จะเกิดอะไรขึ้นถ้า PlanToys ลุกขึ้นมาปลูกป่าของเล่น

ในฐานะผู้ผลิตของเล่นไม้รายใหญ่ ผู้สั่งสมประสบการณ์มากว่า 38 ปี พวกเขาคือผู้เชี่ยวชาญในการแปลงร่างไม้ยางต้นยักษ์ ให้กลายเป็นของเล่นไม้ขนาดเหมาะมือเจ้าตัวเล็ก 

Forest of Play จึงเป็นโจทย์ใหม่อันท้าทายของ แปลนทอยส์ งานนี้พวกเขาจะต้องเนรมิตวัสดุเหลือใช้ในโรงงาน ให้กลายเป็นป่าแห่งการเล่นของเด็กน้อยจำนวนมาก และนี่คือการออกแบบของเล่นสเกลใหญ่ครั้งแรกของ แปลนทอยส์ 

Forest of Play ป่าของเล่นใจกลางเมืองที่ PLAN TOYS ชวนเด็กมาเล่น ชวนพ่อแม่มาเรียน

“ปกติแปลนทอยส์เราทำของเล่นชิ้นเล็กๆ สำหรับครอบครัว แต่เราเห็นว่าโอกาสที่เด็กจะได้มาเล่นเป็นกลุ่มนั้นยังไม่ค่อยมี ในฐานะคนที่ทำมานาน เราก็มีความรู้ในการผลิตของเล่นอยู่แล้ว จึงคิดว่าเราน่าจะทำอะไรที่เหมาะสำหรับเล่นเป็นหมู่คณะ เพื่อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์ เกิดสังคมการเล่น” วิฑูรย์ วิระพรสวรรค์ ผู้ก่อตั้งบริษัท แปลนทอยส์ เล่าถึงไอเดียตั้งต้นในการออกแบบงานนิทรรศการครั้งนี้ หลังจากที่ได้รับคำชวนจากสำนักศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

ก่อนที่จะเข้าไปชมงาน เราขอชวนคุณย่อตัวให้เล็ก กระโดดตั้งเตสีรุ้งที่หน้าประตูสักตา แล้วกระโจนเข้าป่าไปเล่นสนุกให้เหมือนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง

นี่คือนิทรรศการที่ออกแบบเพื่อให้เด็กได้มาเล่น และพ่อแม่ได้มาเรียน คุณวิฑูรย์บอกกับเราแบบนั้น

“ความตั้งใจแรก เราอยากสร้างโอกาสให้เด็กได้เล่น ได้ปลดปล่อยพลังงาน พร้อมเรียนรู้เรื่องต่างๆ ซึ่งแฝงพัฒนาการหลายๆ ด้าน นอกจากนี้เราอยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้เข้าใจว่าเวลาที่เด็กเขาได้เล่นแบบ free play มันดีนะ ไม่ใช่ว่าทุกอย่างมันจะต้องถูกจัดการไปซะหมด เราอยากให้พ่อแม่เห็นศักยภาพของเด็ก และเข้าใจว่าการเล่นนั้นสำคัญ” คุณวิฑูรย์อธิบายถึงเป้าหมายสำคัญของการเนรมิตป่าของเล่นครั้งนี้

Forest of Play ป่าของเล่นใจกลางเมืองที่ PLAN TOYS ชวนเด็กมาเล่น ชวนพ่อแม่มาเรียน

“free play คืออะไร” เราถามต่อ

“คือเวลาที่เราปล่อยเด็กไว้ แล้วลองดูว่าเด็กเขาอยากจะเล่นอะไรและแบบไหน โดยไม่มีกฎเกณฑ์ หรือมีการแนะนำบ้าง ในบางเรื่องที่ต้องการกติกา มีความสลับซับซ้อนหรืออันตราย เช่น การปีนป่ายในที่สูงๆ”  เรากวาดตาตาม มองบรรยากาศรอบๆ ภาพที่เห็นคือบรรดาผู้ปกครองที่ทำหน้าที่มองอยู่ห่างๆ และปล่อยให้เด็กๆ ลองผิดลองถูกกับของเล่นตรงหน้าเองเหมือนกับที่คุณวิฑูรย์ว่าไว้ไม่มีผิด

นิทรรศการ Forest of Play

หัวใจสำคัญของการออกแบบของเล่นขนาดยักษ์เหล่านี้คือ พัฒนาการของเด็ก ซึ่งโดยทั่วไปจะถูกแบ่งออกเป็น 4 ด้าน ดังนี้

  1. พัฒนาการทางร่างกาย : กล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ และการประสานสัมพันธ์มือและตา 
  2. พัฒนาการทางสติปัญญา : ประสาทสัมผัส ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ การแก้ปัญหา ทักษะวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ รวมถึงการใช้ภาษา
  3. พัฒนาการทางอารมณ์ : ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความมั่นใจในตนเอง สมาธิ และการระบายความไม่พอใจ
  4. พัฒนาการทางสังคม : การอยู่ร่วมกับผู้อื่น การเคารพกฎกติกา การแก้ไขความขัดแย้ง
Forest of Play ป่าของเล่นใจกลางเมืองที่ PLAN TOYS ชวนเด็กมาเล่น ชวนพ่อแม่มาเรียน

เหล่านี้คือพัฒนาการตามธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งพ่อแม่ควรเข้าใจและให้ความสำคัญ

“พัฒนาการอย่างสมวัยคือเรื่องสำคัญ เราต้องอย่าลืม บ่อยครั้งที่เราเห็นเด็กอายุ 2-3 ขวบ ที่พ่อแม่ก็จะให้หัดเขียนหนังสือ หรือให้ไปเรียนดนตรี ไปเต้นบัลเลต์ มันไม่ใช่เรื่องไม่ดี แต่มันก็อาจจะเร็วเกินไปหรือเปล่า เพราะเด็กจริงๆ ถ้าเตรียมความพร้อมดีๆ เรื่องเหล่านี้จะมาเอง” คุณวิฑูรย์ตั้งข้อสังเกตในฐานะผู้ผลิตของเล่นเด็ก อันเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทักษะ และเตรียมความพร้อมของเด็กในด้านต่างๆ มาหลายสิบปี

การสร้างเสริมพัฒนาการของเด็กทั้ง 4 ด้านนั้น อาศัยองค์ประกอบอีกนับไม่ถ้วน ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านของเล่นเด็ก แปลนทอยส์ เลือกถอดรหัสจากผลิตภัณฑ์ของเล่นไม้ที่มีอยู่แล้ว มาปรับโฉมใหม่และขยายขนาดเพื่อรองรับการเล่นเป็นกลุ่มในนิทรรศการครั้งนี้ โดยแบ่งเป็นโซนหลักทั้ง 8 ตามทักษะสำคัญ

01

Fine Motor Play

โซนที่ออกแบบเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กอย่างนิ้วมือ หนึ่งในไฮไลต์ของมุมนี้ก็คือเครื่องเล่นรังผึ้ง ซึ่งเป็นการนำ Beehives หนึ่งในผลิตภัณฑ์สุดป๊อปของ แปลนทอยส์ มาขยายขนาดและเพิ่มฟังก์ชัน เพื่อให้เด็กๆ ได้ฝึกหัดการใช้มือคีบและพาผึ้งน้อยกลับรัง 

“การคีบนี่ไม่ง่ายนะ เพราะเด็กอ่อนเขาจะคีบด้วยอุ้งมือ แต่มันไม่ได้ สุดท้ายเขาต้องหัดใช้นิ้ว แล้วเดี๋ยวถ้าเราสังเกตดูเวลาเด็กเขาเล่น เขาจะบอกว่า ผึ้งน้อยกลับรังนะ มืดแล้ว กลับรัง พอเช้าก็พาไปเที่ยว ไปหาเพื่อน

Forest of Play ป่าของเล่นใจกลางเมืองที่ PLAN TOYS ชวนเด็กมาเล่น ชวนพ่อแม่มาเรียน
Forest of Play ป่าของเล่นใจกลางเมืองที่ PLAN TOYS ชวนเด็กมาเล่น ชวนพ่อแม่มาเรียน

“ส่วน Beehives นี่จริงๆ เราทำมายี่สิบกว่าปีแล้ว แต่มันเพิ่งมาดังเมื่อสักสองปีที่แล้ว เพราะมีคนเอาไปลงในโซเชียลมีเดียของต่างประเทศ ขายดีถล่มทลายเลย เพราะมันเล่นได้หลายอย่าง เขาสามารถจับคู่สีได้ด้วย ผึ้งสีม่วงใช่ไหม อยู่บ้านสีม่วงนะ เขาก็จะเริ่มจำแนกแยกแยะเป็น และได้เรียนรู้เรื่องความแตกต่าง แล้วมันก็ยังทำ construction เป็นรูปร่างต่างๆ ได้ด้วย เด็กก็จะได้ออกแบบเอง” คุณวิฑูรย์อธิบายกลไกของของเล่นรังผึ้งทั้งสอง

02

Early Math Play

คณิตศาสตร์อาจจะเป็นยาขมสำหรับผู้ใหญ่หลายคน แต่ในป่าการเล่นแห่งนี้ มันคือขนมหวานอันแสนสนุกของเด็กๆ ทุกคนที่จะได้เรียนรู้ทั้งเรื่องการนับจำนวน เรขาคณิต สัดส่วน ไปจนถึงกลศาสตร์มัธยมปลาย ที่ถูกย่อยให้เป็นเรื่องง่ายในรูปของลิงเกาะต้นมะพร้าว

“ลิงนี่มันเหมือนโจทย์ปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่องแรง ลองดูสิ สนุก! คือจริงๆ แล้วมันไม่ใช่แค่จำนวน แต่เนื่องจากว่ามันมีแขนและระยะทางด้วย อย่างที่อะคิมิดิสบอกว่า จะงัดดวงจันทร์เราก็งัดได้ ถ้าเรามีจุดหมุน อันนี้ก็เหมือนกัน ลิงสามตัว ระยะแขนจากจุดหมุนเราก็มีสามช่วง 

นิทรรศการ Forest of Play
Forest of Play ป่าของเล่นใจกลางเมืองที่ PLAN TOYS ชวนเด็กมาเล่น ชวนพ่อแม่มาเรียน

“นี่เป็นความรู้มัธยมปลายเลยนะ นี่มันคือกลศาสตร์ แต่เราไม่ได้สอนเขาตรงๆ เขาอาจจะแค่ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ ไม่ได้คิดเป็นทฤษฎี แต่วันหนึ่งเขาก็จะค้นพบเองว่าของที่มันอยู่ไกลจุดหมุน มันจะมีน้ำหนักมากกว่า” คุณวิฑูรย์สรุปบทเรียนของของเล่นชิ้นนี้ พร้อมกับให้โจทย์เราในการขยับลิงเพื่อสร้างสมดุล ซึ่งสำหรับคนไม่มีหัวทางวิทยาศาสตร์อย่างเรา นี่กลายเป็นบทเรียนกลศาสตร์ที่ทั้งสนุกและง่ายอย่างไม่น่าเชื่อ

03

Imaginative Play & Social Play

ทั้งคุณวิฑูรย์และพ่อแม่ทุกคนต่างก็ลงความเห็นตรงกันว่า นี่คือโซนที่ป๊อปปูลาร์ที่สุดในป่าแห่งนี้ เพราะเป็นโซนที่รวมเอาบ่อบอลไม้ขวัญใจเด็กๆ มาไว้กับบ้านตุ๊กตาหลังโต ที่เปิดให้ทุกคนได้เข้ามาสวมบทบาทสมมติในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น ทำกับข้าว ตากผ้า ปลูกผัก 

ที่สำคัญคือโซนห้องครัว ที่ได้มีการแทรกเอาของเล่นผักผลไม้หั่นได้อันขึ้นชื่อของ แปลนทอยส์ มาไว้ในกะละมังเพื่อให้เด็กๆ ได้เล่นประกอบอาหารกันอย่างสมจริง ซึ่งในบรรดาผลไม้หลากสีนั้น เราบังเอิญเห็นแตงกวาหน้าตาบิดเบี้ยวปะปนอยู่ด้วย จึงหยิบขึ้นมาถามดู

“ชิ้นนี้ดังมากนะ เมื่อปีที่แล้วเราร่วมกับ Social Enterprise ของเนเธอร์แลนด์ ที่เขาตั้งคำถามว่าเราทิ้งพวกผักที่มันบิดเบี้ยวหรือไม่สวยทำไม ทั้งที่เป็นของดีแท้ๆ แต่ไม่มีใครซื้อ ซึ่งเราไปดูแล้วก็เห็นโอกาสว่า เราน่าจะช่วยสอนเรื่องนี้ให้กับเด็กๆ ได้โดยการทำของเล่นออกมา เพื่อให้เด็กเห็นว่า อุ้ย แตงกว่างอ แต่มันก็น่ารักนะ และยังอร่อยเหมือนเดิม ทีนี้เด็กๆ เขาก็จะเกิดความเข้าใจในความแตกต่างภายนอก 

“ของเล่นแปลนทอยส์ทั้งหมดมันมีคอนเซปต์อยู่นะ อย่างชิ้นนี้เด็กจะได้รู้เรื่องการเข้าใจความแตกต่าง มันไม่มีอะไรดีหรือไม่ดี ดำกับขาว แต่มันขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเอาไปทำอะไร” ฟังแล้วก็ได้แต่ทึ่งในคอนเซ็ปต์อันลึกซึ้ง ที่ซ่อนอยู่ในของเล่นไม้ชิ้นเล็กๆ ในมือ แค่คิดว่าเด็กๆ ที่ได้มาเล่นสิ่งเหล่านี้จะได้อะไรดีๆ ติดตัวกลับบ้านไป ก็ชื่นใจแล้ว

04

Kaleidoscope Workshop

หนึ่งในของเล่นที่สะดุดตาเราที่สุดตั้งแต่ก้าวเข้าป่าแห่งนี้มาก็คือ โดมลายจุดที่ตั้งอยู่ตรงกลางทั้งสองอัน ซึ่งคุณวิฑูรย์เล่าว่าเด็กๆ ที่มุดเข้าไปเล่นในนี้จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องแสง การผสมสี และภาพสะท้อน ยังไม่ทันที่เราจะได้ซักถามต่อ คุณวิฑูรย์ก็ยุให้เราคลานเข้าไปลองเล่นด้วยตัวเอง 

“เราคิดว่าเด็กเขาชอบมุดอยู่แล้ว เลยทำฐานนี้ให้ดูเหมือนถ้ำ และทำให้มืดหน่อยเพื่อที่จะให้แสงสว่างจากข้างนอกมันชัด พอเอาแผ่นสีไปส่องกับช่องแสงก็จะเกิดการผสม ถ้าสีเหลืองไปทาบกับน้ำเงิน เด็กก็จะเห็นว่ามันเป็นสีเขียวถูกไหม แต่ถ้าแดงส่องกับน้ำเงินมันก็จะกลายเป็นม่วง

Forest of Play ป่าของเล่นใจกลางเมืองที่ PLAN TOYS ชวนเด็กมาเล่น ชวนพ่อแม่มาเรียน
นิทรรศการ Forest of Play

“ส่วนอีกวงมันคือ Kaleidoscope ที่มีให้หมุนดูเรื่องการสะท้อน แล้วก็มี Periscope ด้วย เป็นกล้องเรือดำน้ำ ส่องจากข้างในเห็นข้างนอก” คุณวิฑูรย์เล่าให้ฟังด้วยความกระตือรือร้น 

แอบกระซิบว่าครอบครัวไหนที่จองกันมาเป็นหมู่คณะ หรือโรงเรียนที่ลงทะเบียนมา จะมีกิจกรรมให้เด็กๆ ได้ประดิษฐ์ Kaleidoscope แบบพกพาด้วยตัวเอง โดยใช้วัสดุเหลือใช้จากโรงงานของ แปลนทอยส์ พอทำเสร็จแล้วก็เอากลับบ้านเป็นที่ระลึกได้อีกด้วย

นิทรรศการ Forest of Play
นิทรรศการ Forest of Play

เมื่อเราเดินวนจนครบรอบ เราอดไม่ได้ที่จะตั้งข้อสังเกตว่า นิทรรศการ Forest of Play แห่งนี้ นอกจากจะสร้างความสนุกให้กับเด็กๆ และสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ปกครอง อย่างที่คุณวิฑูรย์บอกไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว ป่าแห่งนี้ยังทำหน้าที่บอกเล่าความตั้งใจของแปลนทอยส์ออกมา ผ่านทุกตารางนิ้วภายในห้องจัดนิทรรศการ

“ถ้าจะให้เล่าเป็นเรื่อง บรรทัดสุดท้ายของเราก็คือ better kids, better world” คุณวิฑูรย์สรุปสั้นๆ

“ในวันที่ทุกคนบอกว่าโลกมันแย่ สังคมมันแย่ พวกเราต้องบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ๆ เพราะเราเองอาจจะแก่เกินไปแล้วนะ ไม้แก่มันดัดยาก เราต้องมาบ่มเพาะเด็กตั้งแต่เล็กๆ ให้เขามีความพร้อม ทั้งทางด้านร่างกาย สติปัญญา ทางอารมณ์ ทางสังคม ถ้ามันเป็นอย่างนี้มันก็จะทำให้โลกเราไม่เลวร้ายลง แค่นี้ก็สุดยอดแล้ว”

Forest of Play ป่าของเล่นใจกลางเมืองที่ PLAN TOYS ชวนเด็กมาเล่น ชวนพ่อแม่มาเรียน

11 กรกฎาคม – 25 กันยายน 2562 

เวลา 09.00 – 17.00 น.

ณ นิทรรศสถาน อาคารศิลปวัฒนธรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Facebook : PlanNeramit

Writer

Avatar

สาริศา เลิศวัฒนากิจกุล

เด็กนิเทศ เอกวารสารฯ กำลังอยู่ในช่วงหัดเขียนอย่างจริงจัง แต่บางครั้งก็ชอบหนีไปวาดรูปเล่น มีไอศครีมเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจในยามอ่อนล้า

Photographer

Avatar

ปวรุตม์ งามเอกอุดมพงศ์

นักศึกษาถ่ายภาพที่กำลังตามหาแนวทางของตัวเอง ผ่านมุมมอง ผ่านการคิด และ ดู