โอ-ทินภัทร ภัทรเกียรติทวี คือนักเขียน ช่างภาพ นักตัดต่อวิดีโอ นักออกแบบกราฟิก และเจ้าของ ‘โพควา โปรดักชั่น’ สื่อชาติพันธุ์ที่ปัจจุบันมีผู้ติดตามกว่า 90,000 คน

ย้อนกลับไปเมื่อ 8 ปีก่อนหน้า เขาก่อตั้งเพจนี้ขึ้นมาเพียงวาบความคิดอยากสร้างพื้นที่ขายงานสำหรับลูกค้าที่สนใจผลิตสื่อสารคดี และไม่เคยคาดคิดว่ามันจะเดินทางมาไกลถึงวันนี้ เช่นเดียวกับไม่คาดฝันว่าจะมีโอกาสได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ประเภทสื่อมวลชน เมื่อปลายปีที่ผ่านมา

โพควา โปรดักชั่น สื่อชาติพันธุ์โดยชาวปกาเกอะญอที่สร้างความเข้าใจในวิถีชาวเขา

“ผมเล่าแบบนี้ ต้นไม้มีระยะในการเติบโต ต้องเผชิญกับฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว กว่าจะผลิดอกออกผล”

จะว่าไป ประโยคของโอก็ฟังดูคล้ายกับเส้นทางของ โพควา โปรดักชั่น ที่เขาบ่มเพาะด้วยน้ำพักน้ำแรง บำรุงดูแลด้วยคมความคิด และสู้ฝ่าฤดูกาลยากลำบาก ดังที่ผู้อ่านจะได้ทราบกันในอีกไม่กี่บรรทัด จนหยัดยืนเป็นสื่อสร้างสรรค์ที่คอยแบ่งปันสาระดี ๆ เกื้อกูลพี่น้องชาติพันธุ์ ควบคู่ไปกับการปลูกความรู้ความเข้าใจในวิถีให้กับเพื่อนต่างวัฒนธรรม ผ่านการถ่ายทอดเรื่องราวด้านวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และปรัชญา เพื่อสร้างมิติใหม่ของสังคมชาติพันธุ์ที่มีพลังและศักยภาพ พร้อมลบล้างมายาคติและวาทกรรมด้อยค่าชาวเขาที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน

โพควา โปรดักชั่น สื่อชาติพันธุ์โดยชาวปกาเกอะญอที่สร้างความเข้าใจในวิถีชาวเขา

โลกอีกใบ

หนึ่งในสิ่งที่ทำให้ โพควา โปรดักชั่น ต่างจากสื่อที่นำเสนอเรื่องราวชาติพันธุ์ทั่วไป คือการเป็นสื่อทางเลือกที่ผลิตโดยคนในวัฒนธรรม

โอเป็นลูกหลานปกาเกอะญอแห่งบ้านสวนอ้อย ตำบลท่าสองยาง จังหวัดตาก คลุกคลีกับความลำบากและเหลื่อมล้ำมาตั้งแต่ลืมตาดูโลก เขาเกิดที่สวนลิ้นจี่ด้วยมือหมอตำแย เพราะหมู่บ้านในหุบเขาชายแดนนั้นอยู่ไกล ไม่มีไฟฟ้าและโตมาในครอบครัวที่ต้องสู้เท่านั้นหากอยากเข้าถึงโอกาสที่ดีกว่า เช่น โอกาสทางการศึกษาที่เขาอาศัยความเพียรและเขียนขอทุนมาตลอดชั้นอนุบาลถึงปริญญาตรี

“แม่อยากให้ผมได้เรียนต่อและสนับสนุนให้เขียนขอทุน ผมจึงเขียนโดยมีคุณครูที่โรงเรียนคอยให้คำปรึกษา เขียนไปทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเรียนอะไร เพราะตอนนั้นเรามีข้อมูลอย่างจำกัด ถึงขั้นคิดว่าหมู่บ้านคือโลกทั้งใบ เนื่องจากเราไม่เคยออกไปไหน แล้วก็ไม่ได้มีความคิดว่าจะต้องทำอะไรต่อ คือมีชีวิตเพื่อตื่นมาวิ่งเล่นกับเพื่อน ๆ ในวันพรุ่งนี้แค่นั้น ไม่ได้คิดอะไรซับซ้อนเลย”

โพควา โปรดักชั่น สื่อชาติพันธุ์โดยชาวปกาเกอะญอที่สร้างความเข้าใจในวิถีชาวเขา
โพควา โปรดักชั่น สื่อชาติพันธุ์โดยชาวปกาเกอะญอที่สร้างความเข้าใจในวิถีชาวเขา

ผู้คนหลากหลาย วัฒนธรรมแตกต่าง ในวัยเปลี่ยนผ่านและชีวิตการเป็นนักศึกษามอบบทเรียนสำคัญที่ทำให้โอได้มองเห็นโลกอีกใบ เจอบาดแผลและค้นพบเส้นทางของตัวเอง

“หลังจบมัธยมปลายโรงเรียนท่าสองยางวิทยาคม ผมได้ทุนเรียนต่อที่วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นรุ่นแรกที่ส่วนใหญ่เป็นชาติพันธุ์ มีทั้งม้ง ไทใหญ่ กะเหรี่ยง แต่ถึงอย่างนั้น สังคมมหาวิทยาลัยก็ยังทำให้เรารู้สึกด้อยและเป็นอื่น

“มีอยู่ครั้งหนึ่งผมนั่งกินข้าวอยู่ในโรงอาหาร แล้วด้วยความอยากทำความรู้จักเพื่อนใหม่ก็เลยชวนคุย ตอนแรกเขาคุยกับเราดี แต่พอบอกไปว่าเป็นกะเหรี่ยง มาจากจังหวัดตาก มีคําหนึ่งที่รู้สึกว่าโดนดูถูกมาก คือเขาพูดกับเราว่า ‘ไอคนสันขวาน’ ”

สิ่งที่โอสัมผัสได้ในขณะนั้นคือความไร้มารยาท หากแต่ในวันนี้เจ้าตัวกลับรู้สึกว่าไม่ใช่ความผิดของเพื่อนคนดังกล่าว และถ้าจะต้องกล่าวโทษ คงต้องโทษโครงสร้างของระบบการศึกษาและข้อมูลจากสื่อมวลชนที่หล่อหลอมให้ในสังคมปฏิบัติต่อคนต่างวัฒนธรรมอย่างไม่เท่าเทียม

โพควา โปรดักชั่น สื่อชาติพันธุ์โดยชาวปกาเกอะญอที่สร้างความเข้าใจในวิถีชาวเขา

คนค้นตน

ในเพจ โพควา โปรดักชั่น โอพยายามหยิบยกประเด็นเหล่านี้มาพูดถึงบ่อยครั้ง เพื่ออธิบายให้ผู้คนเข้าใจถึงต้นตอของมายาคติและวาทกรรมที่ปลูกฝังความเป็นอื่นให้กับคนชาติพันธุ์

“ถ้าเราแบ่งโครงสร้างภาพลักษณ์ของชาติพันธุ์ในไทย แบ่งได้เป็น 3 ยุค ข้อมูลนี้ผมอ้างอิงจากงานวิจัยของ อาจารย์ขวัญชีวัน บัวแดง (อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ยุคแรกคือยุคจารีตที่แต่ละหัวเมืองปกครองและดูแลกันเอง ยุคที่ 2 คือยุครัฐชาติ ประมาณ พ.ศ. 2500 เริ่มเกิดการสถาปนาชาวเขาขึ้นมา พร้อมกับการสงเคราะห์เพื่อให้ความช่วยเหลือควบคู่กับค่อย ๆ ปลูกสร้างความเป็นอื่น ซึ่งมาพร้อมกับวาทกรรมว่า ชาวเขาเป็นกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมล้าหลัง ทำลายป่า ไม่มีการศึกษา หรือต่าง ๆ นานา ที่เป็นไปในเชิงด้อยค่า สร้างตัวตนของคนชาติพันธุ์ให้สังคมรู้สึกว่าต่ำและต่าง เป็นคนอีกชนชั้นของสังคม กระทั่งเป็นภัยต่อความมั่นคง ดังนั้นจึงเกิดความชอบธรรมที่จะต้องปฏิบัติและออกนโยบายเพื่อควบคุมจัดการ

“ตั้งแต่ยุค พ.ศ. 2530 เป็นต้นมาคือยุคที่ 3 เป็นยุคที่คนชาติพันธุ์เริ่มลุกขึ้นมานิยามตัวเองว่าฉันคือใคร ยกตัวอย่าง นักเขียนปกาเกอะญอ พ้อเลป่า หรือวงดนตรี ‘วัชพืชหลังเขา’ และอีกมากมายที่ใช้พื้นที่สร้างอัตลักษณ์ตัวเอง ซึ่งก็ไม่ง่ายที่จะลบล้างแนวคิดเดิมที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน ฉะนั้น เราจึงเห็นการเคลื่อนไหวเพื่อต่อรอง และบางครั้งก็ต่อสู้”

โพควา โปรดักชั่น สื่อชาติพันธุ์โดยชาวปกาเกอะญอที่สร้างความเข้าใจในวิถีชาวเขา
โพควา โปรดักชั่น สื่อชาติพันธุ์โดยชาวปกาเกอะญอที่สร้างความเข้าใจในวิถีชาวเขา

การเรียนในสาขาการจัดการภูมิวัฒนธรรมทำให้เขาได้พบกับ อาจารย์ชิ-ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปิน World Music ระดับนานาชาติและอาจารย์ปกาเกอะญอคนแรกของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ผู้บันดาลใจให้โอเห็นว่า คนชาติพันธุ์ก็มีพื้นที่และโอกาส ตลอดจนผลักดันให้โอเรียนรู้เรื่องสื่อและศึกษาวัฒนธรรมของตนเอง

“อาจารย์ชิเป็นจุดเปลี่ยนให้ผมเห็นว่าคนชาติพันธุ์ก็ไปได้ไกล ประกอบกับได้ติดตามอาจารย์ไปร่วมงานเชิงวัฒนธรรมบ่อย ๆ เลยเข้าใจวัฒนธรรมและความเป็นชาติพันธุ์มากขึ้น ดังนั้น ช่วงปี 3 ผมจึงเริ่มค้นหารากเหง้าของตัวเองว่าจริง ๆ แล้วเราคือใคร เผ่าพันธุ์เรามาจากไหน มีอะไรดีบ้าง พอสืบค้นไปเรื่อย ๆ ก็เจอมุมที่เป็นศักยภาพ โดยเฉพาะมิติทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เผ่าพันธุ์ของเรามีวิถีภูมิปัญญาและประเพณีซึ่งเอื้อต่อระบบนิเวศมากมาย แต่สิ่งเหล่านี้ทำไมคนอื่นมองไม่เห็น แม้กระทั่งเราเองทำไมเพิ่งจะมาเห็น เกิดอะไรขึ้นกับองค์ความรู้เหล่านี้ หรือจริง ๆ แล้วมันไม่เป็นความรู้สำหรับสังคม”

คำถามที่เกิดขึ้นในใจกลายเป็นเงื่อนปมที่ทำให้เขาหมกมุ่นค้นคว้าเกี่ยวกับชาติพันธุ์อย่างจริงจังด้วยความสนใจและความเชื่อมั่นว่าจะคลี่คลายและไปรอดได้บนเส้นทางสายนี้

โพควา โปรดักชั่น สื่อชาติพันธุ์โดยชาวปกาเกอะญอที่สร้างความเข้าใจในวิถีชาวเขา

มรดกตกยุค

ถ้าจบมัธยมปลายแล้วไม่ได้ทุนเรียนต่อ คิดว่าตอนนี้ตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ – ผมถาม

“น่าจะเป็นหัวหน้าเด็กปั๊มสักที่ พ่อผมเชียร์มากว่าน่าจะไปทํางานแบบที่ได้เงินง่าย แล้วเรื่องอาชีพเราก็ยังมองไม่เห็นสักเท่าไหร่ เด็กปั๊มน่าจะเข้าท่าที่สุดแล้ว”

โอตอบด้วยน้ำเสียงขื่นขำ พลางย้อนวันวานให้ฟังว่า ในชุมชนที่เขาอาศัย อาชีพเด็กปั๊มเป็นอีกอาชีพยอดนิยมของวัยรุ่นสร้างตัวยุคก่อน เพราะนอกจากเห็นรายได้เป็นชิ้นเป็นอัน การได้เข้าไปใช้ชีวิตท่ามกลางแสงสีแล้วกลับมาบ้านพร้อมสไตล์การแต่งตัวที่แตกต่าง ยังดูเท่ในสายตาของคนรุ่นราวคราวเดียวกัน กระนั้นก็มีบางอย่างน่าเศร้า คือการที่บางคนเลือกรับเอาค่านิยมใหม่มาเย้ยหยันพวกกันเอง

“มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งเขียนไว้ว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2530 กลุ่มคนบนดอยทยอยลงมาสู่เมือง ออกจากบริบทนิเวศวัฒนธรรมเดิมมาสู่วัฒนธรรมใหม่ พร้อมรับเอาค่านิยมใหม่เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในสังคมนั้น ๆ เช่น ค่านิยมของการเป็นคนเมือง ค่านิยมของการเป็นคนไทย ดังนั้น ปัญหาเรื่องความเป็นอื่นจึงมีส่วนจากคนในวัฒนธรรมที่ด้อยค่ากันเองด้วย เช่น การล้อเลียนว่าพูดไทยไม่ชัด กระทั่งดูถูกว่าเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ทำลายป่า

สำหรับผมมองว่าพวกเขาไม่ได้มีส่วนผิดไปเสียทีเดียว เพราะสิ่งเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นด้วยระบบการศึกษาและสิ่งแวดล้อมที่ทําให้คน ๆ หนึ่งสร้างความเป็นตัวตนขึ้นมาในบริบทสังคมใหม่อย่างขาดการเชื่อมโยง เมื่อตัวเขาก็ต้องการหาพื้นที่การยอมรับทางสังคมและเข้าสู่อํานาจร่วมกับเพื่อนเด็กปั๊มคนอื่น มันจึงดูดกลืนและก่อความรู้สึกว่าฉันคือผู้ที่เหนือกว่า ดีกว่า แล้วแนวคิดดังกล่าวก็แพร่กระจายไปในหมู่บ้าน ทำให้เกิดการเดินตามรอย”

โอสรุปว่าสิ่งที่คนชาติพันธุ์เผชิญอยู่ ณ ปัจจุบันเป็นมรดกจากยุค 2500 หรือยุคสงครามเย็นที่ส่งต่อกันมา นั่นเป็นเหตุให้เขามีความตั้งใจว่า อยากใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการส่งต่ออุดมการณ์ทางความคิดพร้อมนำเสนอความจริงเพื่อสลายมายาคติที่สร้างความเข้าใจผิดและความเหลื่อมล้ำ

ทินภัทร ภัทรเกียรติทวี กับ โพควา โปรดักชั่น สื่อชาติพันธุ์รุ่นใหม่รางวัลลูกโลกสีเขียวที่สร้างความเข้าใจวิถีชาวเขา
ทินภัทร ภัทรเกียรติทวี กับ โพควา โปรดักชั่น สื่อชาติพันธุ์รุ่นใหม่รางวัลลูกโลกสีเขียวที่สร้างความเข้าใจวิถีชาวเขา

ลูกชาย

ความหวัง ความรู้ และเครื่องมือ 3 สิ่งนี้ถูกนำมาหลอมรวม ขัดเกลา และดึงศักยภาพในการอบรมเครือข่ายสื่อชนเผ่าพื้นเมือง (Indigenous Media Network : IMN) จัดโดย Thai PBS อันเปรียบเป็นประตูบานแรกที่เปิดประสบการณ์การทำงานด้านสื่อสารมวลชนของโอ

“หลังเสร็จกระบวนการฝึกอบรม เราได้ทำงานเป็นนักข่าวพลเมืองอยู่ 1 ปี พอทาง Thai PBS เห็นว่าเราน่าจะมีศักยภาพเขาจึงชวนไปทํารายการ ที่นี่บ้านเรา จากนั้นก็ร่วมงานกันยาวทั้งรายการ The North องศาเหนือ และ Localist ชีวิตนอกกรุง

ควบคู่กัน โอตัดสินใจเปิดเพจเฟซบุ๊กเพื่อเป็นช่องทางรับงานสารคดีเพิ่มเติม กอปรกับเวลานั้นการผลิตสื่อให้รายการ ที่นี่บ้านเรา จำเป็นต้องตั้งชื่อนามปากกา ก่อนจะได้เป็น ‘โพควา’ คำที่แม่มักเรียกแทนตัวเขาในภาษาปกาเกอะญอ อันหมายความว่า ‘ลูกชาย’

“รับจ้างทําสารคดีอยู่ 3 – 4 ปี ประเด็นส่วนมากก็คลุกคลีอยู่กับกลุ่มชาติพันธุ์ เราจึงเห็นโอกาสว่าน่าจะนำเรื่องราวที่น่าสนใจและไม่ได้ใช้งานมาเล่านอกเฟรมผ่านเพจ”

โอบอกว่าเขาเริ่มเรียนรู้วิธีการนำเสนอข้อมูลจากสื่อและสำนักข่าวออนไลน์ต่าง ๆ ทั้งดูรูปแบบการเขียน จัดวางกราฟิก ก่อนลงมือทดลองทำสารพัด กระทั่งมีช่วงหนึ่งที่ต้องเขียนบททบทวนวรรณกรรมสำหรับทำวิจัยปริญญาโท เขาก็ผุดไอเดียคัดข้อมูลที่ชอบมาเรียบเรียงเล่าบอก ผลปรากฏว่ามีคนชื่นชอบและแชร์ล้นหลาม พลันทำให้ได้ข้อสรุปว่าต้องเดินหน้าต่อ

ทินภัทร ภัทรเกียรติทวี กับ โพควา โปรดักชั่น สื่อชาติพันธุ์รุ่นใหม่รางวัลลูกโลกสีเขียวที่สร้างความเข้าใจวิถีชาวเขา

สื่อพลังบวก

เมื่อคลำจนเจอทางที่ใช่ โอก็ตั้งต้นวางแนวทางการปล่อยเนื้อหา โดยประเด็นแรกที่เขาบรรจงหยิบมาคือเรื่องประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์

“เรามาจากไหน เราคือใครกันแน่ ทําไมบางคนถึงดูถูกเรา ทําไมเขาจึงมองเราอย่างนั้น ผมพยายามศึกษาทําความเข้าใจแล้วอธิบายคำตอบ ซึ่งก็พบว่ามีเพื่อน ๆ หลายคนที่สงสัยและอยากรู้อยู่เหมือนกัน รวมทั้งยังมีเป้าหมายเพื่อให้คนในวัฒนธรรมได้เข้าใจในตัวตน เล็งเห็นศักยภาพและเกิดความภูมิใจในตัวเองด้วย”

ประเด็นเรื่องภูมิปัญญาการทำไร่หมุนเวียนเป็นอีกประเด็นเด่นที่ โพควา โปรดักชั่น นำเสนอออกมาได้อย่างเข้าถึงและเข้าใจ โดยโอเล่าให้ฟังว่าเขาทุ่มเทเดินทางเข้าไปทำงานในหลากหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นอำเภอกัลยาณิวัฒนา บ้านขุนแม่รวม บ้านสบลาน จังหวัดเชียงใหม่ หรือบ้านดอยช้างป่าแป๋ จังหวัดลำพูน เพื่อศึกษากระบวนการทำไร่หมุนเวียนจากผู้รู้และปราชญ์ชาวบ้าน ก่อนรวบรวมองค์ความรู้และประสบการณ์จริงมาถ่ายทอด พร้อมชำแหละวาทกรรมชาวเขาทำลายป่าผ่านกรอบความคิดทางมานุษยวิทยา กรอบทางเศรษฐกิจ ตลอดจนมุมมองด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม

“จริง ๆ ไม่ได้มีแค่เราที่สื่อสารประเด็นเหล่านี้ แต่ว่าในส่วนของ โพควา โปรดักชั่น ผมมองว่ามันน่าจะก่อผลกระทบอยู่ 3 ระดับ หนึ่ง คือทำให้กลุ่มคนในวัฒนธรรมเข้าใจว่าวิถีแบบดั้งเดิมนั้นสอดคล้องกับภูมิปัญญาและระบบนิเวศ ซึ่งไม่ได้จะบอกว่าเขาต้องกลับมาทํานะ เพียงแต่ต้องการให้เขามองอย่างเข้าใจว่าไร่หมุนเวียนไม่ใช่การทำลายป่า และตรงกันข้ามกับไร่เลื่อนลอย

ทินภัทร ภัทรเกียรติทวี กับ โพควา โปรดักชั่น สื่อชาติพันธุ์รุ่นใหม่รางวัลลูกโลกสีเขียวที่สร้างความเข้าใจวิถีชาวเขา

“สอง คือสังคมเริ่มมีการพูดถึงไร่หมุนเวียนมากขึ้น คือใช้ในแบบที่เข้าใจหรือพยายามจะเข้าใจมัน ซึ่งอย่างหลังมีทั้งกลุ่มนักศึกษา นักวิชาการ อินฟลูเอนเซอร์ อาทิ Pigkaploy และ เฉียง ไปอยู่ไหนมา ติดต่อมาเรียนรู้ร่วมกัน สุดท้าย คือการที่เราได้รับเชิญให้ไปแลกเปลี่ยนและเสนอความคิดเห็นกับกลุ่มคนที่ทํางานเชิงนโยบายด้วย”

หรืออย่างในกรณีไฟป่า พ.ศ. 2563 โพควา โปรดักชั่น ก็อาสารับหน้าที่อัปเดตสถานการณ์ พร้อมกระจายข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่พี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์

“ช่วงที่เกิดเหตุการณ์ไฟป่า มีคนส่งข้อมูลมาทางเพจเยอะมาก ช่วงนั้นเราเลยมีกระบวนการทำงานเพิ่มเติมเข้ามา คือการโทรเช็กข้อมูลความถูกต้องจากพื้นที่ต่าง ๆ เพราะอยากทำให้การสื่อสารมีมาตรฐาน มีคุณธรรมและจริยธรรม แล้วทุกครั้งที่จะเขียนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ผมจะระบุแหล่งอ้างอิงเสมอ”

ไม่เพียงเท่านั้น โอเสริมว่าหัวใจหลักของ โพควา โปรดักชั่น คือการผลิตสื่อเชิงสร้างสรรค์ที่จะช่วยขับเคลื่อนสังคมด้วยพลังบวก รวมถึงนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และปรัชญา ภายใต้ร่มชาติพันธุ์ เพื่อสร้างมิติใหม่ของสังคมชาติพันธุ์ให้ทุกคนได้มองเห็นว่า แท้จริงแล้วเราล้วนมีศักยภาพไม่ต่างกันตามแต่ภูมิวัฒนธรรมและภูมิสังคม

ทินภัทร ภัทรเกียรติทวี กับ โพควา โปรดักชั่น สื่อชาติพันธุ์รุ่นใหม่รางวัลลูกโลกสีเขียวที่สร้างความเข้าใจวิถีชาวเขา

ตามจังหวะตัวเอง

นอกจากสร้างพื้นที่และตัวตนให้คนชาติพันธุ์บนโลกออนไลน์ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โพควา โปรดักชั่น ยังจัดกิจกรรม ‘พื้นที่ โอกาส และความท้าทาย การสร้างเศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรม จากมุมมองหนุ่มสาวชาวปกาเกอะญอรุ่นใหม่’ เปิดพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างชุมชนคนชาติพันธุ์รุ่นใหม่เพื่อเสริมศักยภาพซึ่งกันและกัน

ตลอดเส้นทาง 8 ปี ต้นไม้ต้นนี้ของโอผลิดอกออกผลสวยงงาม โดยหนึ่งในนั้นคือรางวัลการันตีคุณภาพ อย่างรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 21 ประเภทสื่อมวลชน

“เราไม่เคยมีความคิดในหัวเลยนะว่าจะได้รับรางวัลนี้ แต่พอดีมีผู้ประสานงานโทรมาบอกว่าทางผู้ทรงคุณวุฒิติดตามเพจแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์ เลยอยากมอบรางวัลให้ตามเกณฑ์คณะกรรมการสรรหา” โอเล่าพลางยิ้มด้วยความภาคภูมิใจ

“เราไม่ได้คาดหวังว่าเพจจะเดินทางมาไกลขนาดนี้ เราเพียงแค่อยากทำเพราะอยากทำ สำหรับการได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวเปรียบเหมือนสัญลักษณ์ของการให้กําลังใจ และตอกย้ำว่าสื่อชาติพันธุ์นั้นเป็นไปได้และมีโอกาส เพียงเดินตามจังหวะของตัวเองและทํางานด้วยความตั้งใจ ถึงแม้จะบอกว่าไม่เคยหวัง แต่เราก็มีความเชื่อเล็ก ๆ นะว่าถ้าได้ทําในสิ่งที่รัก สักวันหนึ่งมันจะงอกงามเมื่อถึงเวลา”

ทินภัทร ภัทรเกียรติทวี กับ โพควา โปรดักชั่น สื่อชาติพันธุ์รุ่นใหม่รางวัลลูกโลกสีเขียวที่สร้างความเข้าใจวิถีชาวเขา

Facebook Page : โพควา โปรดักชั่น

Writer

Avatar

คุณากร

เป็นคนอ่านช้าที่อาศัยครูพักลักจำ จับพลัดจับผลูจนกลายมาเป็นคนเขียนช้า ที่อยากแบ่งปันเรื่องราวบันดาลใจให้อ่านกันช้าๆ เวลาว่างชอบวิ่งแต่ไม่ชอบแข่งขัน มีเจ้านายเป็นแมวโกญจาที่ชอบคลุกทราย นอนหงาย และกินได้ทั้งวัน

Photographer

Avatar

ศรีภูมิ สาส่งเสริม

ช่างภาพเชียงใหม่ ชอบอยู่ในป่า มีเพื่อนเป็นช้าง และชาวเขาชาวดอย