“งาน หรือ ลูก”
“ครอบครัว หรือ อาชีพ”
แม่ทุกคนล้วนเคยเจอสถานการณ์นี้
การเลี้ยงลูกเล็กและออกไปทำงานนอกบ้านพร้อมกัน เหน็ดเหนื่อยแทบขาดใจ จนอดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราจะให้ความสำคัญกับอะไรดี ระหว่างความรับผิดชอบหน้าที่การงานและบทบาทความเป็นแม่ที่ดี
บางคนอาจเลือกได้ว่าลูกและครอบครัวต้องมาก่อน และยอมออกจากงานเพื่อมาดูแลลูก
แต่การลาออกจากงานมาเลี้ยงดูลูก โอกาสที่จะกลับเข้าสู่โลกของการทำงานอีกครั้งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องยอมเสียโอกาสในอนาคตการทำงาน ฝั่งองค์กรก็สูญเสียบุคลากรหญิงที่มีความสามารถไปอย่างน่าเสียดาย แม้ปัจจุบันบริษัทหลายแห่งจะอนุญาตให้พนักงานลาคลอดแบบไม่จ่ายเงินเดือนเกินจากระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดเป็นรายกรณี ซึ่งส่วนใหญ่ใช้กับพนักงานที่บทบาทสำคัญหรือมีผลงานดีเยี่ยม แต่นั่นก็ยังตอบโจทย์บทบาทความเป็นแม่และพนักงานที่ทุ่มเทให้กับงานในเวลาเดียวกันไม่ได้อยู่ดี

ถ้าเราพาลูกไปที่ทำงานได้ทุกวัน เดินไปส่งที่ห้องเรียนในตอนเช้าก่อนเข้างาน ได้นั่งลงกินอาหารเช้าออร์แกนิกร่วมกัน จากนั้นใช้เวลาร่ำลากันกันอย่างเต็มที่ รอจนกว่าเด็ก ๆ จะยินยอมพร้อมใจเดินเข้าสู่ชั้นเรียน แล้วเราค่อยเดินขึ้นตึกมานั่งทำงาน หรือในวันที่ลูกป่วยไม่สบายแล้วต้องไปโรงเรียน ระหว่างวันเราคงอยากแวะไปดูสักหน่อยว่าอาการเป็นอย่างไร กินยาแล้วหรือยัง โยเยมั้ย พอได้เดินไปเห็นว่าทุกอย่างปกติดีก็เดินกลับมาทำงานอย่างสบายใจ
ชีวิตการทำงานแบบนี้หาได้ที่ไหน มีอยู่จริงบนโลกใบนี้หรือเปล่า
มีจริง และมีมานานกว่า 30 ปีแล้ว ที่สำนักงานใหญ่ของบริษัท Patagonia ตั้งอยู่ที่เมือง Ventura รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา
Patagonia เป็นบริษัทผลิตเสื้อผ้าและอุปกรณ์สำหรับกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น ปีนเขา สกี เซิร์ฟ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1973 โดย Yvon Chouinard นักปีนเขาที่เริ่มผลิตอุปกรณ์ปีนเขาจากประสบการณ์ของตัวเองมากว่า 14 ปี ปัจจุบันมีร้านจำหน่ายสินค้าของตัวเองเกือบ 100 สาขาในกว่า 10 ประเทศทั่วโลก และมีโรงงานผลิตทั้งหมด 16 ประเทศ
ปี 1984 บริษัทได้สร้างตึกสำนักงานแห่งใหม่และแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นศูนย์ดูแลลูกของพนักงานเรียกว่า Great Pacific Day Care ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Great Pacific Child Development Center พนักงานทุกคนเอาลูกมาฝากไว้ที่นี่ในช่วงเวลางานได้

ก่อนหน้านี้บริษัทก็อนุญาตให้เอาลูกมาดูแลในที่ทำงาน เลี้ยงลูกไปด้วยทำงานไปด้วยได้ แต่เป็นไปอย่างธรรมชาติ เพื่อนร่วมงานจะช่วยดูแลเด็ก ๆ เมื่อคุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าประชุม เด็ก ๆ ถูกเลี้ยงข้างโต๊ะทำงานของพ่อแม่ ในบางกรณีพนักงานต้องเลี้ยงลูกบนรถเมื่อต้องเดินทางไปทำงานต่างเมือง หรือเลี้ยงลูกที่บ้านและทำงานไปด้วย วัฒนธรรมการทำงานแบบครอบครัวที่พ่อแม่กับลูก ๆ ต้องไปด้วยกันในทุกที่ แบบนี้ทำให้บริษัทมองเห็นโอกาสในการออกสินค้าสำหรับเด็กในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ
การตั้งศูนย์ดูแลลูกพนักงานดูเหมือนเป็นการจัดพื้นที่สำหรับการดูแลเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับองค์กรในการจัดสวัสดิการเนิร์สเซอรีให้กับพนักงานที่มีลูกเล็ก ๆ แต่ที่ Great Pacific Child Development Center ที่ Patagonia พนักงานฝากลูกไว้ได้ตั้งแต่วัยทารกแรกคลอดจนถึงวัยที่เข้าโรงเรียนแล้ว
การจัดการเรียนรู้ของที่นี่ดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาการเด็ก กิจกรรมต่าง ๆ ตลอดทั้งวันถูกจัดให้เหมาะสมกับช่วงพัฒนาการของเด็ก มีทั้งพื้นที่กลางแจ้งและพื้นที่ในอาคาร แบ่งประเภทและแบ่งโซนการเรียนรู้ให้เหมาะกับเด็กในแต่ละช่วงวัย สัดส่วนของผู้ดูแลต่อเด็กในแต่ละช่วงวัยก็แตกต่างกันด้วย


สัดส่วนเด็กทารกและผู้ดูแลจะอยู่ที่ 1 ต่อ 3 คน สัดส่วนเด็กอายุ 2 ปีและผู้ดูแลจะอยู่ที่ 1 ต่อ 6 คน สัดส่วนเด็กอายุ 3 ปีและผู้ดูแลจะอยู่ที่ 1 ต่อ 8 คน สำหรับเด็กที่โตพอที่จะเข้าโรงเรียน ทางศูนย์จะจัดรถรับ-ส่งกลับจากโรงเรียน ซึ่งก่อนหน้านี้มีพ่อแม่หลายคนทำงานจนลืมไปรับลูกกลับจากโรงเรียนในช่วงหลังเลิกเรียน
สวัสดิการการดูแลลูกพนักงานของ Patagonia ถูกออกแบบและจัดการอย่างใส่ใจ เด็ก ๆ ที่นี่จะได้เรียนรู้ทักษะทางสังคม ฝึกฝนพัฒนาการ เรียนภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาสเปน ใช้ชีวิตธรรมชาติผ่านกิจกรรมการแจ้ง การเข้าสังคมกับเพื่อน ๆ เรียนรู้การแก้ปัญหา ความคิดสร้างสรรค์ ใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ ได้เล่นและเรียนรู้โลกรอบตัวแบบสมัยที่รุ่นเราหรือพ่อแม่เรายังเป็นเด็ก
สิ่งเหล่านี้ช่วยให้เด็กได้ค้นหาตัวเอง เกิดความมั่นใจ แก้ไข รับมือกับปัญหาได้ดีกว่าการปล่อยพวกเขาไว้ในห้องกับเทคโนโลยี เป็นโปรแกรมการเรียนรู้ผ่านการเรียนและเล่นตามธรรมชาติแบบที่ไม่กำหนดแบบแผนตายตัวให้กับเด็ก ให้เด็กออกไปมีกิจกรรมการแจ้งร่วมกัน เผชิญความท้าย ความยากลำบาก หรือแม้กระทั่งความขัดแย้งระหว่างเด็ก ๆ ด้วยกันเอง
นอกจากนี้เด็กยังได้ทำงานร่วมกับผู้ใหญ่ พนักงานจะเป็นส่วนหนึ่งของ Program Pre-school และบริษัทอนุญาตให้เด็ก ๆ เข้าไปออฟฟิศที่พ่อและแม่ทำงานในช่วงเวลางาน สอนงานที่ตัวเองทำให้กับลูกที่อยู่ข้าง ๆ ได้ ดูคล้ายจะเป็นการทำงานที่บ้านที่พ่อแม่ทำงานไปพร้อม ๆ การเลี้ยงลูกมากกว่าเป็นการทำงานในองค์กรธุรกิจ
การอนุญาตให้เด็กได้คลุกคลีกับโลกการทำงานของผู้ใหญ่ ทำให้พวกเขาเห็นว่าพ่อแม่หายไปไหน ไปทำอะไร เข้าใจโลกของการทำงานของพ่อแม่ Yvon Chouinard ผู้ก่อตั้งให้สัมภาษณ์ว่า เขานึกไม่ออกเลยว่า ถ้าเด็กถูกทิ้งไว้ตามลำพังระหว่างวัน เขาจะเข้าใจชีวิตของผู้ใหญ่และโลกของการทำงานได้อย่างไร และการให้ลูกอยู่ร่วมกับพ่อแม่ในที่ทำงานยังเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ช่วยทดลองสินค้าใหม่ที่บริษัทกำลังออกแบบอยู่ เรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมมือกันทำงานอย่างแท้จริง


การทำงานและการใช้ชีวิต ร่างกายและจิตใจ บทบาทพนักงานและบทบาทพ่อแม่ ล้วนแต่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก พนักงานหลายคนให้สัมภาษณ์ว่าการที่บริษัทให้ความสำคัญเรื่องนี้ทำให้พวกเขาไม่กดดันกับการเป็นพ่อแม่และการเป็นพนักงานในเวลาเดียวกัน เพราะทั้ง 2 บทบาทนี้ไม่ได้มีเส้นแบ่งที่ชัดเจน และนั่นทำให้พวกเขาทุ่มเทการทำงานให้กับองค์กรอย่างเต็มที่
เจ้าหน้าที่ Great Pacific Child Development Center เล่าว่า คนที่มาดูงานมักบอกว่าที่นี่ให้ความรู้สึกว่าเป็นหมู่บ้านมากกว่าองค์กรธุรกิจ ดูไม่รู้สึกว่าเป็นสถานที่ทำงานเลยสักนิด พื้นที่ข้าง ๆ แผนกต้อนรับถูกจัดให้เป็นที่สำหรับพ่อแม่และเด็ก ๆ มานั่งทานอาหารเที่ยงด้วยกันได้ พ่อแม่พาลูก ๆ ไปเดินเล่นชายหาดที่อยู่ไม่ไกลจากออฟฟิศได้ในช่วงเวลาพักเที่ยง เล่านิทานให้เด็ก ๆ ฟังระหว่างวันบริเวณนี้ได้ ส่วนสนามเด็กเล่นอยู่ด้านนอก เราได้ยินเสียงเด็ก ๆ วิ่งเล่นห้อมล้อมเราอยู่ได้ บรรยากาศเหมือนเป็นหมู่บ้านแบบที่คนมาเยี่ยมบอกจริง ๆ ด้วย


ในช่วงเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา Great Pacific Child Development Center ดูแลเด็กไม่ต่ำกว่า 1,500 คน เราสร้างสิ่งแวดล้อมการทำงานแบบครอบครัว ทุกคนสนับสนุนซึ่งกันและกัน พวกเราช่วยกันเลี้ยงดูเด็ก ๆ มีความสุขกับการเฝ้ามองพวกเขาเติบโต แม้เด็กเหล่านั้นจะเป็นลูกของเพื่อนร่วมงาน เรารู้สึกว่าเด็ก ๆ ได้สร้างผลกระทบต่อชีวิตพวกเราด้วยเช่นกัน ต่างสนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งเราเรียกสิ่งนี้ว่า ‘ครอบครัว’
Rose Marcario ผู้บริหารระดับสูงในตำแหน่ง President และ CEO ของ Patagonia ให้สัมภาษณ์ว่าพนักงานของเราเป็นคนธรรมดา เป็นมนุษย์ที่ทั้งชีวิตครอบครัว ชีวิตการทำงาน มีลูกที่ต้องดูแล มีงานที่ต้องรับผิดชอบ เป็นหน้าที่ขององค์กรที่ต้องสร้างสภาพแวดล้อมและสนับสนุนเงื่อนไข ปัจจัยการทำงานต่าง ๆ เพื่อให้พนักงานของเราทำทุกบทบาทได้ดีที่สุดโดยไม่แยกออกจากกัน
ผลการทุ่มเทเหล่านี้ทำให้พนักงานหญิงของ Patagonia ที่ลาคลอดกลับมาทำงานถึง 95% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมากเมื่อเทียบกับบริษัททั่วไปในสหรัฐอเมริกา ซึ่งตัวเลขการกลับมาทำงานของผู้หญิงหลังคลอดอยู่ที่ 43% ส่งผลให้มีพนักงานหญิงอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารจำนวนมากกว่าองค์กรอื่น และอัตราการกลับมาทำงานที่สูงขนาดนี้ยังหมายถึงการลดต้นทุนมหาศาลของการสรรหาพนักงานใหม่ที่เหมาะสมทดแทนคนเดิมที่ลาออกไป รวมถึงไม่เสียค่าใช้จ่ายฝึกอบรมพนักงานใหม่ให้มีความชำนาญในการทำงานเทียบเท่ากับพนักงานเก่า และก่อนที่พนักงานใหม่จะชำนาญงานย่อมทำงานผิดพลาด ทำให้เกิดความเสียหายในกระบวนการทำงาน ซึ่งนับเป็นต้นทุนของธุรกิจด้วยเช่นกัน


แม้ผ่านมากว่า 30 ปีแล้ว ปัจจุบันบริษัทยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ไม่เพียงแต่มีศูนย์ดูแลพัฒนาการเด็กเท่านั้น ยังอนุญาตให้ลูกของพนักงานได้เดินทางตามคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องไปทำงานต่างเมืองหรือต่างประเทศ โดยบริษัทออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีที่ผ่านมาบริษัทไม่เคยตัดงบประมาณที่ใช้ไปกับการดูแลสวัสดิการเหล่านี้ เรียกว่าให้ความสำคัญถึงขั้นถอดบทเรียนตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือชื่อ Family Business (สั่งซื้อได้ที่นี่) ทำคลิปวิดีโอเพื่อเผยแพร่เรื่องราวเหล่านี้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้องค์กรอื่น ๆ ได้เห็นว่าพ่อ แม่ และเด็ก ๆ อยู่ร่วมกันได้ในสถานที่ทำงาน พนักงานยังคงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เด็ก ๆ ได้รับการดูแลจากเพื่อนร่วมงาน ผู้บริหาร รวมถึง CEO ของบริษัทด้วยความใส่ใจ องค์กรสนับสนุนให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้ และองค์กรเองก็ได้รับประโยชน์จากการเอาใจใส่ต่อการเติบโตของลูก ๆ พนักงานด้วยเช่นกัน
ไม่จำเป็นต้องแบ่งแยกระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตครอบครัว หรือการเป็นพ่อแม่กับการเป็นพนักงาน ที่ Patagonia พนักงานทุกคนเป็นทั้ง 2 อย่างได้ในเวลาเดียวกันในที่ทำงาน ชมบรรยากาศการทำงานเหล่านี้ได้ใน www.patagonia.com/family-business


ภาพ : หนังสือ Family Business: Innovative On-Site Child Care Since 1983