การสืบทอดทายาทเป็นเรื่องสำคัญของธุรกิจครอบครัว ในหลายกรณี การส่งต่อธุรกิจให้รุ่นถัดไปได้สร้างความขัดแย้งให้กับสมาชิกครอบครัวที่มีความเห็นไม่ตรงกันหรือแก่งแย่งแข่งขันกัน ซึ่งส่งผลเสียต่อการดำเนินธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หลาย ๆ ครอบครัวจึงได้พยายามป้องกันปัญหานี้ โดยวิธีหนึ่งก็คือการมีกฎหรือธรรมเนียมที่ระบุการสืบทอดทายาทธุรกิจที่ชัดเจน และได้รับการยอมรับจากสมาชิกครอบครัวทุกคน

อย่างไรก็ตาม กฎหรือธรรมเนียมนี้ก็อาจสร้างปัญหาได้เช่นกัน เช่น บางครอบครัวมีธรรมเนียมปฏิบัติในการส่งต่อธุรกิจให้ลูกชายคนโต ซึ่งทายาทเหล่านี้อาจไม่มีคุณสมบัติที่เพียงพอหรือเหมาะสมกับการบริหารธุรกิจก็ได้

ตัวอย่างหนึ่งของครอบครัวที่ธรรมเนียมปฏิบัติในการสืบทอดทายาทช่วยป้องกันความขัดแย้งระหว่างสมาชิกครอบครัว แต่กลับนำไปสู่ปัญหาการบริหารจัดการธุรกิจ ได้แก่ ตระกูล Guinness ผู้ก่อตั้งโรงงานผลิตเบียร์ดำที่มีอายุมากกว่า 260 ปี และมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก

Guinness บริษัทที่ให้ลูกชายคนโตสืบทอดโดยไม่สนใจคุณสมบัติจนส่งผลทั้งธุรกิจและครอบครัว

กำเนิด Guinness

Guinness Brewery ถือกำเนิดขึ้นในปี 1759 เมื่อ Arthur Guinness เช่าโรงงานผลิตเบียร์เก่าบริเวณ St.James’s Gate ในเมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ด้วยค่าเช่า 45 ปอนด์ต่อปี เป็นเวลา 9,000 ปี

ในด้านครอบครัวนั้น Arthur แต่งงานกับ Olivia Whitmore ซึ่งมาจากตระกูลที่มีฐานะดี เสนอสินสอดให้แก่ Arthur จำนวน 1,000 ปอนด์ หลังจากแต่งงาน Olivia ตั้งครรภ์ทั้งหมด 21 ครั้ง แท้งไป 10 ครั้ง ให้กำเนิดลูก 11 คน โดย 10 คนเติบโตจนเป็นผู้ใหญ่

Hosea Guinness ลูกชายคนโตของ Arthur บวชเป็นบาทหลวง Arthur Guinness II ลูกชายคนที่ 2 ที่รู้จักกันในชื่อ ‘The Second Arthur Guinness’ จึงรับช่วงธุรกิจต่อจากพ่อ โดยมีน้องชายอีก 2 คน คือ Benjamin กับ William ช่วยบริหารกิจการธุรกิจครอบครัว ด้วย

Arthur II แต่งงานกับ Anne Lee มีลูกด้วยกัน 9 คน โดย William ลูกชายคนโตไปบวชเป็นบาทหลวงอีกเช่นกัน ส่วนลูกชายคนถัดมาชื่อ Arthur (อีกแล้ว) ได้ทำงานกับธุรกิจครอบครัว แต่มีเรื่องฉาวโฉ่กับลูกจ้างจึงต้องลาออก ท้ายที่สุดแล้ว Benjamin ลูกชายคนที่ 3 (ที่ชื่อเหมือนกับอา) ซึ่งเริ่มทำงานกับ Arthur II พ่อของเขาตั้งแต่วัยรุ่น จึงได้เป็นทายาทธุรกิจของตระกูลในรุ่นต่อมา

Guinness บริษัทที่ให้ลูกชายคนโตสืบทอดโดยไม่สนใจคุณสมบัติจนส่งผลทั้งธุรกิจและครอบครัว

นอกจากเป็นผู้นำธุรกิจครอบครัวแล้ว Benjamin ยังทำงานการเมือง เป็นนายกเทศมนตรีนครดับลิน เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บริจาคเงินเพื่อสาธารณกุศลต่าง ๆ และได้รับแต่งตั้งเป็น ‘Sir Benjamin Lee Guinness’ อีกด้วย

สำหรับทายาทรุ่นสี่นั้นเป็นลูก ๆ ของ Sir Benjamin โดย Arthur (อีกแล้ว) ลูกชายคนโตและ Edward ลูกชายคนที่ 3 ได้สืบต่อธุรกิจของครอบครัว แต่ต่อมา Arthur ขายหุ้น Guinness Brewery ในส่วนของตนให้ Edward

นอกจากธุรกิจครอบครัวแล้ว Edward ยังได้รับแต่งตั้งให้เป็น ‘Sir Edward Cecil Guinness’ เป็น Lord Iveagh และเป็นเพื่อนกับ Prince of Wales ที่ต่อมาครองราชย์เป็น พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 อีกด้วย

โดยรวมแล้ว เมื่อแรกตั้ง Guinness Brewery นั้น สมาชิกครอบครัวรุ่นแรก ๆ มีพลังความเป็นผู้ประกอบการสูง เพียงแค่ 10 ปีหลังจากเริ่มกิจการ Guinness Brewery ก็เริ่มส่งออกเบียร์ไปยังอังกฤษ ซึ่งถือเป็นการเปิดตลาดต่างประเทศเป็นครั้งแรก 

ธุรกิจเติบโตต่อมาจนธุรกิจนี้ขึ้นแท่นเป็นโรงงานผลิตเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในไอร์แลนด์ในปี 1838 และในปี 1886 ซึ่งเป็นปีที่ Sir Benjamin ทายาทรุ่นสามเสียชีวิตนั้น Guinness ได้เติบโตจนกลายเป็นโรงงานผลิตเบียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปเรียบร้อยแล้ว

Guinness บริษัทที่ให้ลูกชายคนโตสืบทอดโดยไม่สนใจคุณสมบัติจนส่งผลทั้งธุรกิจและครอบครัว

ธรรมเนียมที่เปลี่ยนไป

จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ Guinness Brewery ก่อตั้งมา การสืบทอดธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าต้องส่งต่อให้กับลูกชายคนโตเท่านั้น แต่ธรรมเนียมนี้เริ่มเปลี่ยนไปในรุ่นหลัง ๆ

เริ่มจาก Sir Edward ที่มีลูกชาย 3 คน คือ Rupert, Arthur (อีกแล้ว) และ Walter ซึ่ง Rupert ลูกชายคนโตได้รับสืบทอดเป็นผู้นำกิจการรุ่นห้า

Arthur น้องชายคนรองที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ Ernest ซึ่งเป็นชื่อกลางของเขา มีพื้นฐานเป็นวิศวกรจึงมีบทบาทในธุรกิจครอบครัว โดยเป็นกรรมการบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านเทคนิคจนกระทั่งเขาบาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุเรือยนต์

สำหรับ Walter น้องชายคนสุดท้องนั้นเป็นนักการเมือง ได้รับแต่งตั้งเป็น Lord Moyne เป็นผู้นำในสภาสูงของสหราชอาณาจักร และเป็นรัฐมนตรีกระทรวงอาณานิคม ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 Walter เสียชีวิตจากการถูกลอบสังหารโดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายชาวยิว เป็นข่าวสะเทือนขวัญไปทั่วโลก

นอกจาก Walter แล้ว ลูกชายคนโตและคนเดียวของ Rupert ที่ชื่อ Arthur (อีกแล้ว) ก็เสียชีวิตระหว่างสงครามโลกด้วยเช่นกัน เนื่องจาก Rupert ต้องการให้ทายาทตระกูล Guinness เป็นลูกชายคนโตและเป็นทายาทสายตรงเท่านั้น เขาจึงไม่ยอมลงจากตำแหน่ง Chairman ของบริษัทจนกระทั่งปี 1962 เมื่อเขามีอายุถึง 88 ปี เพราะเขาต้องรั้งตำแหน่งไว้จนกว่า Benjamin (อีกแล้ว) หลานปู่ของเขาที่เป็นลูกชายคนโตของ Arthur ขึ้นรับตำแหน่ง Chairman แทน สุดท้าย Benjamin ก็ขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจครอบครัวเมื่ออายุเพียง 25 ปี

การสืบทอดธุรกิจของตระกูล Guinness จึงข้ามรุ่นหกไปสู่รุ่นเจ็ด โดย Benjamin เป็น Chairman ของบริษัทกว่า 24 ปี และเป็น President หลังจากนั้นจนกระทั่งเขาวางมือจากธุรกิจในปี 1992 ถือเป็นทายาทรุ่นสุดท้ายของตระกูลที่มีตำแหน่งในธุรกิจครอบครัวที่ส่งต่อกันมากว่า 233 ปี

Guinness บริษัทที่ให้ลูกชายคนโตสืบทอดโดยไม่สนใจคุณสมบัติจนส่งผลทั้งธุรกิจและครอบครัว

บทบาทที่ขาดหาย

ในช่วงแรก สมาชิกตระกูล Guinness ควบคุมดูแลกิจการธุรกิจของครอบครัวอย่างใกล้ชิด และถึงแม้ว่า Sir Edward Cecil Guinness ผู้นำรุ่นที่สี่ จะได้ขายหุ้นถึง 65% ของ Guinness Brewery ในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนในปี 1886 แต่เขาก็ยังคงรักษาอำนาจในการบริหารบริษัทเอาไว้ได้

เมื่อ Sir Edward ส่งต่อธุรกิจให้ทายาทรุ่นต่อมา โดยแบ่งหุ้นให้ลูกชายแต่ละคนเท่า ๆ กัน หุ้นที่เหลืออยู่ของตระกูลจึงเริ่มกระจัดกระจาย แต่สมาชิกครอบครัวก็ยังคงยึดมั่นในการมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการต่อไป เพราะเชื่อว่าเป็นความรับผิดชอบของครอบครัว

Guinness บริษัทที่ให้ลูกชายคนโตสืบทอดโดยไม่สนใจคุณสมบัติจนส่งผลทั้งธุรกิจและครอบครัว

อย่างไรก็ตาม บทบาทของสมาชิกครอบครัว Guinness ในธุรกิจครอบครัวได้ลดลงเรื่อย ๆ เพราะทายาทไม่ได้มีความรู้ความสามารถในการบริหาร แต่ได้รับการยอมรับจากสมาชิกครอบครัวให้มีตำแหน่งในธุรกิจเพียงเพราะเกิดมาเป็นทายาทของตระกูลเท่านั้น

เช่น Bryan Guinness ที่ถึงแม้ว่าเขาจะเรียนด้านกฎหมายมาก็ตาม แต่เลือกไปประกอบอาชีพทางการเกษตร เป็นกวีและนักเขียน เขาได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการบริษัทเพราะเขาเป็นลูกชายคนโตของ Walter Guinness ที่ถูกลอบสังหาร

ธรรมเนียมที่ให้ลูกชายคนโตเป็นทายาทธุรกิจรุ่นต่อไปนั้น สมาชิกครอบครัวต่างยอมรับโดยไม่มีใครท้าทายธรรมเนียมนี้ เพราะเชื่อว่าการมีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนเป็นการป้องกันความขัดแย้งในครอบครัว ถึงแม้ว่าทายาทผู้สืบทอดธุรกิจของครอบครัวจะไม่ได้เป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดก็ตาม ถือว่าเป็นต้นทุนที่คุ้มค่าและยอมแลกกับความสงบสุขในครอบครัว

Guinness บริษัทที่ให้ลูกชายคนโตสืบทอดโดยไม่สนใจคุณสมบัติจนส่งผลทั้งธุรกิจและครอบครัว

แต่ต้นทุนนี้ก็สูงมากเมื่อทายาทขาดคุณสมบัติที่จำเป็นสำหรับบริหารธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทายาทไม่ได้เป็นแค่กรรมการบริษัท แต่เป็นถึง Chairman ของบริษัทอย่าง Benjamin Guinness ทายาทรุ่นสุดท้าย

Benjamin เป็น Chairman ในช่วงที่สมาชิกตระกูล Guinness ขาดความยึดโยงกับธุรกิจครอบครัว ตัว Benjamin เองก็ไม่ได้มีคุณสมบัติของผู้นำ เป็นคนขี้อาย ในขณะที่สมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ ที่ไม่มีตำแหน่งบริหารก็มีความรู้ผูกพันกับธุรกิจครอบครัวน้อยลงเรื่อย ๆ ธุรกิจเบียร์มีความสำคัญกับชีวิตของทายาทแต่ละคนน้อยลง ความตั้งใจและแรงผลักดันในการบริหารธุรกิจครอบครัวก็ลดลงไป

ในที่สุดแล้ว ถึงแม้ว่าสมาชิกครอบครัวหลายคนยังคงเป็นกรรมการบริษัท แต่การดำเนินกิจการกลับตกอยู่ในมือของคนนอก โดยไม่มีการควบคุมดูแลอย่างเพียงพอจากสมาชิกของตระกูล

ความฉาวโฉ่ที่ต้องก้มหน้ารับ

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ครอบครัวมีบทบาทในธุรกิจครอบครัวน้อยลง ก็คือการขยายกิจการของ Guinness Brewery โดยการควบรวมกับธุรกิจอื่น ยิ่งบริษัทเติบโตขึ้นจากการควบรวมกิจการ บทบาทของผู้บริหารจากนอกครอบครัวก็ยิ่งสูงขึ้นตาม เมื่อกิจการที่ซื้อมาประสบปัญหา ตระกูลก็อยู่ในสภาพที่ไร้ความสามารถในการตัดสินใจและทำอะไรไม่ได้

กลายเป็นว่าวีรบุรุษที่มากอบกู้กิจการให้ คือ Ernest Saunder ผู้บริหารที่เป็นคนนอกครอบครัว โดย Saunder ได้หันกลับไปโฟกัสที่ธุรกิจเบียร์ดำซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท แต่เมื่อบริษัทกลับมาเข้มแข็งใหม่ Guinness ก็เริ่มซื้อกิจการอื่นอีกรอบ

ธุรกิจที่ Guinness เข้าซื้อในรอบใหม่นี้ คือ Distillers Company ผู้นำในการผลิตสกอตวิสกี้ ซึ่งพวกเขาชนะคู่แข่งที่มีขนาดใหญ่กว่าได้โดยซื้อ Distillers มาได้ในราคาสูงถึง 2.6 พันล้านปอนด์ในปี 1986

ธรรมเนียมที่ไม่ควรเอาอย่างของ Guinness ให้ลูกชายคนโตสืบทอดโดยไม่สนใจคุณสมบัติ จนครอบครัวหมดบทบาททางธุรกิจ

แต่การซื้อกิจการ Distillers นี้กลายเป็นฝันร้ายของทั้ง Guinness Brewery และตระกูล Guinness เพราะความสำเร็จในการซื้อนั้นเกิดจากการปั่นราคาหุ้นให้สูงเกินจริงของ Ernest Saunder ซึ่งในที่สุดเขาถูกดำเนินคดีและต้องโทษติดคุก บริษัทเสียชื่อเสียงอย่างมาก

แน่นอนว่าชื่อเสียงของตระกูล Guinness ก็ย่อมเสียหายไปด้วย แต่สมาชิกครอบครัวทำอะไรเพื่อปกป้องชื่อเสียงของตนไม่ได้ ได้แต่นั่งมองตาปริบ ๆ เพราะสาเหตุส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะครอบครัวไม่ได้กำกับดูแลการดำเนินกิจการของผู้บริหารคนนอกอย่างดีพอ

แถมเมื่อ Guinness Brewery ซื้อ Distillers ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ามากนั้น หุ้นของครอบครัว Guinness ในบริษัทที่ควบรวมแล้วลดลงเหลือต่ำกว่า 10% และไม่มีสมาชิกครอบครัวคนใดเป็นกรรมการบริษัทอีกต่อไป รวมถึง Benjamin Guinness ที่ไม่ได้เป็น Chairman แล้วด้วย

ธรรมเนียมที่ไม่ควรเอาอย่างของ Guinness ให้ลูกชายคนโตสืบทอดโดยไม่สนใจคุณสมบัติ จนครอบครัวหมดบทบาททางธุรกิจ

เมื่อธรรมเนียมมีต้นทุน

ปัจจุบัน Guinness ยังคงเป็นผู้ผลิตเบียร์ดำ (Stout) รายใหญ่ที่สุดของโลก แต่ธุรกิจได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท Diageo ซึ่งเกิดจากการควบรวมกิจการของบริษัท Guinness Brewery ผู้ผลิตเบียร์ กับบริษัท Grand Metropolitan ผู้ผลิตวิสกี้ในปี 1997

ถึงแม้ว่าทายาทตระกูล Guinness หลายคนยังคงร่ำรวยติดอันดับมหาเศรษฐีของโลก แต่ก็ไม่มีใครมีบทบาทในธุรกิจเบียร์ที่ก่อตั้งโดยบรรพบุรุษของครอบครัวอีกต่อไปแล้ว ต่างจากธุรกิจครอบครัวอื่น ๆ หลายแห่งที่ทายาทยังมีบทบาทในบริษัทอยู่ แม้ว่าจะไม่ได้ถือหุ้นในสัดส่วนที่สูงก็ตาม

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตระกูล Guinness หมดบทบาทในการบริหารธุรกิจ ก็คือการยึดมั่นในธรรมเนียมการสืบทอดกิจการของทายาท โดยมุ่งหวังว่าธรรมเนียมที่ชัดเจนนี้จะช่วยลดความขัดแย้งจากการแก่งแย่งแข่งขันของสมาชิกครอบครัว

แต่ในขณะเดียวกัน การยึดมั่นในธรรมเนียมนี้จนเกินพอดีก็ทำให้ธุรกิจได้ผู้บริหารที่ขาดความสนใจ ขาดความรู้ และขาดความสามารถ รวมถึงทำให้สมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ ขาดความผูกพันกับกิจการธุรกิจของครอบครัว

ซึ่งในที่สุดแล้ว ปัญหาเหล่านี้นำไปสู่จุดจบของบทบาทของครอบครัวธุรกิจในธุรกิจครอบครัวที่สืบต่อมายาวนานหลายร้อยปี

ธรรมเนียมที่ไม่ควรเอาอย่างของ Guinness ให้ลูกชายคนโตสืบทอดโดยไม่สนใจคุณสมบัติ จนครอบครัวหมดบทบาททางธุรกิจ
ข้อมูลอ้างอิง
  • “The Guinness Story – Sliding into Scandal” in Family Wars: Stories and Insights from Famous Family Business Feuds, by Grant Gordon and Nigel Nicholson, Kogan Page Limited, London, UK, 2008.
  • m.independent.ie/business/commercial-property
  • www.connollycove.com/arthur-guinness
  • en.m.wikipedia.org/wiki/Guinness_Brewery
  • en.wikipedia.org/wiki/Arthur_Guinness
  • www.diageo.com/en/our-brands/brand-explorer/guinness
  • baltimore.org/listings/guinness-open-gate-brewery-barrel-house
  • www.wmky.org/the-readers-notebook/2021-11-01
  • www.prints-online.com/mr-mrs-bryan-guinness-irish-wolfhound-14125973.html
  • www.thetimes.co.uk/article
  • news.bbc.co.uk/onthisday/hi/dates/stories/august/27
  • www.flickr.com/photos/trainsandstuff
  • libertiesdublin.ie/guinness-was-good-to-you
  • www.irelandwithlocals.com/the-guinness-storehouse-facts

Writer

Avatar

ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์

ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ University of California, San Diego นักวิชาการผู้หลงใหลเรื่องราวจากโลกอดีต รักการเดินทางสำรวจโลกปัจจุบัน และสนใจวิถีชีวิตของผู้คนในโลกอนาคต