21 มิถุนายน 2023
3 K

ณ บ้านกึ่งโชว์รูมพ่วงแล็บทดลองหลังหนึ่งย่านเพลินจิต เรามีนัดกับ ‘Philip Huang’ แบรนด์เสื้อผ้าย้อมสีธรรมชาติที่แบกเสน่ห์ของผ้าย้อมครามจากฝีมือพี่น้องชาวสกลนครไปเฉิดฉายที่บรุกลิน มหานครนิวยอร์ก

Philip Huang แบรนด์ผ้าสีธรรมชาติโดยนายแบบเอเชียที่พาคราม จ.สกลนคร ไปโลดแล่นถึงนิวยอร์ก

Philip Huang ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2016 ที่บรุกลิน โดยคู่สามี-ภรรยา ฟิลิป ฮวง (Design Director) และ ชมวรรณ วีรวรวิทย์ (Creative Director) แบรนด์ของพวกเขาต่อยอดและรักษาภูมิปัญญาการย้อมครามจังหวัดสกลนคร ด้วยการแปลงโฉมเป็นเสื้อผ้าร่วมสมัยและยั่งยืน มีภารกิจเล็ก ๆ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ท้องถิ่นนี้ให้ผู้คนรู้จักมากขึ้น ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่หมายรวมถึงหลายประเทศทั่วโลก ตลอดจนสร้างรายได้และเพิ่มจำนวนช่างฝีมือในชุมชน 

กระซิบว่า Tilda Swinton ก็ใส่เสื้อคลุมย้อมครามของพี่น้องชาวสกลฯ มาแล้ว!

Philip Huang แบรนด์ผ้าสีธรรมชาติโดยนายแบบเอเชียที่พาคราม จ.สกลนคร ไปโลดแล่นถึงนิวยอร์ก
Philip Huang แบรนด์ผ้าสีธรรมชาติโดยนายแบบเอเชียที่พาคราม จ.สกลนคร ไปโลดแล่นถึงนิวยอร์ก

ฟิลิปชวนเรานั่งสนทนากันด้วยท่าทีสบาย ๆ ในโชว์รูมขนาดจิ๋ว ภายในห้องมีเสื้อผ้าย้อมสีธรรมชาติหลายคอลเลกชันแขวนอยู่ มีทั้งเฉดสีฟ้าเข้ม สีฟ้าอ่อน สีน้ำเงิน จนถึงสีเหลือง สีเขียว สีส้ม คู่สนทนาของเราเลือกนั่งบนเบาะผ้าย้อมสีคราม ซึ่งเข้ากันกับเสื้อเชิ้ตแขนยาวที่เขาสวมใส่อยู่ ฟิลิปเริ่มเล่าที่มาที่ไปของตัวเองว่า เขาเติบโตที่เมืองคลีฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา หลังจากเรียนจบสาขาวิศวกรรมศาสตร์และทำงานในแวดวงวิศวกรรมมาระยะหนึ่ง เขาหันมาสนใจการทำงานด้านแฟชั่น จนเข้าสู่รันเวย์ เป็นนายแบบเอเชียคนแรกที่ได้เป็นซูเปอร์โมเดล 

อาชีพนายแบบและการทำงานร่วมกับดีไซเนอร์ทำให้เขาเพิ่มพูนความรู้ด้านแฟชั่น-สไตลิ่ง 

Philip Huang แบรนด์ผ้าสีธรรมชาติโดยนายแบบเอเชียที่พาคราม จ.สกลนคร ไปโลดแล่นถึงนิวยอร์ก

“ชมวรรณเป็นผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์ด้วยกันครับ เธอเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอ เธอจบปริญญาเอกทางด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและอุตสาหกรรมสิ่งทอมาโดยเฉพาะ เคยทำงานกับนักออกแบบมากมาย

“เธอมีความเห็นตรงกับผมว่า เรายกระดับความเป็นโลคอลได้” เขาเล่าถึงภรรยา 

ประสบการณ์และความรู้ของทั้งคู่เติมเต็มการทำงานของกันและกัน จนเข้าสู่ปีที่ 7 ของการเดินทางร่วมกับพี่น้องชาวอีสาน นี่คือเรื่องราวทั้งหมดของ Philip Huang แบรนด์ที่ใช้จิตวิญญาณของ ‘คราม’ เป็นเข็มทิศนำทาง

จุดเริ่มต้นเส้นทางสีคราม

โปรดจินตนาการว่าขณะนี้เรากำลังจะออกเดินทางไปตามเส้นทางของแบรนด์

คำถามแรกก่อนล้อหมุน เราถามฟิลิปว่า – จุดเริ่มต้นของ Philip Huang เกิดขึ้นตอนไหน

“ตอนที่ผมกับภรรยาสนใจเรื่องการย้อมครามครับ เลยอยากเรียนรู้กับกลุ่มคนที่ถนัดเรื่องนี้ ตอนแรกวางแผนว่าจะลองไปดูการย้อมครามที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ช่วงนั้นคนในครอบครัวของภรรยาทำงานเกี่ยวกับสินค้า OTOP เลยแนะนำให้ไปดูการย้อมครามของจังหวัดสกลนคร” เขาและภรรยาไม่รีรอ เริ่มออกเดินทางตามหาสีครามทันที

ฟิลิปถ่ายทอดความตั้งใจของเขาที่มีต่อการเรียนรู้เรื่องครามอย่างเหลือล้น เมื่อถึงจังหวัดสกลนคร เขาตระเวนไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ พบปะผู้ใหญ่บ้านประมาณ 15 หมู่บ้าน อาทิ บ้านดงเสียว สถานที่สำคัญที่ทำให้ฟิลิปเจอกับ แม่สะอาด ช่างฝีมือจากกลุ่ม Indigo Grandmas ผู้พาเขาไปท่องโลกแห่งการย้อมคราม 

Philip Huang แบรนด์ผ้าสีธรรมชาติโดยนายแบบเอเชียที่พาคราม จ.สกลนคร ไปโลดแล่นถึงนิวยอร์ก
Philip Huang แบรนด์ผ้าสีธรรมชาติโดยนายแบบเอเชียที่พาคราม จ.สกลนคร ไปโลดแล่นถึงนิวยอร์ก

“ทุกวันนี้เราสนิทกันมาก แน่นอนว่าชุมชนที่เราทำงานด้วยเติบโตขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโควิด-19 เติบโตจากครอบครัวหนึ่งที่มีไม่กี่คน เป็น 16 – 18 คน” เขาเสริม พร้อมเล่าว่า เขาและภรรยาคลุกคลีกับการย้อมคราม ซึ่งเป็นการทำงานกับชุมชนที่มีความหมายมาก การที่แบรนด์จะโตได้ ชุมชนต้องโตด้วย นอกจากเรื่องชุมชนที่แสนพิเศษ ฟิลิปยังบอกอีกว่า เขาเรียนรู้การย้อมครามจากการร่วมงานกับ แมน-ปราชญ์ นิยมค้า เจ้าของแบรนด์ผ้าสีธรรมชาติ Mann Craft ผสมผสานกับการแรงบันดาลใจจากภาคอีสาน หลังชมภาพยนต์ของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์คุณภาพที่มักทิ้งร่องรอยจิตวิญญาณของแดนอีสานให้คนทั่วโลกได้เห็น

Philip Huang ยังรังสรรค์เสื้อผ้าจากฝีมือการกำกับภาพยนตร์ Memoria ของอภิชาติพงศ์ ด้วยการนำสตอรีบอร์ดวาดมือของผู้กำกับลูกอีสานมาพิมพ์ลงบนเสื้อยืดคอกลมย้อมสีคราม อีกหนึ่งไฮท์ไลท์ คือ TILDA IKAT ROBE เสื้อคลุมที่ได้แรงบันดาลใจจากทิลดา สวินตัน หนึ่งในนักแสดงฮอลลีวู้ดจากภาพยนตร์เรื่อง Memoria

ความพิเศษของเสื้อคลุมตัวยาวตัวนี้ ทำมาจากผ้าย้อมครามและผ้าไหมมัดหมี่ทอมือและย้อมครามโดยช่างฝีมือชาวสกลนคร ซึ่งมีลวดลายให้เลือกสั่งจอง 2 ลวดลาย คือ มัดหมี่ลายจตุคาม และ มัดหมี่ลายทิวทัศน์อีสาน

หลังจากฟิลิปสนุกกับการสำรวจบนภาคพื้นดินแล้ว เขาก็อยากลองสำรวจโลกใต้มหาสมุทรบ้าง จึงเกิดเป็น ‘Depth of The Sea’ คอลเลคชันล่าสุดที่ถ่ายทอดท้องทะเลออกมาเป็นลายมัดย้อม ซึ่งเขาลองผิดลองถูกมาเป็นระยะเวลานาน กว่าจะได้มาซึ่งลายที่ต้องการ นอกเหนือจากการใช้สีครามธรรมชาติในการย้อม ยังมีสีธรรมชาติอื่น ๆ อย่างสีของใบมะม่วงและสีจากฝาง มาใช้ย้อมเพิ่มเติม ผสมกับกิมมิกเล็ก ๆ น้อย ๆ ของกระดุมเสื้อที่ทำจากเปลือกหอย สอดคล้องกับคำบรรยายของคอลเลคชั่นที่ว่า – “The sea is all of us and water is life.” 

ที่สำคัญ ทุกคอลเลคชั่นล้วนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และทำจากวัสดุธรรมชาติ 100%

เราถามเขาต่อว่า แล้ว Philip Huang อยากสื่อสารอะไรกับผู้คน 

“สิ่งที่ผมตั้งใจคือการสร้างมุมมองใหม่ ๆ ให้กับวิถีดั้งเดิม ในรูปแบบโมเดิร์นที่ยังคงรักษารากเหง้าเอาไว้ อย่างการมีช็อปที่บรุกลิน ก็เพราะผมมีบ้านอยู่ที่นั่น แต่อีกมุมหนึ่ง มันเป็นความสงสัยของผมที่ว่า

“ถ้าเอาวัฒนธรรมอีสานไปไว้กลางบรุกลินจะเป็นยังไง ผู้คนจะมองเห็นเสน่ห์ของอีสานมากขึ้นไหม”

Philip Huang แบรนด์ผ้าสีธรรมชาติโดยนายแบบเอเชียที่พาคราม จ.สกลนคร ไปโลดแล่นถึงนิวยอร์ก

 ระหว่างเส้นทางสีคราม

หลังจากสำรวจจุดกำเนิด ความคิด ความสนใจของเขา ตลอดการสนทนา เขาพูดถึงแม่สะอาดและชุมชนอยู่บ่อย ๆ ถึงขนาดทำสารคดี Finding Oasis เกี่ยวกับชุมชนในสกลนครลงบนเว็บไซต์ เราอดไม่ได้ที่จะให้เขาเล่าถึงกระบวนการทำงาน และแนวคิดการทำงานร่วมกับชุมชนที่ให้ความรู้สึกแน่นแฟ้นเหมือนครอบครัว

“สิ่งสำคัญที่ทำให้ผมทำงานกับชุมชนได้จนถึงทุกวันนี้ คือความเข้าใจ” เขาตอบอย่างจริงใจ

ฟิลิปเล่าถึงเหตุการณ์ตอนเจอแม่สะอาดครั้งแรกว่า ท่านเข้าใจสิ่งที่เขาอยากทำจริง ๆ และเป็นช่างฝีมือที่มีความคิดเปิดกว้างมาก ๆ แค่คุยก็รู้เลยว่าร่วมงานกันได้แน่ ๆ ด้วยความที่ฟิลิปมาจากอีกฟากหนึ่งของโลก นี่เลยไม่ใช่สิ่งที่ชุมชนต้องถ่ายทอดให้เขาเพียงฝ่ายเดียว เขาเองก็มีส่วนแบ่งปันมุมมองด้วย 

เขาใช้เวลาอยู่กับชุมชน 7 – 8 ปีในการเรียนรู้ลักษณะของธรรมชาติ เช่น ศึกษาว่าต้นครามที่พบในจังหวัดสกลนครมีกี่สายพันธุ์ ลักษณะการเก็บเกี่ยวเป็นอย่างไร ปัจจัยที่ส่งผลต่อสีมีอะไรบ้าง ขั้นตอนการย้อม การเลือกชนิดผ้าที่ย้อมแล้วผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด ทักษะเหล่านี้ชุมชนสอนเขาแบบไม่มีกั๊ก

Philip Huang แบรนด์ผ้าสีธรรมชาติโดยนายแบบเอเชียที่พาคราม จ.สกลนคร ไปโลดแล่นถึงนิวยอร์ก
Philip Huang แบรนด์ผ้าสีธรรมชาติโดยนายแบบเอเชียที่พาคราม จ.สกลนคร ไปโลดแล่นถึงนิวยอร์ก

แล้วทำไมคุณถึงให้ความสำคัญกับชุมชนเป็นอันดับต้น ๆ – เราสงสัย

“คำตอบแรกที่ผมนึกออกคือ แล้วทำไมจะไม่ล่ะ ผมมีทางเลือกในการทำงานมากมาย ถึงจะไม่ใช่วิธีที่ง่ายที่สุดก็ตาม โปรดิวเซอร์ของเราบอกเสมอว่าเราไปทางที่ง่ายกว่านี้ได้นะ แต่ผมคิดว่าการทำงานกับช่างฝีมือมีความหมายมาก ๆ เพราะเป็นการทำงานร่วมกันอย่างแท้จริง มันไม่ใช่การที่เราขอให้พวกเขาทำอะไรบางอย่างให้เรา แต่เรากำลังทำงานด้วยกัน เพื่อสร้างบางสิ่งบางอย่างร่วมกัน”

ยิ่งพูดคุย เราก็ยิ่งเห็นถึงความตั้งใจของเขา จนเราสงสัยว่า คราม สอนอะไรให้เขาบ้าง

“สิ่งที่ผมเรียนรู้ คือเลี้ยงครามก็เหมือนเลี้ยงเด็กทารก ผมต้องคอยสังเกต เหมือนมองดูเด็กแรกเกิดที่เพิ่งลืมตาดูโลก แล้วค่อย ๆ ปล่อยให้เขาโต เฝ้าดูอยู่ห่าง ๆ โดยไม่เข้าไปขวาง เพราะเขาอยู่ในวัยที่ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ต้องมีประสบการณ์ของตัวเอง ซึ่งในฐานะพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ สิ่งที่พวกเราทำได้ คือคอยอยู่เคียงข้าง ให้คำแนะนำ และมอบความรู้ที่มีให้เขานำไปใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อผลักดันตัวเอง

“ผมว่า คราม สอนให้ผมเรียนรู้และเข้าใจการเป็นพ่อแม่คน” นี่คือคำตอบของคนเลี้ยงคราม

Philip Huang แบรนด์เสื้อผ้าสีธรรมชาติร่วมสมัย โดยนายแบบเอเชียที่พาภูมิปัญญาย้อมครามของพี่น้อง จ.สกลนคร สู่นิวยอร์ก

เลี้ยงลูกกับเลี้ยงคราม สิ่งไหนยากกว่ากัน – เราถามพ่อลูกสามต่อด้วยคำถามติดตลก 

ทันทีที่เขาได้ยินคำถาม ก็เผลอหัวเราะออกมา ก่อนตอบเราว่า

“ทั้งลูกและครามมีสิ่งที่ท้าทายในมุมของกันและกันครับ (ยิ้ม)”

“ครามเปรียบเสมือนจิตวิญญาณ มันเปลี่ยนแปลงได้เรื่อย ๆ ขึ้นอยู่กับสภาพของครามและปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ค่า pH ระยะเวลา หรือสภาพอากาศ ซึ่งครามถือเป็นสิ่งหนึ่งที่ดูแลยาก บางครั้งผมก็รู้สึกว่าครามคล้ายกับลูก ๆ ในเวลาที่พวกเขาหลับ มันค่อนข้างสงบ แต่พอตื่นปุ๊บ ทุกอย่างดูอลหม่าน ผมคิดว่าการเลี้ยงลูกและการเลี้ยงครามมีขึ้นมีลง แต่ความมั่นคงเพียงอย่างเดียวของทั้ง 2 สิ่งคือพวกเขาเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ”

เส้นทางสีครามในวันข้างหน้า

ในฐานะที่ฟิลิปเป็นคนในแวดวงแฟชั่นและเจ้าของกิจการที่ทำงานร่วมกับชุมชน

เราชวนเขาแบ่งปันความเห็นถึงความเป็นไปได้ในอนาคต ดังนี้

คุณว่าแฟชั่นกับภูมิปัญญาจะไปด้วยกันได้อย่างไร

การก้าวไปข้างหน้า ต้องไม่ลืมมองย้อนกลับไปที่จุดกำเนิดของมันด้วย ถ้าให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาที่เป็นมิตรกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แฟชั่นก็พัฒนาไปในทิศทางที่ดีร่วมกับภูมิปัญญาได้

Philip Huang แบรนด์เสื้อผ้าสีธรรมชาติร่วมสมัย โดยนายแบบเอเชียที่พาภูมิปัญญาย้อมครามของพี่น้อง จ.สกลนคร สู่นิวยอร์ก

แล้วทิศทางของงานคราฟต์ไทยจะเป็นอย่างไรในอนาคต

ผมว่าอนาคตของคราฟต์ไทยจะเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น ถ้าสร้างสะพานเชื่อมให้หลาย ๆ คนรับรู้ถึงคุณค่าของภูมิปัญญา ผมพยายามนำเสนอด้วยวิธีการต่าง ๆ เพื่อให้นักออกแบบรู้จักภูมิปัญญาเหล่านั้นมากขึ้น 

อย่าง Philip Huang พาครามและแม่สะอาดไปเทศกาล Wonderfruit ทุกวันของการจัดงาน มีคนราว 100 คนมาทำกิจกรรม หลายคนไม่รู้จักครามมาก่อน แต่หลังจากเขาลองทำเวิร์กช็อปก็เกิดความสนใจ ซึ่งผมดีใจมากที่หลายคนจะไปศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับครามหลังจากที่เราเป็นสะพานเชื่อมเขากับโลกของการย้อมคราม

Philip Huang แบรนด์เสื้อผ้าสีธรรมชาติร่วมสมัย โดยนายแบบเอเชียที่พาภูมิปัญญาย้อมครามของพี่น้อง จ.สกลนคร สู่นิวยอร์ก

คุณวางอนาคตของแบรนด์ Philip Huang ไว้อย่างไร

ในอนาคตผมอยากช่วยให้หลาย ๆ คนเข้าถึงภูมิปัญญาเหล่านี้ได้มากขึ้น ผมมีแผนจะขยายไปยังประเทศต่าง ๆ เช่น บาหลีและจังหวัดภูเก็ต แน่นอนว่าผมจะกลับไปที่เทศกาล Wonderfruit อีกครั้ง ผมมองว่านั่นเป็นจุดเชื่อมสำคัญในการช่วยให้ผู้คนที่อาจมาแค่ฟังเพลงได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่พวกเขาไม่คาดคิดกลับไปด้วย

Philip Huang แบรนด์เสื้อผ้าสีธรรมชาติร่วมสมัย โดยนายแบบเอเชียที่พาภูมิปัญญาย้อมครามของพี่น้อง จ.สกลนคร สู่นิวยอร์ก
Philip Huang Showroom

Writer

ชาลิสา นุตตะรังค์

ชาลิสา นุตตะรังค์

คนที่ชอบฟังมากกว่าพูด ไม่ใช่พูดไม่รู้เรื่อง แต่ขอเรียบเรียงคำก่อน ใช้ชีวิตบนหลัก ‘ถ้าเครียดก็แค่กินขนม’

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ