The Cloud x ไทยประกันชีวิต
แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต จากพลังเล็กๆ สู่การสร้างคุณค่าที่ยิ่งใหญ่ให้โลกใบนี้
ปัญหาระดับชาติที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันในสังคมตอนนี้คือ ปัญหาขยะพลาสติก ภาพของมาเรียม-ลูกพะยูนน้อย เต่าทะเล วาฬบรูด้า ที่ต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้าจากการเผลอไปกินขยะพลาสติก ด้วยความเข้าใจว่านั่นคือสาหร่ายและแพลงก์ตอน อาหารของพวกมัน
ล่าสุด มีการพบแพขยะพลาสติกยาวกว่า 10 กิโลเมตร ในทะเลนอกเขตชายฝั่งจังหวัดชุมพร แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์สัตว์ทะเลเสี่ยงสูญพันธุ์และปัญหาขยะพลาสติกที่อยู่ในขั้นวิกฤต
วิธีจัดการขยะพลาสติกมีหลายวิธี ที่แพร่หลายที่สุดคือการฝังกลบเพื่อรอให้มันย่อยสลายไปเอง ซึ่งต้องใช้เวลานับร้อยปี แถมกว่าจะถึงวันที่มันย่อยสลาย สภาพแวดล้อมโดยรอบก็ถูกทำลายไปด้วย ถ้าเช่นนั้น ยังมีวิธีการใดอีกบ้างที่จะช่วยร่นระยะเวลาย่อยสลายของขยะพลาสติก และในขณะเดียวกันก็ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
เรารู้สึกตื่นเต้น! เมื่อได้ยินใครสักคนบอกว่าตอนนี้มีชายคนหนึ่งผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติกที่เหลือใช้ได้แล้ว
‘น้ำมันจากขยะพลาสติก’ เราได้ยินไม่ผิดแน่ๆ
ประโยคต่อมาที่เดินทางเข้าหู คือชายคนนี้พยายามสื่อสารกับผู้คนมา 7 ปี ว่าขอเพียงส่งขยะพลาสติกที่ไม่มีค่าไปให้เขาเถอะ เพราะสำหรับเขา นี่คือวัตถุดิบชั้นดีในการผลิตน้ำมัน Pyrolysis และน้ำมันที่ได้จะถูกแบ่งไปเผาศพไร้ญาติในวัดต่างๆ ของจังหวัดด้วย
รู้แค่นี้เราก็ตาลุกวาว อยากลุกจากเก้าอี้นั่งทำงานไปนั่งคุยกับเขาให้รู้เรื่องรู้ราวเสียเดี๋ยวนี้ เพราะเหมือนได้เห็นทางออกของถุงพลาสติกที่ตั้งอยู่ตรงหน้า ครั้นจะเอาไปทิ้งเฉยๆ ก็ทำไม่ลง พอจะเก็บไว้ขาย ร้านรับซื้อขยะแถวบ้านก็แทบจะส่ายหัว เพราะต้นทุนการขนส่งมักไม่คุ้มกับราคาที่ได้
จนถึงช่วงสุดสัปดาห์ เราตัดสินใจเดินทางไปที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ท่ามะขาม จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อไปคุยกับ เอก-ยุทธการ มากพันธุ์ ให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในสิ่งที่เขากำลังทำอยู่
สำหรับเขา ขยะพลาสติกเป็นเพียงวัตถุดิบที่รอการแปรรูป ไม่ใช่สิ่งที่ควรถูกทิ้งอีกต่อไป
ถุงพลาสติก แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก และอีกนานาพลาสติก ถูกส่งมาให้เขาทุกวัน เพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันทางเลือก ผ่านกระบวนการ Pyrolysis ที่ใช้ความร้อนทำลายห่วงโซ่โมเลกุลของพลาสติกให้สั้นลง จนคล้ายกับห่วงโซ่โมเลกุลของน้ำมันที่เราใช้เติมรถ
ขออธิบายเพียงเท่านี้ก่อน เพราะสิ่งที่เจ๋งกว่านั้นคือเรื่องราวที่คุณกำลังจะได้อ่านดังต่อไปนี้
01
งานที่มาจากแพสชันด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม
เอกเล่าว่า เขาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เด็กมาจากแม่ แม่ของเขาทำงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเผยแผ่แนวคิดเกษตรผสมผสานที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ท่ามะขาม จังหวัดกาญจนบุรี มาเป็นระยะเวลาหลายปี เมื่อเติบโตขึ้น เขาก็เริ่มสนใจเรื่องการทำพลังงานสะอาด เลยศึกษามันอย่างจริงจัง
ก่อนหน้านี้ เอกเคยทำงานเป็นลูกจ้างของโรงแรมและเป็นคนเริ่มทำไอเดีย Zero Waste ของโรงแรมคำแสด ริเวอร์แคว รีสอร์ท สร้างระบบแยกขยะที่จริงจังและมีประสิทธิภาพมาก เขาทำงานอยู่ที่นี่มานานสิบกว่าปี จนเปลี่ยนมาทำพลังงาน Pyrolysis ตามความสนใจของตัวเองที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ท่ามะขาม
เขาทำมันอย่างจริงจังมากขึ้นเรื่อยๆ จวบจนวันนี้ก็รวมเวลาได้ 7 ปีแล้ว
“การทำ Zero Waste มันต้องหาคำตอบเรื่องของขยะ พลาสติกจะไปไหน จะเอาไปทำอะไรต่อ มันเป็นปัญหาพลาสติก แล้วการแยกขยะมันเป็นค่าใช้จ่ายทั้งนั้นเลย เราก็เลยคิดสร้างธุรกิจที่ใช้ขยะมาทำ มันก็ช่วยสิ่งแวดล้อมได้ด้วยและเป็นอาชีพได้ด้วย” เขาเล่าถึงที่มา ก่อนจะเป็นโรงงานผลิตน้ำมันจากพลาสติกในวันนี้
เอกมาที่ศูนย์กสิกรรมแห่งนี้พร้อมกับไอเดียที่พุ่งพล่าน เขาเล่าความคิดทุกย่างให้ผู้เป็นแม่ฟัง ด้วยความตั้งใจว่าอยากมอบแนวคิดการกำจัดขยะและการทำพลังงานทางเลือกจากพลาสติกให้ผู้คนในวงกว้าง เขาไม่อยากให้ที่นี่เป็นแค่ศูนย์การเรียนรู้เกษตร แต่อยากให้เป็นสถานที่ที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย
สิ่งที่ชายคนนี้มีคือพื้นที่ 16 ไร่ และความได้เปรียบในความหลากหลายของทรัพยากร
ที่นี่มีน้ำใช้ตลอดปี มีแสงแดดเพียงพอ มีดินที่เต็มไปด้วยแร่ธาตุ และมีต้นไม้หลายพันธุ์ที่เขียวขจี
4 อย่างที่ว่ามานี้หมายถึงความอุดมสมบูรณ์
เอกนำจุดแข็งเหล่านี้มาต่อยอด อย่างแรก เขาแบ่งผืนดินไว้สำหรับปลูกพืชเพื่อเลี้ยงปากท้อง ส่วนที่สองคือ เอาดินไปทำผลิตภัณฑ์เซรามิก โดยใช้น้ำมัน Pyrolysis ในการเผา และสาม เขาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการสูบน้ำมาผลิตน้ำแข็งคุณภาพดีส่งขายในพื้นที่ใกล้เคียง
“เราคิดว่าถ้าทำอาชีพเดียวเราไม่รอดแน่ เลยพยายามผสมผสานจากสิ่งที่มี เรามีงานเกษตร เรามีพลังงาน ตอนนั้นเราก็เริ่มไปสูบน้ำ แบ่งน้ำไว้ทำงานเกษตร 80 เปอร์เซ็นต์ แล้วอีก 20 เปอร์เซ็นต์ ก็เอาไปทำน้ำแข็งคุณภาพดี เพราะคนชอบกินน้ำแข็ง ยังไงก็ขายได้
“ต่อมาเราเริ่มเอาพลาสติกมาทำเป็นน้ำมัน พอได้น้ำมันมาก็ลองเอาไปเติมรถ ปรากฏว่าไม่เวิร์ก เราไปศึกษาตลาดน้ำมันแล้วพบว่าเขาขายน้ำมันได้กำไรในหน่วยสตางค์ แต่เน้นปริมาณหลายๆ ล้านลิตร ถ้าเราจะสร้างโรงผลิตน้ำมัน ต้องใช้ขยะมหาศาลเลยเพื่อจะได้กำไร เรามองว่ามันไม่ตอบโจทย์ชีวิต มันไม่คุ้มถ้าจะไปทิศทางนั้น
“เราเอาน้ำมันไปทำผลิตภัณฑ์อื่นดีกว่า มันเผาไฟติดใช่ไหม งั้นเอามาทำงานดิน งานเซรามิก สร้างคุณค่าให้งานเซรามิกของเราเป็นสินค้าที่ช่วยดูแลโลกและรักษาสิ่งแวดล้อม เพราะมันช่วยลดขยะพลาสติก ต่อมาคือเราอยากเอาน้ำมันที่ได้มาให้เป็นประโยชน์แก่ชุมชนด้วย คืนประโยชน์สู่ชุมชนโดยการเอาไปเผาศพไร้ญาติ สิ่งที่เราทำออกมาทั้งหมดจึงไม่มีวันขายไม่ออก” เอกเล่า
ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ท่ามะขาม ในวันนี้เต็มไปด้วยผู้มาเยี่ยมเยือนจากต่างถิ่น ที่นี่มีพื้นที่ตั้งโต๊ะขายสินค้าจากชาวบ้านในชุมชน ส่วนอีกฟากหนึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารออฟฟิศและโรงงาน ประกอบไปด้วยแผนกผัก แผนกน้ำแข็ง แผนกดิน แผนกเซรามิก และแผนกน้ำมัน เราสังเกตได้ว่าลูกทีมของเขากำลังทำงานกันอย่างขะมักเขม้น
02
อบพลาสติกให้กลายเป็นน้ำมัน
“น้ำมัน Pyrolysis มาจากคำว่า Pyro ที่แปลว่า ไฟ และ Hydrolysis แปลว่า น้ำ มันคือการอบพลาสติกให้กลายเป็นน้ำมัน Pyrolysis” เอกพูดขณะที่เขากำลังพาเราเดินเข้ามาในห้องผลิตน้ำมัน
“เวลาเราทำน้ำมัน เราต้องเอาความร้อนออกเพื่อให้มันแข็งตัว แล้วเราจะเอาความร้อนคืนให้เกิดเป็นปฏิกิริยาคืนกลับกลายเป็นน้ำมันเหมือนเดิม หลักการธรรมชาติคือคุณเอาอะไรออก คุณก็เอาสิ่งนั้นใส่กลับเข้าไป สสารมันเปลี่ยนรูป สังเกตดูสิ เวลาพลาสติกโดนความร้อนมันจะค่อยๆ ละลาย เวลาเผาไหม้มันจะเป็นพิษ มีออกซิเจน มีไดออกซิน เนื่องจากความร้อนการเผาไม่เพียงพอ การเผาที่ไม่มีมลพิษได้ต้องเผาที่ 1,200 องศาขึ้น สารประกอบจะไม่หลงเหลือเลย”
อธิบายเพิ่มเติมอย่างง่ายได้ว่า Pyrolysis คือการกำจัดขยะพลาสติกด้วยการเผาที่อุณหภูมิสูงมาก จนเป็นการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ในภาวะไร้อากาศ และได้เป็นน้ำมันดิบที่เป็นพลังงานทดแทนที่มีประสิทธิภาพสูง ส่วนถ่านที่เหลือจากกระบวนการก็จะถูกนำไปใช้เป็นแก๊สผลิตไฟฟ้าต่อไป
ห้องผลิตน้ำมันแห่งนี้ขนาดไม่ใหญ่มาก เป็นอาคารชั้นเดียวที่ล้อมด้วยกระจกใส แบ่งเป็นโซนทำงาน มีจอมอนิเตอร์ครบวงจร และเครื่องปฏิกรณ์ขนาดใหญ่กลางห้อง ห้องผลิตน้ำมันแห่งนี้มีหน้าตาเหมือนร้านคาเฟ่เล็กๆ มากกว่าโรงงานทั่วไปที่มักจะอึดอัด
“พลาสติกในชีวิตประจำวันเป็นพลาสติกชั้นดีทั้งหมด เพราะการทำแพ็กเกจจิ้งพลาสติกต้องไม่มีพิษ พลาสติกที่เป็น Food Grade เป็นของดี ถ้าเราเอาไปทำดีๆ มันก็จะเป็นของดีต่อไป แต่ถ้าเราทิ้งปนกับเศษอาหารมันก็จะเป็นของเน่ากำจัดยาก เพราะงั้นต้องคิดใหม่ว่าจริงๆ แล้วขยะพลาสติกมันเป็น Input ” เขาอธิบายวิธีคิดที่อยากใช้ขยะพลาสติกให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“เราเชื่อว่าถ้าเราเปลี่ยนวิธีกำจัดขยะใหม่ ผลลัพธ์ที่ได้ก็ต้องใหม่ด้วย ถ้าใช้วิธีเดิม ขยะก็ไปอยู่ที่กองขยะเทศบาลเหมือนเดิม ซึ่งมันแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะเคยมีคนแก้มาหลายครั้งแล้วและใช้เงินหลายๆ พันล้านในการแก้ ถ้ามันจะสำเร็จมันคงสำเร็จไปนานแล้ว เราเลยลองเปลี่ยนใหม่ให้การกำจัดขยะเป็นวิถี Business
“ประเทศเราลงทุนกับบ่อขยะเป็นหลักร้อยล้านบาทขึ้นไป แล้วคนงานในบ่อขยะก็เป็นพม่าหรือชาวบ้านที่ไม่มีทักษะอะไร อย่างดีก็เก็บขวดในกองขยะแล้วเอาไปขาย ที่เหลือก็ปล่อยทิ้งให้เน่าในกอง จริงๆ การดูแลขยะมันต้องการคนที่มีความสามารถมาทำ เราเลยจ้างเด็กจบ ปวช. หรือ ปวส. มาทำงาน เราทำโรงงานใหม่ ติดแอร์ สร้างให้คล้ายร้านกาแฟเล็กๆ บรรยากาศจะได้ดี เราต้องสร้างอาคารสถานที่ให้เหมาะกับคนทำงาน เพราะเนื้องานมันจริงจังมาก
“เราจึงพยายามบอกคนว่า ถ้าคุณมีขยะพลาสติก ส่งมาให้ผมเถอะ ดีกว่าทิ้งลงในกองขยะ ซึ่งเราอยากได้ผลลัพธ์ที่ต่างออกไป ตอนนี้ก็เริ่มไปร่วมมือกับองค์กรต่างๆ ให้เขาช่วยกันล้างทำความสะอาดพลาสติก ตากให้แห้ง แล้วส่งพลาสติกกลับมา นี่เป็นอาชีพหนึ่งที่เราอยากทำ เพราะตัวเองได้ประโยชน์และโลกก็ได้ประโยชน์ด้วย”
กำลังการผลิตของคนและเครื่องจักรของโรงงานแห่งนี้ในปัจจุบันทำลายถุงพลาสติกได้ 100 กิโลกรัม ในเวลาเพียง 8 ชั่วโมง และการผลิตแก้วเซรามิก 1 ใบ ก็จะใช้เชื้อเพลิงที่มาจากถุงพลาสติกประมาณ 3,000 ถุง
หมายความว่า ถ้ามีคนซื้อแก้วเซรามิกจากที่นี่สามร้อยกว่าใบ ก็จะมีถุงพลาสติกถูกกำจัดไปกว่า 1,000,000 ถุง
เยอะมากเลยทีเดียว
03
น้ำมัน Pyrolysis เผาศพไร้ญาติ
น้ำมัน Pyrolysis ที่ผลิตได้จากศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ ท่ามะขาม ส่วนหนึ่งจะถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงเผาศพไร้ญาติในวัดใกล้เคียง เอกกำลังทำโปรเจกต์นี้ร่วมกับวัดในจังหวัด
ทุกๆ เช้าพระสงฆ์จะร่วมบิณฑบาตขยะพลาสติกจากชาวบ้านมาให้ เป็นวิธีสร้างค่านิยมรักษ์โลกที่แสนจะน่ารักของคนในชุมชน โดยมีพระสงฆ์ที่ลุงป้าตายายเคารพนับถือเป็นตัวกลางในการสื่อสารสิ่งเหล่านี้ ชาวบ้านก็ได้ทำบุญด้วย ได้ดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย และวัดก็ได้เชื้อเพลิงไว้เผาศพไร้ญาติด้วย เป็นการลดขยะพลาสติกในชุมชนและลดต้นทุนของวัด มองทางไหนก็มีแต่คนได้ประโยชน์
“เวลาพระท่านรับบิณฑบาต ก็จะถามว่า โยมไม่มีขยะมาหน่อยเหรอ พระท่านก็เป็นสะพานรับมาให้ คนแก่ๆ ก็ได้เข้าใจเรื่องขยะพลาสติกด้วย เพราะพระท่านเข้าถึงคนกลุ่มนี้ แล้วทุกคนก็มีส่วนช่วยศพคนไร้ญาติจริงๆ ปกติเวลาเผาศพจะใช้น้ำมันดีเซลเผา ซึ่งแพงมาก แทนที่จะได้เอาไปใช้ในเชิงเศรษฐกิจ กลายเป็นเผาดีเซลทิ้ง มันเสียประโยชน์
“ขยะที่มีปัญหาสุดคือขยะจากครัวเรือน เพราะขยะอุตสาหกรรมเขาทำลายของเขาอยู่แล้ว เราเลยคิดว่าถ้าเราแก้ปัญหาขยะของชาวบ้าน เราต้องแก้ให้ตรงจุด เลยใช้บุญเข้ามาช่วย”
ด้านข้างอาคารออฟฟิศในวันนี้เต็มไปด้วยถุงพลาสติกหลากหลายขนาด ตากเรียงรายผึ่งแดดอยู่เป็นร้อยๆ ใบ แถมยังมีกล่องพัสดุที่ผู้คนส่งขยะพลาสติก (ที่สะอาดแล้ว) มาให้เขาอีกนับไม่ถ้วน
แม้จำนวนพลาสติกที่ถูกส่งมาจะมีสัดส่วนน้อยกว่าพลาสติกที่ถูกทิ้งอย่างไร้ค่า แต่เราก็เชื่อว่าการขยับเรื่องขยะพลาสติกด้วยก้าวเล็กๆ จะค่อยๆ สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ขึ้นได้ในที่สุด
อย่างน้อย เราก็ได้เห็นภาพชาวบ้านที่นี่ช่วยกันเก็บขยะพลาสติกไว้ทำน้ำมันเผาศพไร้ญาติ และตอนนี้เขากำลังร่วมมือกับเทศบาลท่ามะขามทำโครงการแยกขยะแล้วด้วย
“ขยะอะไรที่ขายได้คุณก็ขายไปเลย อันไหนขายไม่ได้ให้ส่งมาที่นี่ มันมีพลาสติกหลายประเภทที่ขายไม่ได้ พวกพลาสติกกรอบที่จำนวนไม่มากพอร้านก็ไม่เอา เรารับทุกพลาสติกเลยยกเว้น PVC เราคิดว่ามันเป็นการแบ่งเบาภาระการกำจัดขยะกัน ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ขยะมันก็จะถูกทิ้งเละไปหมด
“เราเป็นที่แรกที่คนไทยจะส่งขยะพลาสติกมา ถ้าองค์กรเราทำสำเร็จ นั่นหมายความว่าต่อไปจะมีคนทำตาม คนก็ไม่ต้องส่งมาที่นี่แล้ว ไปส่งให้ที่ใกล้ๆ พวกคุณแทนก็ได้” เอกพูดถึงผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงที่เขาอยากเห็นในท้ายที่สุด
04
ผสานเทคโนโลยีกับความคราฟต์
นอกเหนือจากสิ่งที่เขากำลังทำ ชีวิตที่ผ่านมาของเขาก็น่าสนใจไม่แพ้กัน สิ่งที่เขาได้สั่งสมเรียนรู้ตกผลึกเป็นตัวตนที่ชัดเจนมากในวันนี้
เขาคือคนในเจเนอเรชัน Baby Boomer ที่เติบโตมาหลังช่วงสงครามโลก คุ้นเคยกับคำว่าเมืองดีทรอยต์ที่เป็นสายการผลิตตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 และหลังจากนั้นก็เข้าสู่ยุคของการใช้สารเคมี เขาเหมือนเด็กคนอื่นๆ ที่ถูกสอนให้ใช้สารเคมีในชีวิตประจำวัน เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีในโลกอุตสาหกรรมที่ผลิตสิ่งต่างๆ แบบเน้นปริมาณ
แต่สิ่งหนึ่งที่ชายคนนี้เชื่อและยึดถือมาตลอด คือศิลปะการใช้ชีวิตแบบชาวตะวันออกที่ใส่ใจรายละเอียดของธรรมชาติ และใช้ชีวิตอย่างประณีตเหมือนการทำงานคราฟต์ การทำธุรกิจของเขาจึงไม่ใช่การมีกำไรให้มาก แต่คนทำงานต้องมีความสุขให้มากกว่า
“โลกมีทรัพยากรมากพอสำหรับคนทุกคนอยู่แล้ว การผลิตแบบมากๆ มันทำเพื่อคนบางคนเท่านั้น เราจึงมีแนวคิดอยากสร้างองค์กรและดำเนินธุรกิจที่ทำให้คนมีส่วนร่วมเยอะมากขึ้น เราจ้างคนมาทำงานดิน จ้างเด็กเข้ามาปั้นเซรามิก พวกเขาก็มีงานทำ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ครอบครัวพวกเขาก็อยู่สุขสบายมากขึ้น เราเลยทำให้มันเป็นงานที่ผสมผสานกันระหว่างเทคโนโลยีและความคราฟต์มากกว่าเน้นการผลิตเยอะๆ”
เอกตั้งใจมากกับการสร้างธุรกิจให้คนได้มีงานทำ มากกว่าการสร้างผลิตภัณฑ์โดยเครื่องจักร เขาเชื่อว่าความสุขจากการทำงานร่วมกันของผู้คนนั้นมีค่ามากกว่ากำไรของเงินในบัญชีที่เจ้าของธุรกิจอย่างเขาจะได้ เขาเชื่อว่านี่คือวิถีที่มนุษย์ควรจะเป็น มากกว่าการรีบตื่นเช้าไปทำงานอย่างคร่ำเครียดโดยที่ไม่ได้ดูแลความสัมพันธ์และชีวิตตัวเอง
“คนทำงานกับเราทุกคนต้องได้คุยกัน เวลาอยู่ด้วยกัน จะทะเลาะกัน หรือแซวกัน ก็รู้ว่าเดี๋ยวตื่นมาก็ต้องเจอหน้ากันอีก มันมีความผูกพันระหว่างการทำงาน เป็นความสุขแบบหนึ่งนะ มนุษย์ควรอยู่ด้วยเรื่องแบบนี้ไง ไม่ใช่อยู่แค่ด้วยเงิน” เขาว่า
“ถ้าไม่ได้ทำธุรกิจเพื่อให้ได้เงินมาก คุณทำยังไงให้มันอยู่รอด” เราถามขึ้น “เห็นน้ำใช่ไหม น้ำถ้าอยู่เปล่าๆ ไม่มีการหมุนเวียนมันจะเน่า แต่ถ้ามีการหมุนเวียนเล็กน้อย อาจจะเน่า แต่เน่าช้าลง และถ้ามันหมุนเวียนพอดี จะไม่เน่าเลย หลักการธุรกิจก็เหมือนกัน เราทำอะไรหลายๆ อย่างแต่ไม่เยอะมาก แม้จะมีที่ขาดทุน แต่มันก็จะมีที่ได้กำไร ถัวเฉลี่ยกันไป เพราะฉะนั้น เราเลยไม่ต้องมาเคร่งเครียดว่าอันนี้ขาดทุนนะ ปล่อยมันเป็นธรรมชาติ เหมือนน้ำแข็ง หน้าฝนขายไม่ดีก็ปล่อยไป เพราะเดี๋ยวหน้าร้อนก็กลับมาขายดีเอง อย่างหน้าร้อน น้ำแข็งขายดีแต่ผักได้กำไรน้อยลง อะไรแบบนี้ เราก็ได้เงินมาเรื่อยๆ เหมือนน้ำที่ยังหมุนเวียนอยู่ตลอด ยังไงก็อยู่ได้”