The Cloud x Sustainable Development Goals
Sustainable Development Goals หรือ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คือข้อตกลงระหว่างองค์การสหประชาชาติ (UN) กับประเทศต่างๆ ว่าจะร่วมมือสร้างโลกให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปด้วยกันใน 17 เป้าหมาย
เป้าหมายที่ 9 Industry, Innovation and Infrastructure พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง สนับสนุนนวัตกรรม ส่งเสริมการปรับตัวให้เป็นอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและทั่วถึง
คนไทยใช้พลาสติก 8 ชิ้น ต่อคน ต่อวัน
เมื่อนำสถิติคำนวนตามจำนวนประชากรไทยในปัจจุบันรวม 65 ล้านคน อ้างอิงจากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติมาคำนวณแล้ว คนไทยทั้งประเทศจะใช้พลาสติกรวมๆ กัน 520 ล้านชิ้นต่อวัน
มองข่าวแพขยะลอยกลางทะเลจนเกิดมลพิษทางน้ำ ทำให้สัตว์น้ำตายเป็นเบือ หรือข่าวช็อกโลกอย่างเต่าทะเลกินชิ้นพลาสติกจนตาย แม้กระทั่งภาพกองขยะพลาสติกพะเนินเทินทึกที่ไม่เกิดการนำไปจัดการอย่างถูกวิธี กลายเป็นปัญหาใหญ่มากปัญหาหนึ่งที่ทุกภาคส่วนทั่วโลกต่างร่วมกันแก้ปัญหานี้
ในขณะเดียวกันเมืองยังคงต้องเติบโตเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของประชากรมนุษย์ อุตสาหกรรมต่างๆ ยังคงต้องขับเคลื่อนต่อไป เพราะคนก็ยังคงต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการดำเนินชีวิต แต่หากภาวะโลกร้อนแก้ไขไม่ได้ภายในระยะเวลา 12 ปีข้างหน้า ทุกสิ่งมีชีวิตบนโลก ทั้งมนุษย์ พืชพรรณและสัตว์จะแย่กันหมด
ดังนั้นจะทำอย่างไรให้การผลิตและบริโภคทรัพยากรเหล่านั้น เป็นไปอย่างยั่งยืนที่สุด
คอลัมน์ Sustainable Development Goals ชวนคุณไปหาคำตอบของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 9 Industry, Innovation and Infrastructure ภายในปี พ.ศ. 2573 ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงให้อุตสาหกรรมมีความยั่งยืน โดยเพิ่มการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เทคโนโลยี และกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ผ่าน ‘โครงการบล็อกปูถนนรีไซเคิล’ โครงการของภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในความดูแลของ ศ. ดร.เวชสวรรค์ หล้ากาศ หรือ อาจารย์เป้า ของนักศึกษา นี่คือโครงการที่ใช้ ‘ถนนรีไซเคิล’ ผลงานของอาจารย์ มาต่อยอด จนกลายเป็นอีกนวัตกรรมซึ่งช่วยจัดการขยะพลาสติกที่ล้นโลกให้หมุนเวียนและเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน
ฐานบัญชาการของโครงการ คืออาคารหน้าตาเรียบง่ายที่สร้างจากวัสดุเหลือใช้ ตั้งอยู่ด้านหลังภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม นักศึกษาหลายกลุ่มกำลังง่วนอยู่กับการคัดแยกพลาสติกจากหลายแหล่ง บางกลุ่มกำลังอยู่หน้าเครื่องจักรเพื่อเตรียมการผลิตสำหรับวันนี้ อาจารย์เป้าพาชมกรรมวิธีการผลิตอย่างละเอียดยิบ พร้อมชวนแยกขยะถุงพลาสติกที่กองตรงหน้า เพื่อลงมือผลิตบล็อกปูถนนที่ช่วยโลก
เคยนับไหมว่าในแต่ละวัน คุณใช้ถุงพลาสติกไปกี่ใบ ดูดน้ำด้วยหลอดพลาสติกไปกี่หลอด
พลาสติกเหล่านั้นถูกใช้ในมือคุณเพียงไม่กี่นาที แต่มันจะคงอยู่บนโลกนี้ไปอีกหลายร้อยปี ดังนั้นอย่างแรกเราควรลด ละ เลิกใช้ และเปลี่ยนพลาสติกที่มีอยู่แล้วให้กลับมาเป็นทรัพยากรอีกครั้ง ด้วยนวัตกรรมการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างโครงการบล็อกปูถนนรีไซเคิลที่คุณจะได้อ่านต่อไปนี้
01
เริ่มต้นจากลูกน้อยในทะเลถุงพลาสติก
7 ปีที่แล้วในทริปทัศนาจรทะเลของอาจารย์และครอบครัว น่าจะเป็นการท่องเที่ยวที่สุขสันต์ตามปกติ หากแต่อาจารย์พบความแปลกประหลาดของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมโดยรอบที่กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของอาจารย์เป้า เพื่อจัดการอะไรสักอย่างกับขยะในทะเลแห่งนั้น
“ผมอาจจะเล่าแล้วดูดราม่านิดหนึ่งนะ แต่มันคือความจริงเลย (หัวเราะ) เป็นแรงบันดาลใจเลย อาจารย์พาลูกชายไปเที่ยวทะเล มันเป็นครั้งแรกที่เขาเห็นทะเล เด็กเห็นทะเลก็โดดลงว่ายน้ำ เราเป็นผู้ใหญ่ มองจากข้างบนก็เห็นว่าทะเลที่ลูกว่ายไม่ได้มีแต่น้ำทะเล มันมีขยะพลาสติกลอยอยู่ในทะเล เราสลดใจว่าเราตั้งใจมาดูธรรมชาติ มาเที่ยวทะเล แต่เรากลับเจอขยะแบบนี้ จึงตัดสินใจจะหาวิธีกำจัดถุงพลาสติก ต้องเน้นถุงพลาสติกอย่างเดียว แต่ถ้าขยะพลาสติกมันยังอยู่อย่างนี้ เดี๋ยวโตไปลูกก็รู้เองว่าไม่ได้ว่ายอยู่ในทะเลที่มีแต่น้ำ” อาจารย์เป้าเล่าถึงแรงบันดาลใจที่ส่งอิทธิพลต่อการลงมือช่วยทะเล
ประกอบกับอาจารย์เป้าเป็นวิศวกรโยธาที่มีองค์ความรู้เรื่องคมนาคมและถนนหนทาง จึงเริ่มทดลองนำถุงพลาสติกแบบต่างๆ มาผสมในส่วนประกอบผลิตวัสดุปูถนนร่วมกับยางมะตอย เนื่องจากยางมะตอยและพลาสติกมาจากกระบวนการเผาปิโตรเคมีซึ่งมาจากแหล่งเดียวกัน ทำให้เกิดแรงยึดเหนี่ยวที่ทำให้วัสดุยึดเกาะกันได้ดีขึ้น ส่งผลให้วัสดุมีความแข็งแรง นำไปสู่การพัฒนาเป็นโครงการถนนรีไซเคิลในเวลาต่อมา
“อาจารย์ทดลองนำขยะถุงพลาสติกมาผสมในยางมะตอย ปรากฏว่ามันทำให้ยางมะตอยมีค่าประสิทธิภาพที่สูงขึ้นและดีขึ้น ก่อนผสมขยะถุงพลาสติกเข้าไป จากที่เริ่มทดลองเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ค่าความแข็งแรงของยางมะตอยสูงกว่าเดิมไปประมาณสัก 20 – 30 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้เราพัฒนาให้ค่านั้นสูงกว่ามาตรฐานปกติ 300 เปอร์เซ็นต์ ยางมะตอยที่มันแข็งขึ้นหมายความว่าเราจะประหยัดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง และใช้ถนนของเราได้ทนทานและนานขึ้น” อาจารย์อธิบายถึงขั้นตอนการพัฒนาโครงการถนนรีไซเคิล
02
จากพระเอกสู่ตัวร้าย
อาจารย์คิดว่าพลาสติกมีประโยชน์อย่างไรบ้าง?
อาจารย์เป้าตอบว่า “พลาสติกเคยเป็นพระเอกมาก่อน เมื่อประมาณ 100 กว่าปีมีคนผลิตพลาสติกสำเร็จ พลาสติกทำให้โลกของเรามีวิวัฒนาการแบบก้าวกระโดดเลย พลาสติกทำให้ชีวิตผู้คนสะดวกสบาย แต่ตอนนี้พลาสติกกลายเป็นผู้ร้าย เพราะมนุษย์ใช้พลาสติกเยอะมากจนเกิดเป็นไมโครพลาสติกเยอะ เกิดเป็นอะไรต่างๆ มันไม่ใช่ จริงๆ ต้องกลับมามองที่คน คนต่างหากที่ไปใช้อย่างไม่บันยะบันยัง มันก็เลยเกิดปัญหา”
พลาสติกไม่ใช่วายร้ายที่เคยเป็นคนดี แต่พลาสติกคือทางเลือกของบรรจุภัณฑ์ที่มีประโยชน์เหลือคณานับ ทว่าสิ่งที่อาจารย์เป้ากำลังสื่อสารกับฉันคือ มนุษย์ขาดความตระหนักรู้ในการจัดการขยะให้เกิดประสิทธิภาพและหมุนเวียนอย่างยั่งยืน จนไม่เกิดปัญหาขยะพลาสติกกองมหึมา
นั่นคือ การคัดแยกขยะ นำไปสู่แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่อาจารย์เป้านำมาปรับใช้ในโครงการพัฒนาวัสดุรีไซเคิล
“แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนคือผลิตและการใช้ให้เกิดของเหลือน้อยที่สุด หรือที่เรียกว่า Zero-waste คล้ายๆ กันคือ ใช้ให้ได้มากที่สุดจนจำนวนของเสียไม่เหลือ หรือเรียกว่าระบบเดิม ให้มันถูกใช้ในอุตสาหกรรมเดิม หรืออุตสาหกรรมที่เป็นลูกข่าย แตกย่อยออกไปจนกระทั่งไม่มีเศษอะไร ในอุตสาหกรรมนี้เราทำกันมานานแล้วครับ แต่เราไม่ได้เรียกแนวความคิดแบบนี้เฉยๆ” อาจารย์เป้าอธิบายแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
ถึงตรงนี้อาจนึกภาพไม่ออกว่าในภาคอุตสาหกรรมจะมีกระบวนการ Zero-waste เกิดขึ้นได้อย่างไร อาจารย์เป้าจึงยกตัวอย่างแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดจากบทเรียนวิชาชีววิทยาที่เราคุ้นเคยอย่างดีคือ การผลิตปิโตรเคมี
“เรากลั่นปิโตรเคมีเป็นแก๊ส เป็นน้ำมัน พลาสติก ไล่มาจนเป็นยางมะตอยก็เป็นของที่เหลือทิ้งแล้ว พอเราจะทิ้งก็กลายเป็นยางมะตอยมาทำถนน แต่ตอนนี้เราจะเอาพลาสติกที่อยู่ในกระบวนการของปิโตรเคมีมาใช้กับยางมะตอยอีกที แล้วก็หมุนเวียนอย่างนี้ พลาสติกมันเหมือนน้ำกับน้ำแข็ง มันกลับไปกลับมาได้ ถ้าพลาสติกชิ้นไหนที่ย่อยสลายแล้ว โครงสร้างโมเลกุลภายในต่างๆ มันเสื่อมสลายไป ก็ต้องเสริมเติมโครงสร้างไปให้นำกลับมาใช้ได้อีก” อาจารย์เป้าอธิบาย
03
แยก ย่อย ตวง รวม อัด
โครงการบล็อกปูถนนรีไซเคิลต่อยอดมาจากโครงการถนนรีไซเคิล ใช้วัสดุชนิดเดียวกันมาตัดแบ่งเป็นบล็อกปูถนนที่มีความทนทานสูงในราคาต้นทุนที่ไม่มากนัก
ขั้นตอนการผลิตเริ่มแรกคือ การคัดแยกขยะ เนื่องจากขยะถุงพลาสติกคือวัสดุที่รถรับซื้อของเก่าไม่รับซื้อ ขยะถุงพลาสติกจึงกลายเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญของบล็อกปูถนนรีไซเคิล อาจารย์เป้าเลือกขยะถุงพลาสติกที่ยืดได้หรือเป็นถุงแบบอ่อนเท่านั้น เพราะถุงที่แข็งและฉีกขาดง่ายต้องใช้อุณหภูมิสูงในการผลิต ทำให้ใช้พลังงานมากขึ้น
เมื่อได้ถุงพลาสติกตามต้องการในปริมาณที่เหมาะสม จึงนำถุงพลาสติกมาย่อยเป็นชิ้นเล็กๆ ประมาณ 1 เซนติเมตร เพื่อใช้พลังงานการหลอมละลายให้น้อยที่สุด เมื่อย่อยชิ้นพลาสติกแล้วจึงนำไปตากให้แห้ง จากนั้นจึงนำทรายผสมในอัตราส่วน 1:3 คือพลาสติก 1 ส่วน ทราย 3 ส่วน ซึ่งทรายที่ใช้จะเป็นทรายหยาบหรือละเอียดก็ได้ แต่ควรเป็นทรายที่แห้งแล้ว หากยังไม่แห้งจะต้องเสียเวลานำทรายไปคั่วให้ไอน้ำออกจากทราย ซึ่งจะเสียเวลาและทำให้ขั้นตอนยุ่งยาก
เมื่อชั่งส่วนผสมจนได้อัตราส่วนที่ถูกต้องแล้ว จึงนำทรายใส่ในเครื่องผสมร้อนที่ทางภาควิชาคิดค้นและพัฒนาขึ้นมา ทิ้งไว้ให้อุณภูมิสูงราว 240 องศาเซลเซียส จึงนำพลาสติกใส่เข้าไป ให้เกิดการผสมและหลอมละลายรวมเป็นเนื้อเดียวกันราว 5 – 10 นาที ต้องหมั่นสังเกตให้วัสดุทั้งหมดเป็นสีเทา และอย่าให้ผสมนานเกินไปเพราะพลาสติกอาจลุกไหม้ได้
จากนั้นจึงเทวัสดุที่หลอมรวมกันแล้วบรรจุในพิมพ์เหล็ก แล้วอัด กระทุ้ง หรือตอก ด้วยค้อนเหล็กให้ได้ 70 – 75 ครั้ง จึงทิ้งให้เซ็ตตัว
อาจารย์เป้าแอบบอกเคล็ดลับการผลิตบล็อกปูถนนรีไซเคิลว่า เมื่อปล่อยให้วัสดุบล็อกปูถนนเย็นตัวแล้ว ควรนำไปแช่น้ำให้อุณหภูมิลดลงอีก ในขณะที่แช่น้ำควรคว่ำหน้าบล็อกลง เพราะถ้าหงายพลาสติกลงน้ำไม่ดี วัสดุจะกลายเป็นแอ่งไม่สวยงาม ควรให้หน้าวัสดุเรียบจึงแกะออกมาใช้งานได้
04
ปูทางสู่การแบ่งปันองค์ความรู้
โครงการบล็อกปูถนนรีไซเคิลเป็นที่พูดถึงอย่างรวดเร็วจากกระแสตื่นตัวรักษ์โลกในสื่อต่างๆ จนองค์ความรู้นี้เริ่มแพร่กระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทย อาจารย์เป้าเลือก 4 ภูมิภาค เพื่อเผยแผ่วิธีการลดขยะพลาสติก และใช้อย่างชาญฉลาด ได้แก่ ชุมชนวัดแม่สาหลวง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่, ตลาดแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม, ตลาดร่มโพธิ์ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และชุมชนอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมากจากคนในพื้นที่
“ที่กระบี่เราไปคุย ไปนำเสนอ คนในชุมชนให้สร้างลานกิจกรรมด้วยบล็อกถนนรีไซเคิลจากขยะในชุมชน เราขอความร่วมมือให้ทุกคนคัดแยกขยะหน่อย พอบอกผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ก็งั้นๆ อะ ไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่ ก็เลยเปลี่ยนแผนไปบอกเด็กๆ โรงเรียนอนุบาลว่า น้าจะเอามาทำลานกิจกรรมให้เด็กๆ นะ ให้เด็กๆ คัดแยกขยะมาวันละหนึ่งถุง เด็กก็ไปบอกผู้ปกครอง แต่ไปบอกท่าไหนก็ไม่รู้ว่า เนี่ย ให้คัดแยกขยะไป ถ้าไม่คัดแยกขยะมาจะโดนหักคะแนน แทนที่จะได้ขยะวันละถุง ก็ได้มาวันละหนึ่งกระสอบ เพราะผู้ปกครองช่วยกันคัดแยก”
เหมือนเป็นตลกร้าย แต่มันตอกย้ำสิ่งที่อาจารย์เป้าพูดกับฉันตลอดบทสนทนาว่า หากต้องการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เรื่องการคัดแยกหรือการเห็นคุณค่าการลดใช้ขยะพลาสติก ต้องปลูกฝังที่เด็กเล็กก่อนเป็นอันดับแรก
ในส่วนภาควิชาเอง โครงการบล็อกปูถนนรีไซเคิลยังพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นกรณีตัวอย่างของนักศึกษาที่ทดลองและต่อยอดขยะเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น หลังคาบ้าน แผ่นพื้น ผนัง หรือทดลองใช้วัสดุอื่นๆ เป็นส่วนประกอบหลัก อย่างการเปลี่ยนจากผสมทรายขวดแก้วบดละเอียดมาผสมกับขยะพลาสติกแทน
ไม่ใช่เพียงเป็นประโยชน์ต่อโครงการ แต่เป็นการต่อยอดองค์ความรู้และเปิดพื้นที่ทดลองให้นักศึกษาได้พัฒนาโครงการต่อไป
05
สุดท้ายต้องช่วยกัน
ปัจจุบันกำลังการผลิตบล็อกปูถนนรีไซเคิลต่อวันอยู่ที่ 50 ก้อน ต้องมีขยะถุงพลาสติกซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักต่อวันอยู่ที่ 50 กิโลกรัม และถ้าต้องการเร่งกำลังการผลิตให้ถึงจุดคุ้มทุน ต้องมีขยะถุงพลาสติกกว่า 1 ตัน
เมื่อมองในเขตมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ที่เป็นฐานกำลังการผลิตหลัก กลับมีขยะพลาสติกที่นำมาใช้ผลิตต่อวันได้เพียง 9.38 กิโลกรัม ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของอาจารย์เป้าที่บอกว่า
“ขยะที่ไหน ต้องอยู่ที่นั่น”
“ขยะจริงๆ เราเริ่มจากให้นักศึกษาไปคัดแยกตามพื้นที่ในมหาวิทยาลัยและพื้นที่ชุมชนใกล้เคียง แต่ก็พบว่าจำนวนขยะไม่พอ ได้เพียง 10 – 20 เปอร์เซ็นต์ ของขยะทั้งมหาวิทยาลัยที่จัดการได้ ก็เลยขอบริจาคหรือมีคนที่สนับสนุน ส่งมา หรือคัดแยก มาช่วยเรา รวมทั้งหน่วยงานทางสิ่งแวดล้อม กลุ่มจิตอาสาจากมหาวิทยาลัยอื่นก็มีนะ ที่คัดแยกแล้วส่งมา
“บางทีก็ได้จากในตลาดสดนี่แหละ ด้วยความเป็นอาชีพของเขาที่ต้องกินต้องใช้เลยไม่มีเวลามาก แต่ถ้าถามเขาจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของตลาด คนขาย คนซื้อ เขาก็อยากแยกขยะเหมือนกัน อาจารย์จึงเริ่มอีกโครงการหนึ่งคือ นำถุงพลาสติกจากเมื่อวานกลับมาด้วย คือเราจ่ายกับข้าวอะไรวันนี้ พรุ่งนี้ต้องไปจ่ายตลาดอีก ก็เอาถุงพลาสติกของเมื่อวานกลับมาไว้ที่ตลาด ตลาดในเชียงใหม่ก็จะคัดแยกมาไว้แล้วส่งมาให้เรา
“สำหรับผู้ที่สนใจอยากส่งขยะถุงพลาสติกที่คัดแยกแล้วมาสนับสนุนโครงการ ส่งมาให้ภาควิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้เสมอ หากใครไม่สะดวกส่งจริงๆ สำหรับในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่หรือพื้นที่ใดก็ตาม เพียงแค่คัดแยกขยะบรรจุในถุง เจ้าหน้าที่เก็บขยะจะทำการคัดแยกและส่งมาทางภาควิชาเอง
ถึงตรงนี้ อาจารย์เป้าย้ำถึงการแยกขยะหลายครั้ง ถ้าเราไม่แยกขยะ จะเกิดอะไรขึ้น?
“เพราะว่าขยะมันไม่มีที่ไป มันก็จะกองสูงขึ้นไปเรื่อยๆ และถ้าไม่คัดแยกมันก็จบอยู่ที่ไม่เผาก็ฝัง เผานี่ไม่มีใครแฮปปี้กับวิธีการนี้แน่ๆ เพราะทำให้โลกร้อน ทำลายชั้นบรรยากาศ ถ้าฝังลงดินก็เป็นผลเสียต่อพื้นที่การเกษตร บริเวณนั้นเราก็จะอยู่อาศัยไม่ได้ แล้วก็ทำกสิกรรมไม่ได้ มันก็จะขยายเป็นปัญหาต่อไปอีก ยังไม่รวมว่าขยะจากต่างประเทศมาหาเรา ขยะอยู่ในสุญญากาศแล้ว มันต้องหาที่ไปให้มันที่ไม่ใช่โยนกันไปมา ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป ขยะจะล้นโลก” อาจารย์เป้าตอบทิ้งท้าย
เป็นเรื่องดีมากที่ไม่ว่าจะภาครัฐก็ดี เอกชน นักกิจกรรม หรือคนตัวเล็กๆ อย่างเราก็ดี ต่างเห็นความสำคัญอย่างพร้อมเพรียง เกิดเป็นนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมมากมาย
อย่างการลดใช้พลาสติกที่เข้มข้นกว่าเทรนด์ถุงผ้าที่ฉาบฉวย ทั้งการงดแจกถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาร์เก็ต แล้วใช้กล่องลังเหลือๆ จากสต๊อกสินค้าของร้านเป็นหีบห่อบรรจุสินค้ากลับบ้าน
รวมถึงการปรากฏตัวของหลอดนานาชนิดเพื่อทดแทนหลอดพลาสติก เทรนด์ปิ่นโตที่กำลังมาแรง การประกาศรับบริจาคขยะพลาสติกประเภทต่างๆ เพื่อนำไปใช้หมุนเวียนในหลายโอกาส หรือกระทั่งการแปรรูปขยะเหล่านั้นให้หมุนเวียนได้อย่างไม่รู้จบ
ทั้งหมดนี้คือการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหลากหลายข้อไปพร้อมกัน ทั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 9Industry, Innovation and Infrastructure ที่มุ่งเน้นเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรม ซึ่งถือเป็นการผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อที่ 13 Climate Action ที่มุ่งเน้นการบูรณาการมาตรการรับมือสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยเช่นกัน