบครัวจะจัดการได้ เขาจึงจ้าง Alain Chevalier นักธุรกิจมืออาชีพจากนอกตระกูลมาบริหาร

หลังจากที่ Chevalier เริ่มงานได้ไม่นาน เขาก็ไปหว่านล้อมให้ธุรกิจ Hennessy มาควบรวมกิจการกับ Moët et Chandon

การทุ่มซื้อธุรกิจครอบครัวอันลือลั่น LVMH Moët Hennessy Louis Vuitton จนเป็นที่มาของฉายา หมาป่าในผ้าแคชเมียร์

Hennessy

Hennessy ก่อตั้งในปี 1765 โดย Richard Hennessy ชาวไอริชที่อพยพไปฝรั่งเศส และเป็นอดีตทหารในกองทัพพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ธุรกิจของ Richard ผลิตบรั่นดีในเขตคอนยัค (Cognac) ประเทศฝรั่งเศส

James หรือ Jacques Hennessy ลูกชายของ Richard รับช่วงกิจการต่อในปี 1813 เขาเป็นคนทำให้ธุรกิจ Hennessy เติบโต

ในที่สุด ทายาทตระกูล Hennessy ตัดสินใจควบรวมกิจการบรั่นดีคอนยัคของตนกับธุรกิจไวน์และแชมเปญของ Moët et Chandon กลายเป็นบริษัท Moët Hennessy ในปี 1971

หล้งจากการควบรวมแล้ว ยอดขายของ Moët Hennessy เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 300 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 1972 เป็นมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 1988 มีส่วนแบ่งตลาด 1 ใน 5 ของคอนยัค และ 1 ใน 7 ของแชมเปญทั่วโลก

การทุ่มซื้อธุรกิจครอบครัวอันลือลั่น LVMH Moët Hennessy Louis Vuitton จนเป็นที่มาของฉายา หมาป่าในผ้าแคชเมียร์

Moët Hennessy เป็นบริษัทที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ โดยทายาทตระกูล Moët, Chandon และ Hennessy มีหุ้นรวมกันทั้งหมดแค่ 22% ในขณะที่หุ้นส่วนใหญ่ของบริษัทถือโดยคนนอกตระกูล ทำให้ธุรกิจครอบครัว Moët Hennessy มีความเสี่ยงที่จะถูกทุ่มซื้อกิจการ

ความเสี่ยงนี้ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิในปี 1987 เมื่อปริมาณการซื้อขายหุ้นของ Moët Hennessy พุ่งสูงขึ้นอย่างผิดสังเกต ซึ่งเป็นสัญญาณว่ามีความพยายามในการซื้อหุ้นจำนวนมากของบริษัท

เพื่อป้องการถูกทุ่มซื้อ Alain Chevalier ผู้บริหาร Moët Chandon จึงเจรจากับ Henry Racamier ผู้นำธุรกิจเครื่องหนังแบรนด์หรู Louis Vuitton ให้มาควบรวมกิจการกัน เกิดเป็นบริษัท LVMH Moët Hennessy Louis Vuitton

หลังจากควบรวมแล้ว ทายาทจาก 4 ตระกูลผู้ก่อตั้งถือหุ้นรวมกัน 51% ซึ่งเป็นหลักประกันว่าคนอื่นจะมาทุ่มซื้อบริษัทไปไม่ได้

การทุ่มซื้อธุรกิจครอบครัวอันลือลั่น LVMH Moët Hennessy Louis Vuitton จนเป็นที่มาของฉายา หมาป่าในผ้าแคชเมียร์

Louis Vuitton

Louis Vuitton ก่อตั้งธุรกิจเครื่องหนังที่กรุงปารีสในปี 1854 ผลิตกระเป๋าที่มีด้านบนแบนและวางซ้อนกันได้ โดย Louis ทำธุรกิจนี้กับ Georges ลูกชายของเขา และเมื่อเขาเสียชีวิตในปี 1892 Georges ก็รับช่วงกิจการต่อมา

Georges เป็นคนขยายธุรกิจกระเป๋าหนัง Louis Vuitton ไปนอกประเทศฝรั่งเศส โดยเปิดร้านในต่างประเทศร้านแรกในปี 1885 ที่ลอนดอน นอกจากนี้เขายังเป็นคนนำ LV Monogram Canvas มาใช้ ซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์ของแบรนด์มาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อ Georges เสียชีวิตในปี 1936 Gaston-Louis Vuitton ลูกชายของเขาเป็นทายาทรุ่นสาม สืบทอดและนำธุรกิจครอบครัวผ่านพ้นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มาได้

เมื่อ Gaston-Louis เสียชีวิตในปี 1970 สมาชิกครอบครัว Vuitton ตกลงกันไม่ได้ว่าใครควรจะเป็นผู้นำธุรกิจครอบครัวต่อไปในรุ่นสี่ ในที่สุดครอบครัว Vuitton จึงขอให้ Henry Racamier สามีของ Odile Vuitton ลูกเขยของ Gaston-Louis เข้ามารับช่วงเป็นผู้บริการกิจการต่อในปี 1977

Racamier พลิกฟื้นและขยายกิจการเครื่องหนังแบรนด์หรู Louis Vuitton จากธุรกิจครอบครัวที่มีแค่ 2 สาขา คนงาน 100 คน ยอดขาย 14 ล้านดอลลาร์ฯ ไปเป็นธุรกิจระดับโลกที่มี 135 สาขา คนงาน 2,500 คน และยอดขายเกือบ 1,000 ล้านดอลลาร์ฯ

เขายังนำบริษัท Louis Vuitton เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 1984 และควบรวมกับ Moët Hennessy เป็น LVMH ในอีก 3 ปีถัดมา

ประตูสู่ความขัดแย้ง

ในปี 1988 หลังจาก Moët Hennessy ควบรวมกับ Louis Vuitton ได้เพียงปีเดียว Henry Racamier ก็เริ่มมีปัญหากับ Alain Chevalier 

เพราะเงื่อนไขของการควบรวม คือ Chevalier จะเป็น Chairman ของบริษัท LVMH ในขณะที่ Racamier จะเป็น Deputy Chairman ซึ่ง Racamier ไม่พอใจที่ตนเองมีตำแหน่งเป็นรอง เขารู้สึกว่า Louis Vuitton ถูกกลืนเข้าไปใน Moët Hennessy มากกว่าเป็นการควบรวมที่เท่าเทียมกัน

Racamier จึงยังคงบริหาร Louis Vuitton ประหนึ่งว่าธุรกิจนี้ยังเป็นบริษัทอิสระที่เขาเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งก็ทำให้ Chevalier ไม่พอใจนัก

แต่ความขัดแย้งระหว่าง Chevalier กับ Racamier ก็ต้องพักไว้ก่อน เพราะปริมาณการซื้อขายหุ้น LVMH ในตลาดเริ่มพุ่งสูงขึ้นอย่างผิดปกติอีกครั้ง แสดงว่าความพยายามในการทุ่มซื้อกิจการยังไม่หมดไป

ถึงแม้ว่าหุ้นของคนนอกครอบครัวผู้ก่อตั้งทั้งหมดจะรวมกันไม่ถึงครึ่ง แต่ Chevalier ก็เกรงว่าราคาหุ้นที่สูงอาจล่อใจให้สมาชิกครอบครัวบางคนขายหุ้นของตนให้คนนอก Chevalier จึงเสนอให้ขายหุ้น 3.5% ให้ Guinness บริษัทผลิตเบียร์และเหล้าชั้นนำของโลก เจ้าของแบรนด์เบียร์ Guinness สกอตช์วิสกี้ Johnnie Walker และ เหล้าจิน Gordon’s ซึ่ง Racamier ก็เห็นด้วย

การทุ่มซื้อธุรกิจครอบครัวอันลือลั่น LVMH Moët Hennessy Louis Vuitton จนเป็นที่มาของฉายา หมาป่าในผ้าแคชเมียร์

แต่ต่อมา Chevalier คิดว่าขายหุ้นให้ Guinness 3.5% ไม่น่าจะพอ และเสนอให้ Guinness เพิ่มหุ้นใน LVMH มากขึ้นเป็น 20% เมื่อ Racamier ทราบเรื่องนี้เข้าก็โมโห เขาคิดว่า Chavalier มีแผนให้ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นธุรกิจหลัก และลดบทบาทของธุรกิจด้านแฟชั่นของกลุ่ม เขาจึงหาพันธมิตรจากธุรกิจแบรนด์แฟชั่นหรูให้มาร่วมต่อสู้กับ Chevalier และ Guinness

พันธมิตรใหม่ของ Racamier คนนี้ก็คือ Bernard Arnault

Bernard Arnault

Bernard Arnault เข้าสู่วงการธุรกิจจากการเริ่มทำงานในบริษัท Ferret-Savinel กิจการก่อสร้างของ Jean Arnault พ่อของเขา เขาก้าวขึ้นเป็น Chairman ของบริษัทในปี 1978

ในปี 1984 เมื่อรัฐบาลฝรั่งเศสต้องการขายอาณาจักรธุรกิจ Boussac ที่ล้มละลาย Bernard เข้าไปซื้อบริษัทนี้ในราคา 1 ฟรังก์ ซึ่งธุรกิจนี้มีสินทรัพย์ที่สำคัญก็คือแบรนด์ Christian Dior

Bernard เข้าไปปรับโครงสร้างธุรกิจ Boussac จนทำกำไร แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการขายกิจการสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มต่าง ๆ และปลดคนงานออกกว่า 9,500 คน จนเขาได้รับฉายาว่า ‘The Terminator’ เขาตั้งเป้าไว้ว่าจะเป็นผู้นำธุรกิจแบรนด์หรูใหญ่ที่สุดในโลกภายใน 10 ปี ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นเป้าที่ทะเยอทะยานมาก แต่ท้ายที่สุดแล้วเขาก็บรรลุเป้าหมายนี้ได้เร็วกว่านั้นเสียด้วยซ้ำ

การทุ่มซื้อธุรกิจครอบครัวอันลือลั่น LVMH Moët Hennessy Louis Vuitton จนเป็นที่มาของฉายา หมาป่าในผ้าแคชเมียร์

หมาป่าในผ้าแคชเมียร์

ย้อนกลับไปถึงความขัดแย้งระหว่าง Racamier และ Chevalier จนทำให้ Racamier ไปเชื้อเชิญให้ Bernard เข้ามาซื้อหุ้น 25% ของ LVHM ซึ่งหุ้นจำนวนนี้เมื่อรวมกับหุ้นที่ถือโดยทายาทตระกูล Vuitton จะทำให้พันธมิตรกลุ่มนี้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ LVMH

แต่ในที่สุด Bernard กลับตัดสินใจทิ้ง Racamier และไปเป็นพันธมิตรกับกลุ่ม Chevalier และ Guinness แทน โดย 3 กลุ่มนี้ร่วมกันตั้งบริษัทโฮลดิ้งที่มาซื้อหุ้น 24% ซึ่งแน่นอนว่าทำให้ Racamier โมโหมาก

ไม่นานหลังจากนั้นก็มีข่าวลือแพร่สะพัดว่าทายาทตระกูล Vuitton เข้าทุ่มซื้อหุ้น LVMH ในตลาดจนมีหุ้นรวมกัน 33% ซึ่งเพียงพอที่จะเป็น Blocking Minority ที่ขวางการตัดสินใจของผู้บริหารได้

Bernard จึงตอบโต้ด้วยการทุ่มซื้อหุ้น LVMH มากขึ้นไปอีก จนพันธมิตรกลุ่ม Bernard และ Guinness มีหุ้นรวมกันกว่า 37.5% เมื่อกลุ่ม Bernard มีหุ้นมากที่สุดในบริษัท เขาจึงตั้งพ่อของเขาเป็น Chairman ของ Supervisory Board ทำให้ Racamier ยิ่งโมโหหนักขึ้นไปอีก เพราะตำแหน่งนี้เคยเป็นโควตาของตระกูล Vuitton มาก่อน

เพื่อยุติความขัดแย้งในบริษัท Chavalier และ Racamier จึงตกลงที่จะแยกกิจการ Moët Hennessy และ Louis Vuitton ออกจากกันอีกครั้ง โดยเสนอให้ Bernard ได้ธุรกิจน้ำหอม Christian Dior Perfumes ที่ LVMH ซื้อมาก่อนหน้านั้นกลับไปรวมกับแบรนด์เสื้อ Christian Dior ที่ Bernard เป็นเจ้าของอยู่ก่อนอีกครั้ง

การทุ่มซื้อธุรกิจครอบครัวอันลือลั่น LVMH Moët Hennessy Louis Vuitton จนเป็นที่มาของฉายา หมาป่าในผ้าแคชเมียร์

ข้อเสนอนี้กลับทำให้ Bernard โมโห เพราะเขาคิดว่า Chevalier กับ Racamier กำลังพยายามแย่งบริษัทกลับคืนไปจากเขา เพื่อขัดขวางข้อเสนอนี้ Bernard จึงทุ่มซื้อหุ้นมากขึ้นไปอีก จน Bernard และ Guinness มีหุ้นรวมกันมากถึง 43.5% และขวางการแยกธุรกิจ LVMH ของ Chevalier และ Racamier ได้

ความพ่ายแพ้ต่อ Bernard ทำให้ Chevalier ตัดสินใจลาออกในปี 1989 ส่วน Bernard ก็ขึ้นเป็น Chairman และ CEO ของ LVMH แทน

เมื่อเหลือแต่ Racamier ที่ Bernard ต้องการกำจัดทิ้ง เขาก็ไม่รีรอที่จะเปลี่ยนกฎบริษัท โดยลดอายุเกษียณของผู้บริหารเหลือ 70 ปี ซึ่งทำให้ Racamier ต้องลงจากตำแหน่งใน Louis Vuitton ในขณะเดียวกัน กลุ่ม Racamier ก็ยื่นฟ้องศาลขอให้การซื้อหุ้นของ Bernard เป็นโมฆะ แต่ Bernard ก็ไปล็อบบี้ขอเสียงสนับสนุนจากทายาทตระกูล Moët, Chandon และ Hennessy ที่มีหุ้นรวมกันอยู่ 18% ซึ่งกลุ่มนี้ก็ตกลงที่จะสนับสนุน Bernard

ในที่สุด ยุทธการการเข้าซื้อกิจการของ Bernard Arnault อันดุเดือดก็จบสิ้นไปในเวลาไม่ถึง 2 ปี เมื่อศาลตัดสินให้ Bernard ชนะคดีในปี 1990 แน่นอนว่า Racamier ถูกปลดออกจากกรรมการบริษัท เขาใช้ชีวิตบั้นปลายกับกิจกรรมด้านเรือใบและดนตรี และเสียชีวิตในปี 2003 ด้วยวัย 90 ปี

ส่วน Bernard นั้น หลังจากที่ซื้อบริษัท LVMH สำเร็จ เขาก็ขยายกิจการโดยเข้าซื้อแบรนด์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง จนเป็นเจ้าของแบรนด์หรูหลายสิบแบรนด์ เช่น Marc Jacobs (1997) Sephora (1997) TAG Heuer (1999) Fendi (2001) Bvlgari (2011) RIMOWA (2016) และ Tiffany & Co. (2019)

การที่ Bernard ไล่ซื้อธุรกิจแบรนด์หรูต่าง ๆ มากมายให้มาอยู่ในอาณาจักรธุรกิจ LVMH ทำให้เขาได้ฉายาจากคู่แข่งว่าเป็น ‘The Wolf in Cashmere’ หรือ ‘หมาป่าในผ้าแคชเมียร์’

การทุ่มซื้อธุรกิจครอบครัวอันลือลั่น LVMH Moët Hennessy Louis Vuitton จนเป็นที่มาของฉายา หมาป่าในผ้าแคชเมียร์

ทายาทอาณาจักรแบรนด์หรู

Bernard มีลูกกับ Anne Dewavrin ภรรยาคนแรก 2 คน คือ Delphine ลูกสาว และ Antoine ลูกชาย

Delphine ทำงานหลายบทบาทในธุรกิจของครอบครัวมาตั้งแต่ปี 2000 ในที่สุดขึ้นเป็น CEO ของ Christian Dior แบรนด์อันดับ 2 ของกลุ่มธุรกิจ LVMH

ส่วน Antoine เริ่มทำงานที่ Louis Vuitton และขึ้นเป็น CEO ของแบรนด์เสื้อผ้าผู้ชาย Berluti ปัจจุบันยังเป็น CEO ของบริษัทโฮลดิ้งที่ถือหุ้น LVMH อีกด้วย

Bernard แต่งงานครั้งที่ 2 กับ Hélène Mercier นักเปียโนชาวแคนาดา ทั้งคู่มีลูกด้วยกัน 3 คน

ลูกชายคนโตชื่อ Alexandre ซึ่งเป็นคนที่เสนอให้ LVMH ซื้อธุรกิจกระเป๋าเดินทางหรูแบรนด์ RIMOWA และเมื่อเจ้าของเดิมบอกว่าไม่ขาย เขาก็เป็นคนไปเจรจาจนซื้อสำเร็จ ต่อมา Bernard ยังให้เขาดูแลธุรกิจอัญมณีเครื่องประดับ Tiffany & Co. ที่ LVMH ซื้อมาอีกด้วย

ลูกชายคนรองชื่อ Frédéric รับผิดชอบธุรกิจนาฬิกา TAG Heuer ส่วนลูกชายคนสุดท้องชื่อ Jean ปัจจุบันดูแลงานด้านนาฬิกาของแบรนด์ Louis Vuitton

Bernard สอนให้ลูก ๆ มองประโยชน์ของธุรกิจก่อนตนเอง ปลูกฝังให้ไม่แบ่งแยกกันว่าเป็นลูกจากคนละแม่ และอบรมไม่ให้ชิงดีชิงเด่นกัน ว่ากันว่า Bernard ไม่ยอมแม้กระทั่งให้ลูก ๆ อวดเบ่งกันว่าใครตีเทนนิสหรือเล่นเปียโนเก่งที่สุด

ในทางธุรกิจนั้น Bernard ให้ลูกแต่ละคนเรียนรู้งานจากผู้บริหารมืออาชีพจากนอกครอบครัวที่ LVMH จ้างมาบริหารธุรกิจ เช่น Delphine ทำงาน 12 ปีกับ Sidney Toledano ผู้บริหาร Christian Dior และต่อมาก็ไปทำงานกับ Michael Burke ผู้บริหาร Louis Vuitton อีก

การทุ่มซื้อธุรกิจครอบครัวอันลือลั่น LVMH Moët Hennessy Louis Vuitton จนเป็นที่มาของฉายา หมาป่าในผ้าแคชเมียร์

อย่างไรก็ตาม Bernard บอกว่าการจะตั้งใครเป็นผู้นำอาณาจักรธุรกิจ LVMH รุ่นต่อไปนั้นขึ้นอยู่กับความสามารถ ซึ่งการส่งมอบธุรกิจยังคงไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้ เพราะ Bernard เพิ่งขยายอายุเกษียณของ Chairman และ CEO ของ LVMH ของเขาออกไปเป็น 80 ปี

เมื่อธุรกิจครอบครัวเป็นเป้าของการทุ่มซื้อกิจการ

ประสบการณ์จากการเข้าครอบครองบริษัท LVMH Moët Hennessy Louis Vuitton ของ Bernard Arnault แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงของธุรกิจครอบครัวที่จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งอาจถูกนักลงทุนจากนอกครอบครัวเข้ามาทุ่มซื้อกิจการได้

อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่แท้จริงของการเป็นเป้าของการทุ่มซื้อกิจการนั้นไม่ใช่การเป็นบริษัทจดทะเบียน แต่เกิดจากราคาหุ้นของบริษัทที่ไม่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของกิจการ

Bernard Arnault ไม่ได้ทุ่มซื้อกิจการ LVMH เพียงเพราะเขามีโอกาส แต่เป็นเพราะเขาเห็นศักยภาพของธุรกิจมากกว่าผลประกอบการที่เป็นอยู่ในขณะนั้น ซึ่งศักยภาพนี้สะท้อนให้เห็นจากราคาหุ้น LVMH ที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากBernard เข้าไปบริหารกิจการ จนทำให้เขาติดอันดับอภิมหาเศรษฐี และขึ้นแท่นเป็นบุคคลร่ำรวยที่สุดในโลกคนหนึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา

การทุ่มซื้อธุรกิจครอบครัวอันลือลั่น LVMH Moët Hennessy Louis Vuitton จนเป็นที่มาของฉายา หมาป่าในผ้าแคชเมียร์
ข้อมูลอ้างอิง
  • www.masterofmalt.com/blog/post
  • www.nytimes.com/1989/12/17
  • www.tharawat-magazine.com
  • www.wsj.com/articles
  • www.ft.com/content
  • www.expresso.pt/revista
  • www.culturedcreatures.co/moet-imperial
  • www.lemonde.fr/disparitions/article/2018/11/06
  • www.the-ethos.co
  • www.la-malle-en-coin.com/en/the-blog/list-of-articles
  • www.standard.co.uk/reveller/bars
  • www.generalist.com/briefing/lvmh-the-civil-savage
  • www.francetvinfo.fr/economie/entreprises
  • www.canal-luxe.org/jean-arnault-prince-watches
  • www.moneyweek.com/518103
  • www.edition.cnn.com/2022/12/14/business
  • www.wsj.com/articles

Writer

Avatar

ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์

ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ University of California, San Diego นักวิชาการผู้หลงใหลเรื่องราวจากโลกอดีต รักการเดินทางสำรวจโลกปัจจุบัน และสนใจวิถีชีวิตของผู้คนในโลกอนาคต