แต่เธอเป็นผู้หญิง
ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ เติบโตในวัด และเริ่มต้นชีวิตศิลปินด้วยการเป็นช่างเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง
หากภาพตะวันเป็นผู้ชาย นี่อาจเป็นประโยคเปิดธรรมดา ๆ ในบทความแนะนำศิลปิน แต่ภาพตะวันเป็นผู้หญิง ไม่ค่อยมีหรอกเด็กผู้หญิงที่ใช้ชีวิตเป็นเด็กวัด ถอดเสื้อกระโดดน้ำกับเด็กผู้ชายคนอื่น อยู่อย่างเรียบง่ายไร้ไฟฟ้าเข้าถึงราวกับร้อยปีก่อน และแปลกแต่จริง ปกติแล้วไม่มีผู้หญิงคนไหนในประเทศไทย (หรือสยาม) ที่เป็นช่างเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง
มันเป็นอาชีพของผู้ชาย


หลังจากทำงานตรงนั้นได้ราว 14 ปี ภาพตะวัน สุวรรณกูฏ เริ่มทำงานศิลปะด้วยสื่ออื่น ๆ อย่างงานกระดาษหรืองานทอผ้า สื่อสารประเด็นเกี่ยวกับ ‘ผู้หญิง’ แล้วออกเดินทางแสดงงานศิลปะไปทั่วโลก งานของเธอร่วมสมัยและเป็นสากลอย่างที่สุด
การเป็นเด็กผู้หญิงในวัด เป็นผู้หญิงที่ทำงานจิตรกรรมฝาผนัง ทำให้เธอเผชิญความขัดแย้งในใจหลายอย่างจนกลายเป็นคนที่สร้างงานด้วยการตั้งคำถามต่อความปกติธรรมดา
ปัจจุบันเธอย้ายไปอยู่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย จบปริญญาโททางด้านทัศนศิลป์จาก Sydney College of the Arts และเป็นศิลปินไทยชั้นแนวหน้าในออสเตรเลียที่ทำงานร่วมกับศิลปินระดับนานาชาติมากมาย โดยใส่ความเป็นตะวันออก-ตะวันตก ลงในงานด้วย
เราเจอภาพตะวันครั้งแรกเมื่อครั้ง Womanifesto กลุ่มศิลปินหญิงนานาชาติที่เริ่มต้นจากประเทศไทย กำลังวุ่นวายกับการติดตั้งนิทรรศการ ‘วูแมนิเฟสโต: ความล่องไหลที่ต่อเนื่อง’ นิทรรศการครั้งล่าสุดของพวกเธอ ซึ่งเป็นหนึ่งใน Master Series ของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)
ภาพตะวันเป็นคนสุดท้ายในกลุ่มผู้ก่อตั้งที่เราได้ทำความรู้จัก เธอตามมาสมทบทีหลังเพราะต้องบินมาจากออสเตรเลียไม่กี่วันก่อนเปิดนิทรรศการ
วันนั้นเรารู้ว่าภาพตะวันมีชื่อเล่นว่า ช้าง ฟังดูไม่เหมือนชื่อผู้หญิงนัก
และวันนั้นแหละที่เราได้รู้ว่าเธอเป็นลูกสาวของ ท่านกูฏ (ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ) ศิลปินใหญ่ผู้ล่วงลับที่บุกเบิกจิตรกรรมฝาผนังไทยยุคใหม่

แต่พ่อไม่เคยสอนลูกสาวเขียนภาพ
แรกเริ่มเดิมทีในสมัยอยุธยาถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น วัดวัดหนึ่งจะมีจิตรกรรมฝาผนังได้ก็เพราะมีการอุปัฏฐาก การสนับสนุนจากวัง มีการมอบหมายงานให้ช่างเก่ง ๆ ที่ชำนาญในการเขียนภาพได้ทำงาน เหล่าช่างก็ดำรงสืบต่อกันมาเป็นสกุลช่าง
ย่างเข้ายุคสมัยรัชกาลที่ 3 หรือ 4 สยามก็เริ่มได้รับอิทธิพลจากอาณานิคมตะวันตก สกุลช่างที่เคยมีก็ค่อย ๆ จางหายไปตามกาลเวลา จนเรียกได้ว่าหยุดไปเป็นร้อยปี
ท่านกูฏไม่ได้สืบทอดวิชามาจากช่างเหล่านั้นตามประเพณี หากเป็นนักเรียนศิลปะในระบบการศึกษาสมัยใหม่ คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มองเห็นศักยภาพในการเขียนจิตรกรรมฝาผนังไทยยุคใหม่ ซึ่งมีเทคนิคและการตีความต่างไปจากเดิม
ท่านกูฏเริ่มเขียนภาพในวัดก็เข้าสู่ช่วงวัย 40 แล้ว ขณะนั้นภาพตะวันอายุได้ 7 – 8 ขวบ และเริ่มตามพ่อไปอยู่ในวัด กินนอนในกุฏิแม่ชี ว่างก็ว่ายน้ำในคลองบ้าง ดูพ่อทำงานบ้าง
จริง ๆ แล้วท่านกูฏมีลูกทั้งชายและหญิงถึง 6 คน หากภาพตะวันและน้องชายอีก 2 คนเป็นลูกที่อายุเหมาะเจาะจะพาไปเลี้ยงในวัด ณ ขณะนั้น เพื่อแบ่งเบาภาระภรรยา แต่เพราะเธอไม่เด็กไป ไม่โตไป ภาพตะวันจึงมีโอกาสได้ซึมซับความเป็นศิลปินของพ่อมากกว่าพี่น้อง
“เราคิดว่าพ่อไม่มีอาชีพ คิดว่าเขาตกงาน” ศิลปินวัย 64 กล่าวถึงตัวเองในวัยเด็ก


เราเห็นภาพตะวันเป็นศิลปินเหมือนพ่อ จึงนึกไปถึงภาพท่านกูฏสอน ‘วิชาศิลปะ’ ให้ลูกสาวเต็มที่ เริ่มตั้งแต่พื้นฐานการวาด การลงสี การให้แสงเงา แต่กลายเป็นว่าเขามีวิธีการถ่ายทอดในแบบที่เราจินตนาการไม่ถึงเลย
“เราบอกว่าจะวาดรูป พ่อก็บอกให้ช่วยพ่อกวาดวัด ตอนที่จับพู่กันครั้งแรกก็อายุ 15 – 16 แล้ว และพ่อไม่ได้สอนด้วย เขาปล่อยให้เราค้นหาเอง” เธอไม่ได้บอกว่าเธอพอใจกับวิธีการของพ่อหรือไม่ แต่น้ำเสียงของเธอทำให้เราสัมผัสได้ถึงความรักที่มีต่อพ่ออย่างชัดเจน
“พ่อเขาเป็นนักกลอน เวลาให้เราผสมสี เขาไม่บอกว่าเอา 1 ส่วน 5 ส่วน แต่เขาจะพูดว่า ยามเมื่อพระมหาสัตว์ เสด็จสู่ครรโภทรพระมารดา ราตรีมืดมนอนธการ พลันสว่างรุ่งรางดั่งกลางวัน หมู่บุพชาติก็ดารดาษมาโดยฑิฆัมพร
“เขาเคยเขียนรูปบนกระดาษกองเป็นภูเขาแล้วก็เอาไปเผา เราถามพ่อว่าทำไมต้องเผา พ่อก็บอกว่าไม่อยากให้คนหยุดคิด เพราะสิ่งที่พ่อเผาไม่ได้อยู่ในนี้”
ภาพตะวันเล่าพลางชี้ไปที่ศีรษะของตัวเอง
ศิลปินหลายคนอาจเริ่มต้นวาดภาพที่ผนังห้องนอนของตัวเอง ไม่ก็ห้องเรียนศิลปะชั้นอนุบาล จะมีใครสักกี่คนที่มี ‘วัด’ เป็นสตูดิโอแรกในชีวิตเหมือนอย่างเธอ

แต่พ่อห่วงงานที่โรงแรมอนันตรา
เมื่อถึงเวลาเข้ามหาวิทยาลัย ท่านกูฏไม่ยอมให้ลูกเข้าเรียนคณะจิตรกรรมฯ ด้วยเหตุผลว่าเป็นศิลปิน ‘มันจน’ และเขาไม่อยากให้ลูกสาวต้องเผชิญชะตากรรมเหมือนพ่อ ภาพตะวันจึงเป็นลูกศิลปินที่ไม่ได้ผ่านหลักสูตรโรงเรียนศิลปะ และเข้าเรียนคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร แทน
แต่โชคชะตาก็พาให้สาวอักษรฯ คนนี้กลายเป็นศิลปินอยู่ดี
เธอมีโอกาสได้เริ่มทำงานจริงในโปรเจกต์โรงแรมมณเฑียร พ.ศ. 2519 ตอนอยู่ ม.ศ.5 และจริงจังขึ้นอีกในโปรเจกต์โรงแรมอนันตรา (Anantara Siam Bangkok Hotel) พ.ศ. 2524 เมื่อเริ่มเป็นผู้ใหญ่


“งานที่อนันตรา เราเป็นคนผสมสีทั้งหมดเอง โดยที่ไม่เคยทำมาก่อนเลย เรานั่งผสมสีอยู่ประมาณ 1 อาทิตย์ ผสมแล้วก็ทิ้ง พ่อให้ความรับผิดชอบเรามา 100 กว่าตารางเมตร” อย่างที่บอก ท่านกูฏไม่เคยเฉลยลูกตรง ๆ ว่าต้องทำอย่างไร หากจะใบ้ก็ใบ้เป็นกลอน ให้ลูกสาวต้องตีความอีก 10 ตลบ
งานใหญ่อีกอย่างคือการเขียนภาพช้างตัวใหญ่ราว 2 เมตร “ลูกชื่อช้าง ลูกก็เขียนรูปช้างแล้วกัน” ท่านกูฏบอกลูกสาวแบบนั้น เมื่อลูกสาวถามกลับว่าต้องเขียนยังไง ศิลปินใหญ่ไม่ปริปากอีกตามเคย ภาพตะวันจึงต้องใช้ความคิดอย่างเต็มที่จนช้างเสร็จสมบูรณ์เป็นตัวเป็นตน
งานนี้เป็นฝีมือท่านกูฏราวร้อยละ 60 จากนั้นท่านกูฏก็ล้มป่วยจนต้องเข้าโรงพยาบาล และปล่อยให้ทายาทที่ยังไม่ชำนาญการอย่างภาพตะวันทำต่อ


ลูกช้าง ลูกภาพตะวัน
พ่อเป็นห่วงโครงการของโรงแรมนี้
พยายามทำให้เสร็จ
นี่คือข้อความที่ท่านกูฏเขียนใส่กระดาษขณะเข้ารักษาในโรงพยาบาลครั้งสุดท้าย ซึ่งกินระยะเวลา 2 เดือน
แม้ในที่สุดพ่อจะจากไป แต่ภาพตะวันในวัย 22 ก็รังสรรค์ผลงานจนสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ ด้วยวิธีคิดที่ซึมซับมาตลอด 10 ปีที่ใช้ชีวิตในวัดและอยู่ใกล้ชิดกับพ่อ แม้เธอจะไม่ได้เรียนและพ่อไม่ได้สอนก็ตาม

แต่วันหนึ่งน้องคนนั้นก็หายไป
หลังจากโครงการใหญ่ที่ทำร่วมกับพ่อในครั้งนั้น ภาพตะวันได้ทำงานจิตรกรรมฝาผนังอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ. 2525 จนถึง พ.ศ. 2539
คำที่พ่อเคยเตือนว่าเป็นศิลปินมันจนนั้นไม่เกินจริงสำหรับเธอ
4 ปีแรกเธอไม่ได้รายได้จากการทำงานศิลปะเลย เธอจึงใช้ความสามารถด้านภาษาในการแปลหนังสือและเป็นติวเตอร์ภาษาอังกฤษ เลี้ยงน้องที่อายุเพียง 10 ขวบแทนพ่อที่จากไป ช่วงปีหลัง ๆ คนถึงเริ่มจำได้ว่าเธอเป็น ‘ผู้หญิงคนเดียวที่ทำงานจิตรกรรมฝาผนัง’ ก่อนที่ภาพตะวันจะเริ่มทำงานทอผ้า งานกระดาษในภายหลัง และรวมกลุ่มแสดงนิทรรศการในประเทศต่าง ๆ
แม้เทคนิคในการทำงานจะต่างไปโดยสิ้นเชิง แต่กระบวนการคิดงานศิลปะทั้งหมด เธอเรียนรู้จนทะลุปรุโปร่งจากพ่อผู้เป็นที่รักมานานแล้ว
อย่างที่เล่าไปในตอนแรก สิ่งที่น่าสนใจคือการเติบโตในวัดไม่เพียงทำให้เธอซึมซับการทำงานจิตรกรรมฝาผนังมาเท่านั้น แต่ทำให้เธอกลายเป็นคนที่สนใจในความเป็นผู้หญิง และทำงานศิลปะที่สะท้อนความสนใจออกมา


“ตอนเด็ก ๆ อยู่ในวัด น้องชายขึ้นไปนั่งบนอาสนะได้ แต่สำหรับเราจะมีอาณาเขต พอโตขึ้นเข้าไปทำงานในวัด ไวยาวัจกรเขาก็ไปบอกเจ้าอาวาสว่าผู้หญิงไม่ควรขึ้นไปอยู่ข้างบนนั่งร้านให้สูงกว่าพระพุทธรูป ถึงจุดหนึ่งเราก็เข้าใจว่าวัดไม่ใช่สถานที่ของผู้หญิง”
เมื่อได้เริ่ม ภาพตะวันก็พรั่งพรูถึงเหตุการณ์มากมาย ทั้งเหตุการณ์ที่ช่างผู้ชายไม่ยอมเดินผ่านผ้าถุงที่ตากไว้ เหตุการณ์ที่เจ้าอาวาสและมัคนายกไม่ให้เธอทำงานต่อ เธอบอกว่าการเป็นผู้หญิงต้องทำงานหนักเป็น 2 เท่าจึงจะพิสูจน์ตัวเองได้ พ่อเองก็เคยพูดไว้
ใน พ.ศ. 2533 ขณะที่เธอกำลังทำงานจิตรกรรมฝาผนังวัดเป็นโปรเจกต์แรก ก็เกิดเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลกับแนวทางการทำงานศิลปะของเธอในชีวิต
ในช่วงเวลาที่ทำงานอยู่ ภาพตะวันต้องแวะเวียนไปกินก๋วยเตี๋ยวหน้าโบสถ์เจ้าเดิมที่มีน้องผู้หญิงอายุ 12 เป็นคนขายอยู่เป็นประจำ
แต่วันหนึ่งน้องคนนั้นก็หายไป
เมื่อสงสัยก็เอ่ยถามคนอื่น ๆ ในร้าน ได้ความว่าเด็กถูกพ่อแม่ขายไปแล้ว และการที่พ่อแม่ขายลูกสาวก็เป็นเรื่องปกติสำหรับคนแถวนั้น ภาพตะวันรู้สึกว่าตัวเองอยู่ใกล้มาก แต่ช่วยอะไรไม่ได้เลย
ทั้งเรื่องราวของตัวเองและประสบการณ์ของคนอื่นที่เธอได้รับรู้ เมื่อได้รวมตัวกับศิลปินหญิงคนอื่น ๆ จึงมีโอกาสได้ทำงานสะท้อนเรื่องราวเหล่านี้ ตั้งแต่ในนิทรรศการ ‘ประเวณี-ประเพณี’ (Tradisexion) ที่สื่อสารถึงสิทธิสตรีในมุมหลากหลาย ไปจนถึงการได้รวมกลุ่มศิลปินหญิงนานาชาติ Womanifesto ในเวลาต่อมา จนถึงตอนนี้ก็ทำต่อเนื่องมา 26 ปีแล้ว

แต่เธอย้ายไปไกลถึงออสเตรเลีย
เราเจอเธอตัวเป็น ๆ ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกในห้องนิทรรศการที่ยังติดตั้งไม่เสร็จ และครั้งที่ 2 ในงานเปิดตัวนิทรรศการ แต่เมื่อตกลงว่าอยากพูดคุยกับเธอยาว ๆ เพื่อเล่าในบทความคอลัมน์ Studio Visit เธอก็ใกล้จะต้องบินกลับออสเตรเลียแล้ว เราจึงได้เพียงเก็บภาพและสัมภาษณ์ออนไลน์ตามมาทีหลัง
ในขณะที่ภาพพื้นหลังของเราเป็นออฟฟิศ The Cloud ของเธอเป็นสตูดิโอส่วนตัวเล็ก ๆ ในซิดนีย์ที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์ทำงานศิลปะ – ไม่ใช่วัดเหมือนแต่ก่อน
ภาพตะวันย้ายไปอยู่ออสเตรเลียกับ จอห์น สามีชาวอังกฤษ อาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะเอเชียสมัยใหม่ ใน พ.ศ. 2539 เมื่ออายุได้ 37 ปี แต่เธอก็ยังทำงานร่วมกับชาว Womanifesto อย่างต่อเนื่อง หนึ่งในผลงานที่ทำหลังจากย้ายถิ่นฐาน คือ ‘นารีผล’ เกี่ยวกับเหตุการณ์เมื่อครั้งพบว่าเด็กหญิงที่ขายก๋วยเตี๋ยวหน้าโบสถ์ถูกขายไปเสียแล้ว
“ตอนที่มาแรก ๆ เราทำงานที่ไม่มีโอกาสได้ทำตอนอยู่เมืองไทย เราเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เป็น 2 มิติเหมือนเดิม แต่มีต้นยูคาลิปตัสและมีช้างเข้าไปอยู่ในแลนด์สเคป” ศิลปินหญิงผู้มีชื่อเล่นว่าช้างเล่าต่อ
ผู้คนที่อีสานมักเรียกท่านกูฏว่า ‘ช้าง’
นอกจากเป็นศิลปินเขียนภาพแล้ว ท่านกูฏเป็นนักออกแบบจินตลีลาด้วย สมัยอายุได้ 14 ปีเคยออกท่าทางกับโขลงช้างจนได้ชื่อเล่นนี้มา
ท่านกูฏนำชื่อ ‘ช้าง’ ของตัวเองมาตั้งให้เป็นชื่อของภาพตะวันในวันแรกเกิดด้วย


โปรเจกต์ที่กำลังจะมาถึงเร็ว ๆ นี้ คือการร่วมงานกับ Helen Grace ศิลปินวัย 77 ปี และผู้ป่วยมะเร็งเต้านม เธอเป็นทั้งศาสตราจารย์ด้าน Photo Media, Cultural Studies เป็น Filmmaker และ Photographer โดยมีเนื้อหาอย่างที่ทั้งสองสนใจร่วมกัน ประเด็นสังคม ทัศนคติของผู้หญิง ความเป็นตะวันออกและตะวันตก
พร้อม ๆ กับการทำงานศิลปะ เธอยังเป็นแม่ของลูกครึ่ง 2 คน
จันทร์ฉายแสง – ลูกสาววัย 26 ปี ไปรัสเซียเองตั้งแต่อายุ 18 ปัจจุบันเรียนจบ Photo Media ทำงานขายไวน์ ทำโปรเจกต์ที่อยากทำในเวลาว่าง และฝันจะทำห้องสมุดโฟโต้บุ๊กในอนาคต
เย็นลำธาร – ลูกชายวัย 23 ปี หลังจบจากโรงเรียนดนตรีก็เรียน Physics และ Advanced Math พร้อมกัน เขามีระบบสมองที่พิเศษ ได้ยินเสียงอย่างที่คนอื่นไม่ได้ยิน และมีทักษะทำได้ทุกอย่าง กระทั่งงานศิลป์ก็ถนัดมาก
เมื่อถามว่าเธอเลี้ยงลูกเหมือนที่พ่อเลี้ยงเธอมาไหม เธอก็ตอบมาสั้น ๆ ง่าย ๆ ชวนให้จินตนาการต่อเอง
“พ่อพี่เขาอนุญาตให้ลูกทำอะไรก็ได้ ถ้าพูดในจุดนั้นพี่ก็เท่ากับเขา เพราะเราสั่งสมมาแบบนั้น”
แม้ว่ารุ่นหลานของท่านกูฏจะไม่ได้เขียนจิตรกรรมฝาผนังอีกต่อไป ไม่ได้เติบโตในวัด ไม่แม้แต่จะอยู่ประเทศไทย แต่สิ่งที่ท่านกูฏทิ้งไว้ไม่ใช่เพียงองค์ความรู้ทางศิลปะ ยังมีความสัมพันธ์พิเศษในครอบครัว ความทรงจำดี ๆ และแนวคิดในการใช้ชีวิตที่ยังวนเวียนอยู่ในโลกนี้ต่อไปเรื่อย ๆ
ดั่งที่ภาพตะวันนึกถึงพ่อเสมอไม่ว่าจะทำอะไร แม้กระทั่งเอ่ยคำว่า ‘ช้าง’ ชื่อเล่นของตัวเอง
