ในเมืองพอร์ตแลนด์ มีครูที่ทำงานอยู่ในโรงเรียนของรัฐ สังกัด Portland Public Schools (PPS) ทั้งหมดประมาณ 4,500 คน มีโรงเรียนทั้งหมด 81 โรงเรียน และมีนักเรียนตั้งแต่อนุบาลไปจนมัธยมปลายทั้งหมดเกือบ 50,000 คน

เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาแทบทั้งเดือน ครูและเด็กนักเรียนที่พูดถึงข้างบนนี้ ไม่มีใครไปโรงเรียนเลยแม้แต่คนเดียวค่ะ พวกเขาหายไปไหนกัน

พวกเขาไปลงถนน!

มีอะไรไม่ยุติธรรมอย่าเงียบ! อุ้ม สิริยากร เล่าเรื่องการประท้วง-นัดหยุดงาน ของสหภาพครูครั้งแรกในประวัติศาสตร์พอร์ตแลนด์
มีอะไรไม่ยุติธรรมอย่าเงียบ! อุ้ม สิริยากร เล่าเรื่องการประท้วง-นัดหยุดงาน ของสหภาพครูครั้งแรกในประวัติศาสตร์พอร์ตแลนด์

ใครที่เดินขึ้นไปบนภูเขาที่มองลงมาเห็นพอร์ตแลนด์ตอนเช้าจะได้ยินเสียงประท้วงดังกึกก้องจากทั่วทุกมุมเมือง เป็นครั้งแรกที่คนพอร์ตแลนด์ได้ยินและได้เห็นอะไรแบบนี้ เพราะนี่คือ ‘การประท้วงของสหภาพครูครั้งแรกในประวัติศาสตร์พอร์ตแลนด์’

พวกเขาประท้วงเรียกร้องเรื่องอะไรกัน

4 เรื่องหลัก ๆ คือการปรับขึ้นเงินเดือนครูให้ทันกับสภาวะเงินเฟ้อ การเพิ่มเวลาเตรียมการสอน การปรับปรุงสภาพห้องเรียนให้เหมาะสม ไม่ร้อน ไม่หนาวเกินไป ไม่มีเชื้อราและหนูวิ่งพล่าน และสุดท้ายซึ่งเป็นประเด็นร้อนเดือดที่สุด คือการลดขนาดห้องเรียน ให้มีจำนวนนักเรียนต่อครู 1 คนน้อยลง (หมายถึงถ้าจำนวนนักเรียนถึง 30 คนต่อห้อง ต้องจ้างครูเพิ่ม)

ฟังดูเหมือนปัญหาครูและโรงเรียนในบ้านเราเลยใช่ไหมคะ เป็นครูงานหนักเงินน้อย โรงเรียนก็เก่าโทรมสู้โรงเรียนเอกชนไม่ได้ ผู้ปกครองเอาเด็กมาเข้าโรงเรียนรัฐน้อยลง เลยถูกตัดงบลดจำนวนครูลงไปเรื่อย ๆ เด็กในแต่ละห้องเริ่มเยอะขึ้น ๆ เพราะไม่มีเงินจ้างครูเพิ่ม อดทน อดกลั้น จนทนไม่ไหวอีกต่อไป เพราะเรียกร้องเท่าไหร่ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือ สหภาพครูเลยรวมตัวกัน ตัดสินใจประกาศหยุดทำงานประท้วงมันเสียเลย!

ลูกอุ้มทั้ง 2 คนเรียนโรงเรียน Public School มาตั้งแต่อนุบาล สมคิด ก็ทำงานให้ PPS แปลว่าเรื่องนี้กระทบกับครอบครัวเราโดยตรงทั้ง 2 ทาง และสัญญาณมันเริ่มมานานเป็นปีแล้ว ไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ เพิ่งเกิดขึ้น ยังจำที่อุ้มเคยเล่าเรื่องไปงานประชาพิจารณ์เพื่อของบเพิ่มจากรัฐได้ไหมคะ นั่นคือเหตุผลหลักที่แท้จริง ก่อนที่จะลุกลามมาเป็นความเดือดร้อนลำบากของครูและนักเรียน อันนำไปสู่การประท้วงในที่สุด

เล่าให้ฟังเป็นความรู้เปรียบเทียบกับระบบการศึกษาของไทยกันหน่อยดีกว่าค่ะ

การศึกษา ถือว่าเป็นสวัสดิการของรัฐชนิดหนึ่ง เพราะเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องให้การสนับสนุน ทั้งด้านงบประมาณและการบริหารจัดการ

ที่สหรัฐอเมริกาแบ่งการปกครองเป็นระดับรัฐบาลกลาง (Federal) กับระดับรัฐ (State) ประชาชนที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่จึงเสียภาษี 2 ชุด คือภาษีเงินได้ให้รัฐบาลกลาง (Federal Income Tax) กับภาษีเงินได้ระดับท้องถิ่นให้กับรัฐ (State Income Tax) นอกเหนือจากนี้ ใครเป็นเจ้าของธุรกิจก็ต้องเสียภาษีธุรกิจ (Corporate Excise and Income Tax) และถ้าใครเป็นเจ้าของบ้านก็ต้องเสียภาษีโรงเรือน (Property Tax) ด้วย

รายได้จากการจัดเก็บภาษี 4 ชนิดนี้เอง เป็นที่มาของรายได้หลักของประเทศและของรัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งจัดสรรมาเป็นงบประมาณสนับสนุนระบบการศึกษานั่นเอง

ในรัฐออริกอน เงินสนับสนุนภาคการศึกษาก้อนใหญ่ที่สุดไม่ได้มาจากรัฐบาล แต่มาจากเงินรายได้ของรัฐเอง คิดเป็น 67% ของรายได้ทั้งหมด ใน 2 ปีข้างหน้ารัฐเพิ่งอนุมัติงบมาให้โรงเรียน $10.2 Billion หรือประมาณเกือบ 4 แสนล้านบาท

ทั้งรัฐออรีกอนมีโรงเรียนทั้งหมด 1,200 โรงเรียน ใช้งบปีละเกือบ 2 แสนล้านบาท กรุงเทพฯ มีโรงเรียนทั้งหมด 437 โรงเรียน ใช้งบประมาณด้านการศึกษา 711 ล้านบาท 

ขยายออกมาดูภาพใหญ่ในระดับโลกดูบ้างก็ได้ค่ะ

มีอะไรไม่ยุติธรรมอย่าเงียบ! อุ้ม สิริยากร เล่าเรื่องการประท้วง-นัดหยุดงาน ของสหภาพครูครั้งแรกในประวัติศาสตร์พอร์ตแลนด์

ในโลกนี้ ประเทศที่มีงบประมาณต่อนักเรียน 1 คนสูงที่สุด 5 อันดับ คือลักเซมเบิร์ก นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และเดนมาร์กค่ะ ประเทศอันดับ 1 อย่างลักเซมเบิร์กนั้นใช้งบประมาณสูงถึงประมาณ 800,000 บาทต่อนักเรียน 1 คนต่อปี

ส่วนสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 500,000 บาทต่อคนต่อปี และประเทศไทยอยู่ที่…

ประมาณ 10,000 บาทต่อคนต่อปี! 

ฟังแล้วก็ทำให้คิดขึ้นมาได้ เพราะงบประมาณน้อยนิดอย่างนี้นี่เอง ผู้ปกครองไทยจำนวนไม่น้อยจึงต้องตกที่นั่งเป็นรัฐบาลหางบมาสนับสนุนลูกตัวเองไปโรงเรียนเอกชน นานาชาติ เพราะที่จ่ายกันอยู่ปีปีหนึ่งนี่ประหนึ่งเป็นรัฐบาลสหรัฐฯ ลักเซมเบิร์กกันเลย หรือไม่จริง

กลับมาที่รัฐออรีกอน ฟังดูก็เหมือนจะมีเงินเยอะมากเลยใช่ไหมคะ ตั้ง 2 แสนล้าน แต่เอาเข้าจริง งบนี้ยังต่ำกว่า Quality Education Model (QEM) ที่คณะกรรมาธิการด้านคุณภาพการศึกษาของรัฐเสนอไว้ตั้ง 26% เหตุผลหลัก ๆ ก็เพราะกฎหมาย 2 มาตรา คือ Measure 5 กับ Measure 50 ที่ประชาชนโหวตไว้ตั้งแต่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งกำหนดเพดานการใช้ภาษีโรงเรือนไปกับการศึกษา คือไม่ยอมให้เอาภาษีส่วนนี้มาจ่ายให้โรงเรียนมากเกินไป ทั้งที่จริง ๆ แล้วเงินก้อนนี้จะช่วยได้มาก ทีนี้ภาระก็เลยมาตกที่รัฐ ต้องไปหาเงินก้อนอื่นมาโปะ ซึ่งปัญหาคือหาได้ไม่พอ เพราะมีค่าใช้จ่ายด้านอื่น ๆ มาจ่อคอหอยอยู่เต็มไปหมด

ทางแก้ที่ถาวรคือต้องไปแก้กฎหมายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ผ่านมา 20 กว่าปีแล้ว ยังไม่มีท่านผู้แทนท่านไหนยอมทำ เพราะหากเสนอให้ปรับฐานภาษีโรงเรือนเอาตอนนี้ คนก็จะด่าพ่อล่อแม่ หรือพาลไม่มีปัญญาจ่ายค่าบ้านกันเลยทีเดียว เลยเป็นปัญหาที่ถูกปล่อยคา ๆ ไว้อย่างนี้

คนที่รับกรรมมานาน ก็คือครูและนักเรียน

อุ้มในฐานะนายกสมาคมผู้ปกครอง และฐานะภรรเมียของลูกจ้าง PPS รู้ปัญหานี้มาตั้งแต่ปีที่แล้ว ทีแรกก็รู้แค่คร่าว ๆ เพราะปัญหามันซับซ้อนทับถมมานานหลายทศวรรษ แต่ขุดคุ้ยไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มเข้าใจมากขึ้น และมาเดือดจริง ๆ ตั้งแต่เปิดเทอมเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ในประเทศที่พัฒนาแล้วของโลกนี้ อย่างญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา เดนมาร์ก สัดส่วนครูต่อนักเรียนจะอยู่ที่ประมาณ 11 – 15 คนต่อห้อง (ข้อมูลจากประชาไท) แรก ๆ ที่ลูก ๆ อุ้มเข้าเรียนอนุบาล ห้องหนึ่งก็จะมีนักเรียนประมาณ 22 – 23 คน ซึ่งไม่ได้หรูหรา แต่ก็ยังไม่มากเกินไป

แต่อยู่ดี ๆ ปีนี้ก็มีประกาศออกมาว่างบไม่พอ ต้องลดตำแหน่งครู จำนวนเด็กในแต่ละห้องจึงต้องเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โรงเรียนในพอร์ตแลนด์อยู่ดี ๆ ก็เด้งปุ๊ง มีเด็กห้องละ 30 – 31 คนขึ้นมาเฉยเลย พอเด็กเยอะขนาดนี้ ครูก็ต้องทำงานหนักขึ้นมาก เวลาเตรียมการสอนก็ไม่พอ เงินเดือนก็ปรับขึ้นปีละน้อยนิด 

มีทางเลือก 2 ทาง คือหนึ่ง สะบัดบ๊อบลาออก ไปหางานที่อื่นที่รายได้ดีกว่าและเหนื่อยน้อยกว่านี้ แต่ครูส่วนใหญ่รักเด็กและรักในอาชีพการสอน จึงเลือกทางที่ 2 คืออยู่ต่อ แต่อย่ามาบอกว่าให้ก้มหน้ารับกรรม เพราะครูคือแม่พิมพ์ และพิมพ์นิยมของพอร์ตแลนด์คือ Fight! มีอะไรไม่ยุติธรรมอย่าเงียบ!

วันที่ 1 พฤศจิกายน สหภาพแรงงานครู (Portland Association of Teachers) ประกาศหยุดงานประท้วงทั้งเมือง ไม่มีครูคนไหนกลับไปทำงานจนกว่าข้อเรียกร้องจะได้รับการยอมรับ นั่นแปลว่าเด็ก ๆ ก็ต้องหยุดโรงเรียนไปด้วย

ฟังครั้งแรกอาจคิดว่าผู้ปกครองต้องโวยแน่เลยใช่ไหมคะ โดยเฉพาะคนที่ต้องไปทำงาน แต่ว่านี่มันพอร์ตแลนด์! โอ้โห หน้างานครื้นเครงหลายเด้อมากค่ะ ทั้งครู เด็ก ผู้ปกครอง ออกมาประท้วงกันเต็มท้องถนนทั้งเช้าบ่าย คนที่ไม่เห็นด้วยก็มีแหละ แต่คนส่วนใหญ่ที่อุ้มรู้จักก็สนับสนุนครูและอยากให้ชนะการเจรจาทั้งนั้น

บรรยากาศการประท้วง (Strike) และพื้นที่ประท้วง (Picket Line) จึงดูเป็นเช่นนี้ค่ะ

มีอะไรไม่ยุติธรรมอย่าเงียบ! อุ้ม สิริยากร เล่าเรื่องการประท้วง-นัดหยุดงาน ของสหภาพครูครั้งแรกในประวัติศาสตร์พอร์ตแลนด์
มีอะไรไม่ยุติธรรมอย่าเงียบ! อุ้ม สิริยากร เล่าเรื่องการประท้วง-นัดหยุดงาน ของสหภาพครูครั้งแรกในประวัติศาสตร์พอร์ตแลนด์

อุ้มติดต่อเพื่อนแม่คนหนึ่ง ซึ่งบอกมานานแล้วว่าถ้ามีอะไรเกี่ยวกับการเรียกร้องให้บอกนะ เขาอยากช่วย เลยขอให้มาเป็น Strike Captain ผู้นำประท้วงของโรงเรียนเรา เพื่อนก็ Stepped up to the Task มากเลย ประสานงาน หากาแฟ ขนมนมเนยมาให้ผู้ประท้วงทุกเช้า (แต่สมาคมฯ เราจ่ายเงิน) คิดธีมแต่ละวันให้ไม่ซ้ำกันจะได้ไม่น่าเบื่อ และมีเกมให้เด็ก ๆ เล่นด้วย

มีอะไรไม่ยุติธรรมอย่าเงียบ! อุ้ม สิริยากร เล่าเรื่องการประท้วง-นัดหยุดงาน ของสหภาพครูครั้งแรกในประวัติศาสตร์พอร์ตแลนด์
มีอะไรไม่ยุติธรรมอย่าเงียบ! อุ้ม สิริยากร เล่าเรื่องการประท้วง-นัดหยุดงาน ของสหภาพครูครั้งแรกในประวัติศาสตร์พอร์ตแลนด์

วันที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ มีคนมาร่วมพัน คือตอนที่รวมตัวกับโรงเรียนที่อยู่ใกล้ ๆ กัน 5 โรงเรียน แล้วเดินประท้วงไปตามถนนด้วยกัน เสียงดังกึกก้องจนทุกคนคึกและฮึกเหิมมาก กับอีกวันที่นัดขี่จักรยานผ่าน 4 – 5 โรงเรียนเป็น Big Bike Bus คนมาเยอะมากกกกกกกก มองไปเป็นคลื่นสีฟ้าสุดลูกหูลูกตา (สีประจำของสหภาพครูที่นี่คือสีฟ้า) เสียงเพลง เสียงตะโกน Get Up, Get Down, Portland is a Union Town! และคำขวัญปลุกใจต่าง ๆ ดังอย่างกับอยู่สนามกีฬา คนที่ขับรถไปมาก็บีบแตรชูมือสนับสนุนกันไม่หยุด

มีอะไรไม่ยุติธรรมอย่าเงียบ! อุ้ม สิริยากร เล่าเรื่องการประท้วง-นัดหยุดงาน ของสหภาพครูครั้งแรกในประวัติศาสตร์พอร์ตแลนด์
มีอะไรไม่ยุติธรรมอย่าเงียบ! อุ้ม สิริยากร เล่าเรื่องการประท้วง-นัดหยุดงาน ของสหภาพครูครั้งแรกในประวัติศาสตร์พอร์ตแลนด์

ถามว่าสนุกแบบนี้ตลอดเลยไหม ไม่หรอกค่ะ การประท้วงนี่โคตรเหนื่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่ไม่รู้ว่าจะจบยังไง เมื่อไหร่จะได้กลับไปโรงเรียน อุ้มเองตอนแรกกะว่าสักอาทิตย์กว่า ๆ ก็น่าจะจบ แต่เอาเข้าจริงปาไป 3 อาทิตย์กว่าได้ ระหว่างนั้นต้องพยายามหาแบบฝึกหัดให้ลูกทำ จะได้มีอะไรเข้าสมองบ้าง แล้วก็ต้องหาเพื่อนให้ลูกเล่น สลับกันดูลูกกับคนอื่นบ้าง พ่อแม่จะได้พัก คือเป็นช่วงที่ทุกคนสร้างสรรค์สุด ๆ เพื่อความอยู่รอด

ที่สำคัญคืออุ้มพาลูกไปร่วมประท้วงด้วย เพราะนี่คือบทเรียนสังคมศาสตร์ที่เขาเกี่ยวข้องโดยตรง ช่วงนั้นเพลงเพลิงไม่ร้องกันละ เดี๋ยว ๆ ลูกดิฉันก็ตะโกนกันว่า “What do we want? Safe Schools! When do we want it? Now!” แต่พอตกเย็นก็ถามทุกวันว่า “เขาตกลงกันได้หรือยังแม่” อุ้มตอบว่า ยังเลยลูก อยู่ 25 วัน แล้วในที่สุด วันที่ 26 พฤศจิกายน ทั้ง 2 ฝ่าย คือ Portland Public Schools ที่เป็นนายจ้างของครู กับสหภาพครูก็ได้ข้อยุติ ท่ามกลางเสียงถอนใจของประชากรค่อนเมือง

วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน ครูและเด็กนักเรียนก็ได้กลับมาเจอกันอีกครั้งในห้องเรียน

บรรยากาศวันนั้นชื่นมื่น เหมือนตอนที่กลับมาจากโควิด ถามว่าเกิดความมหัศจรรย์ เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เราต้องการฉับพลันทันทีเลยไหม ยังไม่เห็นหรอกค่ะ ห้องเรียนก็ยังมีเด็ก 31 คนเหมือนเดิม แต่เรารู้ว่าการต่อสู้เพื่ออนาคตที่ดีกว่ายังผลแล้วไม่มากก็น้อย และการเปลี่ยนแปลงจะตามมาในไม่ช้า

มีอะไรไม่ยุติธรรมอย่าเงียบ! อุ้ม สิริยากร เล่าเรื่องการประท้วง-นัดหยุดงาน ของสหภาพครูครั้งแรกในประวัติศาสตร์พอร์ตแลนด์
มีอะไรไม่ยุติธรรมอย่าเงียบ! อุ้ม สิริยากร เล่าเรื่องการประท้วง-นัดหยุดงาน ของสหภาพครูครั้งแรกในประวัติศาสตร์พอร์ตแลนด์

วันอังคารที่ 28 ผู้ว่าการรัฐออรีกอนจัดแถลงข่าวว่าปีหน้าในการประชุมสภาผู้แทนและวุฒิสมาชิกของรัฐจะนำเรื่อง Quality Education Model ขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญในการพิจารณา และต้องหาทางแก้กฎหมายให้มีเงินพอจ่ายให้ได้ แต่พวกเรายังไม่เชื่อลมปากนักการเมือง จึงมีแผนที่จะติดตามและเรียกร้องให้ทำได้จริง ๆ

ผลพลอยได้สำคัญของการประท้วงที่อุ้มเห็น คือผู้คนตื่นรู้และสนใจเรื่องนี้มากขึ้น แรงที่ลงไปไม่สูญเปล่า รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างครู นักเรียน และผู้ปกครองแน่นแฟ้นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เหมือนกับคำปลุกใจอันหนึ่งท่ีเราตะโกนบ่อยและอุ้มชอบมาก

The People United will Never be Divided!

สหภาพแรงงาน (Labor Union) คือการรวมตัวกันของคนทำงาน เพื่อตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อการทำงานของพวกเขา สหภาพแรงงานมีขึ้นเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมในที่ทำงาน และเพื่อความยุติธรรมในสังคม

ในสหรัฐอเมริกา มีสหภาพแรงงานถึง 60 แห่ง ไล่ไปตั้งแต่สหภาพนักแสดง ช่างประปา ช่างมุงหลังคา นักดับเพลิง นักบิน นักดนตรี นักกีฬา ช่างก่อสร้าง คนทำสิ่งพิมพ์ นักเขียน ช่างไฟ ครู ตำรวจ เกษตรกร ฯลฯ เรียกว่าทำอาชีพไหนก็แทบจะหาสหภาพแรงงานไปสังกัดได้ทั้งนั้น และตามสถิติบอกว่าประมาณ 11% ของคนทำงานในสหรัฐฯ มีสังกัดอยู่ในสหภาพแรงงาน คิดเป็นจำนวนถึง 14 ล้านคนทีเดียว!

มิน่าเวลาคนที่นี่จะหางาน นอกเหนือไปจากดูว่าเงินเดือนเท่าไหร่ สวัสดิการเป็นยังไงแล้ว สิ่งหนึ่งที่มักจะดูด้วย คืองานนั้น ๆ เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพแรงงานหรือเปล่า

ทำไมการเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพแรงงานจึงสำคัญนักในประเทศนี้

คำตอบคือ เพื่อให้คนทำงานได้รับการปกป้องในสิทธิต่าง ๆ ทั้งยามปกติและยามฉุกเฉินเจ็บป่วย และการเรียกร้องอะไรจากนายจ้าง ถ้ารวมตัวกันเป็นสหภาพ ย่อมมีปากมีเสียงและมีโอกาสในการได้มาซึ่งสิ่งนั้นมากกว่าไปเรียกร้องคนเดียวแน่ ๆ

Writer & Photographer

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท

อดีตนักแสดงและพิธีกร จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้ายมาเป็นพลเมืองพอร์ตแลนด์ ออริกอน ตั้งแต่ปี 2012 ปัจจุบันเป็นคุณแม่ลูกสองของน้องเมตตาและน้องอนีคา เธอยังสนุกกับงานเขียนและแปลหนังสือ รวมทั้งเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในเมืองนอกกระแสที่ชื่อพอร์ตแลนด์