ไม่บ่อยนักที่เราจะได้มีโอกาสเข้าห้องเรียนที่มีนักแสดงในดวงใจมาเป็นครูหน้าชั้น ครั้งนี้ก็เช่นกัน ที่เราได้มีโอกาสฝากตัวเป็นศิษย์กับ ทิลดา สวินตัน (Tilda Swinton) นักแสดงมากฝีมือระดับฮอลลีวูด ที่ฝากผลงานไว้มากมาย และเรื่องล่าสุดกับภาพยนตร์เรื่อง Memoria โดยการร่วมงานกับผู้กำกับชาวไทยอย่าง เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล จนกวาดรางวัล Jury Prize จากงาน Cannes Film Festival 2021 มาครอง ได้นำพาในเราได้มาพบกับเธอในวันนี้
![Masterclass กับ ทิลดา สวินตัน ถอด 7 บทเรียนการเป็นนักแสดงมือรางวัลตลอด 30 ปี](https://media.readthecloud.co/wp-content/uploads/2022/02/29123101/masterclass-with-tilda-swinton-7-750x500.jpg)
ในห้องเรียนครั้งแรกในไทยนี่เอง ที่ทิลดามีโอกาสมาเปิดประสบการณ์ระหว่างทางการแสดงตลอด 30 ปี ทั้งตัวตน การเป็นอยู่ และการเปลี่ยนผ่าน กับ Masterclass with Tilda Swinton : “Acting, Being, Shape-shifting” ที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ในฐานะนักเรียนหน้าชั้น เราจดเลกเชอร์ถอดบทเรียนที่ได้มาฝากกัน สำหรับนักเรียนการแสดงและคนทำหนัง หวังว่าคุณจะได้เทคนิคที่ไม่มีเทคนิคไม่มากก็น้อยนี้กลับไป ส่วนแฟนหนัง ก็จะได้รู้เคล็ดลับว่าเจ้าแม่แห่งฮอลลีวูดและหนังนอกกระแสคนนี้ทำอย่างไร ให้เราตกหลุมรักการแสดงของเธอครั้งแล้วครั้งเล่า
บทเรียนที่ 1 : นักแสดงคือศิลปินและนักต่อสู้
“ฉันไม่ได้สนใจการแสดง”
ทิลดาเริ่มต้นเรื่องราวที่ตรงนั้น เธอเล่าว่าเธอเป็นนักเขียนก่อนเริ่มงานแสดง และเข้ามาในวงการนี้ได้เพราะเพื่อน ๆ ผู้เรียนการแสดงชักนำ จนถึงตอนนี้ การแสดงก็ยังไม่ใช่สิ่งที่เธอจะพูดได้ว่าชอบ เรียกว่าเป็นความสัมพันธ์แบบหวานอมขมกลืน เพราะใจจริงอยากมีชีวิตเป็นศิลปินมากกว่า
![Masterclass กับ ทิลดา สวินตัน ถอด 7 บทเรียนการเป็นนักแสดงมือรางวัลตลอด 30 ปี](https://media.readthecloud.co/wp-content/uploads/2022/02/29123100/masterclass-with-tilda-swinton-13.jpg)
![Masterclass กับ ทิลดา สวินตัน ถอด 7 บทเรียนการเป็นนักแสดงมือรางวัลตลอด 30 ปี](https://media.readthecloud.co/wp-content/uploads/2022/02/29123059/masterclass-with-tilda-swinton-14.jpg)
แนวคิดนี้มาจากการแสดงภาพยนตร์เรื่องแรกอย่าง Caravaggio (1986) กับ เดเร็ค จาร์มาน (Derek Jarman) เธออยากเป็นส่วนหนึ่งของคนทำหนัง แต่ด้วยความเป็นหนังอินดี้ซึ่งในยุคนั้นมันช่างแสนยากเย็น แม้จะได้รับการสนับสนุนจาก The British Film Institute แต่ช่วงยุค 80 ประเทศอังกฤษเต็มไปด้วยปัจจัยทางด้านการเมืองและการต่อสู้ ส่วนนี้ก็ทำเอาเราปวดใจไม่ต่างจากสถานการณ์ปัจจุบัน เมื่อภาครัฐไม่ได้เห็นความสำคัญกับเหล่าคนในแวดวงการทำงานศิลปะ ทั้งลดงบคนทำภาพยนตร์ ศิลปินจึงต้องผลิตผลงานด้วยตัวเองทั้งหมดเท่าที่มี เงินทุนก็ไม่สูงนักหรือบางทีแทบไม่มี แต่ทิลดากลับบอกว่านั่นกลับเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานอันมีค่าของเธอ
บทเรียนที่ 2 : การแสดงต้องไม่เปลี่ยนไปแต่พร้อมเปลี่ยนแปลง
ผลงานมาสเตอร์พีซที่ถือได้ว่าเป็นจุดพลิกผันในชีวิต คือภาพยนตร์เรื่อง Orlando (1992) ที่ดัดแปลงมาจากนวนิยายของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ (Virginia Woolf) ซึ่งเธอรับบทนำ ‘ออร์แลนโด’ ที่เป็นทั้งชายและหญิงในคนเดียว เรื่องนั้นทิลดาแสดงถึงความลื่นไหลทางเพศอย่างถึงแก่น จนทำให้คนดูอย่างเราเชื่อสนิทใจ
นักแสดงวัย 61 บอกว่าสิ่งที่ต้องมีคือ Consistency and Changes คือแม้เพศจะเปลี่ยนไป แต่แก่นคาแรกเตอร์ของตัวละครยังคงอยู่เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง รวมถึงต้องทำให้ตัวละครยังคงมีชีวิตอยู่ได้ แม้อยู่คนละช่วงเวลา ที่สำคัญ ในเรื่องนี้เอง เธอใช้วิธีการสื่อสารทั้งมองและพูดกับคนดูผ่านกล้อง ซึ่งเรียนรู้มาจากแสดงหนังเรื่องแรกอย่าง Caravaggio นับเป็นการแสดงอีกมิติที่ทิลดาเรียนรู้ไปอีกขั้น
บทเรียนที่ 3 : การเลียนแบบอาจเป็นความชั่วร้าย
![Masterclass กับ ทิลดา สวินตัน ถอด 7 บทเรียนการเป็นนักแสดงมือรางวัลตลอด 30 ปี](https://media.readthecloud.co/wp-content/uploads/2022/02/29123058/masterclass-with-tilda-swinton-15-750x500.jpg)
มีหนึ่งประโยคในหนังเรื่อง Friendship’s Death (1987) ที่ทิลดาเคยให้สัมภาษณ์อย่าง “Mimicry is always a sinister.” เมื่อต้องรับบทหุ่นยนต์สาวผู้ถูกมนุษย์ต่างดาวส่งมายังโลกมนุษย์ แม้ว่าต้องแสดงเป็นหุ่นยนต์ แต่เสน่ห์ของความเป็นมนุษย์ของเธอยังคงอยู่ได้ตัวละครอย่างน่าทึ่ง ซึ่งในบทเรียนนี้เอง นักแสดงมืออาชีพตกตะกอนได้ว่า การแสดงออกไม่จำเป็นต้องลอกเลียนแบบจนสมบูรณ์เสียทั้งหมด แต่การแสดงต้องการความจริงแท้เหมือนกับการสร้างงานศิลปะขึ้นมาสักชิ้นมากกว่า นี่เองที่เป็นจุดเปลี่ยนผ่านให้แสดงละครอย่างเป็นธรรมชาติ สร้างทางเลือกให้ตัวละครดูมีมิติ และส่งผ่านในมุมมองสารคดีชีวิตมากกว่าการแสดงเพื่อแสดง
บทเรียนที่ 4 : ด้นสดบ้างเพื่ออิสรภาพ
“The last thing you want, is to know what you are doing.” สำหรับการแสดงแล้ว สิ่งที่ควรรู้เป็นสิ่งสุดท้าย คือการรู้ตัวว่าทำอะไรอยู่ คตินี้ทำให้ในการแสดงหลายต่อหลายครั้ง ทิลดาใช้หนังเป็นพื้นที่ทดลองสิ่งแปลกใหม่ เช่นเดียวกับหนังเรื่อง The Last of England (1987) ที่เธอได้ร่วมงานกับ เดเร็ค จาร์มาน อีกครั้ง
![Masterclass กับ ทิลดา สวินตัน ถอด 7 บทเรียนการเป็นนักแสดงมือรางวัลตลอด 30 ปี](https://media.readthecloud.co/wp-content/uploads/2022/02/29123057/masterclass-with-tilda-swinton-16.jpg)
จากตอนแรกที่ตัวหนังตั้งใจใช้กล้องฟิล์ม 35 mm สุดท้ายกลายเป็นว่าหนังเรื่องนี้มาลงเอยที่ Super 8 กล้องฟิล์มสุดคลาสสิกซึ่งใช้ต้นทุนน้อยกว่า แต่ได้อารมณ์โฮมมูฟวี่ของแท้ แถมเธอต้องด้นสดอีกด้วย ยกตัวอย่างฉากไคลแม็กซ์ของเรื่อง ที่กำลังเกิดระเบิดไฟไหม้ท่วมอยู่หลังฉาก ทิลดาก็อิมโพรไวซ์โดยการกลายเป็นเจ้าสาวผู้กำลังร้องไห้อย่างบ้าคลั่ง ขณะฉีกชุดและเต้นระบำบนชายหาดไปด้วย
นั่นแปลว่าการด้นสดทำซ้ำไม่ได้ และทำให้ซีนนี้เป็น The One and Only ที่มีแค่หนึ่งเดียว ถ้าให้เล่นอีกครั้งก็ไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งเธอเชื่อว่านี่แหละคือความมหัศจรรย์ของภาพยนตร์ ที่สร้างอิสรภาพทางการสร้างสรรค์
บทเรียนที่ 5 : การแสดงแบบไหนถึงดีที่สุด
ไม่มี!
นั่นคือคำตอบที่เราได้ เพราะเธอบอกว่าการแสดงแต่ละเรื่อง ผู้กำกับแต่ละคน มีเอกลักษณ์และวิธีการทำงานที่ต่างออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่มีในทุกเรื่อง คือการค้นหาตัวตนที่พอเหมาะพอดี ทิลดาชอบเรียนรู้การทำงานกับเฟรมภาพ โดยการแอบดูรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะเกิดขึ้น ว่าคนดูจะได้เห็นอะไรในฉากบ้าง จนถึงลงมือออกแบบว่าตัวละครควรมีลักษณะและการเคลื่อนไหวอย่างไร หนังหนึ่งเรื่องเลยไม่ควรยัดเยียดสิ่งที่ต้องการให้จบลงในนั้น แต่คือการสร้างลำต้นที่แข็งแกร่งเพื่อให้กิ่งก้านและใบ ได้ขยายต่อไปในแบบของตัวเอง
![](https://media.readthecloud.co/wp-content/uploads/2022/02/29123056/masterclass-with-tilda-swinton-30-750x500.jpg)
![](https://media.readthecloud.co/wp-content/uploads/2022/02/29123054/masterclass-with-tilda-swinton-20-750x384.jpg)
และแม้จะก้าวจากการแสดงหนังอินดี้ สู่การแสดงหนังใหญ่อย่าง Narnia, The Avengers หรือ Doctor Strange นักแสดงมือรางวัลก็บอกว่าวิธีการทำงานไม่ได้ต่างออกไป แต่มันคือการทดลองหาคาแรกเตอร์ที่ใช่ และเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ไปเรื่อย ๆ
บทเรียนที่ 6 : เทคนิคคือการไม่มีเทคนิค
เห็นทิลด้าแสดงด้วยความผ่อนคลายทุกครั้ง พอถามชัด ๆ ว่าเทคนิคคืออะไรกัน กระซิบบอกได้ไหม เธอก็บอกว่าไม่มีจริง ๆ ในความคิดเห็นของเธอ มองว่าการใช้เทคนิคการแสดงที่มากเกินไปอาจสร้างความรำคาญใจเสียมากกว่า แม้เป็นนักแสดงที่ไม่เคยลงเรียนการแสดงมาก่อน แต่ก็พอสรุปกับตัวเองได้ว่า เธอไม่เชื่อเรื่องการใช้เทคนิคมากมาย และถึงแม้ต้องทำงานกับคนที่มีเทคนิคทางการแสดงต่างกัน แต่นี่แหละคือความสนุกในการทำงาน
เล่าไปเล่ามา เราก็ค้นพบหน้าที่สำคัญของนักแสดง คือการเตรียมตัวอย่างเข้มข้น ตั้งแต่อ่านบท การเข้าใจตัวละคร เพื่อเปิดรับประสบการณ์ของตัวละคร แล้วนั่งพูดคุยกับผู้กำกับก่อน ว่าเธอเห็นทิศทางตัวละครอย่างไร จะสร้างให้คาแรกเตอร์นั้นแสดงออกอย่างไร และข้อที่เราเซอร์ไพรส์ คือการแสดงทางเสียง ที่ทุกเรื่องที่ทิลดาทำการแสดงจะมีการออกแบบตัวละครใหม่ รวมถึงน้ำเสียง สำเนียง จังหวะ โดยดูความคิดและความสัมพันธ์กับตัวละครอื่น ๆ ในเรื่อง
ยกตัวอย่างใน Michael Clayton (2007) ที่ต้องรับบททนายความชาวอเมริกัน I Am Love (2009) ภรรยาที่พูดภาษาอิตาเลียนสำเนียงรัสเซีย หรือ Memoria (2021) ในบทเจสสิก้า สาวชาวสก็อตที่ต้องพูดภาษาสเปน เพราะมาใช้ชีวิตในโคลัมเบีย ซึ่งทุกเรื่องมีการวางเสียงและวิธีการพูดที่แตกต่างออกไป และสิ่งนี้เอง ที่ทำให้เราเชื่อได้ไม่ยากว่าเธอคือตัวละครนั้นจริง ๆ
![](https://media.readthecloud.co/wp-content/uploads/2022/02/29123053/masterclass-with-tilda-swinton-28-750x500.jpg)
บทเรียนที่ 7 : หนังอยู่ยั้งยืนยง
ก่อนคลาสเรียนนี้ต้องจบลงในเวลาอันสั้น นักแสดงระดับตำนานก็บอกเล่าถึงความฝัน ว่าอยากเปิดโรงหนังเป็นของตัวเอง รวมถึงโปรเจกต์ทำโรงหนังเคลื่อนที่อย่าง Mobile Cinema ที่ขับเคลื่อนในบ้านเกิดก่อนหน้านี้ ทิลดาบอกว่าประสบการณ์ดูหนังในจอโรงกับดูผ่านหน้าจอสตรีมมิ่งต่างกัน ดังนั้นเธอเลยอยากเห็นการเติบโตของหนังโรง เพื่อเปิดประสบการณ์ประสาทสัมผัสทั้ง 5 รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ให้กับผู้คน และเธอเชื่อเสมอว่า ‘Film Forever’ หรือ หนังต้องอยู่ยั้งยืนยงตลอดไป
เช่นเดียวกับ Memoria (2021) ที่คอภาพยนตร์ต้องมาฟังเสียงปัง! และการแสดงอันสมบทบาทในโรงภาพยนตร์เพื่ออรรถรสที่ครบถ้วน อีกทั้งหนังเรื่องนี้ได้ดึงส่วนหนึ่งของทิลดามาเป็นตัวละคร พร้อมพาคนดูอย่างเรา ๆ ถลำลึกไปในความทรงจำพร้อมกัน
พิสูจน์ความสามารถทางการแสดงของ ทิลด้า สวินตัน พร้อมกันวันที่ 3 มีนาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์
![](https://media.readthecloud.co/wp-content/uploads/2022/02/29123052/masterclass-with-tilda-swinton-22.jpg)
ภาพ : หอภาพยนตร์ Thai Film Archive และ Common Move