สวัสดีจากเกาะเต่า (แม้ตอนนี้ตัวจะนั่งพิมพ์ยิก ๆ อยู่กรุงเทพฯ ก็ตาม)
เรื่องมันเริ่มต้นจากการนัดหมายกับเพื่อนสนิท ประมาณว่าร่างกายเรียกร้องอยากลิ้มรสวิตามิน Sea (ชิมแล้วเค็มกว่าบ๊วยในโหล) กะไปนอนแผ่หาดทรายให้แดดริมทะเลเลียหลังให้แทนสมใจ
หวยก็ออกที่ ‘เกาะเต่า’ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไม่ใช่ครั้งแรกที่ไปเกาะ แต่เป็นครั้งแรกที่ไปเกาะเต่า วุ่นวายกับการจองที่พัก จองตั๋วเครื่องบิน และจองตั๋วเรือพอสมควร เราว่าทุกท่านทำได้ เพราะเจ้าพ่อกูเกิลมีคำตอบให้ทุกอย่าง แต่ถ้าให้แนะนำก็คือ แมตช์รอบเรือกับรอบเครื่องบินให้ดี (เพิ่งรู้ว่ามีเรือนอนด้วย ถึงเกาะช่วงเช้า ใครสนก็ลองวิธีเดินทางแบบนี้ได้) ส่วนที่พัก ทำการบ้านสักนิดว่าอยากอยู่โซนไหน

เราไปทั้งสิ้น 7 วัน 6 คืน 3 คืนแรกพักย่านโฉลกบ้านเก่า ชอบที่เงียบสงบ ใกล้กับจุดชมวิวหลายจุด และใกล้กับ Freedom Private Beach (เสียค่าเข้า 50 บาท เทียบกับบรรยากาศด้านในถือว่าคุ้ม) ส่วน 3 คืนท้าย พักย่านหาดทรายรี บอกเลยว่าถ้าเป็นสายปาร์ตี้ต้องถูกใจ ตอนกลางวันเงียบเป็นเป่าสาก ส่วนตอนกลางคืนเหล่าผีเสื้อราตรีออกมาโบยบินจนนับปีกไม่ถ้วน สารภาพตามตรงว่าชอบย่านนี้ตอนกลางวันที่สุด มีร้านอาหาร ร้านรวงหลายร้านให้เลือกแวะ มีถนนคอนกรีตให้เดินเลียบหาด เพลินดีนะ สายตามีอะไรให้ดูตลอด เหนื่อยก็แวบมองวิวข้างทาง เห็นแสงแดดกระทบผิวน้ำสีฟ้าเป็นประกายระยับ

วกกลับมาเข้าเรื่อง ชวนออกทะเลไปเสียไกล (ก็เธอไปทะเล!) 3 วันแรกของการอยู่บนเกาะ เราทุ่มเทให้กับการอาบแดดและการดำน้ำ อย่าคาดหวังว่าจะไปฟรีไดฟ์ บอกเลยว่านี่แค่ระดับอนุบาล ใส่ชูชีพแล้วเกาะห่วงยางให้พี่ไกด์ลูกน้ำเค็มลากไปลากมาชมความงามใต้ท้องทะเล แต่ประทับใจอยู่ดี
หลังส่งเพื่อนสาวกลับสู่โลกความเป็นจริง เราอยู่เกาะเต่าต่ออีก 3 คืนเพื่อปฏิบัติภารกิจหน้าที่ในส่วนของการงาน แต่ดันมีวันว่างที่โนแพลนว่าจะทำอะไรดี ซึ่งก่อนหน้านั้น 1 วัน ดันตาดีไปเห็นโปสเตอร์แผ่นเล็ก ๆ แปะหน้าร้าน Natural Wine (เกาะเต่าเก๋ไหมล่าา) เลยถ่ายภาพเก็บไว้ เนื้อหาใจความเป็นการเวิร์กช็อปทำของฝากจากพลาสติกบนเกาะเต่า โดย ‘Plas-Tao’ ใจไวก็เลยทักอินบ็อกซ์ไปจับจองที่นั่งทันที
ก่อนจะเปิดประตูสู่โลกพลาสติก ชวนทำความรู้จักกันก่อนว่า Plas-Tao คือใคร
คนริเริ่ม Plas-Tao คือ เมย์-วิชชุดา ดำเนินยุทธ สาวชุมพรหน้าคมที่ย้ายมาอยู่เกาะเต่าเกือบ 10 ปี และเป็นเจ้าของ May&Co. ร้านขายของใช้ในชีวิตประจำวันจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ

“ช่วงโควิด-19 เราเชื่อว่าทุกคนเริ่มคิดแล้วว่าจะเอายังไงกับชีวิต” เธอพูดพลางหัวเราะ
“แต่มันเป็นโอกาสดีที่ทำให้เราได้ลองทำสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งไอเดียนี้อยู่ในหัวเรามาสักพักแล้ว ตั้งแต่เราเห็น BOPE (โบเป : สตูดิโอรีไซเคิลพลาสติก จังหวัดเชียงใหม่) ซึ่งตอนนั้นเรายังไม่อินกับวัสดุประเภทพลาสติกสักเท่าไหร่ จนมาตกผลึกกับตัวเองอีกครั้งว่า พลาสติกน่าจะมีทางไปได้อีกเยอะ
“ด้วยเกาะเต่าเป็นเกาะท่องเที่ยว เลยเป็นหนึ่งเหตุผลให้เราอยากทำของฝากที่มาจากเกาะเต่าจริง ๆ อีกอย่างเราทำ Beach Clean Up อยู่แล้ว เห็นว่าบนเกาะมีขยะพลาสติกเยอะมาก เรื่องราวมันน่าจะเชื่อมโยงกันได้ พอความคิดสุกงอม เราก็ลองสั่งเครื่องบดและหลอมพลาสติกมาจากโบเป”
เธอเล่าถึงจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ของ Plas-Tao ที่ซ่อนเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ นั่นคือการทำให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกและขยะทางทะเล พร้อมมอบชีวิตที่สองให้น้อง ๆ ด้วยการรีไซเคิล

เมื่อถึงเวลาเวิร์กช็อป เราเดินเตาะแตะไปที่ Plas-Tao เจอชายผิวเข้มสวมเสื้อมัดย้อมกำลังง่วนอยู่กับการอัดพลาสติกลงแม่พิมพ์ เราทักทายสวัสดี พร้อมแนะนำตัวแบบกระชับ ฝ่ายตรงข้ามก็ทำเช่นเดียวกัน ชายหนุ่มคนนั้น คือ พี่อู พนักงานหนุ่มคนเดียวของ Plas-Tao พี่อูเป็นหนุ่มพม่าที่ย้ายมาเมืองไทยตั้งแต่วัยรุ่น ทำมาหากินและมีครอบครัวอยู่เกาะเต่านานหลายปี และพี่อูเป็นคนสอนเราทำเวิร์กช็อปในวันนี้
วิธีการง่ายมาก เพียงเลือกพลาสติกสีที่ชอบลงในถ้วยขนาดเล็กให้เต็มพอดี

กดปุ่มกรอ ตื้ด..ตื้ด..ตื้ด.. ก่อนพลาสติกสีสวยจะมาอยู่ในถ้วยขนาดพอดีมือ มันกระจัดกระจายอยู่ในซอกมุมหลืบหินและในร้านค้าต่าง ๆ บนเกาะเต่า บ้างเดินทางมาด้วยการนำมาส่งถึงหน้า Plas-Tao บ้างเดินทางมาด้วยการพบเจอจากการจัดกิจกรรม Beach Clean Up ทุกวันเสาร์ของพี่เมย์


เมื่อคัดแยกพลาสติก 2 ประเภท คือ หนึ่ง พลาสติกเบอร์ 2 HDPE คือ โพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (High Density Polyethylene) สอง เบอร์ 5 PP คือ โพลีโพรพิลีน (Polypropylene) พลาสติกทนต่อความร้อนสูง ก็นำมาทำความสะอาดและผึ่งแดดให้แห้ง จากนั้นนำไปแยกสี แล้วนำเข้าสู่เครื่องบดพลาสติกให้เป็นชิ้นเล็ก ทันใดนั้นเอง พลาสติกสีสันสดใสก็มาอยู่ในถ้วยบนมือเราเรียบร้อย
พี่อูบอกทริกว่าให้เลือกระหว่างพลาสติกเบอร์ 2 และพลาสติกเบอร์ 5 เพียงชนิดเดียว ไม่ควรนำมาปนกัน เพราะพลาสติกทั้งสองชนิดใช้ความร้อนในการหลอมไม่เท่ากัน พลาสติกเบอร์ 2 ต้องหลอมที่ความร้อน 180 องศาเซลเซียส ส่วนพลาสติกเบอร์ 5 ต้องหลอมที่ความร้อน 170 องศาเซลเซียส

ขั้นตอนต่อไปคือการเตรียมแม่พิมพ์ จากนั้นเข้าสู่กระบวนการหลอมพลาสติกด้วยความร้อนจากไฟฟ้า จับเวลา 20 นาที แล้วเข้าประจำที่ กดคันโยกแล้วอัดลงเบ้าหลอมให้เต็มแรง ฮึบเท่านั้น เพราะขั้นตอนนี้ใช้แรงมหาศาล ถ้าคุณเคยผ่านการออกกำลังกายง่าย ๆ สไตล์โค้ชเบเบ้มาแล้ว ขั้นตอนนี้ง่ายเหมือนธานอสดีดนิ้ว เพราะการกดด้วยแรงที่สม่ำเสมอ ทำให้พลาสติกไหลลงแม่พิมพ์เต็มเสมอกัน

หลังจากหมดพลังเหนียวไก่ไปกับคันโยกวิเศษ ก็ถึงเวลาแกะแม่พิมพ์ ร้อนนิดนะ ใส่ถุงมือด้วย รอเวลาสักครู่ให้พลาสติกแข็งตัว (คำนี้แหละ อย่าคิดเป็นอื่น) ไม่นานเกินกะพริบตา ของฝากชิ้นเดียวในโลกด้วยฝีมือเราก็พร้อมออกสู่สายตาสาธารณะชน (เก่งมาก สวยมาก อันนี้ชื่นชมตัวเองในใจค่ะ) ส่วนพี่อูก็ชมไม่หยุด เลยเปิดเรเฟอเรนซ์ให้ดูว่าตั้งใจทำเป็นสีสวย ๆ แบบสายรุ้งโรยไอศกรีม (Sprinkle)
อ้อ ลืมบอกไปว่า ในการทำเวิร์กช็อป เลือกได้ว่าอยากทำโปรดักต์ชิ้นไหน Plas-Tao มีให้เลือกระหว่างถาดวางสบู่ กระถางต้นไม้ ที่เปิดขวด (2 ชิ้น) แผ่นรองแก้ว (2 ชิ้น) และตะขอเกี่ยว (2 ชิ้น)
ค่าบริการเวิร์กช็อปอยู่ที่ 650 บาท (ถ้ามีริสแบนด์จากออกซิเจนทัวร์มีส่วนลดนะ) จองล่วงหน้า 1 วัน เปิดทำกิจกรรมทุกวัน เวลา 09.30 – 16.00 น. รับนักเรียนแค่ 1 คน หรือ 1 กลุ่ม ต่อครั้งเท่านั้น
ถ้าไม่ถนัดเวิร์กช็อป ที่ร้าน May&Co. และ Plas-Tao มีของฝากจากเกาะเต่าที่รีไซเคิลจากขยะพลาสติกบนเกาะเต่าให้ซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้านนะ ที่ชอบมากคือ Jenga เล่นได้ทั้งบ้าน
ขอช่วยพี่เมย์ขายของเต็มที่ เพราะเราอยากให้ Plas-Tao เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น ถ้ามีโมเดลแบบนี้เกิดขึ้นในแหล่งท่องเที่ยวหลาย ๆ ที่ของประเทศไทย หลายคนคงยิ้มแก้มปริ เพราะนี่ไม่ใช่แค่ของฝากที่คนทำภูมิใจหรือคนรับสุขใจ แต่มันคือวิธีการหนึ่งที่ทำให้เราตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และเจ้าขยะพลาสติกก็ใกล้ตัวเสียจนเราเผลอมองข้าม จนไม่คิดว่ามันก็มีชีวิตที่สองที่เราเองก็จับต้องและใช้งานจริงได้


“เราทำ Plas-Tao ขึ้นมาเพื่อเป็นจุดรับขยะและรีไซเคิลขยะพลาสติก ถ้ามีคนมาฝากทิ้ง เราก็ยินดีแยกขยะและส่งต่อไปกำจัดอย่างถูกวิธีให้ แล้วเราก็รับซื้อฝาพลาสติกจากชาวบ้านในราคาสูงด้วย เพราะหนึ่ง เราต้องใช้ฝาพลาสติกในการทำเวิร์กช็อป สอง เราเข้าใจว่าทุกคนต้องกินต้องใช้ และการจะไปถึงความยั่งยืนได้ เขาต้องรู้สึกมีส่วนได้ประโยชน์ในกระบวนการนั้นด้วย และอนาคต เราอยากเพิ่มช่องทางการขายให้มากขึ้น ถ้าเรามีช่องทางมากขึ้น การรีไซเคิลพลาสติกก็จะทำได้มากขึ้นตามไปด้วย
“เราหวังว่า Plas-Tao จะเป็นพื้นที่ที่ทำให้คนเห็นความสำคัญของขยะทางทะเลและเรียนรู้เรื่องการรีไซเคิล เพื่อให้เขาเห็นว่าขยะทางทะเลก็รีไซเคิลได้ และขยะมันนำกลับมาใช้งานได้จริง ๆ”
เธอจบบทสนทนาด้วยความตั้งใจจริงในการก่อร่างสร้าง ‘Plas-Tao’ บนเกาะเต่า
